Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ตอนที่ ๒ ภัยแห่งจิตตนคร

ตอนที่ ๒ ภัยแห่งจิตตนคร

พิมพ์ PDF

จิตตนครก็เช่นเดียวกับนครทั้งหลาย คือเป็นนครที่มีภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติแห่งจิตตนคร ก็คือภัยที่เกิดจากธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ไฟ และลม นี่แหละ ดูก็คล้ายๆกับภัยธรรมชาติของโลก เช่น บางคราวดินถล่ม บางคราวไฟไหม้ บางคราวลมพายุเกิดน้อยหรือมากเป็นคราวๆ ถ้าเป็นไปโดยปกติ ก็ไม่เป็นภัย ทั้งกลับเป็นเครื่องเกื้อกูลชีวิตของสัตว์โลกทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน

เพราะสัตว์โลกทั้งหมดก็ต้องอาศัยธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงร่างกายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน ต้องบริโภคอาหาร เช่น ข้าว น้ำ ต้องมีความอบอุ่น ต้องหายใจเอาอากาศเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอยู่ทุกขณะ ชีวิตที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็ต้องอาศัยธาตุทั้ง ๔ บำรุงเลี้ยงให้ดำรงอยู่ ภัยของจิตตนครก็เกิดจากธาตุทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จิตตนครมีถนน ๔ แพร่ง มีนครสามีคือเจ้าเมือง ที่สถิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ๔ แพร่ง ท่านผู้รู้ได้กล่าวบอกไว้ว่า ถนน ๔ แพร่งนั้น คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เจ้าเมืองคือจิต สถิตอยู่ตรงที่รวมของธาตุทั้ง ๔ นี้เอง

ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๔ ยังรวมกันอยู่เป็นปกติ ที่อยู่ของเจ้าเมืองก็เป็นปกติ ถ้าธาตุทั้ง ๔ เกิดผิดปกติ เช่น มีจำนวนลดน้อยลงไปกว่าอัตราที่ควรมี หรือธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยหรือมากเกินไป จิตตนครก็ระส่ำระสายไม่เป็นสุข ทั้งเจ้าเมืองและพลเมืองทั้งปวงก็อยู่ไม่เป็นสุข

แต่เหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ แห่งจิตตนครแปรปรวนนั้น บางทีก็เกิดจากเจ้าเมืองและพลเมืองทำขึ้นเอง เช่น พากันรื่นเริงสนุกสนานเกินไป ไม่คอยดูแลทำนุบำรุงทาง ๔ แพร่ง คือธาตุทั้ง ๔ ไว้ให้ดี ก็เหมือนอย่างถนนหนทางในบ้านเมืองเรานี้แหละ ถ้าไม่หมั่นทะนุบำรุงคือซ่อมแซมตบแต่งอยู่เสมอแล้ว ก็จะเสียหายไปโดยลำดับ

บางทีเกิดจากธรรมชาติ เช่น บางคราวลมกำเริบ ทำให้จิตตนครหวั่นไหว บางคราวไฟกำเริบ ทำให้ร้อนรุ่มคล้ายกับเกิดลมพายุ เกิดไฟไหม้ ในบ้านเมืองเรานี้แหละ เจ้าเมืองและพลเมืองทั้งปวงก็หมดผาสุก ภัยเช่นนี้ชาวจิตตนครเรียกกันว่า “ภัยพยาธิ”

อีกอย่างหนึ่งเรียกกันว่า “ภัยชรา” คือ ถนน ๔ แพร่งนั้นเก่าแก่ลงไปทุกวัน แสดงความชำรุดทรุดโทรมให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งเจ้าเมืองและพลเมืองต่างก็พากันแก้ไขซ่อมแปลงต่างๆอย่างสุดฝีมือ บางทีก็ใช้ตัดต่อตบแต่ง บางทีก็ใช้สีทาให้แดงบ้าง ให้ดำบ้าง ให้ขาวบ้าง เป็นต้น สุดแต่จะเห็นว่าควรตบแต่งอย่างไร ต่อสู้กับ “ภัยชรา” ที่มาเกิดขึ้นแก่จิตตนคร ก็พอแก้ไขปะทะปะทังไปได้

