ระบบทุนนิยมโลกในทัศนะ จอร์ซ โซรอส พ่อมดการเงินของโลก
หนังสือวิกฤติระบบทุนนิยมโลก หนังสือเล่มล่าสุดของจอร์ซ โซรอส พ่อมดทางการเงินที่โด่งดังที่สุดได้วิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ
1. ข้อบกพร่องของกลไกตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดในความไร้เสถียรภาพของตลาดการเงินระหว่างประเทศ
จุดอ่อนของภาคสังคมที่ไม่เกี่ยวกับการตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดคือความล้มเหลวของ
การเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ
ทุนนิยมการค้าของโลกเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกได้เข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นระบบเศรษฐกิจโลกจริงๆ ก็หลังจากที่ทุน ข้อมูลข่าวสาร และการประกอบการสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เหมือนไม่มีพรมแดน เมื่อสักราว 20 ปีที่แล้วนี้เอง
การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก เป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติและตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะยังคงมีอำนาจอธิปไตยในการเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจในประเทศของตน แต่รัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับพลังของการแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน ถ้ารัฐบาลไหนกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อเงินทุน เงินทุนก็จะหนีไปประเทศอื่น ถ้ารัฐบาลไหนให้แรงจูงใจแก่การลงทุน หรือรักษาค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ เงินทุนก็จะไหลเข้าประเทศ
ระบบทุนนิยมโลก เป็นระบบจักรวรรดิที่เป็นนามธรรม มากกว่าจักรวรรดิที่เห็นได้ชัดแบบในอดีต มันอิทธิพลต่อชีวิตของคนทั่วทั้งโลกมากกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือ ระบบทุนนิยมโลกมุ่งขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ต่างไปจากจักรพรรดิ เช่น พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชหรืออัตติลา ชาวฮั่น การขยายตัวของมันมุ่งไปในทางการมีอิทธิพลครอบงำชีวิตประชาชนมากกว่าการขยายดินแดนทางภูมิศาสตร์
ทุนนิยมกับประชาธิปไตย
ความเชื่อที่ว่าระบบทุนนิยมจะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมืองไปด้วยนั้น เป็นความจริงเฉพาะในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง แต่ไม่เป็นจริงสำหรับประเทศพัฒนาทุนนิยมขอบนอกที่พัฒนาทุนนิยมขึ้นทีหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องการการสะสมทุน ดังนั้นจึงต้องการค่าจ้างต่ำ และอัตราการออมสูง ซึ่งรัฐบาลเผด็จการอาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ อย่างในเอเชีย รัฐบาลส่วนใหญ่ก็เข้าข้างนักธุรกิจและช่วยพวกเขาสะสมทุน
แม้ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเอง ทุนนิยมและประชาธิปไตยก็มีหลักการที่แตกต่างกัน ทุนนิยมเน้นความมั่งคั่ง ขณะที่ประชาธิปไตยเน้นอำนาจทางการเมือง หน่วยวัดในระบบทุนนิยมคือเงิน หน่วยวัดในประชาธิปไตยคือสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ทุนนิยมรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประชาธิปไตยรับใช้ประโยชน์ส่วนรวม ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางมีความแตกต่างขัดแย้งสูง และระบบรัฐสวัสดิการ (ซึ่งทำให้ทุนนิยมมีอายุยืนยาวกว่าที่คาร์ลมาร์กซ์ทำนายไว้) ในปัจจุบันก็เริ่มลดลง เพราะเงินทุนสามารถโยกย้ายหนีภาษีและการจ้างงานที่มีเงื่อนไขมากไปสู่ประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น
ระบบรัฐสวัสดิการที่ลดลงในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ และผลกระทบทั้งหมดของมันยังไม่ปรากฎให้รู้สึกได้ทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนของเศรษฐกิจภาครัฐบาล ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นสูง นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เริ่มมีอัตราลดลงนับจากปี 2523 แม้จะลดลงไม่มากนัก แต่ภาษีที่เก็บจากทุนและการจ้างงานมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ภาษีจากการบริโภคมีสัดส่วนสูงขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภาระของภาษีย้ายจากเจ้าของเงินทุนไปสู่ประชาชนมากขึ้น
