Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

แมงลักช่วยได้ ใครรู้บ้างว่าตัวเองแบกอุจจาระไปไหนต่อไหนกีกิโลกรัม?

พิมพ์ PDF

แมงลักช่วยได้ ใครรู้บ้างว่าตัวเองแบกอุจจาระไปไหนต่อไหนกีกิโลกรัม?
หมอพรทิพย์เคยผ่าศพพบอุจจาระตกค้างในลำไส้อย่างน่าตกใจ บางศพมีอุจจาระน้ำหนักถึง 10 กิโลกรัม มันตกค้างอยู่ได้อย่างไร

อุจจาระตกค้างอุจจาระตกค้าง เนื่องมาจาก
1. เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
2.. กินอาหารที่มีกากใยน้อย
3. มีพยาธิ หรือ เชื้อรา ทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
4. ระบบดูดซึมเสีย เพราะน้ำมันพืชเคลือบ ทำให้น้ำที่ดื่มเข้าไป ไม่หมุนเวียน
5. ไม่ถ่ายอุจจาระเวลา 05.00-07.00 เช้า

หากถ่ายอุจจาระ หลังเวลา 7 โมงเช้า ลำไส้จะบีบให้อุจจาระขึ้นไปข้างบน เวลาถ่าย จะถ่ายไม่หมด แต่ไม่รู้ตัว ที่ปลายลำไส้จะมีประสาทปลายทวาร เมื่อมีอุจจาระที่เหลวพอ มาจ่อปลายทวาร ประสาทจะส่งสัญญานบอกสมองให้ปวดอึ หลัง 7 โมงเช้า

ลำไส้จะทำงานไม่เป็นปกติ บีบอุจจาระให้ขาดช่วง เวลาถ่ายจนรู้สึกว่าหมดแล้ว เราก็หยุด แต่ความจริง อุจจาระท้ายขบวนยังไม่ออก แต่มันถูกดันกลับขึ้นไป ไม่มาจ่อปลายทวาร ทำให้เราไม่ปวดอึ เราก็นึกว่าหมดแล้ว อุจจาระที่ค้างไว้นี้ ก็จะเกาะที่ผนังลำไส้พอมีอุจจาระใหม่ที่เหลวกว่า มันก็แซงหน้าไปก่อน แต่มันไม่สามารถดันพวกที่ค้างแข็งให้ออกไปได้ พวกที่ค้างแข็งไว้ ก็เกาะติดแน่น

ฉะนั้น ทุกวันที่ถ่าย มันก็ถ่ายเฉพาะอึที่เหลวพอ ส่วนที่เหลือ ก็เกาะไปเรื่อย ๆ อุจจาระตกค้างจะไปทับเส้นเลือดต่าง ๆ

ในกระเพาะและ กดทับกระดูกหลัง ทำให้เกิดอาการมากมาย เช่น ท้องอืด ปวดหลัง ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อที่ไหล่และสะบัก เวียนหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นฝ้า ไมเกรน และ อื่น ๆ


นั่นแหละเป็นที่มา..ที่คุณหมอพรทิพย์เขียนไว้ว่า เวลาผ่าศพจะเจออุจจาระตกค้างในลำไส้อย่างน่าตกใจบางศพ มีน้ำหนักอุจจาระถึง 10 กิโล

 

การนำอุจจาระตกค้างออกจึงจำเป็นต้องหาว่าเป็นที่สาเหตุใดใน 5 สาเหตุข้างต้น แต่ถ้าสามารถได้รับการตรวจด้วยลูกดิ่งเพนดูลั่มก็จะรู้ได้ สำหรับท่านที่ไม่สะดวกในการเดินทางมาให้ตรวจก็แนะนำให้ถ่ายพยาธิเสียก่อน แล้ว ลองสูตรอาหารดังต่อไปนี้

1. เม็ดแมงลัก 2 ช้อนชา ผสมน้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้ 30 นาที ดื่มก่อนนอน
เม็ดแมงลักจะลากอุจจาระตกค้างออกมา ทานเป็นปกติได้ทุกวัน หรือ 3-4วันต่อสัปดาห์ แล้วแต่จะชอบ

2. นมสด 2 กล่อง (รวมจะได้ประมาณ 500 มิลลิตร) และ กล้วยน้ำว้า 2 ลูก ทานก่อน 6 โมงเช้า
ช่วงแรกควรทานติดกัน 3 วัน หากถ่ายก่อน 7 โมงเช้าเป็นปกติได้แล้ว ก็ลดมาเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือ ตามที่เห็นสมควร

3. ทานผักบุ้ง 2 กำมือ ผัด หรือ ต้ม ทำอาหารตามใจชอบ ผักบุ้งจะลากอุจจาระตกค้างออกมา

คราวนี้เรามาดูประโยชน์ของแมงลักกันบ้างค่ะ ว่าพืชพันธุ์ผลไม้ของไทย จะมีสรรพคุณดีๆอย่างไรกันบ้าง

ใครที่ชอบทาน "แมงลัก"ทราบถึงประโยชน์หรือไม่ วันนี้มีเกร็ดความรู้มีเรื่องนี้มาฝากกัน...

"แมงลัก" เป็นผักสวนครัว ที่มีหน้าตาคล้ายกับกะเพราและโหระพา เป็นผักที่รู้จักกันดี เนื่องจากนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้หลากหลาย เช่น เอาใบมาใส่ในแกงเลียง หรือกินสด ๆ คู่กับขนมจีนน้ำยา เป็นต้น

ประโยชน์ของ ใบแมงลัก คือ ช่วยขับเหงื่อ ขับลมในลำไส้ แก้วิงเวียน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือจะนำใบแมงลักมาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นประจำก็จะช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้หรือ โรคทางเดินอาหารได้ด้วย และใบแมงลักยังให้สารเบต้าแคโรทีนและแคลเซียม ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

 

ส่วนเม็ดแมงลักก็มีสรรพคุณ คือ มักจะถูกนำไปทำเป็นอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน เนื่องจากเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และยังมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก แถมยังช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย

วิธีรับประทานก็ให้นำเมล็ดแมงลักประมาณ 2 ช้อนชา ผสมน้ำร้อน 1 แก้ว หรือจะชงกับน้ำผึ้งหรือน้ำสมุนไพรต่าง ๆ ก็ได้

ข้อควรระวัง จะต้องรอให้เม็ดแมงลักพองตัวเต็มที่เสียก่อนจึงค่อยกินไม่เช่นนั้น แทนที่จะช่วยระบาย ก็กลับจะทำให้ท้องผูกแทน

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมหันมาทานแมงลักกัน เพื่อสุขภาพที่ดี

เครดิต: Lemonglass Closet

_/\_

Best regards,
นส.จิราภรณ์ เนื่องเจริญ *หน่อย*
Miss. Jiraporn Nuangcharoen *NOI*
Mobile:085-506-4499, 086-565-7599
081- 815-8598 ,087-134-6655
*สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ*
ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๒. พัฒนาการของนักศึกษาและบรรยากาศในชั้นเรียน : ทฤษฎี

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๒ และ ๑๓ มาจากบทที่ 6  Why Do Student Development and Course Climate Matter for Student Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นการมอง “การเรียนรู้” ของ นศ. จากมุมที่กว้างกว่า “การเรียนวิชา”  เชื่อมโยงไปสู่ “การเรียนรู้ชีวิต” สู่วุฒิภาวะในทุกๆ ด้าน  และมองว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ. กับ นศ.  และระหว่าง นศ. กับครูมีผลต่อการเรียนรู้มาก

ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๓ ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์

บทที่ ๖ เริ่มต้นด้วยคำบ่นผิดหวังขัดข้องของศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่บรรยากาศในห้องเรียนไม่ราบรื่น  ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้  เป็นการวางฉากสถานการณ์ในห้องเรียนที่สะท้อนความเป็น “ผู้เยาว์” ของ นศ.  และเรื่องที่ ๒ สะท้อนสภาพ “หวังดีกลับได้โทษ” ต่ออาจารย์


การพัฒนา นศ. อย่างเป็นองค์รวม

สัจจธรรมเกี่ยวกับ นศ. ก็คือ  นศ. ไม่ได้เป็นแค่สัตว์ปัญญา (Intellectual Being) แต่ยังเป็นสัตว์สังคม (Social Being) และสัตว์อารมณ์ (Emotional Being) ด้วย  ๓ ปัจจัยนี้บูรณาการกันเป็นตัว นศ. แต่ละคน และมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียน ทั้งของตัว นศ. เป็นรายคน และต่อชั้นเรียน

นั่นคือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน  ไม่ได้มีประโยชน์ต่อ นศ. เฉพาะด้านการเรียนวิชาเท่านั้น  แต่มีประโยชน์เป็นการเรียนรู้องค์รวม ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ชีวิต ที่เรียกว่า การพัฒนานักศึกษา (Student Development) หรือการเอื้ออำนวยให้ นศ. เปลี่ยนสถานะจากนักเรียนมัธยม มาสู่การเป็น นศ. ซึ่งต้องฝึกรับผิดชอบตนเองในทุกด้าน  ได้เรียนรู้รอบด้าน ได้แก่ด้านการมีชีวิตไกลบ้าน ออกจากอ้อมอกพ่อแม่  ฝึกบังคับควบคุมตนเอง  การเข้าสังคมกับเพื่อน  การต่อรองรอมชอมกับเพื่อนร่วมห้อง ร่วมชั้น   การสร้างความเป็นตัวตนของตนเอง  การสร้างการยอมรับในหมู่เพื่อน  การจัดการด้านการเงิน  ตัดสินใจต่อเรื่องสุรา ยาเสพติด  เรื่องทางเพศ  และอื่นๆ   แล้วยังต้องตัดสินใจเรื่องการเรียน  จะลงเรียนวิชาใดบ้าง  จะเลือกวิชาใดเป็นวิชาเอก วิชาโท วิชาเลือก  จะเข้าเป็นสมาชิกชมรมใดบ้าง  จะเล่นกีฬาอะไร ฯลฯ

ช่วงชีวิตของ นศ. ระดับปริญญาตรี (อายุ ๑๗ - ๒๔ ปี) เป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม และทักษะทางอารมณ์ หรือกล่าวใหม่ว่า เป็นช่วงที่ นศ. ยังไม่พัฒนาเต็มที่ใน ๒ ด้านนี้  ซึ่งตามความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์บอกว่า จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ ๒๕ ปี  แต่ประสบการณ์ชีวิตบอกผมว่า ยังมีพัฒนาการเรื่อยไปตลอดชีวิต

มีความจริง ๒ ประการเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านสังคมและด้านอารมณ์  ที่ได้จากผลการวิจัย คือ  (๑)​ ในช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย นศ. ได้รับประโยชน์ด้านการเรียนรู้เชิงสังคม และด้านอารมณ์  มากกว่าประโยชน์ด้านปัญญา (intellectual)  (๒) หากพัฒนาการ/การเรียนรู้ ด้านสังคมและอารมณ์ไม่ราบรื่น  จะมีผลทำให้การเรียนด้านปัญญาหรือวิชาการล้มเหลว


หลักการสำคัญ พัฒนาการของ นศ. มีปฏิสัมพันธ์กับบรรยากาศของรายวิชาในด้านสังคม อารมณ์ และปัญญา  และมีผลต่อการเรียนรู้


การพัฒนา นศ. (Student Development)

พัฒนาการของ นศ. เป็นประเด็นที่ครูต้องเอาใจใส่  ดังหลักการของการศึกษาแนวถือ นศ. เป็นศูนย์กลาง (Student-Centered) ว่า “ครูสอนศิษย์ ไม่ใช่สอนวิชา”

ครูจึงต้องทำความเข้าใจ และเอาใจใส่ สิ่งท้าทายต่อ นศ. ในด้าน สังคม อารมณ์ และปัญญา  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าครูต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ฝึกทุกเรื่องแก่ นศ.  เรื่องที่ไม่ต้องทำหน้าคือเรื่องเงิน กับเรื่องปัญหาหัวใจ  ความเข้าใจนี้ จะช่วยให้ครูจัดบรรยากาศการเรียนรู้ได้เหมาะสมขึ้น

ความหมายของ การพัฒนา นศ. ในที่นี้ นิยามว่าหมายถึง การตอบสนองต่อความท้าทายด้านปัญญา สังคม หรืออารมณ์ ที่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของ นศ.  โดยเน้นมอง นศ. เป็นกลุ่มในภาพรวม  และตระหนักว่า ระดับวุฒิภาวะของ นศ. แต่ละคนไม่เท่ากัน  และ นศ. แต่ละคนอาจมีระดับวุฒิภาวะบางด้านด้อยกว่าด้านอื่นๆ  เช่น นศ. บางคนอาจมีระดับวุฒิภาวะทางปัญญาและทางสังคมสูง แต่อ่อนด้อยด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์

ผมขอหมายเหตุความเห็นของตนเองไว้ ณ ที่นี้ว่า  วงการศึกษาไทยมักไม่ได้มองอย่างที่ระบุในหนังสือบทนี้  ว่าครู/สถาบันการศึกษา ต้องเอาใจใส่การพัฒนานักศึกษารอบด้าน ไม่ใช่เอาใจใส่แค่สอนวิชา  ระบบการศึกษาไทยยังเอาใจใส่เฉพาะที่การสอนวิชากันอยู่


ทฤษฎีพัฒนาการของ นศ. แนว Chickering (The Chickering Model of student Development)

เป็นทฤษฎีที่เสนอว่าในช่วงเวลาในมหาวิทยาลัย นศ. ระดับปริญญาตรี มีพัฒนาการรวม ๗ ด้าน  ที่เขาเรียกว่าเป็น 7 vectors ที่มีอิทธิพลหรือเป็นพื้นฐานต่อกันและกัน คือ

 

 

๑.  การพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งรวมสมรรถนะด้าน ปัญญา กายภาพ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

สมรรถนะด้านปัญญา รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ในบรรยากาศมหาวิทยาลัย  ไปจนถึงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะแก้ปัญหา

 

สมรรถนะด้านกายภาพ รวมถึงการเล่นกีฬา  ทักษะในการรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของตนเอง (ไม่ใช่อยู่ในปกครองของพ่อแม่อีกต่อไป)  การมีร่างกายแข็งแรง

 

สมรรถนะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงทักษะด้านการสื่อสาร  ด้านกลุ่ม  และด้านภาวะผู้นำ

 

สมรรถนะทั้ง ๓ กลุ่มนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ นศ. ว่า ตนจะสามารถเผชิญความท้าทายต่างๆ ได้

 

