Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คนแก่เที่ยวสวิส ๖

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๓ พ.ค. ๕๖ ซึ่งเป็นวันจันทร์วันสุดท้ายที่พักที่เบิร์นผมออกไปวิ่งตามถนนKramgasseไปถึงบ่อหมีแล้ววิ่งกลับจึงพบว่าส่วนหนึ่งของถนนนี้ทางเท้าและหน้าร้านยกระดับจากถนนเหมือนกับที่เห็นที่เมือง ทูน เมื่อวาน แต่ถนนกว้างจึงไม่ได้สังเกตตอนผ่านในวันแรก

กินอาหารเช้าเสร็จอาบน้ำแล้วเช็คเอ๊าท์สาวน้อยเอาเอกสารนำเที่ยวที่บอกว่าหากมีสวิสพาสได้ลดค่าโรงแรมเบสเวสเทิร์น 10%  จ้าหน้าที่โรงแรมบอกว่าต้องจองกับเบสเวสเทิร์นเท่านั้นแต่เราจองกับbooking.comทางบริษัทจองจึงกินส่วนต่างนั้นไปเป็นความรู้สำหรับประหยัดในการเที่ยวครั้งต่อไปและเผื่อแผ่ท่านผู้อ่านบันทึกนี้ด้วยเราให้ทางโรงแรมเรียกแท็กซี่ต้องรอรถแท็กซี่ ๒๐ นาทีคนขับใจดีพาไปส่งใกล้ๆลิฟท์และแนะนำให้ขนของลงลิฟท์สะดวกมาก

เรานั่งรถไฟ IC เที่ยว 8.34 น. จากเบิร์นไปโลซานน์ที่จริงถ้าขาดีเราไปเที่ยว 8.04 น. ทันแต่รอเพียงครึ่งชั่วโมงตอนนี้เราตรวจสอบข้อมูลรถไฟคล่องแล้วโดยไปถึงสถานีใดก็รี่ไปดูที่ป้ายสีเหลืองดูทางซ้ายที่เป็นส่วนรถออกจากสถานีนั้น (ส่วนทางขวา เป็นตารางรถเข้า) ตรวจสอบตามเวลาที่เราต้องการเดินทาง

พอรถไฟมาถึงเบิร์นคนลงเกือบหมดเราขึ้นไปนั่ง ๓ - ๔ นาทีรถจึงออกรถผ่านฟรีบวร์กระหว่างทางวิวสวยเป็นเนินเขาขึ้นลงคล้ายวันที่เรานั่งblsผ่านพื้นที่ UNESCO BioReserveไปลูเซิร์น,  จากฟรีบวร์กไปโลซานน์เห็นวิวยอดเขาหิมะคลุมอยู่ไกลๆเป็นระยะๆ

จากวิวสองข้างทางที่เราผ่านทุกวันพอจะสรุปได้ว่าสวิสเป็นประเทศที่เศรษฐกิจสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมบริการ (ท่องเที่ยวอุตสาหกรรมฝีมือ - precision industry - เช่นนาฬิกา)  อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมก้าวหน้า

ถึงโลซานน์สาวน้อยออกความคิดว่าเอากระเป๋าฝากไว้ที่สถานีค้างคืนพรุ่งนี้เช้ามาเอาไปฝากที่โรงแรมที่มองเทรอซ์เราเดินไปตามป้ายรูปกระเป๋า  ไปที่เคาน์เตอร์บริการขอฝากกระเป๋า และถามเวลาทำงานวันรุ่งขึ้นคุณลุงเจ้าหน้าที่รับฝากกระเป๋าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ฟังรู้เรื่องเขียนบอกว่า8.30  ซึ่งช้าไปเมื่อเราทำท่า (เพราะเขาพูดได้แต่ภาษาเยอรมัน) ว่าเราต้องการมาเอาเช้ากว่านั้นเขาจึงแนะนำให้ใช้ล็อกเก้อร์พร้อมกับพาไปและช่วยแลกเหรียญสำหรับหยอดให้เสร็จเรียบร้อยค่าล็อกเก้อร์ ๙ ฟรังก์เราประทับใจความเอื้ออารีนี้มาก

จับรถไฟเที่ยว 10.20 น. ไปมงเทรอซ์เพื่อจับGoldenPassLine เที่ยว 11.44 ถึงZweisimmen 13.32 น.  แล้วจับเที่ยว 14.17 น.จากZweisimmenกลับMontreauxถึง 16.13 น.  นี่คือแผนเที่ยวเน้นนั่งรถชมวิวเพราะสาวน้อยปวดขามากขึ้นต้องกินยาแก้ปวดตลอดแต่ถ้าไม่เดินก็ไม่ปวด

เมื่อได้นั่งGoldenLineจริงก็สมคำโฆษณาคือมันมีทั้งวิวภูเขาป่าไม้หุบเขาหมู่บ้านลำธารและยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมสลับกันไปเรื่อยๆตลอดเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงไม่เบื่อเลยบนรถคนมากพอควรไม่โหรงเหรงแต่ไม่แน่นตัวโบกี้รถมีที่แขวนจักรยานที่สำหรับรถเข็นคนพิการและที่นั่งคนพิการตรงทางขึ้นลงสาวน้อยบอกว่าเขามีสิทธิ์นั่งตรงนั้นแต่ที่นั่งปกติสบายกว่ามาก

ระหว่างทางรถไฟสวนกับรถไฟGoldenPassLine จากZweisimmenเห็นผู้โดยสารเกือบทั้งหมดในรถแล้วผมคิดว่าสมกับชื่อGoldenPassLine จริงๆเพราะผู้โดยสารอยู่ในวัยผมกับสาวน้อยเกือบทั้งหมด

บนรถมีอาหารว่างและเครื่องดื่มขาย

รถไปถึงZweisimmenคนโดยสารอื่นๆเปลี่ยนรถเพื่อนั่งต่อไป Interlaken Ostแต่เราต้องการกลับ Lausanne  ลงไปหาข้อมูลว่ามีรถเที่ยวที่กลับได้เร็วกว่าไหมคำตอบคือไม่มีสาวน้อยนั่งรอที่ม้านั่งผมเดินไปสำรวจบริเวณสถานีมีป้ายบอกทางไปกระเช้าขึ้นเขาหน้าหนาวคงจะเป็นแหล่งเล่นสกีแต่ตอนนี้มันเหงาๆเป็นสถานีบ้านนอกโดยแท้

ผมมีโอกาสสังเกตหลังคาอาคารสถานีพบว่าโครงทำด้วยไม้สนเขามีป่าไม้มากและโครงสร้างไม้ดูสวยงามกว่าเหล็กหรือคอนกรีตและเมื่อสังเกตบ้านคนในชนบทและอาคารโรงแรมบ้านนอกทำด้วยไม้ทั้งสิ้นรวมทั้งโรงแรมที่ผมเคยไปพักที่Grindenwaldเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วด้วย

