บันทึกเก่าเล่าใหม่จากศรีลังกา01

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2013 เวลา 00:00 น. พลเดช วรฉัตร บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

หลังจากไปอยุ่ที่ศรีลังกาเกือบสองปี ผมเคยเขียนบันทึกในสมุดสายตรงจากโคลัมโบ ดังนี้

"เคยอยู่อินเดีย ได้พบขุมทรัพย์ใต้กองขยะมาแล้ว มาอยู่ศรีลังกา เริ่มต้นค้นๆ คุ้ยๆ ไปมา ก็พบว่า สิ่งที่เห็นสามารถเป็นขุมทรัพย์"ทางปัญญา" ได้ไม่น้อย เลยลองมาทำแผนที่สำรวจกันเป็นเบื้องต้นเพื่อการเดินทางที่คุ้มค่า

ด้านศาสนานั้นแน่นอนว่ามี"ของดี" คือพุทธศาสนาที่รับช่วงต่อมาจากอินเดีย

"พระเขี้ยวแก้ว" พระบรมสารีริกธาตุ ที่เป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์ที่คนรุ่นหลังยึดถือได้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสรีระของพระบรมศาสดาที่หาคุณค่าเหลือจะบรรยาย

ต้นโพธิ์จากต้นแรกซึ่งเป็นต้นไม้สหชาติกับพระพุทธองค์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นพยานของการตรัสสู้ของมหาบุรุษพระองค์นี้ นอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วก็มีแต่เทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพยานปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ดังนั้น ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีค่ามาก

เกาะลังกานับว่ามีพลอยและอัญมณีที่มีคุณภาพมาแต่อดีต เราเคยเชื่อกันว่าในเวลาต่อมา ไม่มีแล้ว หมดแล้ว ทำให้คนไทยต้องไปแสวงหาพลอยและอัญมณีที่มาดากัสดาร์กัน แต่ผมเพิ่งเข้าพบ Mayor ของโคลัมโบซึ่งเคยทำธุรกิจพลอยและอัญมณีมาก่อน ท่านบอก(กระซิบ)ว่า ศรีลังกายังมีอัญมณีอีกมากมาย แต่ที่หมดคือหมดการลักลอบอย่างไม่ถูกกฏหมาย....ดังนั้นเรื่องอัญมณีในเกาะลังกาจึงเป็นอีกขุมทรัพย์หนึ่งที่ผมอยากไปค้นหา

การท่องเที่ยว เป็นขุมทรัพย์สำคัญอีกประการหนึ่งของศรีลังกา เพราะเกาะเล็ๆ นี้ ปีที่แล้วมีนักทอ่งเที่ยวมาเกือบ 1 ล้านคนและยังรองรับได้อีกมากหลายเท่าตัว อยู่ที่การจัดการ ซึ่งไทยเรามีความชำนาญในเรืองนี้

ยังมีขุมทรัพย์ให้บอกเล่าอีก แต่หมดเวลาแล้วเพราะผมกำลังจะเดินทางไปแคนดี้เพื่อสักการะพระเขี้ยวแก้ว........เอาไว้กลับมาเล่าต่อในโอกาสหน้านะครับ

เจริญสุข"

ก็กว่าสองปีมาแล้ว ขอยืนยันคำที่ว่าขุมทรัพย์ศรีลังกามีมากไม่แพ้ที่อินเดีย และเป็นที่น่าดีใจว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมามีคนไทยไปศรีลังกามาขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 และมีแนวโน้มจะไปมากขึ้นอีกในอนาคต

 

บันทึกเก่าเล่าใหม่จากศรีลังกา02

เมื่อปีที่แล้วผมได้เปิดสมุดเรื่องการฉลอง 260 ปี สยามวงศ์ และบันทึกแรกก็คือ

01.อารัภมบท:260 ปีสยามวงศ์: ใคร อะไร ที่ไหน ทำไมและอย่างไร

 

