หนังสือ สูง ต่ำ ไม่เท่ากัน : ทำไมระบบการศึกษาจึงสร้างความเหลื่อมล้ำบอกว่า ในส่วนของความเหลื่อมล้ำที่วัดได้ ได้ศึกษา ๓ ประเด็น คือ (๑) ความเหลื่อมล้ำของโอกาส (๒) ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรที่ลงทุนเพื่อการศึกษา และ (๓) ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษา
เรื่องแรก คือความเหลื่อมล้ำของโอกาส หนังสือบอกว่าเป็นข่าวดี คือในภาพใหญ่ ความเลื่อมล้ำลดลงมาก คือคนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจ ซึ่งประเด็นนี้ผมเถียงหัวชนฝาว่าไม่จริง เพราะเราต้องมองที่โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่โอกาสเข้าถึงการศึกษาเฉยๆ
เวลานี้คนไทยต้องดิ้นรนทุกข์ยาก เพื่อหาที่เรียนที่มีคุณภาพให้แก่ลูกหลาน ไม่ต่างจากสมัยก่อน นี่คือข้อสังเกตของผม
หาที่เรียนยังไม่พอ ต้องจ่ายเงินค่ากวดวิชาที่แสนแพงอีกด้วย
น้องชาย (นพ. วิโรจน์ พานิช) เล่าให้ฟังว่า ที่สุราษฎร์ คนที่พอมีเงิน นิยมส่งลูกไปเรียนชั้นมัธยมที่มาเลเซีย เพราะคุณภาพคุ้มค่าเงิน และถูกกว่าให้เรียนที่เมืองไทย เพราะเรียนที่เมืองไทยต้องรวมค่ากวดวิชา และอื่นๆ ด้วย
เรื่องที่สอง ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากร ผมสนับสนุนความเห็นในรายงานนี้อย่างเต็มที่ ว่าเวลานี้เราลงเงินผิดที่ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรับผิดชอบดำเนินการต่อไป นักวิจัยควรเก็บข้อมูลติดตามผล ว่าระบบของเราดีขึ้นหรือเลวลง เมื่อเวลาผ่านไป
ความเหลื่อมล้ำและผิดพลาดในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร อยู่ที่จัดสรรให้แก่การศึกษาระดับปฐมวัยน้อย และค่อยๆ จัดเพิ่มขึ้น จนสูงสุดในระดับอุดมศึกษา นี่คือแนวทางที่ผิด เพราะผลของการศึกษาที่ดีในระดับปฐมวัย จะก่อผลดีต่อรัฐสูงสุด ส่วนผลของการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แก่ตัวบุคคลมากกว่าผลต่อรัฐ
แต่ก็มีข้อสังเกตเพิ่มในเรื่องเมื่อลงเงินไปแล้ว ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ จะเห็นว่า ประเด็นคุณภาพแฝงอยู่ในนโยบายการศึกษาทุกจุด หากไม่มีคุณภาพในการใช้เงิน ยังมีคอรัปชั่นทางตรงและทางอ้อมมากมายในวงการศึกษา ใส่ทรัพยากรลงไปก็สูญเปล่า
เรื่องที่สาม ผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน มีความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค, ระหว่างในและนอกเทศบาล และระหว่างหน่วยงานที่กำกับสถาบันการศึกษา
ผมขอเพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาระหว่างนักเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน ผมได้ยินมาว่าความเหลื่อมล้ำนี้สูงกว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลผลการสอบ PISA ผมคิดว่า ควรมีการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาในชั้นเรียน เพื่อหาทางแก้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่แสดงความผิดพลาดในการจัดการเรียนรู้ และน่าจะเป็นเรื่องที่แก้ได้ไม่ยาก ตามหลักการศึกษา
วิจารณ์ พานิช
๑๒ ต.ค. ๕๖