Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๘ นี้ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?

บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery

นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


การเรียนรู้สู่ระดับรู้จริงคืออะไร

หนังสือบทนี้เริ่มด้วยเรื่องราวความผิดหวังของศาสตราจารย์ ๒ คนในต่างเรื่อง ต่างวิชา  แต่สะท้อนความเขลาหรือไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของ นศ.  ว่า นศ. ต้องการการฝึกฝนหลากหลายขั้นตอน หลากหลายองค์ประกอบ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากรู้เพียงทฤษฎี ไปสู่สภาพการเรียนรู้ในระดับรู้จริง (mastery)

ผมมีความลำบากใจ ต่อการใช้คำภาษาไทย ที่ถ่ายทอดความหมายของคำ mastery  เดิมคิดจะใช้ “เรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ”  “เรียนให้ชำนาญ”  “เรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง”แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้คำว่า “เรียนให้รู้จริง”  ซึ่งตีความด้วยหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ว่า  เป็นการเรียนรู้ในระดับประยุกต์ใช้ความรู้ได้  คือมีผลลัพธ์ที่ทักษะ ไม่ใช่แต่บอกสาระได้


องค์ประกอบของการเรียนรู้ระดับรู้จริง

การเรียนรู้ระดับรู้จริงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ (๑) เรียนรู้ทักษะองค์ประกอบย่อยของเรื่องนั้น  (๒) เรียนรู้วิธีบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อยเข้าด้วยกัน  (๓) เรียนรู้การบูรณาการให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อกาละเทศะ  ดังแสดงในรูป

 

 

คนเป็นครู/อาจารย์ มักทึกทักเอาเองด้วยความเข้าใจผิด ว่าเมื่อ นศ. ได้เรียนสาระและฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องครบแล้ว นศ. จะปฏิบัติหรือดำเนินการเรื่องนั้นๆ ได้  ย้ำว่า นี่คือความเข้าใจผิด  เพราะ นศ. ยังเพิ่งได้เรียนรู้หรือฝึกทักษะในขั้นตอนที่ ๑ ใน ๓ ขั้นตอนของการเรียนให้รู้จริง  ดังรูปข้างบน

ครูยังต้องช่วยจัดมอบหมายงานงาน ให้ นศ. ได้ฝึกฝนการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ต่อไป เพื่อให้ นศ. ได้บรรลุสู่ การรู้จริง (mastery)


ทักษะความเชี่ยวชาญ (Expertise)

ทักษะความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ของครู ไม่จำเป็นจะก่อผลดีต่อการทำหน้าที่ครูเสมอไป  เพราะมันมักจะทำให้เกิด “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” (Expert Blind Spot)  คือทำให้ครูมองข้ามความเป็นผู้ฝึกใหม่ของ นศ. ที่จะต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน  ยังทำงานข้ามขั้นตอนอย่างครู ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ไม่ได้

ขั้นตอนสู่ความเชี่ยวชาญ หรือทักษะรู้จริง แสดงในภาพข้างล่าง  ซึ่งเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ปัจจัย คือ ความรู้ตัว-ไม่รู้ตัว  กับสมรรถนะ ทำไม่ได้ - ทำได้

 

 

อธิบายว่า ขั้นตอนพัฒนาจาก “ผู้ไม่รู้” ไปสู่ “ผู้รู้จริง” มี ๔ ขั้นตอน  เริ่มจาก “ไม่รู้ว่าไม่รู้”  สู่ “รู้/ตระหนัก ว่าไม่รู้”  ไปสู่ “ทำได้ โดยต้องตั้งใจทำ”  และขั้นสูงสุดที่เรียกว่ารู้จริง คือ “ทำได้ อย่างอัตโนมัติ” คือโดยไม่ต้องตั้งใจทำหรือไม่รู้ตัว  เหมือนอย่างคนขับรถยนต์เป็น ขับรถโดยไม่ต้องกำหนดขั้นตอนในใจ

