Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บทเรียนการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย (อายุ (๖๓ ย่าง ๖๔ ปี) ๒ :ช่วงเด็ก

พิมพ์ PDF

คุณแม่เล่าให้ฟังว่าผู้เขียนเกิดในวันตรุษจีน เป็นวันที่เขาจุดประทัดดังสนั่นกันไปทั่วพระนคร คุณแม่ไม่สามารถคลอดผู้เขียนได้ตามปกติ หมอต้องผ่าท้องคุณแม่เพื่อนำผู้เขียนออกมา หลังจากออกจากโรงพยาบาลก็มาพักอาศัยที่บ้านคุณตา (โรงแรมเวียงใต้ ในปัจจุบัน) ไม่ทราบว่าอยู่ที่นี่นานเท่าใด หลังจากนั้นคุณพ่อย้ายไปประจำที่จังหวัดน่าน เป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเพิ่งเลิกสงครามใหม่ๆไม่แน่ใจ ผู้เขียนไม่ยอมดื่มนมจากคุณแม่ และนมกระป๋องราคาแพงแถมหาซื้อไม่ได้ ผู้เขียนจึงต้องดื่มน้ำข้าวแทนนม

เริ่มจำความได้เมื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลปริญญาทิพย์ โรงเรียนใกล้บ้าน ในซอยรางน้ำ อยู่ได้ปีเดียวก็ย้ายไปอยู่อนุบาลละอออุทิศ หลังจบอนุบาลสอง จะขึ้นชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนโยนออฟอาร์ต (โรงเรียนคริสอยู่ติดกับโรงเรียนเซ็นต์ฟรัง) แต่โรงเรียนอ้างว่าผู้เขียนมีฐานความรู้อ่อนมากเนื่องจากที่อนุบาลละอออุทิศไม่ได้เน้นเรื่องการให้ความรู้  จึงให้ผู้เขียนไปเรียนอนุบาลอีกปีที่โรงเรียนพันธศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือเดียวกับโยนออฟอาร์ต์ ผู้เขียนและน้องอีก ๓ คนเรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนโยนออฟอาร์ต ชั้นสูงสุดสำหรับผู้ชายคือ ป.๗ ส่วนผู้หญิงต่อได้ถึงชั้น ม.ศ.๓ ผู้เขียนและน้องชายเรียนต่อ ม.ศ.๑ ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ส่วนน้องสาว ๒ คนเรียนที่โยนออฟอาร์ต์จนถึง ม.ศ.๓ หลังจากนั้นก็ออกไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง

ที่โรงเรียนโยนออฟอาร์ต แต่ละชั้นแบ่งออกเป็น ๔ ห้องเรียน ห้อง ก. และห้อง ง. เป็นห้องเรียนของนักเรียนหญิงล้วน ห้อง ข.เป็นห้องเรียนของนักเรียนชายล้วน ห้อง ค.เป็นห้องเรียนปนระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ผู้เขียนอยู่ห้อง ข.ตั้งแต่ชั้น ป.๑ ถึง ป.๗ ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มของนักเรียนเรียบร้อยตั้งใจเรียน เพื่อนๆส่วนมากจะเรียนเก่งได้คะแนนดี ส่วนผู้เขียนเองเรียนอยู่ในระดับกลาง พวกเรียนเก่งเรียนพิเศษกับคุณครูหลังเลิกเรียนทุกวัน ส่วนผู้เขียนไม่ได้เรียนพิเศษ  จบชั้นประถม ๗ เพื่อนๆทุกคนรวมทั้งผู้เขียนไปสอบเข้าโรงเรียนเซ็นต์คาเบียล เพื่อนๆในกลุ่มเรียนเก่งสอบเข้าได้ทั้งหมด ผู้เขียนสอบไม่ติด แต่เนื่องจากคุณป้าเป็นแม่ชีคริสระดับสูงของประเทศไทยสามารถฝากให้ได้แต่ผู้เขียนจะต้องหันไปนับถือศาสนาคริส และคุณพ่อต้องบริจาคเงินจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนตัดสินใจเลือกเรียนต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ซึ่งคุณพ่อเป็นกรรมการศิษย์เก่า และเป็นเพื่อนสนิทกับอาจารย์ใหญ่  ไปสอบคัดเลือกตามปกติปรากฎว่าไม่ติด จึงต้องอาศัยโค้วต้าของอาจารย์ใหญ่จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โดยได้อยู่ห้องท้ายสุด ซึ่งเป็นห้องเด็กฝากทั้งหมด

