Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๗๐. เรียนรู้เรื่องจิตไร้สำนึก

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง Our Unconscious Mind ลงพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนมกราคม 2014    เขียนโดยศาสตราจารย์ John A. Bargh หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Automacity in Cognition, Motivation and Evaluation แห่งมหาวิทยาลัย เยล น่าสนใจมาก

อ่านแล้วผมสรุปว่า ชีวิตของคนเราควบคุมโดยจิตไร้สำนึก มากกว่าส่วนที่ควบคุมโดยจิตสำนึกหลายเท่า    เพราะจิตไร้สำนึกเป็นส่วนของชีวิตอัตโนมัติ ตัดสินใจเร็ว    หรือทำโดยไม่ต้องคิด   ซึ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอด สมัยมนุษย์อยู่ในป่าร่วมกับสิงสาราสัตว์และภยันตรายรอบด้าน

ส่วนจิตสำนึก ที่มากับความรอบคอบ คิดไตร่ตรอง คิดสร้างสรรค์ มาทีหลัง    แม้สมองส่วนนี้แหละที่ทำให้มนุษย์ กลายเป็นสัตว์ที่ครองโลก    แต่เราก็ใช้สมองส่วนนี้น้อยกว่าส่วนจิตไร้สำนึกอย่างมากมาย ในชีวิตประจำวัน

ฟรอยด์ บอกว่า จิตไร้สำนึกเป็นตัว id ความเห็นแก่ตัว หรือจิตฝ่ายต่ำ    ส่วนจิตสำนึกเป็น ego ต้องการสร้าง ความยอมรับจากผู้อื่น    เป็นจิตฝ่ายสูง    แต่ผลการวิจัยด้านจิตวิทยาสมัยใหม่บอกว่า จิตไร้สำนึกหรือพฤติกรรมอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตฝ่ายต่ำเสมอไป    คนเราสามารถฝึกฝนจิตใจตนเอง ของลูก ของคนใกล้ชิด หรือของศิษย์ ให้จิตไร้สำนึกเป็นจิตฝ่ายสูง ที่เห็นแก่ผู้อื่น    เป็นจิตที่เสียสละ ได้ กล่าวใหม่ด้วยคำไทยไม่สุภาพว่า ฝึกสันดานได้

แต่จะฝึกสันดานหรือจิตไร้สำนึก ต้องเข้าใจความลี้ลับ หรือพลังของจิตไร้สำนึก ที่เราไม่รู้สึกหรือไม่ตระหนัก    ว่ามันครอบงำความประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเราไม่รู้ตัว และคาดไม่ถึงว่าเราโดนสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมหลอกโดยเราไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เรื่องราวที่เล่าในบทความนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มนุษย์โดนจิตไร้สำนึกหลอกในชีวิตประจำวัน

เช่น เรื่อง พฤติรรมเลียนแบบ (chameleon effect),   เรื่องstereotype threat ที่คนเราตกอยู่ใต้ความครอบงำ ของความเชื่องมงาย เช่นเชื่อว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย คนดำด้อยกว่าคนขาว    เขาเล่าการทดลองทางจิตวิทยา ว่าเพียงแค่เตือนสตินักเรียนก่อนให้ทำข้อสอบ ว่านักเรียนเป็นคนดำนะ หรือเป็นผู้หญิงนะ    นักเรียนจะทำข้อสอบได้ด้อยลง กว่าไม่บอกอะไรเลย เป็นต้น

ผม AAR การอ่านบทความนี้ ลากเข้าสู่เรื่องการเรียนรู้ หรือการศึกษา    และมองว่า สุดยอดของการศึกษา คือการฝึกจิตไร้สำนึก หรือจิตอัตโนมัติ    ให้เป็นจิตใหญ่ จิตของโพธิสัตว์ หรือของพรหม    ไม่ใช่จิตที่แคบ หรือจิตเล็ก เอาแต่ผลประโยชน์ของตนเอง    ผมมีความเชื่อว่า นั่นคือส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดี

มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้หากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง    และหมั่นฝึกฝนเพียงพอ    นี่คือ จิตตปัญญาศึกษา    และคนที่กิเลสหนาอย่างผม ต้องหมั่นฝึกฝนเรื่อยไปไม่ย่อท้อ   แม้จะอายุมาก ก็ยังฝึกได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ธ.๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 มกราคม 2014 เวลา 07:49 น.
 

