Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๗. ความกล้าหาญทางสังคม (๒) สู่โลกกว้าง

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๗. ความกล้าหาญทางสังคม (๒) สู่โลกกว้าง

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจากบทที่ ๘ (บทสุดท้าย)  How Can I Do That? Developing Social Courage     โดยที่ในบทที่ ๘ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๖ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒     และในบันทึกที่ ๑๗ นี้ จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๘ ของหนังสือ เป็นเรื่อง มิตรภาพ และความกล้าหาญในการเป็นตัวของตัวเอง และสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อธำรงมิตรภาพ

ตอนที่ ๓  เสพติดการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน(Peer Approval Addiction) เป็นอาการรุนแรงในวัยรุ่น    ที่ยอมทำทุกอย่างพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน   แม้การกระทำนั้นจะขัดความรู้สึกของตน   บางทีใช้คำว่า peer pressure คือตกอยู่ใต้แรงกดดันของกลุ่มเพื่อน    ให้ต้องมีพฤติกรรมสอดคล้องกับกลุ่ม    ไม่กล้าแหกคอกออกมา    มีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งมีความทุกข์จากแรงกดดันทางสังคมแบบนี้    หรือมิฉนั้นก็ตกกระไดพลอยกระโจน ทำตามเพื่อนจนเสียคน

ดังตัวอย่างเคยมีหมอเล่าให้ผมฟังว่า    ได้คุยกับเด็กสาวที่เป็นแม่วัยทีน ว่าที่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นก็เพื่อให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนได้    เข้าใจว่าแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนก็รุนแรงมากในกลุ่มวัยรุ่นไทย

เพื่อเอาชนะแรงกดดันนี้ วัยรุ่นต้องได้รับการฝึกให้มีความกล้าหาญทางสังคม (social courage)    ให้กล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้องตามสำนึกผิดชอบดีชั่วของตน

ผมคิดเองว่า คนที่ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดการยอมรับของสังคม คือคนที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอ    ไม่เป็นตัวของตัวเอง    ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการ โค้ช ของผู้ใหญ่ ที่ฝึกให้รู้จักผิดชอบดีชั่ว    มี EF มีทักษะชีวิต ไว้ใช้ฝ่าอุปสรรคของชีวิต    ผมเชื่อว่า การศึกษาแบบ Active Learning  ที่เด็กได้ฝึกปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง    เน้นเรียนรู้ 21st Century Skills   และตามด้วยการไตร่ตรองทบทวน อย่างถูกต้อง    จะช่วยสร้างความเป็นตัวของตัวเอง และสติรู้ดีชั่ว ให้แก่เด็ก    ทำให้เด็กเอาชนะแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่า การศึกษาแบบเน้นการถ่ายทอดความรู้ เน้นวิชา    ไม่ได้เรียนจากการปฏิบัติบนฐานชีวิตจริง    ทำให้เด็กขาดทักษะชีวิต   ขาดความแข็งแกร่งที่จะเอาชนะแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนได้

คำถามของครูของลูก “เพื่อนมาบอกว่าลูกสาวของฉันข่มเหงลูกสาวของเขา   โดยการกีดกันลูกสาวของเขาออกจากกลุ่มเพื่อน   และนินทาว่าร้ายลูกสาวของเขา   ฉันเองต้องการสอนลูกให้ดีต่อคนอื่น แม้คนนั้นจะไม่ใช่เพื่อน   ลูกสาวมีความลำบากในชีวิตเพราะการหย่าของฉัน    และลูกสาวโกรธพ่อที่โกหกหลอกลวง   ฉันไม่คิดว่าการหย่าร้างจะเป็นสาเหตุของพฤติกรรมไม่ดีของลูกสาว   แต่มันอาจเป็นสาเหตุก็ได้”

คำตอบของผู้เขียน “ครอบครัวของคุณกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ    และเป็นความยากลำบากสำหรับทุกคน   และความยากลำบากนี้จะดำเนินไประยะหนึ่ง   เวลานี้คุณเป็นผู้นำของครอบครัว    และเป็นพี่เลี้ยง (mentor) แก่ลูกสาวอายุ ๑๓ ของคุณ   ให้เรียนรู้การเอาชนะความยากลำบากในชีวิต   โดยเฉพาะเมื่อคนที่คุณเชื่อถือทำให้คุณเจ็บปวด   คุณไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมของลูกสาวเกิดจากการหย่าร้างหรือไม่   สังเกตได้จากว่าพฤติกรรมนี้มีหรือไม่ก่อนการหย่า    ถ้าไม่มีก็สันนิษฐานได้ว่า เกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง   ซึ่งมีผลก่อความตึงเครียดแก่ทุกคนในครอบครัว    คุณต้องเป็นตัวอย่างแก่ลูกในการครองสติอารมณ์ในท่ามกลางความตึงเครียดนี้

ขอแนะนำให้หาโอกาสที่คุณบังคับใจได้ และลูกก็พร้อม ปิดสิ่งรบกวน (เช่นโทรศัพท์ โทรทัศน์) คุยกันเรื่องการร่วมกันฟันฝ่ามรสุมชีวิตร่วมกัน   โดยคุณบอกเหตุการณ์ที่คุณได้รับแก่ลูก ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   และด้วยถ้อยคำที่แสดงเหตุการณ์เท่านั้น ไม่มีการตีความ ไม่มีการกล่าวหา   เช่น ‘แม่ของแมรี่โทรศัพท์มาบอกแม่ว่า ....’   แม่อยากรู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร   แล้วปิดปากแน่น ฟังอย่างเดียว    และบอกลูกว่า   แม่เชื่อว่าลูกเป็นคนดี   แต่เวลานี้เราตกอยู่ภายใต้สถานการณ์บีบคั้น   เราอาจพลาดไปบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา    แต่เราต้องช่วยกันตั้งสติ และไม่ทำพลาดซ้ำซาก   คนเราอาจโกรธได้ อาจพลาดทำเพราะความโกรธได้   แต่ต้องหัดระงับความโกรธ (ด้วยการหายใจเข้าออกยาวๆ ช้าๆ)  และไม่ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น   ที่ต้องไม่ทำเลยคือแสดงความโหดร้ายต่อเพื่อน”

