ผมเคยลงบันทึกเรื่องหลักสูตรนี้ไว้ ที่นี่ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ สภาสถาบันอาศรมศิลป์ ได้นำเรื่องการประกันคุณภาพของบัณฑิตในหลักสูตรนี้ ไปหารือกัน ทำให้ผมเข้าใจว่า มหาวิชชาลัยต่างๆ ไม่ได้สังกัดสถาบันอาศรมศิลป์ แต่สังกัดสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ ดร. เอนก นาคะบุตร ผู้นำของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ต้องการเน้นการเรียนรู้ของนักศึกษาในมหาวิชชาลัย ไม่ใช่เน้น การได้รับปริญญา รวมทั้งได้ทราบว่า tags/ศิลปาจารย์">ศิลปาจารย์นั้น เป็นของมหาวิชชาลัย หากศิลปาจารย์ท่านใดได้รับการยอมรับจากสถาบันอาศรมศิลป์ ก็จะได้เป็นอาจารย์ (อาสา) ของสถาบัน

จากการประชุมดังกล่าว ทำให้ผมได้เข้าใจว่า เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนเข้าเป็นนักศึกษาของสถาบัน อาศรมศิลป์ ก็ต้องเตรียมแสดงสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ ว่าบัณฑิตในหลักสูตรนี้ต้องมีสมรรถนะ (competency) อะไรบ้าง โดยอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ต้องช่วยเอื้ออำนวย (facilitate) ให้นักศึกษาเรียนรู้โดยการ ฝึกฝนตนเองให้มีสมรรถนะดังกล่าว

ย้ำว่านักศึกษาต้องฝึกฝนตนเอง ไม่ใช่รอให้อาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์เป็นผู้สอน โดยอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ช่วยเอื้ออำนวย

ตรงนี้ก็ต้องแยกให้ชัด ระหว่างศิลปาจารย์ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กับอาจารย์ของ สถาบันอาศรมศิลป์ ว่าต่างกัน ศิลปาจารย์ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาส่วนใหญ่ อาจไม่ใช่อาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ และอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์บางคน อาจไม่ได้เป็นศิลปาจารย์ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ชื่อที่ใช้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่บทบาทและสมรรถนะที่ต้องการต่างกัน อาจก่อความสับสน อย่างที่ผมสับสนมาแล้ว น่าจะหาทางแก้ไข

อาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ ต้องมีสมรรถนะ (competency) ในการเอื้ออำนวย (ไม่ใช่สอน) ให้นักศึกษาบรรลุเป้าหมายสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และสถาบันอาศรมศิลป์ต้องรับผิดชอบ ในการทำให้อาจารย์ของสถาบันมีสมรรถนะของอาจารย์ตามที่กำหนด หากยังไม่ได้กำหนด ก็ต้องกำหนดเสีย และดำเนินการฝึกอาจารย์ให้มีสมรรถนะดังกล่าว ยิ่งถ้าสามารถเข้าไปช่วยฝึกศิลปาจารย์ของสถาบัน ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ให้มีสมรรถนะดังกล่าวด้วย ก็ยิ่งดี

ผมจะลองระบุสมรรถนะ (competency) หรือทักษะ (skills) ของอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ (ย้ำว่าไม่ใช่ศิลปาจารย์ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา) โดยไม่ยืนยันว่าจะถูกต้องหรือใช้การได้จริง ในทางปฏิบัติผู้อำนวยการหลักสูตรนี้ต้องกำหนดเอง

  • ๑.ทักษะในการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของแต่ละบทเรียน
  • ๒.ทักษะในการตั้งคำถาม (ย้ำว่าไม่ใช่สอน และไม่ใช่ให้คำตอบหรือแนะนำ) เพื่อการเรียนรู้ ของนักศึกษา ที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทำให้เกิดความเข้าใจความรู้เชิงทฤษฎี
  • ๓.ทักษะในการเป็น "คุณอำนวย" (facilitator) การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection/AAR) ของนักศึกษา เพื่อทำความเข้าใจทฤษฎีจากการปฏิบัติของตน ยิ่งถ้าให้เกิด transformative learning ได้ ก็จะยิ่งดี
  • ๔.ทักษะในการโค้ช การเขียนปัญญานิพนธ์ ที่ไม่ใช่แค่เขียนในระดับ descriptive แต่เขียนในระดับ analytical, synthetic, และ evaluative / comparative ได้
  • ๕.ทักษะในการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) และในการให้คำแนะนำป้อนกลับ (Constructive Feedback) แก่นักศึกษา
  • ๖.ทักษะในการประเมินผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อตัดสิน (Summative Assessment) ว่าสมควรให้ผ่านวิชานั้น สำหรับนำไปเป็นหลักฐานประกอบการเรียน จบหลักสูตร ศศ.บ. สาขาผู้ประกอบการสังคม อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน

จะเห็นว่าคนที่จะเป็นอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ได้ ต้องได้รับการประเมินว่ามีทักษะ (สมรรถนะ) ดังกล่าว ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นได้ ไม่ใช่อาสาสมัครเข้ามาก็เป็นได้ เพราะอาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ต้อง มีความรับผิดชอบในการพัฒนาทักษะของตน เพื่อเอื้ออำนวยให้นักศึกษาเรียนจบ หากนักศึกษาที่ลงทะเบียน ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดเรียนไม่จบ สถาบันอาศรมศิลป์ก็เสียชื่อ ความรับผิดชอบนี้ เป็นแรงกดดันต่อ สถาบันอาศรมศิลป์ ที่สภาสถาบันจะต้องร่วมรับผิดชอบ

จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารหลักสูตร ที่จะต้องคัดเลือกผู้สมัครเป็นอาจารย์ของหลักสูตร โดยมีเงื่อนไขให้ต้องเข้ารับการพัฒนาทักษะ และต้องแสดงความมีทักษะ จึงจะดำรงความเป็นอาจารย์ ของหลักสูตร โดยสถาบันอาศรมศิลป์ประกาศรายชื่ออาจารย์ของสถาบัน ย้ำว่าการเป็นอาจารย์ของหลักสูตร ต้องเป็นทางการ ไม่ใช่ตั้งตัวเองโดยการอาสาสมัครก็เป็นได้

ไม่ทราบว่าวิธีคิดแบบนี้ ใช้ได้หรือไม่



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ธ.ค. ๕๗ ปรับปรุง ๒๒ ธ.ค. ๕๗