คำนิยม หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่

 

วิจารณ์ พานิช

................

 

 

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่เป็นหนังสือที่ “ครูเพื่อศิษย์” ทุกคนต้องอ่าน   เพราะท่านจะได้ความรู้และเทคนิคช่วยเหลือศิษย์ ให้เรียนง่ายและสนุกขึ้น    และที่สำคัญยิ่งคือ เรียนแล้วรู้จริง (เกิดความสันทัด - mastery)    และพัฒนาเป็นคนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้    ซึ่งจะมีส่วนสร้างอนาคตให้แก่ศิษย์อย่างประมาณค่ามิได้

เมื่อท่านอ่านหนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ เล่มนี้   ท่านจะเข้าใจปัญหาในการเรียนหลายอย่างของศิษย์ ที่ท่านกำลังเผชิญอยู่    และเข้าใจที่มาที่ไปของมัน    ปัญหาจะกลายเป็นความท้าทาย ความสนุกสนานในการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคนิคใหม่ ที่เรียนรู้จากหนังสือ    แล้วท่านจะพบว่า ท่านสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนอ่อน ให้กลายเป็นนักเรียนที่เรียนอย่างมีชีวิตชีวา    และในที่สุดประสบความสำเร็จในการเรียน

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ในภาคภาษาอังกฤษในลักษณะที่อ่านแล้ววางไม่ลง    และคิดว่าครู-อาจารย์ไทยควรรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ ที่สังเคราะห์มาจากผลการวิจัยด้านจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่    ตามที่นำเสนอในหนังสือ    จึงได้ตีความออกเผยแพร่ใน บล็อก Gotoknow    เป็นบันทึกรวม ๑๖ ตอน ซึ่งสามารถอ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=ambrose และต่อมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร ออกเผยแพร่   โดยที่สามารถ ดาวน์โหลด หนังสือเล่มนี้ได้ฟรีที่  http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=880

ในช่วงเวลาประมาณ ๑ ปี ที่ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ ผมได้นำสาระจากหนังสือไปพูดในที่ต่างๆ มากมาย    รวมทั้งได้ปรารภกับหลายท่านว่า อยากให้มีการแปลออกเผยแพร่ต่อสังคมไทย    ผมจึงยินดียิ่ง เมื่อทราบว่าสำนักพิมพ์ openworlds กำลังดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้    และได้ปวารณาตัวไว้ว่า ยินดีเขียนคำนิยมให้ หากต้องการ

หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ แปลจากต้นฉบับชื่อ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching    ที่ผู้เขียนสังเคราะห์มาจากผลงานวิจัยจำนวนนับพันชิ้น    สรุปเป็นหลักการ ๗ ข้อ สำหรับครู-อาจารย์ ใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ ให้ศิษย์เรียนได้ผลดี    ทำให้ครูจัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการ   ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้ได้อย่างมีขั้นตอน   เรียนแล้วรู้จริง (Mastery Learning)   และสามารถกำกับการเรียนรู้ ของตนเองได้ (Self-Directed Learner)    ซึ่งจะมีคุณูปการต่อการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner)

แต่ละบทของหนังสือ เริ่มด้วยฉากสถานการณ์ ๒ สถานการณ์    ที่สะท้อนปัญหาในการเรียนการสอน    ตามมาด้วยคำอธิบาย ที่อ้างอิงผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก    เพื่อบอกวิธีการจัดการเรียนรู้ของครูอาจารย์    ที่จะช่วยให้ศิษย์ไม่เกิดปัญหาอย่างในฉากสถานการณ์    และในตอนท้ายของแต่ละบท มีสรุปใจความสำคัญของบทนั้น    ช่วยให้ผู้อ่านติดตามสาระสำคัญได้ง่ายขึ้น    ถือได้ว่า เป็นวิธีเขียนหนังสือที่ทำเรื่องยาก ให้เข้าใจง่าย ได้เป็นอย่างดี

หลักการ ๗ ข้อ เพื่อการจัดการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด ได้แก่