ตอนที่ ๔  สู่โลกกว้าง อย่างมั่นใจ หนังสือเล่มนี้จบลงด้วยภาพของลูก/ศิษย์ ที่เติบโต/พัฒนา เป็นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ได้ดี มีความรับผิดชอบ มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจคนอื่น    มีความมั่นใจตนเอง  และไม่กลัวอุปสรรคความยากลำบากในชีวิต    คือเป็นคนดีของสังคม

หรือโดยสรุป มี ๘ คุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence), จริยธรรม (ethics), ช่วยเหลือผู้อื่น (help), ให้อภัย (forgiveness), ความเห็นใจ (compassion), เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy), การยอมรับ (acceptance), และ ความกล้าหาญทางสังคม (social courage)    สู่การเป็นพลเมืองดีของโลก

แต่แม่และพ่อมักจะมองลูกเป็นเด็กอยู่เสมอ (แม่อายุ ๙๔ ของผมยังเป็นห่วงลูกชายอายุ ๗๑ อยู่)    และอดเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการชีวิตของลูก (ที่โตแล้ว) ไม่ได้

หน้าที่ของพ่อแม่ คือกล่อมเกลา ฟูมฟัก ให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความมั่นใจในตนเอง  และเป็นคนดี    แล้วปล่อยให้ลูกเป็นอิสระในชีวิต แต่ผูกพันกันด้วยความรักความห่วงใย

การเลี้ยงดูลูก/ศิษย์ เป็นการช่วยให้เด็กเติบโต/พัฒนา ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในชีวิต    หรือให้เผชิญความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างราบรื่น   หรือเมื่อมีช่วงคับขันบ้าง ก็ช่วยแนะนำ หรือโค้ช ให้เรียนรู้อุปสรรคในชีวิตเหล่านั้น และหาทางผ่านพ้นไปได้โดยไม่เกิดผลร้ายต่อชีวิต   ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยค่อยๆ ผ่อนให้เด็กเป็นตัวของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ    ในที่สุดก็บรรลุวุฒิภาวะ สามารถดำรงชีวิตได้โดยอิสระ และเป็นที่พึ่งให้แก่คนอื่นได้    เป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคม    และมีความสามารถฟันฝ่าอุปสรรคหรือวิฤติในชีวิตในอนาคตได้

คำถามของหนุ่ม ๑๒ ผมเพิ่งย้ายโรงเรียน    จากโรงเรียนที่ผมเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล    ย้ายมาเรียนชั้น ม. ๑ ที่โรงเรียนใหม่   ที่โรงเรียนเดิมผมมีเพื่อนสนิทมากมาย   แต่ตอนนี้เด็กผู้หญิงจากโรงเรียนเดิมของผมกลายเป็นคนป๊อบปูล่าร์แทนผมไปแล้ว   ผมคิดว่าเพื่อนๆ ไม่สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น

คำตอบของผู้เขียน “การย้ายโรงเรียนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง   ชีวิตคนเราก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เอง    เมื่อมาโรงเรียนใหม่ เพื่อนๆ จากโรงเรียนเดิมอาจยังตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ จึงยังไม่ได้ทักทายเธอ   แต่เธอสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่ยาก

เริ่มต้นด้วยการนั่งตัวตรง   เอามือออกจากแป้นพิมพ์วางบนขา   หลับตา แล้วหายใจเข้ายาวๆ ช้าๆ ผ่านรูจมูก   จนสุดแล้วอ้าปาก หายใจออกช้าๆ   แล้วทำซ้ำหลายๆ ครั้ง    สังเกตลมหายใจเข้าและออก   วิธีการนี้เรียกว่า re-centering breath (อานาปาณสติ) ซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย และรู้สึกดีขึ้น

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำ    พรุ่งนี้เมื่อไปถึงโรงเรียน ให้แสดงความยิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์ดี   ทักทายเพื่อน  เข้าไปคุย เล่น กับเพื่อน   อาจคุยเรื่องความสนุกสนานกับการไปเที่ยวช่วงปิดเทอม   อาจเริ่มจากเพื่อนที่รู้จักกันแล้วที่โรงเรียนเก่า    และต่อมาทำความรู้จักและพูดคุยกับเพื่อนใหม่ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส   เชื่อว่าวิธีนี้จะได้ผล”

ผมมองว่า คำแนะนำนี้คือ ให้หนุ่ม ๑๒ มีความมั่นใจตนเองที่จะเป็นฝ่ายรุก มีความกล้าหาญทางสังคม  ที่จะเข้าไปผูกมิตรกับเพื่อนร่วมชั้น ร่วมโรงเรียนก่อน   ด้วยท่าทีเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2013 เวลา 10:21 น.  
Home > Articles > การศึกษา > สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๗. ความกล้าหาญทางสังคม (๒) สู่โลกกว้าง

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8608447

facebook

Twitter


บทความเก่า