ระหว่างทางมีการก่อสร้างทางเพิ่มเติมเป็นระยะๆแสดงว่าทางการสวิสเขาคิดปรับปรุงเส้นทางความสะดวกและความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาตัวโบกี้ของรถไฟGoldenPassก็ทันสมัยห้องน้ำกว้างและมีกลไกอำนวยความสะดวกครบครันประตูเปิดปิดล็อกด้วยการกดปุ่มอีเล็กทรอนิกส์และเปิดน้ำล้างมือเปิดลมเป่าด้วย sensor

เส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นเขาขึ้นๆลงๆความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า ๑,๒๐๐เมตร

ขากลับเราเลือกที่นั่งฝั่งตรงกันข้ามกับขามาคือเท่ากับนั่งด้านขวาของรถไฟรถออก 14.25 น.รถไฟแล่นผ่านสนามบินเล็กๆถึง ๒ ที่

วันนี้โชคดีมากอากาศดีแดดจ้าตลอดวันแต่อุณหภูมิยังหนาวสำหรับเรา

เมื่อรถไฟGoldenPass Line กลับไปถึงMontreuxเรารีบไปดูป้ายเหลืองหารถไฟกลับ Lausanne พบว่ามีรถที่จะออกอีก ๓ นาทีเราต้องรีบไปที่ชานชาลา 1 สาวน้อยขาเจ็บแต่เดินได้เร็วไปถึงประตูรถกำลังจะปิดเราต้องกระแทกมันให้ไม่ปิดยังไม่ทันหาที่นั่งได้รถก็ออกใช้เวลา ๓๐ นาทีก็ถึงโลซาน

ที่สถานีโลซานผมหาi อยู่นานเพราะมันแอบอยู่ถามวิธีไปโรงแรม Nash Carlton, 4 Avenue de Courเขาบอกให้ไป Metro ทางไป Ouchy ลงที่สถานีDelicesออกจากสถานีก็ถึงโรงแรมเลยสถานี Metro ที่สถานีรถไฟข้ามถนนไปก็ถึงสาวน้อยบอกว่าให้หาลิฟท์ลงไปเพราะขาเจ็บมากขึ้นนั่ง Metro ไป ๒ ป้ายก็ถึงและพบโรงแรม Nash Carlton แต่เขาบอกว่าโรงแรมเต็มเขาจะหาโรงแรมใหม่ให้เป็นโรงแรมสี่ดาวราคาเดียวกันชื่อ Alpha - Palmiersอยู่ใกล้สถานีรถไฟเดิน ๕ นาทีถึงผมบอกว่าสาวน้อยขาเจ็บเขาจึงจ้างแท็กซี่ไปส่ง

ไปถึงโรงแรม Alpha - Palmiersเจ้าหน้าที่บอกว่าทาง Nash Carlton ไม่ได้ติดต่อมาเขาขอเวลาโทรศัพท์กลับไปสักครู่ก็เรียบร้อยได้ห้อง 335 ซึ่งกว้างขวางกว่าห้อง 312 ที่ Bern Hotel มากและWifiก็สะดวกกว่าและไวกว่าด้วยผมเข้าใจว่าบัตรเครดิต VISA สีขาวของไทยพาณิชย์คงจะขลังพอสมควรเจ้าหน้าที่ของโรงแรมดูจะเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ

เรื่องความบกพร่องของโรงแรม Nash Carlton เจ้าหน้าที่อ้างว่าเราจองทีหลังหลังจากห้องเขาเต็มแล้วและระบบ internet ของเขามีปัญหาความเป็นจริงคือผมจองผ่านbooking.comปัญหานี้ทั้งbooking.comและ Nash Carlton เสียชื่อผมคงจะไม่ใช้บริการของbooking.comอีก

วันนี้อาการปวดขาของสาวน้อยรุนแรงขึ้นแม้จะใช้ไม้เท้าช่วยแต่ยังใช้ไม่ค่อยเป็น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540552

 

โครงการพัฒนาผู้นำหัวใจรับใช้สังคม

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajoncซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน(Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลักเพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๑ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของAppendix A : In the Classroom  เขียนโดย Alma G. Blount, Director, Hart Leadership Program, Terry Sanford Institute of Public Policy, Duke University เล่าเรื่อง SOL (Service Opportunities in Leadership) ของโครงการ Hart Leadership Programเป็นโครงการสำหรับ นศ. ระดับปริญญาตรี  ที่ นศ. ที่ได้รับคัดเลือกออกไปทำโครงการในภาคฤดูร้อน ในชุมชน  แล้วกลับมานำเสนอในมหาวิทยาลัยในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง  แต่ก่อนหน้านั้น นศ. ต้องลงเรียนรายวิชา Border Crossing : Leadership Value Conflicts, and Public Lifeเสียก่อน  โปรดอ่านรายละเอียดของ course syllabus นะครับ จะเห็นวิธีปฏิบัติ  เขาเรียกว่าเป็นวิชาเตรียมความพร้อมสู่กิจกรรมเรียนรู้ด้วย research – service

Hart Leadership Program นี้ เขาทำมา ๒๕ ปีแล้ว

นี่คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่วิเศษสุดสำหรับพัฒนาคนให้ครบด้าน หรือการเรียนรู้บูรณาการ  และสำหรับให้เกิด Transformative Learning คืองอกงามจากภายในตน จากการปฏิบัติด้วยตนเอง  โดยมหาวิทยาลัยจัดระบบสนับสนุน

จะเห็นว่า สถาบันนโยบายสาธารณะ  มหาวิทยาลัยดุ๊กจัดระบบสนับสนุนนศ. ของตนให้เกิด Transformative Learning โดยจัดให้มีโครงการ SOL ผนวกกับรายวิชา Border Crossing

วิธีการจัดการเรียนรู้นี้ เปรียบเสมือน 4 in 1 คือกิจกรรมเดียว ให้ผลงาน ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านการผลิตบัณฑิต  (๒) ด้านการให้บริการสังคม  (๓) ด้านการวิจัย และ  (๔) ด้าน internationalization

ผมจะเล่าลงรายละเอียดมากหน่อย เพราะโครงการนี้น่าทำมาก


โครงการ SOL

โครงการ SOL รับสมัครคัดเลือก นศ. เข้าร่วมโครงการ มีการแข่งขันสูงมาก  นศ. ที่มีสิทธิ์สมัครเป็น นศ. ชั้นปี ๑ - ๓ โดยจะเรียนวิชาเอกใดก็ได้  ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐  เขาเรียก นศ. ที่ได้เข้าโครงการว่า SOLster(ผู้นำอาสา)