๒.  การจัดการอารมณ์ คือรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง  (ได้แก่ ความกังวล  ความสุข  ความโกรธ  ความขัดใจ  ความตื่นเต้น  ความหดหู่ เป็นต้น)  และมีทักษะในการแสดงออกอย่างเหมาะสม  ในตัวอย่างที่ยกมาตอนต้นบทของหนังสือ  การเรียนเรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากผู้อพยพเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา ล่มลงกลางคัน เพราะ นศ. ไม่มีความสามารถในการจัดการอารมณ์


 

๓.  พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เป็นทักษะในการแยกตัวออกมาจากพ่อแม่  เข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อน  และกลายเป็นตัวของตัวเองในที่สุด  ประเด็นสำคัญที่สุดคือการพัฒนาความสามารถพึ่งตนเองทางอารมณ์  และพึ่งตนเองในเรื่องต่างๆ ในชีวิต   ผลการวิจัยบอกว่าวัยรุ่นสมัยใหม่มีความยากลำบากในการพัฒนาเรื่องนี้มากกว่าวัยรุ่น สมัยก่อน  โดยกลไกการพัฒนาต้องผ่านการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (interconnectedness) เสียก่อน  แล้วจึงเคลื่อนสู่สภาพ พึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence)

 

ครูต้องเข้าใจจิตวิทยาข้อนี้  สำหรับระมัดระวังไม่จัดสภาพห้องเรียนให้เข้าไปรบกวนขั้นตอนการพัฒนาตนเองของ นศ. ข้อนี้


 

๔.  สร้างอัตตลักษณ์ เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ของทฤษฎี Chickering  โดยพัฒนาบนฐานของ 3 vector ที่ผ่านมา  และเป็นฐานของการพัฒนาอีก 3 vector ที่เหลือ  เป็นการพัฒนาความพึงพอใจ และความภาคภูมิใจ ในตนเอง  ทั้งด้านร่างกาย  รูปลักษณ์  เพศและเพศสภาพ  เชื้อชาติ  และชาติพันธุ์ ของตน

 

นศ. ที่มีวุฒิภาวะด้านอัตตลักษณ์ จะมีความมั่นใจในตนเอง และมีทักษะในการเคารพและรับฟังความเห็นของคนอื่นที่แตกต่างได้ดี  ไม่รู้สึกถูกคุกคามจากความคิดเห็นที่แตกต่าง  ช่วยให้กิจกรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม และในชั้นเรียน มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้ง หรือทะเลาะเบาะแว้ง


 

๕.  พัฒนาความเป็นอิสระจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นวุฒิภาวะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ได้แก่ ตระหนักในความแตกต่างระหว่างบุคคล  และอดทน/ยอมรับ ความแตกต่างนั้น  วุฒิภาวะด้านความสัมพันธ์เชิงความรัก ก็จัดอยู่ในข้อนี้


 

๖.  พัฒนาจุดมุ่งหมายในชีวิต (purpose) พัฒนาจาก “ฉันเป็นใคร” ในขั้นตอนพัฒนาอัตตลักษณ์  สู่ “ฉันจะเป็นคนแบบไหน” ในขั้นตอนนี้  ได้แก่การพัฒนาความสนใจ อาชีพ และลีลาชีวิต  โดยสามารถผ่านอุปสรรค ความยากลำบาก ความไม่เห็นพ้อง ได้


 

๗.  พัฒนาความมั่นคงในคุณธรรม (integrity) เป็นประเด็นของความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือของสังคม  ความรับผิดชอบต่อสังคม   เมื่อพัฒนาจนเกิดวุฒิภาวะ ก็จะเกิดการให้คุณค่าภายในจิตใจ ที่จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ

 

 

พัฒนาการทั้ง ๗ ด้านนี้ นศ. ยังอยู่ในช่วงของการฝึกหัดไปพร้อมๆ กันกับบทเรียนตามหลักสูตร และรายวิชา  และมีผลซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน  ครูพึงเข้าใจความซับซ้อนนี้ ที่กำลังเกิดขึ้นในชั้นเรียน และในสังคมมหาวิทยาลัย อยู่ทุกขณะ  สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อ ความตั้งใจเรียน แรงจูงใจ ความขยัน ความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ และเอกลักษณ์ในสาขาวิชาชีพที่ตนเลือก

ผมเถียง Chickering ว่าพัฒนาการทั้ง ๗ ด้านนี้ ไม่ใช่มาพัฒนาเอาตอนเข้ามหาวิทยาลัย  คนเราพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่อยู่ที่บ้านและเรียนอนุบาลเรื่อยมา   แต่จะต้องมาพัฒนาให้มั่นคง สู่ความเป็นผู้ใหญ่ในช่วงมหาวิทยาลัย


พัฒนาการทางปัญญา (Intellectual Development)

ฝรั่งเขาศึกษาพัฒนาการทางปัญญาในช่วงของการเป็น นศ. มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ช่วงปี 1950s   แต่หนังสือเล่มนี้ยึดตามทฤษฎีของ Perry (Perry W. (1968). Forms of intellectual and ethical development in the college years : A scheme. New York : Holt Rinehart & Winston.)  และคนอื่นๆ หลังจากนั้น ที่ได้ข้อค้นพบคล้ายคลึงกัน

หัวใจสำคัญคือ ในช่วงนี้ นศ. มีพัฒนาการหลายขั้นตอน  ในช่วงต้น นศ. จะคิดเป็น ๒ ขั้ว  ดำ-ขาว  ถูก-ผิด หรือทวิภาพ (duality) ในช่วงนี้ นศ. มองความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ (absolute) ที่เขียนขึ้นโดย “ผู้รู้”  มีครูเป็น “ผู้รู้”  นศ. มีหน้าที่เรียนและดูดซับความรู้ไว้  และเมื่อถูกถามก็ตอบให้ตรงกับที่เรียนมา

เขาบอกว่าแนวคิดแบบนี้เรียกว่า มุมมองเชิงปริมาณต่อความรู้ (quantitative view)  มองว่าการศึกษาคือการถ่ายทอด “ความรู้ที่ถูกต้อง”  ภายใต้ความเชื่อว่า สิ่งที่รู้ได้เข้าใจได้ เป็นที่รู้กันหมดแล้ว  และครูเป็นผู้ที่มีความรู้ ตอบได้ทุกคำถาม

ในขั้นตอนนี้ นศ. ไม่เห็นคุณค่าของการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

หลังจากนั้น มุมมองต่อความรู้และการเรียนรู้ ของ นศ. เปลี่ยนไปเป็นแบบ หลากหลาย (multiplicity) ความรู้กลายเป็นข้อคิดเห็น  ใครๆ ก็มีข้อคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามแนวคิดของตนเองได้  ในขั้นนี้ นศ. จะไม่พอใจเรื่องการสอบ หากตนไม่ได้คะแนนดี  เพราะ นศ. ยังแยกไม่ออกระหว่างความเห็นที่ถูกต้อง กับความเห็นที่ผิด  ครูไม่ใช่ “ผู้รู้ ผู้ตัดสิน” อีกต่อไป  กลายเป็นความเห็นหนึ่ง เท่านั้น

ในขั้นตอนนี้ ความก้าวหน้าสำคัญ ๒ ประการคือ  (๑) นศ. มีใจเปิดรับความเห็นที่แตกต่าง  ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อ “ความรู้ที่ถูกต้อง”  (๒) การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในแต่ละคน (personal)  แต่ละคนเรียนรู้ไม่เหมือนกัน  นศ. แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะสร้างความรู้ของตนเอง

