นสพ. In ternational Herald Tribune ฉบับวันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๖ เซ็กชั่น Health + Science หน้า ๑๔ ลงข่าวสั้นๆ เรื่อง Less work does not lead to happiness, study shows
เขาอ้างผลงานวิจัยที่ลงพิมพ์ใน The Journal of Happiness Studies โดย Robert Rudolf จาก Korea University ในกรุงโซล ที่ศึกษาข้อมูลจากสภาพจริงในเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1998 – 2008 อาศัยข้อกำหนดในกฎหมายแรงงานของประเทศเกาหลี ปี 2004 ที่กำหนดให้ลดจำนวนวันทำงานจากสัปดาห์ละ ๖ วัน เหลือ ๕ วัน เวลาทำงานจากสัปดาห์ละ ๔๔ ชั่วโมงเหลือ ๔๐ ชั่วโมง ผลการศึกษาบอกว่า การลดเวลาทำงานนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความพึงพอใจในชีวิต และความพึงพอใจในงาน
ท่านพุทธทาสบอกว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ผมบอกตัวเองยามชราว่า การมีงานทำเป็นลาภอันประเสริฐ และพยายามชักจูงส่งเสริมให้แม่ ซึ่งอายุเข้า ๙๔ ปีแล้ว ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อออกกำลัง
การทำงาน ทำให้คนมีคุณค่า การทำงานจะสนุกและให้คุณค่าต่อชีวิตหากเราค้นหาคุณค่าของงานนั้นพบ นี่คืออุดมคติที่ผมยึดถือ การทำงานจึงเป็นการเรียนรู้สำหรับผม และการเรียนรู้ที่ยิ่งยวดคือการค้นหาคุณค่าของกิจกรรมต่างๆ สนุกอย่าบอกใคร เพราะยิ่งค้นก็ยิ่งพบ ยิ่งสนุก เมื่อค้นไปเรื่อยๆ พบว่าที่เราเคยพบนั้นมันผิด ทำให้คิดว่า ชีวิตคือการเดินทางแห่งคุณค่า เดินทางไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต
ดาราศาสตร์สมัยใหม่บอกเราว่า ขณะนี้จักรวาลยังอยู่ในช่วงขยายตัว จักรวาลแห่งคุณค่า ที่มนุษย์พอจะจินตนาการ และสัมผัสได้นั้น ก็เป็นจักรวาลที่ไม่มีขอบเขต คือขยายตัวได้เรื่อยไป หากตัวเรายังเรียนรู้หรือทำความรู้จักคุณค่าจากการปฏิบัติภารกิจต่างๆ คือยังทำงาน
การทำงานที่ทำให้ชีวิตอยู่ในสภาพแห่งความสุข เรียกว่าอยู่ในภาวะ flow ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือชื่อFlow : The Psychology of Engagement with Everyday Life เขียนโดย Mihaly Csikszentmihalyi ผมหมั่นฝึกฝนตนเองเพื่อให้ทำงานในสภาพ flow ได้ และชีวิตช่วงใดอยู่ในสภาพนี้ ผมรู้สึกว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขแบบเบาสบาย ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก หรือมีงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา
วิจารณ์ พานิช
๒๙ ส.ค. ๕๖
บนเครื่องบินนกแอร์ไปหาดใหญ่