ข้อเรียนรู้สำหรับครูคือ การพัฒนาของ นศ. จากขั้นตอนที่ ๑ ไปสู่ขั้นตอนที่ ๔  ไม่ว่าในเรื่องใด ต้องการการฝึกฝนและต้องการเวลา  เพราะเป็นทักษะเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยทักษะย่อยจำนวนมากมาย  ต้องใช้เวลาฝึก ๓ ขั้นตอนตามภาพแรกข้างบน

แต่ครูซึ่งรู้จริง ในระดับผู้ชำนาญ จะคิดข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว  ไม่ต้องบูรณาการความรู้ในขณะนั้น เพราะมี “ชุดความรู้” เป็นชุดๆ สำเร็จรูปอยู่แล้วในสมอง  ให้เลือกเอามาใช้ให้เหมาะสมตามกาละเทศะ  ซึ่งครูก็ช่ำชองเช่นเดียวกัน

ในสภาพความเป็นผู้ชำนาญ ที่ทำกิจกรรมข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว (อย่างเป็นอัตโนมัติ)  ครูหลายคนจึงลืมไปว่า นศ. อยู่ในต่างขั้นตอนกับตนเอง  นศ. ยังเป็นผู้ฝึกใหม่ ยังต้องคิดและทำตามขั้นตอนในรูปแรกข้างบน  และครูก็ไม่สามารถบอกขั้นตอนการคิดและทำของตนได้ เพราะมันเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคิด

ครูที่ดีจึงต้องเอาชนะ “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” และศึกษาทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ ๓ ขั้นตอนตามในภาพแรกข้างบน  สำหรับนำมาเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้ฝึกฝนทักษะทั้ง ๓ ข้างบน


ทักษะองค์ประกอบย่อย (Component Skills)

นศ. ต้องมีทักษะองค์ประกอบย่อยครบถ้วน จึงจะสามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ซับซ้อนและต้องการทักษะเหล่านั้นได้  ครูจึงต้องมีทักษะในการแตกหรือวิเคราะห์ชิ้นงาน ว่าต้องการทักษะย่อยอะไรบ้าง  และต้องทดสอบทักษะของ นศ. ว่ามีพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ ก่อนจะมอบหมายงาน  หากตรวจพบว่า นศ. ยังขาดทักษะองค์ประกอบบางอย่าง ก็ควรให้เรียนเสริมเสียก่อน  เช่นในตัวอย่างแรกของบทที่ ๔ ของหนังสือ  เมื่อมอบหมายโครงงานให้ นศ. ทำคนเดียว ได้ผลดีมาก  แต่เมื่อให้ทำเป็นทีม กลับได้ผลงานที่ไม่ดี  แสดงว่า นศ. ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม

ผมอ่านรายละเอียดในหนังสือ แล้วบอกตัวเองว่า ศาสตร์ว่าด้วยทักษะองค์ประกอบย่อย (component skills) ของแต่ละทักษะที่ซับซ้อน  เป็นเรื่องที่น่าจับทำวิจัยในบริบทไทยมาก  เป็นโจทย์วิจัยที่จะช่วยให้ นศ. มีผลการเรียนสูงขึ้น  และในขณะเดียวกัน ความรู้ว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ในบริบทไทยก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย

ดังตัวอย่างโจทย์ การฝึกทักษะย่อย ควรฝึกแยกหรือฝึกรวมกับการฝึกทักษะอื่นทั้งชุด  ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว  ขึ้นกับแต่ละวิชา แต่ละทักษะ และขึ้นกับพื้นความเชี่ยวชาญที่ นศ. มีอยู่แล้ว  ผลงานวิจัยบอกว่า ในบางกรณีที่ นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  การฝึกแยกกลับให้ผลลบ คือทักษะกลับลดลง


การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย

การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย ทำโดยฝึกพร้อมกันหรือทำเป็นเรื่องเดียวกัน  ไม่ใช่ฝึกแยกกันแล้วคิดเอาว่าเมื่อใช้พร้อมกันจะทำอย่างไร ซึ่งจะไม่มีวันบูรณาการทักษะได้  การฝึกพร้อมกันนี้ไม่ง่าย เพราะมันกินแรงสมองมาก  ภาษาวิชาการเรียกว่า cognitive load

ในขณะที่ผู้ที่ได้ฝึกฝนจนเรียนรู้จริง (mastery) แล้ว การทำทักษะหลายๆ อย่างทั้งชุดในเวลาเดียวกันหรืออย่างคล้องจองกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ยาก ไม่กินแรงสมอง  เพราะคนที่ฝึกจนรู้จริงแล้ว จะทำทักษะเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ ไม่กินแรงสมอง

ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การฝึกซ้อม หรือการทำแบบฝึกหัด  และครูที่เก่งจะเข้าใจความยากลำบากของมือใหม่อย่างศิษย์  และนี่แหละที่เป็นคุณค่าระดับสูงสุดของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ... เป็นครูฝึกให้แก่ศิษย์  ให้ศิษย์ฟันฝ่า cognitive loadผ่านช่วงมือใหม่ ไปสู่มีชำนาญหรือรู้จริงได้

แต่ผลการวิจัยชี้ว่า ยังมีการทำแบบฝึกหัด ที่ทำโจทย์ได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้เรียน  เพราะนักเรียนมีแรงสมองน้อย เอาไปทำโจทย์ก็หมดแรงแล้ว  ไม่มีแรงสมอง (cognitive resources) เหลือสำหรับการเรียนที่แท้จริง  แก้ได้โดยเครื่องมือที่เรียกว่าworked-examples (ตัวอย่างเฉลยข้อสอบ) จัดแทรกไว้เป็นระยะๆ ในหมู่ข้อสอบแบบฝึกหัด  เขาบอกว่า จะช่วยให้ นศ. ศึกษาวิธีการ และเป็นการ “ชาร์จแบต” แรงสมอง   ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า worked-example effect จะเห็นว่า ครูที่เอาใจใส่ศึกษาและทดลองใช้เครื่องมือช่วยการเรียนของศิษย์ มีเรื่องสนุกให้ทำได้มาก  และยังนำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจของตน และเพิ่มผลงานวิชาการด้านการเรียนรู้ได้อีกด้วย

เขาบอกว่าเครื่องมือลดการกินแรงสมอง (จนไม่มีแรงเรียนรู้วิธีเรียนรู้) อีกชนิดหนึ่งคือ scaffoldingซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหนังสือบทที่ ๗

ที่น่าสนใจยิ่งคือ หากไม่ระวัง นศ. จะหมดแรงสมองไปกับการเรียนรู้ส่วนสาระ  ไม่มีเหลือไว้เรียนรู้ส่วนที่สำคัญกว่า คือส่วนการจัดโครงสร้างความรู้/ทักษะ และส่วนเรียนวิธีเรียนรู้

และน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ที่มีผลงานวิจัยบอกว่า การลดการกินแรงสมอง (cognitive load) ไม่ใช่จะมีผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่รู้จริงเสมอไป  ผมสรุปง่ายๆ ว่า จะได้ผลดีต่อการเรียน หาก นศ. ลดการกินแรงสมองโดยลดความเอาใจใส่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายการเรียน (เรื่องไร้สาระ?)  ประหยัดสมองเอาไว้เรียนเรื่องสำคัญ (อย่างที่ผมฝึกมาตลอดชีวิต)


การประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้

ศัพท์เทคนิคทางการศึกษา สำหรับการประยุกต์ใช้ทักษะ (และความรู้ ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ และนิสัย) คือtransfer และยังมีคำว่า near transfer ซึ่งหมายถึงบริบทของการเรียนกับบริบทของการประยุกต์ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน  และ far transfer สำหรับกรณีที่บริบทแตกต่างกันมาก ระหว่างตอนเรียน กับตอนประยุกต์

