สัญญามิตรภาพ’ ตัวจริง ที่ ‘หอจดหมายเหตุ’ สหรัฐอเมริกา ระหว่างประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ๊คสัน กับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันพุธที่ 15 เมษายน 2015 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

คัดลอกจากเฟสปุ๊ค ของคุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์

 

 

สัญญามิตรภาพ’ ตัวจริง ที่ ‘หอจดหมายเหตุ’ สหรัฐอเมริการะหว่างประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ๊คสัน กับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (The National Archives) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี นำเอกสารประวัติศาสตร์ “สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์” ระหว่างอเมริกา   โดยประธานาธิบดี  แอนดรูว์ แจ็คสัน และ “ราชอาณาจักรสยาม” โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ออกแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสัมพันธ์ “ไทย-สหรัฐ”

หอจดหมายแห่งชาติของสหรัฐฯ (The National Archives and Records Administration : NARA) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี จะนำเอาสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ ระหว่างชาวสยามและอเมริกัน (Siamese-American Treaty of Amity and Commerce) อันเป็นเอกสารเก่า อายุ 180 ปี ออกแสดงให้สาธารณชนผู้สนใจได้รับชม โดยบอกว่า เป็นเอกสารทางทูตชิ้นแรก ระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรสยาม รวมถึงเป็นเอกสารทางทูตชิ้นแรกระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในทวีปเอเชียด้วย

หอจดหมายเหตุฯ บอกว่า ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน ได้แต่งตั้ง นายเอ็ดมอนด์ โรเบิร์ท เป็นทูตเข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศไทยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1832 และพอถึงเดือนมีนาคม นายเอ็ดมอนด์ โรเบิร์ท ก็ได้เดินทางมายังเอเชียโดย เรือยูเอสเอส พีค็อค เริ่มจากฟิลิปปินส์, มาเก๊า, เวียดนาม และประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ทูตสหรัฐฯ ได้นำสิ่งของที่เป็นพระราชบรรณาการจากผู้นำสหรัฐฯ มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ หลายอย่าง รวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้น

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 1833 นายเอ็ดมอนด์ โรเบิร์ท ก็ได้นำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสาระสำคัญของสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ฉบับนี้ คือข้อความที่ระบุว่า “จะต้องมีสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งสยามและสหรัฐอเมริกา” และข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ เช่น เรือสินค้าอเมริกัน มีสิทธิในการเข้าเทียบท่า และมีสิทธิในการขายสินค้าให้กับข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ ฯลฯ โดยสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยและอังกฤษ และมีการแปลเป็นภาษาโปรตุเกส และจีน ประกอบด้วย

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 15 เมษายน 2015 เวลา 19:41 น.