ต่อจากนั้น นศ. จะพัฒนาก้าวสู่มุมมองเชิง สัมพัทธภาพ (relativism) นศ. เริ่มตระหนักว่า ความเห็นที่ต่างกันนั้นไม่เท่าเทียมกัน  ความน่าเชื่อถือขึ้นกับข้อมูลหลักฐาน  มุมมองต่อความรู้กลายเป็นมุมมองเชิงคุณภาพ (qualitative view)  ครูกลายเป็นผู้ชี้ทางและเป็น “คุณอำนวย”   และ นศ. ตระหนักว่า ไม่มีความรู้หรือทฤษฎีใดสมบูรณ์

ขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการ นศ. เกิดความผูกพัน (commitment) มีความเข้าใจว่า แม้ไม่มีทฤษฎีใดสมบูรณ์ ก็ต้องเลือก ๑ ทฤษฎีหรือแนวคิดเป็นฐาน สำหรับเรียนรู้ต่อไป  เท่ากับความคิดของ นศ. วนกลับมาคล้าย ทวิภาพ  คือเลือกหนึ่งแนวทาง  แต่ไม่เหมือน เพราะในขั้นตอนนี้ ความคิดของ นศ. เข้าใจความแตกต่างหลากหลายแล้ว  และเลือกหนึ่งแนวทาง (โดยมีข้อมูลหลักฐานประกอบการเลือก) สำหรับเดินทางเรียนรู้ต่อ ในท่ามกลางความหลากหลายนั้น

พัฒนาการทางปัญญานี้ ไม่แยกจากพัฒนาการทางศีลธรรม  เมื่อพัฒนาการทางปัญญาเข้าสู่วุฒิภาวะ  พัฒนาการทางศีลธรรมก็ยกระดับขึ้นด้วย  เพราะขั้นตอนของพัฒนาการที่กล่าวมาแล้วเป็นการเรียนรู้  การเรียนรู้ที่แท้จริงมีธรรมชาติบูรณาการ  ไม่แยกด้าน

ยังมีผลงานวิจัยลงรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนพฤติกรรมการเรียนรู้สู่พัฒนาการทางปัญญาอีกมากมาย แต่จะไม่นำมาลงในบันทึกนี้

ควรย้ำไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า นศ. บางคนอาจจบออกไปเป็นบัณฑิต โดยที่พัฒนาการนี้ยังไปไม่สุด  และผมขอสารภาพว่าผมเป็นคนหนึ่งในนั้น

ครูต้องหมั่นทำความเข้าใจขั้นตอนของพัฒนาการนี้  สำหรับใช้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของ นศ.  และใช้ความเข้าใจนี้ในการจัดการชั้นเรียนให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ ให้ “รู้จริง”


การพัฒนาอัตตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Development)

ทฤษฎีด้านอัตตลักษณ์บอกว่า อัตตลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด  แต่เป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้า  และต้องจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอัตตลักษณ์ กับการทำงาน ตลอดชีวิต

อัตตลักษณ์เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้ตัวเอง และปรับแต่ง ตลอดชีวิต  ผมขอแถมตรงนี้ว่า โปรดอย่าสับสนกับการ “สร้างภาพ”

ขั้นตอนสำคัญในการสร้างอัตตลักษณ์ เกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นตั้งคำถามต่อเกณฑ์คุณค่า และสมมติฐานที่กำหนดโดยพ่อแม่และสังคม  นำมาใช้กำหนดเกณฑ์คุณค่าของตนเอง และมีลำดับความสำคัญของตนเอง

ทฤษฎีพัฒนาอัตตลักณ์ทางสังคมของ Hardiman & Jackson (อ่านได้ ที่นี่ และ Hardiman R, Jackson B (1992). Racial idendity development  : Understanding racial dynamics in college classrooms and on campus. In M Adams (Ed.). Promoting diversity in college classrooms : Innovative responses for the curriculum, faculty and institutions. (Vol. 52, pp. 21-37). San Francisco : Jossey-Bass.)อธิบายว่า มี ๓ ขั้นตอนของการพัฒนาอัตตลักษณ์ทางสังคมของ นศ. แต่ละคน

 

๑.  ช่วงเป็นเด็กเล็ก อาจเรียกว่าเป็นช่วง ไร้เดียงสา (naiive) คือมองเห็นความแตกต่างของผู้คน แต่ไม่มีการตีความหรือให้คุณค่าใดๆ

 

๒.  ช่วง ยอมรับ (acceptance) เกิดขึ้นหลังจากได้มีประสบการณ์ทางสังคมกับคนหลากหลายกลุ่ม  ได้รับรู้แนวคิดสมมติทางสังคม (social construct) หลากหลายแบบ  นศ. ส่วนใหญ่จะบรรลุวุฒิภาวะอยู่ที่ช่วงนี้  คือมีความพอใจ มั่นใจกับสภาพความเป็นจริงของตน

 

๓.  ช่วงต่อต้าน (resistance) เกิดขึ้นหาก นศ. มีประสบการณ์ความอยุติธรรมในสังคม

 

 

ผมอ่านเรื่องราวของทฤษฎีนี้แล้ว  มีความเห็นว่า เป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นจากสภาพสังคมอเมริกัน  ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมไทย  ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่อาจารย์ไทยจะทำวิจัยเรื่องการพัฒนาอัตตลักษณฺนี้ ในบริบทไทย ได้อีกมาก


 

บรรยากาศที่มีผลต่อการเรียนรู้

การเรียนรู้ไม่ได้เกิดในสูญญากาศ  แต่เกิดขึ้นในบรรยากาศจริงของรายวิชา และสถาบันการศึกษา  บรรยากาศที่ดีมีผลเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา  และบรรยากาศที่ไม่ดีมีผลลบ

นอกจากนั้น บรรยากาศยังมีผลต่อพัฒนาการของ นศ. อีกด้วย

บรรยากาศในที่นี้มี ๔ ส่วน คือสภาพแวดล้อมด้านปัญญา สังคม อารมณ์ และกายภาพ  ที่ นศ. เผชิญในชั้นเรียน และภายในสถาบันการศึกษา  ตัวกำหนดบรรยากาศคือปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่ซับซ้อน  เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับ นศ.  การกำหนดระดับความยากง่าย เคร่งขรึมหรือสนุกสนานที่ครูกำหนด  ความเอาจริงเอาจังหรือท่าทีผักชีโรยหน้า  ลักษณะของประชากรในชั้นเรียน (เช่นจำนวน นศ. ต่างกลุ่มชาติพันธุ์)  ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ.  และมุมมองที่แตกต่างที่นำเสนอในชั้นเรียน

มุมมองต่อบรรยากาศแบบคิดง่ายๆ คือมองเป็น ๒ ขั้ว ดี-ไม่ดี  ดีหมายถึงเท่าเทียมกัน  เกิดการเรียนรู้ดี  ไม่ดีหมายถึง เย็นชา  เหยียดผิว เป็นต้น

ประเด็นสำคัญคือ บรรยากาศเดียวกัน นศ. ต่างคนอาจรู้สึกต่างกันเป็นคนละขั้วก็ได้

ในความเป็นจริง ความแตกต่างของบรรยากาศ ไม่ได้แบ่งเป็น ๒ ขั้ว  แต่มีลักษณะลดหลั่นลงมาทีละน้อย ตั้งแต่ ดำ เทาแก่ และลดความเทาลงเรื่อยๆ จนขาว