ในช่วง ๑๕ ปี ที่ผ่านมา ผู้นำอาสาเหล่านี้เดินทางไปประเทศในแถบอเมริกากลาง  ยุโรปตะวันออก  อัฟริกาใต้ รวมทั้งในเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  เพื่อไปทำโครงการพัฒนาชุมชน  เช่น โครงการ microlending, บริการผู้ลี้ภัย, โครงการพัฒนาบริการสุขภาพ, โครงการพัฒนาเยาวชน เป็นต้น

นศ. ผู้นำอาสาเหล่านี้ต้องมีสถาบันเจ้าภาพ ในประเทศหรือเมืองที่ไปทำโครงการ  และมีอาจารย์ที่ปรึกษา (mentor) ของมหาวิทยาลัย ดุ๊กโดยมีเป้าหมายว่า จะเกิดความสัมพันธ์กับสถาบันเจ้าภาพ  ชุมชนที่ไปทำโครการ และกับ mentor เป็นความสัมพันธ์ระยะยาว หรือตลอดชีวิต  (อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึงโครงการเยาวชน ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล)

นศ. ยกร่างข้อเสนอโครงการวิจัย ที่จะทำระยะยาว  ระบุโจทย์วิจัย และวิธีดำเนินการวิจัย และนำเสนอผลข้อค้นพบ  แล้วไปดำเนินการในช่วงปิดภาคฤดูร้อน  มีการจดบันทึกเหตุการณ์ที่ไปพบเห็น  และสิ่งที่ได้เรียนรู้ ตามโครงการที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านสาระ และเชิงกระบวนการวิจัย   เมื่อจบเวลาภาคฤดูร้อน นศ. ผู้นำอาสา ส่งมอบผลงานของโครงการ (ซึ่งมักต้องทำต่อเนื่อง) ให้แก่ภาคีหุ้นส่วนในพื้นที่

เมื่อ นศ. ผู้นำอาสา กลับมามหาวิทยาลัยในภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ  ก็จะเข้าร่วมนำเสนอผลงาน ในการสัมมนานโยบายสาธารณะ  เพื่อให้ นศ. ได้ฝึกบูรณาการสิ่งที่ตนได้เรียนมาในช่วงฤดูร้อน เข้ากับทฤษฎีหรือหลักการด้านการเมือง นโยบาย และภาวะผู้นำ

นศ. ผู้นำอาสา ต้องทำเอกสารรายงานผลการค้นคว้าประเด็นทางสังคม โดยมี ๖ ส่วน ดังนี้

๑.  เรียงความ ในหัวข้อเชิงนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไปทำในภาคฤดูร้อน  เพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

๒.  ผลการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง ในงานตามหัวข้อในเรียงความในข้อ ๑  เพื่อสะท้อนว่า ผู้ปฏิบัติงานจริงมีความเห็น ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไร  สอดคล้องหรือแตกต่างจากที่ นศ. อ่านจากตำราหรือแหล่งความรู้แหล่งอื่นอย่างไร

๓.  เขียนบันทึกเชิงนโยบาย ว่าในหัวข้อเชิงนโยบายนั้น มีทางเลือกที่แตกต่างกันกี่ทางเลือก  แต่ละทางเลือกมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร  และ นศ. เห็นว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด เพราะอะไร

๔.  เขียนข้อสรุปเชิงวิเคราะห์  นำเสนอข้อเสนอแนะ ว่าต้องการภาวะผู้นำทางการเมืองอย่างไร  เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของตน ให้ประสบความสำเร็จ

๕.  นำเสนอรายงานตาม ๔ ข้อข้างบนต่อชั้นเรียน  เพื่อตอบข้อซักถามและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้ง หรือข้อเสนอแนะ อย่างกว้างขวาง  สำหรับนำไปปรับปรุงเอกสารรายงาน

๖.  ส่งรายงาน เพื่อให้อาจารย์ให้คะแนน


รายวิชา Border Crossing : Leadership, Value Conflicts, and Public Life

นศ. ที่จะสมัครเข้าโครงการ SOL ต้องเรียนวิชานี้เสียก่อน  เพื่อเตรียมความพร้อมไปเผชิญชีวิตและการทำงานในสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ตนไม่คุ้นเคย  และเพื่อเตรียมพื้นความรู้ในการทำวิจัยในชุมชน ในโครงการ SOL หรือในโครงการservice learning โครงการอื่น  เพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของการทำงานรับใช้สาธารณะ

นศ. จะได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาเชิงทฤษฎี และทักษะในการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างเข้มข้น (critical reflection skills)  สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานวิจัย (และพัฒนา) ร่วมกับองค์กรชุมชน

ผมตีความว่า reflection skills ก็คือทักษะการทำ AARรวมทั้งทักษะในการทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ของกระบวนการ AAR นั่นเอง

โปรดอ่าน course syllabusของวิชานี้เอาเองนะครับ  ผมขอเชิญชวนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอ่าน เพื่อเรียนรู้วิธีใช้ เอกสารรายละเอียดของรายวิชาสื่อสารกับ นศ. อย่างมีคุณภาพ

หลังจากเขียนบันทึกนี้ ๒ เดือน กลับมาอ่านทบทวนใหม่  ผมนึกถึง วิชาการสายรับใช้สังคม

 

 

วิจารณ์  พานิช

๘ ก.พ. ๕๖ ปรับปรุง ๕ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540554

 

ประชุมผู้นำด้านน้ำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งในการจัดการน้ำของไทยในอนาคตอย่างไร

พิมพ์ PDF

ผมสนใจว่า ประเทศไทยได้ใช้การประชุมผู้นำครั้งนี้ เพื่อสร้างรากฐานความเข้มแข็งด้านการจัดการน้ำของประเทศอย่างไรบ้าง  เมื่อมีโอกาสจึงสอบถามนักวิชาการด้านนี้ท่านหนึ่ง ของ มช.  ได้ความว่า วิชาการกร่อยไป  โดยที่ในตอนแรกทำท่าคล้ายๆ ต้องการจำกัดผู้เข้าร่วม   ไม่ประกาศเชิญชวนอย่างกว้างขวาง

หลังการประชุม มีการประชุมวิพากษ์การประชุมนี้ ดังข่าวนี้

ไร้ดอกผล ....... เวทีผู้นำ......."น้ำเอเซีย-แปซิฟิก"

