Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ตอนที่ ๒ ภัยแห่งจิตตนคร

พิมพ์ PDF

จิตตนครก็เช่นเดียวกับนครทั้งหลาย คือเป็นนครที่มีภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติแห่งจิตตนคร ก็คือภัยที่เกิดจากธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ไฟ และลม นี่แหละ ดูก็คล้ายๆกับภัยธรรมชาติของโลก เช่น บางคราวดินถล่ม บางคราวไฟไหม้ บางคราวลมพายุเกิดน้อยหรือมากเป็นคราวๆ ถ้าเป็นไปโดยปกติ ก็ไม่เป็นภัย ทั้งกลับเป็นเครื่องเกื้อกูลชีวิตของสัตว์โลกทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน

เพราะสัตว์โลกทั้งหมดก็ต้องอาศัยธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงร่างกายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน ต้องบริโภคอาหาร เช่น ข้าว น้ำ ต้องมีความอบอุ่น ต้องหายใจเอาอากาศเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอยู่ทุกขณะ ชีวิตที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็ต้องอาศัยธาตุทั้ง ๔ บำรุงเลี้ยงให้ดำรงอยู่ ภัยของจิตตนครก็เกิดจากธาตุทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จิตตนครมีถนน ๔ แพร่ง มีนครสามีคือเจ้าเมือง ที่สถิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ๔ แพร่ง ท่านผู้รู้ได้กล่าวบอกไว้ว่า ถนน ๔ แพร่งนั้น คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เจ้าเมืองคือจิต สถิตอยู่ตรงที่รวมของธาตุทั้ง ๔ นี้เอง

ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๔ ยังรวมกันอยู่เป็นปกติ ที่อยู่ของเจ้าเมืองก็เป็นปกติ ถ้าธาตุทั้ง ๔ เกิดผิดปกติ เช่น มีจำนวนลดน้อยลงไปกว่าอัตราที่ควรมี หรือธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยหรือมากเกินไป จิตตนครก็ระส่ำระสายไม่เป็นสุข ทั้งเจ้าเมืองและพลเมืองทั้งปวงก็อยู่ไม่เป็นสุข

แต่เหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ แห่งจิตตนครแปรปรวนนั้น บางทีก็เกิดจากเจ้าเมืองและพลเมืองทำขึ้นเอง เช่น พากันรื่นเริงสนุกสนานเกินไป ไม่คอยดูแลทำนุบำรุงทาง ๔ แพร่ง คือธาตุทั้ง ๔ ไว้ให้ดี ก็เหมือนอย่างถนนหนทางในบ้านเมืองเรานี้แหละ ถ้าไม่หมั่นทะนุบำรุงคือซ่อมแซมตบแต่งอยู่เสมอแล้ว ก็จะเสียหายไปโดยลำดับ

บางทีเกิดจากธรรมชาติ เช่น บางคราวลมกำเริบ ทำให้จิตตนครหวั่นไหว บางคราวไฟกำเริบ ทำให้ร้อนรุ่มคล้ายกับเกิดลมพายุ เกิดไฟไหม้ ในบ้านเมืองเรานี้แหละ เจ้าเมืองและพลเมืองทั้งปวงก็หมดผาสุก ภัยเช่นนี้ชาวจิตตนครเรียกกันว่า “ภัยพยาธิ”

อีกอย่างหนึ่งเรียกกันว่า “ภัยชรา” คือ ถนน ๔ แพร่งนั้นเก่าแก่ลงไปทุกวัน แสดงความชำรุดทรุดโทรมให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งเจ้าเมืองและพลเมืองต่างก็พากันแก้ไขซ่อมแปลงต่างๆอย่างสุดฝีมือ บางทีก็ใช้ตัดต่อตบแต่ง บางทีก็ใช้สีทาให้แดงบ้าง ให้ดำบ้าง ให้ขาวบ้าง เป็นต้น สุดแต่จะเห็นว่าควรตบแต่งอย่างไร ต่อสู้กับ “ภัยชรา” ที่มาเกิดขึ้นแก่จิตตนคร ก็พอแก้ไขปะทะปะทังไปได้

