Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > สอนอย่างมือชั้นครู : ๔. ประมวลวิชาที่ครบถ้วน

สอนอย่างมือชั้นครู : ๔. ประมวลวิชาที่ครบถ้วน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๔ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๔ ตีความจากบทที่ 3. The Complete Syllabus

ประมวลวิชาหมายถึงเค้าโครงอย่างย่อของวิชาเรียน วิชาใดวิชาหนึ่ง เพื่อเป็นสารสนเทศ สื่อแก่ นักศึกษาใน ๓ เรื่อง คือ (๑) รายวิชา (๒) เนื้อหา และ (๓) ตัวอาจารย์ผู้สอน เพื่อช่วยให้นักศึกษา “เดินทาง” สู่เป้าหมายได้สำเร็จในรายวิชานั้น ผู้เขียนบอกว่าเอกสารประมวลวิชา ควรมี ๕ - ๑๐ หน้า แต่หากเขียนให้ ละเอียดอาจยาวถึง ๒๐ - ๕๐ หน้า กลายเป็นคู่มือไปเลย


รายการของประมวลวิชา

ผมตกใจที่เมื่ออ่านตอนนี้ พบว่ามีถึง ๒๓ รายการ ตามด้วยประเด็นเชิงกฎหมายที่พึงระวังอีก ๑๓ ข้อ รายการของประมวลวิชา ๒๓ ข้อ มีดังต่อไปนี้

  • ๑.ข้อมูลเกี่ยวกับรายวิชาที่ครบถ้วน
  • ๒.ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอาจารย์
  • ๓.ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรผู้ช่วย
  • ๔.รายการเอกสารอ่านประกอบ พร้อมข้อสรุปสั้นๆ
  • ๕.ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับเอกสาร หรือวัสดุ อื่นๆ ที่นักศึกษาอาจใช้ประกอบการเรียนรายวิชา เช่น วิธีซื้อให้ได้ราคาที่ไม่สูงเกินไป
  • ๖.คำอธิบายรายวิชา (course description) ที่ครบถ้วน
  • ๗.ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา ที่คาดหวัง
  • ๘.ข้อกำหนดการให้เกรด
  • ๙.เกณฑ์การประเมินผลงานที่อาจารย์มอบหมาย โครงงาน และการนำเสนอด้วยวาจา
  • ๑๐.เกณฑ์ตัดสินผลการเรียน ที่นอกเหนือจากคะแนนเป็นเกรด เช่นความคาดหวังว่านักศึกษา ต้องร่วมแสดงข้อคิดเห็นในชั้นเรียน
  • ๑๑.ข้อกำหนดเรื่องการคิดหรือไม่คิดเวลาเข้าชั้นเรียน หรือการแสดงความเอาใจใส่ในการเรียน
  • ๑๒.ข้อกำหนดเรื่องการขาดสอบ หรือส่งการบ้านช้ากว่ากำหนด
  • ๑๓.ข้อกำหนดเรื่องการทุจริตในการเรียนและการสอบของสถาบัน และของตัวอาจารย์
  • ๑๔.ข้อกำหนดของสถาบันเกี่ยวกับนักศึกษาที่มีความพิการ
  • ๑๕.ข้อกำหนดเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทางวิชาการในห้องเรียน
  • ๑๖.ข้อกำหนดเรื่องวิธีการ และความปลอดภัย ทางห้องปฏิบัติการ
  • ๑๗.บริการสนับสนุนนักศึกษาในวิทยาเขต
  • ๑๘.ตัวช่วยการทำการบ้าน และการเรียนรู้ด้านอื่นๆ
  • ๑๙.ตารางเรียนรายสัปดาห์
  • ๒๐.ข้อพึงระมัดระวังด้านกฎหมาย
  • ๒๑.รายวิชานี้ตอบสนองความต้องการของหลักสูตรที่นักศึกษาเรียนอย่างไร
  • ๒๒.ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอาจารย์
  • ๒๓.บอกปรัชญาการสอนของอาจารย์ (ตัวท่าน)