ลักษณะท่าทางเฉพาะ (Sterotype)

ลักษณะท่าทางเฉพาะบางอย่างก่อกวนชั้นเรียน เช่นก้าวร้าว  เหยียดผิว  พูดมาก  คุยโว  ซึ่งบ่อยครั้งผู้มีลักษณะเช่นนี้ไม่รู้ตัว  ยิ่งถ้าครูมีลักษณะนี้ซ่อนอยู่  และ นศ. บางคนรู้สึก และความรู้สึกนั้นอาจก่อกวนให้ไม่อยากเรียน

ลักษณะท่าทางเฉพาะ มีทั้งแบบที่ก่อผลลบต่อบรรยากาศการเรียน  และที่ก่อผลบวก  เช่นครูที่มีมุขตลก ช่วยให้บรรยากาศการเรียนไม่เคร่งเครียด


ท่าที(Tone)

นี่คือท่าทีการสื่อสารของครูต่อ นศ. ทั้งในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียน  ทั้งการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษร  สื่อสารด้วยวาจา  และสื่อสารด้วยสีหน้าท่าทาง และพฤติกรรมอื่นๆ (non-verbal communication)  ครูพึงตระหนักว่า นศ. มีความไวต่อการสื่อสารแบบไม่ใช่ถ้อยคำเป็นพิเศษ  และครูที่มีความรักความเตตาต่อศิษย์ ก็จะสื่อสารความรักความเมตตาให้ศิษย์สัมผัสได้โดยง่าย

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมจากในหนังสือว่า ท่าทีของครูที่เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนรู้อย่างบูรณาการของศิษย์ มีทั้งท่าทีเชิงบวกตามที่กล่าวไปแล้ว  กับท่าทีเชิงลบ ตัวอย่างเช่น ครูควรแสดงท่าทีหรือจุดยืนที่ชัดเจนต่อพฤติกรรมทุจริต เช่นการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง (plagiarism)  การลักขโมยสิ่งของ  การลอกข้อสอบ  ว่าเป็นพฤติกรรมที่จะต้องได้รับโทษหนัก หากสอบสวนแล้วพบว่าทำจริง


ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นศ. - นศ.  และ นศ. - อาจารย์

ผลงานวิจัยเรื่องนี้บอกว่า ปัจจัยด้านนี้ที่มีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ เรียกว่า “ความรู้สึกต่อกันระหว่างอาจารย์-นักศึกษา” (Faculty Student Orientation)  ซึ่งหมายความรวมถึง การที่ นศ. รู้สึกว่าอาจารย์เอาใจใส่ปัญหาการเรียนของ นศ.  ครูเอื้อเฟื้อต่อ นศ. ชนกลุ่มน้อย  เข้าพบได้นอกเวลาเรียน  ปฏิบัติต่อ นศ. ในฐานะคน ไม่ใช่หมายเลข  เป็นต้น

ผลการวิจัยบอกว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเรียนในระดับที่ลึกซึ้งมาก


สาระ (Content)

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศการเรียน ที่กล่าวแล้วข้างบน เป็นปัจจัยด้านกระบวนการทั้งสิ้น  ผลการวิจัยบอกว่า ตัวสาระหรือเนื้อหาที่เรียน ก็มีผลกระทบต่อบรรยากาศการเรียนด้วย   ทั้งสาระ และวิธีการจัดการเรียนการสอน   จุดสำคัญคือ ช่วยให้ นศ. รู้สึกว่าวิชานั้นมีความหมายต่อชีวิตของเขา

ผมขอย้ำอีกทีว่า เมื่ออ่านหนังสือบทนี้จบ ผมเห็นโจทย์วิจัย หรือโอกาสทำวิจัยในห้องเรียนไทยมากมาย

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/522911

 

สรุปการบรรยายหัวข้อ การสัมมนาโครงการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สื่อมวลชน โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

พิมพ์ PDF

สรุปการบรรยายหัวข้อ การสัมมนาโครงการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สื่อมวลชน

ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม 2556

สำนักงาน กสทช.

บทบาทขององค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ

โทรคมนาคมของประเทศไทย

โดย  พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี  ประธาน กสทช.


ทำไมต้องมีการกำกับดูแล

1.  สร้างระบบการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส

2.  การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่

3.  คุ้มครองผู้บริโภคและสร้างมูลค่าสาธารณะ

4.  กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาค

-  การประมูล 3 จี ได้เงิน 4 หมื่นล้าน เข้ากระทรวงการคลัง

-  ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น เนื่องจาก 3จี ทำให้คุณภาพดีขึ้น

-  คุ้มครองผู้บริโภค ราคา 3 จี ลดลง 15 %

กสทช. ในปัจจุบัน มาจากการสรรหาโดยตั้งคณะกรรมการสรรหา 15 ท่าน จากหน่วยภาครัฐเอกชน 2 ชุด ทั้งหมด 44 คน แล้วคัดเลือกเหลือ 11 คน

การบริหารคลื่นความถี่

1.  จัดทำแผนแม่บท

2.  จัดสรรคลื่นความถี่

3.  ออกใบอนุญาต

การกำกับดูแลประกอบกิจการ

1.  ด้านกำกับดูแล

2.  ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

3.  ด้านการให้บริการโดยทั่วถึง

การบริหารกองทุนวิจัย

ให้ประชาชนไดรับประโยชน์อย่างทั่วถึง

ผลงาน

-  Digital TV

-  Digital Radio

-  3g

-  4g

ปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค

-  คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพผู้ใช้บริการ

-  มีศูนย์การเรียนรู้

เป้าหมายที่ท้าทายกสทช.

การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ  และเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สรุปการบรรยาย หวัข้อ “ถึงเวลา 4G ประเทศไทย

โดย  พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค.

คุณเจษฎา ศิวรักษ์

อาจารย์ลิขิต หงส์ลดารมภ์ ที่ปรึกษากรรมการ กสทช.

ร่วมวิเคราะห์และดำเนินการอภิปราย โดย

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

 

ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์

-  วันนี้เป็นช่วงที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ขอยินดีกับนักข่าวที่จะไปด้วยกันในครั้งนี้

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์

-   ก่อนจะพูดถึง 4 G เราเริ่มทำ 1 G คือสมัยการทำโทรศัพท์ยุคที่ 1 ให้บริการ NMP หรือระบบ Amp มีผู้ใช้ไม่กี่คนประมาณ 100,00 คน

-  2G เป็นระบบเอามาใช้แทนที่โทรศัพท์ประจำที่ เป็นระบบดิจิตอล แทน Analog

-  จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 6,500ราย โทรศัพท์เคลื่อนที่ทดแทนโทรศัพท์ประจำที่ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

-  3G เป็นการเกิดขึ้นของการให้บริการโทรศัพท์แบบ Data มีการใช้ VDO call  และ Voice Call

-  4G มาพร้อมสิ่งใหม่เรียกว่า M2M (Machine to Machine) เป็นการตีตามจำนวนสิ่งของที่สามารถคุยกันได้  มีความถี่ใหม่ ๆ ที่เข้ามา เทคโนโลยี LTE (Longterm Evaluation) ญี่ปุ่นเช่น Docomo นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เปิดให้บริการภายใต้ชื่อของ CXI 2.1 กิกกะเฮิร์ต คาดว่าในปี 2515 น่าจะเพิ่มผู้ใช้เป็น 41 ล้านราย ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาเข้าสู่ 4 G มากขึ้น

