Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

พิมพ์ PDF

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : 6 ประสบการณ์ การใคร่ครวญ และการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

 

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ในบทที่ ๕ ของหนังสือชื่อบทคือ Experience, Contemplation, and Transformation  ผู้เขียนคือ Arthur Zajonc  เป็นเรื่องการเข้าสู่คุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา

รูปแบบของการศึกษาที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์เต็มที่  ไม่ทำให้เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา คือการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน และการเปลี่ยนแปลงแบบงอกงามขึ้นภายในตน

การศึกษาในปัจจุบัน ละเลยมิติด้าน จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology), ความยืดหยุ่นของสมอง หรือระบบประสาท (neuroplasticity), และจิตสำนึกที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์สองทาง (intersubjective formation of consciousness)  เราไม่ได้มองนักเรียนนักศึกษาเป็นมนุษย์ที่กำลังเจริญงอกงาม  แต่หลงมองเป็นภาชนะสำหรับรับถ่ายทอดความรู้

การเรียนรู้แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน เรียกว่าแบบรับถ่ายทอดความรู้ (informative learning)  แต่แบบที่เป็นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ แบบเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (transformative learning)

ศ. ซาย้องค์ อ้างถึงพัฒนาการทางจิตวิทยาการเรียนรู้ ๖ ขั้นตอน ที่เสนอโดย Robert Kegan ได้แก่ the incorporative stage (ขั้นตอนที่ ๐), the impulsive stage (ขั้นตอนที่ ๑), the imperial stage (ขั้นตอนที่ ๒), the interpersonal stage (ขั้นตอนที่ ๓), the institutional stage (ขั้นตอนที่ ๔) และ the inter-individual stage (ขั้นตอนที่ ๕)  โดยที่ ๓ ขั้นตอนหลังเป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

นศ. เข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีพัฒนาการถึงขั้นที่ ๓  ซึ่งอาจเรียกว่า มีพัฒนาการถึง Social Mind (interpersonal stage)  ซึ่งหมายความว่า นศ. ได้สร้างความรู้ความเข้าใจภายในตนด้าน โครงสร้างการเรียนรู้ (cognitive structures), สุนทรียะ, ประเพณี, ข้อกำหนดความประพฤติ, และความคาดหวังของผู้คนต่อตน  ทำให้ความคิดและความประพฤติของ นศ. แต่ละคนสะท้อนกระบวนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงภายใน และระบบศีลธรรม ที่นำไปสู่การแสวงหาความหมายต่อโลก และต่อชีวิต

นศ. ที่พัฒนาการทางจิตวิทยา ก้าวหน้าถึงขั้นที่ ๓ จะอยู่ร่วมกับผู้คนได้อย่างไม่ยากลำบาก  แต่พัฒนาการของ นศ. ยังไม่ถึงที่สุด  ยังต้องพัฒนาไปให้ถึงขั้นตอนที่ ๔ คือ Self-Authoring Mind   คือมีความสามารถคัดเลือกปรับแต่งความคิดและความรู้ที่หลากหลาย นำมาสร้างเป็นความรู้ของตน  ระหว่างครึ่งถึงสองในสามของคน พัฒนาไม่ถึงขั้นตอนที่ ๔ นี้  โดยที่จริงๆ แล้วอุดมศึกษาควรมีความรับผิดชอบ เอื้อให้บัณฑิตทุกคนบรรลุการพัฒนาตนถึงระดับนี้  ซึ่งก็คือ ระดับที่กำกับดูแลกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้

และในที่สุดเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นตอนที่ ๕ คือ Self-Transforming Mind  ซึ่งก็คือสภาพที่ บุคคลนั้นมีข้อคิดเห็นของตนเอง ต่อเรื่องต่างๆ  และข้อคิดเห็นนั้นมีได้หลายแง่มุม รวมทั้งอาจมีแง่มุมที่ขัดกันเอง  และที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาละเทศะ

คือในขั้นตอนที่ ๕ คนเราจะเสมือนมีหลายตัวตนในคนๆ เดียว  มองความขัดแย้งเป็นความยึดติดกับแนวคิดแบบเดียว  อยู่กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเอง (transformative process)  มากกว่าอยู่กับผลของการพัฒนาตัวตน (formative product)  Kegan บอกว่า มีคนจำนวนน้อยมาก ที่พัฒนาได้ถึงขั้นนี้