เรียนชั้น ม.ศ.๑/๗ คุณครูประจำชั้น ชื่อคุณครูสมพล และคุณครูฝึกสอนซึ่งเป็นผู้หญิงแต่ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้ ทั้งสองท่านสอนเก่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนตั้งใจเรียน สอบได้ที่ ๒ คะแนน ๘๗% ทำให้ได้เลื่อนชั้นไปเรียน ม.ศ.๒/๒ ทั้งๆที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลล์ และนักวิ่งของโรงเรียน การเรียนในชั้น ม.ศ.๒ และ ม.ศ.๓ อยุ่ในขั้นแค่สอบผ่าน ครูที่สอนไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจเหมือนคุณครูในชั้น ม.ศ.๑ คะแนนสอบอยู่ประมาณ ๖๐% อย่างไรก็ตามเมื่อขึ้น ม.ศ.๔ ผู้เขียนเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ปีนี้ได้เป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลล์ และเริ่มจีบผู้หญิง ไม่พอใจครูหลายคนทำให้ไม่เข้าเรียนหลายวิชา ในที่สุดทำให้สอบตก ต้องซ้ำชั้น ม.ศ.๔ เพื่อนๆพากันไปเรียนชั้น ม.ศ.๕ ส่วนผู้เขียนต้องเรียนร่วมกับนักเรียนใหม่ที่มาจากโรงเรียนอื่น และเพื่อนรุ่นน้อง อย่างไรก็ตามปีที่สองนี้ผู้เขียนมีความมั่นใจว่าสอบผ่าน คุณพ่อเป็นห่วงสอบถามว่าแน่ใจแค่ไหน ถ้าไม่แน่ใจจะได้ไปฝากอาจารย์ใหญ่ให้ช่วยเพราะถ้าปีนี้สอบตกอีกจะต้องออกจากโรงเรียน หมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนตอบคุณพ่ออย่างแน่ใจหลังการสอบ คาดว่าจะได้คะแนนมากกว่า ๖๐ % แต่เมื่อผลสอบออกมาปรากฎว่าผู้เขียนสอบตก ได้คะแนน ๔๙.๕๕ % ผู้เขียนได้เช็คผลสอบในแต่ละวิชา จึงทราบว่ามีครูถึง ๔ คน ๔ วิชาที่ให้คะแนนผู้เขียนตก เนื่องจากวิชาเหล่านั้น ผู้เขียนเข้าใจดีและทำได้ ผู้เขียนทราบสาเหตุของครู ๒ คนที่ให้คะแนนผู้เขียนตก เนื่องจากมีสาเหตุความเป็นมา คนแรก เป็นครูสอนเคมี ครูคนนี้ได้นำน้องชายมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศในชั้น ม.ศ.๔ เป็นนักเรียนเกเร เคยชกผู้เขียนในห้องเรียนขณะครูกำลังสอนผู้เขียนนั่งหน้าแถวที่สอง เขาเข้ามาจากข้างหลังและชกที่ศรีษะของผู้เขียน เมื่อผู้เขียนตั้งตัวได้จึงเตะสวนออกไป แต่โดนครูที่กำลังเข้ามาแยก ไม่มีอะไรเกิดขึ้นน้องชายครูไม่ถูกทำโทษใดๆทั้งสิ้น แต่น้องชายครูเรียนไม่เป็นสุข ต้องพกอาวุธติดตัวมาโรงเรียนเพราะกลัวผู้เขียนและเพื่อนๆจะเอาคืน ผมได้ห้ามเพื่อนๆไม่ให้ทำอะไร ถ้าผู้เขียนสอบผ่าน และยังเรียนอยู่น้องชายครูก็ต้องอยู่อย่างไม่เป็นสุข ส่วนครูอีกคนเป็นครูที่ผู้เขียนไม่ชอบ ท่านสอนวิชาชีวได้ดี แต่สอนวิชากลศาสตร์ ไม่ได้เรื่อง สั่งซื้อหนังสือของอาจารย์ "ก" แต่ไปเอาหนังสือของอาจารย์ "ข" มาสอน และให้นักเรียนจดตามที่ครูอ่านในหนังสือ ผู้เขียนได้ไปซื้อหนังสืออาจารย์ขอมาอ่าน จึงไม่ได้จดตามที่ครูอ่านในหนังสือ ทำให้ครูโกรธ และต่อว่าที่ผู้เขียนไม่จด ผู้เขียนอ้างว่ามีหนังสือแล้วไม่จำเป็นต้องจดเพราะลายมือไม่สวยอ่านไม่ออก ทำให้ครูไม่พอใจ และมีอยู่วันหนึ่งที่ครู ทำโจทย์บนกระดาน โดยปิดหนังสือ และครูลืมจึงเขียนต่อไม่ได้ ผู้เขียนได้บอกสิ่งที่ครูขาดตามหนังสือ ครูโกรธหาว่าผู้เขียนอวดรู้ และไล่ผู้เขียนออกนอกห้องเรียน ไม่ต้องมาเรียนวิชานี้ ส่วนครูอีกสองท่านหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมจึงแกล้งผู้เขียน ผู้เขียนเข้าไปขอดูข้อสอบวิชาที่ผู้เขียนทำได้แต่คะแนนไม่ผ่าน แต่ครูที่น้องชายมีปัญหากับผู้เขียนไม่ยอมให้ดูแถมพูดกวนว่าถ้าสอบได้จะให้ดู ตอนแรกผู้เขียนคิดว่าจะเอาเรื่องพาคุณพ่อไปพบอาจารย์ใหญ่ แต่นึกยังไงไม่ทราบจึงไม่เอาเรื่อง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมที่คิดว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย  คุณพ่อและญาติต่างต้องการให้ไปสอบเข้าพาณิชย์การ ผู้เขียนดูแล้วเมื่อจบออกมาก็ต้องเป็นเสมียนตัวเล้กๆ เงินเดือนน้อยไม่มีความโดดเด่นอะไร โชคดีที่ลุงเขยสามารถฝากให้เข้า วิทยาลัยวิทยานุกรณ์ เป็นโรงเรียนด้านวิชาชีพโดยตรง มีให้เลือก 2 หลักสูตร คือหลักสูตรธุรกิจการบิน และหลักสูตรโรงแรม ผู้เขียนเลือกเรียนหลักสูตรธุรกิจการบิน หลักสูตรเหล่านี้สอนเป็นภาษาอังกฤษ และเรียนตั้งแต่ ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น เนื่องจากครูผู้สอนเป็นพนักงานระดับสูงของสายการบินต่างๆ หลักสูตรนี้ค่าเรียนแพงและต้องไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มจากที่อื่นอีก คุณพ่อไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนได้ แต่โชคดีที่มีลุงเขยที่เป็นผู้แนะนำหลักสูตรนี้ช่วยเป็นภาระค่าเล่าเรียนให้ ขึ้นปีสองก็ได้ทำงาน เพื่อเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ โดยทำงานเป็นพนักงานขายทัวร์ในโรงแรมให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนจบการศึกษา บริษัทที่ทำงานเปิดแผนกขายตั๋วเครื่องบินและให้ผู้เขียนเป็นพนักงานคนแรกของแผนกนี้ โดยมีผู้บริหารจากสายการบินหลายแห่งเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือ ผู้เขียนต้องเข้าไปทำงานเหมือนกับเป็นพนักของสายการบิน อยู่ถึง ๓ เดือนก่อนที่จะกลับมาทำงานที่บริษัท

