Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๒. เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (๑) ต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายรุนแรง

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๒. เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (๑) ต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายรุนแรง

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๒ นี้ ตีความจากบทที่ ๖How Do You Think That Makes Him/Her Feel? Stretching Young Minds and Hearts to Empathize   โดยที่ในบทที่ ๖มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๒จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่ ๑๓จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๖ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathize)   ไม่ดำเนินตามวัฒนธรรมโหดร้ายทารุณ ที่กำลังครองโลกอยู่ในปัจจุบัน   ให้คนรุ่นใหม่กล้าออกมาต่อต้านวัฒนธรรมชั่วร้ายนี้   โดยฝึกลูก/ศิษย์ ให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น   เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

ในตอนที่ ๑ เด็กที่หัวใจแตกสลาย ผู้เขียนเอ่ยถึงกรณีวัยรุ่นถูกระรานทาง อินเทอร์เน็ต จนฆ่าตัวตาย   โดยที่ผู้ทำไม่คิดอะไรมาก   ระรานเพื่อความสนุกของตนเอง    ไม่สนใจว่าจะทำให้เหยื่อเกิดความเครียดหนัก    ถึงกับฆ่าตัวตาย   คนเหล่านี้เอาสนุกของตนโดยไม่เห็นใจคนอื่นที่ตกเป็นเหยื่อ

จึงมีขบวนการต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายนี้ในสหรัฐอเมริกา เช่น ที่นี่

พ่อแม่/ครู ควรถามเด็ก ว่าเด็กนิยามพฤติกรรมโหดร้ายเห็นแก่ตัวอย่างไร   ชวนเด็กทบทวนว่าตนเคยแสดงความโหดร้ายต่อคนอื่นเมื่อไร อย่างไร    และตนเคยโดนคนอื่นแสดงความโหดร้ายอย่างไร   ชวนคุยเรื่องการระรานกันทางอินเทอร์เน็ต    ว่าทำไมคนเราจึงระรานกันทางอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่าเมื่อเผชิญหน้ากัน    ชวนคุยว่า เมื่อมีคนระรานตน เธอจะทำอย่างไร    และเด็กมีวิธีแยกแยะระหว่างการหยอกล้อ กับการระรานอย่างไร    และต้องทำความเข้าใจกับลูก/ศิษย์ ว่าความโหดร้ายรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

คำถามของหนุ่ม ๑๕ “ผมเป็นคนอ่อนไหว    คนเขาว่าผมหน้าตัวเมีย   เขามักบอกผมว่า อย่าพูดอย่างนั้น  อย่านั่งอย่างนั้น   ผู้คนไม่สนใจผมตั้งแต่ผมอายุ ๑๐ ขวบ   ตอนนี้น้องสาวอายุ ๘ ขวบ และพ่อแม่หยาบคายกับเธอมาก   ผมรู้สึกได้จากแววตาของเธอว่าเธอว้าเหว่ ไม่มีเพื่อนเล่นด้วย   ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องโง่เง่า ที่ผมรู้สึกเจ็บปวดไปกับเธอ และไม่อยากให้เธอต้องเผชิญชตากรรมเหมือนผมอีก”

คำตอบของผู้เขียน “ไม่เป็นเรื่องโง่เง่าเลย ที่เธอรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น   แต่กลับเป็นสัญญาณของความมีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจคนอื่น   เธอเป็นคนมีเมตตากรุณา    น้องสาวของเธอโชคดีมากที่มีพี่ชายอย่างเธอ   เธอบอกว่าเธอทนไม่ไหวที่เห็นน้องสาวเศร้าสร้อย    จงอย่าแค่เห็นใจ จงทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยน้องสาว    พูดกับพ่อแม่อย่างสงบและอย่างเคารพ ว่าเธอสังเกตเห็นอะไร   เมื่อเห็นน้องสาวเหงา หรือเมื่อน้องสาวโดนพ่อแม่แสดงความโหดร้าย  ก็ขอให้เข้าไปพูดคุยกับน้อง   เพื่อให้น้องรู้สึกว่าตนยังมีพี่เป็นเพื่อน ที่เห็นอกเห็นใจและคอยช่วยเหลือทางใจ   การทำหน้าที่พี่ที่น้องมองเป็นฮีโร่จะเป็นคุณแก่ตัวเธอเอง    ช่วยให้เธอมีความเข้มแข็งมั่นใจตนเอง   และเกิดความเข้าใจ/พร้อมที่จะยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง”