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงเป็นวิธีเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุด  นี่คือที่มาของ การเรียนเป็นทีม  ทั้งใน PBL ของ นศ./นร. และใน PLC ของครู


กระบวนการเรียนรู้แห่งการเปลี่ยนแปลงภายในตน

กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กันในปัจจุบันอ่อนแอ และแยกส่วนเกินไป ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่บูรณาการและลึกซึ้งไปถึงมิติด้านจิตใจ  เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน อย่างที่เสนอโดย Kegan, Mezirow, Kohlberg, และนักวิชาการท่านอื่นๆ

การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากเรียนวิชาแยกส่วน เป็นเรียนโลกที่ซับซ้อน  คือเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์ simple fragments  สู่กระบวนทัศน์ complex systems  นศ. ต้องได้เรียนรู้ภายใต้หลักการของความเป็นจริงที่ซับซ้อน  ไม่ใช่เพียงภายใต้สาระวิชาแยกส่วน อย่างที่ใช้กันในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

การเปลี่ยนแปลงภายในตนที่เป็นเป้าหมายของการศึกษา มองในมุมหนึ่ง ก็คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้เรียน นั่นเอง  โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดอย่างช้าๆ  ไม่สามารถเกิดได้จากการเรียนคาบเดียวหรือครั้งเดียว  แต่เรียนได้โดยวิธี “ใส่ใจ”  นำเอาข้อสงสัย ประสบการณ์  เข้ามาใส่ไว้ในใจ  นำไปทดลองใช้ในการฝึกฝนตนเองจากการลงมือปฏิบัติ เพื่อทำโครงงาน  และในการคิดไต่ตรอง (AAR)  ในที่สุด “คำตอบ” หรือการบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ก็จะมาเอง

การเรียนรู้เพื่อบรรลุขั้นตอนที่ ๕ ของ Kegan คนเราต้องฝึก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น ที่อยู่ในฐานะ หรือสถานการณ์ แตกต่างจากตน (empathy)  นั่นคือต้องฝึกจินตนาการและฝึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

คนที่บรรลุ Self-Transforming Mind เข้าถึงสภาพที่มีหลายมิติ และมีความสามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้ ของมนุษย์


การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์

การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ (Experiential Learning) ในที่นี้ มีความหมายที่ลึกมาก   ไม่ใช่การเรียนรู้จากประสบการณ์แบบที่เราแยกตัวออกจากประสบการณ์  แต่เป็นการเรียนรู้ในสภาพที่ตัวเรากับประสบการณ์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว  และเรา “สัมผัส” ปรากฏการณ์นั้นจากภายใน สมอง ใจ และวิญญาณ ของเรา  และจากประสบการณ์เช่นนั้น เราเกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน

ตามปกติการเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ มักเกิดขึ้นในโอกาสพิเศษ นอกมหาวิทยาลัย  ในการเรียนแบบทำโครงงาน หรือเรียนแบบให้บริการ (in-service learning)  เมื่อผ่านประสบการณ์แล้ว นศ. รวมกลุ่มกันทำกระบวนการทบทวนสะท้อนความคิด (reflection) หรือ AAR  การมีศูนย์บริการในชุมชน ให้ นศ. หมุนเวียนไปเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์  จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตนได้ง่ายขึ้น

และผมเชื่อว่า เทคนิคของการเรียนรู้แบบนี้ ที่มีให้เรียนที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล  และที่อื่นๆ เช่น เทคนิคสุนทรียสนทนา  เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง  เทคนิคถามอย่างชื่นชม (Appreciative Inquiry)  เป็นเทคนิคที่ช่วยให้บรรลุการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน


การเรียนรู้โดยการใคร่ครวญ

การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ สามารถนำมาใช้ในชั้นเรียนตามปกติได้  โดยชลอความเร็วในการเรียนลง  และให้ นศ. มีเวลาทำกระบวนการทบทวนสะท้อนความคิดร่วมกัน  โดยทำได้ในทุกวิชา ทุกสาขาอาชีพ  ให้ นศ. ทำสุนทรียสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้สึกในคุณค่าของประสบการณ์การเรียนรู้  แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านในที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสกับกระบวนการณ์การเรียนรู้นั้นๆ

ผมเชื่อว่า การเรียนรู้แบบ PBL  ตามด้วย reflection หรือ AAR  โดยครูมีเทคนิคในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ที่ดี  เป็นคำถามที่มีชีวิต เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  เชื่อมโยงกับคุณค่าในชีวิตอนาคต   จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตนได้อย่างมีพลัง  รวมทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังในชีวิต และการเรียน


