บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

วันเสาร์ที่ 03 พฤศจิกายน 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - พัฒนาทุนมนุษย์
พิมพ์

คำนิยม หนังสือ โคงงานฐานวิจัย : กระบวนการเรียนรู้ใหม่ของการศึกษาไทย บทความของ อาจารย์วิจารณ์ พานิช

รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ส่งต้นฉบับหนังสือมาขอให้เขียนคำนิยม  อ่านครั้งแรกหนักใจ ไม่รู้จะเขียนอย่างไร  พออ่านรอบสองก็ได้แนวยุทธศาสตร์การเขียน  กลายเป็นการเขียนคำนิยมที่สนุกที่สุดชิ้นหนึ่ง  โปรดอ่านเอาเอง ว่าผมสนุกอย่างไร

 

คำนิยม

หนังสือ โครงงานฐานวิจัย : กระบวนการเรียนรู้ใหม่ของการศึกษาไทย

โดย สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

วิจารณ์ พานิช

……………

 

ผมอ่านต้นฉบับหนังสือ โครงงานฐานวิจัย : กระบวนการเรียนรู้ใหม่ของการศึกษาไทยโดย รศ. ดร.  สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ แล้วสรุปกับตนเองว่า นี่คือคำอธิบายขั้นตอนของการเรียนรู้แบบสร้างความรู้ ที่เรียกว่า constructivism นั่นเอง

ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุด หรือเป็นธรรมชาติที่สุด เป็นการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนตั้งหน้าตั้งตาขวนขวายสร้างความรู้บรรจุลงในสมองของตนเองแบบไม่รู้ตัว จากการลงมือปฏิบัติกิจกรรม

แตกต่างจากการเรียนรู้แบบมุ่งรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจาก “ผู้รู้” ที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน

ผมแปลกใจที่ดร. สุธีระเขียนในตอนท้ายของหน้า ๒๕ ว่าตนเหนื่อยกับการเขียนหนังสือเล่มนี้ผมไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นผมกลับมองว่าดร.สุธีระสนุกสนานกับการกลั่นหรือตีความ “ปฏิเวธ” ของตนออกมาเป็น  “ปริยัติ” ใหม่คือหนังสือเล่มนี้

ผมมีความเชื่อว่าคนที่ไม่เคยเรียนรู้จาก “โครงงานฐานวิจัย” จะไม่กล้าเขียนหนังสือแบบนี้และมีความเชื่อต่อไปอีกว่าคนที่ไม่คุ้นกับการเรียนรู้แบบ “โครงงานฐานวิจัย” หรือเรียนรู้แบบสร้างความรู้จะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่องก็รู้แบบไม่รู้จริงและผมเองก็ไม่กล้าอ้างว่าอ่านแล้วรู้เรื่องตามที่ดร.สุธีระอยากให้เข้าใจ

กล่าวใหม่การเรียนรู้แบบที่ดร.สุธีระพยายามอธิบาย (จนเหนื่อย) ในหนังสือเล่มนี้เป็นการเรียนรู้แบบยกกำลังสองคือเรียนรู้ทั้งสาระหรือทักษะเรื่องนั้นๆและเรียนรู้หรือฝึกทักษะการเรียนรู้ไปพร้อมๆกันได้ทั้งทักษะด้านนั้นๆและทักษะการเรียนรู้

นี่คือการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การเขียนคำนิยมให้แก่หนังสือที่ดร. สุธีระเขียนนี้ผมสนุกมากและได้เรียนรู้มากเพราะต้องเขียนแบบ “ไม่กลัวผิด”  คืออ่านต้นฉบับแล้วก็ตีความเอาเองว่าผู้เขียนต้องการบอกอะไรแล้วเขียนเพื่อบอกผู้อ่านว่าเมื่ออ่านและตีความเช่นนี้แล้วผมอยากบอกอะไรแก่ผู้อ่าน

ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะสนุกและได้ความรู้ยกกำลังสองของที่ผมได้คือได้แนวความคิดว่าการเรียนรู้นั้นไม่ใช่การรับถ่ายทอดความรู้ของผู้อื่นมาใส่สมองของเราทั้งดุ้นเรายิ่งมีต้นทุนความรู้และมีทักษะในการเรียนรู้มากเพียงใดเราจะยิ่งตีความแตกต่างจากต้นฉบับมากเพียงนั้น

เมื่อไรก็ตามที่เรากล้าแตกต่างกล้าบอกว่าเราเข้าใจหรือตีความเรื่องนั้นๆเหตุการณ์นั้นๆว่าอย่างไรโดยไม่กังวลว่าที่เราเข้าใจจะแตกต่างจากที่คนอื่นเข้าใจนั่นคือเครื่องพิสูจน์ว่าเรามีวิทยายุทธว่าด้วยการเรียนรู้พอใช้ได้แล้ว

แต่จริงๆแล้วกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่ที่การสร้างความรู้แต่ต้องโยงไปสู่การใช้ความรู้ด้วยดังระบุไว้ในหนังสือหน้า๘ ที่รูปปิรามิดการเรียนรู้และที่หน้าสุดท้ายแม้ว่าความรู้เป็นสากล  แต่การใช้ความรู้มีบริบท

จึงน่าจะสรุปได้ว่าการเรียนรู้จากโครงงานฐานวิจัยเป็นการเรียนรู้สองฐานคือฐานสากลกับฐานบริบทไปในเวลาเดียวกัน

กล่าวใหม่ในสำนวนบู๊ลิ้มเคเอ็ม(การจัดการความรู้) ว่า  การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเรียนให้ได้ทั้ง Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge ในเวลาเดียวกันหรือควบคู่กัน  และเมื่อทักษะแก่กล้า ก็จะสามารถเรียนรู้แบบใช้ให้ Tacit Knowledge กับ Explicit Knowledge มันยกระดับซึ่งกันและกัน  ในลักษณะของการหมุนเกลียวความรู้  เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด

ผมขอขอบคุณ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ แทนประเทศไทย  ที่เขียนหนังสือโครงงานฐานวิจัย : กระบวนการเรียนรู้ใหม่ของการศึกษาไทยออกเผยแพร่  หนังสือเล่มนี้จะมีคุณูปการสูงยิ่งในการร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย  นักการศึกษาทุกคนควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ๓ จบ โดยแต่ละจบจับใจความแตกต่างกัน

 

 

วิจารณ์  พานิช

๘ กันยายน ๒๕๕๕

บนเครื่องบินกลับจากซิดนีย์