อาจารย์แบน ธีรพล นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ ชวนไปญี่ปุ่น ร่วมกับคณะผู้บริหารของสถาบันอาศรมศิลป์ และของกลุ่มบริษัทในเครือเบทาโกร เพื่อไปดูงานกิจการของชุมชนและวิสาหกิจชุมชนในประเทศญี่ปุ่น สำหรับนำมาคิดรูปแบบการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ใน ๕ ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมอยากเติมเป้าหมายด้านที่น่าจะสำคัญที่สุดเป็นด้านที่ ๖ คือ ความเข้มแข็งของชุมชน

เขาตกลงเลือกพื้นที่ดำเนินการไว้แล้ว คือตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และทางสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม ของเครือเบทาโกรได้เข้าไปทำกิจกรรมบ้างแล้ว

ที่จริง อ. แบนชวนผมไปในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ แต่ผมไม่ว่าง ท่านกรุณาเอาช่วงที่ผมว่างเป็นหลัก จึงได้ช่วง ๖ - ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งก็โชคดี ที่คุณวนัส ซีอีโอ ของเครือเบทาโกรก็ว่างตรงกัน เข้าใจว่า อ. แบนต้องการให้ผู้ใหญ่ของฝ่ายเบทาโกร และของสถาบันอาศรมศิลป์ ได้เดินทางไปดูรูปแบบของญี่ปุ่นด้วยกัน เพื่อจะได้คุยทำความเข้าใจเป้าหมายและโอกาส ในการที่ ภาคธุรกิจและภาควิชาการจะเข้าไปทำงาน community engagement ร่วมกัน

ผมถาม อ. แบนว่า ทำไมไม่ชวนผู้นำชุมชนร่วมไปกับคณะดูงานด้วย จึงได้ทราบว่าคณะนั้นเขาไปดูงานที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปก่อนแล้ว เป็นคณะใหญ่ ๒๓ คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ของเบทาโกร ปลัดอำเภอและอาจารย์+สถาปนิกชุมชนของอาศรมศิลป์ผมก็ดีใจว่า โครงการที่จะทำนี้ จะเป็นโครงการ community engagement ไม่ใช่โครงการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งหมายความว่า เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผล รวมทั้งผมหวังให้มีผลยั่งยืน คือเมื่อเบทาโกร และสถาบันอาศรมศิลป์ถอนออกมาแล้ว ชุมชนก็ยังยืนบนขาตัวเองได้ และพัฒนาต่อเนื่องได้ เหมือนกับชุมชนในประเทศญี่ปุ่น

อ. แบนเอื้อเฟื้อชวนสาวน้อยให้ร่วมขบวนไปด้วย เราตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า ขอออกค่าใช้จ่ายส่วนของสาวน้อยเอง ขอไม่ใช้เงินในโครงการของเบทาโกร เมื่อตกลงตามนี้ ผมก็ได้ควงสาวเที่ยวชนบทญี่ปุ่น ไปด้วยในตัว

ก่อนวันเดินทางประมาณ ๓ สัปดาห์ ผมขอกำหนดการการเดินทาง และเอกสารระบุเป้าหมายของการเดินทาง สาวน้อยเห็นกำหนดการไปนอนบ้านชาวนาญี่ปุ่นก็ตกใจ แต่ “เลขา” ผู้ชำนาญเรื่องญี่ปุ่นบอกว่า ชาวนาญี่ปุ่นต่างกับบ้านชาวนาไทยทั่วไป คือให้นึกถึงบ้านอาตี๋ก็จะตรงกับบ้านชาวนาญี่ปุ่น คือมีความสะดวกสบายทุกประการ อาตี๋คือคุณวิจัย พานิช น้องชายของผม ที่เป็นเกษตรกรอยู่ที่จังหวัดชุมพร บ้านของเขาใหญ่กว่าบ้านของผมเสียอีก

ผมขอยืมหนังสือประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ จาก “เลขา” มาอ่านทบทวน เพื่อทำความรู้จักหมู่บ้านอุมะจิ ตามในหนังสือ เพราะเราจะไปเยี่ยมในวันที่ ๑๐ และ ๑๑ ธันวาคม เป็นหมู่บ้านที่ต้องเดินทางไกลที่สุดในทริปนี้ และเราจะนอนที่นั่นถึง ๒ คืน

แล้วในที่สุด อ. ประยงค์ แห่งอาศรมศิลป์ก็ส่งรายงานการเดินทาง และ AAR ของคณะที่ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน และก่อนเดินทางสองสามวันผมก็ได้รับคู่มือการเดินทางที่มีรายละเอียดดีเยี่ยมทางอินเทอร์เน็ต ที่ผมดาวน์โหลดไว้ใน MacBook และใน iPhone เอาไว้เป็นคู่มือการเดินทางที่ดีเยี่ยม


วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๘ ปรับปรุง ๑๓ ธ.ค. ๕๘