บทบาทของเงิน
เงินมีบทบาท 3 อย่างคือ เป็นหน่วยวัดทางบัญชี, เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเป็นที่สะสมมูลค่า นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกตีความว่า เงินเป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมาย(Means to an End) เงินไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวเอง เงินสะท้อนมูลค่าในการแลกเปลี่ยน(Exchange Value) ไม่ใช่มูลค่าแท้จริงที่อยู่ภายในตัวมัน(Intrinsic Value) นั่นก็คือมูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าและบริการที่เงินสามารถแลกเปลี่ยนได้ (เงินไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง แต่เพราะคนยอมรับให้มันเป็นเงิน)
ในสังคมทุนนิยม ซึ่งเน้นการแข่งขัน และการวัดความสำเร็จด้วยความมั่งคั่งคิดเป็นตัวเงินมูลค่าในการแลกเปลี่ยนของเงินได้เข้ามาแทนที่มูลค่าภายในของตัวเงิน เมื่อเงินสามารถซื้อเกือบทุกสิ่งได้ ทุกคนก็ต้องการเงิน เงินกลายเป็นอำนาจ และอำนาจก็คือจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง คนยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งมีอำนาจมาก
การที่ระบบทุนนิยมโลกเน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้ละเลยจุดมุ่งหมายด้านอื่นของสังคมเช่น การเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสังคมส่วนรวมมากกว่ากรณีบริษัทได้กำไรสูงสุด การแข่งขันกันหากำไร ทำให้เกิดการรวมบริษัท, การลดขนาด และการย้ายโรงงานไปต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานที่เรื้อรังในยุโรป
ระบบทุนนิยมโลกยังประสบความสำเร็จอย่างวิปริตในการแผ่อิทธิพลทางอุดมการณ์เข้าไปในอาณาบริเวณที่คุณค่าอย่างอื่นนอกจากคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงิน เคยครอบครองอยู่ คือ ในวัฒนธรรมและในอาชีพบางอาชีพ ซึ่งคนเคยยึดคุณค่าของวิชาชีพ(เช่น แพทย์ ครู) มากกว่าคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงิน ระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันแตกต่างจากทุนนิยมสมัยก่อนตรงที่เงินมีบทบาทเป็นมูลค่าภายในตัวของมันเอง(Intrinsic Value) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับว่าก่อนนี้เงินเคยมีบทบาทแค่เป็นมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ปัจจุบันเงินได้กลายเป็นผู้ปกครองชีวิตของคน ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เครดิตในฐานะของที่มาแห่งความไม่มั่นคง
เงินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องเครดิต(สินเชื่อ) อย่างใกล้ชิด แต่คนเรายังเข้าใจบทบาทของเครดิตน้อยกว่าบทบาทของเงิน เครดิตมักจะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่ผู้ขอกู้นำมาจำนองหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอกู้มีเครดิต มูลค่าของหลักทรัพย์ที่จำนองหรือเครดิตของผู้กู้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะการมีเครดิตมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ให้กู้ และมูลค่าของหลักทรัพย์จำนอง(ที่นิยมมากที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์) ก็ได้รับอิทธิพลจากความจริงที่ว่าในระบบเศรษฐกิจขณะนั้นมีเครดิตหรือสินเชื่อที่จะปล่อยให้กู้ได้มากแค่ไหนด้วย
เครดิตของประเทศผู้ขอกู้ มักจะถูกวัดโดยสถิติบางตัว เช่น อัตราส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์สุทธิประชาชาติ, อัตราส่วนการชำระหนี้ต่อการส่งออก ฯลฯ มาตรวัดเหล่านี้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะความมั่งคั่งของประเทศผู้ขอกู้มักจะขึ้นต่อความสามารถในการกู้จากต่างประเทศได้มาก ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ 2 ทางนี้มักถูกมองข้าม ดังนั้นจึงเกิดการปล่อยกู้ระหว่างประเทศกันอย่างขนานใหญ่ชนิดเกินความพอดีในทศวรรษ 2510 หลังจากเกิดวิกฤติหนี้สินในปี 2525 ก็เชื่อกันว่าผู้ให้กู้คงระมัดระวังมากขึ้น คงไม่มีการปล่อยเงินกู้กันมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤติเหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วอีก แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่เม็กซิโกในปี 2537 และอีกครั้งที่ไทยและประเทศเอเชียอีกหลายประเทศในปี 2540
