แนวคิดประชาสังคมในทัศนะของอดัม สมิธ

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

อดัม สมิธ มีชีวิตอยู่ระหว่า ค.ศ.1723-1790 เป็นนักปรัชญาชาวสกอตต์ที่สนใจปัชญาทางศีลธรรมมีแนวคิดในทำนองเดียวกับเฟอร์กูสัน  งานเขียนของสมิธแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการถกอภิปรายถึงสังคมสมัยใหม่ สมิธได้รับอธิพลทางความคิดจากปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลที่เชื่อว่า มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วก็คือพลเมือง มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอยู่ในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วจึงมีความรักสังคมที่เขาอยู่ และมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี และสังคมนี้ควรได้รับการปกป้องเพื่อการดำรงชีวิตของพวกเขา สมิธได้เสนอแนวคิดที่ท้าทายสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางศีลธรรมของมนุษย์อันมีเหตุกำเนิดมาจากสังคมพาณิชยกรรมและการปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เฟอร์กูสันพยายามค้นหาคำอธิบายถึงสังคมที่มีความซับซ้อนของประชาสังคมสมัยใหม่ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันและการเกิดความเป็นปัจเจกชนนิยมขึ้น สมิธเน้นว่าสังคมพาณิชยกรรมไม่เพียงแต่นำไปสู่ความฉ้อโกง และความเลวร้ายทางศีลธรรมของมนุษย์ที่เกิดจากความขัดแย้งทางคุณธรรมที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน แต่ในอีกทางหนึ่งสังคมพาณิชยกรรมก็มีส่วนดีที่ยังทำให้การเติบโตอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ใช้วิธีการจ้างงานเพื่อแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในงานเขียนเรื่องทฤษฎีแห่งความรู้ทางศีลธรรม (The Theory of Moral Sentiments)  สมิธเสนอว่าการใช้ชีวิตในสังคมสาธารณะต้องมีคุณธรรม การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต้องมีความเป็นธรรมและต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมที่ดีเกิดขึ้น

สมิธแบ่งความแตกต่างระหว่างสังคมดั้งเดิมกับสังคมที่มีความอารยะโดยใช้เกณฑ์ที่พิจารณารูปแบบของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สมิธพยายามอธิบายว่าการแบ่งงานกันทำช่วยทำให้เกิดความมั่งคั้งของชาติได้อย่างไร นอกจากนี้ได้อธิบายถึงตลาดเสรีว่านำไปสู่การขยายตัวอย่างมากของสังคมพาณิชยกรรมและการปรับปรุงระบบการแบ่งงานกันทำ ยิ่งพาณิชยกรรมขยายตัวมากเท่าใด การแบ่งงานกันทำก็ยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น สมิธเห็นว่าสังคมพาณิชยกรรมเป็นการพัฒนาการขั้นสุดท้าย เป็นสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำในระบบการผลิต มีระบบกฎหมาย สัญญา การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินและเงินตราในหมู่เอกชน สังคมในยุคนี้มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีการสะสมทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง การแบ่งงานกันทำเมื่อมองทั้งระบบสังคมแล้วจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือทางสังคมเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุด สถาพสังคมแบบนี้นำไปสู่ความแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพาณิชยกรรมออกจากสังคมการเมืองสมัยใหม่

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

สมิธเห็นว่าปัจเจกชนมีความโน้นเอียงมาแต่กำเนิดที่จะเคารพกฎแห่งความยุติธรรมตามธรรมชาติ  มนุษย์นำตัวเข้าสู่ประชาสังคมก็ด้วยหลักสองประการ ได้แก่ หลักแห่งอรรถประโยชน์ (principle of utility) และหลักแห่งอำนาจหน้าที่ (principle of authority) กล่าวคือ ในหลักประการแรกนั้น มนุษย์โดยธรรมชาติมีความปรารถนาที่จะทำสภาพของตนเองให้ดีขึ้น ความปรารถนานี้โดยปกติมนุษย์ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาโดยใช้วิธีการหาเหตุผลมาอ้างเพื่อแสวงหาความมั่นคง (argumentation of fortune) เพื่อให้บรรลุเหตุผลดังกล่าวปัจเจกชนควรที่จะพอใจกับเสรีภาพส่วนตัวที่จะตัดสินใจว่าตนเองควรจะใช้ทรัพยากรและทักษะของตนมาร่วมกิจกรรมของประชาสังคมอย่างไร สมิธพรรณาว่า เป็นระบบสังคมเสรีทุกคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ที่จะนำตัวเองเข้าสู่การหาประโยชน์ตามแนวทางของตนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ตน หรือสร้างอรรถประโยชน์ให้แก่ตน มนุษย์จึงต้องนำตนเองเข้าสู่ประชาสังคม

ส่วนหลักแห่งอำนาจหน้าที่ สมิธเห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสามประการเท่านั้นคือ หนึ่งปกป้องการรุกรานของศัตรูจากภายนอก สองปกป้องสาธารณะต่างๆรวมทั้งงานด้านการศึกษา และสามบริหารงานยุติธรรม รัฐต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ป้องกันไม่ให้ปัจเจกบุคคลฝ่าฝืนกฎแห่งความยุติธรรม เพื่อให้ปัจเจกชนได้ดำรงชีวิตเพื่อแสวงหาประโยชน์ตามที่ตนต้องการ เมื่อรัฐทำหน้าที่นี้ได้สมบูรณ์เป็นหลักประกันให้เสรีชนเข้าสู่ประชาสังคม ความเห็นของสมิธดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประชาสังคมแบบเสรีนิยม

สมิธเน้นว่า มนุษย์เราโดยธรรมชาติมีความเป็นสังคมและแสดงออกถึงความเป็นสัตว์สังคมของตนออกมาในเชิงสถาบันที่ไม่มีแบบแผนเป็นทางการ มนุษย์รับรู้ว่าโลกประกอบด้วยการปฎิบัติทางสังคมอันหลากหลายและมีสถาบันทางสังคมมากมาย ในสังคมการค้าแบบเสรีจำเป็นต้องมีคุณธรรมของพลเมือง (civic virtue) ที่แสดงออกในพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะในลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนการกระทำต่อกันด้วยความยุติธรรม ในตลาดเสรีเป็นพื้นที่ที่มนุษย์แลกเปลี่ยนหมุนเวียน แรงงาน ทุน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความดีของมนุษย์ และความเห็นทางการเมือง ตลาดเสรียังเป็นแหล่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศิลปะ สมิธเชื่อว่าความรู้สึกทางอารมณ์ จินตนาการ และความเข้าใจสรรพสิ่งเป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์คิดเกี่ยวกับสังคมแบบเสรี

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

11 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือ พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์