Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

อันตรายของประชาธิปไตยแนวระบอบทักษิณ

พิมพ์ PDF
ประชาธิปไตยที่เน้นชัยชนะในการเลือกตั้ง เข้าสู่เผด็จการรัฐสภา ที่ทำลายชาติย่อยยับ มีตัวอย่างมากมาย เช่นเยอรมันสมัยฮิตเล่อร์ ฟิลิปปินส์สมัยมาร์กอส อินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โ๖ อิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซน เป็นต้น

อันตรายของประชาธิปไตยแนวระบอบทักษิณ

ใน บันทึกนี้ ศ. ดร. เมธี เวชารัตนา ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่เน้นชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่ทำลายชาติย่อยยับ    มีตัวอย่างให้เห็นใกล้บ้านเราถึง ๒ ประเทศ    ทำลายชาติเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี คือฟิลิปปินส์ สมัย ปธน. มาร์กอส   และอินโดนีเซียสมัย ปธน. ซูฮาร์โต

ในตะวันออกกลาง ก็ที่อีรัก สมัย ปธน. ซัดดัม ฮุสเซน,   อียิปต์ สมัย ปธน. มูบารัก,   ซีเรีย ปธน. อัสซาด,   ลิเบีย ปธน. กัดดาฟี   ผู้นำที่ทำลายประเทศเหล่านี้ ได้ตำแหน่งโดยชนะการเลือกตั้งทั้งสิ้น     อาศัยการฉ้อฉลอย่างแยบยล   เข้าสู่อำนาจเด็ดขาด เป็นเผด็จการรัฐสภา    เผด็จการที่อ้างประชาธิปไตย   เมื่อมีอำนาจเด็ดขาด คอรัปชั่นร้ายแรงก็ตามมา    ผลคือประเทศชาติล่มจม    การกู้ชาติใช้เวลาหลายสิบปี   ที่ตะวันออกกลางยังอยู่ในสภาพวุ่นวายอยู่

ผมขอแถม ปธน. ฮิตเล่อร์ ของเยอรมัน ที่พาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง    ประเทศย่อยยับ ต้องถูกแบ่งแยกเป็นสองประเทศเป็นเวลานานกว่า ๔๐ ปี    ผมเข้าใจว่า ทักษิณตั้งขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา โดยเลียนแบบขบวนการเชิ้ร์ตดำ ของ ฮิตเล่อร์

ประชาชนไทยจึงต้องลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องชาติ   ไม่ให้ถูกทำลายโดยระบอบทักษิณ ที่อ้างประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง   เข้าสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ธ.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2013 เวลา 23:10 น.
 

สถาบันอุดมศึกษากับการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

พิมพ์ PDF

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรพันธมิตร ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๕  เรื่อง “ภาวะผู้นำ จิตวิญญาณ และการพัฒนามนุษย์”  ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ พ.ย. ๕๖   และเชิญผมไปแสดงปาฐกถาเกียรติยศ เรื่องสถาบันอุดมศึกษา กับบทบาทความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคม โดยขอให้เขียนบทความประกอบหนังสือของการประชุม    จึงนำบทความมา ลปรร. ดังต่อไปนี้

 

สถาบันอุดมศึกษากับการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

 

วิจารณ์ พานิช

…………..

 

การเป็นผู้นำในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามความเชื่อของผม หมายถึงการมีความมุ่งมั่นฝึกฝน ประพฤติปฏิบัติในเรื่องนั้น อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่องไม่ท้อถอย    แม้จะมีอุปสรรคหรือความยากลำบาก    รวมทั้งหมั่นศึกษาทำความเข้าใจ และหาวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ชัดเจนขึ้น    หรือให้ยากลำบากน้อยลง    หรือให้เกิดผลดีต่อสังคมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ จึงหมายถึงการมุ่งมั่นฝึกฝนกล่อมเกลาจิตใจให้เข้าสู่ความดีงาม ความมีคุณธรรมจริยธรรมเคารพผู้อื่นเอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจผู้อื่นลดละความเห็นแก่ตัว และกิเลสตัณหาทุกชนิด   โดยอาจใช้หลักของศาสนาพุทธ    หรืออาจใช้หลักการทางการศึกษา    คือหลักพัฒนาการด้านคุณธรรม ๖ ขั้นของ ลอว์เร้นศ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg’s Stages of Moral Development)    หรืออาจใช้หลักความต้องการ ของมนุษย์ ที่เสนอโดย มาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy  of Needs) ก็ได้   เพื่อบรรลุการเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง มีความสุข