เครดิตระหว่างประเทศมีลักษณะที่ไม่มั่นคงมากกว่าเครดิตภายในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบควบคุมจากธนาคารกลางที่ดีกว่า ดังเราจะเห็นได้ว่ามีปัญหาวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีอยู่ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะควบคุมดูแลได้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับธนาคารกลางในแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการกู้ยืมในประเทศของตน องค์กรระหว่างประเทศและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะร่วมมือกันบ้างเวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ แต่เป็นการตามแก้ปัญหาภายหลังจากเกิดวิกฤติแล้ว มากกว่าที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งต่อไป
ความไม่สมมาตร และความไม่มั่นคงของระบบทุนนิยมโลกในทัศนะจอร์ซ โซรอส
เวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ เจ้าหนี้จากประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง(ด้วยความช่วยเหลือของ IMF ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่) มักเป็นฝ่ายได้เปรียบลูกหนี้จากประเทศทุนนิยมขอบนอกค่อนข้างมาก เจ้าหนี้อาจจะให้กู้ต่อ, ยืดอายุหนี้หรือแม้แต่ลดหนี้ แต่พวกเขาไม่เคยตัดหนี้สูญให้ลูกหนี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาสามารถชักจูงรัฐบาลประเทศลูกหนี้ให้เป็นฝ่ายรับผิดชอบต่อหนี้สินของธนาคารพาณิชย์(เช่น ที่ชิลีในปี 2525 เม็กซิโก ปี 2537 เกาหลีใต้ อินโดนิเซีย และไทยในปี 2540) แม้ว่าพวกเจ้าหนี้อาจจะต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น แต่ในที่สุดแล้วพวกเขามักจะได้การชำระคืนจากหนี้เลวเป็นสัดส่วนสูงพอสมควร ถึงกรณีที่ประเทศลูกหนี้อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่พวกเขาก็จะถูกบีบให้ต้องชำระหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาระการถูกบีบบังคับให้ต้องชำระหนี้เช่นนี้มักทำให้ประเทศลูกหนี้ต้องเศรษฐกิจตกต่ำไปหลายปี
การที่เจ้าหนี้เงินกู้ระหว่างประเทศได้รับประกันความเสียหายจากระบบทุนนิยมโลกค่อนข้างมาก เป็นตัวการสร้างการเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ต้องรับผิดชอบ(MORAL HAZARD) เนื่องจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ระหว่างประเทศมีไม่มากพอที่จะยับยั้งให้เจ้าหนี้ต้องระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้ ความไม่สมมาตรในลักษณะนี้เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่มั่นคงของการกู้ยืมระหว่างประเทศ
วิกฤติทางการเงินทุกครั้งมักจะเริ่มต้นด้วยการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่จีรังยั่งยืน ถ้าหากมีเงินสำหรับให้กู้อยู่มากมาย ย่อมเป็นการยากที่จะคาดหมายให้ผู้ขอกู้ต้องยับยั้งชั่งใจตนเอง ถ้าหากภาครัฐบาลเป็นผู้กู้ คนที่จะใช้หนี้คือรัฐบาลชุดต่อไป รัฐบาลจึงนิยมกู้เงินเพื่อมาทดแทนการบริหารที่ไม่ได้เรื่องของตน แต่ไม่ใช่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่ไม่สนใจจะควบคุมตนเองไม่ให้กู้มากเกินไป ภาคเอกชนก็มักไม่สนใจควบคุมตนเองเช่นกัน โดยที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลทางการเงินของรัฐบาลเช่น ธนาคารกลางมักไม่ตระหนักว่าประเทศของตนมีการกู้หนี้ระหว่างประเทศมากเกินไป จนกว่ามันจะสายไปเสียแล้ว นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชียในวิกฤติปี2540
ความไม่สมมาตรอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เงินตราสกุลที่เป็นที่ยอมรับในการซื้อขายระหว่างประเทศเป็นของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศ และการเงินของประเทศเหล่านี้ถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐบาลภายในประเทศนั้น มากกว่าเพื่อประโยชน์ของการเงินระหว่างประเทศ ประเทศทุนนิยมขอบนอกจึงควบคุมชตากรรมของตนได้น้อยมาก วิกฤติหนี้ระหว่างประเทศในปี 2525 เกิดขึ้น เพราะสหรัฐเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่วิกฤติของเอเชียในปี 2540 ก็เริ่มมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น
