การศึกษาตายแล้ว

การเรียนรุ้ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายชีวิต และความมั่นใจตนเอง

หนังสือ Creative Schools เขียนโดย Sir Ken Robinson บอกเราตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในโลกในขณะนี้นั้น ผิด เพราะเป็นระบบที่ไร้ชีวิต เป็นระบบกลไกแห่งยุคอุตสาหกรรม เป็นระบบการผลิตคนตามระบบอุตสาหกรรมที่ใส่วัตถุดิบเข้าไปมาก ผลผลิตต่ำ ความสูญเสียมาก ของเสียมาก ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก

ระบบการศึกษาแบบปัจจุบัน ได้ “ผู้สำเร็จ” จำนวนน้อย แต่มี “ผู้แพ้” จำนวนมาก และก่อปัญหาสังคมมากมาย อย่างที่เราเห็นอยู่

ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเราใช้ระบบการศึกษาแบบ “ไร้ชีวิต” ใช้เกณฑ์เดียวในการวัดผลสำเร็จทางการศึกษา และใช้ระบบการจัดการแบบ mechanistic คือใช้กระบวนทัศน์อุตสาหกรรม

ตามหนังสือเล่มนี้ วิธีฟื้นชีวิตการศึกษาง่ายนิดเดียว คือต้องหันไปมองการศึกษาแบบระบบที่เสมือน “มีชีวิต” (organic) และมองนักเรียนแต่ละเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ ไม่มองเป็น “วัตถุดิบ” ป้อนเข้าโรงเรียน เพื่อทำให้เป็น “ผลผลิต” ตาม สเป็กที่ต้องการ

เขายกตัวอย่างโรงเรียน มัธยมต้น Smoky Road ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ที่เป็นโรงเรียนคุณภาพต่ำ เด็มไปด้วยเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ก่อปัญหา ผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นที่โหล่ โดยที่ผู้บริหารโรงเรียนคนที่ผ่านมา อยู่ที่นี่เป็นทางผ่าน และต่างก็ได้ดิบได้ดีได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ฟังดูคุ้นๆ นะครับ

โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในชุมชนยากจน และมีปัญหาทางสังคม ทุกอย่างดูหมดหวัง แต่แล้วในปี ค.ศ. 2004 ฟ้าก็ส่งครูใหญ่ชื่อ Laurie มาที่โรงเรียนนี้ และทำหน้าที่ต่อเนื่องอยู่ ๙ ปี ครูใหญ่ใช้เวลาปีแรกเผชิญสภาพเลวร้ายในโรงเรียน ที่ครูใหญ่ง่วนอยู่กับการแก้ปัญหาไร้วินัย การทะเลาะเบาะแว้ง และขาดความสนใจเรียนของเด็ก

แทนที่ครูใหญ่ลอรีจะแก้ปัญหาที่การเรียน เธอกลับแก้ปัญหา “stability and safety” ของนักเรียน ซึ่งก็คือจัดดำเนินการโรงเรียนโดยเอาตัวนักเรียน หรือความต้องการของนักเรียนเป็นตัวตั้ง นั่นคือ ช่วยให้เด็กได้เป็นอย่างที่เขาต้องการ โดยทีมครูและผู้บริหารร่วมกันดำเนินการบันไดสี่ขั้น คือ (๑) ให้เด็กมาโรงเรียน (๒) เมื่อมาโรงเรียนแล้วรู้สึกปลอดภัย (๓) รู้สึกว่าตนมีคุณค่า (๔) ให้ได้เรียนสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตในอนาคต

ก่อนหน้านั้น ครูแทบไม่มีโอกาสสอน เพราะต้องมัวแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักเรียน แต่เมื่อดำเนินการตามบันไดสี่ขั้น โดยยึดที่สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อนักเรียน สภาพในโรงเรียน Smoky Road ก็เปลี่ยนไป

เขาเล่าเรื่องนักเรียนทีละคนที่สอบตก มีปัญหาวินัย แต่มีเรื่องคลั่งใคล้เฉพาะตน เช่นชอบกีฬา(อเมริกัน)ฟุตบอลล์ ชอบร้องเพลง เมื่อครูพูดคุยเรื่องความชอบของแต่ละคนและแนะนำหรือจัดให้ได้ฝึกสิ่งที่ตนรัก พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยน นิสัยก้าวร้าวค่อยๆ ลดลง ความประพฤติค่อยๆ ดีขึ้น และผลการเรียนก็ค่อยๆ ดีขึ้น

จนในที่สุดโรงเรียนได้รับยกย่องเป็น Georgia Title I Distinguished School และได้รับยกย่องเป็น 2011 MetLife Foundation-NASSP Breakthrough School ในการดูแลนักเรียนยากจน และตัวครูใหญ่ Laurie Barron ได้รับยกย่องเป็น 2013 MetLife-NASSP National Middle Level Principal of the Year

ในหนังสือยังมีตัวอย่าง คนที่สนุกกับการชวนนักเรียนเกเร หรือมีปัญหาการเรียน มาทำกิจกรรมท้าทายที่ตนชอบ แล้วผลการเรียนก็ดีขึ้นเอง ผ่านการฟื้นเป้าหมายชีวิต และความมั่นใจตนเอง

ในประเทศไทยก็มีตัวอย่างแบบนี้ ในโครงการพัฒนาเครือข่ายนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชน ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ดัง ข่าวนี้

การศึกษาตายแล้ว แต่ก็ฟื้นได้

โดยต้องฟื้นจากฐานล่าง ตามชื่อรองของหนังสือเล่มนี้ คือ The Grassroot Revolution That’s Transforming Education

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๘