มิติด้านจิตวิญญาณในนักศึกษาอุดมศึกษา

สถาบัน HERI (Higher Education Research Institute) แห่ง UCLA ได้ทำวิจัยเรื่องการเรียนรู้ในมิติด้านจิตวิญญาณในอุดมศึกษา  ด้วยความเป็นห่วงว่า ในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาเอาใจใส่แต่การเรียนด้านนอก  ไม่สนใจการเรียนรู้ด้านใน  อันได้แก่เรื่องคุณค่า ความเชื่อ วุฒิภาวะทางอารมณ์ ความเข้าใจตนเอง และด้านจิตวิญญาณ

แต่ผลการวิจัยใน นศ. กว่า ๑ แสนคน  อาจารย์กว่า ๔ หมื่นคน  จากมหาวิทยาลัย ๔๐๐ แห่ง  ใช้เวลา ๕ ปี  ให้ผลตรงกันข้าม  คือมีการให้ความสำคัญแก่มิติการเรียนรู้ด้านในมากกว่าที่คิดมาก  คือ ร้อยละ ๘๐ ของ นศ. ปี ๑ กว่า ๑ แสนคน บอกว่าตนสนใจเรื่องจิตวิญญาณ  และร้อยละ ๔๒ ตอบแบบสอบถามว่า ตนใช้ชิวิตโดยมีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ  และเมื่อ นศ. เหล่านี้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ ๓  ตัวเลขเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๐

มากกว่า สองในสามของ นศ. บอกว่า ตนต้องการให้มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวก หรือจัดการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ


มิติด้านจิตวิญญาณในอาจารย์มหาวิทยาลัย

ผลการวิจัยของ HERI ที่กล่าวข้างต้น ในกลุ่มอาจารย์  ได้ผลไปในทางเดียวกับใน นศ.  แต่มีความแปรปรวนสูงกว่า  โดยอาจารย์บอกว่าการเรียนให้ได้ คุณค่า ความหมาย และปณิธานชีวิต มีความสำคัญ  และตนได้ส่งเสริมอยู่แล้ว  แต่วิธีดำเนินการไม่ชัดเจน

สรุปได้ว่า ในสหรัฐอเมริกา นศ. มีความต้องการการเรียนรู้ในมิติด้านจิตวิญญาณมาก  แต่สถาบันอุดมศึกษาไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นระบบ และจริงจัง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบอุดมศึกษามีวิธีจัดผังวิชาการที่ผิด  คือเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ และเรื่องศาสนา จิตใจ ไว้ฝั่งตรงกันข้ามกัน  จารีตในการศึกษาค้นหาความจริง  อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับความเชื่อ  ดังนั้น มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการค้นหาความจริง จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับศาสนา

ศ. ซาย้องค์ ผู้เขียนบทนี้ บอกว่าตนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ในเรื่องความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว นั้น ท่านเห็นด้วย  มหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ขององค์การศาสนา ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความเชื่อทางศาสนา  แต่ศาสนากับมิติทางจิตวิญญาณไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  มิติทางจิตวิญญาณเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด

วิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณมีส่วนเชื่อมต่อกัน คือ cognitive spirituality  การปฏิบัติฝึกภาวนา มองเห็นได้ว่าทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล  นอกจากนั้น การศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า ในขณะปฏิบัติภาวนา มีการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในสมอง


มิติด้านจิตวิญญาณในอุดมศึกษาในปัจจุบัน

การเรียนรู้ระดับปริญญาตรี เป็นการวางรากฐานชีวิตการเป็นผู้ใหญ่  มิติด้านจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานนั้น  มิตินี้รวมถึง การภาวนา สุนทรียะ ความรู้เชิงศีลธรรม  เพื่อวางรากฐานชีวิตที่มีความหมาย และมีปณิธานความมุ่งมั่น

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจากhttp://www.gotoknow.org/posts/536719

 

 

วันโกน วันพระ มีความสำคัญต่อจิตวิญญาณมาก

พิมพ์ PDF

เคยรู้ไหม วันโกน วันพระ 
มีความสำคัญต่อจิตวิญญาณมาก
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดเจน

...ชาววัดป่าธรรมคีรี...
ไม่ควรตกข่าวอย่างยิ่ง!!!

ในวันพระตลอดเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ข้างแรมจนถึงข้างขึ้น 15 ค่ำ 1 เดือน นี้มีอะไรเกิดขึ้น ในวันนี้ถ้ามนุษย์ทำความดีก็จะถูกเจ้าหน้าที่เขตบันทึกไว้ในแผ่นลานทอง แล้วเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตก็จะรวบรวมแผ่นทอง ไปให้อากาศเทวาเพื่อรวมบัญชีไปให้หัวหน้าอากาศเทวา แล้วรวบรวมไปให้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 แล้วนำไปถวายท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์เพื่อรายงาน ท้าวสักกเทวราชก็ทำการประชุมคณะกรรมการเพื่อรายงานในวันโกนหรือก่อนวันพระ 1 วัน วาระการประชุมมี 2 วาระ คือ 1. เรื่องราวของดาวดึงส์ 2. เรื่องราวของท้าวจตุโลกบาลที่เอาบัญชีมารายงาน

เทวดาบางเหล่าดำรงชีวิตด้วยความประมาท เมื่อสิ้นบุญผลแห่งความประมาท วิบากกรรมเก่าจึงส่งผลให้ไปเกิดเป็นเปรตและอสูรกายก็มี ตามกำลังบาป บ้างก็ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เพราะฉะนั้นท้าวสักกเทวราชท่านจึงสอนเอาไว้ว่าอย่าดำเนินชีวิตด้วยความประมาทให้ฉลาดในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง แล้วก็สั่งสมบุญด้วยการเจริญพุทธานุสติ แล้วก็ไปที่จุฬามณี เทวดาบางเหล่าด้วยดำรงชีวิตด้วยความประมาท เมื่อเธอสิ้นบุญ ด้วยผลอันเหลือจากกุศลกรรมในอดีตทำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ เทวดาบางเหล่าไม่ประมาท มีทิพยสมบัติมาก มีกามอันเป็นทิพย์ที่ประณีต แต่ไม่มัวเมา หมั่นเพิ่มเติมกุศลกรรมด้วยการไปนมัสการพระจุฬามณีหลังจากที่ฟังธรรมในสุธรรมสภาเสร็จแล้ว เมื่อเธอหมดบุญ หมดสิ้นอายุขัยในภพนั้นแล้ว จะกลับมาจุติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีก หรือไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่สูงขึ้นไปตามกำลังบุญ

สรุปว่าเป็นการย้ำให้เทวดาไม่ประมาทให้เจริญพุทธานุสติอยู่เสมอ หลังจากท้าวสักกะให้โอวาทเสร็จ เวลาค่ำของโลกมนุษย์ ท้าวสักกะจะประกาศให้แก่เทวดาที่มาประชุมที่สุธรรมเทวสภาว่า ในช่วงเวลาในวันที่ผ่านมานี่คือวันพระ หมู่มนุษย์ทำบุญ บางพวกก็ดูแลบิดามารดา บางพวกก็ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีจำนวนมากน้อยเพียงใด หรือทำกุศลกรรมอะไรต่างๆ เป็นต้น คือจะประกาศในช่วงพระจันทร์ขึ้นในเมืองมนุษย์ จะประกาศถึงมนุษย์และหมู่มนุษย์ว่าพวกไหนที่ทำบุญใหญ่ให้เทวดาทั้งหลายได้อนุโมทนากัน ถ้าช่วงใดที่มนุษย์สร้างบุญน้อยเทวดาที่ดาวดึงส์ก็จะคุยกันในหมู่เทวดาว่าสวรรค์คงจะว่าง นรกคงจะแน่น หากมนุษย์ประมาทในการดำเนินชีวิต หากช่วงใดที่มนุษย์ที่ทำบุญมีจำนวนมากเทวดาที่ดาวดึงส์ก็จะดีใจ รัศมีกายก็จะแพรวพราวทีเดียว จะปรารถว่าในอนาคตสวรรค์คงจะเนื่องแน่น นรกคงจะว่างแน่นอนเลย

