ทำงานมูลนิธิเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง

วันเสาร์ที่ 01 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

ที่จริงผมทำงานมูลนิธิ และงานสาธารณประโยชน์อื่นๆ ก็หวังทำบุญเหมือนกัน เป็นการทำบุญเพื่อความชุ่มชื่นในใจตัวในชาตินี้ รวมทั้งหวังผลในชาติหน้า ซึ่งหมายถึงผลแก่คนรุ่นหลัง ที่เป็นสายเลือดของผมหรือไม่ก็ได้ เพราะผมถือว่าทุกคนเป็นญาติกัน แม้แต่ไม่ใช่คนก็เป็นญาติกับเรา ผมไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า เชื่อว่าตายแล้วตายเลย ไม่มีอะไรเหลืออีกสำหรับตัวเรา ส่วนจะมีความทรงจำเหลืออยู่ในคนอื่นแค่ไหนอย่างไร ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะเราตายแล้ว ชีวิตจบแล้ว และได้บำเพ็ญประโยชน์ไว้ให้แก่คนรุ่นหลังแล้ว หมดห่วงพ้นทุกข์พ้นร้อนไปแล้ว

 

 

ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี  ผมมีประชุมสามัญประจำปีของหลายมูลนิธิ  มูลนิธิพูนพลังเมื่อวันที่ ๓  มูลนิธิ สคส. เมื่อวันที่ ๖  มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ ๒๑  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เมื่อวันที่ ๒๘  และมูลเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในวันที่ ๒๙

ส่วนมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ มีการประชุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ปีนี้ผมไม่ได้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว หมดภาระไปหนึ่งมูลนิธิ  แต่ก็ได้เพิ่มมาอีก ๑ คือมูลนิธิสยามกัมมาจล  เปลี่ยนจากรองประธานเป็นประธาน  มูลนิธินี้ขยันประชุม คือเดือนละครั้ง  ตรงกันข้ามกับมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่ประชุมปีละครั้งเดียว  จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารช่วยดูรายละเอียด  เดิมท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน  ปีนี้ท่านขอลาออก  ภาระจึงตกมาที่ผม

เล่ามายืดยาว เพื่อจะบอกว่า  ในสังคมที่มีอารยะธรรม มีรัฐที่เข้มแข็ง และมีพลเมืองที่รักบ้านเมืองนั้นบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง ต้องมีหลายฝ่ายช่วยกัน  ตามแนวทางของลัทธิประชาธิปไตย  คือประชาชนเป็นใหญ่

ประชาชนมอบหมายอำนาจในการดูแลบ้านเมืองให้แก่ ๓ ฝ่าย  คือฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล  ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกติกาของบ้านเมือง  และฝ่ายตุลาการ

แต่ในความเป็นจริง ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองมีปัจจัยขับเคลื่อนมากกว่านั้น และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ  มีทั้งบทบาทภาครัฐ และบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งตรงนี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น  มันเชื่อมโยงไปกับเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ   และมันมีลักษณะละโมบมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเข้มแข็งของภาครัฐ กับภาคธุรกิจค้ากำไร ไม่เพียงพอสำหรับความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงของบ้านเมือง  ต้องการอีกหลายฝ่ายมาช่วยกัน  ฝ่ายที่สาม (third sector) คือภาคเอกชนที่ไม่ค้ากำไร(NPO – Non-Profit Organization)  ที่กฎหมายบ้านเมืองให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ในรูปของมูลนิธิ หรือสมาคม  สำหรับให้ประชาชนรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์  ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย

กฎหมายระบุให้คณะกรรมการที่เป็นบุคคลน่าเชื่อถือ ทำหน้าที่กำกับดูแล  ดังนั้น เมื่อผมอายุมากขึ้น จึงได้รับเชิญให้เข้าไปเป็นกรรมการมูลนิธิมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งผมก็ยินดี ถือเป็นการทำงานแทนคุณแผ่นดิน   คนเราต้องรู้จักมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ และต่อแผ่นดิน

ในการประชุมสามัญประจำปีของมูลนิธิ มีวาระหลักคือ  (๑) รับรองงบดุลประจำปีที่ผ่านมา (ที่ผ่านการตรวจสอบของนักบัญชีรับอนุญาตแล้ว)  (๒)​ รับทราบผลงานประจำปีที่ผ่านมา  (๓) ให้คำแนะนำและเห็นชอบแผนงานและแผนเงินประจำปีต่อไป  (๔) เรื่องอื่นๆ

การทำงานมูลนิธิ ให้มีความก้าวหน้ายั่งยืนต่อเนื่อง เป็นเรื่องท้าทายมาก  เพราะสังคมไทยผู้คนไม่นิยมบริจาคเงินเพื่อทำงานพัฒนาสังคม  เรานิยมบริจาคแก่โรงพยาบาล และแก่วัด  โดยถือว่าได้บุญ  ทำนองทำบุญสำหรับเป็นการลงทุนไว้รับผลบุญในชาติหน้า  โดยตีความคำว่าชาติหน้าว่าหมายถึงเมื่อตนเองไปเกิดใหม่  แตกต่างจากการตีความว่าชาติหน้าหมายถึงคนรุ่นลูกหลานของตนเองและของคนอื่น

ที่จริงผมทำงานมูลนิธิ และงานสาธารณประโยชน์อื่นๆ ก็หวังทำบุญเหมือนกัน  เป็นการทำบุญเพื่อความชุ่มชื่นในใจตัวในชาตินี้  รวมทั้งหวังผลในชาติหน้า ซึ่งหมายถึงผลแก่คนรุ่นหลัง ที่เป็นสายเลือดของผมหรือไม่ก็ได้  เพราะผมถือว่าทุกคนเป็นญาติกัน  แม้แต่ไม่ใช่คนก็เป็นญาติกับเรา  ผมไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า  เชื่อว่าตายแล้วตายเลย ไม่มีอะไรเหลืออีกสำหรับตัวเรา  ส่วนจะมีความทรงจำเหลืออยู่ในคนอื่นแค่ไหนอย่างไร ไม่เกี่ยวกับเรา  เพราะเราตายแล้ว ชีวิตจบแล้ว  และได้บำเพ็ญประโยชน์ไว้ให้แก่คนรุ่นหลังแล้ว  หมดห่วงพ้นทุกข์พ้นร้อนไปแล้ว

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/537635