เมื่อผู้แทนนักการเมือง นักสิ่งแวดล้อม และภาคประชาสังคม วิพากษ์การประชุมผู้นำ “น้ำเอเชียแปซิฟิก” ที่เพิ่งปิดม่านที่เชียงใหม่เมื่อ 20 พ.ค. อย่างตรงไปตรงมา ผ่านเวทีเสวนาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ก็ตั้งความหวังต่างกัน  นิทรรศการเราตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะมีบูทที่ใหญ่ที่สุด  และมีข้อมูลจากหนึ่งปีที่ผ่านมาว่ามีแผนแม่บทป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้นำมาแสดง  และก็มีคนมาอธิบายให้ฟัง  ส่วนเทคนิคเคอร์เวริคชอปเนี่ยผมก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะได้ความรู้จากผู้ที่มีความรู้ในเชิงเทคนิคด้วยนะครับ 3 วัน  โดยเฉพาะมาต่างประเทศเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เราหาได้ยาก  และหวังว่ารัฐบาลจะมีสักพื้นที่นึง  เพราะเขาแบ่งเป็น 8 ห้อง  มีพื้นที่สำหรับบ้านเราเองที่จะมาร่วมกันคิดร่วมกันทำร่วมกันสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม” หาญณรงค์  เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ  กล่าว

“หรือถ้าจะพูดถึงสถานการณ์เมื่อ 2 ปีก่อน  ปี 54 ในการจัดการน้ำแล้วเสนอเป็นทางออกก็อยากจะตัด 9 โมดูลนี่ออกก่อน  แล้วมาหาทางเลือกว่าการจัดการที่ดีคืออะไร  แล้วให้ต่างประเทศมาแนะนำ  แล้วก็ลองฟังทั้ง 2 ฝ่าย  หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือว่าเราเอา 9 โมดูลมาเปรียบเทียบ  และก็เอาสถานการณ์น้ำปี 54  แล้วก็เอาแนวความคิดแนวความเห็นของชาวบ้าน  และค่อยฟังแนวความเห็นของต่างประเทศก็จะได้ความคิดเห็นที่ต่างกัน” ปรเมศวร์  มินศิริ ตัวแทนจาก www.thaiflood.com กล่าว

ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพก็ควรจะมีบทสรุป  เพราะประเทศไทยรับผลตรงจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 อย่างฉกาจฉกรรจ  แปลว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมขนาดนี้วิถีปฏิบัติที่มาโดยเฉพาะโครงสร้างใหญ่ที่เกี่ยวกับน้ำมันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง  ทำอย่างไรที่จะเกิดเวทีที่จะเป็นเรื่องของประเทศไทยโดยเฉพาะ  มันถึงจะช่วยให้เกิดบทเรียนหรือการสรุปบทเรียนที่เป็นจริง” ประสาร  มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา  กล่าว

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความคาดหวังขั้นต่ำ ที่หลายฝ่ายตั้งไว้ว่าจะได้จากการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Asia Pacific water summitครั้งที่ 2  ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่ระหว่างวันที่  14-20 พ.ค. ที่ผ่านมา

ด้วยจุดประสงค์หลักของการประชุมที่ประกาศชัดเจนว่าจะ เป็นการประชุมสำคัญที่คุยกันเรื่องความมั่นคงด้านน้ำในมิติต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้นำ 37 ประเทศ จะมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 1,200 คนมาแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจรวม 47 วาระ ทั้งหมดเพื่อจะหาคำตอบให้กับปัญหาความมั่นคงด้านน้ำซึ่งจะเป็นหนึ่งปัญหาท้าทายทั้งของไทยและเพื่อนบ้านทั้งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รวมถึงคนทั้งโลก

เทียบสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุม กับงบประมาณจัดงานที่รัฐบาลทุ่มลงกว่า 150 ล้านบาทแล้ว ถือว่าน่าจะคุ้มมาก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงดูเหมือนจะตรงกันข้าม หากพิจารณาจากเสียงส่วนหนึ่งของผู้ที่ติดตามการประชุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ที่สะท้อนผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ  “วิพากษ์เวทีน้ำอาเซี่ยน 3.5 แสนล้าน คนไทยได้อะไร?”  ที่จัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เมื่อเช้าวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“จึงควรจะมีเวทีที่เป็นของคนไทยเราเอง  อย่างน้อยมีหองเวริคชอปอย่างน้อย 1 ห้องก็ไม่มี  และโดยรวมจากรัฐบาลที่สรุปปัญหาน้ำท่วมเกิด 2 ปีก่อนก็ไม่มี  มันก็เลยการประชุมที่ว่างเปล่าล่องลอยในอากาศ  ไม่ได้ไปสัมผัสหรือแตะต้องปัญหาที่แท้จริงของไทย” ประสาร  มฤคพิทักษ์ กล่าว

”มันมีวิธีการตั้งหลายวิธีในการที่จะนำมาซึ่งเกิดประโยชน์ในการร่วมคิดร่วมกันทำ  ซึ่งร่วมกับประเทศอื่นด้วย  แต่ว่าที่เกิดขึ้นคือเราไม่เห็นมิตินี้เราเห็นแต่มิติแบบเอาแหละรัฐบาลเดินหน้าแน่มีวางกรอบวางอะไรไว้ชัดเจน  และทั้งหมดมันก็ไม่ได้ถูกนำเสนอกับภาคส่วนอื่นๆ  ที่มีส่วนร่วมด้วย  โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในแผนตรงนี้  เช่นชุมชนที่ถูกโยกย้าย ชุมชนในลุ่มน้ำ  อันนี้มันเป็นความห่วงกังวลและได้รับแต่คำที่สาดกันไปสาดกันมา  ไม่ได้เป็นมิติการจัดการ” หาญณรงค์  เยาวเลิศ กล่าว

“จริง ๆ ก็สถานที่จัดก็ใหม่ดูโอ่โถงดี  พอเราเดินเข้าไปเราไปเจอความโดดเด่นของบริษัทเกาหลี  ไม่ว่าจะเป็นความใหญ่ของบูท  ความพร้อมในการเอามาโชว์เจ้าหน้าที่ คนแต่งกายประจำชาติ  ของแจก  ในฐานะที่เราเป็นประเทศเจ้าภาพ  เราเห็นบริษัทเกาหลีเด่นที่สุด  ผมว่าเด็ก ๆ ได้ประโยชน์  ส่วนภาคเอกชนก็สนุกสนาน  ภาคราชการก็เป็นความรู้ง่าย ๆ ให้เด็กเข้าใจ  แต่คนที่จะมาเรียนรู้จริง ๆ  ตามแนวคิดของงานก็คงจะผิดหวังเล็กน้อยในเรื่องของนิทรรศการ”

