การพระราชพิธีสถาปนา

วันอาทิตย์ที่ 05 เมษายน 2015 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

การพระราชพิธีสถาปนา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
องค์รัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ได้มีพระราชพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบันพระราชพิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชพิธีนั้น คือ พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

ราชประเพณีการแต่งตั้งรัชทายาท เพื่อสืบราชสมบัติได้ปรากฏเป็นกฎหมายมั่นคง มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นไว้เมื่อจุลศักราช ๗๒๐ (พุทธศักราช ๑๙๐๑) ลำดับพระอิสริยยศพระราชโอรสว่า “พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช” แต่ก็มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๑๙๙๘ ทรงกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสน และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราชรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตำแหน่งพระมหาอุปราชแก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามแบบอย่างตอนปลายกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง ก็มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ เป็นเวลาสืบต่อกันหลายปีก็มี จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๔๒๘ มีพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย มีประโยชน์น้อยและทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ศกเดียวกัน

ต่อมามีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งเรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล และสอดคลองตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิสสยามมกุฎราชกุมาร ดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่งรัชทายาท เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ แทนตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ยกเลิกไป

ในเวลาต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๗ ขณะมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษาเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ลำดับถัดมาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ) ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๗ ซึ่งต่อมาได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้ว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า ๘๐ ปี จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คณะปฏิวัติอันมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า สภาบริหารคณะปฏิวัติได้ประชุมปรึกษา และลงมติให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ซึ่งมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาแล้ว ให้ดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาตามโบราณขัตติยราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร อนุโลมตามโบราณราชขัตติยราชประเพณี โดยกำหนดพระราชพิธีเป็น ๕ ตอน คือ

พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระราชพิธีศรีสัจจปาน การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศกราช ๒๕๑๕

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

นอกจากนี้ยังมีงานต่อเนื่องกับพระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย อีก ๓ งานคือ เวลาเช้า เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรร่วมกับประชาชน และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ประชาชนได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ บริเวณท้องสนามหลวง ครั้นเวลาบ่าย โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัยพระราชวังดุสติ เวลาค่ำ รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตถวาย ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

ณ ที่นี้จะได้กล่าวถึงเฉพาะขั้นตอนสำคัญ คือ พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย และพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีตามขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เวลา ๑๒.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรงหลังพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ประกอบพิธีถวายใบสมิต คือ ช่อใบมะม่วงช่อโบตะขบ และช่อใบทอง แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงรับมาปัดพระองค์จากเบื้องบนมาสู่เบื้องล่าง แล้วถวายน้ำเทพมนต์ เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมแผ่นพระสุพรรณบัฏ

เวลาประมาณ ๑๒.๑๕ น. เสด็จพระราชดำเนินสู่ท้องพระโรงกลางออกมหาสมาคมประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต และข้าราชการทหาร พลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรีอ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร
สิริกิติยสมบูรณ์สวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์
มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ
สยามมกุฎราชกุมาร มุสิกนาม

ได้เวลาระหว่างอุดมมงคลพระฤกษ์ ๑๒.๒๓ น. ถึง ๑๒.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏพระราชทานเหนือพระเศียรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระญาณสังวร พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๔๕ รูป ที่ท้องพระโรงหลัง เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก ฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลง เพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ ๒๑ นัดพร้อมกับเรือรบหลวงยิงสลุต พระสงฆ์ตามวัดทั่วพระราชอาณาจักรประชุมเจริญชัยมงคลคาถาถวายพระพร และรัวระฆังขึ้น 3 ลา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แล้ว ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่พระนลาฏ พระราชทานใบมะตูม แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธยพระราชลัญจกร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ และเครื่องราชอิสริยยศ มีพระอนุราชมงกุฎ เป็นต้น เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ ณ มณฑลพิธีสงฆ์ท้องพระโรงหลัง

ณ ท้องพระโรงกลาง นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เบิกเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ในฐานะคณบดีคณะทูตานุทูต ถวายพระพรแสดงความชื่นชมยินดีถวายของที่ระลึก แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ท้องพระโรงหลังคณะสงฆ์สวดรัชทายาทวรมงคลคาถาถวาย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณความว่า “จะทรงรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ที่พระราชทานไว้เสมอ”

คัดลอกจากการเผยแพร่ทางเฟสบุ๊ค ของ คุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์
แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 06 เมษายน 2015 เวลา 10:47 น.