๑ พึงเอาใจใส่ความรู้เดิม หรือพื้นความรู้ ของนักเรียน/นักศึกษา

๒. การจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้

๓. พึงเอาใจใส่แรงจูงใจต่อการเรียน   และรู้จักสร้างแรงจูงใจแฝงหรือแทรกอยู่ในกระบวนการสอน (แบบไม่สอน)

๔. การจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียน/นักศึกษา เรียนแบบรู้จริง (Mastery)   ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า การพัฒนาความสันทัด

๕. พึงเอาใจใส่การฝึกฝน (Practice) และการป้อนกลับ (Feedback)

๖. พึงเอาใจใส่พัฒนาการของนักศึกษา และบรรยากาศของการเรียนรู้

๗. การพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้เรียนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้

 

จากการนำเรื่องราวในหนังสือนี้ไปบรรยายให้ครู-อาจารย์ฟัง    ผมพบว่าเรื่องราวความรู้และวิธีการ ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องใหม่ สำหรับครู-อาจารย์ไทย    การตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ เล่มนี้จึงมีประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

ข้อความในหนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ มาจากการแปลจากภาคภาษาอังกฤษ    แตกต่างจากข้อความในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งผมตีความและเขียนขึ้นแบบสะท้อนความคิด (Reflection) จากการอ่านหนังสือ How Learning Works    ดังนั้นการอ่านหนังสือสองเล่มนี้จึงให้คุณค่าและสาระแตกต่างกัน   และไม่ทดแทนกัน

ผมขอขอบคุณคุณ วันวิสาข์ เคน ที่ได้ทุ่มเทอุตสาหะแปลหนังสือที่มีค่ายิ่งเล่มนี้    และขอบคุณ สำนักพิมพ์ openworlds และทุกฝ่ายที่ร่วมกันสนับสนุนการจัดพิมพ์ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย     รวมทั้งขอขอบคุณที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยม    ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าต่อสังคมไทยและขายดี เท่าเทียมกับหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ ที่เป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์นี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

........................

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 มกราคม 2014 เวลา 07:51 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๖๙. ชื่นใจในการทำหน้าที่ บอร์ด

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๑ และ ๒๒ พ.๕๖ผมได้เสพความชุ่มชื่นหัวใจ    จากการทำงานรับใช้สังคม ด้วยการเป็น บอร์ด ของหน่วยงานที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคม ๒ องค์กร

องค์กรแรกคือ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส ที่มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน   ดร. เสนาะ อูนากูล เป็นรองประธาน   และกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกหลายท่าน    มูลนิธินี้ทำงานมา ๓ ปี   มีการจัดองค์กร และทำงานอย่างมืออาชีพ บวกกับจิตกุศลหรืออาสาสมัคร   ทำงานเพื่อสังคม

ดร. เสนาะ ได้แนะนำให้ทีมจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย มาจัดระบบการบริหารงาน   ทำระเบียบข้อบังคับต่างๆ    และระบบตรวจสอบ   ทำให้งานเป็นระบบขึ้นมากอย่างน่าพอใจ   ขั้นตอนต่อไปคือการมีกลไกตรวจสอบ compliance   คือตรวจสอบว่า มีการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด

กิจกรรมที่ดำเนินการรวมแล้วเป็น วงเงินปีละเกือบ ๔๐ ล้านบาท    โดยที่รายรับกับรายจ่ายพอๆ กัน   แต่เมื่อคิดค่าเสื่อมราคาของอาคาร จะติดลบประมาณปีละ ๑๐ ล้าน   คณะกรรมการจึงมีมติให้ดำเนินการรับบริจาคให้ชัดเจนขึ้น   ซึ่งหมายความว่า ให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ศรัทธา และต้องการบริจาค   แต่ไม่มีการกระตุ้นหรือชักชวนให้บริจาค    และคณะกรรมการจัดหาทุนที่นำโดยคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ก็จะไปปรึกษาหารือหาวิธีเพิ่มกองทุนสนับสนุนการดำเนินการ

ที่จริง หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำงานเทียบมูลค่าแล้ว มากกว่า ๔๐ ล้านอย่างมากมาย   เพราะงานหลายส่วนดำเนินการโดยอาสาสมัคร   โดยอาศัยความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คือ นพ.​บัญชา พงษ์พานิช