แต่ถนน ๔ แพร่งนี้ก็ทรุดชำรุดลงอยู่เรื่อยๆ เจ้าเมืองเองที่ดำรงชีวิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ก็เริ่มอ่อนเพลียเมื่อยล้า ไม่ว่องไวกระฉับกระเฉงเหมือนแต่ก่อน

ยังอีกภัยหนึ่งที่ชาวจิตตนครกลัวนักหนาก็คือ “ภัยมรณะ” ซึ่งจะทำลายถนน ๔ แพร่งของจิตตนคร เท่ากับเป็นการทำลายเมืองกันทั้งหมดทีเดียว และต่างก็รู้ว่าภัยนี้จะต้องมาถึงในวันหนึ่งข้างหน้า แต่ก็พากันนอนใจเหมือนอย่างไม่มีภัย

ผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้พยายามศึกษาปฏิบัติ ให้รู้จักวิธีจัดการกับภัยดังกล่าวแล้วทั้งหมด ให้ได้ดีที่สุดในยามเมื่อภัยดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นกับจิตตนครของตนๆ ผู้บริหารจิตคือผู้ศึกษาธรรม และธรรมนั้นท่านเปรียบเป็นร่มใหญ่ที่กันแดดกันฝนได้ หรือจะกล่าวอีกอย่าง ธรรมก็คือเครื่องป้องกันรักษาเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร ให้พ้นภัยทั้งหลายดังกล่าวแล้ว

แม้ภัยจะเกิดขึ้นหนักหรือเบาเพียงไร เจ้าเมืองที่มีธรรมเป็นเครื่องป้องกันรักษา ก็ย่อมไม่กระทบกระเทือนเพราะภัยนั้นหนักเกินไป ส่วนเจ้าเมืองที่ไม่มีธรรม จักต้องได้รับแรงกระทบกระเทือนเต็มที่เป็นธรรมดา ก็เหมือนคนไม่มีร่มใหญ่ เดินตากแดดตากฝนก็ย่อมร้อนย่อมเปียก ส่วนคนที่มีร่มใหญ่ แม้จะมีฝนตกแดดออกก็ย่อมพ้นจากความร้อนความเปียกได้โดยควร การมาบริหารจิตหรือการมาศึกษาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งควรกระทำทั่วกัน แม้ปรารถนาความพ้นภัยทั้งปวง

• ผังเมืองแห่งจิตตนคร

จิตตนครมีถนนสายสำคัญ ๔ สายที่มาบรรจบกัน แต่มิใช่หมายความว่า ทั้งเมืองจะมีถนนอยู่เพียง ๔ สายเท่านั้น ยังมีถนนที่ตัดจากถนน ๔ สายนั้นออกไปในที่ต่างๆ อีกมายมายทั่วทั้งเมือง สำหรับเป็นทางคมนาคมของพลเมือง และสำหรับขนลำเลียงอาหาร ข้าว น้ำ สินค้าต่างๆ ไปเลี้ยงพลเมืองได้โดยสะดวกทั้งเมือง

มีไฟฟ้าและน้ำใช้สมบูรณ์ ระบบจ่ายกระแสไฟและจ่ายส่งน้ำก็เรียบร้อย เพราะมีสายไฟต่อทั่วไปทุกซอกเล็กตรอกน้อย เปิดสว่างอบอุ่นอยู่เสมอ มีคลองส่งน้ำ และมีท่อน้ำใหญ่เล็กทั่วไปเช่นเดียวกัน มีลมพัดผ่านได้ทั่วไปทั้งหมด ไม่อับลม แผ่นดินก็ชุ่มชื้น เหมาะเป็นที่เพาะปลูกพืชผลทั้งปวง

และเมืองนี้จัดระบบเรื่องปากท้องของพลเมืองทั้งหมดไว้ดีมาก น่าจะไม่มีเมืองไหนๆ ทำได้เหมือน คือตั้งโรงครัวใหญ่ไว้สำหรับเลี้ยงพลเมืองทั้งหมดไว้เพียงแห่งเดียว เรียกว่าเป็นท้องของเมือง และมีปากของเมืองเพียงปากเดียว สำหรับลำเลียงอาหารเข้าสู่ท้อง โดยวางท่อจากปากเมืองเข้าไปสู่ท้องของเมืองซึ่งเป็นโรงครัวใหญ่