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

การอ่านในยุคโลกาภิวัตน์"

พิมพ์ PDF

สวัสดีครับชาว Blog ทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2556 ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก 2556 เป็นวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ "Bangkok World Book Capital Forum การอ่านในยุคโลกาภิวัตน์"  ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ

 

ติดตามรายละเอียดและประเด็นสำคัญได้ใน Blog นี้ครับ

สิ่งที่เป็นความจริง คือ ความสามารถของสังคมไทยในการอ่านรวมถึงทุนมนุษย์ยังอ่อนแอ วันนี้ขอมาเรียนรู้ ผมทำเรื่องคนมาตั้งแต่อายุ 33 ปี ตั้งแต่ที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิ่งที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ทฤษฎี 3V

Value added

Value creation

Value diversity การเข้าสู่อาเซียนหรือโลกาภิวัตน์ ก็จะมีความหลากหลาย

การทำงานร่วมกันของกทม. ถือเป็น foundation ที่สำคัญที่สุด

การวิเคราะห์เกิดจากประสบการณ์และการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง

ถ้าตอนเด็กไม่มีผู้ปกครองทีปลูกฝังเรื่องการอ่านก็จะขุนยาก ควรปลุกฝังตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เกิดเป็น Habit  ต้องสำรวจตัวเองว่าการอ่านมีประโยชน์อะไร