ทักษะ transfer ที่ต้องการจริงๆ คือ far transfer  คือเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องเรียน สู่สถานที่ทำงานจริง  ผลการวิจัยบอกว่า เราไม่เข้าใจความยากลำบากของการประยุกต์ใช้ทักษะในต่างสถานการณ์เช่นนี้  และมีการปัจจัยเอื้อ และปัจจัยล้มเหลว ของการประยุกต์


ปัจจัยล้มเหลวของ นศ. ได้แก่

๑.  เรียนรู้เชื่อมโยงกับบริบทในห้องเรียนอย่างเหนียวแน่น  คือเรียนตามตำรา  ถ้าถามข้อความในตำราตอบได้  แต่ให้เอามาใช้ในสถานการณ์จริง ทำไม่ได้

๒.  เรียนรู้แบบผิวเผิน  ไม่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงอย่างแท้จริง  คือ นศ. หยุดอยู่ที่ know what  ไม่เรียนรู้ know why  หรือเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น หรือเหตุผลที่สิ่งนั้นเป็นเช่นนั้น   นั่นคือ การเรียนรู้ทฤษฎีหรือความรู้เชิงนามธรรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำ จะช่วยให้ทำได้ดีขึ้น


ปัจจัยช่วยการประยุกต์ ของ นศ. ได้แก่

๑.  นศ. เรียนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่เป็นจริงในทุกบริบท  การประยุกต์ใช้ความรู้ในต่างบริบทก็จะทำได้ไม่ยาก   เขายกตัวอย่างผลงานวิจัยคลาสสิคที่ทำกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว (Judd 1908)  โดยให้ นศ. ปาลูกศรให้ถูกเป้าใต้น้ำ ที่อยู่ลึก ๑ ฟุต  หลังจากทดลองสักครู่ ก็แยก นศ. เป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกไปเข้าฟังทฤษฎีการหักเหของแสง  อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฟัง  แล้วให้ปาเป้าซ้ำ  ผลของกลุ่มแรกดีกว่าอย่างชัดเจน

๒.  การเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ  นี่ก็มาจากผลงานวิจัย  การให้ นศ. ศึกษากรณีศึกษา ๒ กรณี  โดยศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่าง (๑) ศึกษาทีละกรณี  (๒) เปรียบเทียบกันระหว่าง ๒ กรณี โดยครูมีเกณฑ์ให้เปรียบเทียบ  ผลคือการศึกษาวิธีที่ ๒ ได้ผลการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงกว่ามาก

๓.  ให้บอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่ง หรือเรื่องต่างๆ

๔.  คำชี้แนะ หรือคำใบ้ ของครู อาจช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงเรื่องราวต่างเรื่อง/ต่างบริบท แต่ใช้หลักการเดียวกันได้


สรุป

ครูต้อง “สอนการประยุกต์” (แบบไม่สอน!)  โดยต้องช่วยให้ นศ. เรียนรู้โครงสร้างความรู้อย่างลึกซึ้ง  เรียนรู้หลักการที่อยู่เบื้องหลัง  เรียนรู้ในบริบทการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างหลากหลาย  ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ตนมี เข้ากับบริบทใหม่ที่จะใช้ความรู้และทักษะนั้นได้

ข้อสรุปสำหรับผมก็คือ เมื่ออ่านหนังสือบทที่ ๔ นี้  ผมก็กระจ่างแจ้ง ว่าครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่โค้ช ของการเรียนรู้ของศิษย์จริงๆ  เหมือนโค้ชฟุตบอลล์  และหนังสือบทที่ ๔ นี้ คือส่วนหนึ่งของศาสตร์สำหรับ โค้ชการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และทำให้ผมเชื่อมากขึ้นว่า ครู/อาจารย์ ทุกคน มีโอกาสมากมายในการร่วมขยายขอบฟ้าของศาสตร์นี้

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/519648

 
Home > Articles > การศึกษา > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629472

facebook

Twitter


บทความเก่า