แต่ถนน ๔ แพร่งนี้ก็ทรุดชำรุดลงอยู่เรื่อยๆ เจ้าเมืองเองที่ดำรงชีวิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ก็เริ่มอ่อนเพลียเมื่อยล้า ไม่ว่องไวกระฉับกระเฉงเหมือนแต่ก่อน

ยังอีกภัยหนึ่งที่ชาวจิตตนครกลัวนักหนาก็คือ “ภัยมรณะ” ซึ่งจะทำลายถนน ๔ แพร่งของจิตตนคร เท่ากับเป็นการทำลายเมืองกันทั้งหมดทีเดียว และต่างก็รู้ว่าภัยนี้จะต้องมาถึงในวันหนึ่งข้างหน้า แต่ก็พากันนอนใจเหมือนอย่างไม่มีภัย

ผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้พยายามศึกษาปฏิบัติ ให้รู้จักวิธีจัดการกับภัยดังกล่าวแล้วทั้งหมด ให้ได้ดีที่สุดในยามเมื่อภัยดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นกับจิตตนครของตนๆ ผู้บริหารจิตคือผู้ศึกษาธรรม และธรรมนั้นท่านเปรียบเป็นร่มใหญ่ที่กันแดดกันฝนได้ หรือจะกล่าวอีกอย่าง ธรรมก็คือเครื่องป้องกันรักษาเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร ให้พ้นภัยทั้งหลายดังกล่าวแล้ว

แม้ภัยจะเกิดขึ้นหนักหรือเบาเพียงไร เจ้าเมืองที่มีธรรมเป็นเครื่องป้องกันรักษา ก็ย่อมไม่กระทบกระเทือนเพราะภัยนั้นหนักเกินไป ส่วนเจ้าเมืองที่ไม่มีธรรม จักต้องได้รับแรงกระทบกระเทือนเต็มที่เป็นธรรมดา ก็เหมือนคนไม่มีร่มใหญ่ เดินตากแดดตากฝนก็ย่อมร้อนย่อมเปียก ส่วนคนที่มีร่มใหญ่ แม้จะมีฝนตกแดดออกก็ย่อมพ้นจากความร้อนความเปียกได้โดยควร การมาบริหารจิตหรือการมาศึกษาธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งควรกระทำทั่วกัน แม้ปรารถนาความพ้นภัยทั้งปวง

• ผังเมืองแห่งจิตตนคร

จิตตนครมีถนนสายสำคัญ ๔ สายที่มาบรรจบกัน แต่มิใช่หมายความว่า ทั้งเมืองจะมีถนนอยู่เพียง ๔ สายเท่านั้น ยังมีถนนที่ตัดจากถนน ๔ สายนั้นออกไปในที่ต่างๆ อีกมายมายทั่วทั้งเมือง สำหรับเป็นทางคมนาคมของพลเมือง และสำหรับขนลำเลียงอาหาร ข้าว น้ำ สินค้าต่างๆ ไปเลี้ยงพลเมืองได้โดยสะดวกทั้งเมือง

มีไฟฟ้าและน้ำใช้สมบูรณ์ ระบบจ่ายกระแสไฟและจ่ายส่งน้ำก็เรียบร้อย เพราะมีสายไฟต่อทั่วไปทุกซอกเล็กตรอกน้อย เปิดสว่างอบอุ่นอยู่เสมอ มีคลองส่งน้ำ และมีท่อน้ำใหญ่เล็กทั่วไปเช่นเดียวกัน มีลมพัดผ่านได้ทั่วไปทั้งหมด ไม่อับลม แผ่นดินก็ชุ่มชื้น เหมาะเป็นที่เพาะปลูกพืชผลทั้งปวง

และเมืองนี้จัดระบบเรื่องปากท้องของพลเมืองทั้งหมดไว้ดีมาก น่าจะไม่มีเมืองไหนๆ ทำได้เหมือน คือตั้งโรงครัวใหญ่ไว้สำหรับเลี้ยงพลเมืองทั้งหมดไว้เพียงแห่งเดียว เรียกว่าเป็นท้องของเมือง และมีปากของเมืองเพียงปากเดียว สำหรับลำเลียงอาหารเข้าสู่ท้อง โดยวางท่อจากปากเมืองเข้าไปสู่ท้องของเมืองซึ่งเป็นโรงครัวใหญ่