ผมจึงมีความสุข ที่ได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการ ช่วยกันกำกับดูแลองค์กรสาธารณกุศลแห่งนี้

องค์กรที่สอง คือ สถาบันคลังสมองของชาติ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ความเข้มแข็งของสถาบันและระบบอุดมศึกษา    ในลักษณะทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเอง    โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินปีละ ๙ ล้านบาท    รวมวงเงินดำเนินการ รายรับรายจ่ายก็เท่าๆ กัน    และเกือบเท่ากับของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ    องค์กรนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีการพัฒนาและวิวัฒนาการในการทำงานดีขึ้นมากมายในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา ที่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง มาเป็นผู้อำนวยการ

ประธาน บอร์ด ของสถาบันคลังสมองฯ คือ ศ. ดร. พจน์ สะเพียรชัย   และมีกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเช่นเดียวกัน    และที่ซ้อนกับของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส คือคุณหญิงชฎา กับผม

ปีนี้มีการเสนอให้ปรับการบริหารงานภายใน เพื่อให้ประหยัด และการตอบแทนพนักงานเป็นไปตามผลประกอบการยิ่งขึ้น    โดยที่มีการวิเคราะห์กิจการเป็น ๓ ชั้น   ชี้ให้เห็นว่าชั้นกลางเป็นงานหลัก  ประกอบด้วย ๒ กลุ่มงาน  ที่เป็นงานหลักและทำงานเลี้ยงตัวเองได้    คืองานกลุ่ม ฝึกอบรมด้านธรรมาภิบาลอุดมศึกษา     กับงานกลุ่ม study visit และ workshop เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา

หน้าที่ของ บอร์ด คือ กำกับดูแลเชิงรุก ใน 3 mode ของการทำหน้าที่ธรรมาภิบาล    เพื่อให้องค์กรทำหน้าที่ยังประโยชน์แก่สังคมได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมาย   อย่างน่าเชื่อถือ   และอย่างต่อเนื่องยั่งยืน 3 mode คือ Fiduciary Mode, Strategic Mode,และ Generative Mode

ผมเคยเขียนเปรียบเทียบการกำกับดูแลองค์กร ๓ แบบ คือ อุดมศึกษา  มูลนิธิ  และธุรกิจ ไว้ ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓.๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 07 มกราคม 2014 เวลา 09:06 น.
 

คารวะครูคำนึง คงศรี ครูเพื่อศิษย์แห่งโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม สมุทรสาคร

พิมพ์ PDF

เป็นบุญของผม ที่วันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๖ ช่วงเช้า ผมตัดสินใจไปเยี่ยมชมโรงเรียนชั้นประถมตามที่ รศ. ดร. พิณทิพ รื่นวงษา แนะนำ

บันทึกนี้ ต้องอ่านต่อเนื่องจากบันทึกที่แล้ว เมื่อวันที่ ๓ ม.ค. ๕๗ นะครับ    คืออยู่ในกิจกรรมของการประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทาง โครงการ Teacher Coaching (TC)  ซึ่งประชุมกันที่จังหวัดสมุทรสาคร    และถือโอกาสไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนในโครงการ

จังหวัด  สมุทรสาคร อยู่ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ TC ของทีม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล    ช่วงเช้าวันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๖ มีการกำหนดให้แยกย้ายกันไปเยี่ยมชมโรงเรียน ๒ โรงเรียน    และ ดร. พิณทิพ หัวหน้าโครงการของ ม. มหิดล แนะนำให้ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม อำเภอกระทุ่มแบน   เพื่อชมกิจการของการเรียนการสอนชั้นประถม    แม้โรงเรียนนี้จะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม. ๖

ทำให้ผมมีบุญ ได้ชมวิธีการสอนภาษาไทย ของครูคำนึง คงศรี ชั้น ป. ๒/๒ ด้วยวิธี “สอนแบบไม่สอน”    หรือวิธีสอนแบบตั้งคำถาม    ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่อง สระ เ-ิอ อีกด้วย

มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือการสอนให้นักเรียนคิด    ไม่ใช่สอนให้ท่องจำ