ตอนที่ ๒ พ่อชั้นเลว เป็นเรื่องของพฤติกรรมของพ่อลูกที่ร้านอาหารสะดวกซื้อ ที่ผู้เขียนไปประสบ    สะท้อนภาพการเลี้ยงลูกไม่เป็นของพ่อแม่    หรือร้ายกว่านั้น การที่พ่อแม่ส่งสัญญาณผิดๆ ต่อลูก    ทำให้ลูกเพาะพฤติกรรมไม่ดีคือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงโดยที่ไม่ได้มีอารมณ์โกรธแต่อย่างใด ติดตัวเป็นนิสัย

ผู้เขียนแนะนำพ่อแม่/ครู ให้ไม่เอาใจใส่พฤติกรรมไม่ดี   เอาใจใส่พฤติกรรมดีและยกย่องทุกครั้งที่พบเห็น

และแนะนำให้ผู้ใหญ่ควบคุมอารมณ์เมื่อพบห็นพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก   เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมนั้นเกิดจากอะไร    และการควบคุมอารมณ์โกรธเกรี้ยวนี้ จะเป็นแบบอย่างแก่เด็ก ว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่เขาสามารถดำรงความมีเหตุผลและความเห็นอกเห็นใจ แม้จะมีคนมากวนโมโห    แต่ก็ต้องส่งสัญญาณต่อเด็กเป็น ว่าพฤติกรรมแบบไหนไม่พึงประสงค์ และเด็กต้องหยุด   ไม่ใช่เมื่อเด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พ่อกลับยิ้มให้และแสดงท่าทีเอ็นดู อย่างที่พ่อชั้นเลวทำ    จนลูกชักแรงขึ้นเรื่อยๆ พ่อก็แสดงความโมโหและทำท่าจะลงมือลงไม้   แต่ก็ไม่กล้าทำในที่สาธารณะที่มีคนจ้องมองอยู่มากมาย

ที่จริงพฤติกรรมทุกแบบของเด็ก เป็นการทดลองและเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น   และเป็นโอกาสที่พ่อแม่/ครู จะสอนเด็ก ให้ได้เรียนรู้วิธีเป็นคนดี   ดังนั้นเมื่อเด็กทำผิด ครู/พ่อแม่ ก็ต้องบอกว่าผิด ไม่ควรทำอีก   รวมทั้งหาวิธีให้เด็กได้เข้าใจเองว่าทำไมสิ่งนั้นจึงผิด   และผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อปีครึ่งมาแล้ว ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ผมประทับใจมากที่ทางโรงเรียนฝึกครู ๑ ปี ให้ไม่ขึ้นเสียงหรือดุเด็ก   แต่ฝึกตั้งคำถามแก่เด็ก เพื่อให้เด็กได้คิด และรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด   เมื่อเด็กทำผิดครูก็ไม่ดุ แต่จะชวนเด็กคุยโดยครูตั้งคำถาม จนเด็กรู้ไปเองว่าที่ตนทำนั้นผิด   ทีหลังต้องไม่ทำอีก   อ่านความประทับใจของผมได้ ที่นี่

วิธีต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายได้ดีที่สุดคือการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน   โดยที่เด็กต้องได้รับเกียรติเช่นเดียวกัน   นั่นคือลู่ทางที่เด็กจะเรียนรู้การให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ผู้เขียนแนะนำให้ทุกคนในครอบครัวมานั่งประชุมตกลงกัน ยกร่างกติกาของการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันในบ้าน   โดยคุยกันให้ชัดว่า กติกาเดียวใช้กับทุกคนในบ้านหรือไม่    โดยต้องไม่ลืมว่า บ้านไม่ใช่ที่บังคับใช้ประชาธิปไตยแบบที่ทุกคนเท่าเทียมกันหมด    เพราะพ่อแม่ยังต้องเป็นผู้นำในบ้าน   และลูกก็ยังอยู่ระหว่างการฝึกฝนความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองได้ทั้งหมด