ครั้นปรุงอาหารเสร็จแล้ว ก็ส่งอาหารไปเลี้ยงพลเมืองทั้งเมืองทางท่ออีกเหมือนกัน ไม่ต้องใช้รถหรือพาหนะอะไรบรรทุกทั้งนั้น ในคราวที่หาอาหารได้ไม่เพียงพอ ก็เฉลี่ยอาหารไปเลี้ยงกันทั่วทั้งเมืองเท่าๆกัน มีมากก็กินมาก มีน้อยก็กินน้อยเท่าๆกัน ไม่มีก็อดเหมือนกันทั้งเมือง พลเมืองทั้งหมดไม่มีใครกินน้อยหรือมากกว่ากัน ทั้งไม่มีใครกินดีหรือเลวต่างกัน ต่างกินเหมือนๆกันทั้งหมด นี้เป็นระบบการเลี้ยงพลเมืองของจิตตนคร

ระบบการถ่ายของเสียออกไป ก็จัดได้อย่างดีอีกเช่นเดียวกัน มีที่เก็บของเสีย มีที่เก็บน้ำทิ้ง และมีท่อระบายออกทั้งของเสียและน้ำทิ้ง และมีท่อระบายเล็กๆ อีกนับไม่ถ้วนทั่วทั้งเมือง น่าสังเกตว่า เมืองนี้ใช้ท่อเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเมืองมีท่อฝังอยู่ทั่วไปหมด ทั้งใหญ่และเล็ก ดูน่าพิศวงที่สามารถจัดระบบท่อได้ถึงเช่นนั้น

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานต่างๆอีกมากมาย เช่น โรงงานปัปผาสะ(ปอด) โรงงานหทยะ(หัวใจ) โรงงานวักกะ(ไต) โรงงานยกนะ(ตับ) โรงงานปิหกะ(ม้าม) เป็นต้น ซึ่งต่างก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่มีหยุด ด้วยเครื่องจักรพิเศษ เพื่อความดำรงอยู่แห่งจิตตนคร

น่าสังเกตว่า โรงงานเหล่านี้สามารถทำงานได้ทนทานที่สุด เพราะทำไม่มีเวลาหยุด ต่างจากโรงงานอื่นๆทั่วไป ซึ่งยังต้องมีเวลาหยุดพัก และว่าถึงขนาดของโรงงานในจิตตนครแต่ละโรงก็เล็ก แต่สามารถทำงานได้ผลดีมาก อย่างที่ใครๆที่ไปเห็นก็คิดไม่ถึงว่า ทำไมจึงทำงานได้ถึงเพียงนี้

รายละเอียดเกี่ยวกับจิตตนครยังมีอีก และจะได้นำมากล่าวถึงในรายการบริหารทางจิตครั้งต่อไป แต่ก่อนจะจบรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่วันนี้ ขอย้ำว่า ในบรรดาสิ่งประณีตพิสดารต่างๆแห่งจิตตนครนั้น นครสามีหรือเจ้าเมืองเป็นความสำคัญที่สุดไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่า

และเจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็คือจิตนี้เอง หรือใจนี้เอง ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ คือการกระทำใดๆก็ตาม คำพูดใดๆก็ตาม จะดีหรือจะชั่ว จะเป็นการส่งเสริมหรือเป็นการทำลายจิตตนคร ก็ย่อมเนื่องมาจากนครสามี หรือจิต หรือใจนั่นแหละเป็นสำคัญ

ถ้านครสามีดี คือถ้าใจดี การพูดการทำอันเกิดจากนครสามีหรือใจนั้นก็ย่อมดี ย่อมเป็นการส่งเสริมจิตตนคร ถ้านครสามีไม่ดี คือถ้าใจไม่ดี การพูดการทำอันเกิดจากนครสามีหรือใจนั้น ก็ย่อมไม่ดี ย่อมเป็นการทำลายจิตตนคร

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้มาพยายามทำเจ้าเมืองแห่งจิตตนครของตนๆให้ดี เพื่อให้เกิดผลสืบเนื่องไปถึงการพูดดีทำดีต่อไปด้วย จึงนับว่าเป็นผู้ไม่กำลังทำลายจิตตนครของตน แต่กำลังพยายามส่งเสริม ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ชอบ ที่จะนำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นในจิตตนครของตนสืบไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แพรภัทร

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:20 น.
 