ในความเข้าใจของผม การเป็นผู้นำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ใช่การบรรลุจุดใดจุดหนึ่ง หรือสภาพใด สภาพหนึ่งแล้วจบ    แต่เป็นการดำเนินชีวิต หรือดำเนินกิจกรรม เพื่อแสดงความมุ่งมั่น หรือคุณค่าในหลักการ ของเรื่องนั้น อย่างต่อเนื่อง    เอาชนะความยากลำบากหรืออุปสรรค ให้ปรากฏแก่ผู้คน อย่างต่อเนื่องกว้างขวาง

เรื่องจิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่แยกตัวโดดเดี่ยว    แต่จะต้องอยู่กับชีวิตผู้คน    อยู่กับการทำงาน การดำรงชีวิต การปฏิบัติหน้าที่    ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ    ความประพฤติปฏิบัติ ทางจิตวิญญาณ จึงต้องปรับตัว เพื่อยืนหยัดหลักการอุดมการณ์ ที่สูงส่งได้

การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย สามารถทำได้ผ่านหลายช่องทาง   ตามหน้าที่ของมหาวิทยาลัย    จะให้เป็นผลดีจริงๆ ต้องมีวิธีทำให้การดำเนินการผ่านหลายช่องทางนั้น เกิดผลเสริมกัน ที่เรียกว่ามี synergy

 

 

เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณผ่านการเรียนการสอน

สถาบันอุดมศึกษาเป็นสถาบันการเรียนรู้ชั้นสูง    และการเรียนรู้ตามความหมายที่เน้นกันเรื่อยมา (แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำ) ระบุว่า ต้องเป็นการเรียนรู้บูรณาการ    เป็นการเรียนรู้ของคนทั้งตัวทั่วพร้อม    ซึ่งอาจอธิบายว่า เป็นทั้งการเรียนรู้ภายนอก และการเรียนรู้ภายในตน

การเรียนรู้ภายในตน คือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในด้านอารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณ นั่นเอง

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้บูรณาการ ต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างน้อย ๕ ด้านไปพร้อมๆ กัน    ได้แก่ พัฒนาการด้านพุทธิปัญญา (intellectual development), พัฒนาการด้านอารมณ์(emotional development), พัฒนาการด้านสังคม (social development), พัฒนาการด้านกายภาพ (physical development), และพัฒนาการด้านจิตวิญญาณ (spiritual development)

มนุษย์เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต    ที่เป็นการเรียนรู้บูรณาการรอบด้าน    คือต้องเรียนพร้อมๆ กันทั้ง ๕ ด้าน ที่กล่าวในย่อหน้าที่แล้วในการทำงาน และการดำรงชีวิต

เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นสูง    ย่อมต้องเป็นผู้นำในการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณไปในตัว    เป็นการเรียนรู้ของนักศึกษา อาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย    ซึ่งตรงกันกับที่เสนอในหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดย ศาสตราจารย์ Parker J. Palmer และศาสตราจารย์ Arthur Zajonc    ที่ระบุว่าการเรียนรู้ต้องให้ครบองค์สาม คือ สมอง (head)  ใจ (heart)  และจิตวิญญาณ (spirit)

หนังสือเล่มดังกล่าว บอกรายละเอียดวิธีที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ ของนักศึกษา มากมาย    มีการนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จของวิธีการที่เป็นรูปธรรม ที่น่าสนใจมาก    และผมได้นำมาตีความลงบันทึกใน บล็อก Gotoknow.org รวมทั้งสิ้น ๒๐ ตอน    อ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=the%20heart%20of%20higher%20education