“ส่วนเรื่องเทคนิคคอลเวริคชอป  ผมได้ความรู้มากจากประเทศต่างๆ  โดยที่ไม่ต้องบินไปประเทศนั้น  แต่ก็เสียดายที่เห็นหลายห้องมันว่างอยู่  รัฐบาลไม่ได้มีในส่วนนี้  เวทีเรื่องที่คนไทยสนใจโครงการ 3 แสนล้าน  แล้วก็มีคนที่เป็นภาคส่วนของแต่ละลุ่มน้ำมาอยู่ในที่เดียวกันแล้ว  แต่ไม่มีให้เค้าเลือกไงว่าถ้าเค้ามาห้องนี้จะได้พบกับ กบอ.  แล้วจะส่งเรื่องให้น่ายกก็ไม่มี  แล้วอีกเรื่องที่น่าเสียดายคือเนื่องจากแบ่งเป็นหลายห้องเราอบบากจะเห็นการรวบรวมเป็นองค์ความรู้  ก็ไม่เห็นตรงนั้นว่าจะสรุปอย่างไร” ปรเมศวร์  มินศิริ กล่าว

นอกจากปัญหาการไม่อนุญาตให้เครือข่ายประชาชนมีส่วนร่วมกับการประชุม เนื้อหาการประชุมก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า ค่อนข้างเป็นนามธรรม และไม่เข้าถึงปัญหาจริงของแต่ละประเทศ จึงทำให้ข้อตกลงที่ได้ในนาม “ปฏิญญาเชียงใหม่” นั้นปราศจากน้ำหนักของรูปธรรมความร่วมมือที่คาดหวังได้

อาทิในส่วนของประเทศไทย โครงการแผนแม่บทการจัดการน้ำทั้งประเทศ มูลค่า 3.5แสนล้าน ซึ่งรัฐบาลประกาศผลักดันเตรียมกู้เงินนั้นก็มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในเวที เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายคาดเดาว่า เหตุที่ไม่มีการหยิบยกเรื่องแผนแม่บทการจัดการน้ำดังกล่าวเข้าไปในเวทีอาจเป็นเพราะแผนไม่มีข้อมูลชัดเจนมากพอ

“หนึ่งผมคิดว่าเขาไม่มีความแจ่มชัดในเหตุและผลของโครงการ เอาง่ายๆ การศึกษาความเป็นไปได้ก็ยังไม่ได้ทำ EHIA ก็ยังไม่ได้ทำ  แล้วในทางปฏิบัติมันจะเกิดการสะดุดอีกหลายจังหวะ  และความชอบธรรมมันก็ไม่มี  เมื่อไม่มี ปปช.ก็ชี้ออกมาจะมีช่องโหว่ตรงนั้นตรงนี้  แต่รัฐบาลก็ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  เพราะฉะนั้นงานนี้จะไม่สามารถผ่านตลอดอย่างที่ตัวเองต้องการ” ประสาร  มฤคพิทักษ์ กล่าว

“ถ้าคิดว่าแผนเราดี  จนกระทั่งเอาไปออกเป็น TOR  หลายๆ  บท  ให้เขาจ้างบริษัทต่างๆ  ด้วยปริมาณสูงก็ควรจะเอามาโชว์  นี่คือความเข้าใจผมนะ  คือขนาดจ้างได้แพง ๆ เนี่ยก็ควรจะนำมาโชว์แต่ก็เสียดายที่ในพื้นที่ไม่ถูกนำมาโชว์  คือผมคิดว่าเมื่อนำออกมา  คนเราจะนำเสนออะไรก็พร้อมที่จะรับคำถามอ่ะ  ในสิ่งที่เขาอาจจะไม่เข้ามาโชว์ก็คือว่าถ้ามีการถาม ใครจะเป็นผู้ตอบ” ปรเมศวร์  มินศิริ กล่าว

“ผมมีความรู้สึกว่ารัฐบาลอยากจะจัดการเอง  อยากรวบการจัดการไว้สำหรับผู้รับผิดชอบเท่านั้น  ไม่อยากให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์และกลัวจะไม่เสร็จตามแผนกรอบเวลาของรัฐบาลมีเวลาน้อย  เช่นจะไปคำนึงถึง้อกำหนดที่ว่าพระราชบัญญัติเงินกู้จะหมดเวลาแล้ว  ถ้าเราไม่ปรับแผนมันอาจจะไม่ทันตามเวลา  เราเข้าใจว่าแผนอย่างงี้เมื่อถูกรวบแผนแล้วถ้าใครเข้ามาอาจรับคำวิจารณ์ไม่ได้”

“ผมว่าเป็นเรื่องของงบประมาณด้วยแหละ  งบประมาณมีจำนวนสูง  ตั้งแต่แรกที่เราเข้าใจว่าการดำเนินการเขาเอางบเป็นตัวตั้ง  ที่เหลือโครงการบางโครงการเขาก็เอามาใส่ถ้าเราวิจารณ์มากเขาก็อาจจเปรึเปล่า  ก็เลยเกิดสถานกาณ์ที่เขาไม่อยากรับฟัง” หาญณรงค์  เยาวเลิศ กล่าว

ดังนั้นเมื่อถูกถามถึงสิ่งที่คนไทยได้จากการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิครั้งนี้ คำตอบที่ได้จากเวทีเสวนาคือ..

“เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  ไม่ได้เกิดประโยชน์โผดผลอะไรขึ้นมา” ประสาร  มฤคพิทักษ์ กล่าว

ผมว่าหนึ่งเป็นการถกเถียงกันนอกเวทีอันหนึ่ง  อันนี้ไม่รู้เรียกว่าได้หรือไม่ได้นะ  อีกอันจะเห็นเจตนาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา 3.5แสนล้านมีเจตนาอะไร อันที่สามเราจะเห็นว่าการท้วงติงฝ่ายรัฐบาลก็ยิ่งไม่ฟัง  ส่วนเรื่องว่าจะได้แบบอื่นหรือไม่  ก็คนที่มาจากต่างประเทศก็มีประมาณ 1 พันคน  ก็ได้เห็นภูมิประเทศบ้านเมือง  ได้เก็บเกี่ยวจากการประชุมนั้นผมยังไม่เห็นข้อสรุป “

เพราะฉะนั้นก็ยังไม่เห็นว่าจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้ประมวลประสบการณ์ของแต่ละอันมาสรุปในวันสุดท้ายหรือเปล่า  ถ้าฟังวันสุดท้ายก็ไม่มีข้อสรุป  เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละหัวข้อไปแทน  ไม่ได้ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาน้ำท่วมเลย  เหมือนกับที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ว่างานประชุมนี้จะได้ประโยชน์สูงสุด” หาญณรงค์  เยาวเลิศ กล่าว

เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหาอยู่แล้ว  รูปแบบก็จัดงานดีมั้ย อาหารดีหรือไม่  มีโชว์อะไรมาเปิด  พูดอะไรดีดีมั้ย  แต่เนื้อหาต่างๆ  ที่ถูกละเลย  เราทำรูปแบบดีนะครับ  แต่ผมคิดว่ายังไม่สายที่จะให้ทีมวิชาการรวมรวบสิ่งที่ได้จากงานนี้  และนำไปขับเคลื่อนต่อไป” ปรเมศวร์  มินศิริ กล่าว