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

-  ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่ ใช้ 3 G เป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีในปี 2000 ตัวอย่าง Docomo  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

-  ในอนาคตอันใกล้ อาจจะมีความนิยมใช้งานกันเช่นในระบบ Cloud เช่นถ้าเราจะไปพารากอน ขับรถไปชิดลม เอารถไปจอดไว้ เอาบัตร ID ไปแตะ เพื่อสามารถเช่ารถอีกคันหนึ่งได้ นี่คือระบบการใช้เทคโนโลยีแบบ M2M

-  ในอนาคตอาจมีข้อถกเถียงว่าใครจะเป็นคนดูแลกันแน่ อย่างตัวอย่างในเมืองนอกมีเพียงองค์กรเดียว แต่ไทยยังต้องดูก่อน มีการประมูลสัญญาสัมปทาน  ในอนาคตอาจทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น และเข้า AEC  ดังนั้นในอนาคต ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น เกิดโอเปอเรเตอร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนคือการทำแบบ Licensing รัฐกับเอกชน ในทั่วโลกมีการตั้งองค์กรเป็น Regulator และมีกระทรวง ICT ขึ้นอยู่กับใครจะ  Authorize

-  เราเป็น Regulator  ในการให้คำปรึกษาและดำเนินการเทคนิค

-  สิ่งที่สำคัญคือย่างก้าวต่อไป ยังมีข้อโต้แย้งกัน เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนทุกประเทศ เช่นว่าทำไม กสทช.ยังเอาคลื่นมาประมูลหลังจากหมดสัญญา กสทช.ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ การเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานมาสู่ใบอนุญาตเพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีจุดกำเนิดที่เท่าเทียมกันสามารถแข่งขันกันได้

-  1800 เมกะเฮิร์ต ซึ่งเข้ามาใช้งานในระบบ Longterm Evaluation  ในขณะนี้ ITU ได้รับรองการเห็นพ้องกันในระดับชุมชน พบว่าเป็นคลื่นทีรับรองในหลายประเทศ  2 รายที่จะหมดสัญญาสัมปทาน 2.5 เมกะเฮิร์ตยังแย่งกันอยู่ คือ1,800 เป็นไปได้ทั้งระบบเก่าและระบบใหม่

-  การบริหาจัดการทางกฎหมายค่อนข้างเยอะ  ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่สามารถทำอะไรก็ได้ ระบบเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียว เทคโนโลยีในอนาคตจะหาช่องที่ว่างแล้วไปใช้เทคโนโลยีตรงนั้น ระบบการบริการการเปลี่ยนแปลงใช้การจัดการที่มาก  ส่วนใหญ่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นอิสระด้านเทคโนโลยีมาก เพราะเขาทำเทคโนโลยีเอง  เพราะฉะนั้นทุกอย่างเปลี่ยนไปมากแล้วในปัจจุบัน การบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงไป การคิดมูลค่าคลื่นเปลี่ยนไปมาก อย่างในญี่ปุ่นไม่มีการประมูลคลื่นอย่างเรา แต่เขาจะ Assign ไปให้ทำ ไม่ยึดติดกับการประมูลคลื่นเท่าไหร่ ไม่เหมือนในยุโรป และอเมริกา ที่ยึดการทำออกชั่นในการประมูล

 

 

ดร.เจษฎาศิวรักษ์

ที่ญี่ปุ่น มีการ Assign ให้บริษัททำ Docomo 1 ปีหลังจากการ Assign เปิดบริการได้ เขาทำมา 10 กว่าปีคิดว่าคลื่น 2,100 เมกะเฮิร์ต เหมาะกับการทำ 4 G ได้ จึงได้ลงมือทำ ทั่วโลกตอนนี้ 4 G อยู่ที่ 1800 เมกะเฮิร์ต  พบว่าคนที่กำหนดเทคโนโลยีโลกในวันนี้คือคนที่ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือ ที่ใช้กันอยู่ ไม่ใช่ Regulator

 

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

-  ญี่ปุ่นเป็น Case พิเศษมาก ๆ เพราะเขามีเทคโนโลยีของเขา เพียงแต่ไม่ได้ไป Fill out ITU เท่านั้น

ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์

-  ฝากให้สื่อมวลชนมองในอนาคตว่าประโยชน์สูงสุดของ 4 G ในประเทศไทยคืออะไร  ต้องมองเรื่องเทคโนโลยี ราคา การใช้สอย ประโยชน์ต่าง ๆ เรื่องการเมือง เรื่องกฎหมาย Complexity  การฟังแล้วต้องข้ามศาสตร์ ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียวเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางราคา

ดร.ลิขิต  หงส์ลดารมภ์

-  ถึงเวลา 4 G ประเทศไทย คือเทคนิค เราต้องทำความเข้าใจว่าใครใช้อะไร ต้องใช้

1.  เวลาศึกษาว่า 4 G ประเทศไทยคืออะไร  ใครเป็นคนกำหนด  เทคโนโลยีที่เป็นกลาง ที่เราจะใช้คืออะไร  ประโยชน์ของ 4 G  ใครเป็นคนกำหนด

2.  ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรม คือ กสทช. ใครเป็นผู้กำหนดนโยบายการดำเนินงานของประเทศไทย  เรามีนโยบาย ICT 2010 ,2020  ไปญี่ปุ่น นโยบายที่เขาดำเนินการระบบโทรคมนาคมของญี่ปุ่น กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม ไม่ใช่กำหนดว่ามีหรือไม่

3  .ประโยชน์ของ 4 G  การกำหนดของ 4 G ต้องดูว่า GDP เพิ่มเท่าไหร่ เช่น ในอังกฤษบอกว่าจะมีกาเพิ่มการลงทุนประมาณ 500 ล้านปอนด์ใน 5 ปี สหรัฐบอกว่า 2 G ไป 3 G เพิ่มงาน 1.6 ล้านคน จาก 3G  ไป 4G เพิ่มงาน 2 ล้านคน  เจ้าภาพด้านนโยบายเทคโนโลยีของประเทศไทยไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ สิ่งที่ได้ประโยชน์กับผู้บริโภคจะให้ประโยชน์มหาศาลหรือไม่ 4 G เร็วกว่า 3 G ประมาณ 6- 10 เท่า

ปัญหาใครได้ประโยชน์ ประเทศได้ประโยชน์แน่นอน ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประโยชน์หรือเสียเปรียบ ไทยผลิตไม่ได้เลยซื้ออย่างเดียวแต่ข้อดีคือ เงินบาทแข็งค่า เราสั่งได้เยอะมาก ไทยมีศักยภาพในการสรรหา แต่เสียเปรียบคือ Net Benefit ได้หรือไม่ ใครเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ ประเทศไทยยังไม่มีเจ้าภาพ

ประโยชน์สรุปคือ เทคโนโลยีหาได้ ประเทศมีกำลังซื้อ เรามีความพร้อมที่จะมี 4 G หรือไม่ ตัวอย่างของประเทศจีน ผู้ผลิตยังไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด ผู้ผลิตยังไม่สามารถพัฒนาได้ นี่เป็นตัวอย่างของการมองตัวเอง แต่ไทยไม่ค่อยมองตัวเองเท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือ  กสทช.ไม่มีหน้าที่

