ผมมาประชุม UNESCO ตั้งแต่วันอาทิตย์ มีการประชุม MOST (Management of Social Transformation) ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 กันยายน 2552 เป็นการประชุมใหญ่ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งประเทศไทยส่งผมและ รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้วมาประชุมที่ปารีสมีตัวแทนของประเทศไทย คุณอรชาต สืบสิทธิ์ อยู่กระทรวงศึกษาธิการมาประจำยูเนสโก สำนักงานใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมากๆ และดูแลเรา 2 คนอย่างดี ถ้าตัวแทนคนไทยมีความสามารถแบบคุณอรชาต ประเทศไทยคงได้รับประโยชน์จากองค์กรระหว่างประเทศมากมาย
ผมเป็นกรรมการของคณะสังคมศาสตร์มากว่า 10 ปีแล้ว ได้เห็นคุณค่าของงาน UNESCO มาตลอดว่า เป็นองค์การของสหประชาชาติที่มีอิทธิพลมากมาย เช่น การศึกษา ปัจจุบันที่เด่นมากคือ การริเริ่มเรียน Life Long Learning ประเทศไทยควรศึกษาจาก UNESCO และดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ด้านวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ UNESCO ให้ความสนใจในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา เช่น การแคลนน้ำในโลก มุมมองด้านวิทยาศาสตร์ เริ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาประเทศ เรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาประเทศ เรื่องมรดกโลกก็ต้องรู้เรื่องวัฒนธรรมซึ่งเป็นจุดบอดของไทยในเรื่องเขาพระวิหาร
ใน 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นกรรมการบริหารของ MOST ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาที่ส่งนักวิชาการอย่างเรา 2 คนมาร่วมประชุม
สรุปคือ UNESCO อยากให้ประเทศไทยตั้งคณะกรรมการ MOST ในระดับประเทศ ซึ่งผมเสนอจะขอเป็นตัวแทนคนอาเซียนเพื่อริเริ่มเรื่องนี้ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเพื่อนอาเซียน 2 ประเทศที่มาประชุมด้วยคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งสรุปการประชุมให้ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Pilot Project โดย
- นำงานวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายในระดับการเมือง
- งานวิจัยดังกล่าวจะต้องเป็นสังคมศาสตร์ แต่ผมเสนอที่ประชุมว่า จะเชิญนักเศรษฐศาสตร์มาร่วมมากขึ้น
- จะเชิญมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยมาร่วมเป็นคณะกรรมการ
- จะเชิญระดับการเมืองท้องถิ่นและระดับประเทศมาร่วมคณะกรรมการชุดนี้จะตั้งในนามของ UNESCO ประเทศไทยซึ่งเหมาะกับเวลา เพราะประเทศไทยมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง
- รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลเพื่อแก้ปัญหา แต่แก้ปัญหาการเงินหรือธนาคาร ต้องแก้ปัญหาของประชาชนที่เสียเปรียบด้วย เช่น คนจน ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุให้ได้ประโยชน์ด้วย
ผมและอาจารย์สุริชัยได้แสดงความคิดเห็นหลายครั้ง ซึ่งทำให้ผู้แทนไทยทำหน้าที่ได้คุ้มค่า มีบทบาทในการประชุมครั้งนี้ เช่น
เน้นว่าประสบการณ์ของไทยมีมาก เคยผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว คนไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยคิดเป็น ให้มีความยั่งยืน ไม่ทำอะไรเกินตัว ซึ่งผมแทนหลายประเทศให้ความสนใจและคิดว่า ควรนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ในระดับนานาชาติที่ UNESCO ต่อไป
ผมขอชมเชยทีมงาน UNESCO ที่เมืองไทยคุณดลยาและทีมงานคุณอรชาตที่ปารีสทำงานได้ดี สร้างความประทับใจให้ผมและอาจารย์สุริชัย โดยเฉพาะคุณอรชาตเป็นข้าราชการที่มีความสามารถทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกประเทศอื่นๆใน UNESCO
ผมมาปารีสได้เห็นปัญหาของโลกหลายอย่าง เอเชียเรามีปัญหาภัยธรรมชาติมากมาย เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เขมร เรื่องภาวะโลกร้อนซึ่งต้องศึกษาผลกระทบของผู้เสียเปรียบในสังคมโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ขอทิ้งท้ายไว้ให้ท่านเริ่มสนใจนักการเมืองเยอรมัน คราวนี้ไม่ใช่คุณ Merkel แต่ชื่อ Westerwelle เป็นผู้นำของพรรค Free Democrat อายุ 47 ปี กำลังจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของเยอรมัน ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เป็นผู้นำอายุน้อยและเป็นเกย์อย่างเปิดเผยด้วย
ผมชอบติดตามผู้นำใหญ่เหล่านี้เพื่อให้คนไทยได้รู้ว่า การเมืองเยอรมันก็สร้างผู้นำใหม่ๆเสมอ ผู้นำรุ่นใหม่ทางการเมืองของไทยจะเกิดได้อย่างไร? เพราะการเมืองของไทยต้องใช้เงินเป็นตัวหลัก
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ศ.ดร. จีระ หงส์ลดารมภ์
คัดลอกจาก https://www.gotoknow.org/posts/604010