อารัมภบท

ผมเปิดสมุดเรื่อง 260 ปีสยามวงศ์ด้วยความปลื้มปีติเพราะมีความตั้งใจมากที่จะจัดงานฉลองวาระดังกล่าวซึ่งผมเชื่อว่าผมได้รับโอกาสจากธรรมะจัดสรร ตั้งแต่การได้ไปประจำการที่อินเดีย ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเรื่องของของพระพุทธศาสนา วิถีพุทธในอินเดีย ประวัติศาสตร์และสิ่งน่ารู้ของอินเดียในปัจจุบัน รวมทั้งได้ีมีโอกาสบวชถวายในหลวง 80 พรรษา ซึ่งเป็นบุญกุศลอย่างสูงสุดในชีวิตและต่อมาได้มีโอกาสไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกาอีก ก็เท่ากับว่าผมได้มีโอกาสเดินไปบนเส้นทางธรรม จากแดนพุทธภูมิสู่แดนพุทธธรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่มาของการได้รับรู้เรื่องราวของพระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในศรีลังกาและต้องเป็นประวัติศาสตร์ของสยามประเทศด้วย นั้่นคือเรื่องราวของพระอุบาลีจากวัดธรรมาราม อยุธยาซึ่งได้รับหน้าที่ที่สำคัญและทรงเกียรติ์ให้ไปบวชพระศรีลังกาซึ่งพระอุบาลีทำหน้าที่ได้ดียิ่ง ทำให้พุทธศาสนาในศรีลังกาสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องราวของพระอุบาลี อาจเลือนหายไปตามกาลเวลาเพราะเนิ่นนานมาถึง เกือบ 260 ปีแล้ว ในปี 2556 จะเป็นปีที่ครบรอบ 260 ปีของการก่อตั้งสยามวงศ์ในศรีลังกา ดังนั้นเพื่อเป็นการเทิดเกียรติของพระมหาเถระรูปนี้ ผมตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะจัดงานฉลองดังกล่าวในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา

ผมพบว่าเรื่องราวของพระอุบาลีนั้นมิได้เกี่ยวกับพระอุบาลีเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ มากมายทั้งสยามและศรีลังกาซึ่งล้วนมีบทบาทและมีความสำคัญยิ่ง เราไม่ควรลืมบุคคลเหล่านี้และผมตั้งใจที่จะทำให้คนรุ่นนี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าและคุรงามความดีของบุคคลเหล่านี้ โดยจะรวบรวมข้อเขียนที่เกี่ยวกับพระอุบาลี ทั้งเรียบเรียงเองและนำมาจากที่อื่นมาไว้ที่เดียวกันเพื่อจะได้เป็นที่รวมเรื่องราวอันทรงคุณค่านี้

ขออาราธณาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล(ซึ่งเคยเสด็จฯ เยือนศรีลังกา) ตลอดจนพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ซึ่งผมในฐานะเอกอัครราชทูต ขอจงช่วยส่งและเสริมให้การจัดงานฉลอง 260 สยามวงศ์ครั้งนี้ราบรื่น บรรลุความสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและต่อชาวพุทธทั่วโลก ด้วยเทอญ....สาธุ

เป็นอารัมภบทจากใจจริง

ด้วยความปรารถนาดี

พลเดช วรฉัตร

ออท. ณ กรุงโคลัมโบ


ซึ่งต่อมามีสมาชิกเข้ามาแสดงความเห็น ดังนี้

เจริญพร ท่านอาจารย์พลเดช วรฉัตร

อาตมาได้ศึกษาเรื่องราวของการก่อตั้งสยามวงศ์ตามตำราและเว็บไซท์ต่างๆ ก็มีความซาบซึ้งในวีรกรรมอันกล้าหาญของทั้งชาวแคนดีและชาวสยามเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่ามีข้อสงสัยอยู่เรื่องนึงเกี่ยวกับนักบวชคณินนานเส ในหนังสือตามรอยพระอุบาลีของลังกากุมาร  คณินนานเสนี้เป็นนักบวชประเภทหนึ่งของศรีลังกาในสมัยก่อน  บ้างก็ห่มผ้าขาว บ้างก็ห่มจีวรเหมือนพระสงฆ์ แต่ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และจะเรียกตัวเองว่า "สามเณร"  ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็ยังบอกอีกด้วยว่า สามเณรสรณังกรก็ได้ไปบวชในสำนักของท่านคณินนานเส นามว่าสูริยโกดะเถระ เจ้าอาวาสวัดสูริยโกดะวิหาร

คำถามก็คือ นั่นแสดงว่าแต่เดิมก่อนที่พระอุบาลีเถระจะมาทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ ท่านสรณังกรก็เป็นคณินนานเสมาก่อน ไม่ใช่สามเณรตามพระธรรมวินัย ใช่หรือไม่ ? ขออาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วย เพราะตำราเล่มอื่นๆ หรือตามเว็บไซท์ ไม่ค่อยจะได้กล่าวถึงนักบวชคณินนานเสนี้เท่าใดนัก

สุดท้ายนี้...ขอให้ท่านอาจารย์ประสบความสุขความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยเทอญ ฯ

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พลเดช วรฉัตร

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2013 เวลา 20:08 น.