Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๗. โยนิโสมนสิการระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย สู่การปฏิรูปประเทศไทย

พิมพ์ PDF

เอกสารเล่มเล็ก เรื่อง ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยและ โครงการประเมินการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินร่วมสามกองทุนภายใต้นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนที่พิมพ์เผยแพร่โดย สวรส. ในปี ๒๕๕๖   บอกอะไรเราหลายอย่าง

คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตั้งแตีปี ๒๕๔๕    จะครบ ๑๒ ​ปี ในเดือนเมษายา ๒๕๕๗ นี้     โดยระบบที่มาทีหลังสุด และครอบคลุมจำนวนคนมากที่สุดคือระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารโดย สปสช.    ส่วนระบบที่มีมานานที่สุดคือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ผมมักเรียกว่า สวัสดิการ ๓ ชั่วโคตร    คือดูแลตัว ข้าราชการและคู่สมรส  บุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ (ไม่เกิน ๓ คน)  และพ่อแม่    ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อเฟื้อมาก และตัวข้าราชการได้ประโยชน์จริงๆ    แต่ในที่สุดรัฐบาลก็รับภาระทางการเงินไม่ไหว    จึงต้องปลดบางหน่วยงานออก ไม่ให้บุคลากรเป็นข้าราชการอีกต่อไป    ให้เป็นพนักงานราชการ    ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลจำกัดที่ตัวข้าราชการคนเดียว    เรื่องสวัสดิการต่างๆ นั้น มันเป็นของดี    แต่ถ้าไม่มีวิธีจัดการให้พอดี ก็มีปัญหาไม่มีเงินจ่าย

 

ระบบที่มากับระบบแรงงาน คือระบบประกันสังคม

หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานวิจัยเปรียบเทียบสวัสดิการด้านสุขภาพของทั้ง ๓ ระบบนี้    และผมจะไม่กล่าวถึงสาระ เพราะท่านสามารถเข้าไปอ่านหนังสือหรือดาวน์โหลดเก็บไว้ใช้งานได้ ตามลิ้งค์ ที่ให้ไว้แล้ว    แต่ผมจะขอโยนิโสมนสิการ (reflect, AAR) ประเด็นที่ผมต้องการ ลปรร. กับสังคมไทย ๓ ประการ

๑. โครงการต่างๆ ของบ้านเมือง    ต้องเตรียมการประเมินเพื่อพัฒนา ไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ตอนวางแผนกิจกรรมนั้นๆ    เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง ต้องมีการวิจัยเพื่อประเมินผล    โดยต้องมีทีมนักวิจัยที่แม่นยำวิชาการ และซื่อสัตย์มีความน่าเชื่อถือ (มี integrity) ไม่มีใครสั่งให้แปลงผลวิจัยได้    หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่าง

สังคมไทยต้องมีองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตามข้อ ๑ ในเรื่องหลักๆ ของบ้านเมืองได้   เช่นด้านเศรษฐกิจ เรามี ทีดีอาร์ไอ   ด้านสุขภาพ มี สวรส.    แต่ด้านที่สำคัญในระดับคอขาดบาดตายต่ออนาคตของบ้านเมือง คือด้านการศึกษา เราไม่มีหน่วยงาน และไม่มีการสร้างนักวิจัยตามข้อ ๑    นอกจากนั้นยังน่าจะพิจารณาจัดตั้ง สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ ตามข้อเสนอของคุณบรรยง พงษ์พานิช ที่นี่

 

๒ การใช้ประโยชน์หน่วยงานวิจัยที่เก่ง และซื่อสัตย์ต่อวิชาการ ยังไม่เป็นวัฒนธรรมของการเมืองและสังคมไทย    ฝ่ายการเมืองต้องการคนทำวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายของตนมากกว่า     ดังกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ เคยกล่าวกับทีมผู้บริหาร สกว. เมื่อประมาณปี ๒๕๔๕ (ผมอยู่ในคณะด้วย) ว่า    ถ้า สกว. อยากได้งบประมาณ ก็อย่าไปคิดตั้งโจทย์วิจัยอื่น   ให้ใช้โจทย์วิจัยว่า ทำอย่างไรนโยบายของรัฐบาลจะได้ผล    และดังกรณี ทีดีอาร์ไอ ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของนักการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหน

 

การปฏิรูปประเทศไทย ควรคำนึงถึงการสร้างระบบปัญญาของประเทศ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 12:35 น.
 

ผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ : ๒. นักเรียนนักติว

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้รวม ๖ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Ageโดย Alan November ซึ่งผมตีความว่า เป็นเรื่องการใช้ digital technology ช่วยให้เกิด active learning หลากหลายรูปแบบ    ทำให้เปลี่ยนแปลงบทบาทของนักเรียน เป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ หรือสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (learning facilitator)

บ่อยครั้งที่นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า หากเรียนจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง    และหลักการเรียนรู้ตาม Learning Pyramid คือ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการสอนคนอื่น

หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑   และการเรียนรู้แบบ active learning   ก็คือ นักเรียนต้องมีบทบาท สำคัญ ในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง และของเพื่อนๆ    รวมทั้งเผื่อแผ่ออกไปนอกชั้น นอกโรงเรียน และนอกประเทศ ด้วย

หนังสือเล่าเรื่องของเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป. ๖ ที่ทำงานผลิตวีดิทัศน์ติวเพื่อนเรื่องวิธีแยกแฟกเตอร์ด้วย  ตัวเลขจำนวนเฉพาะ (prime number)     อย่างเอาจริงเอาจังและรับผิดชอบ เพื่อสอนเพื่อน และเผื่อแผ่แก่เพื่อนนักเรียนทั่วโลก ทาง อินเทอร์เน็ต    และเพื่อให้ตนเอง เรียนอย่างรู้จริง

นี่คือสภาพของการเรียนแบบผู้สร้างความรู้ หรือผู้ลงมือทำ    ในสภาพที่เป็น “การเรียนอย่างแท้จริง” (authentic learning)    ไม่ใช่เรียน/ทำหลอกๆ หรือสมมติสถานการณ์

เมื่อเอา วีดิทัศน์ ติววิธีแยกแฟกเตอร์ ไปห้อยไว้ใน อินเทอร์เน็ต   นักเรียนเจ้าของผลงานก็จะได้มีโอกาส มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนทั่วโลก   ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจอื่นๆ    ถึงตรงนี้ผมขอหมายเหตุว่า ครูต้อง ชวนนักเรียนเตรียมความพร้อมในการออกสู่โลกกว้างทาง อินเทอร์เน็ต   ให้รู้เท่าทันคนที่จิตวิปริต หาทางหลอกเด็ก