ตอนที่ ๑ จิตตนคร นครหลวงของโลก

พิมพ์ PDF

จิตตนคร นครหลวงของโลก  จะว่าถึงจิตตนครตามพระพุทธภาษิตว่า “พึงกั้นจิตที่มีอุปมาด้วยนคร” จิตตนครเป็นนครที่แลไม่เห็นด้วยตา น่าจะคล้ายกับเมืองลับแล แต่ก็ไม่ถึงกับลี้ลับจนติดต่อไม่ได้เสียเลย จิตตนครมีทางติดต่อกับโลกแห่งวัตถุได้ ทั้งมีการติดต่อกันอยู่เสมอ น่าจะไม่ต่างกับเมืองไทยที่ติดต่อกับเมืองต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ จิตตนครเป็นเมืองที่ไม่สงบนัก ต้องทำสงครามอยู่เสมอ เพราะมีโจรผู้ร้ายข้าศึกศัตรูอันจำต้องป้องกันปราบปรามโดยไม่อาจประมาทได้ คล้ายกับเมืองทั่วๆไป

จิตตนครเป็นนครหลวงของโลก เป็นแหล่งเกิดแห่งสุข ทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม สมบัติ วิบัติแห่งโลกทั้งสิ้น จะกล่าวว่า จิตตนครเป็นแหล่งเกิดแห่งนรก สวรรค์ นิพพาน ทุกอย่างก็น่าจะไม่เกินไป แต่จิตตนครเป็นนครหลวงลับแล มองไม่เห็นด้วยตาอยู่นั่นเอง จะว่าตั้งอยู่ในแดนสวรรค์วิมานชั้นใดชั้นหนึ่งก็ไม่ใช่ เพราะตั้งอยู่ในเมืองมนุษย์นี้เอง แต่เป็นที่ซึ่งคนทั้งปวงไม่ค่อยจะสนใจไปเที่ยวดูชม ที่เรียกว่าไปทัศนาจร

คนทั้งปวงสนใจไปเที่ยวดูชมเมืองที่เห็นด้วยตาฟังได้ด้วยหูมากกว่า แม้จะไกลสักเท่าไรก็พยายามไป พยายามไปในโลกนี้รอบแล้ว ก็พยายามไปในโลกอื่น ดังที่พยายามไปดวงจันทร์กันมาแล้ว น่าจะพยายามไปดูจิตตนคร ซึ่งเป็นนครหลวงอันแท้จริงของโลก หรือของทุกๆคน

ถึงจะเป็นนครลับแล ไม่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ ก็อาจไปดูได้ด้วยตาใจ และจิตตนครนี้อยู่ไม่ไกล อยู่ใกล้ที่สุด เพราะตั้งอยู่ในจิตของทุกคนนี้แหละ เพียงทำความสงบจิตดูจิตของตน ก็จะเห็นจิตตนครรางๆ ซึ่งอาจยังไม่เห็นว่า จะเป็นนครที่น่าดูตรงไหน เพราะเมื่อดูก็จะพบแต่ความคิดที่ฟุ้งซ่านกับอารมณ์คือเรื่องต่างๆ จนไม่อยากจะดู สู้ดูโทรทัศน์หรือไปเที่ยวดูอะไรต่ออะไรไม่ได้ มานั่งดูจิตใจของตนเองไม่น่าจะสนุกที่ตรงไหน

เปรียบจิตตนครกับเมืองลับแลได้ก็เห็นจะตรงที่ว่ากันว่า เมืองลับแลนั้น คนที่เคยพลัดเข้าไปพบ ได้เห็นภูมิประเทศบ้านเรือนและผู้คนหญิงชายสวยงามน่าดูน่าชม กลับออกมาแล้วก็จำทางกลับไปอีกไม่ได้ แต่ก็ได้เที่ยวบอกเล่าใครๆ ถึงความสวยงามน่าดูน่าชมในเมืองลับแลนั้น และชี้บอกสถานที่ตั้งได้เพียงคร่าวๆ