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

-  กสทช.มีหน้าที่คือทำให้การใช้เทคโนโลยีได้เต็มประสิทธิภาพ

-  ประเทศไทยเคลี่อนตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลก

-  ส่วนใหญ่ประเทศที่มีอำนาจเทคโนโลยีมาก ๆ จะกำหนดทางเดินได้

-  เทคโนโลยีก้าวไปเร็ว กสทช.มีหน้าที่ดูว่าคลื่น 1,800 เมกะเฮิร์ต ITU กำหนดอย่างไร เช่นเป็นบรอดแบรนด์เป็นต้น  กสทช.ไม่สามาถกำหนดได้ว่าลึก ๆ จะเป็นอย่างไร

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์

-  เราทำหน้าที่บริหารคลื่นความถี่ให้ได้ดีสุดตามกลไกที่ให้ไว้  การบริหารคลื่นความถี่ ยิ่งใช้มาก ยิ่งดี

-  ผู้ให้บริการ OTT Player ถ้าค่าใช้โทรศัพท์แพงอาจไปใช้ Line  หรือ Skype แทนได้ ดังนั้นธุรกิจ OTT ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการฟรี และสปอนเซอร์ แต่ปัญหาเกิดการสั่นคลอนในวงการมือถือพอสมควร

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

-  พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มไปกำหนดการใช้งานเช่นการใช้ Line ทำให้การ Investment ผิดพลาดหมด

แสดงความคิดเห็น

-  อยากให้วิจารณ์เปรียบเทียบระบบใบอนุญาต 3 G กับที่ญี่ปุ่นที่ Assign ให้โอเปอเรเตอร์ไปเลยแต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ดร.เศรษฐพงศ์ตอบ กสทช. ต้องทำตาม พ.ร.บ. แต่ทางเทคนิคอาจไม่ถูกต้องมากนัก ข้อดีข้อเสียมีต่างกัน บางประเทศให้บริการคลื่นความถี่เป็นหลัก บางประเทศมีประสบการณ์บอบช้ำเช่นญี่ปุน จะมองทั้งระบบ เขาต้องมองไปในอนาคต 10ปี จึงมองว่าการประมูลเป็นเรื่องเล็กมาก อย่าง Docomo เหมือน TOT ในไทยที่แยกไปเป็นบริษัทเอกชน ข้อดี ข้อเสีย เช่น อังกฤษ ประมูลทีหนึ่งได้เงินมาเยอะมากแต่เจ๊งระหว่างทาง รัฐต้องเข้าไปช่วย

ดร.เจษฎา ตอบ กสทช.เป็นองค์กรบริหารคลื่นความถี่แล้วมาสู่เครื่องมือจัดสรรคลื่นความถี่ มีหลายแบบ  คลื่นไม่ต้องไปกำกับดูแล เช่นคลื่น 2.4 การ Assign คือการไม่เข้าไปกำกับดูแล  มีกลไกย่อย 2 อันคือ  Comparative Selection Procedure (Beauty Contest) และ  Competitive Selection Precedure (Auction)  อย่าง EU ใช้วิธีทั้ง Beauty contest และ Auction

ดร.จีระ  หงส์ลดารมภ์

-  อยากให้สื่อมวลชนที่อยู่ในห้องนี้ Educate คนข้างนอกด้วย

-  Asean 2015 จะมีการตกลงเรื่องการลงทุน  เกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในต่างประเทศ  กสทช.อาจมีงานวิจัยสักเรื่องในการเข้าสู่อาเซียน 2015

-  พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

-  ถ้าไปจำกัดคลื่นประมูลทั้งหมดอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ แต่ติดที่ข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนั้นควรหันมามองเรื่องกฎหมายเพื่อการแก้ไขในบางเรื่องเพราะว่าในระบบโทรคมนาคมควรดูทางด้านเทคนิคด้วย

แสดงความคิดเห็น

ในอนาคตคลี่นจะเป็นอย่างไร ?

ตอบ

-  คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ต GSM ยังอยู่ในประเทศไทย  คลื่นจาก 2 G เป็น 4 G  ส่วนคลื่น 900 เป็นหลักรับ GSM  เพราะว่าคนที่จะอยู่ได้ต้องใช้คลื่น 900 และ 1800

-  GSM 2.5 G จะอยู่กับโลกไปเกือบ 10 ปี งานวิจัยจะใช้ทั้ง 2 G  และ 4 G แตะกันอยู่

-  คลื่น 700 มีแนวโน้มไปทางคลื่น 4 G  ในยุโรปใช้คลื่น 700 มาทำบรอดแบรนด์

-  มีบริษัททำวิจัยคลื่น 700 จะเป็นอย่างไร

แสดงความคิดเห็น

กสทช.มองว่าตัวเองเป็นผู้บริหารคลื่นความถี่ หน้าที่คือแจกคลื่นเท่านั้นหรือ มีผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมาย  กสทช.เคยมองเรื่องโทรศัพท์ที่ถูกโละทิ้งตรงนี้บางหรือไม่ กฎหมายเรื่องความปลอดภัย

ข้อเสนอแนะที่อยากจะเสนอในอนาคต 4 G มีทั้ง Assign และประมูล กสทช.ทำไมไม่เอา 2 ข้างมามิกซ์ เช่นคลื่น 1800 เอามาใช้ใน 4 G ทำไมไม่แบ่งกัน  ทำให้ในอนาคตโอเปอเรเตอร์สามารถแชร์ข้อมูลได้ดี  ใช้ทำให้ Win Win 3 ฝ่ายคือ User Operator และ กสทช.

ตอบ สิ่งที่หนักอกคือ Quality  ปัญหาที่เกิดคือจะอยู่ในชุมชนที่ค่อนข้างหนาแน่น เราจะทำอย่างไรเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เขาจะทำอย่างไรให้บริหารได้ดีขึ้น เรื่องขยะ อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลายส่วนไม่ใช่กสทช.อย่างเดียว แต่กสทช.ก็ควรทำ Green Telecom  มีแนวโน้มในอนาคตเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  ก.ไอซีที กสทช. ก.อุตสาหกรรมต้องหันหน้ามาคุยกันในเรื่องนี้

กสทช.ได้จัดสรรคลื่นแค่อย่างเดียวคือ 2.1 กิกกะเฮิร์ต  และการให้บริการที่ดีก็เป็นเรื่องที่กสทช.ควรทำ

แสดงความคิดเห็น

ถ้าคลื่น 900 หมดสัมปทานเราจะมาใช้คลื่นอะไร

ตอบ ในปี 2 ปี โทรคมนาคมจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเริ่มมีการใช้ระบบ Cloud Computing  ยังไม่สามารถตัดสินใจได้เรื่องระบบคลื่น 900

ดร.จีระ

-  กสทช. ควรมีการทำประเมินวัดผลหลังจากที่ให้การประมูล 3 G ไปอนาคตจะเป็นอย่างไร

-  นักข่าว สื่อมวลชนควรทำหน้าที่ในการกระจายข้อมูล

-  กสทช.ควรดูถึงผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/522427

 

Vibrational Therapy : สวดมนต์บำบัด โดย: ชมนาด

พิมพ์ PDF

นำข้อมูลดีมีประโยชน์มาฝากกันครับ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญาที่ดีงามครับ... ประโยชน์ของการสวดมนต์ จาก นิตยสารชีวจิต ฉบับแรกของเดือนมกราคม 2551 เรื่อง Vibrational Therapy : สวดมนต์บำบัด โดย: ชมนาด