ขอเป็นเครือข่าย และผมมีเครือข่ายของผมทั้งอาเซียน ระดับโลก และมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ที่ทำเรื่องทุนมนุษย์ ต้องจัดการความไม่แน่นอน จัดการกับความเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์  นักปราชญ์ที่ชอบ คือ ลีโอนาโด ดาร์วินชี

การอ่านหนังสือในอนาคตต้องทำให้ตัวเองมีคุณภาพ ต้องlifelong learning ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลง  จัดการกับความไม่แน่นอน

การพึ่งเทคโนโลยีมากเกินไป ไม่ Back to basics และถ้าไม่มีความสมดุลก็จะเป็นปัญหา

วิธีหนึ่งที่ค้นพบเรื่องทุนมนุษย์ที่การอ่านสำคัญ คือ เรารีบไปหาเป้าหมายเกินไป  พื้นฐานของคนคือคุณธรรม และจริยธรรม และต้องมีพื้นฐาน  คือทุนทางปัญญา และต้องมีเครือข่าย และต้องสร้างความสมดุลในชีวิต  ต้องการความยั่งยืน ต้องการให้ประเทศเดินไปช้าๆ อย่างมั่นคง

การอ่านในอนาคต คือ Unlearn สิ่งที่เป็นขยะ  Re-learn สิ่งที่เป็นประโยชน์ back to basic อ่านหนังสือธรรมมะ หนังสือที่เป็นประโยชน์มีความรู้จึงจะเป็นคนที่มีพื้นฐานที่ดี

คำถาม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างไร

เริ่มที่ปัจจัยตั้งแต่เกิดครอบครัว โภชนาการ การศึกษา  แต่สิ่งที่น่ากลัวมาก คือ เรื่องสื่อ  โดยเฉพาะวิทยุชุมชน  ค่านิยมเด็กรุ่นใหม่ บวกกับศาสนาที่อ่อนแอ

การศึกษาช่วยเรื่องประชาธิปไตยมาก ทำให้คนคิดเป็น ครูต้องปลูกฝังให้เด็กต้องคิด ไม่เน้นการสอบ

สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ทำอย่างไรทีจะชนะอุปสรรค ให้วัฒนธรรมการอ่านกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของทุกคน

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540864

 

บทเรียนการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ตอน ๑

พิมพ์ PDF

ขณะนี้ผู้เขียนมีอายุ ๖๓ ย่าง ๖๔ ปี มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วกว่า ๖๓ ปี  ได้พบทั้งความสุข ความเสียใจ และความผิดหวัง เป็นชีวิตที่มีคุณค่าคุ้มกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ เคยวางเป้าหมายไว้ว่าเมื่ออายุ ๖๐ ปี จะสามารถทำตัวให้เป็นอิสระจากภาระต่างๆ เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต พักผ่อนหาความสุขจากธรรมชาติ ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆที่เป็นธรรมชาติ

แผนการไม่เป็นอย่างที่คิด โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ผิดพลาดเมื่ออายุ ๕๙ ย่าง ๖๐ ปี ทำให้ไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นอิสระจากภาระด้านเศรษฐกิจได้ จากการเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มั่นคง มีรายได้ประจำ กลายมาเป็นผุ้ไม่มีรายได้ประจำ ทำงานให้สังคม  ต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต เป้าหมายช้ามา ๔ ปี แทนที่จะได้เป็นอิสระจากการทำงานประจำเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ  ใช้ชีวิตปั้นปลายกับการพักผ่อนและท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไรก็ตามจากจุดหักเหนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตไปอีกอย่างหนึ่ง และได้เริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายในการทำเพื่อคนในอนาคต เป้าหมายนี้จะไม่เห็นความสำเร็จในชีวิตของผู้เขียน .........เป็นเพียงการจุดประกาย ........สร้างเวที ........ปูพื้นฐาน ......... ให้กับสังคมไทย

ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะเขียนบทความนี้เพื่อประโยชน์ให้กับท่านผู้สนใจได้ทำการศึกษา และใช้เป็นบทเรียนเพื่อนำไปดัดแปลงใช้ในการดำเนินชีวิตของท่านให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของแต่ละท่าน เรื่องที่เขียนนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด มิได้มีการปรุงแต่งเช่นเดียวกับการแต่งนิยาย หรือการทำละครหรือภาพยนต์