ขวัญชนก เดชเสน่ห์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNewsTV รายงาน

ข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกลางๆ อ่านได้ ที่นี่

ข่าวสารนิเทศ : การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒ (The 2nd Asia-Pacific Water Summit: 2nd  APWS) บรรยายสรุปผลการประชุม 2nd  APWS ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่  โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การประชุมฯ ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม เริ่มต้นโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการระดับชาติของไทยเพื่อเตรียมการจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒  กล่าวสรุปผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Focus Area Sessions) และเวทีหารือเชิงวิชาการ (Technical Workshops) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงและเชิญผู้นำจากบรูไนฯ ฟิจิ จอร์เจีย  บังกลาเทศ สาธารณรัฐเกาหลี สปป. ลาว นีอูเอ และวานูอาตู รวมทั้งประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๖๗ ประธาน  Asia- Pacific Water Forum (APWF) รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการ ESCAP และประธาน  Asia Development Bank (ADB) กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นเชิงนโยบายของแต่ละประเทศต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทาจิกิซสถานได้กล่าวถ้อยแถลงเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ผู้นำจากภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิกต่างแสดงความปรารถนาให้เรื่องน้ำเป็นนโยบายเร่งด่วนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ มุ่งไปสู่การพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ให้ประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอันจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักรู้ในการบริหารน้ำด้วย โดยผู้นำได้รับรองปฏิญญาเชียงใหม่ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของผู้นำในเรื่องนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
การประชุมในเวทีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทนำของไทยในการบริหารจัดการน้ำ การจัดการปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำอันสืบเนื่องจากอทุกภัยเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ตลอดจนสร้างความร่วมมือและประสบการณ์ด้านน้ำ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของสังคมโลกต่อรัฐบาลไทยในนโยบายและวิธีการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประเทศอื่นๆ ด้วย  อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวว่าประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยได้รับจากการจัดการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนถึงแนวความคิด วิสัยทัศน์ของผู้นำในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิกต่อการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงใหม่ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก ๔๐ ประเทศ รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดการแสดงทางวัฒนธรรมที่อิงประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ในช่วงการเลี้ยงอาหารค่ำที่เวียงกุมกามซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑,๕๐๐ คน รวมทั้งสื่อมวลชนกว่า ๖๖๐ คน ซึ่งเป็นสื่อต่างประเทศที่เข้าร่วมทำข่าวการประชุมกว่า ๑๐๕ คน
หมายเหตุ: คำกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://info.apwatersummit2.org/news/

และข่าวที่ผมค้นจาก อินเทอร์เน็ต ก็เป็นเพียงข่าวเหตุการณ์  นสพ. บางฉบับก็ชื่นชมความอลังการของการประชุม โดยเฉพาะการแสดง

ข่าวว่า ใช้เงินไป ๑๕๐ ล้านบาท

 

คำถามของผมคือ การประชุมนี้มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งในการจัดการน้ำของไทยในอนาคตอย่างไร  ข่าวใน นสพ. บอกว่าทางรัฐบาลบอกว่าปลายปีจะจัดการประชุมแบบนี้อีก  ผมสงสัยว่าจัดไปทำไม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540475

 

 

เที่ยวสวิส ๕

พิมพ์ PDF

คืนวันที่ ๑๑ พ.ค. ๕๖ ผมนอนรวดเดียว ๗ ชั่วโมงเศษ โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับอีกต่อไป

วันนี้วันอาทิตย์ ทุกอย่างเปิดสาย ผมออกไปวิ่งตอน ๖.๓๐ น.  พบฝนปรอย และอากาศเย็นลงกว่าเมื่อวานมาก  ผมทนวิ่ง บอกตัวเองว่าเด็กบ้านนอกทนฝนทนแดด  ธรรมชาติฝึกมาแต่เด็ก  ผมวิ่งไปทางกาสิโน และสะพานที่เชื่อมไปทางจตุรัสพิพิธภัณฑ์  ฝนตกหนักขึ้น แต่ผมอยากได้รูปเขื่อนกั้นแม่น้ำอาเรอ จึงทนวิ่งไปจนสุดสะพานและอ้อมกลับมาถ่ายรูปเขื่อนกลางแม่น้ำ

เรามีแผนว่าวันนี้จะเที่ยว เบิร์น และทูน  โดยตอนเช้าเที่ยว เบิร์น แล้วตอนบ่ายไป Spiezไปลงเรือล่องแม่น้ำ กลับมา Thun  แล้วนั่งรถไฟกลับ เบิร์น

ตอนเช้าเราเริ่มด้วยแผนไปดูUniversity Botanical Gardenท่ามกลางสายฝนและความหนาวสาวน้อยบอกว่าไปรถสาย ๑๒  โดยขึ้นสาย ๑๐ ไปสถานีรถไฟแล้วไปต่อสาย ๑๒  ไปลงป้าย University  แล้วไปไม่ถูกสาวน้อยพยายามดูแผนที่ในหนังสือและถามทางจนหมดหวังจึงนั่งรถสาย ๑๒ กลับมาลงสถานีรถไฟแล้วเลยตามเลยขึ้นรถไฟ SBB ไปSpiezหวังไปจับเรือล่องทะเลสาบThunกลับมาเมือง Thun

ถึงSpiezเดินออกไปชมวิวได้ถ่ายรูปวิวทะเลสาบทูนแล้วฝนตกและหนาวลมแรงจะไปหาข้อมูลที่iพบว่าปิดวันอาทิตย์สาวน้อยขอไม่ลงเรือจึงนั่งรถไฟกลับทูนรถขบวนที่เรานั่งเป็นขบวนระหว่างประเทศไปเบอร์ลินพอเราขึ้นรถชั้น ๒ ก็ไปเจอห้องพิเศษนั่งได้ ๖ คนเราครองที่นั่งทั้งห้อง ๒ คนเป็นเวลาประมาณ ๒๐ นาที

ที่ทูนฝนตกพรำๆเป็นบางช่วงและไม่หนาวนักพอเดินไหวสาวน้อยถามทางไปสะพานไม้ข้ามแม่น้ำอาเรอเดินข้ามสะพานไม้โบราณที่จริงๆแล้วเป็นเขื่อนจัดการน้ำน้ำสีเขียวมรกตสวยยิ่งกว่าแม่น้ำอาเรอที่เบิร์นแล้วเราจึงได้เดินริมแม่น้ำอาเรอที่ทูนให้ความสวยงามและสดชื่นยิ่งนัก