ผมจึงเชื่อว่า วิธีที่มหาวิทยาลัยจะทำตัวเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้แก่สังคม    ทำโดยมหาวิทยาลัย ยึดถือการทำหน้าที่จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ องค์สาม องค์ห้า หรือองค์จำนวนอื่น ที่มีการเรียนรู้ด้าน จิตวิญญาณ บูรณาการอยู่ด้วย

ย้ำว่า ต้องไม่แยกส่วนการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนพัฒนาการด้านจิตวิญญาณออกมาจากการเรียนรู้ในมิติอื่นๆ    ต้องเรียนแบบบูรณาการไปด้วยกัน   ตามแนวทางของหนังสือ The Heart of Higher Education    ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ 21st Century Learning (ดูหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑, หนังสือ วิถีการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ (๒๕๕๕),  ส่งความสุข สู่คุณภาพการศึกษา (๒๕๕๕))    เพื่อพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งโลกมีความซับซ้อนยุ่งเหยิง และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ย้ำว่าทักษะด้านจิตวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งน่าจะเป็นส่วนของ ทักษะชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตที่ดี    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่ามกลางโลกที่ยุ่งเหยิงซับซ้อน

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ ๒๑   การดำรงชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ จะว่ายากก็ยาก   จะว่าง่ายก็ง่าย    เพราะเป็นยุคที่โลกมีเครื่องอำนวย ความสะดวกในการดำรงชีวิตอย่างมากมาย ง่ายต่อการดำรงชีวิตที่ดี    แต่เครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านั้น มาพร้อมกับมายาคติ ความหลอกลวง หรือล่อหลอก ต่างๆ นานา    คนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง ก็จะตกเป็นเหยื่อ ได้โดยง่าย    การมีจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องการพัฒนาการทางจิตวิญญาณ คู่ไปกับพัฒนาการทางปัญญา และทักษะด้านอื่นๆ  แบบที่แยกกันไม่ออก

มหาวิทยาลัย จะไม่สามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง    หากมหาวิทยาลัยจัดการเรียนรู้เฉพาะทางด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาการเฉพาะด้านพุทธิปัญญา    หรือแม้มหาวิทยาลัยจะจัดการเรียนรู้ทั้งด้านพุทธิปัญญา และจิตตปัญญาควบคู่กัน    แต่จัดการเรียนรู้แบบแยกส่วน    มหาวิทยาลัยก็จะไม่อยู่ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคม

ขอเพิ่มเติมว่า มองจากมุมของการพัฒนาเยาวชน และประชากร ของชาติ    การเรียนรู้ฝึกฝนอย่างบูรณาการ ครบทั้งสามด้าน หรือห้าด้าน ที่กล่าวข้างต้น    ต้องดำเนินการ ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กเรื่อยมาในชั้นประถม มัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต    ทักษะในการฝึกฝนตนเอง หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ในมิติของจิตวิญญาณ จึงมีความสำคัญยิ่ง

 

เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณผ่านพฤติกรรมองค์กร

การเป็นผู้นำในด้านใดด้านหนึ่ง ผู้คนสัมผัสได้จากพฤติกรรม หรือการกระทำ    จึงมีคำถามว่า การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสถาบันอุดมศึกษา สัมผัสได้จากการกระทำแบบใด

ผมตีความว่า สัมผัสได้จากการกระทำที่สะท้อนความมีจิตใจสูง    ได้แก่ความซื่อสัตย์สุจริต  การเห็นแก่ส่วนรวม (เห็นแก่ตัวน้อย) มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม มากกว่าเอาประโยชน์ส่วนตน    มีความประพฤติที่อยู่ในศีลธรรมจริยธรรมอันดีงาม    รวมทั้งจริยธรรมวิชาการ    และจริยธรรม ในฐานะองค์กรหนึ่งในสังคม