หลักการคือ ครูทำหน้าที่ดูแลว่า เนื้อหาใน “บทติว” ที่นักเรียนสร้างขึ้นนั้น ถูกต้องแม่นยำ     โดยครูทำหน้าที่ให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) ต่อการทำงานของนักเรียน    โดยมีหลักการว่า ครูอย่าให้คะแนน แก่งานสร้างสรรค์    แต่ให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าของงานของตนเอง โดยสังเกตจากการมีผู้เข้ามาเยี่ยมชม (ผ่านทาง อินเทอร์เน็ต)    และจากความเห็นของผู้มาเยี่ยมชม

ถึงตรงนี้ผมขอหมายเหตุว่า ครูต้องบอกศิษย์ว่า เขาต้องฝึกความซื่อสัตย์ ไม่ไปบอกเพื่อนๆ หรือพ่อแม่ให้เข้ามาเยี่ยมชมหลายๆ ครั้ง ด้วยเป้าหมายเพื่อนับคะแนนจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม แข่งขันกัน    แต่ ชวนเข้ามาเยี่ยมชม เพื่อขอคำแนะนำติชมได้    ครูต้องระมัดระวัง ไม่สร้างนิสัยขี้โกงให้แก่ศิษย์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

นี่คือรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง    นักเรียนไม่ใช่ผู้คอยรับถ่ายทอดความรู้จากครู    แต่เป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ ทดสอบการใช้ความรู้นั้นจนมั่นใจว่ารู้จริง    โดยมีครูคอยช่วยเป็น โค้ช    แล้วนักเรียนจึงทำบทเรียน (บทติว) ออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้    ผ่านการสร้างสรรค์บทเรียน ออกเผื่อแผ่แก่เพื่อน และแก่โลก    ผ่านทาง อินเทอร์เน็ต   โดยนักเรียนจะได้ฝึกการใช้เทคโนโลยีสำหรับสร้างบทติวเช่น Camtasia, Jingและอื่นๆ ทำให้การเรียนคือการทำงาน   จึงเป็นการเรียนที่แท้จริง (genuine learning)    โดยนักเรียนเป็น “นักสร้างสรรค์”     และครูทำหน้าที่ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาผลงานของนักรียนแก่โลก (global publisher)

บทติวเพื่อนของนักเรียนแต่ละทีมมีสไตล์แตกต่างกัน   โดยมีรายการตำราเรียน และแหล่งความรู้ ออนไลน์ ที่ใช้   แล้วใช้บันทึกเหล่านี้จัดทำบทติวเพื่อน ซึ่งมักเป็นวีดิทัศน์ความยาวประมาณ ๓ นาที   เริ่มด้วยการแนะนำตนเอง  วัตถุประสงค์ของบทติว   หลังสาระของบทติว จบด้วยคำกล่าวขอบคุณ และเชิญชวนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น   นักเรียนทีมงานจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้บทติวมีความถูกต้องแม่นยำ   เพราะว่าเขาจะต้องรับผิดชอบสาระ เพื่อการเผื่อแผ่แก่เพื่อน และแก่โลก

วีดิทัศน์ติววิชาแก่ศิษย์เกิดขึ้นครั้งแรกโดยครู Eric Marcos ใช้ แทบเล็ตและโปรแกรม Camtasia ทำวีดิทัศน์อธิบายโจทย์และวิธีตอบวิชาคณิตศาสตร์ที่ศิษย์ อีเมล์ถามตอนกลางคืน   เมื่อครูอีริกเห็นว่าบทติวที่เอาไปแขวนไว้ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาท าง อินเทอร์เน็ต เป็นที่ชื่นชอบของนักเรียน   ครูอีริกก็ทำเพิ่มและนักเรียนได้รับประโยชน์มาก   จนวันหนึ่งนักเรียนคนหนึ่งมาถามครูว่าตนจะขอทำวีดิทัศน์บทติวนั้นบ้างได้ไหม   จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของนักเรียนโดยการทำบทเรียนวีดิทัศน์ติวเพื่อน   บทติวเหล่านี้อยู่ใน เว็บไซต์ MathTrain.TV ซึ่งเราเข้าไปดูได้    ตัวอย่างของวีดิทัศน์ติววิชาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกคือ Khan Academy

นักเรียนสามารถใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด   ทั้งในด้านวิธีการนำเสนอ  วิธีตั้งโจทย์และตอบโจทย์  การเลือกใช้เครื่องมือ ไอซีที เพื่อสื่อสารบทติวเพื่อนของตน   เช่นนักเรียนทีมหนึ่งเน้นแลกเปลี่ยนผ่าน สมาร์ทโฟน และเครื่องเล่น MP 3   อีกทีมหนึ่งเน้นแลกเปลี่ยนผ่าน iPod เป็นต้น  ผมลองค้นใน App Store ของ Apple พบว่ามี App Video Maker มากมาย  และมีหลายแบบ เช่นแบบ การ์ตูน, App ScreenChomp เป็นต้น   ครูน่าจะชักชวนนักเรียนช่วยกันเลือกสักแบบ สำหรับใช้ในชั้นเรียน   หรือจะยิ่งดี หากมีบริการระดับชาติ ให้ครูและนักเรียนนำไปใช้ฟรี    ซึ่งหมายความว่ามีเว็บไซต์ระดับชาติ ให้ชั้นเรียนที่ใช้วิธีการเรียนรู้แบบ "ฟาร์มเรียนรู้ในยุคดิจิตัล" เข้าไปใช้ ซอฟท์แวร์ สำหรับทำวีดิทัศน์ และนำเสนอบทติวของตน   โดยผู้บริหารเว็บไซต์ อาจเข้าไปอ่าน และยกย่องให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ แก่ผลงานเด่น    โดยอาจจัดเป็นผลงานเด่นด้าน ...  ผลงานเด่นประจำสัปดาห์/เดือน/ปี

ผมได้ทดลอง ดาวน์โหลด screencast program ชื่อ Jing มาอ่านคำแนะนำวิธีใช้ แล้วลองนำเสนอวีดิทัศน์เรื่อง การเรียนรู้แบบรู้จริง ที่นี่ เรื่องการทำความรู้จักและใช้ ไอซีที นี้    ผมขอแนะนำครู ว่าวิธีดีที่สุดคือถามจากศิษย์  ขอร้องให้ศิษย์ช่วยสอนให้

ระบบ ไอซีที เพื่อการศึกษาระดับชาติ อาจใช้ระบบ School Wiki สำหรับเป็นฐานข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียน   โดยให้ตัวนักเรียนเอง (โดยการ โค้ช ของครู) เข้าไปลงบทติวเพื่อน ได้ด้วย

ครูจะไม่ทำตัวเป็น "ผู้ตรวจข้อสอบ" ให้เกรดหรือคะแนนแก่ผลงาน   เพราะจะเปลี่ยนเป้าหมายของงาน เป็นทำเพื่อคะแนนทันที กลายเป็นการเรียนปลอมๆ หลอกๆ   ไม่เป็นการเรียนแบบจริงแท้ (genuine learning)   ครูต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การใช้หลักการ "ทำฟาร์มเรียนรู้ในยุคดิจิตัล" เพื่อการเรียนรู้จากการลงมือทำงานของนักเรียนนั้น   นักเรียนต้องเป็นเจ้าของความคิด วิธีการ การลงมือทำ ผลงาน และการประเมินคุณภาพของผลงาน

