ปัญหาของชาติ

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฏาคม 2017 เวลา 00:00 น. วันชัย พรหมภา บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

เรื่อง เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ถูกหลักวิชาหรือไม่?
-
สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนชี้แจงให้พี่น้องประชาชนที่เคารพได้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ของชาติในสภาวการณ์ขณะนี้ ดังต่อไปนี้ครับ
-
1. สภาวการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ เป็นสภาวการณ์เพื่อประชาธิปไตยโดยมีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของประชาชนดำรงอยู่ต่อเนื่องนั้น ในทางวิชาการเรียกว่า “สถานการณ์ปฏิวัติ” แต่ที่ยังปฏิวัติไม่ได้เพราะยังมีฝ่ายปฏิกิริยาบางกลุ่มบางพวกต่อต้านการปฏิวัติ ด้วยการทำให้ประชาชนเข้าใจว่า “การปฏิวัติ” (Revolution) หมายถึง “รัฐประหาร”(Coup D’Etat) แต่ผมคิดว่าก็คงต้านได้ไม่นานครับ เพราะเขาผืนกฎธรรมชาติไม่ได้ดอกครับ
-
2. ปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้คือ ความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายประชาชน” กับ “ฝ่ายระบอบเผด็จการ” ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่มีบทบาทครอบงำสถานการณ์ทั้งหมด และมีบทบาทชี้ขาดสถานการณ์ในที่สุด ส่วนความขัดแย้งของฝ่ายเผด็จการด้วยกัน เป็นเพียง “ปรากฏการณ์”(Appearance) ภายนอก ที่สะท้อนออกมาจากความขัดแย้งด้านภายใน (Essence) ดังนั้นการสร้างความปรองดองกันของฝ่ายระบอบเผด็จการรัฐสภาด้วยกัน จึงมิใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความขัดแย้งที่แท้จริง การสร้างความปรองดองแห่งชาติจึงย่อมเป็นไปไม่ได้ จะเป็นได้ก็แต่มิคสัญญีกลียุคเท่านั้นครับ
-
3. การโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารนั้น เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ชอบด้วยหลักวิชา เพราะคำว่า “ระบอบเผด็จการ” (Dictatorial Regime) หมายถึง อำนาจอธิปไตยมิใช่เป็นของปวงชน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ได้อำนาจนั้นต้องเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงวิธีการได้อำนาจ เรียกว่า “วิธีการแบบประชาธิปไตย” (Democratic Means) ฉะนั้นจึงไม่ควรเอา “ระบอบประชาธิปไตย” ไปปะปนกับ “วิธีการแบบประชาธิปไตย” และปัญหาก็มิใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับไหน แต่อยู่ที่ระบอบเผด็จการ รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ต่างก็เป็นรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบเผด็จการเหมือนกันจึงเป็นรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการเท่ากันครับ การแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ระบอบเผด็จการ จึงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อหลอกประชาชนไปร่วมกันรักษาระบอบเผด็จการเท่านั้นครับไม่ใช่เรื่องอื่นเลย
-
4. ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาความขัดแย้งของผู้ปกครองเท่านั้นมิใช่เรื่องของประชาชนเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเผด็จการทั้งสิ้น ประชาชนจะไปยืนข้างไหนก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น มีแต่ต้องทำให้เผด็จการรัฐสภาถูกทำลายลงไปเท่านั้น คือผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง และยังชอบด้วยกฎหมายแม่บทที่กำหนดให้ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อีกด้วย
-
5. การแก้รัฐธรรมนูญที่จะส่งผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนนั้น ต้องแก้โดยอาศัยผู้รู้จริงเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เช่นรัฐธรรมนูญของอเมริกาก็ใช้ผู้ร่างไม่เกิน 15 คน จีนคอมมิวนิสต์ก็ใช้เพียง 4 คน อินเดียก็ร่างเพียงคนเดียวเท่านั้น มิใช่ว่าจะต้องเลือกตั้งกันมาทุกจังหวัดโดยที่เลือกกันมาก็ล้วนแต่ปราศจากความรู้หลักวิชาทั้งสิ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญมิใช่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมิใช่นโยบาย หรือมาประชุมกันเพียงเพื่อลอกเอาแบบอย่างของประเทศอื่นมาใช้มาสวมแทน การร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องนั้นจึงนอกจากต้องเคารพหลักการและหลักวิชาที่ใช้กันทางสากลอย่างเคร่งครัดแล้ว ที่สำคัญยังต้องมีความสามารถในการประยุกต์หลักการสากลเหล่านั้น ให้เข้ากับสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสภาพการณ์ทางสังคมของประเทศไทยให้ได้อีกด้วย มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้สาระหาประโยชน์อันใดมิได้เลยเสียเวลาเปล่าๆ ครับ
-
6. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในบ้านเราจำนวน 18 ครั้ง ที่ผ่านมาโดยไร้หลักการนั้น จึงเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญกันตามชอบใจ นอกจากยิ่งแก้ก็ยิ่งผิดมากขึ้นเป็นดินพอกหางหมู จนหมูเดินไม่ไหวแล้ว ยังเกิดปัญหายิ่งแก้ก็ยิ่งบั่นทอน “พระราชอำนาจ” ของพระมหากษัตริย์อีกด้วย ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันเลยทีเดียว แล้วก็ยังมีนักวิชาการบางคนบอกว่าสามารถทำได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 291 (1) วรรค 2 กำหนดไว้ว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลง “รูปของรัฐ” จะเสนอมิได้”
-
โดยหลักวิชา ถ้านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนก็หมายถึง “การเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” นั่นเองครับ คือเปลี่ยนรูปจาก “ราชอาณาจักร” เป็น “สาธารณรัฐ” ครับ ไม่น่าเชื่อเลยว่านักวิชาการจะไม่รู้ว่า “รูปของรัฐ” หมายความว่าอย่างไร
-
ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียนว่า ประชาธิปไตยในบ้านเราจะเป็นจริงได้ก็มีแต่ประชาชนต้องร่วมมือกันสร้างขึ้นเองเท่านั้นครับ
-
วันชัย พรหมภา เขียน
ไพบูลย์ สถาปนาวิสุทธิ์ เรียบเรียง

14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555


คัดลอกจาก :https://www.facebook.com/sthapanavisuth/posts/489948684675072

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฏาคม 2017 เวลา 18:31 น.