การมีภาพลักษณ์ขององค์กรที่สะท้อนความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ดี    ได้มาจากการกระทำ ทั้งขององค์กร และจากการกระทำของสมาชิกขององค์กรเป็นรายคน    ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ จึงต้องคัดเลือกผู้ที่เชื่อได้ว่า มีระดับพัฒนาการ ทางจิตวิญญาณอยู่ในระดับดี (ไม่ใช่อยู่ในระดับที่มีปัญหา)    และสามารถพัฒนาจิตใจ ให้ขึ้นสู่ระดับสูงยิ่งขึ้น ได้    เข้ามาเป็นสมาชิกขององค์กร   และเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ ร่วมกับประชาคมของสถาบัน อุดมศึกษานั้น

นั่นหมายความว่า  ในกระบวนการทำงานร่วมกันของประชาคมสถาบันอุดมศึกษานั้น    มีกระบวนการยกระดับจิตวิญญาณของสมาชิกร่วมกัน    ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง    ที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สมาชิกของประชาคมมหาวิทยาลัย จึงต้องยึดถือแนวทางการเป็น “ผู้เรียนรู้”    เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง รอบด้าน  รวมทั้งด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ    คือทำตัวเป็น “แก้วพร่องน้ำ”    ไม่ใช่ทำตัวเป็นแก้วที่มีน้ำเต็ม

 

การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณผ่านการทำเพื่อสิ่งที่สูงส่ง

มิติของการยกระดับทางจิตวิญญาณตีความได้หลากหลายแบบ   แบบหนึ่งคือการลดตัวตน หันไปดำรงชีวิต หรือกระทำเพื่อสิ่งที่สูงส่งกว่าตน    หรือเพื่อเป้าหมายที่สูงส่งกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

การลดตัวตนเช่นนี้ มีผลให้จิตบริสุทธิ์ขึ้น    เป้าหมายของการดำเนินการต่างๆ บริสุทธิ์ขึ้น    ไม่เจือปนกิเลสตัณหาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือเจือปนน้อย    มนุษย์เรามี “สัมผัสที่หก” ที่สัมผัสความบริสุทธิ์เช่นนี้ได้    องค์กรหรือบุคคลที่มีคุณสมบัตินี้  จะได้รับการยอมรับนับถือ    หรือยอมรับภาวะผู้นำ ไปโดยปริยาย หรือโดยอัตโนมัติ

 

การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณผ่านความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังคม ชุมชน

ความท้าทายของอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ที่การทำงานใกล้ชิด เป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม    โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งของผู้มีความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้เชิงทฤษฎี   การได้ทำงานเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาจะมีผลดีหลายอย่าง    คือทำให้สมาชิกของสถาบันอุดมศึกษาเข้าสู่สภาพ “รู้จริง” มากขึ้น   ทำให้การทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสังคมและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม แนบแน่นและมีความสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อสถาบันอุดมศึกษาได้คลุกคลีใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่    และการ ทำมาหากินของผู้คนในสังคม    รวมทั้งการทำธุรกิจขององค์กรธุรกิจ    การบริการประชาชนของหน่วยราชการ    การพัฒนาชุมชน/สังคม ขององค์กรพัฒนาเอกชน  ฯลฯ     สถาบันอุดมศึกษาก็จะได้มีโอกาสใช้การคลุกคลีนั้น สร้างมาตรฐานความมีจิตใจสูงในภาคปฏิบัติให้แก่สังคม    เท่ากับได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผ่านการปฏิบัติ    ที่เป็นการปฏิบัติในสถานการณ์จริง    ดีกว่า มีพลังกว่า การทำหน้าที่ผู้นำทางจิตวิญญาณผ่าน ความรู้เชิงทฤษฎี อย่างมากมาย

และยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก ที่การคลุกคลีใกล้ชิดกับชีวิตจริงในหลากหลายบริบทนั้น    จะเป็นโอกาสให้ สถาบันอุดมศึกษา ได้ทำงานวิชาการ หรือการพัฒนาความรู้ ว่าด้วยพัฒนาการทางจิตวิญญาณ    ที่เป็นพัฒนาการอย่างเป็นพลวัต ตามปัจจัยต่างๆ ในสังคม    ก็จะยิ่งทำให้สถาบันอุดมศึกษาได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผ่านภารกิจสร้างสรรค์ทางวิชาการ อีกทางหนึ่ง

 

สรุป

ที่เสนอมาทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรใหม่เลย    หากมองว่า หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา คือการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนศิลปวิทยาการอย่างเป็นองค์รวม    บทบาทด้านจิตวิญญาณย่อมบูรณาการอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” อยู่แล้วในตัว    และหาก “การศึกษา” ดำเนินอย่างถูกต้อง    คือส่วนหนึ่งผ่านการคลุกคลีเชื่อมโยง (engagement) กับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม    สถาบันอุดมศึกษาย่อมมีโอกาสพัฒนาตนเองด้านจิตวิญญาณ ร่วมไปกับการทำ หน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ให้แก่สังคม

 

…………………………..

และนำ narrated ppt ของการบรรยาย มา ลปรร. ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2013 เวลา 22:47 น.
 

ข้อเสนอต่อประเทศไทย โดย บรรยง พงษ์พานิช

พิมพ์ PDF
ค่าแรงขั้นต่ำตลอด 14 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ในอัตราแท้จริง (ปรับเงินเฟ้อ) กลับติดลบถึง 1.4% ขณะที่ GDP แท้จริงโตถึง 73% และ GDP ต่อหัวเพิ่ม 53% แล้วความเติบโตกับความมั่งคั่งมันหายไปไหนหมดล่ะ “คนจนเมือง” ถึงไม่ได้เลย

ข้อเสนอต่อประเทศไทย โดย บรรยง พงษ์พานิช

อ่านได้ที่  น่าอ่านมาก   จะมีทั้งหมด ๗ ตอน

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2013 เวลา 23:06 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๖๔. เที่ยวเมืองมรดกโลก Olinda, บราซิล

พิมพ์ PDF

ช่วงเช้าวันที่ ๑๐ พ.ย. ๕๖ คณะ ๕ คน นำโดย ภิเศก - วิม เป็นหัวหน้าทัวร์  มีลูกทัวร์คือ ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์, รศ. นพ. สุวัฒน์ เบญจพรพิทักษ์, และ ผม   ไปเที่ยวเมืองโบราณมรดกโลกของ ยูเนสโก ชื่อ Olinda อยู่ทางเหนือของ Recife ที่เราไปพัก และประชุม 3rd Global Forum on Human Resources for Health ไปทางรถยนต์ประมาณครึ่งชั่วโมง

เมืองนี้อายุเกือบ ๕๐๐ ปี เริ่มเป็นอาณานิคมของคนปอร์ตุเกส - สเปน เพื่อปลูกอ้อย   เคยเปลี่ยนไปอยู่ใต้ดัทช์ช่วงเวลาสั้นๆ   เวลานี้มีชื่อเสียงเป็นเมืองท่องเที่ยว    ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต   และถือเป็นพื้นที่เริ่มต้นของวัฒนธรรมประเทศบราซิล สมัยคริสตศตวรรษที่ ๑๖   กิจกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดและทำเงินเข้าเมืองมากมายในปัจจุบัน คือเทศกาล คาร์นิวาล

ที่จริงตอนที่ อ. ภิเศก และ อ. วิมติดต่อโรงแรมขอให้หาไกด์และรถพาไป โอลินดา และพาชมเมือง เรซิเฟ   แต่ไกด์ไม่ว่าง ได้แต่รถ ที่คนขับอัธยาศัยดีมาก เสียแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้    ผมมาคิดภายหลังว่า หากได้ไกด์จะวิเศษมาก เราจะได้ฟังประวัติศาสตร์ของการที่คนขาวมายึดครองโลกใหม่   และเข่นฆ่าคนพื้นเมืองอย่างน่าอนาจ    ผมคิดว่าสมัยก่อนคนขาวมองคนผิวอื่นเหมือนไม่ใช่คน เช่นจับคนดำไปเป็นทาส   แต่นั่นเป็นอดีต