ย้อนอดีต

ผู้เขียนเกิดในราชสกุลชมพูนุท  สืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สาม  ครอบครัวมีฐานะยากจนมาตั้งแต่สมัยท่านปู่ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ  ชมพูนุท  ท่านปู่สูญเสียพระราชบิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท  กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่มีพระชนม์มายุได้ ๑ ปี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับ ท่านปู่ เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากท่านปู่เป็นเจ้านายในรัชกาลเดียว (รัชกาลที่ ๓) กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาถ (พระอรรคชายาในขณะนั้น)  เป็นผู้ปกครองท่านปู่  พระวิมาดาได้โปรดให้ท่านปู่เสด็จออกมาประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงศึกษาในโรงเรียนมกุฎราชกุมารจนจบหลักสูตร ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณร จนกระทั่งมีพระชนม์ครบจึงทรงผนวช หลังจากทรงลาสิกขาบทแล้ว พระวิมาดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่วังลดาวัลย์ โดยประทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร พระโอรสเป็นผู้ทรงอุปการะ และโปรดให้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย คุณปู่ได้สมรสกับคุณย่าเขียน บุณยมานพ ธิดาคนโตของพระยาสัตยพรตสุนันท์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีโอรส ธิดา รวม ๑๒ คน

ท่านปู่ มีเงินเดือนน้อยไม่พอเพียงกับการส่งเสีย โอรส ธิดา คุณย่าเป็นลูกของคนรวย แต่ท่านเสียเมื่อผู้เขียนยังไม่เกิด คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณพ่อเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณพ่อไม่มีเงินซื้อข้าวกลางวัน ต้องแอบเข้าห้องน้ำเพื่อไม่ให้เพื่อนรู้ ดื่มน้ำประปาแทนข้าวกลางวัน คุณพ่อรับราชการอยู่กระทรวงสหกรณ์ ต่อมายุบกระทรวงสหกรณ์และเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงพัฒนาการ หลังจากนั้นกระทรวงพัฒนาการก็ถูกยุบ และหน่วยงานของคุณพ่อก็ย้ายไปรวมอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผู้เขียนเกิดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช และอาศัยอยู่ที่โรงแรมเวียงใต้ในปัจจุบัน (สมัยก่อนเป็นสมบัติของคุณตา คุณตายกให้หลานรวมทั้งคุณพ่อของผู้เขียน แต่ผู้รับมรดกส่วนมากต้องการแยกออกไปมีบ้านช่องของตัวเอง จึงตกลงขายและแบ่งเงินที่ได้จากการขาย คุณพ่อเล่าว่าได้ส่วนแบ่งเพียงนิดเดียวไม่สามารถนำไปทำอะไรได้ ผู้เขียนไม่ได้ดื่มน้ำนมจากคุณแม่ และก็ไม่ได้ดื่มน้ำนมที่ทำจากวัว เนื่องจากช่วงเด็กคุณพ่อรับราชการอยู่ต่างจังหวัด นมกระป๋องราคาแพงและหาซื้อยาก ผู้เขียนจึงต้องดื่มน้ำข้าวแทนนม

ผู้เขียนเป็นลูกชายคนโตของคุณพ่อ หม่อมราชวงศ์ มนัสปรีดี ชมพูนุท และคุณแม่ นางสุจิตรา ชมพูนุท ณ.อยุธยา เดิมคุณแม่ทำงานมีรายได้ แต่เมือผู้เขียนเกิดคุณแม่ได้ลาออกจากงานและหันมาเลี้ยงดูผู้เขียนและน้องๆอีก ๓ คนรวมเป็น ๔ คน คุณพ่อคุณแม่ของผู้เขียนเป็นบุพการีที่ประเสริฐสุดท่านให้ความรักและเลี้ยงดูลูกๆมาอย่างดี ท่านเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ และมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ เป็นที่รักของลูกน้อง ผู้คนรอบข้าง ท่านสอนให้ลูกทุกคนเป็นคนดี ท่านต้องอดทนและทำงานหนักเพื่อให้ลูกทุกคนอยู่อย่างสบาย ท่านทั้งสองได้จากผู้เขียนไปนานแล้ว เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ท่านในชั่วที่ท่านมีชีวิตอยู่ดีเท่าที่ควร มานึกได้ก็เมื่อท่านจากไปแล้วไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัว เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้

(โปรดติดตามตอนต่อไปในเร็วๆนี้)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

 