สิ่งที่ครูทำ และต้องทำเพื่อเพิ่มคุณค่าของครู คือคอยจับตาตรวจสอบความก้าวหน้าการเรียนรู้ของศิษย์   โดยตรวจสอบเป็นรายคน และประเมินการเรียนรู้ทุกด้าน (ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑) อย่างบูรณาการ   ซึ่งผมคิดว่า เป็นการประเมินที่มีคุณค่าสูงสุดต่อศิษย์   และครูต้องฝึกฝนเรียนรู้ความแม่นยำในการประเมินนี้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

หน้าที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของครู คือคอยหมั่นสร้างแรงบันดาลใจ และตระหนักในคุณค่าของการทำงานใน "ฟาร์มเรียนรู้" ว่าจะมีคุณค่าต่อชีวิตในอนาคตของศิษย์อย่างไรบ้าง   รวมทั้งการย้ำความระมัดระวังด้านความซื่อสัตย์คุณธรรมจริยธรรม   เช่นเมื่อคัดลอกผลงานมาจากแหล่งใดต้องเคารพให้เกียรติเจ้าของผลงาน โดยการอ้างอิง   หากผลงานนั้นมีสิทธิบัตร ก็ขออนุญาตก่อนนำมาใช้ เป็นต้น

ครูต้องคอยเตือนสตินักเรียนว่า ใน "ฟาร์มเรียนรู้" นี้ การเรียนรู้เพื่ออนาคตของนักเรียนไม่ได้อยู่แค่ผลงานบทติวเพื่อนเท่านั้น   ยังอยู่ที่การฝึกมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนในทีมงาน กับเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียน ในโรงเรียน และในโลก   เช่นต้องรู้จักฟังเพื่อน  รู้จักชื่นชมผลงานของเพื่อน  รู้จักแลกเปลี่ยนแบ่งปัน   รู้จักยอมรับความคิดเห็นหรือความเชื่อที่แตกต่างจากความเชื่อของเรา    โดยไม่ตัดสินถูกผิด   รู้จักตรวจสอบตนเอง ว่าชอบหรือถนัดด้านไหน   รู้จักตรวจสอบปรับปรุงวิธีเรียนรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา  เป็นต้น

การที่นักเรียนได้ทำหน้าที่ ติวเต้อร์ ให้แก่เพื่อนๆ    และเผื่อแผ่แก่ทั้งโลก จุทำให้นักเรียนภูมิใจมาก    สร้างความมั่นใจ  ความมีอิสระ (autonomy)  มีทักษะในการเรียนแบบรู้จริง (mastery)  และมีชีวิตที่มีเป้าหมายสูงส่ง (sense of purpose)

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 13:01 น.
 

ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทำและไม่ทำอะไร

พิมพ์ PDF
ไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ เน้นตั้งคำถาม มากกว่าให้คำตอบ

ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทำและไม่ทำอะไร

เพื่อให้ศิษย์เรียนได้ผลสัมฤทธิ์สูง ตามเป้าหมายหลัก ๓ ประการ ที่ได้กล่าวแล้วเมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๕๗     และเพื่อให้ครูมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของศิษย์   ตามที่ได้กล่าวเมื่อวันที่ ๑๒ ม.ค. ๕๗   ครูจะต้องมีหลักปฏิบัติว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร   ซึ่งจะกล่าว ๒ ตอน ในวันนี้ และในวันอาทิตย์หน้า     ชมของวันนี้ได้ที่ http://screencast.com/t/1AurNETk

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 13:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๙๐. ระบบการจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ

พิมพ์ PDF

หนังสือ ๒ ทศวรรษบทเรียนการจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ ช่วยให้ผมทำโยนิโสมนสิการ ระลึกชาติกลับไป ๒๐ ปี    สมทบการทบทวนไตร่ตรองงานของทีมงาน สวรส. ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. ของ นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข    จัดทำออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้    น่าชื่นชมว่า เป็นกระบวนการสั่งสมความรู้ด้านการจัดการงานวิจัยที่ดี

ผมมีอุดมการณ์ว่า ไม่ว่าไปทำงานใด ต้องตีความและสั่งสมความรู้จากประสบการณ์ออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมวงกว้าง    โดยเขียนหนังสือออกเผยแพร่    ดังนั้นการทำหนังสือเล่มนี้ออกตีพิมพ์ แถมยังให้ดาวน์โหลดได้ฟรี จึงถูกใจผมอย่างยิ่ง

ในหน้า ๒๙ ของหนังสือ เป็นเรื่องราวของกิจกรรม NEBT (National Epidemiology Board of Thailand)    หรือชื่อในภาคไทยว่า คณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ    ที่แม้ผมจะทำงานอยู่ที่หาดใหญ่ และไม่มีพื้นความรู้เรื่องนี้เลย    แต่ก็โดน อ. หมอประเวศ ตามให้มาทำงานด้วย    เป็นพื้นความรู้ที่ผมได้เอาไปใช้งาน สมัยทำหน้าที่ ผอ. สกว.   ในบทนี้คุณหมอสมศักดิ์เล่าตกไป ว่า NEBT นี้เป็นที่มาขององค์กรถึง ๒ องค์กร    คือ สวรส. กับ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ที่คุณหมอสมศักดิ์ทำหน้าที่เลขาธิการในขณะนี้    โดยมีการตั้ง สวรส. ขึ้นใหม่   โดยการตรา พรบ. จัดตั้งตามที่เล่าในหนังสือ    และ อ. หมอประเวศกับ นพ. ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันมอบหมายให้ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไปจดทะเบียนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเก็บสำรองไว้     ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการ  กระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่ง คือคุณบุญพันธ์ แขวัฒนะ ไม่พอใจ อ. หมอประเวศ ต้องการเข้าไปรุกราน NEBT    จึงหอบสมบัติ หนีมาทำงาน มสช. จนปัจจุบันนี้

การทำงานสร้างสรรค์เพื่อรับใช้สังคม ย่อมมีมารผจญได้เสมอ

ผมจะไม่ทบทวนหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม    ใครอยากรู้ไปอ่านเอาเอง    แต่จะตีความย้ำประเด็นที่ยังไม่ได้ระบุให้ชัดในหนังสือ    คือวิธีทำงานของ สวรส. ในช่วง ๒ ทศวรรษนี้   อยู่ในสภาพ Good impact at low cost    เพราะทำงานในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive systems) เป็น     ไม่ตั้งตัวเป็นแหล่งทุนที่ไปสั่งการให้นักวิจัยทำงาน    แต่ทำงานแบบเชื่อมโยงเครือข่าย    ทำให้เกิดหน่วยงานย่อยๆ ที่ทำงานร่วมมือกับ สวรส.    แต่ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย    ที่เรียกในหนังสือว่า สถาบันภาคี  และ เครือสถาบัน (หน้า ๕๒ - ๕๔)