เมืองเก่าที่สร้างโดย ปอร์ตุเกส ย่อมมีโบสถ์คาทอลิคมาก   และมีถนนปูด้วยก้อนหิน แบบเมืองเก่าในยุโรป    เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเขา    ผมอ่านพบใน วิกิพีเดียว่า ที่ตั้งเมืองบนเขาเพื่อประโยชน์ในการกำจัดสิ่งปฏิกูล   และเพื่อการป้องกันเมืองจากข้าศึก

ที่แรกที่เขาพาเราไปชมคือโบสถ์เก่ามาก ชื่อ Seminario de Olinda   สร้าง ค.ศ. 1550   ลักษณะเหมือนโบสถ์ แต่คำว่าseminary แปลว่าโรงเรียนสอนศาสนา    เราไม่มีบัตรอนุญาตจึงเข้าไปชมข้างในไม่ได้ มาทราบภายหลัง นึกเสียดายที่ไม่ได้ชมข้างใน    อ่านพบภายหลังว่า นี่คือตัวอย่างอาคาร ที่สร้างในบราซิล ช่วงศตวรรษที่ 16   เคยโดนพวกดัทช์เผา    แล้วสร้างใหม่ใน ค.ศ. 1661 จากนั้นเราบอกให้โชเฟอร์พาไป Information Center    จึงได้แผนที่และคำแนะนำสถานที่ไปชม และร้านอาหารเที่ยง

ผมไปติดใจต้นหูกวางใหญ่สง่างาม ๒ ต้นที่หน้าอาคาร Information Center   ใบหูกวางของบราซิลงดงามกว่าของบ้านเรา    เขานิยมปลูกกันทั่วไป   และมีลักษณะแบบในรูป

สถานที่ที่สวยที่สุดเป็นจุดที่ ๒ คือ Sao Francisco Convent   มีกระเบื้องเคลือบประดับผนังอาคารเป็นเรื่องราวของพระเยซู สวยงามมาก    สร้าง ค.ศ. 1585   จุดที่ ๓ เดินไปจากจุดที่ ๒   คือโบสถ์ Se de Olinda (Alto da Se) เขาบอกว่า เป็นอาคารที่คนมาชมมากที่สุดใน โอลินดา      เมื่อเดินเข้าไปในโบสถ์ทะลุไปด้านในมีวิวอ่าวสวยมาก

แล้วเดินไปที่จุดที่ ๔ คือตลาดที่หน้าโบสถ์ Se   และเมื่อเดินไปอีกหน่อยก็เป็นตลาดของฝาก และเครื่องศิลปะบราซิล    ซึ่งผมดูไม่เป็น ได้แต่ถ่ายรูปเก็บไว้ดู    แถวนี้อาคารสวยงาม ถือเป็นย่านศิลปะสมัยใหม่    จากนั้นเดินไปจุดที่ ๕ คือพิพิธภัณฑ์ทางศาสนา ในโบสถ์ Sao Salvador do Mundo (1584) และหอชมวิว (Caixa d’Agua – 1934)   ตอนนั้นเวลาราวๆ ๑๑ น. แม่ชีกำลังสวด เราจึงเข้าไปชมไม่ได้

โชเฟอร์พาเราขึ้นรถ ผ่านย่าน คาร์นิวาล   ไปที่อาคารเก็บหัวโขนงาน คาร์นิวาล (จุดที่ ๖)    และไปที่จุดที่ ๗ คือ Monastery of Sao Bento ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก ทั้งตัวอาคารภายนอก   และภายใน