คนแก่เที่ยวสวิส ๗

พิมพ์ PDF

โรงแรม Alpha - Palmiersอยู่สบายมากเช้าวันที่ ๑๔ พ.ค. ๕๖เราตื่นตีห้าตามนาฬิกาปลุกอาบน้ำแต่งตัวไปเช็คเอ้าท์และขอให้เรียกแท็กซี่ไปสถานีรถไฟ โชเฟอร์หัวเราะเพราะคนเขาเดินไปใกล้นิดเดียวแต่คนแก่ขาเจ็บเดินไม่ไหว เมื่อคืนสาวน้อยซ้อมเดินด้วยไม้เท้าจนชักจะใช้เป็น

ไปเอากระเป๋าที่ฝากไว้กับล็อกเก้อร์แล้วหาขบวนรถที่จะไปมองเทรอซ์ได้ขบวน IC ออก ๖.๑๗ น.  เนื่องจากหน้าตาเราเป็นนักท่องเที่ยวเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วจะถามเสมอว่าไปไหนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ผิดขบวน เมื่อเราบอกว่าไปมองเทรอซ์เขาก็บอกว่า next stop

ที่สถานีมองเทรอซ์นั่งแท็กซี่ไปฝากกระเป๋าที่โรงแรม Royal Plaza โดยบอกว่าเราเป็น Thai Team (ซึ่งมาประชุม Coordinators ของ PMAC 2014)  ได้รับบริการดีมาก เดี๋ยวเดียวก็นั่งรถกลับโดยเขาคิดค่าโดยสารคูณสองรวม ๒๐ ฟรังก์ระยะทางไม่ถึงก.ม.

เรานั่งรถ IR เที่ยว 7.06 น.ไปเปลี่ยนรถที่Vispเพื่อเดินทางไปเมือง Zermatt ระหว่างทางมีการเกษตรที่สูงทำให้ผมนึกว่าชาวสวิสเป็น "ชาวเขา" ที่แม้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงด้านอุตสาหกรรมแต่เขาก็ไม่ทิ้งเกษตรกรรม เดาว่าไม่มีปัญหาคนทิ่งถิ้นทิ้งลูกไว้กับปู่ยาตายายในชนบทแบบบ้านเรา

บ้านเรือนทางใต้นี้แตกต่างจากเมื่อวานที่มักเป็นอาคารไม้แต่ที่นี่เป็นตึกคอนกรีตสูงหลายชั้นเมื่อวานมีทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวตามไหล่เขา ที่นี่ปลูกองุ่นและผลไม้อื่นๆ

ถึงVisp ๘.๒๕ น.จนท. รถไฟถามว่าจะไปไหนสาวน้อยบอก Zermatt เขาบอกให้ไปที่ชานชาลา ๓  ต่อรถ R (Regio) ที่ชานชาลา ๓ ออก ๘.๔๓ น.ไป Zermatt  ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทับกับGlacialExpress

สังเกตว่าช่วงนี้บ้านเริ่มเป็นบ้านไม้มากขึ้นแบบเมื่อวาน และหลังคาก็นิยมมุงหินชนวนตามทางมีร่องรอยการทำป่าไม้และการก่อสร้าง

วันนี้แดดออกจ้าวิวสวยมากสาวน้อยรีบเอายา sun block ทาหน้าผมได้โอกาสใช้ด้วย โบกี้ชั้น ๒ ที่เรานั่งมี ๒๖ ที่มีผู้โดยสาร ๔ คนเท่านั้น

ที่สถานี St. Niklausสังเกตว่าบ้านเกือบทุกหลังมุงด้วยหินชนวนซึ่งมีทั้งชนิดหยาบและชนิดสวย

ที่ความสูง ๑,๒๙๐เมตรเริ่มเห็นหิมะที่พื้นที่สถานีTaesch 1,430 เมตรมีลำธารและ trekking path ขนานไปกับรางรถไฟสวยมาก

เมื่อถึง Zermatt (ความสูง ๑,๖๒๐เมตร) ไปซื่อตั๋วรถไฟไปGronergrat(ความสูง ๓,๐๘๙ เมตร) เพื่อไปชมวิวยอดเขา Matterhorn ซึ่งถือเป็นยอดเขาที่งดงามที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ เรามีตั๋วสวิสพาสส์ได้ลดครึ่งเหลือคนละ ๔๒ ฟรังก์ไปเที่ยว 10.24 น. พอรถไฟออกเลี้ยวโค้งยอดเขา Matterhorn ก็ปรากฎแก่สายตา  ตากล้องขยับตัวถ่ายรูปกันพรึ่บพรั่บ  ผมนั่งฝั่งที่ไม่ใช่ฝั่งยอด มัทเทอร์ฮอร์น  แต่ในที่สุดผมก็พบว่าตรงที่ยืน ติดกับที่คนแก่และคนพิการ ได้วิวสวยกว่า  ถึงGonergrat 10.57น.กลับเที่ยว 11.31 น.ถึงZermatt  12.15น.