ในยมโลกวันพระก็จะหยุดพักทรมานสัตว์นรก

ในช่วงเวลาที่ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ คือวันพักในยมโลก แต่ในมหานรกไม่ได้พัก อุสสทนรกก็ไม่ได้พัก ในช่วงคืนเดือนเพ็ญเจ้าหน้าที่ยมโลกก็จะหยุดทัณฑ์ทรมานสัตว์นรก จะยืนดูเฉยๆ เจ้าหน้าที่บางพวกที่คบกะก็จะกลับไปพักที่จาตุมหาราชิกา แล้วก็จะมีพลัดใหม่เข้ามา พวกที่ยังไม่หมดกะ ก็จะยืนดู ยืนเฝ้าสัตว์นรกไม่ให้หนีไปไหน สัตว์นรกก็จะหมดแรงนอนอยู่กับพื้น บางพวกที่อยู่ในหม้อทองแดงไฟก็จะไม่ลุกไหม้ แต่น้ำในหม้อยังร้อนอยู่ แต่ลดลงมาหน่อย เหมือนไฟในเตาโลกมนุษย์ที่พอดับไฟน้ำก็ยังร้อนอยู่แต่ไม่เดือดพล่าน บางพวกก็ขึ้นมาอยู่บนปากหมอได้ พวกที่กำลังปีนต้นงิ้ว ต้นงิ้วนี้ไม่มีในมหานรก จะมีแต่ในยมโลก ต้นงิ้วในวันพระ หนามงิ้วจะหดกลับเข้าไป สัตว์นรกก็จะมีโอกาสลงมานอนพักอยู่กับพื้น บางพวกก็ร้องควรครางร้องขอความเห็นใจ


เจ้าหน้าที่ในยมโลกจะหยุดพักในวันพระ

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่แปลงร่างเป็นสุนัขปากเหล็ก อีกาปากเหล็ก ก็จะกลับคืนสู่ร่างเดิมที่เป็นกุมภัณฑ์ แต่เจ้าหน้าที่ที่ใกล้จะหมดกรรมจากที่เป็นเจ้าหน้าที่ ก็จะไม่ค่อยมีอารมณ์อยากทำโทษสัตว์นรกซักเท่าใด ก็จะปลอบสัตว์นรกเช่น อดทนหน่อยนะ แต่พอเลยวันพระไปก็จะเริ่มทัณฑ์ทรมานกันต่อไปตามปกติ ถ้าโชคดีญาติที่อยู่บนเมืองมนุษย์อุทิศบุญมาให้ก็จะพ้นกรรมเร็วขึ้น 

ที่นี้เรามาดูในส่วนของผู้พิพากษาคือพญายมราช พอถึงวันพระใหญ่หรือวันเพ็ญก็จะพักการพิพากษา บางท่านหมดกะก็จะไปพักที่จาตุมหาราชิกา แล้วก็จะมีพญายมราชชุดใหม่มาเปลี่ยนรับหน้าที่แทน พวกที่ยังไม่หมดกะก็มีโอกาสพัก แล้วก็อาจจะไปทานอาหารทิพย์ตามกำลังบุญของตน โดยส่วนใหญ่อาหารจะเป็นเนื้อสดๆ เป็นของสด ของคาว ถ้าหากญาติทำบุญให้ โดยอุทิศแบบเจาะจง สัตว์นรกในยมโลกก็จะได้รับบุญนั้น พอพ้นวันพระแรม 1 ค่ำ ถ้าหากสัตว์นรกหมดกรรมก็จะพามาที่โรงพิพากษาอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับรู้ในบุญที่ญาติอุทิศมาให้ แล้วจะส่งไปเกิดตามกำลังบุญ

ไม่เคยรู้...ก็ได้รู้แล้ว
ตักตวงบุญ...ตักตวงบาปเลือกเอาเด้อ
จะเพลินอยู่กับกิเลสก็ตามใจ

(อาตมารออยู่ที่วัดป่าธรรมคีรี พุทโธๆๆ)

 

คนไทยควรทำอย่างไร

พิมพ์ PDF

รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของบ้านเมือง ไม่ใช่ของนักการเมือง

 

คนไทยไม่ควรยอมให้นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐ ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติส่วนตัว

ปัญหาเบื้องหลังการปลด ผอ. องค์การเภสัชกรรม ที่ไม่มีการพูดถึงกัน คือนักการเมืองที่เข้ามามีตำแหน่งบริหารบ้านเมือง ถือว่ารัฐวิสาหกิจเป็น “สมบัติผลัดกันชม” ระหว่างการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล

เมื่อเปลี่ยนข้างรัฐบาล  เขาก็ต้องการให้ ผอ. รัฐวิสาหกิจคนเดิมออกไป  เพื่อมีตำแหน่งไว้ตอบแทนคนของตน  หรือเพื่อ “สนองนโยบาย”  ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของ “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย”