น้ำในแม่น้ำอาเรอมาจากหิมะละลายลักษณะของน้ำสะอาดมากสีเขียวมรกตสวยงามการที่น้ำในแม่น้ำสะอาดเช่นนี้เดาว่าเป็นเพราะผู้คนมีวัฒนธรรมรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติสะท้อนความมีวัฒนธรรมของคนสวิสเขาไม่ได้ใช้แม่น้ำเป็นที่กำจัดของเสีย

เสียอย่างเดียวอาการปวดเข่าซ้ายของสาวน้อยกำเริบหนักขึ้นมากโดยเราไม่ได้เอาไม้เท้าที่เตรียมซื้อมาจากเมืองไทยวันก่อนๆเราถือไปด้วยอาการปวดไม่มากวันนี้จึงไม่ถือไปกลับปวดรุนแรงจนเดือดร้อน

เราพบว่าเมืองทูนเป็นเมืองโบราณที่น่าเที่ยวมากเราเดินไปพบถนนที่ขนานกับแม่น้ำอาเรอเป็นถนนแคบๆที่มีร้านอยู่สองข้างถนนที่ยกพื้นขึ้นมาสูงกว่าถนนมากเป็นทางเท้าให้คนเดินช็อปปิ้งคนที่ขับรถมาจอดรถริมถนนแล้วต้องเดินขึ้นบันไดจึงจะเข้าร้านได้ส่วนหน้าร้านตรงระดับถนนทำเป็นหน้าต่างกระจกโชว์สินค้าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นถนนและร้านค้าแบบนี้

ที่จริงถ้าสาวน้อยไม่ปวดเข่าเราจะเดินเที่ยวทูนได้มากกว่านี้แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะถือเป็นไฮไล้ท์ของวัน

เรานั่งรถไฟblsเที่ยวหวานเย็นจอดทุกสถานี จาก ทูน กลับ เบิร์น ถึงเวลาเที่ยงเศษๆ  แล้วจับรถบัสสาย ๑๒ ไป Zentrum Paul Kleeท่ามกลางสายฝน ความหนาว และความปวดเข่าของสาวน้อย  เราจึงได้ไปกินอาหารเที่ยงที่นั่น  แล้วกลับโรงแรม เพราะสาวน้อยปวดเข่ามากขึ้น  และเธอไม่อยากชมศิลปะนัก

การได้นั่งรถเมล์ออกนอกเมืองไปZentrum Paul Klee ในวันนี้ ทำให้ผมเห็นคุณค่าของการนั่งรถเมล์ ชมเมือง  ช่วยให้เรารู้ภูมิศาสตร์ และเห็นความเป็นอยู่ของผู้คน  เส้นทางรถเมล์สาย ๑๒ ที่เรานั่ง  แล่นข้ามแม่น้ำอาเรอ  ผ่านบ่อหมี ขึ้นเขาผ่านบ้านเรือนที่สวยงาม  ปลูกต้นไม้ร่มรื่นมีไม้ดอกสวยงามมาก

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ค. ๕๖

กด link ข้างล่างเพื่อชมรูปภาพสวยๆได้ครับ อ่านแล้วนึกถึงอดีต ช่วงที่ผมยังเป็นผู้บริหารโรงแรม จะต้องเดินทางไปยุโรปทุกปีเพื่อไปทำการส่งเสริมการขาย และหาตลาดใหม่ๆ วันจันทร์ถึงศุกร์ต้องทำงาน ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เป็นวันเดินทางจากเมื่องหนึ่งไปอีกเมื่องหนึ่ง หรือจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง เวลาที่เหลือช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ เป็นเวลาท่องเที่ยว ผมจะใช้รถไฟ และรถเมล์เป็นหลัก หรือไม่ก็เดิน พยายามไม่ใช้รถ Taxi นอกจากจำเป็นจริงๆ การเดินและนั่งรถไฟหรือรถประจำทาง สะดวกที่สุด ได้ทั้งออกกำลังกาย และได้ชมวิวภูมิประเทศและบ้านเมื่อง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคน ได้เห็นมากและประหยัดค่าเดินทาง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540460

 

มนุษย์จะสูญพันธ์หรือไม่

พิมพ์ PDF

นิตยสาร นิวสวีก ฉบับวันที่ ๓ &๑๐ พ.ค. ๒๕๕๖ ลงพิมพ์เรื่อง Can humans survive?เขียนโดย AnnaleeNewitzน่าอ่านมาก  เขาบอกว่าสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ได้ผ่านยุค mass extinction มาแล้ว ๕ ครั้ง

ครั้งหลังสุดคือเมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ไปพร้อมๆ กับ ร้อยละ ๗๖ ของชนิดสิ่งมีชีวิตที่มีในโลกในขณะนั้น  และการสูญพันธ์ใหญ่ครั้งที่ ๔ เกิดขึ้น ๑๘๕ ล้านปีก่อนหน้านั้น  ในครั้งนั้น ร้อยละ ๙๕ ของชนิดของสิ่งมีชีวิตในโลกสูญพันธุ์ไป  ช่วงยุคสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ ๔ นั้น เป็นช่วงเวลาประมาณ ๑ แสนปี

ยุคสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ ๖ ของโลกกำลังเคลื่อนเข้ามาถึง ใช่หรือไม่?  แต่เป้าหมายในขณะนี้คือ มนุษย์น่าจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้อีกอย่างน้อย ๑ ล้านปี

ตอนนี้ มีผู้สังเกตว่า ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา ผึ้งซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่มีระเบียบวินัย เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงของวินัยภายในรัง  กลายเป็นไม่มีวินัย  ทำให้เกิดการแตกสลายของรัง ที่เขาเรียกว่า colony collapse disorderซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐  มีผลต่อรังผึ้งร้อยละ ๓๐ ของจำนวนรังทั้งหมด ทุกๆ ปี  และสงสัยว่า อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เนื่องจากโลกร้อน  และหากผึ้งสูญพันธุ์ ก็จะเกิดผลต่อเนื่องโดมิโน ต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ  เนื่องจากผึ้งทำหน้าที่เป็นผู้ผสมเกสร ในระบบนิเวศ

ขอแถมตรงนี้ว่า คนขี้เถียงอย่างผมเถียงว่า  ผึ้งสูญพันธุ์ นักผสมเกสรชนิดอื่น เช่นแมลงชนิดอื่นๆ ก็เปรมสิครับ  เขาไร้คู่แข่ง เขาก็มีอาหารเพิ่มขึ้น ขยายพันธุ์ขึ้นมาทำหน้าที่ผสมเกสรทดแทนผึ้ง