รายการข้างบนนั้น นอกจากช่วยการเรียนของนักศึกษาแล้ว ยังช่วยปกป้องอาจารย์และสถาบัน ในกรณีมีความขัดแย้งหรือความไม่พอใจเกิดขึ้น และหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุดมศึกษากลายเป็นสินค้ามากขึ้นทุกที อาจารย์กลายเป็นผู้ให้บริการ จึงต้องสร้างเงื่อนไขหรือข้อตกลง ไว้ล่วงหน้า การนำมาใช้ในบริบทสังคมไทย พึงปรับให้เหมาะสม และด้วยเหตุที่จะต้องปกป้องอาจารย์ และสถาบัน จากการฟ้องร้อง จึงมีข้อแนะนำ ๑๓ ข้อ ด้านกฎหมาย ดังนี้

  • ๑.กำหนด prerequisite ของรายวิชาที่นักศึกษาจะต้องสอบผ่าน ก่อนที่จะสอบผ่านรายวิชานี้ ไม่ว่าเงื่อนไขนี้จะปรากฎอยู่ใน course catalogue หรือไม่ก็ตาม
  • ๒.เวลาและความบ่อยที่อาจารย์ตอบ อี-เมล์ ของนักศึกษา
  • ๓.วันใดบ้าง เวลาใด ที่อาจารย์สามารถรับโทรศัพท์ของนักศึกษาได้
  • ๔.นโยบายของสถาบันในการดำเนินการตามที่กำหนดโดยกฎหมาย ADA (American with Disabilities Act)
  • ๕.ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขาดสอบ ไม่ส่งการบ้าน หรือมาสอบสาย หรือส่งการบ้านช้า กว่ากำหนด ระบุการลงโทษ และการไม่มีข้อยกเว้นให้ชัดเจน
  • ๖.ข้อกำหนดเรื่องการเข้าชั้นเรียน และการมีจรรยามารยาทในห้องเรียน
  • ๗.ข้อกำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หากมีการให้คะแนน อาจารย์ต้องมีเอกสารยืนยันข้อมูลการมีส่วนร่วมของนักศึกษาแต่ละคน
  • ๘.ข้อกำหนดเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในการเรียน
  • ๙.ข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
  • ๑๐.ข้อกำหนดเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทางวิชาการในห้องเรียน
  • ๑๑.ข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การให้เกรด
  • ๑๒.ข้อเขียนที่แสดงความไม่รับผิดชอบหากนักศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรายวิชา แล้วสอบตก
  • ๑๓.ข้อเขียนที่เตือนไว้ล่วงหน้าว่า ข้อกำหนดในประมวลวิชานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีการตกลงกับนักศึกษา และ/หรือ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักศึกษา


ผังประมวลรายวิชา

ได้กล่าวแล้วว่าคนรุ่นใหม่ชอบอ่านเอกสารที่เป็นรูปภาพหรือแผนผัง (graphic) มากกว่าอ่าน ตัวหนังสือล้วนๆ จึงควรเขียนผังประมวลรายวิชา เป็น flow chart, graphic organizer, หรือเป็นไดอะแกรม แสดงลำดับขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนรู้ มีตัวอย่างในหนังสือ


ประมวลรายวิชา ออนไลน์ ที่ “มีชีวิต

ข้อดีของ ประมวลรายวิชา ออนไลน์ ที่ “มีชีวิต” คืออาจารย์สามารถเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยต้องระบุไว้ตั้งแต่แรกว่า ประมวลรายวิชา ออนไลน์ นี้ “มีชีวิต” ต่อไปอาจารย์จะเพิ่มเติมภาพ, ลิ้งค์, ข้อโต้เถียงต่อประเด็นที่ยังไม่เป็นที่ยุติ และอื่นๆ

