เสนอแนะต่อคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป
มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ ๙๙๙ พุทธมณฑลสาย๔
นครปฐม ๗๓๑๗๐
ที่ ศธ ๐๕๑๗.๐๑/
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗
เรื่อง เสนอแนวคิดและข้อมูล เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
เรียน หัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารรายงานข้อสรุปจากการปรึกษาหารือในที่ประชุมสภา
มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗
อ้างถึงหนังสือจากคณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ด่วนที่สุด เลขที่ พ. ๑๐ /๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งกระผมได้รับเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ขอให้จัดส่งเอกสารเสนอข้อมูลใน ๑๐ เรื่อง ภายในวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗
กระผมเข้าใจว่า ให้ส่งภายในวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ จึงขอเสนอแนวความคิดและข้อมูล ซึ่งเป็นของตัวกระผมเอง ประกอบกับที่ได้จากการปรึกษาหารือในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ และจากแหล่งอื่นๆ อีกหลายแหล่ง มาดังต่อไปนี้
- 1.แนวทางปฏิรูปการเมือง ควรกำหนดให้ สส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อป้องกันสภาพที่นายทุนใหญ่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ใช้เงินสร้างฐานอำนาจ ไปสู่เผด็จการทางรัฐสภา เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
- 2.แนวทางสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของประเทศ ควรสนับสนุนดำเนินการตามข้อเสนอของ “แนวร่วมปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชน” และข้อเสนอของ “ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ที่เสนอต่อสาธารณชนมาเป็นระยะๆ
- 3.แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ควรขอความเห็นจาก ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ และ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
- 4.แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ควรลดขนาดของหน่วยราชการ แต่ทำให้ มีคุณภาพสูง ทำงานโดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศ ทำงานในลักษณะส่งเสริมให้เกิด ผลลัพธ์ที่ต้องการ มากกว่าควบคุมสั่งการในรายละเอียด ซึ่งหมายความว่า ต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์ของการทำงานโดยสิ้นเชิง เลิกทำงานแบบ “หนึ่งกฎระเบียบใช้กับทุก สถานการณ์” (one-size-fits-all) เพราะเวลานี้สามารถใช้ข้อมูลและสารสนเทศแยกแยะ สถานการณ์ และผู้เกี่ยวข้องได้ไม่ยาก
- 5.แนวทางป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น เสนอตามข้อ ๒ ข้างบน
- 6.แนวทางปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องที่กระผมมีความสนใจ และได้ศึกษาไว้มาก และ มีเครือข่ายทำงานเรื่องนี้ กระผมยินดีมาให้ความเห็นในรายละเอียด
โดยสังเขป ระบบบริหารการศึกษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบที่ดำเนินการผิดทาง และนำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมในสังคมในวงกว้าง ไม่เฉพาะการทุจริต และเสื่อมเสียศีลธรรมในวงการศึกษาเท่านั้น
ผลที่เกิดจากการบริหารระบบการศึกษาที่ผิดพลาดเช่นนี้ มีผลให้คุณภาพประชาชน ตกต่ำขาดวิจารณญาณ ขาดความสามารถในการเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน ถูกชักจูงหรือ หลอกลวงได้ง่าย ขาดคุณสมบัติของพลเมืองที่พึงประสงค์ในสังคมยุค (คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้สังคมอ่อนแอ ขาดความสามารถ ในการแข่งขัน
ข้อเสนอที่สำคัญคือ การลดขนาดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงเหลือจำนวนคนเพียง ร้อยละ ๕ - ๑๐ ของที่มีอยู่ในส่วนกลางในปัจจุบัน และกระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหาร จัดการตนเอง โดยมีคณะกรรมการโรงเรียนกำกับ การปฏิรูประบบการศึกษานี้ควรผ่าน ร่างพระราชบัญญัติ จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมอบหมายให้ ทำหน้าที่บริหาร การเปลี่ยนแปลง (change management) ของระบบการศึกษา ทำงานร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษา นำโดย รศ. ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ และควรจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ที่ริเริ่มโดยสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไว้บ้างแล้ว
- 7.แนวทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม บนความเข้มแข็งที่มีอยู่ของวัฒนธรรมความเป็นไทย จึงต้องเน้นลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา ทั้งของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับประเทศ แบบก้าวกระโดด ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap)
- 8.แนวทางปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร เสนอให้ภาครัฐลงทุนพัฒนานักเขียนข่าวเชิงบวก หรือสื่อสร้างสรรค์ เสนอเรื่องราวดีๆ ที่เป็นความสำเร็จในแง่มุมต่างๆ ในสังคม ทำเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย สื่อสารออกสู่สังคม ให้ผู้คนเข้าใจความซับซ้อนของสังคม และเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ผู้คนมี ความอดทนมุ่งมั่น และมีจิตใจมุ่งทำความดีให้แก่ส่วนรวม หรือช่วยเหลือผู้อื่น โดยสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย
ควรสนับสนุนการทำงานของสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส ให้เข้มแข็ง
ยิ่งขึ้น
- 9.แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เสนอให้ศึกษารายงาน “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ของคณะปฏิรูป ที่มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน ซึ่ง ดาวน์โหลดได้ที่http://pkc.ac.th/ckfinder/userfiles/files/aenwthaangkaarptiruuppraethsaithy_khesntphrrkhkaaremuuengaelaphuumiisiththeluuektang.pdf
- 10.แนวทางปฏิรูปด้านอื่นๆ ขอสนับสนุนแนวทางที่ สมาชิกของคณะที่ปรึกษา คสช. ท่านหนึ่ง คือ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นำไปเล่าให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ พร้อมทั้งขอคำแนะนำ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดเห็น ตามรายงานการประชุมสภาฯ ส่วนดังกล่าว ที่แนบมาด้วย
นอกจากนั้น ขอเสนอให้คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พิจารณาข้อเสนอ ของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยใช้เทคนิค “ภาพอนาคต” (scenario technique) เพื่อบรรลุความปรองดองในชาติ ดำเนินการมาแล้วประมาณ ๒ ปี
หากท่านหัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ต้องการให้กระผมมาร่วม ระดมความคิดสู่ข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปการศึกษา หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ด้านการศึกษาซึ่งเป็นสาขาที่กระผมพอจะมีความรู้อยู่บ้าง กระผมยินดีมาร่วมอย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ระยะยาวของบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา
ขอแสดงความนับถือ
(ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช)
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ ๐๒๘๔๙๖๓๓๔
โทรสาร ๐๒๘๔๙๖๓๑๔
e-mail :