อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อศิลปกรรมและวัฒนธรรมไทย

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อศิลปกรรมและวัฒนธรรมไทย

วาทิน ศานติ์ สันติ

ศาสนาถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจขอมนุษย์ไม่ให้หลงไปสู่อบายภูมิทั้งหลาย โดยเฉพาะศาสนาของชาวเอเชียที่เน้นการปฏิบัติตนโดยมีความเชื่อว่า หากปฏิบัติอย่างถึงพร้อมก็จะไม่ต้องกับมาเกิดใหม่ ศาสนาพุทธ เรียกว่านิพพาน ศาสนาพราหมณ์เป็นการกลับไปรวมกับเทพเจ้าสูงสุดเรียกว่า โมกษะ

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ประเทศไทย อย่างน้อยที่สุด ราว ๒๕๐๐ - ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว นับตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดีเป็นต้นมา ปรากฏหลักฐานคือ เทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต บทสรรเสริญพระศิวะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่หุบเขาช่องคอย ในช่วงอารยธรรมเขมรที่เข้ามาในประเทศไทย มีการพบเทวลัย หรือที่เรียกว่าปราสาทหินมากมาย

 

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย

ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างยิ่ง ควบคู่ไปกับพุทธศาสนา สามารถจำแนกดังต่อไปนี้

๑. การปกครองและการยกฐานะกษัตริย์

ศาสนาพราหมณ์ยกย่องให้เทพเจ้า ๓ พระองค์เป็นเทพเจ้าสูงสุดคือ พระพรหมเป็นพระผู้สร้าง พระนารายณ์เป็นผู้รักษา พระศิวะเป็นผู้ทำลาย เรียกว่า “ตรีมูรติ” กษัตริย์ไทยนำความเชื่อแบบเทวราชาเข้ามา ยกฐานะกษัตริย์อยู่ในสมมติเทพ เป็นอวตารของพระนารายณ์ มีการใช้ราชาศัพท์ การประกอบพระราชพิธีที่ซับซ้อน เครื่องสูงต่าง ๆ เช่นมหาเศวตฉัตร

๒. งานศิลปกรรม

๒.๑ งานสถาปัตยกรรม จากคติความศาสนาพราหมณ์เรื่อง “คติภูมิจักรวาล” เชื่อว่า ศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระศิวะ ด้านล่างลดหลั่นกันลงมาเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาและสัตว์ในป่าหิมพาน มีทะเลล้อมรอบทั้งสี่ทิศ มีทวีปทั้งสี่ทิศ ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมไม่ว่าในสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในศาสนาต่างก็ใช้คตินี้ในการสร้างทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากการสร้างหลังคาซ้อนชั้น การใช้เทวดาและสัตว์ อมนุษย์ในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนประกอบของอาคาร

๒.๑.๒ พระราชวัง ในฐานะที่กษัตริย์เป็นสมมติเทพ อยู่อาศัยจึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะเครื่องบ่งบอกถึงยศฐาบรรดาศักดิ์ มีความวิจิตรและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของเทพเจ้า เช่น การมีหลังคาซ้อนชั้นหมายถึงชั้นของเขาพระสุเมร เช่นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้าบรรณที่แสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นเทวกษัตริย์เช่น พระนารายณ์ทรงสุบรรณ พระอินทร์ทรงช้างเอรวัณ เช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  วัดในพุทธศาสนาก็ปรากฏสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์เช่นกัน เช่น ลายหน้าบรรณนารายณ์ทรงครุฑยุทธนาคที่วัดสุทัศน์เทวราราม

๒.๑.๓ เทวาลัยปราสาทหิน ปราสาทหินในประเทศไทย เป็นเทวลัยของศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ในวัฒนธรรมขอมหรือศิลปะลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒เป็นต้นมา เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.ปราจีนบุรี เทวลัยในไศวนิกาย ปราสาทนารายเจงเวง เทวลัยในไวษณพนิกาย

๒.๑.๔ เทวาลัยร่วมสมัย เช่น เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สร้างในสมัย ร.๑ เพื่อประกอบพิธีทาง ประกอบด้วยโบสถ์ ๓ หลังคือ สถานพระอิศวร มีเทวรูปพระอิศวร สถานพระพิฆเนศวร มีเทวรูปพระพิฆเนศวร ๕ องค์ สถานพระนารายณ์  มีเทวรูปพระนารายณ์ พระลักษมีและพระมเหศวร  ด้านหน้ามีเสาชิงช้าเพื่อประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย

วัดแขกสีลม สร้างในสมัย ร.๕ ศิลปะอินเดียภาคใต้ นำเทวรูปเข้ามาจากอินเดียประดิษฐาน มีพิธีสำคัญประจำปีเรียกว่า “นวราตรี” จพิธีบูชาเทพเจ้า ๑๐ วัน ๑๐ คืน    ในคืนสุดท้ายอัญเชิญเทวรูปพระอุมาออกมาแห่บริเวณถนนสีลม