เครือข่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่หาเงินมาทำงานจากภายนอก จากฝีมือการทำงานของตนเอง    และได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. ในลักษณะร่วมมือทำงานให้ สวรส.   ไม่ใช่แบมือขอเงินฟรีๆ     การจัดการความสัมพันธ์กับเครือข่ายองค์กรเล็กๆ เหล่านี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นสุดยอดของการจัดการงานวิจัย    หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนวิธีการจัดการความสัมพันธ์ กับเครือข่ายเหล่านี้โดยละเอียด    ในบทที่ ๔ - ๗ ในลักษณะของการก่อเกิดและการดำเนินการของหน่วยงานภาคี    ซึ่งผมคิดว่า น่าจะได้มีการตีความลงลึก เพื่อสรุปไว้เป็นข้อเรียนรู้ว่า เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่ทำงานรับใช้ประเทศชาติได้กว้างขวาง    หลักการหรือแนวความคิด รวมทั้งวิธีปฏิบัติต่อหน่วยงานเหล่านี้ ควรเป็นอย่างไร    และไม่ควรทำอย่างไร

ได้ข่าวว่าตอนนี้ ผอ. สวรส. ท่านใหม่กำลังหาทางสลัดเครือข่ายเหล่านี้ออกไป    ผมทำนายว่าจะทำให้ สวรส. ยุคนี้มีผลงานตกต่ำ     แต่ก็ได้ข่าวแว่วๆ ว่า นักการเมืองที่บ้าอำนาจ เขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น

การจัดการงานวิจัยแบบที่คลาสสิคมากสำหรับ สวรส. คือ จัดการแบบ “ออกลูก”    คือให้กำเนิดหน่วยงานใหม่ ดังระบุในหนังสือแล้ว    หน่วยงานใหม่นี้มี ๒ กลุ่ม คือกลุ่มหน่วยงานเชิงนโยบาย หรือเชิงจัดการระบบใหม่    ได้แก่ สปสช., สสส.,    สช.  และ สรพ.    อีกกลุ่มหนึ่งหน่วยงานเล็กกว่ามาก แต่มีจำนวนมากกว่า คือเป็นหน่วยวิจัย    ได้แก่สถาบันภาคีและเครือสถาบัน ที่ระบุในหน้า ๕๓ - ๕๔   ที่มาของหน่วยงานใหม่กลุ่มแรกตอนต้นน้ำสุดๆ คือตอนอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา     น่าจะเป็นประสบการณ์การจัดการงานวิจัยและพัฒนาเชิงนโยบายที่มีค่ายิ่ง    แต่ไม่ได้รวบรวมไว้    ผมเอามาเสนอไว้ เผื่อในอนาคตมีคนคิดจัดทำหนังสือรวบรวมและสังเคราะห์ประสบการณ์ขึ้นอีก

 

หมายเหตุ

ผมส่งบันทึกนี้ให้คุณหมอสมศักดิ์อ่าน  และได้คำตอบดังนี้

อ่านแล้วไม่แรงหรอกครับ เรื่อง นักการเมืองบ้าอำนาจ อยากให้ผลงานตกต่ำ ความจริง อจ. อาจจะเห็นชัดที่สุดด้วยการใช้ประโยคนี้

มี 2 รายละเอียดที่อยากเพิ่มครับ

1 ตอนยุบ กก. ระบาด ปัจจัยใหญ่มาจาก ไม่พอใจ อจ. หทัย ที่ไปตามเปิดโปง เรื่องพยายามไปยอมบริษัทบุหรี่ เลยอ้างว่า มี สวรส. แล้วไม่ต้องมี NEBT  จะเพราะไม่พอใจ อจ ประเวศ ด้วยหรือไม่ ไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ เขาไม่พอใจ ที่ สำนักงานมีส่วนในการเผยแพร่ข้อความต่อต้าน สุจินดา เพราะมี fax จำนวนหนึ่ง ส่งจากเบอร์ fax office NEBT ในตอนนั้น (และคนที่ไปบอก นักการเมือง หรือช่วยค้นจนเจอว่า เบอร์ที่ว่ามาจากสำนักงานไหนใน กสธใ ก็คืออดีต รองปลัดฯ ที่เป็นลูก ท่านหนึ่งนั่นแหละครับ

2. เรื่อง เครือสถาบัน ที่พงษ์พิสุทธิ์ ไปจัดระบบใหม่ จนกลายมาเป็นประเด็นให้ สมเกียรติมาแสดงอำนาจเหนือภาคีสถาบัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคิดไม่ชัด ถึง ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่าง เครือสถาบัน กับ สวรส. พูดง่ายๆ คือ แทนที่จะไปออกแบบ ให้เขามี autonomy กลับไปทำให้ อำนาจทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ ผอ. สวรส. เลยทำให้ มาก่อความเดือดร้อนให้กับ เครือสถาบันได้ขนาดนี้ ซึ่งแน่นอนว่า จะไปโทษ พงษ์พิสุทธิ์ คนเดียวก็ไม่ได้ เพราะดูเหมือน เครือสถาบันจำนวนหนึ่งก็อยากให้มันใกล้ชิดกันมากๆ จะได้สร้าง security ให้กับทีมงาน ว่าเป็น พนง. สวรส ผมเพิ่งพูดกับ ถาวร และพงษฺพิสุทธิ์ไปว่า ผมชอบออกลูก ไม่ชอบออกดอก การตั้งเครือสถาบันแบบที่เป็นอยู่ เป็นการออกดอก พอต้นตาย หรือแย่ก็แย่ไปด้วย แต่ถ้าออกลูก ลูกก็ไปเติบโต หากิน ได้เอง พ่อแม่ ที่ดีก็จะไม่ทอดทิ้ง แต่คอยดูแล  แต่ก็อย่างว่าครับ บรรดา เครือสถาบัน ก็กลายเป็นลูกที่ไม่ยอมโตไปเหมือนกัน ถ้าเกิดให้ไปเป็นลูก แทนที่จะให้มาเป็น ดอก

สมศักดิ์

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗  ปรับปรุง ๒๑ ม.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 05 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 08:02 น.
 

จะปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ให้สำเร็จได้อย่างไร โดย อ.วันชัย พรหมภา

พิมพ์ PDF

เนื่องด้วย บ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา ซึ่งมีความร่มเย็นเป็นสุขมานานเกือบ 800 ปี แต่บัดนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง นอกจากจะหาทางออกไม่ได้แล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ยังส่งผลให้เพื่อนกรรมกรทั้งหลาย และพี่น้องประชาชนอันเป็นที่รัก เกิดความสับสนในปัญหา 2 ประการ คือ
1. คู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ อำมาตย์ใช่หรือไม่
2. การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น เป็นทางออกของประเทศไทยใช่หรือไม่
ในสังคมทุนนิยม ไม่ว่าของประเทศใดๆ เมื่อจะหาคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้กับกลุ่มทุนหรือนายทุน กล่าวโดยเฉพาะเราก็จะเห็นชนกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจนคือ “กรรมกร” กรรมกร คือคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของทุนใน “สังคมทุนนิยม” ใครก็ตามที่ไปจับเอาชนกลุ่มอื่น มาเป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ของนายทุนเป็นผู้ไม่เข้าใจสังคมทุนนิยม

นายทุนกับกรรมกร หรือทุนกับแรงงาน เป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ในองค์เอกภาพของ “ ระบบทุนนิยม ” นายทุนกับกรรมกรแยกกันไม่ออก ถ้าไม่มีนายทุนก็จะไม่มีกรรมกร และถ้าไม่มีกรรมกรก็จะไม่มีนายทุน ในสังคมที่ไม่มีนายทุนคือ “ สังคมสังคมนิยม ” และในสังคมสังคมนิยมก็ไม่มีกรรมกร มีผู้เข้าใจผิดว่า ในสหรัฐอเมริกาและในสหภาพโซเวียตต่างก็มีกรรมกร ความจริงแล้วในสหรัฐมีกรรมกร ในสหภาพโซเวียตไม่มีกรรมกร เพราะในสหรัฐมีนายทุนจึงมีกรรมกร ในสหภาพโซเวียตไม่มีนายทุน จึงไม่มีกรรมกร ในสหรัฐอเมริกามีกรรมกร (LABOURER) ในสหภาพโซเวียตไม่มีกรรมกร มีแต่คนทำงาน ( WORKING PEOPLE) ในสังคมทุนนิยมมีนายทุนกับกรรมกร ในสังคมสังคมนิยม ไม่มีนายทุนและไม่มีกรรมกร มีแต่คนทำงาน

บ้านเราเป็นสังคมทุนนิยม จึงมีนายทุนและกรรมกร เป็นเอกภาพอันอย่างแยกกันไม่ออก แต่ก็ขัดแย้งกันและต่อสู้กัน นี่คือข้อเท็จจริงที่เหมือนกันกับในประเทศทุนนิยมอื่นๆ

ข้อเท็จจริงนี้สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ( INDUSTRIAL REVOLUTION ) ซึ่งเกิดขึ้นในอังกฤษก่อนในปลายศตวรรษที่ 18 แล้วขยายไปสู่ภาคพื้นยุโรป การปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเครื่องจักรจากพลังงานธรรมชาติ คือแรงลมและแรงน้ำ มาเป็นพลังงานประดิษฐ์คิดค้นคือไอน้ำ ทำให้การผลิตทุนนิยมเปลี่ยนแปลงจากโรงงานหัตถกรรมเล็กๆ มาเป็นโรงงานสมัยใหม่ขนาดใหญ่

หัตถกรรมที่ทำงานกระจัดกระจายอยู่ในโรงงานหัตถกรรมค่อยๆเข้ามารวมกันอยู่ในโรงงานที่ใหญ่ขึ้นทุกที เกิดการก่อตัวขึ้นของคนชนิดใหม่ คือ กรรมกรสมัยใหม่ คู่กับ คนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น คือ นายทุน ในขณะเดียวกันนายทุนก็เข้ากุมอำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตย แทนเจ้าศักดินาแห่งสมัยกลาง นั่นคือการสถาปนาขึ้นของ “ สังคมทุนนิยม ” ซึ่งค่อยๆขยายจากยุโรปมาสู่เอเชีย และทวีป อื่นรวมทั้งประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ ในสังคมทุนนิยมคู่ขัดแย้งของประชาชน คือ นายทุน ไม่ใช่ อำมาตย์

ประเทศทุนนิยมวิวัฒนาการจากด้อยพัฒนา ( UNDER DEVELOPED ) เป็นกำลังพัฒนา ( DEVELOPING ) และเป็นพัฒนา (DEVELOPED ) ในขณะที่ทุนนิยมยังอยู่ในภาวะด้อยพัฒนา การขูดรีดของนายทุนต่อกรรมกรเป็นไปอย่างหนักหน่วง นายทุนต้องการกำไรให้มากที่สุด กรรมกรต้องการมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างกรรมกรกับนายทุนในประเทศทุนนิยมต่างๆเรื่อยมา ยังผลให้ระบบทุนนิยมพัฒนาขึ้นโดยลำดับในทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นโดยลำดับ ในทางเศรษฐกิจผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติเป็นธรรมขึ้นเป็นลำดับ ในประเทศที่ทุนนิยมพัฒนาถึงระดับสูงทั้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ มีการประกันสังคมมากขึ้น เรียกกันว่าเป็นรัฐสวัสดิการ กรรมกรมีความพอใจในสิทธิเสรีภาพและมาตรฐานการครองชีพ การต่อสู้ระหว่างกรรมกรกับนายทุนจึงลดลง เช่นในประเทศต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย

ในประเทศทุนนิยมที่ยังอยู่ในภาวะด้อยพัฒนา กรรมกรถูกขูดรีดและถูกกดขี่อย่างหนัก รายได้แห่งชาติไปกองอยู่กับนายทุนฝ่ายเดียว กรรมกรมีรายได้ไม่พอกิน และถูกตัดเสรีภาพอย่างรุนแรง จึงมีการต่อสู้มากระหว่างกรรมกรกับนายทุน ทั้งการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการต่อสู้ทางการเมือง

ในประเทศไทยแม้ว่าจะย่างเข้าสู่ระบบทุนนิยมมานานแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังอยู่ในภาวะ ทุนนิยมด้อยพัฒนา และมีการรวมศูนย์ทุนในระดับสูง ทำให้เกิดการผูกขาดในระดับสูงทั้งในด้านเศรษฐกิจและทางการเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรทั่วไปจึงทุกข์ยากมาก ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมด้อยพัฒนาเพียงใด อย่างน้อยจะเห็นได้จากการเป็นทุนนิยมที่ปราศจากการประกันสังคมอย่างเพียงพอ ซึ่งนับว่าหาได้ยากในบรรดาประเทศทุนนิยมด้อยพัฒนาด้วยกัน ประเทศไทยจึงมีเงื่อนไขของการต่อสู้ระหว่างกรรมกรกับนายทุนมาก และการต่อสู้จะมีมากขึ้นเรื่อยไปตามอัตราเพิ่มขึ้นของทุนผูกขาด โดยอาศัยพรรคการเมืองของนายทุนเป็นเครื่องมือสำคัญ

ในสภาวการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงแต่กรรมกรเท่านั้นที่ถูกขูดรีดและกดขี่อย่างหนักจากนายทุนผูกขาด แต่ประชาชนทั่วไปก็ถูกขูดรีดและกดขี่อย่างหนักด้วย แม้แต่นายทุนเองเวลานี้ นายทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ถูกนายทุนผูกขาดขูดรีดจนจะอยู่ไม่ไหวไปตามๆกัน กล่าวได้ว่าในปัจจุบันไม่มีกลุ่มชนิดใดๆในประเทศไทยที่จะไม่ถูกขูดรีดอย่างหนัก จากนายทุนผูกขาดหรือนายทุนใหญ่

ฉะนั้น ในสถานการณ์ทุนนิยม ปัจจุบันของไทย เมื่อกล่าวโดยเฉพาะแล้ว คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ก็เช่นเดียวกับในประเทศทุนนิยมอื่นๆ คือ นายทุนกับกรรมกร แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไป คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ ก็คือนายทุนกับประชาชน

ฉะนั้น ถ้าจะจัดคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ในประเทศไทยปัจจุบันให้ถูกต้อง จะต้องถือเอาระหว่าง นายทุนกับกรรมกรโดยเฉพาะ และระหว่างนายทุนกับประชาชน โดยทั่วไป

ทหารส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับเดียวกับประชาชนทั่วไป เพราะเขาตกอยู่ในภาวะถูกขูดรีด จากนายทุนใหญ่หรือนายทุนผูกขาดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เรารู้อยู่แล้วว่าข้าราชการส่วนใหญ่ทุกประเภทมีความเดือดร้อนอย่างไร ทหารก็เป็นข้าราชการประเภทหนึ่ง เขาจึงตกอยู่ในความเดือดร้อนเช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น

แต่ถึงแม้ทหารจะถูกกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของนายทุน ทหารก็ไม่ใช่กรรมกร ทหารเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยทั่วไปของนายทุน ซึ่งไม่อาจจะเปลี่ยนฐานะเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุนแทนกรรมกรได้ กรรมกรย่อมเป็นคู่ขัดแย้งและต่อสู้ของนายทุนโดยเฉพาะเสมอไป เช่นเดียวกับชนประเภทอื่นที่ไม่ใช่กรรมกร เช่นชาวนา ปัญญาชน นายทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งถูกกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของนายทุนใหญ่หรือนายทุนผูกขาด เขามิใช่คู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุน กรรมกรเท่านั้นที่เป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุน เพราะนายทุนกับกรรมกรเป็นคู่กันที่แยกกันไม่ออกของการผลิตแบบทุนนิยม ถ้าแยกนายทุนกับกรรมกรออกจากกัน การผลิตแบบทุนนิยมก็มีไม่ได้และระบบทุนนิยมก็จะไม่มี

จึงเห็นได้ว่า การที่นักวิชาการไปจับเอาคนประเภทอื่นที่ไม่ใช่กรรมกร มาเป็นคู่ขัดแย้ง หรือคู่ต่อสู้กับนายทุน จึงผิดจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะไปจับเอาชาวนา จับเอาปัญญาชน จับเอาข้าราชการพลเรือน จับเอาตำรวจ จับเอาทหาร จับเอาคนจนประเภทใดประเภทหนึ่ง มาเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้กับนายทุนโดยเฉพาะ ล้วนแต่ผิดจากความเป็นจริงทั้งสิ้น คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุนคือกรรมกร คนประเภทอื่นเป็นเพียงผู้ร่วมกับกรรมกรในการขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุนเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในบรรดาประชาชนประเภทต่างๆ ที่ขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุนนั้น มีกรรมกรเป็นหลัก คนประเภทอื่นเป็นผู้สนับสนุนกรรมกรในการขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุน

เมื่อพูดถึงทหาร ถ้าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตามธรรมดาย่อมอยู่ข้างนายทุน นายทหารระดับล่างและพลทหาร ซึ่งมีความเป็นอยู่เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ย่อมอยู่ข้างกรรมกร แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะในยุคสมัยที่ประชาชนถูกกดขี่ขูดรีดได้รับความทุกข์ยากอย่างหนัก แม้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็อาจเห็นใจประชาชน และหันมาอยู่ข้างประชาชนได้ ในกรณีเช่นนี้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็อาจสนับสนุนประชาชนและกรรมกรในการต่อสู้กับนายทุน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ทหารเป็นหลักในการต่อสู้กับนายทุน ผู้เป็นหลักก็ยังคงเป็นกรรมกร

ในประเทศไทยที่แล้วมา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ส่วนมากอยู่ข้างนายทุน แต่ปัจจุบันมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เห็นใจประชาชนและกรรมกรมากขึ้น หันมาอยู่ข้างประชาชนต่อสู้กับนายทุน จนทำให้หลายคนจัดให้ทหารเป็นคู่ต่อสู้ของนายทุน ซึ่งความจริงแล้วกรรมกรยังคงเป็นคู่ต่อสู้ของนายทุนอยู่อย่างเดิม ทหารเหล่านั้นเป็นเพียงผู้สนับสนุนประชาชนและกรรมกร ในการต่อสู้กับนายทุนเท่านั้น

ในระยะแรกของการถือกำเนิดของกรรมกรสมัยใหม่ นายทุนยังมีความก้าวหน้า นายทุนจึงดำเนินการเพื่อระบอบประชาธิปไตย เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ ปี 1648 การปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกา ปี 1776 การปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศส ปี 1789 และการปฏิวัติประชาธิปไตยในภาคพื้นยุโรปในช่วงกลางศตวรรษ ที่ 19 ในช่วงที่นายทุนมีความก้าวหน้าและสนับสนุน ระบอบประชาธิปไตยนั้น กรรมกรทั้งๆที่ต่อสู้ กับนายทุนก็สนับสนุนนายทุนในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยด้วย

แต่ต่อมานายทุนเริ่มล้าหลังและขัดขวางระบอบประชาธิปไตย กรรมกรจึงเข้ารับภาระเป็นหลักในการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย การที่ระบอบประชาธิปไตยในยุโรปและอเมริกาสถาปนาขึ้นสำเร็จ ก็เพราะมีกรรมกรเป็นหลักในการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย เช่นขบวนการ ชาร์ติสต์ ( CHARTIST) ของอังกฤษใน ปี 1837 ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ ได้กำหนด “ กฎบัตรของประชาชน ” หรือ “ ญัตติ 6 ประการ ” ว่าด้วยการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย มีกรรมกรเข้าร่วมเป็นเรือนล้าน และหลังจากการต่อสู้อย่างดุเดือดเป็นเวลายาวนาน “ กฎบัตรของประชาชน ” ก็ได้รับการปฏิบัติ ทำให้อังกฤษเป็นประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน ในฝรั่งเศส การต่อสู้ของกรรมกรปารีสใน ปี 1848 และ 1871 ผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งได้รับผลสำเร็จ รวมความว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยในยุโรป ที่ได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสำเร็จดังที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนั้น เกิดจากการต่อสู้ของกรรมกร ถ้าไม่ได้อาศัยการต่อสู้ของกรรมกรแล้ว ระบอบประชาธิปไตยในยุโรปก็ไม่อาจสถาปนาขึ้นได้ เพราะนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของลัทธิประชาธิปไตยมาแต่เดิมนั้น กลายเป็นล้าหลังและต่อต้านประชาธิปไตยเสียแล้ว

ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ทีแรกนายทุนมีความก้าวหน้า จึงมีการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตย เมื่อ ร.ศ. 130 ซึ่งประกอบด้วยนายทหารหนุ่มเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็คือการเคลื่อนไหวที่เป็นผู้แทนของนายทุนในประเทศไทย เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และหลังจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ. 130 ล้มเหลวแล้ว 20 ปี ก็เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยทหารหนุ่มเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้แทนของนายทุนเช่นเดียวกับคณะ ร.ศ. 130 การปฏิวัติของคณะราษฎรสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่หลังจากนั้นไม่นานนายทุนและคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของเขา ก็เริ่มล้าหลังและขัดขวางระบอบประชาธิปไตย เหลือนายทุนที่ก้าวหน้าและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอยู่เพียงส่วนน้อย ไม่มีกำลังพอที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้ การปกครองของประเทศไทยภายหลัง 24 มิถุนายน เพียงเล็กน้อย จึงเป็นระบอบเผด็จการตลอดมา ในรูประบอบเผด็จการรัฐสภาบ้าง ระบอบเผด็จการรัฐประหารบ้าง ขณะนี้เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ( ระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ระบอบเผด็จการคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุน จะต้องไม่ปะปนระบอบประชาธิปไตย กับวิธีการประชาธิปไตยหรือวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ปะปนระบอบเผด็จการกับวิธีการเผด็จการหรือวิถีทางเผด็จการ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ ดังที่ปรากฏแก่นักวิชาการบ้านเราส่วนมาก)

เมื่อนายทุนเปลี่ยนจากก้าวหน้าเป็นล้าหลัง เปลี่ยนจากสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเป็นสนับสนุนระบอบเผด็จการ ทหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะระดับบน ก็สนับสนุนระบอบเผด็จการด้วย แต่ต้องเข้าใจว่า ผู้เป็นเจ้าของระบอบเผด็จการคือนายทุนไม่ใช่ทหาร ทหารเป็นผู้สนับสนุนหรือเครื่องมือในฐานะผู้ถืออาวุธของนายทุนเท่านั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ กรรมกรจึงเป็นความหวังอย่างเดียวของระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับในยุโรปซึ่งเมื่อนายทุนกลายเป็นล้าหลังแล้ว กรรมกรก็เป็นผู้ผลักดันระบอบประชาธิปไตยต่อไป เช่นขบวนการชาติสต์ของอังกฤษที่เกิดขึ้นใน ปี 1837 และได้ผลักดันระบอบประชาธิปไตยอังกฤษไปสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับกรรมกรฝรั่งเศสใน ปี 1871 เป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยฝรั่งเศสเป็นต้น แต่กรรมกรไทยตกเป็นเครื่องพ่วงของนายทุนมาเป็นเวลานาน เหตุสำคัญเนื่องมาจากความหลอกลวงของคณะราษฎร ที่เอารัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภามาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้สร้างความสับสนทางความคิดอย่างร้ายแรงแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่เฉพาะแต่กรรมกรเพิ่งจะมาเมื่อ พ.ศ. 2518 กรรมกรไทยจึงเริ่มแสดงบทบาท เป็นพลังการเมืองอิสระ ที่คว้าธงประชาธิปไตยจากนายทุนที่ยังก้าวหน้า วิ่งนำหน้าต่อไป กล่าวคือ ตั้งแต่กรรมกรเริ่มตื่นตัวทางการเมืองในแนวทางที่ถูกต้องมาระยะหนึ่ง เมื่อถึงวันที่ 26 กันยายน 2518 จึงได้มีการเปิดประชุมผู้แทนกรรมกรทั่วประเทศ ณ ลุมพินีสถาน อภิปรายปัญหาต่างๆในการแก้ปัญหาของชาติ และได้สรุปขึ้นเป็น “ แนวทางแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรไทย ” ประกอบด้วยปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน

ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ยังไม่ปรากฏนโยบายที่ถูกต้องและสมบูรณ์ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย “ แนวทางการแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรไทย ” ประกอบด้วยนโยบายที่ถูกต้องและสมบูรณ์ทุกปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมากรรมกรไทยก็ไม่เป็นแต่เพียง พลังการเมืองอิสระ เท่านั้น หากยังเป็นพลังผลักดันแถวหน้าสุดของ การปฏิวัติประชาธิปไตย ในประเทศไทย เช่นเดียวกับกรรมกรในยุโรป ในสมัยการปฏิวัติประชาธิปไตยอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นต้นอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงนี้คนทั่วไปยังมองไม่ใคร่เห็น เพราะถูกครอบงำด้วยอคติที่เห็นกรรมกรเป็นคนชั้นต่ำ โดยไม่เข้าใจว่า กรรมกรเป็นประชากรที่ก้าวหน้าที่สุด ในสังคมสมัยใหม่อย่างไร

นโยบายประชาธิปไตย ที่ถูกต้องและสมบูรณ์สำหรับประเทศไทย ซึ่งเสนอโดยกรรมกรไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 นี้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางและฝ่ายต่างๆ เริ่มรับเอาเป็นลำดับ โดยเฉพาะคือนายทุนที่ก้าวหน้าและทหารที่เห็นใจประชาชนและห่วงใยประเทศชาติ

จนถึง พ.ศ. 2523 จึงได้เกิดมีนโยบายของกองทัพขึ้นคือ “ นโยบาย 66/23 ” ซึ่งโดยสาระสำคัญก็ตรงกับ “แนวทางแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรไทย” นั่นเอง

กรรมกรมีนโยบายของตน และนโยบายของกองทัพซึ่งตรงกับนโยบายของกรรมกรนั้น เกิดขึ้นภายหลังนโยบายของกรรมกรถึง 6 ปี ฉะนั้น คนที่กล่าวว่า “ กรรมกรรับใช้ทหาร ” ถ้าไม่ใช่เป็นคนโง่ที่สุด ก็เป็นคนบิดเบือนอย่างเลวร้ายที่สุด

จากข้อเท็จจริงนี้จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันกรรมกรไทยไม่แต่เพียงแต่เป็นพลังการเมืองอิสระ โดยมีนโยบายของตนเองเท่านั้น หากยังเป็นพลังหลักที่จะนำการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่ความสำเร็จอีกด้วย

และจากข้อเท็จจริงนี้ลองเปรียบเทียบคน 3 ประเภทดู คือ นายทุน กรรมกร ( รวมประชาชน ) และทหาร