ความไม่สมมาตร 2 ประการที่กล่าวมา เป็นสาเหตุใหญ่ แม้จะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความไม่มั่นคงของระบบการเงินของโลก
ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล
(MARKETFUNDAMENTALISM)
ระบบทุนนิยมโลกได้รับการสนับสนุนจากอุดมการณ์ที่มีรากมาจากทฤษฎีการแข่งขันสมบูรณ์ ทฤษฎีนี้อ้างว่าตลาดมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไปสู่จุดดุลยภาพเสมอ และจุดดุลยภาพสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทฤษฎีนี้เชื่อว่าไม่ควรมีการแทรกแซงใด ๆ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของกลไกตลาดเสียไป อุดมการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า LAISSES FAIRE — “เปิดเสรีให้ทำอะไรได้ตามใจชอบ” แต่โซรอสคิดว่าน่าจะเรียกว่า MARKET FUNDAMENTALISM – ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหลมากกว่า
คำว่า FUNDAMENTALISM หมายถึง ความเชื่อที่อาจจะนำไปสู่ความสุดขั้วได้ง่าย มันคือความเชื่อในเรื่องความสมบูรณ์ ความเชื่อในเรื่องความจริงแท้ ความเชื่อว่าปัญหาทุกปัญหาต้องมีทางแก้ไข มันสะท้อนถึงสิทธิอำนาจ(AUTHORITY) ที่อ้างถึงความรู้ที่สมบูรณ์ แม้ว่าความรู้นั้นมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้
พระเจ้าคือ สิทธิอำนาจเช่นนั้น และในโลกยุคใหม่ วิทยาศาสตร์ก็คือสิ่งทดแทนที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งลัทธิการบูชาตลาดและมาร์กซิสม์ต่างอ้างว่าทฤษฏีของตนมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เพราะอุดมการณ์ทั้งสองนี้พัฒนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่19 ในยุคที่การตื่นตัวในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้คนเชื่อว่า เราสามารถจะค้นหาสัจธรรมที่สมบูรณ์ได้
ปัจจุบันเราได้เรียนรู้อย่างมากถึงข้อจำกัดของวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ และความไม่สมบูรณ์ของกลไกตลาด ทั้งอุดมการณ์บูชาการตลาดอย่างหลงไหลและมาร์กซิสม์ ต่างถูกลดความเชื่อถือด้วยกันทั้งคู่ อย่างแรก หลังจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 2470 และการแทนที่โดยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์(ที่เน้นการแทรกแซงของรัฐมากกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด) อย่างหลังโดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหลก็กลับฟื้นคืนชีพได้ในภายหลัง ด้วยความเชื่อของคนมากกว่าพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
อนาคตของทุนนิยมโลกในทัศนะจอร์จ โซรอส
ตลาดการเงินของโลกขยายตัวใหญ่กว่าตลาดการค้าหลายร้อยเท่า ผู้จัดการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากราคาหุ้นมากกว่ามุ่งขยายส่วนแบ่งในตลาด การควบและเข้าซื้อกิจการขยายตัวในอัตราสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การผูกขาดและกึ่งผูกขาดระดับโลกกำลังปรากฎตัวขึ้น ขณะนี้มีบริษัทตรวจสอบบัญชี (AUDITING FIRMS) ระดับโลกเหลือเพียง 4 บริษัท วงการธนาคารและธุรกิจการเงินก็มีแนวโน้มจะควบกิจการกันมากขึ้น ไมโครซอฟท์และอินเทลเกือบจะกลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจคอมพิวเตอร์ของโลกอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น และสัดส่วนของการมีหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในครัวเรือนก็มีมากขึ้น การขยายตัวของการเป็นเจ้าของหุ้นในกองทุนรวมต่าง ๆ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา 2 ประเด็น คือ
ผลจากความร่ำรวยของกำไรจากการถือหุ้น ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น และการออมของประชาชนอเมริกันลดลง ดังนั้นถ้าราคาหุ้นเกิดตกต่ำ ความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม นำไปสู่เศรษฐกิจชลอตัว และซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นยิ่งตกมากยิ่งขึ้น
2) ความไม่มั่นคงที่เกิดจากการที่ผู้จัดการกองทุนรวมถูกประเมินผลจากความสามารถในการทำกำไรในเชิงเปรียบเทียบระยะสั้น มากกว่าจากการทำกำไรสุทธิในระยะยาว ดังนั้นพวกเขา
จึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนแบบตามกระแสการเก็งกำไร มากกว่าที่จะลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และมักจะทุ่มลงตัวแบบสุด ๆ เพื่อมุ่งหวังทำกำไรสูงสุด โดยเก็บเงินสดสำรองไว้น้อยมาก ถ้าหากกระแสราคาหุ้นเปลี่ยนกลับเป็นขาลง พวกเขาจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ขายหุ้นเพื่อมีเงินสดสำรอง ซึ่งยิ่งเป็นการกดดันให้หุ้นราคาดิ่งลงไปอีก
ทุนนิยมโลกรูปแบบใหม่ที่รุนแรงกว่าเก่า กำลังมุ่งทำลายโมเดลการบริหารแบบเอเชีย หรือแบบขงจื้อที่ให้คุณค่าในเรื่องครอบครัว(รวมทั้งการดูแลพนักงานเหมือนสมาชิกในครอบครัว) วิกฤติปัจจุบันบีบบังคับให้ธุรกิจแบบครอบครัวของเอเชีย ต้องเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการและทำให้ธุรกิจของประเทศในเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่นมากขึ้น ธนาคารระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติจะเข้าไปมีฐานที่มั่นในเอเชียมากขึ้น ผู้บริหารรุ่นใหม่จะเป็นคนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกที่จะมีแรงจูงใจมุ่งทำกำไรสูงสุดให้บริษัทมากกว่าจริบ
ธรรมแบบขงจื้อ และความภาคภูมิใจในชาติของตน
ดังนั้นถ้าระบบทุนนิยมโลกสามารถก้าวผ่านวิกฤติระลอกนี้ได้ เศรษฐกิจโลกจะถูกครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติมากยิ่งขึ้น การแข่งขันอย่างรุนแรงจะยิ่งทำให้พวกเขามุ่งแสวงหากำไรเอกชน โดยไม่สนใจต่อผลกระทบทางสังคม บางบริษัทอาจจะต้องสร้างภาพพจน์ในเรื่องที่ประชาชนสนใจ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้าง แต่พวกเขาจะไม่ยอมลดกำไรลงมาเพียงเพื่อจะช่วยให้ประชาชนในเอเชียมีงานทำเพิ่มขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ระบบทุนนิยมโลกจะไม่สามารถผ่านการทดสอบวิกฤติระลอกนี้ได้ การตกต่ำทางเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุดในประเทศทุนนิยมขอบนอก และมันไม่สามารถจะฟื้นตัวได้ โดยไม่ผ่านความเจ็บปวดอย่างมากมาย จะต้องมีการปฏิรูปการจัดองค์กร ธนาคาร และบริษัทต่าง ๆ เสียใหม่ จะต้องมีการลดการจ้างคนลงอีกมาก การเมืองก็จะต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสรีประชาธิปไตยขึ้น แต่ปัญหาวิกฤติขนาดหนัก อาจจะยิ่งทำให้การเมืองพลิกกลับไปในขั้วตรงข้าม คือขั้วของเผด็จการอำนาจนิยมก็ได้
สิ่งที่เป็นตัวตัดสินคือ จะเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้เท่านั้น ปัญหาวิกฤติในประเทศทุนนิยมขอบนอกกลับเป็นประโยชน์ต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง วิกฤติในเอเชียทำให้ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางลดความกดดันเรื่องภาวะเงินเฟ้อ, ทำให้ทางการไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจุดสูงจุดใหม่
แต่ผลในทางบวกของวิกฤติเอเชียต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลางกำลังหมดไป และผลทางลบเริ่มจะปรากฎให้เห็น กำไรของบริษัทในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเริ่มลดลง เนื่องจากมีดีมานด์ซื้อสินค้าลดลง และมีการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศมากขึ้น ธุรกิจภาคบริการ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข่งขันระหว่างประเทศก็เจอปัญหาต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น
ตลาดหุ้นในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางขึ้นได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว ถ้าตลาดเริ่มเป็นขาลงเมื่อไหร่, ผลจากความมั่งคั่งที่ผู้ถือหุ้นเคยชินก็จะแปรให้การตกต่ำของตลาดหุ้นกลายเป็นการตกต่ำของระบบเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการต่อต้านการสั่งสินค้าเข้า ซึ่งจะเป็นการสาดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าใส่ประเทศทุนนิยมขอบนอกผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง
แล้วระบบทุนนิยมโลกจะไปทางไหนใน 2 ฉากข้างต้น จอร์ซ โซรอสเชื่อว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างหลัง คือ เกิดวิกฤติเพิ่มขึ้น มากกว่าอย่างแรก ถึงอย่างไรระบบทุนนิยมโลกก็จะต้องถึงวาระล่มสลายเพราะข้อบกพร่องในตัวของมันเอง ถ้าไม่ใช่ในวิกฤติระลอกนี้ ก็คงในวิกฤติระลอกต่อไป นอกเสียจากว่า เราจะตระหนักถึงข้อบกพร่องของมัน และลงมือแก้ไขได้ทันกับสถานการณ์