เมื่อเดินผ่านห้องเรียนห้องอื่น ผมนึกในใจว่า เขาจัดแถวโต๊ะเรียนแบบ classroom ซึ่งไม่ตรงกับ 21st Century Learning    แต่เมื่อเข้าไปในห้อง ป. ๒/๒   สัมผัสแรกคือ “นี่คือห้องเรียนแบบ สตูดิโอ อย่างง่าย    ไม่ต้องลงทุนใหม่เลย”

เราไม่ได้รับคำอธิบายล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะมีการสาธิตวิธีจัดการเรียนรู้แบบครูตั้งคำถาม

เทวดาดลใจ ให้ผมไปยึดชัยภูมิที่เก้าอี้หลังห้อง    สังเกตการณ์พร้อมถ่ายรูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในห้องเรียน ป. ๒/๒   ในวิชาภาษาไทย สอนโดยครูสาวคนหนึ่ง ที่ผมทราบภายหลังว่า ชื่อครูคำนึง คงศรี ครูอัตราจ้างของ อบจ. สมุทรสงคราม (รร. บ้านปล่องเหลี่ยม ย้ายมาสังกัด อบจ. สมุทรสงคราม)

ครูคำนึง สอนโดยใช้กระดาษแผ่นภาพที่เตรียมมาอย่างดี เป็นอุปกรณ์การสอน หรือการเรียนรู้    โดยสอนเรื่อง สระ เ-ิอ

เริ่มจากให้นักเรียนดูแผ่นภาพหนูบนก้อนเนย    ถามนักเรียนว่าเห็นอะไรบ้าง บางคนว่าเห็นหนู    “เห็นอะไรอีก” เห็นเนย   “ใครเขียนคำว่าเนยได้บ้าง”  นักเรียนยกมือกันสลอนและตื่นเต้นเพราะอยากเป็นคนออกไปเขียนที่กระดานขาว    ครูคำนึงชี้และเอ่ยชื่อ ให้นักเรียนคนหนึ่งออกไปเขียน   เมื่อเขียนถูกก็ได้รับรางวัลเป็นท้อฟฟี่หนึ่งก้อน

ครูคำนึงยกป้ายรูปเด็กเดิน  รูปงานวันเกิด  รูปกะปิหรือเคย  รูปธนบัตรหรือเงิน  รูปใบเตยทั้งที่เป็นต้นไม้และที่เป็นดารา    แล้วให้นักเรียนเขียนคำว่า เดิน เกิด เคย เงิน เตย ลงบนกระดานขาวข้างรูปแต่ละรูป    เมื่อยกรูปออกไป เหลือแต่คำ เดิน เกิด เคย เงิน เตย   ครูคำนึงก็ตั้งคำถามให้นักเรียนเรียนรู้สระ เ-ิอ   ให้รู้ว่าสระเ-ิอ มีสระ - ิ อยู่ข้างบน   แต่มีข้อยกเว้น หากสระ เ-ิอ มีตัว ย สะกด จะมีการลดรูป สระ -ิ หายไป

เป็นบรรยากาศการเรียนที่นักเรียนสนุก ตื่นตาตื่นใจ   เห็นได้จากแววตาของนักเรียนในชั้น   เห็น student engagement ต่อกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน

ผมยิ่งตื่นตาตื่นใจ เมื่อครูคำนึงบอกให้นักเรียนแต่ละคนนึกคำที่มีสระ เ-ิอ ไว้    ใครนึกไม่ออกให้ปรึกษาเพื่อในกลุ่ม    แล้วแจกกระดาษแก่นักเรียน ให้เขียนคำที่มีสระ เ-ิอ ที่ตนนึกไว้   เอามาเขียนบอกเพื่อนในชั้น    ถึงตอนนี้เวลาล่วงเลยไปมาก เราโดนตามให้ไปขึ้นรถกลับเพื่อไปประชุมต่อ ที่โรงแรม เซ็นทรัล เพลส

ผม AAR กับตัวเอง   ว่าผมได้ไปพบ ครูเพื่อศิษย์ ที่มีวิธี “สอนแบบไม่สอน”    คือสอนแบบตั้งคำถาม ให้นักเรียนได้ฝึกการคิด อยู่ตลอดเวลา    ซึ่งตรงกับ 21st Century Learning