๒.๑.๕ งานประติมากรรม คนไทยนับถือเทพเจ้าและสร้างเทวรูปฮินดูตามสถานที่ต่างๆ เช่น พระพรหมไว้ตามสถานที่ราชการ พระตรีมูรติที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล พระอินทร์หน้าโรงแรมอินทรา พระนารายณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พระพิฆเนศที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีทั้งแบบศิลปะอินเดียและศิลปะไทย

๒.๑.๖ งานวรรณกรรม ที่สำคัญมีสองเรื่องคือ รามเกียรติ์ ปรากฏในงานศิลปกรรมไทย เช่นโขน และ และเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องย่อย ๆ เช่น นิทานเวตาน ศกุนตลา ภควัตคีตา นารายณ์สิบปาง เป็นต้น

๒.๑.๗ งานจิตกรรม เช่น จิตกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมถึงในวัดใหญ่ ๆ มากมาย มหากาพย์มหาภารตะ ปรากฏในภาพสลักที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

๒.๑.๘ อักษรศาสตร์ คือ ภาษาสันสกฤต ชาวอินเดียใช้ในศาสนพราหมณ์ภาคเหนือ คนไทยนำมาใช้ควบคู่กับคำบาลี เช่น สตรี ศรี วัชระ เป็นต้น

๓. พระราชพิธี อยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ  เช่น

๓.๑ พระราชพิธีศิวาราตรี เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ทำพิธีบูชาศิวลึงค์ในเวลาค่ำ ใกล้รุ่งทำพิธีหุงข้าวเจือน้ำผึ้ง นำตาล นม เนย และเครื่องเทศแจก เพระอาทิตย์ขึ้นก็อาบน้ำสะผมด้วยน้ำที่สรงศิวลึงค์ ผมที่ร่วงหล่นก็เก็บเอาไปลอยตามน้ำ เรียกว่า ลอยบาป

๓.๒ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในเดือนห้า เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์  เนื้อหาจะเป็นการกล่าวอ้างอำนาจเทพเจ้าเพื่อความศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ

๓.๓ พระราชพิธีสงกรานต์ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า ที่ใช้คติความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนราศีของอินเดีย เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทยแต่เดิม

๔. รัฐพิธี งานที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดและกราบบังคมทูบพระกรุณาเพื่อทรงรับไว้ เช่นรัฐพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า  พระราชพิธีที่ลดบทบาทลงมาเป็นรัฐพิธีเช่น  พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ที่เป็นพิธีทดสอบความมั่นคงของประเทศรวมถึงการให้ขวัญกำลังใจประชาชน พราหมณ์ขึ้นไปโล้ชิงช้า ณ เสาชิงช้า ในโบสถ์พราหมณ์จะจัดงาน ๑๕ วัน

๕. พิธีกรรมเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เช่น พิธีโกนจุก อินเดียเรียกว่า “พิธีอุปนัยนะ” เป็นพิธีมงคลสำหรับเด็กเชื่อว่า “พรหมรันทร” หรือ “ขม่อม” นั้น เป็นที่ที่อาตมันหรือวิญญาณของคนเข้าออก ตอนเด็กต้องไว้จุกคลุมไว้ และเชื่อว่า ถ้าเด็กไว้ผมจุกตามแบบเทพเจ้า  จะได้รับการคุ้มครองจากเทพเจ้าให้ปลอดภัย  เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่สามารถโกนจุกได้ ชาวไทยเห็นว่าแป็นเรื่องดี จึงรับเอาพิธีกรรมนี้มาปฏิบัติตามแล้วส่งต่อกันมา นอกจากนี้ยังมีพิธีบวงสรวง พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีตั้งศาลพระภูมิเป็นต้น

๖.พราหมณ์ โดยเฉพาะพราหมณ์ในราชสำนักเป็นผู้ประกอบพระราชพิธีถวายตามโอกาสต่าง ๆ พระราชพิธีเช่น วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นต้น งานตามวาระ เช่น พระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พราหมณ์จึงขยายขอบเขตไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น เช่นงานที่ถูกเชิญมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น วางศิลาฤกษ์ ยกเสาเอก งานตัดจุก ตั้งศาลพระภูมิ พราหมณ์มีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มคนในสังคม โดยตอบสนองทางด้านจิตใจ

 

สรุป

แม้คนไทยจะนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาทเป็นหลัก แต่ก็ยังนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ไปด้วย เพราะเห็นเป็นเรื่องดีและเป็นสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต ดังนั้นคติความเอแบบพราหมณ์จึงสอดแทรกอยู่ในวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแยกกันไม่ออก

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๖

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วาทิน ศานติ์ สันติ