"รสนา" โพสต์เฟซบุ๊ค แนะ "คสช." รับฟังความเห็นภาคประชาสังคมที่ติดตามนโยบายด้านพลังงานก่อนที่จะอนุมัติแผน เหตุนโยบายมักเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานมากกว่าคุ้มครองประโยชน์ประชาชน
วานนี้ (30 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "รสนา โตสิตระกูล" โดยมีข้อความระบุว่า มีการเสวนาในกลุ่มวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องพลังงานในมิติต่างๆ เพื่อติดตามประเด็นที่กระทรวงพลังงานกำลังใช้โอกาสนี้นำเสนอแผนงานต่อคสช. โดยไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบแผนงานต่างๆเหมือนเดิม
ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองในสภาที่เก่งในการลักหลับประชาชนเท่านั้น ข้าราชการในกระทรวงพลังงานก็ไม่ใช่ย่อย ช่วงใดที่สังคมมีวิกฤติที่ผู้คนกำลังชุลมุน ไม่ทันตั้งตัว ก็จะเกิดปรากฎการณ์สอดใส้แผนงานที่ขาดความโปร่งใส และประชาชนคัดค้านใส่มือผู้มีอำนาจให้อนุมัติในจังหวะนั้นเสมอ
อย่างเช่นปี2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรจนรัฐบาลต้องหนีไปใช้ดอนเมืองเป็นที่ทำงาน กระทรวงพลังงานก็ตั้งเรื่องขออนุญาตให้ปิโตรเคมีมาใช้ก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซก่อนผู้ใช้รายอื่นร่วมกับภาคครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันที่ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของธุรกิจเอกชนได้ใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศ ที่มีราคาถูกกว่าราคาตลาดโลก 40% และผลักผู้ใช้กลุ่มอื่นไปใช้ก๊าซแอลพีจีในราคานำเข้าที่มีราคาแพง
ในปี2552 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่ครม.ต้องหนีการปิดล้อมของนปช. ไปประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีเหตุขว้างปาระเบิดในขณะประชุมคณะรัฐมนตรี คนกระทรวงพลังงานก็สามารถนำแผนพีดีพีเสนอผ่านการอนุมัติแผนการใช้เงินจนสำเร็จ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียง2วัน ผ.อ สนพ.ยืนยันในการสัมนาที่จัดโดยวุฒิสภาว่าจะยังไม่นำแผนพีดีพีที่ประชาชนทักท้วงเข้าไปขออนุมัติในครม.อย่างแน่นอน และจะเลื่อนไปไม่มีกำหนด แต่ในที่สุดก็มีมติครม.อนุมัติแผนพีดีพีในวันนั้น(วันที่12มีนาคม 2552)
มาถึงวันนี้วันที่30 พฤษภาคม 2557 ข่าวว่าพล.อ.อ ประจิน จั่นตองจะเข้าไปรับฟังการเสนอแผนขออนุมัติของกระทรวงพลังงาน เช่นแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่ยังไม่ได้ผ่านประชาพิจารณ์ การขอกู้เงินมาโปะกองทุนน้ำมัน และอาจรวมถึงการขอไฟเขียวให้เปิดสัมปทานรอบที่21ที่ประชาชนเรียกร้องให้ชะลอกไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียมพ.ศ 2514 ก่อน
จึงขอให้ทางคสช. ควรเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมที่ติดตามการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานเสียก่อนที่จะอนุมัติแผนใดๆ เพราะนโยบายที่กำหนดออกมาถูกตั้งข้อสังเกตว่า มักเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานเป็นหลัก มากกว่าจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน
การรัฐประหารของคสช.เป็นการเข้ามาจัดการบ้านเมืองให้สงบจากการใช้ความรุนแรงคุกคาม และเข่นฆ่าประชาชนโดยผู้มีกองกำลังอาวุธนั้นเป็นความจำเป็น เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่มีการปองร้ายกัน ที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกสี จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่หมักหมมอยู่ ซึ่งคือปัญหาคอรัปชันและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติผ่านโครงการเมกกะโปรเจคหรือนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องได้รับการสะสางด้วยความร่วมมือของคสช.และภาคประชาสังคม
คสช.ต้องไม่ปล่อยให้มีการอาศัยช่วงเวลานี้เป็นโอกาสทองหรือช่องทางลัด (fast track) ผ่านคอนเนคชั่นของกลุ่มผู้มีอิทธิพลของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเมืองในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แบบเดิมๆ ผ่านการอนุมัตินโยบายและแผนงานที่ขาดความโปร่งใส และประชาชนคัดค้านในจังหวะโอกาสเช่นนี้
ภารกิจที่คสช.ควรทำในช่วงฮันนี่มูนพีเรียดนี้คือ
1) การรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
2)สะสางปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือระยะสั้นที่ไม่ส่งผล กระทบที่ก่อความเสียหายต่อประชาชนในระยะยาว
3)เป็นกรรมการจัดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนรวมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเมืองให้เข้ามาอยู่ในเวทีอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันโดยสันติ ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปประเทศ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ รวมทั้งการวางโรดแม็ปเปลี่ยนผ่านประเทศไทยหลังจากรัฐประหารสู่การเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม
โครงการเศรษฐกิจเรื่องใหญ่ๆเช่นโครงข่ายคมนาคมระบบราง และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ควรเอาไปไว้ในเวทีปฏิรูป และเดินหน้าได้หลังจากที่นโยบายเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ข้อมูลจาก T News
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|