ครั้นปรุงอาหารเสร็จแล้ว ก็ส่งอาหารไปเลี้ยงพลเมืองทั้งเมืองทางท่ออีกเหมือนกัน ไม่ต้องใช้รถหรือพาหนะอะไรบรรทุกทั้งนั้น ในคราวที่หาอาหารได้ไม่เพียงพอ ก็เฉลี่ยอาหารไปเลี้ยงกันทั่วทั้งเมืองเท่าๆกัน มีมากก็กินมาก มีน้อยก็กินน้อยเท่าๆกัน ไม่มีก็อดเหมือนกันทั้งเมือง พลเมืองทั้งหมดไม่มีใครกินน้อยหรือมากกว่ากัน ทั้งไม่มีใครกินดีหรือเลวต่างกัน ต่างกินเหมือนๆกันทั้งหมด นี้เป็นระบบการเลี้ยงพลเมืองของจิตตนคร

ระบบการถ่ายของเสียออกไป ก็จัดได้อย่างดีอีกเช่นเดียวกัน มีที่เก็บของเสีย มีที่เก็บน้ำทิ้ง และมีท่อระบายออกทั้งของเสียและน้ำทิ้ง และมีท่อระบายเล็กๆ อีกนับไม่ถ้วนทั่วทั้งเมือง น่าสังเกตว่า เมืองนี้ใช้ท่อเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเมืองมีท่อฝังอยู่ทั่วไปหมด ทั้งใหญ่และเล็ก ดูน่าพิศวงที่สามารถจัดระบบท่อได้ถึงเช่นนั้น

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานต่างๆอีกมากมาย เช่น โรงงานปัปผาสะ(ปอด) โรงงานหทยะ(หัวใจ) โรงงานวักกะ(ไต) โรงงานยกนะ(ตับ) โรงงานปิหกะ(ม้าม) เป็นต้น ซึ่งต่างก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่มีหยุด ด้วยเครื่องจักรพิเศษ เพื่อความดำรงอยู่แห่งจิตตนคร

น่าสังเกตว่า โรงงานเหล่านี้สามารถทำงานได้ทนทานที่สุด เพราะทำไม่มีเวลาหยุด ต่างจากโรงงานอื่นๆทั่วไป ซึ่งยังต้องมีเวลาหยุดพัก และว่าถึงขนาดของโรงงานในจิตตนครแต่ละโรงก็เล็ก แต่สามารถทำงานได้ผลดีมาก อย่างที่ใครๆที่ไปเห็นก็คิดไม่ถึงว่า ทำไมจึงทำงานได้ถึงเพียงนี้

รายละเอียดเกี่ยวกับจิตตนครยังมีอีก และจะได้นำมากล่าวถึงในรายการบริหารทางจิตครั้งต่อไป แต่ก่อนจะจบรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่วันนี้ ขอย้ำว่า ในบรรดาสิ่งประณีตพิสดารต่างๆแห่งจิตตนครนั้น นครสามีหรือเจ้าเมืองเป็นความสำคัญที่สุดไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่า

และเจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็คือจิตนี้เอง หรือใจนี้เอง ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ คือการกระทำใดๆก็ตาม คำพูดใดๆก็ตาม จะดีหรือจะชั่ว จะเป็นการส่งเสริมหรือเป็นการทำลายจิตตนคร ก็ย่อมเนื่องมาจากนครสามี หรือจิต หรือใจนั่นแหละเป็นสำคัญ

ถ้านครสามีดี คือถ้าใจดี การพูดการทำอันเกิดจากนครสามีหรือใจนั้นก็ย่อมดี ย่อมเป็นการส่งเสริมจิตตนคร ถ้านครสามีไม่ดี คือถ้าใจไม่ดี การพูดการทำอันเกิดจากนครสามีหรือใจนั้น ก็ย่อมไม่ดี ย่อมเป็นการทำลายจิตตนคร

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้มาพยายามทำเจ้าเมืองแห่งจิตตนครของตนๆให้ดี เพื่อให้เกิดผลสืบเนื่องไปถึงการพูดดีทำดีต่อไปด้วย จึงนับว่าเป็นผู้ไม่กำลังทำลายจิตตนครของตน แต่กำลังพยายามส่งเสริม ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ชอบ ที่จะนำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นในจิตตนครของตนสืบไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แพรภัทร

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:20 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ตอนที่ ๒ ภัยแห่งจิตตนคร

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8611307

facebook

Twitter


บทความเก่า