จุดสุดท้ายคือร้านอาหาร    ไปกินอาหารเที่ยง ชื่อร้าน Estrella do Mar อยู่ริมทะเล    เขาถามว่าจะนั่งข้างล่างหรือข้างบน อ. ภิเศกเลือกข้างบน    ทำให้เราได้นั่งรับลมเย็นสดชื่นมาก หลังจากเดินฝ่าแดดเปรี้ยงมา    เราสั่งอาหาร ๓ อย่าง คือ สลัด  ปลา  และเนื้อ   พบว่า เนื้ออร่อยที่สุด    อ. วิมสั่งน้ำส้มคั้น เขาเสิร์พมาเป็นเหยือก คั้นสดๆ    และไม่เติมน้ำตาล    เราเลี้ยงอาหารโชเฟอร์ด้วย โดยเขาสั่งมากินต่างหาก แต่นั่งโต๊ะเดียวกัน   เรานั่งกินเกือบจะอิ่ม คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กับเพื่อนฝรั่งมากินที่ร้านเดียวกัน    ว่าโชเฟอร์แท็กซี่พามา

อิ่มแล้ว โชเฟอร์พาไปชมเมืองเก่า ซึ่งเป็นย่าน downtown Recife    ดูได้นิดหน่อยเราบอกให้เขากลับโรงแรม เพราะเราต้องอาบน้ำแต่งตัว ขึ้นรถไปพิธีเปิดการประชุม

ข้อความชื่อสถานที่ในบันทึกนี้อาจคลาดเคลื่อน    เพราะผมเอาแผนที่ที่ได้จาก Information Center มาเทียบเคียงกับรูปที่ถ่ายมา    ไม่มีคนอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น   เพราะคนที่นี่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ในทุกที่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๖

by Plus-HD-1.5" style="color: #0022cc; text-decoration: underline !important; background-color: transparent !important; border: none !important; display: inline !important; float: none !important; height: auto !important; margin: 0px !important; min-height: 0px !important; min-width: 0px !important; padding: 0px !important; vertical-align: baseline !important; width: auto !important;">โรงแรม Golden Tulip, Recife, Brazil 

หมายเหตุ ผมไม่ได้คัดลอกรูปภาพที่อาจารย์วิจารณ์ นำมาเผยแพร่ เนื่องจากเคยคัดลอกมาลงแต่พอเปิดเข้าไปดูปรากฎว่าไม่มีรูปภาพใดติดเลย ดังนั้นถ้าท่านใดสนใจอยากจะชมภาพ โปรดติดตามไปดูใน link ที่ผมคัดลอกมาได้แก่ http://www.gotoknow.org/posts/557400

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2013 เวลา 13:41 น.
 

ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ

พิมพ์ PDF

ยาปฏิชีวนะ ซึ่งค้นคว้าขึ้นมาปกป้องชีวิตมนุษย์    กำลังจะกลายเป็นเพชรฆาตคร่าชีวิตมนุษย์    ดังระบุในบทบรรณาธิการของนิตยสาร Science  ฉบับวันที่ ๑๕ พ.ย. ๕๖  เรื่อง Time to deal with antibiotics เขียนโดย Donald Kennedy อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด และอดีตบรรณาธิการของวารสาร Science

ต้นเหตุเกิดจากการใช้ผิดประเภท และใช้อย่างพร่ำเพรื่อ สนองความโลภในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์    ใช้ยานี้ในสัตว์ปกติ เพื่อช่วยให้สัตว์โตเร็ว    ก่อให้เกิดแบคทีเรียต้านยาปฏิชีวนะแพร่หลายไปทั่ว

นี่คือตัวอย่างของประเด็นที่ความรู้ด้านการวิจัยมีชัด    แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจยังชักช้าอยู่เพราะมีกลุ่มผลประโยชน์    สิ่งที่ต้องทำเพื่อปกป้องมนุษยชาติคือกำหนดข้อบังคับ ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ยกเว้นสัตว์ป่วย

และในคนก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่ใช้ยานี้อย่างพร่ำเพรื่อ

ไม่ว่าอะไรก็ตาม ใช้อย่างพร่ำเพรื่อเป็นโทษทั้งสิ้น    รวมทั้งอำนาจด้วย    ดังจะเห็นต่อไปในกรณีการเมืองไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2013 เวลา 13:31 น.
 


หน้า 406 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8612000

facebook

Twitter


บทความเก่า