หลักการคือ เพื่อให้นักศึกษาอ่านง่ายว่ามีการเพิ่มเติมส่วนใด ส่วนที่เพิ่มเติมแก้ไขควรแยกใน โฟลเดอร์ ต่างหาก หรือใช้สีที่แตกต่างออกไป


วิธีทำให้นักศึกษาอ่านและเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชา

เอกสารประมวลรายวิชาเป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สู่ความสำเร็จของนักศึกษา เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์

แต่อาจารย์จะคาดหวังไม่ได้ ว่านักศึกษาทุกคนจะศึกษาประมวลรายวิชาอย่างละเอียด จึงเป็นหน้าที่ ของอาจารย์ที่จะต้องหาทางเอ่ยพาดพิง ถึงประมวลรายวิชาส่วนนั้นส่วนนี้ เมื่อมีเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง และเขาแนะนำวิธีการให้นักศึกษาเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชาอย่างถ้วนถี่ ๔ วิธี โดยอาจารย์เลือกใช้ วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ๑.จัดเวลาให้นักศึกษาอ่านในตอนเริ่มเรียน แล้วแบ่งกลุ่มย่อยให้นักศึกษาแลกเปลี่ยน ความเข้าใจ หรือตอบชุดคำถามที่อาจารย์ตั้งขึ้น
  • ๒.มอบให้นักศึกษาไปอ่านเป็นการบ้าน แล้วในช่วงที่ ๒ ของการเรียน ให้นักศึกษาถาม ประเด็นที่ไม่เข้าใจ หรือต้องการทราบเพิ่ม แล้วให้นักศึกษาลงชื่อในเอกสารว่าตนได้อ่าน และเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชาอย่างดีแล้ว
  • ๓.มอบให้นักศึกษาไปอ่านเป็นการบ้าน แล้วจัดให้มีการทดสอบแบบที่มีคะแนนในช่วงที่ ๒ ของการเรียน วิธีนี้เหมาะแก่ประมวลรายวิชาที่ยาว และมีรายละเอียดมาก ข้อสอบควร เป็นคำถามที่กระตุ้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และต้องตอบด้วยเรียงความอย่างสั้น
  • ๔.แจกเอกสารประมวลรายวิชาในการเรียนคาบแรก แล้วรอไปจนประมาณสัปดาห์ที่ ๓ เพื่อให้นักศึกษาเริ่มคุ้นกับรายวิชา และเริ่มสนใจเรื่องผลสำเร็จในการเรียน จึงนำเรื่องประมวลรายวิชามาพูดคุย ตั้งคำถามและตอบคำถามกับนักศึกษา จะเป็นการพูดคุยที่ได้ผลดี


วิวัฒนาการของประมวลรายวิชา

เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดนั้นแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่า เอกสารประมวลรายวิชาในสหรัฐอเมริกาจะต้องหนาขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันตนเองของอาจารย์และสถาบัน จากนักศึกษาที่มีปัญหาในตัวเอง แต่พยายามโยนความผิดไปให้ผู้อื่น หรือต้องการเรียกร้องผลการเรียนที่ดีกว่าที่ตนได้

นอกจากนั้น อาจารย์ยังสามารถระบุข้อความที่แสดงจุดเด่นของรายวิชาของตน และสร้างนวัตกรรม วิธีนำเสนอประมวลรายวิชาของตนให้น่าสนใจ และกระตุ้น อำนวยความสะดวก ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ได้ อย่างมีข้อจำกัดน้อย ผู้เขียนหนังสือบอกว่า จัดเป็นวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด ที่เอาสารประมวลรายวิชา ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารทางการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 สิงหาคม 2014 เวลา 14:49 น.  
Home > Articles > การศึกษา > สอนอย่างมือชั้นครู : ๔. ประมวลวิชาที่ครบถ้วน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8655411

facebook

Twitter


บทความเก่า