บรรดาผู้ที่อยากเห็นเมืองลับแลก็พากันเดินทาง แต่ก็ไม่ได้พบเมืองที่ว่าสวยงามเหลือเกินนั้น พบแต่ทุ่งหญ้าป่าเขาที่ไม่น่าชมอย่างไร ซ้ำยังรุงรังตาเสียอีกด้วย นั่นก็เพราะบุคคลเหล่านั้น ยังไม่พบทางเดินเข้าสู่เมืองลับแลให้ถูกต้อง จึงยังไม่ได้ชมความงามวิจิตรของเมืองลับแล

การจะไปชมจิตตนครก็เช่นกัน ถ้ายังเดินทางไปไม่ถึงจิตตนคร ก็ย่อมจะยังไม่ได้ชมความงามอย่างวิจิตรพิสดารของจิตตนคร จะได้พบแต่ความวุ่นวายฟุ้งซ่านของอารมณ์ยุ่งๆทั้งหลาย ที่ไม่น่าดูไม่น่าชม แต่กลับน่าเบื่อหน่ายเสียด้วยซ้ำ แต่จิตตนครจริงๆ นั้นไม่เป็นเช่นนั้น

จิตตนครจริงๆ มีความพิสดารน่าดูน่าชม ท่านผู้เข้าถึงนครนั้นแล้วย่อมกล่าวเช่นนี้ ย่อมชักชวนแนะนำให้ใครๆทั้งหลายพยายามไปให้ถึงจิตตนคร โดยไปตามทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้บอกไว้แล้ว ด้วยวิธีที่ตรัสสอนไว้แล้วเช่นกัน

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายด้วยความตั้งใจจริง นับได้ว่าได้เริ่มก้าวเข้าสู่ทางที่จะนำไปถึงจิตตนครได้แล้ว แม้มีความตั้งใจจริงพยายามตลอดไป ก็ย่อมจะเดินไปได้ถึงจุดหมายปลายทางถึงจิตตนคร ได้เห็นความวิจิตรพิสดารของนครนั้นด้วยตนเอง

ลักษณะจิตตนคร

อันลักษณะแห่งจิตตนครนั้น ก็เช่นเดียวกับนครโบราณทั้งหลาย กล่าวคือ มีป้อมปราการ มีประตู ๖ ประตู มีถนน ๔ แพร่ง มีนครสามีคือเจ้าเมือง

เจ้าเมืองแห่งจิตตนครสถิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ๔ แพร่ง และมีนามว่า “วิญญาณ” หรือ “จิตต” มีประชาชนชาติต่างๆ ไปมาหาสู่เมืองนี้ก็มาก พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองนี้ก็มี มาพักอยู่ชั่วคราวก็มี มาเที่ยวทัศนาจรแล้วไปก็มี เพราะประตูเมืองทั้ง ๖ มักจะเปิดอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะปิดก็เมื่อเจ้าเมืองหลับ เมื่อเจ้าเมืองยังไม่หลับก็เปิดประตูรับอยู่เสมอ ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนเพียงไร ถึงจะค่ำมืดก็จุดไฟสว่างไสว ไม่ยอมแพ้ความมืด เหมือนอย่างกรุงเทพมหานครในยามราตรีนั่นเอง

จิตตนครจึงเป็นเมืองที่พร้อมพรั่งด้วยผู้คนและสิ่งต่างๆหลายหลากมากประการ เป็นต้นว่าพรั่งพร้อมไปด้วยรูปหลากหลาย อยากจะดูอะไรก็มักจะมีให้ดู พรั่งพร้อมไปด้วยเสียงหลากหลาย อยากจะฟังอะไรก็มักจะมีให้ฟัง พรั่งพร้อมไปด้วยกลิ่นหลากหลาย อยากจะดม จะลิ้ม หรือจะบริโภครสเช่นไร ถ้าร่างกายไม่เป็นอัมพาต เป็นร่างกายที่สมประกอบอยู่ ก็มักจะสมประสงค์