ก่อนออกจากห้อง ป. ๒/๒ ผมกระซิบถามครูคำนึง ว่าเอาวิธีสอนแบบนี้มาจากไหน   เธอบอกว่าคิดขึ้นเอง    สอนแบบนี้มา ๑๒ ปีแล้ว

ผมไปถาม ผอ. โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม   ผอ. อุเทน เมืองท่าไม้ ว่าครูคำนึงได้ค่าตอบแทนเท่าไร   ท่านบอกว่า เป็นครูอัตราจ้างของ อบจ. เงินเดือนคงที่ ๑๕,๐๐๐ บาท    ย้ายมาอยู่ที่นี่ ๔ ปี  โดยย้ายมาจากโรงเรียนเอกชน

ผมให้ความเห็นไปว่า ควรไปบอกทาง อบจ. สมุทรสงคราม ให้หาทางเพิ่มค่าตอบแทนแก่ครูคำนึง ให้เหมาะสมตามความสามารถ    มิฉนั้นจะโดนแย่งตัวไปเสีย    ท่าน ผอ. อุเทน บอกว่า ท่านก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ว่าจะเสียครูคำนึงไป เพราะค่าตอบแทนไม่ดึงดูดพอ

ผมจงใจนำเรื่องครูคำนึงมาเล่า    เพื่อจะบอกว่า ครูที่มีความสามารถขนาดนี้ ดีกว่าครู คศ. ๓ ที่ผลการประเมินนักเรียนตกเป็นส่วนใหญ่    ครูคำนึงจึงควรได้ค่าตอบแทนเท่ากับครู คศ. ๓   หากระบบค่าตอบแทนของ อบจ. สมุทรสาครไม่ล้าหลังติดกรอบราชการ

แต่ถ้า อบจ. สมุทรสาคร ไม่สนใจ   ผมก็ยุให้โรงเรียนเอกชนไปแย่งตัวครูคำนึง เพื่อเป็นการให้คุณค่าครูเพื่อศิษย์    ในขณะที่ระบบราชการแข็งตัวเกินไป

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๕๖

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 07 มกราคม 2014 เวลา 09:09 น.
 

ขอชื่นชมรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา

พิมพ์ PDF

เพิ่งชมรายการทีวีช่อง 3 ในรายการ "มุมมองการเมืองจากนักวิชาการจุฬา" เป็นการนำเสนอความคิดเรื่องการเมื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ของนักวิชาการ 2 ท่านจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยคุณ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ช่วงเวลา 17.30-17.50 น วันที่ 7 มกราคม 2557 ผมขอชื่นชมคุณสรยุทธ ที่จัดรายการโดยนำนักวิชาการสองท่านมาแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันในบางประเด็นและขัดแย้งโดยสิ้นเชิงในเรื่องของการปฎิบัติที่เกี่ยวข้องในการนำม็อบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งสองท่านแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและไม่มีอคิติหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขัดแย้งกันในปัจจุบัน คุณสรยุทธ์ดำเนินรายการโดยปล่อยให้นักวิชาการทั้งสองโต้เถียงกันอย่างเสรีและยุติธรรม คอยสรุปและตีความและให้นักวิชาการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการอีกท่าน สุดท้ายจบลงที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า คนที่มีมุมมองต่างกันเป็นพีน้องกัน ต่างกันที่ความคิดเห็น แต่ยอมรับฟังเหตุผลที่แตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้องได้โดยไม่มีการใช้กำลังหรือแบ่งแยก รายการนี้ทำให้ผู้รับฟังได้รับความรู้และความเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย อยากขอให้ผู้ดำเนินรายการท่านอื่นๆทำตามแบบอย่างของคุณสรยุทธ ผมเห็นช่อง 9 และช่อง 11 ทีดำเนินรายการติดตามการเมื่องในปัจจุบัน แต่เป็นการนำเสนอเพียงด้านเดียวเลือกวิทยากรมาแสดงความคิดเห็นที่ดูเหมือนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ให้โอกาสวิทยากรที่มีความคิดเห็นต่างอยู่ในเวทีเดียวกัน

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

7 มกราคม 2557

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 07 มกราคม 2014 เวลา 18:25 น.
 


หน้า 401 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5611
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8635990

facebook

Twitter


บทความเก่า