การที่โซรอสมองวิกฤติของโลกจากจุดยืนของชนชั้นนำของประเทศทุนนิยมที่มั่งคั่ง ทำให้มีข้อจำกัดว่าเป็นการมองแบบจากข้างบนลงล่างมากเกินไป เขาจึงมองได้แค่เรื่องตลาดโลกและปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ได้มองเห็นว่าภายในของแต่ละประเทศไม่ว่าจะประเทศร่ำรวยหรือยากจนก็มีปัญหาความขัดแย้งและการเอารัดเอาเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่มาก
จริง ๆ แล้วปัญหาของระบบทุนนิยมโลกเวลานี้คือ การกดขี่ของคนรวยที่สุด 20% แรกของโลกที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการสื่อสารมากกว่าคนที่จนกว่า 80% หลังอย่างเทียบกันไม่ได้ คนรวยที่สุด 20% ของโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคลังของประเทศกำลังพัฒนา หรือนายธนาคาร, ผู้บริหาร IMF ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาการลงจากประเทศร่ำรวย เป็นคนที่มีภูมิหลังทางชนชั้นและการศึกษาแบบเดียวกัน คิดเหมือน ๆ กัน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าพวกเขาจะถือพาสปอร์ตต่างเชื้อชาติกัน
คนรวย 20% แรกของโลกแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยอ้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบบูชาระบบตลาด ทำให้พวกเขายิ่งรวยและยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ขณะที่คนอีก 80% ของทั้งโลกตกงานมากขึ้น และรายได้ที่แท้จริงลดลง นายธนาคารและนักลงทุนทางการเงินที่ร่ำรวยขึ้น สะสมเงินทุนที่อยากปล่อยให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกู้ยืมเพื่อจะหากำไรจากดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตที่ล้นเกิน ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดรายได้ ขาดอำนาจซื้อ เศรษฐกิจโลกจึงตกต่ำ เกิดปัญหาหนี้สินที่ค้างชำระ ธุรกิจซบเซาคนตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง เป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำแบบเป็นวงจรที่ชั่วร้ายที่ไม่มีทางออก เพราะคนรวย 20% แรกไม่ยอมรับว่าแนวคิดและพฤติกรรมของพวกเขาคือตัวสร้างปัญหา ไม่ยอมรับว่าวิกฤติขณะนี้คือปัญหาทางโครงสร้างของระบบทุนนิยม แต่พวกเขากลับอธิบายว่าวิกฤติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นชั่วคราวแบบฤดูกาลหรือเป็นวัฏจักรขาลง ที่เมื่อลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว ต่อไปก็จะต้องฟื้นขึ้นเอง
นอกจากนี้แล้วการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่มีลักษณะผูกขาดและกึ่งผูกขาดหรือระบบมือใครยาว ยังได้แต่มุ่งแสวงหากำไรเอกชน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่พวกคนรวย 20% แรกสร้าง และเรียกว่า “ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ” ได้ทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายสมดุลของทั้งธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้โลกกำลังเกิดวิกฤติในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติด้านการเงินการคลังเท่านั้น
ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติระบบทุนนิยมโลกได้ จึงต้องการการปฏิวัติโครงสร้างการจัดองค์กรของมนุษย์ตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นมาถึงองค์กรระดับโลกที่ดูแลเรื่องระหว่างประเทศ การที่จอร์ช โซรอส เสนอแต่การปรับปรุงองค์กรระดับโลกเป็นด้านหลัก โดยคิดว่าถ้ามีการควบคุมดูแลตลาดการเงินให้ดีและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มากกว่านี้ จะพิทักษ์ระบบทุนนิยมโลกไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืนได้นั้น อย่างเก่งก็คงจะช่วยต่ออายุระบบทุนนิยมโลกให้ยืนยาวต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่งเท่านั้น แต่วิกฤติก็จะต้องประทุขึ้นอีก เพราะไม่ได้แก้ปัญหาด้านโครงสร้างอย่างถึงรากหญ้า
ระบบเศรษฐกิจโลกที่จะยั่งยืนได้จริง ๆ คงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ยังคงอิงระบบตลาดเป็นหลัก แม้จะมีการดูแลจากองค์กรโลกก็ตาม แต่จะต้องเป็นระบบที่ผสมผสานขึ้นมาใหม่โดยการนำส่วนที่ดีของระบบตลาดเสรีจริง ๆ (ไม่ใช่ผูกขาดหรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา) ระบบสหกรณ์ และการพึ่งตนเอง
คัดลอกจาก https://www.facebook.com/Puttichet/posts/583214845185909:0
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|