ทั้งพรั่งพร้อมไปด้วยเรื่องราวต่างๆ สำหรับบำรุงบำเรอใจหลากหลาย ไม่มีหมดสิ้น เมื่อเข้ามาถึงเมืองนี้ จะมีเรื่องเสนอสนองทางใจตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับไปใหม่ ไม่มีเวลาว่างเว้น ดูก็น่าจะเหน็ดเหนื่อย หรือจะกลุ้มใจตาย หรือจะกลุ้มเป็นบ้า เพราะต้องพบเรื่องต่างๆมากมาย ก็เหน็ดเหนื่อยกันจริงอยู่เหมือนกัน แต่เหนื่อยแล้วก็พักก็นอน ที่กลุ้มใจตายหรือที่กลุ้มเป็นบ้าไปก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะจิตตนครมีสิ่งต่างๆพรั่งพร้อม ประชาชนชาติต่างๆ จึงพากันมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก

และจิตตนครนี้แม้จะมีลักษณะเป็นอย่างเมืองโบราณ ก็หาเป็นเมืองโบราณหรือเป็นเมืองล้าสมัยไม่ แต่เป็นเมืองที่ทันสมัย มีไฟฟ้า มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีสิ่งต่างๆ เหมือนอย่างเมืองที่ทันสมัยทั้งหลาย รวมความว่า เมืองในปัจจุบันนี้มีอะไร จิตตนครก็มีสิ่งเหล่านั้นครบถ้วน และอันที่จริงจะมีมากกว่าเมืองอื่นๆ เสียอีก เพราะยังมีสิ่งวิเศษต่างๆ อยู่ในจิตตนครอีกมากที่คนทั่วไปยังไม่รู้ไม่เห็น เว้นไว้แต่พระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลาย

ตามที่พรรณนาถึงความพรั่งพร้อมต่างๆของจิตตนครนี้ น่าจะเห็นว่า จิตตนครเป็นนครที่น่าเป็นสุขสบาย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น คือเป็นสุขสนุกสบายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังเป็นเมืองที่มีทุกข์ร้อนภัยพิบัติอยู่มาก ทั้งโดยเปิดเผย ทั้งโดยซ่อนเร้น อันเกิดจากภัยธรรมชาติก็มี เกิดจากภัยพลเมืองของจิตตนครนั้นก่อขึ้นก็มี ทั้งเจ้าเมืองเองบางคราวก็มีความหลงเข้าใจผิด คบคนผิด ใช้คนผิด ก็ยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนระส่ำระสาย

และจะเป็นดังนี้จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาโปรด นั่นก็คือจนกว่าจะรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไประงับดับความวุ่นวายเดือดร้อนทั้งหลาย ที่ย่อมมีอยู่ประจำจิตตนครทุกแห่ง

อันพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องปราบ เครื่องขับไล่ เครื่องกำจัดบรรดาเหตุแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายของจิตตนครทั้งหลายได้ เราทุกคนเป็นเจ้าของจิตตนครด้วยกันทั้งนั้น เราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปปราบ ไปไล่ ไปกำจัดเหตุแห่งความเดือดร้อนไม่สงบสุขในนครของเรา

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้เป็นเจ้าของจิตตนคร ที่กำลังพยายามจะทำนครของตนให้เป็นนครแห่งความร่มเย็นเป็นสุข แม้ยังมีความเดือดร้อนวุ่นวายบ้าง ก็ไม่มากมายเท่านครของบรรดาผู้ยังไม่สนใจกับการบริหารจิตเสียเลย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แพรภัทร

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:22 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๙. ไปดูหนัง 4Get-Me-Not

พิมพ์ PDF

บ่ายวันอาทิตย์ที่ ๒๒ก.ย. ๕๖ สาวน้อยและผมไปดูหนัง เรื่อง 4Get-Me-Not ที่โรงหนัง SFW  Central World จัดโดยสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม   สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย   สนับสนุนโดยบริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด    นับเป็นการดูหนังโรงครั้งแรกในรอบ ๒๐ ปี ของสาวน้อยและผม