ที่Gornergratแดดจ้าวิวสวยมากถ่ายรูป Matterhorn ได้ชัดเจนแต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มมีเมฆมาบังที่มุมหนึ่งของยอดเขา Matterhorn

ที่สถานี Zermatt ผมไปถามทางไปโรงแรม Simi ที่คนขายตั๋วรถไฟซึ่งทำหน้าที่ information center ไปในตัวเขาให้แผนที่เอาสีป้ายทางไปโรงแรมและแนะนำให้โทรศัพท์ไปตามเขามารับโดยเมืองนี้มีระบบแผงป้ายข้อมูลสถานที่สำคัญให้หมายเลขและใช้โทรศัพท์ติดต่อตามหมายเลขได้ใช้เวลา3-4 นาทีทางผู้จัดการโรงแรมขับรถไฟฟ้ามารับจริงๆแล้วเดินไปเอง ๕ นาทีก็ถึงแต่นี่สาวน้อยขาเดี้ยงยิ่งขึ้นจึงต้องอาศัยเขามารับ

ตอนนั้นมีคนมาถามเรื่องนั่งรถไฟกับนั่งรถกระเช้าขึ้นเขาเจ้าหน้าที่แนะนำให้ขึ้นรถไฟว่าความสูง๓ พันเมตรร่างกายจะพอทนได้แต่ขึ้นกระเช้าความสูง ๔ พันเมตรบางคนถึงกับไม่สบายเราจึงตัดสินใจไม่ขึ้นรถกระเช้าคิดว่าไปสัมผัสบรรยากาศที่Gornergratก็เพียงพอแล้ว

โรงแรม Simi ดีกว่าที่คิดดีกว่าโรงแรมเบิร์นและโรงแรมอัลฟ่าห้องกว้างกว่าและเฟอร์นิเจอร์เป็นไม้ให้ความรู้สึกสบายกว่านั่งพักในห้องและกินแซนวิชที่ซื้อจากร้าน COOP ข้างสถานีรถไฟจนชักมีเรี่ยวแรงสาวน้อยชวนออกไปเดินชมเมือง

เราไปชมซอยหมู่บ้านสมัยโบราณชื่อHinterdorfมียุ้งเก็บธัญพืชที่สร้างช่วงศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๙  บางยุ้งอายุ ๒๐๐ ปีที่เสามีสถาปัตยกรรมกันหนูขึ้นยุ้งโดยใช้ก้อนหินแบนๆรองเสา

หลังจากนั้นไปชมMatterhorn Museumแสดงชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านห่างไกลอย่าง Zermatt ในสมัยก่อนเป็นชนบทสุดๆและศาสนจักรเป็นกลไกหนึ่งให้ผู้คนอดทนกับสภาพชีวิตที่ยากลำบากได้จนในที่สุดกลายเป็นหมู่บ้านที่ใครๆอยากมาเที่ยวในยุคท่องเที่ยวอย่างปัจจุบันสาวน้อยไล่ให้ผมไปชมเพราะต้องเดินลงไปใต้ดินเขานั่งรออยู่ข้างนอกเพราะเดินไม่ไหวขาเจ็บเขารู้ว่าผมชอบดูพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์นี้ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินเฉพาะทางเข้าเท่านั้นนอกนั้นอยู่ใต้ดินผมมีตั๋วสวิสพาสส์เข้าชมฟรี

วันนี้อากาศดีมากไม่หนาวมากแดดจ้าตอนบ่ายสามโมงเศษป้ายบอกอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส

โรงแรม Simi มีแฟ้มเอกสารสั้นๆ ๒ ภาษาคือเยอรมันกับอังกฤษแนะนำสถานที่ควรไปชมในหมู่บ้านรวมทั้งแนะนำเส้นทางเดิน trekking หลายเส้นทางสำหรับนักเดินที่ไม่สำบุกสำบันมากเป็นคำแนะนำพร้อมรูปสวยๆทำให้เห็นว่าสำหรับคนสวิสแซร์มัทคือเมืองตากอากาศพักผ่อนและออกกำลังผมถามเจ้าหน้าที่โรงแรมว่าเดือนไหนที่คนมาเที่ยวมากที่สุดเขาบอกว่ากรกฎาคมและสิงหาคมดูจากคนที่มากินอาหารเช้าวันที่ ๑๕ น่าจะมีแขกพักในวันที่ผมมาพักไม่เกิน ๒๐ คน