นายทุน เวลานี้ส่วนสำคัญนอกจากจะเป็นพลังการเมืองอิสระแล้ว ยังเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย 2 องค์กร คือสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับนายทุน อันเป็นหัวใจของระบอบเผด็จการ ผู้แทนของนายทุนคือพรรคการเมืองต่างๆ ที่กุมสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี แม้ว่าจะมีหลายพรรคหลายนโยบาย และมีพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน นโยบายพื้นฐานของพรรคเหล่านี้ก็ตรงกันทั้งสิ้น คือรักษาผลประโยชน์ของนายทุน ฉะนั้นถึงจะมีหลายพรรคก็เหมือนพรรคเดียว การแบ่งเป็นหลายพรรคและมีนโยบายปลีกย่อยแตกต่างกัน ก็เพราะนายทุนมีหลายพวกซึ่งมีผลประโยชน์รายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่ละพวกจึงต้องตั้งพรรคขึ้นเป็นผู้แทนชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน การต่อสู้ระหว่างพรรคต่างๆที่กุมองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยอยู่ ก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างนายทุนพวกต่างๆ กลุ่มต่างๆนั่นเอง นโยบายของพรรคการเมืองเหล่านั้นก็คือนโยบายของนายทุน ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วก็คือนโยบายกดขี่ขูดรีดประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ของนายทุนให้มากที่สุด

กรรมกร เวลานี้เป็นพลังการเมืองอิสระเช่นเดียวกับนายทุน แต่ไม่มีส่วนในการกุมองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทางคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร นอกจากทางวุฒิสภาเพียงเล็กน้อยในบางครั้ง โดยมีผู้แทนกรรมกรเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ไม่กี่คน เปรียบเทียบกันไม่ได้กับผู้แทนนายทุนในวุฒิสภา และเมื่อสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีผู้แทนกรรมกรอีกเลย กลายเป็นสภาผัวสภาเมียของนายทุนฝ่ายเดียว ผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง นโยบายของกรรมกรตรงข้ามกับนโยบายของนายทุน คือแนวทางแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรซึ่งกล่าวข้างต้นนั้น เป็นนโยบายรักษาผลประโยชน์ของกรรมกรและประชาชนทั่วไป ตลอดถึงประเทศชาติ จึงเป็นนโยบายประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าการบริหารประเทศได้เป็นไปตามนโยบายของกรรมกรแล้ว การสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็จะสำเร็จ

ทหาร ไม่สามารถเป็นพลังการเมืองอิสระ เพราะทหารไม่ใช่กลุ่มคนที่ประกอบการผลิตในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้ประกอบการผลิตทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติคือ นายทุนและกรรมกร นายทุนประกอบการผลิตในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมกรประกอบการผลิตในฐานะพลังผลิต ทหารไม่ได้เป็นทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิตและพลังผลิต จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการผลิตทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ชนกลุ่มใดก็ตามที่ไม่เป็นผู้ประกอบการผลิตในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ เช่นนักวิชาการ นักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น ย่อมไม่สามารถเป็นพลังการเมืองอิสระในสังคมทุนนิยม ทหารเป็นกลุ่มชนประเภทหนึ่ง กลุ่มชนที่ไม่เป็นพลังการเมืองอิสระนั้น ย่อมไม่มีนโยบายของตนเอง หากแต่ต้องรับนโยบายของพลังการเมืองอิสระฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะคือของนายทุนและกรรมกร กลุ่มอื่นๆ ถ้าไม่รับนโยบายของนายทุน ก็รับนโยบายของกรรมกร และนโยบายของกรรมกรนั้น นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ของกรรมกรเองแล้ว ยังรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติพร้อมกันไปด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า ในสภาพที่การรวมศูนย์ทุนขึ้นสู่ระดับสูง ทำให้การผูกขาดเป็นไปอย่างรุนแรง ประชาชนทั่วไปถูกกดขี่ทางการเมืองและถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจจากนายทุนหนักขึ้น ทหารมีความเห็นใจประชาชนและห่วงใยต่อประเทศชาติมากขึ้น และเริ่มจะเห็นถึงความหายนะของชาติบ้านเมือง จึงยิ่งรับเอานโยบายของกรรมกร ซึ่งเป็นเพียงนโยบายเดียวที่จะรักษา ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติได้ดังนี้ ทหารส่วนใหญ่กระทั่งถึงระดับสูง จึงเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ฝ่ายนายทุน มาเป็นอยู่ฝ่ายกรรมกรและประชาชน เปลี่ยนแปลงจากการสนับสนุนระบอบเผด็จการ มาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย กองทัพมีนโยบาย 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายประชาธิปไตย ที่โดยสาระสำคัญเป็นอย่างเดียวกับนโยบายกรรมกร

เมื่อนำเอาชน 3 กลุ่มมาเปรียบเทียบกันดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่านายทุนกับกรรมกรเท่านั้นเป็นพลังการเมืองอิสระ ซึ่งต่างฝ่ายมีนโยบายของตนเอง แต่เป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามกัน คือนโยบายของนายทุนรักษาผลประโยชน์ของนายทุนนโยบายของกรรมกรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศชาติ นโยบายของนายทุนจึงเป็นนโยบายเผด็จการ นโยบายของกรรมกรเป็นนโยบายประชาธิปไตย นายทุนกับกรรมกรจึงขัดแย้งกันและต่อสู้กันด้วยนโยบายเผด็จการกับนโยบายประชาธิปไตยดังนี้ กระบวนการทางการเมืองทั้งหมด จึงหมุนไปรอบๆแกนของความขัดแย้ง และการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับกรรมกรดังนี้

กลุ่มชนอื่นๆรวมทั้งทหาร เป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือผู้ร่วมมือ หรือผู้รับใช้ระหว่างนายทุนกับกรรมกรเท่านั้น นัยหนึ่ง ระหว่างนายทุนกับประชาชนเท่านั้น

ปัจจุบันทหารส่วนใหญ่กระทั่งถึงระดับสูงเห็นใจประชาชน และห่วงใยประเทศชาติมากขึ้นจึงหันมาอยู่ข้างประชาชน และไม่ยอมทำร้ายประชาชนในการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย จะมีก็แต่ทหารระดับสูงที่เป็นเครื่องมือของนายทุน

ในสมัยเมื่อทหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะทหารระดับสูง อยู่ข้างนายทุนนั้น นายทุนและผู้แทนของเขา เช่นพรรคการเมือง นักการเมือง และนักวิชาการ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในปัจจุบันเมื่อทหารหันมาอยู่ข้างประชาชนมากขึ้น

คัดลอกจากบทความของ อ.วันชัย พรหมภา ใน facebook https://www.facebook.com/RevolutionThailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 04 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 01:36 น.
 


หน้า 391 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8607524

facebook

Twitter


บทความเก่า