คำถามของครูของลูก “ลูกสาวอายุ ๑๔ เป็นที่ชื่นชมในโรงเรียนว่าเป็นเด็กดี   แต่ที่บ้านกลับเป็นคนละคน   เธอต่อต้านพ่อแม่ ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือโง่เง่า    จนบางครั้งแม่ไม่อยากพูดด้วย   พ่อแม่ตักเตือน ก็ดีขึ้นช่วงสั้นๆ   แล้วก็กลับไปใช้คำพูดเสียดสีอย่างเดิม เหมือนกับว่า เธอไม่สามารถควบคุมตนเองได้   เราอยากให้ลูกพูดกับพ่อแม่อย่างเคารพ จะทำอย่างไรดี”

คำตอบของผู้เขียน “คุณพูดว่า ลูกสาวดูเหมือนไม่สามารถวบคุมตนเองได้   นั่นเป็นความจริงสำหรับเด็กอายุ ๑๔   ที่ควบคุมตัวเองได้ยากมาก   เพราะเธอกำลังต่อสู้กับตัวเอง เพื่อสร้างความเป็นตัวตนของตนขึ้นมา    และเพื่อเป้าหมายนั้น เธอจึงต้องสร้างระยะห่างจากพ่อแม่   โดยการไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่พ่อแม่ว่า    เมื่อคุณบอกให้ทำอะไรก็ตาม เธอจะรู้สึกว่าการต้องทำตามที่พ่อแม่สั่ง ทำให้เธอเป็นเหมือนเด็กเล็ก   พ่อแม่ควรเข้าใจว่า ความหยาบคายของเด็กวัยทีน เป็นตัวบอกความอ่อนเยาว์วุฒิภาวะของตัวเธอ

สภาพเช่นนี้จะค่อยๆ หายไปเอง    พ่อแม่ช่วยได้โดยการสงบสติอารมณ์ (แม้จะทำได้ไม่ง่าย)   แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องยอมให้ลูกสาวแสดงความไม่เคารพพ่อแม่

แนะนำให้คุยกับลูกดีๆ ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   เริ่มด้วยการขอโทษลูก   ว่าที่แม่ปล่อยให้ลูกพูดจาเสียดสีพ่อแม่นั้นเป็นการทำผิดในฐานะแม่   ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือให้ลูกเติบโตเป็นคนดี   การที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกแสดงพฤติกรรมไม่ดีนั้น ถือเป็นความผิดของพ่อแม่ เป็นการทำร้ายลูก    ดังนั้นต่อไปนี้เรามาตกลงกันว่า ลูกจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมไม่ดีอะไรบ้าง    ถ้าแสดงออกมาจะได้รับผลอย่างไร   เช่นถูกริบโทรศัพท์มือถือ ๑ วัน หรืออย่างอื่นที่แม่รู้ว่ามีความกมายต่อลูก    แล้วแม่ก็คอยเฝ้าดู   หากลูกทำผิดสิ่งใด ก็ได้รับผลตามที่ตกลงกัน   เมื่อลูกเผลอตัวกล่าวคำรุนแรงอีก ให้เตือนด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   ว่าถ้าไม่หยุด จะได้รับผลตามข้อตกลง   หากลูกหยุด ให้กล่าวคำขอบคุณ    อย่าดุด่าว่ากล่าว อย่าขึ้นเสียงหรือแสดงอารมณ์   การแสดงอารมณ์ออกมา จะเป็นสัญญาณไปยังลูก ว่าเขาชนะแล้ว    เมื่อลงโทษลูกตามข้อตกลง และลูกกระฟัดกระเฟียด อย่าสนใจ ให้นิ่งไว้    ลูกสาวคุณเป็นเด็กฉลาด เขาจะเรียนรู้ได้ในที่สุด”

จะเห็นว่า พ่อแม่/ครู มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฝึกฝนกล่อมเกลานิสัยเด็ก ให้เป็นคนที่เคารพให้เกียรติคนอื่น   และในขณะเดียวกัน ก็มั่นใจในเกียรติและความรับผิดชอบของตน

พ่อแม่และครู มีโอกาสรับใช้สังคม โดยการเอาใจใส่ฝึกเด็กให้เป็นคนดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 11:57 น.  
Home > Articles > การศึกษา > สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๒. เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (๑) ต่อต้านวัฒนธรรมแห่งความโหดร้ายรุนแรง

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8656624

facebook

Twitter


บทความเก่า