เช้าวันที่ ๑๕ พ.ค.๕๖ เราเปลี่ยนแผนเป็นออกสาย ๑๑ น. แล้วจับรถไฟกลับMontreuxเลยเพราะสภาพขาของสาวน้อยและเพราะเมื่อวานเราได้เห็นวิวที่ดีที่สุดตอนนั่งรถไฟขึ้นGornergratแล้วพอใจแล้วสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ๗ วันในสวิสครั้งนี้และคิดว่าGlacierPassคนโดยสารมักนั่ง ๗ ๑/๒ ช.ม.ไปนอนที่ St. Moritz เลยนั่งพักผ่อนสบายๆไปทั้งวันแต่เราต้องการกลับMontreuxให้ถึงในตอนเย็นเพื่อประชุม PMAC 2014 Coordinators  meeting วันพรุ่งนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540672

 

การเรียนรู้ที่แท้

พิมพ์ PDF

อ่านหนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ ลำดับที่ ๒ ปี ๒๕๕๖ เรื่อง ความเป็นไปของจิต แล้วสะดุดใจเรื่องการเรียนรู้ที่แท้ในการตีความของท่านพุทธทาส

ท่านบอกว่า (หน้า ๕) “ทีนี้สำหรับผมเองผู้พูดนี่ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่พูดไปตามบันทึก ยิ่งสมัยก่อนๆ โน้นแล้วก็มันรู้เรื่องจิตของตนเองน้อยมาก  ฉะนั้นมันจึงพูดไปตามที่ได้ยินได้ฟัง ได้เล่าได้เรียนมา เคยเป็นครูสอนนักธรรม มันก็สอนตามที่จำได้และตามที่เข้าใจ  ที่สรุปออกมาจากความรู้ตามที่จำได้   ต่อมาเมื่อได้เปลี่ยนไอ้ความรู้ตามที่จำได้ ให้มาเป็นการปฏิบัติตามที่จะทำได้  มันก็เกิดความรู้ธรรมะจากพฤติของจิต  ก่อนโน้นมีแต่ความรู้ที่มาจากการเล่าเรียน การจำ การคิดคำนวณแม้การคิดคำนวณนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ออกมาโดยตรงจากไอ้พฤติในจิต  ต่อเมื่อมาทำการปฏิบัติ มันจึงเกิดความรู้สึกโดยตรงออกมาจากความรู้สึกของจิต  เมื่อมันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เข้ารูปเข้ารอยกันดี มันก็มีความเห็นแจ้ง  แต่ก็มีน้อยเต็มที  ที่ผมพูดไปตั้งมากมายนั้น มันก็มีส่วนที่พูดไปโดยความรู้สึกภายในจิต

ท่านสรุปว่า “เรามีความรู้ แล้วเรามีความรู้สึก แล้วเรามีความเห็นแจ้ง”  ซึ่งผมตีความว่านี่คือการเรียนรู้ ๓ ระดับ

๑.  เรียนจากการได้รับถ่ายทอดต่อๆกันมาได้ความรู้

๒.  เรียนจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองได้ความรู้สึก

๓.  หลังจากได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความรู้สึกจากสัมผัสตรงและมีการไตร่ตรองทบทวนด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นจนถึงจุดหนึ่งได้ความรู้แจ้งแทงตลอด(enlightening)ข้อ ๓ นี้ผมขยายความเองและเชื่อมไปสู่สภาพของการเรียนรู้ที่สมัยใหม่เรียกว่า mastery learning - เรียนแล้วรู้จริง

 

โปรดสังเกตว่าความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหรือรับถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นความรู้แบบผิวเผินยังไม่ถึงรู้จริงต้องเอาความรู้นั้นไปปฏิบัติก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ถึงกับรู้จริงจะรู้จริงต้องปฏิบัติแล้วโยนิโสมนสิการคือไตร่ตรองทบทวน

 

ผมตีความอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

 

 

วิจารณ์  พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540666

 


หน้า 471 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5610
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8633758

facebook

Twitter


บทความเก่า