คนไทยไม่ควรยอมรับข้อปฏิบัตินี้  เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของบ้านเมือง  แต่กลับทำให้บ้านเมืองสูญเสียผลประโยชน์

วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/536704

 

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิจารณ์ และขอชวนเชิญให้เราคนไทยช่วยแสดงความคิดเห็นว่าในฐานะคนไทยควรจะทำอย่างไร (ในทางสร้างสรรค์)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

เรื่องเล่าจากท่านศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ

พิมพ์ PDF

วันนี้ขอนำเรื่องเล่าของท่านศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ มาเผยแพร่
"ช่วงนี้มีโอกาสดีได้ศึกษาดูงานด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูต้นไม้ใบหญ้าให้จิตเบิกบาน ดังเช่นวันนี้ได้พาคณะนักศึกษานักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามทุจริตแห่งชาติรุ่นที่4 ไปเยี่ยมเยียนดินแดนสิบสองปันนา ซึ่งมีเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองเอก อันเป็นถิ่นไทยดั้งเดิมแต่อยู่ใต้การปกครองของจีนในมณฑลยูนนาน ชาวไทยในสิบสองปันนามีหลายเผ่าแต่มากที่สุดคือชาวไทยลื้อซึ่งบางส่วนอพยพมาอยู่จังหวัดลำพูน เรายังสื่อสารกับพวกเขาได้ด้วยภาษาไทยที่คล้ายคลึงกับไทยล้านนา เช่นคำนำหน้าของชายคืออ้าย ของหญิงคืออี่ และไม่มีแซ่เหมือนคนจีน จึงตั้งแซ่ตามสถานะ ใครเชื้อสายเจ้า ใช้แซ่จ้าว ใครเช้อสายขุนนาง ใช้แซ่เตา ฝคนเชื้อสายเกษตรกร ใช้แซ่ไฮ่ มาจากคำว่าไร่ เดิมสิบสองปันนาเต็มไปด้วยป่าไม้อันอุดม แต่ภายหลังคนฮั่นแนะนำให้ปลูกยางพารา จึงหันมาโค่นป่าแล้วปลูกขนานใหญ่ ฝนราสุดก็เกิดควทมแห้งแล้งอย่างหนัก สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งจีน(Chinese Academy of Science)จึงดำเนินการก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์ ขึ้นที่สิบสองปันนา ชื่อ สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนแห่งสิบสองปันนา พื้นที่กว้างขวางหลายร้อยไร่ เป็นการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งเป็นการรักษาป่าไปในตัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย"

คัดลอกมาจาก Timeline ใน fb ของท่านวิชา

 

บันทึกการเมือง

พิมพ์ PDF

องค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานที่โดยหลักการแล้ว มีคุณค่ามากต่อสังคมไทย แต่ถูกการเมืองเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์มานาน ทำให้อ่อนแอ นี่คือด้านลบอย่างหนึ่งของการเมืองไทย โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน

 

เชื่อในความสุจริตและความสามารถของ นพ. วิทิต อรรถเวชกุล

ข่าวอื้อฉาวเรื่องการปลด นพ. วิทิต ออกจาก ผอ. องค์การเภสัชฯ ดังตัวอย่างข่าวนี้ และข่าวนี้ ทำให้ผมซึ่งรู้ข่าววงในอยู่บ้าง  และรู้จักนิสัยใจคอและผลงานของ นพ. วิทิต ดี  ออกมาบอกสังคมไทยว่า นพ. วิทิต เป็นคนดี  มีความซื่อสัตย์สุจริต  และบริหารเก่งมาก

องค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานที่โดยหลักการแล้ว มีคุณค่ามากต่อสังคมไทย  แต่ถูกการเมืองเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์มานาน  ทำให้อ่อนแอ  เจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถไม่กล้าแสดงฝีมือเพื่อบ้านเมือง  เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจหรือไม่  ผมเคยเป็น บอร์ด ขององค์การเภสัชฯ เมื่อนานมาแล้ว  เมื่อเข้าใจว่าองค์กรนี้สภาพเป็นอย่างไร ผมก็ลาออก  เพราะไม่อยากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่มีปัญหาความซื่อสัตย์ เนื่องจากอิทธิพลทางการเมือง

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก

http://www.gotoknow.org/posts/536608

 


หน้า 483 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629570

facebook

Twitter


บทความเก่า