พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

วันเสาร์ที่ 02 มีนาคม 2019 เวลา 13:05 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

ผมอ่านบทความของ คุณ ไพบูลย์ สถาปนาวิสุทธิ์ ใน Facebook มีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาต นำเผยแพร่ต่อครับ

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

๒ มีนาคม ๒๕๖๒

 

ผมขอชี้แจงว่า ที่มาของประมุขฝ่ายบริหารของประเทศ มาได้แบบเดียวเท่านั้นครับเพราะเป็น พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะครับ

ตามธรรมดาประมุขแห่งรัฐ ตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่เป็น ฝ่ายข้างมากเด็ดขาด (Absolutemajority) ในสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีฝ่ายข้างมากเด็ดขาด ประมุขแห่งรัฐอาจหารือประธานสภาหรือพรรคการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ หรือไม่หารือก็ได้ หรือจะไม่แต่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่เป็นฝ่ายข้างมากก็ได้ เช่นกรณี สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ พระประมุขแห่งอังกฤษ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบุคคลนอกสภาหลายครั้ง ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวของประมุขแห่งรัฐ เพราะนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้แทนประมุขแห่งรัฐ และถ้าประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งก็คือประธานรัฐสภา

แต่บ้านเราดูเหมือนจะมีผู้เข้าใจผิดว่า ประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้นำชื่อผู้จะได้รับแต่งตั้งกราบบังคมทูล หรือเพราะมีการซาวเสียงกันมาแล้วในสภา จึงเข้าใจว่าที่มาของฝ่ายบริหารมาได้หลายแบบ และไปไกลถึงขนาดมีแบบให้ประชาชนเลือกนายกฯ โดยตรงได้กันเลยทีเดียว ความจริงประธานสภาเป็น “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” เท่านั้นครับ แปลไทยเป็นไทยว่า “ผู้รับคำสั่ง” อาจนำชื่อบุคคลใดไปกราบบังคมทูลได้ แต่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลใดนั้นเป็นพระราชอำนาจ หาใช่ว่าจะทรงแต่งตั้งตามที่ประธานรัฐสภากราบบังคมทูลไม่ เช่นการตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคุณสมบัติสร้างความสามัคคีแห่งชาติได้ก็เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องที่สุดของ “ระบบรัฐสภา” และ “ระบบกึ่งรัฐสภา” เรียกว่า “รัฐบาลพระราชทาน” และก็ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณีครับ

ส่วนการ “ซาวเสียง” หรือที่เข้าใจกันว่า “ประชาชนเลือก ส.ส. แล้ว ส.ส.ไปเลือกนายกฯ ในสภา” นั้น ไม่ใช่หลักการครับ แต่เป็นการแหวกแนว การแหวกแนวนี้สืบเนื่องมาจาก การแหวกแนวที่รัฐธรรมนูญวันที่ 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติให้ “สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี” คณะราษฎรปกครองโดย “ระบบพรรคเดียว” (One-Party System) และอยู่ในช่วงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งไม่อาจใช้รูปการปกครอง “ระบบรัฐสภา” ได้จึงใช้การซาวเสียงในสภา เป็นวิธีเลือกเฟ้นนายกรัฐมนตรีในคณะของตน ซึ่งต้องเข้าใจว่า การซาวเสียง มิใช่หลักการของระบบรัฐสภา และไม่ควรถือเอามาเป็นแบบอย่างเพราะ “ผิดหลักวิชา” ครับจึงขอเรียนชี้แจงว่า ที่มาของนายกรัฐมนตรีมาได้แบบเดียวครับ คือโดยการแต่งตั้งของประมุขประเทศ เท่านั้น ครับ
-
การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ทำให้นายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจบริหารอยู่แล้ว มีอำนาจอธิปไตยเพิ่มขึ้นอีกอำนาจหนึ่ง ทำให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็น “ประมุขของประเทศ” ลักษณะเดียวกับประธานาธิบดีนั่นเองครับ ที่ ดร.ปริญญา บอกว่าในโลกนี้จึงยังไม่มีใครทำนั้นก็ถูกต้องแล้วเพราะมันผิดหลักวิชานั่นเองครับ จึงไม่มีใครทำ

ปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติในหลายปีที่ผ่านมานั้นก็เพราะนักวิชาการและนักการเมืองบ้านเราไม่เคารพหลักวิชา โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” นั้นหมายถึง “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง” นั่นเองครับ แม้ว่าจะยังมิใช่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ตามที่คุณปริญญาเรียกร้องอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่ก็ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันจนแก้ไม่ตก เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้มันผิดหลักวิชาอย่างร้ายแรง ซึ่งนอกจากจะทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนสถานะเป็นประธานาธิบดีแล้ว ยังเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ ละเมิดรัฐธรรมนูญ บั่นทอนราชอาณาจักร และสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความขัดแย้งกับประชาชนอย่างเป็นไปเอง และหมดอำนาจลงตามลำดับ และที่สำคัญยังนำไปสู่ความขัดแย้งของบรรดานักเลือกตั้งในการระดมสรรพกำลังแย่งอำนาจบริหารและอำนาจอธิปไตยกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ชนิดที่ไม่มีใครยอมใครอีกด้วยครับและถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ความขัดแย้งในขณะนี้ก็จะบานปลายไปสู่ “สงครามประชาชน” อย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ
-
รัฐต้องมีประมุขเป็น ผู้ถือดุล มีอำนาจสูงสุดเหนือองค์กรอำนาจรัฐทั้งปวง รัฐนั้นจึงจะดำรงอยู่ได้ และทำให้เกิดความมั่นคงแห่งชาติ ถ้าประมุขแห่งรัฐเสียดุลอำนาจลงเมื่อใด รัฐนั้นก็จะกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ครับ 
-
นายกรัฐมนตรี (Priminister) เป็นประมุขของการปกครอง รับอำนาจการปกครอง หรือ อำนาจบริหาร (Administrative Power) มาจากประมุขของประเทศ (Head of State) ผู้ซึ่งถือ อำนาจอธิปไตย (Sovereign Power) นายกรัฐมนตรีจึงเป็น “ผู้แทน” (Agent) ของประมุขของประเทศในการใช้อำนาจบริหาร หรืออำนาจการปกครองจึงเรียกกันว่าเป็น รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประมุขของรัฐ (ประเทศ) เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประมุขของการปกครอง ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งทางการแต่งตั้งครับ ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีจะมาจากการเลือกตั้งมิได้ครับ นี่คือหลักวิชาที่ถูกต้อง ครับ

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=824915244511746&set=a.100307720305839&type=3&eid=ARB89D77tPWw0w5Hi_rFVUDYAk1biW6iuCu86XtaR7GQliX4yR8nIjEh2jXp7417QVWzXwYCJx4vqcWW