กลับมาที่บทความในนิตยสาร เขาบอกว่าเวลานี้ชนิดของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปรวดเร็วที่สุดคือ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ  หนึ่งในสามของสัตว์กลุ่มนี้กำลังจะสูญพันธุ์  และมีผู้ประมาณว่า ขณะนี้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสูญพันธุ์ไปปีละ ๒๗,๐๐๐ ชนิด

เมื่อไรจะถึงชตากรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาด ย่อมดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด  และลู่ทางใหญ่ๆ มี ๒ ทาง คือทางหนึ่งทำให้อยู่รอดในโลกใบเดิมนี่แหละ  อีกทางหนึ่งหนีไปอยู่นอกโลก  เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่มาแล้ว ๑ ล้านปี  จะต้องอยู่ต่อไปให้ได้อีก ๑ ล้านปี   ต้องได้สิน่า เพราะมีตัวอย่างเผ่าพันธุ์อื่น ที่อยู่ในโลกมาแล้วตั้งพันล้านปี

วิธีง่ายๆ ตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลก คือควบคุมการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยวิธีต่างๆ  โดยที่เวลานี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

วิธีการเปลี่ยนแปลงโลก เรียกว่า geo-engineering  ส่วนวิธีไปสร้างโลกใหม่อยู่เรียกว่าterra-forming

วิธี Geo-engineering มี ๒ วิธี คือ (๑) วิธีจัดการแสงอาทิตย์ (Solar management)  (๒)​ วิธีเอาคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ออกจากบรรยากาศ(carbon-dioxide removal)

วิธีจัดการแสงอาทิตย์มีหลากหลายวิธีโดยสะท้อนแสงอาทิตย์อย่าให้ตกลงมายังโลกวิธีหนึ่งโดยพ่น aerosol ขึ้นไปในอากาศเหนือมหาสมุทร  ไปทำให้เกิดเมฆสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป แบบที่เกิดขึ้นเมื่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ปล่อยไอเสียเจือกำมะถันขึ้นไปในบรรยากาศก่อให้เกิดเมฆขนาดใหญ่สะท้อนแสงอาทิตย์  อีกวิธีหนึ่งคือสร้างเขม่ากำมะถัน แบบที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟระเบิด  ให้ขึ้นไปปกคลุมชั้นบรรยากาศชั้นบนๆ ของโลก ที่อยู่เหนือเมฆเหนือฝน  วิธีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นก็คือ ปล่อย  particleX ขึ้นไปอยู่ในชั้น stratosphere เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป

แต่ก็ไม่ตรงไปตรงมานะครับ  เขาว่าในชั้น สตรโตสเฟียร์มีลม  ซึ่งจะส่งผลให้หากปล่อย particle X ขึ้นไป โลกทั้งโลกเย็นลง  แต่ผืนดินผืนใหญ่ที่สุดคือ Eurasia จะอุ่นกว่าที่อื่น  นอกจากนั้น ยังสงสัยกันว่า จะมีผลทำให้ภูมิอากาศและฤดูกาลรวนเรไปอย่างไรก็ยังไม่ทราบ  แต่สงสัยว่าเกิด  และที่แน่ๆ คือ ท้องฟ้าจะไม่เป็นสีฟ้าอีกต่อไป  จะกลายเป็นสีขาว  เราจะต้องเปลี่ยนชื่อสีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

มีคนเตือนว่า geo-engineering จะเกิดผลดี มากกว่าผลเสียหรือเปล่า

เคยมีคนเสนอให้ใช้สาหร่ายเซลล์เดียวช่วย  เลี้ยงสาหร่ายจำนวนมากในทะเล มันจะดูดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในกระบวนการสังเคราะห์แสง  หวังว่าเมื่อมันตายมันจะตกลงก้นทะเล พาเอาคาร์บอนตกลงไปที่ก้นทะเล  เป็นการดูดเอา คาร์บอนออกจากบรรยากาศ  แต่เมื่อทดลอง พบว่ามันปล่อยคาร์บอนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศด้วย  ใช้ไม่ได้

อีกวิธีหนึ่ง ใช้ก้อนหิน ชนิดหินปูน  เอามาเผาให้ได้ปูนขาว เอาไปทิ้งลงไปในทะเล  จะทำให้น้ำทะเลดูดซับ คาร์บอนไดอ็อกไซด์ ๒ เท่าของที่เป็นอยู่แล้ว  แล้ว คาร์บอนในน้ำจะค่อยๆ ตกสู่ก้นมหาสมุทร  และการใส่ปูนขาว จะช่วยลดภาวะน้ำทะเลเป็นกรด ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันด้วย  แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะมีผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอย่างไร

วิธีใช้ก้อนหินอีกวิธีหนึ่ง เรียกว่า enhanced weathering  ซึ่งเคยเกิดมาแล้วเมื่อ ๔๕๐ ล้านปีก่อน ในยุค Ordovician  ที่มีฝนตกหนัก น้ำฝนชะภูเขาจนราบ  ฝุ่นผงจากหินดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยกาศ ทำให้ระดับ อ็อกซิเจนในอากาศสูงขึ้น  และโลกเย็นลงจนเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง  วิธีเลียนแบบทำง่ายๆ คือทะลายภูเขาเอามาป่น แล้วทิ้งไว้ให้สัมผัสอากาศ

ทุกวิธีของ geo-engineering มีความท้าทายที่ความพอดี  และการควบคุมไม่ให้เกิดผลไม่พึงประสงค์

ต่อไปนี้เป็นวิธีออกไปตั้งนิคมมนุษย์นอกโลก  ซึ่งจะเป็นก้าวกระโดดใหญ่ของอารยธรรมมนุษย์

สิ่งแรกที่จะต้องเอาชนะ คือของที่เราคุ้นชินที่สุด ... แรงโน้มถ่วง  เราจะส่งชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้างนิคมนอกโลกออกไปได้อย่างไร  ที่ตอบได้แน่นอนคือ ยานที่เรียกว่าจรวด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีแรงขับเคลื่อนและระวางบรรทุกไม่เพียงพอ  ใช้จรวดไม่ได้

นักฝันบอกว่า ต้องใช้ “ลิฟท์อวกาศ” (space elevator)  รายละเอียดเป็นอย่างไรอ่านเองนะครับฝันนี้พิลึกกึกกือมาก  แถมยังเป็นลิฟท์ถาวรสู่อวกาศอีกด้วย  อย่างนี้ผมอยากเรียกว่า “ถนนอวกาศ” มากกว่า

ต่อคำถามว่ามนุษย์จะสูญพันธุ์หรือไม่ไม่มีคำตอบ  คำตอบคือมนุษย์จะดิ้นรนสุดฤทธิ์และจะเป็นแรงขับดันให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมาย

 

วิจารณ์  พานิช

๒๒ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540351

 


หน้า 472 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5611
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8634204

facebook

Twitter


บทความเก่า