ชีวิตที่พอเพียง : 2994. ชีวิตที่ดีในโลกแห่งวัตถุ

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์


หนังสือ เศรษฐศิลป์ ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุในปรัชญาตะวันออก เป็นการนำปรัชญาที่สร้างขึ้นเมื่อ กว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน ในสังคมจีน    เอามาตีความเทียบเคียงกับชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน    คนชอบอ่านหนังสือ อย่างผมอ่านแล้ววางไม่ลง


ลองค้นในอินเทอร์เน็ต พบวีดิทัศน์การเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสจร์ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นตอนๆ รวม ๖ ตอน ตลอดรายการ  ,


บทความแรก ความปรารถนาที่ไม่น่าปรารถนา : ผู้นำแบบสำนักเต๋ากับการสร้างอิสรภาพในโลก แห่งวัตถุ โดย ศริญญา อรุณขจรศักดิ์  คนชอบประวัติศาสตร์อย่างผมอ่านแล้วชอบมาก    เพราะนำสาระปรัชญา เต๋ามาเสนอแบบมีบริบทเรื่องราวในประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการเสนอปรัชญาเต๋า


ชื่อของหนังสือเล่มนี้เหมาะสมมาก    “เศรษฐศิลป์” ในมุมมองของผม คู่กับ “เศรษฐศาสตร์”  


ผมทั้งอ่านบทความแรก และฟังการบรรยายของ ดร. ศริญญา ที่   และอ่านบทความเรื่อง ถกเถียงเรื่องของหลวง กับของส่วนตัว ในปรัชญาจีนโบราณสายนิตินิยม ประกอบการฟังการนำเสนอ ของ รศ. ดร. ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ แล้วชุ่มชื่นกับการให้นิยาม หรือคำอธิบาย ของนักปรัชญา  ต่อ “วัตถุ”  “โลกแห่งวัตถุ”  “อิสรภาพ”  “ความเสื่อม”   “ความปรารถนา”  “การปล่อยวาง”    และเมื่อฟังคำวิพากษ์ ของ ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ และคำอภิปรายต่อเนื่อง แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่ามนุษย์เราเก่งมาก    ในการทำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เกิดขึ้น และร่วมกันเชื่อจนสิ่งสมมติเกลายป็นรูปธรรมขึ้นจริงได้ 


ดร. ปกรณ์ เสนอปรัชญาสำนัก “มั่วจื่อ” เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยิน (หน้า ๑๖๘ - ๑๗๔) ที่เป็นสำนักฐานคิด ของชนชั้นใต้ปกครอง    และเป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักว่าปรัชญาขงจื่อเป็นสำนักของชนชั้นปกครอง   


ที่มาของเรื่องคือหนังสือ เต๋าเต๋อจิง เขียนโดยเล่าจื๊อ เมื่อ ๖๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช    ที่เขียนแบบรหัสนัย หรือแบบ tacit   เปิดช่องให้ตีความได้หลากหลาย    ที่ผมชอบมากที่สุดคือการตีความสู่อิสรภาพในการดำรงชีวิต ของผู้คน    ที่ผมตีความต่อว่า อิสระจากความครอบงำที่เป็นสารพัดมายา  


สมมติเหล่านั้นจะต้องมีคุณค่า มีประโยชน์ จึงจะดำรงอยู่ได้    แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าของสิ่งสมมติ ที่เป็นจารีต ควรถูกตีความใหม่หรือไม่ ตามที่ ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ กล่าวใน เป็นเรื่องน่าสนใจมาก    น่าเสียดายที่บางเรื่องเอามาเรียนรู้ไม่ได้ ผิดกฎหมาย 


การครอบงำหลักในจีนสมัยกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน มาจากผู้ปกครองรัฐ    หรือรัฐครอบงำคน    ผมตั้งข้อสังเกตโยงเข้าหา “ผู้นำแห่งอนาคต” ว่า     ผู้นำแห่งอนาคตต้องเข้าใจการครอบงำที่ทำให้ตนเองและผู้คน ขาดอิสรภาพ และเสรีภาพ    ปัจจัยที่ครอบงำตัวเราและเพื่อนร่วมโลก ร่วมชาติ ในปัจจุบัน แตกต่างจากปัจจัย ครอบงำคนจีนเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน    ผมตีความว่าปัจจัยหมายเลขหนึ่ง ที่ครอบงำในโลกปัจจุบันคือ ลัทธิทุนนิยม    แต่ก็ยังมีปัจจัยหมายเลขสอง หมายเลขสาม ... อีกด้วย    คือโลกปัจจุบัน VUCA กว่าเมื่อสองพัน ห้าร้อยปีก่อน อย่างเทียบกันไม่ได้ 


ขอเถียงตัวเองว่า ข้อความในย่อหน้าบนอาจจะผิดทั้งหมด หากเรายกระดับ abstraction ของวิธีคิด     ผมเสนอใหม่ว่า ไม่ว่ายุคสมัยใด มนุษย์เราถูกครอบงำ หรือถูกทำให้ไร้อิสรภาพ จากสิ่งสมมติที่คนเราร่วมกัน สร้างขึ้น และร่วมกันเชื่อ ร่วมกันทำให้เกิดความเชื่อในระดับงมงาย

   เวลานี้คนทั้งโลกกำลังงมงายอยู่กับวัตถุนิยม    ที่ครอบงำทำให้ชีวิตของเราไร้อิสรภาพ    ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ไม่ตกอยู่ใต้มายาแห่งวัตถุ


เถียงอีก ต่อข้อความในย่อหน้าบน   เราจะหวังให้คนที่อยู่ในระดับล่างของ ลำดับขั้นความต้องการในชีวิต ไม่ถูกครอบงำโดยวัตถุนิยมได้อย่างไร   


ขอเพิ่มข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ของส่วนรวม กับของส่วนตัว” สมัย ๒,๕๐๐ ปีก่อน กับสมัยนี้แตกต่างกันมาก    คือสมัยนี้มัน VUCA กว่าสมัย ๒,๕๐๐ ปีก่อนอย่างเทียบกันไม่ติด    เวลานี้เราเห็นว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า จะต้องมีคนรวมตัวกันไปหาทางสร้างกติกาสังคมเพื่อให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน  และกลุ่มที่สนับสนุนตน    และคนกลุ่มนั้น เรียกว่า นักการเมือง   


อุดมการณ์สมัยโบราณ คือเอาพลังส่วนตัว ไปรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวม    อุดมการณ์สมัยปัจจุบัน คือ เข้าไปตักตวงให้ผลประโยชน์ส่วนรวม รับใช้ผลประโยชน์ส่วนกลุ่มและส่วนตน     ผมตีความในแง่ร้ายเกินไป หรือเปล่าก็ไม่ทราบ


ชีวิตที่ดีในโลกแห่งวัตถุ เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน กับในปัจจุบัน (และอนาคต) ไม่เหมือนกัน   เพราะบริบทแตกต่างกันมาก


อย่างไรก็ตาม ผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้มาก “เศรษฐศิลป์” เตือนใจเราว่า มนุษย์เราต้องมี economic literacy จึงจะมีชีวิตที่ดีได้    และ economic literacy ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิต และวิญญาณ   


ขอขอบคุณ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 12:01 น.