เป็นหนังที่ประกอบด้วยเรื่องย่อย ๔ เรื่อง    คือ (๑) ตลอดไป  กำกับโดยศิวโรจน์ คงสกุล   (๒) My Little Girl กำกับโดย โสภณ ศักดาพิสิษฐ์  (๓) ปู่ดำ (จำไม?)  กำกับโดยนนทรีย์ นิมิบุตร  และ (๔) ความทรงจำ ม้าหมุน ความรัก  กำกับโดย เสรีย์ หล้าชนบท

ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนเป็นอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม   แต่ละเรื่องสนุกไปคนละแบบ

การสร้างและฉายหนังในครั้งนี้ เพื่อสื่อสารต่อสังคมว่า    ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว    โอกาสที่จะเผชิญปัญหาแบบในหนังมีอยู่ทุกครอบครัว    ยิ่งเวลานี้เราอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว    การเผชิญปัญหาจะยิ่งลำบาก    หนังไม่ได้บอก และในที่ชุมนุมนี้ไม่มีการพูดกัน    แต่ผมขอเอ่ย ว่าเราจะต้องจัดระบบสังคม จัดระบบวิชาการ เพื่อช่วยหนุนครอบครัว และชุมชน ให้เผชิญสภาพที่มีผู้สุงอายุ ป้ำๆ เป๋อๆ เพราะสมองเสื่อม อยู่ในบ้าน และในชุมชน

เราไปดูหนังเรื่องนี้ในฐานะตัวแสดงจริงในอนาคต    หากเรามีอายุยืนถึงขนาด    เป็นการไปดูเพื่อเตือนสติตนเอง ให้ไม่ประมาท

รศ. พญ. สิรินทร ฉันสิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม บอกว่า จะหาทางเผยแพร่หนังชุดนี้ในวงกว้าง

นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เซียนดูหนัง บอกว่าหนังดีขนาดนี้ นำออกฉายตามโรงได้สบาย    ผมถามว่าต้องปรับให้เป็นเรื่องเดียวไหม   หมอสมศักดิ์บอกว่ามีหนังโรงเยอะแยะที่เป็นหนังสั้นหลายเรื่อง    บางกรณีมีมากกว่า ๔ เรื่องด้วยซ้ำไป

ผมไม่คุ้นกับการมหรสพ    ไปดูหนังครั้งนี้จึงเป็นการเปิดหูเปิดตา    ได้รู้จักโรงหนังสมัยใหม่   ไปสัมผัสวิธีจัดการแสดงให้ความบันเทิง สร้างความคึกคักและครึกครื้น    เขาเชิญผู้สนับสนุน ผู้กำกับฯ และตัวแสดงเอกในแต่ละเรื่องมาปรากฎตัว และกล่าวสั้นๆ ต่อผู้ชม    และก่อนฉายหนัง มีนักร้องเสียงดีมาก มาร้องเพลงในหนังถึง ๔ เพลง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ย. ๕๖

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:48 น.
 

สภามหาวิทยาลัยกับการกำกับคุณภาพการศึกษา

พิมพ์ PDF

ในการอบรมหลักสูตร ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา รุ่นที่ ๑๗   หัวข้อ บทบาทสภามหาวิทยาลัยในการกำกับคุณภาพวิชาการ :  การอนุมัติการเปิดสอนหลักสูตร  โดยมี ศ. กิตติคุณ ปทีป เมธาคุณวุฒิ เป็นวิทยากร    เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย. ๕๖  ในตอนท้าย ท่านนำเรื่องการเปิดหลักสูตรแปลกใหม่ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเฉพาะทาง มาให้ดู

 

ได้แก่  วิทยาลัยดุสิตธานี,    มหาวิทยาลัยเนชั่น,    สถาบันกันตนา,    สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์,    สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น,   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ปตท. ระยอง,   สถาบันอาศรมศิลป์

 

แล้วขอให้ผู้เข้าหลักสูตรอภิปรายกันว่า มหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว จะปรับตัวอย่างไร   เกิดการอภิปรายที่สนุกสนานมาก   ในที่สุดก็เกิดการตื่นตัวขึ้นว่า    หากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วยังเปิดหลักสูตร จัดการเรียนการสอนอย่างในปัจจุบัน    ในไม่ช้าบัณฑิตของตนจะตกงาน   มีผลให้คนไม่มาเข้าเรียน

 

ก่อนจบการเรียนในช่วงนี้ ผมยกมือขอทำ reflection ส่วนตัว    ว่าในโอกาสที่ผมได้เข้าเป็นลูกศิษย์ท่าน เป็นเวลาสองชั่วโมงเศษ ผมได้เรียนรู้อะไร

 

ผมเรียนรู้ว่า สภามหาวิทยาลัยต้องกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา     โดยจัดให้มีระบบกำกับคุณภาพ หลักสูตร ที่ไม่ใช่แค่อนุมัติหลักสูตรในกระดาษ    ต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพของการเรียนการสอน และคุณภาพของบัณฑิต ตลอดเส้นทาง

 

ที่จริงท่าน ศ. ดร. ปทีป ได้แนะนำที่ประชุมว่า วิธีการจัดการคุณภาพการศึกษาด้วย Academic Board ของ University of Sydney เป็นระบบที่น่าสนใจมาก   และมีนักศึกษาร่วมเป็นกรรมการด้วย    จึงนำมาบันทึกไว้    ท่านที่สนใจเข้าไปดูได้ที่ เว็บไซต์ ของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้โอกาสวงการวิชาการ วงการวิจัย ทำงานวิชาการเพื่อสังคม

พิมพ์ PDF

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้โอกาสวงการวิชาการ วงการวิจัย ทำงานวิชาการเพื่อสังคม

เป็นโอกาสที่วงการวิจัย จะทำงานใหญ่ให้แก่สังคม

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้โอกาสวงการวิชาการ วงการวิจัย ทำงานวิชาการเพื่อสังคม

เช้าวันที่ ๖ พ.ย. ๕๖ ผมฟังข่าววิทยุ ทราบว่าทางจุฬาฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เพื่อบอกแก่สังคม   ทำให้นึกขึ้นได้ว่า วิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้เป็นโอกาสใหญ่ไปด้วยในตัว   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ประชาชนไทยจะได้เรียนรู้ความซับซ้อนของการเมือง   ที่มีทั้งมิติสร้างสรรค์ และมิติทำลายสังคมในระยะยาว

เวลานี้ การเมืองไทย กำลังอยู่ในมิติทำลายความเข้มแข็งของสังคมไทย   โดยคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว   ทำลายในคราบหรือข้ออ้างประชาธิปไตย

ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเช่นนี้แหละคือโอกาสที่วงการวิชาการ วงการวิจัย จะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง

ผมจึงชื่นชม และภูมิใจ อย่างยิ่ง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ผมเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่ง) จัดระบบการทำงานวิชาการในเรื่องนี้ เพื่อบอกแก่สังคมไทย   บอกอย่างเป็นวิชาการ มีข้อมูลหลักฐาน   ไม่ใช่บอกด้วยอารมณ์ หรือความต้องการเอาชนะ

โจทย์ที่สำคัญคือ ข้อความตามร่าง พรบ. ที่ผ่านวาระ ๓ ของสภาผู้แทนฯ จะมีผลต่อเนื่องอย่างไรบ้าง   ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ   และได้รับในทางใด    ใครบ้างที่จะไม่ได้รับผลกระทบ   และในภาพรวม กฎหมายนี้จะก่อผลอย่างไรบ้าง ต่อสังคมไทย

คำตอบต้องมาจากการวิจัย   ไม่ใช่แค่ความเห็น   และต้องเป็นผลการวิจัยที่ผ่านการตรวจสอบของเพื่อนนักวิชาการ ที่เรียกว่า peer review คือเวลานี้ สังคมไทยต้องการความรู้ที่ไม่เจือปนอารมณ์   หรือที่เป็นกลาง หรือแม่นยำ    เกี่ยวกับผลกระทบที่แท้จริงของร่างกฎหมายนี้

ผมจึงเสนอความเห็นมายังมหาวิทยาลัยทั้งหลาย และต่อ สกว.   ว่าเป็นโอกาสที่วงการวิจัย จะทำงานใหญ่ให้แก่สังคม

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:40 น.
 


หน้า 425 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8624840

facebook

Twitter


บทความเก่า