เชื่อหรือไม่ ว่าหากเราสวดมนต์ (ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม) เพื่อให้ใครสักคนหายป่วย แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่พลังแห่งบทสวดนั้นจะเดินทางไปเยียวยาความเจ็บป่วยของเขาได้??? เพราะการสวดมนต์บำบัดทำให้เกิดทั้งคลื่นเสียงที่สามารถเดินทางลึกเข้าไปใน สมอง และคลื่นไฟฟ้าที่ส่งกระจายไปในชั้นบรรยากาศไกล ๆ ได้

การสวดมนต์บำบัด คือหลักการหนึ่งของ Vibrational Therapy หรือ Vibrational Medicine คือการใช้คุณสมบัติของคลื่นบางคลื่นมาบำบัดความเจ็บป่วย ซึ่งมีหลากหลายวิธี อาทิ เก้าอี้ไฟฟ้า เครื่องนวดต่างๆ ก็เป็นVibrational Therapy เช่นกัน แต่เป็นคลื่นไฟฟ้าเชิงฟิสิกส์ ที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ต่างจาก สวดมนต์บำบัดซึ่งเป็นคลื่นที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต

ดังนั้นมาดูพลังแห่งการสวดมนต์บำบัดกัน ว่าคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ???

คลื่นแห่งการเยียวยา

การสวดมนต์ใช้หลักการทำให้ เกิดคลื่นเสียงที่มีความสม่ำเสมอ เพื่อเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเยียวยา ซึ่งหากคลื่นเสียงที่มากระทบดังแบบไร้ระเบียบ คือประกอบด้วยเสียงที่มีความถี่ต่างๆกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการบำบัดกลไกดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อหูของเราได้ยินเสียง บทสวด ก็จะส่งสัญญาณต่อไปยังศูนย์การได้ยินที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับ ก่อนส่งไปบริเวณก้านสมอง ซึ่งเมื่อได้รับคลื่นเสียงช้า ๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาที ก็จะหลั่งสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์มากมาย

 


เสียงสวดมนต์ด้วยสมาธิเป็นยา : ให้ผลกับร่างกายเอนกอนันต์

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมดังนี้

"สมองของเราเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นเสียงช้า ๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาทีขึ้นไป จะทำให้เซลล์ประสาทของระบบประสาทสมองสังเคราะห์สารสื่อประสาทหลาย ๆ ชนิด"

"บริเวณก้านสมองจะหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ ซีโรโทนิน (serotonin) เพิ่มขึ้น" ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ช่วยการเรียนรู้ ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทอื่น ๆ เช่น เมลาโทนิน ซึ่งเปรียบคล้ายกับยาอายุวัฒนะ เพราะจะช่วยยึดอายุการทำงานของเซลล์ประสาท เซลล์ร่างกาย ให้ชีวิตยืนยาวขึ้น และยังมีคุณสมบัติช่วยให้นอนหลับ เพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้เซลล์สดชื่นขึ้น รวมถึง โดปามีน มีฤทธิ์ลดความก้าวร้าวและอาการพาร์กินสัน

นอกจากนี้ปริมาณของซีโรโทนินมีความสัมพันธ์ต่อการกระตุ้นการหลั่งสารสื่อ ประสาทอื่น ๆ เช่น อะเซทิลโคลีน ช่วยในกระบวนการเรียนรู้และความจำ ช่วยขยายเส้นเลือด ทำให้ความดันลดลง และยังช่วยลดปริมาณ อาร์กินิน วาโซเปรสซิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความก้าวร้าว ความสมดุลของน้ำ และซีโรโทนินยังเข้าไปลดปริมาณของสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นของการทำงานของต่อมหมวกไตให้ลดลง ส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานน้อยลง ร่างกายจึงรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง และไม่เครียด ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จุดสำคัญจึงอยู่ที่ร่างกายจะสามารถสร้างสารสื่อประสาทได้หรือไม่ อาจารย์สมพรเสริมว่า

 


หลักการสำคัญอยู่ที่หากมีสิ่งเร้าหลาย ๆ ประเภทเข้ามารบกวนกระบวนการทำงานของคลื่นสมองพร้อม ๆ กัน ทำให้สัญญาณคลื่นสมองเปลี่ยนไป การหลั่งสารสื่อประสาทจะสับสน ไม่มีผลในการเยียวยา สิ่งเร้านี้มาจากหลายส่วน ทั้งตัวเอง เช่น บางคนปากสวดมนต์ แต่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ก็ไม่ได้ประโยชน์ และการเกิดเสียงดังอื่น ๆ เข้ามารบกวนขณะสวดมนต์ เพราะประสาทสัมผัสของมนุษย์รับรู้ได้ไวและอ่อนไหวมาก เรามีตัวประสาทรับสัญญาณมากมาย เรารับสิ่งเร้าได้ทั้งจากทางปาก ตา หู จมูก การเคลื่อนไหว และใจ เหล่านี้ทำให้สัญญาณคลื่นสมองสับสนและเปลี่ยนไป ร่างกายก็จะสร้างซีโรโทนินได้ไม่มากพอ

และไม่ใช่เฉพาะสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์เท่านั้นที่เราจะได้จากการสวดมนต์ แต่การสวดมนต์ยังทำให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้น คล้ายกับการนวดตัวเองจากการเปล่งเสียงสวดมนต์

สวดมนต์กระตุ้นอวัยวะ

อาจารย์ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต อธิบายหลักการนี้ว่า
เวลาเราสวดมนต์นาน ๆ คำแต่ละคำจะสร้างความสั่นสะเทือนไม่เท่ากันตามฐานที่เกิดของเสียงหรือตาม วิธีเปล่งเสียง แม้ว่าเสียงจะออกมาจากปากเหมือนกัน แต่ว่าเสียงบางเสียงออกมาจากริมฝีปาก บางเสียงออกมาจากปุ่มเหงือก บางเสียงออกมาจากไรฟัน บางเสียงออกมาจากคอ ดังนั้น ถ้าเราสวดมนต์ถูกต้องตามฐานกรณ์จึงเกิดพลังของการสั่น
และเมื่อเกิดพลังของการสั่น การสั่นนี้จะเข้าไปเยียวยาอาการป่วยได้อย่างไร อาจารย์เสถียรพงษ์อธิบายต่อว่า
เวลาเราสวดมนต์ เสียงสวดจะไปช่วยกระตุ้นต่อมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยปราบเชื้อโรคบางชนิด เช่นการวิจัยของฝรั่ง พบว่า อักษร เอ บี ซี ดี จะช่วยกระตุ้นระบบน้ำย่อย ส่วนบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา เสียงอักขระแต่ละตัวมีคำหนักเบาไม่เท่ากัน บางตัวสั่นสะเทือนมาก บางตัวสั่นสะเทือนน้อย ทำให้ต่อมต่าง ๆ ในร่างกายถูกกระตุ้น เมื่อต่อมที่ฝ่อถูกกระตุ้นบ่อย ๆ เข้า ก็คงคืนสภาพ อาการป่วยก็จะดีขึ้น

 


นอกจากนี้ยังมีบทความที่อธิบายเกี่ยวกับการฝึกเปล่งเสียงเพื่อรักษาโรคจาก เสียงต่าง ๆ เช่น

- โอม กระตุ้นหน้าผาก
- ฮัม กระตุ้นคอ
- ยัม กระตุ้นหัวใจ
- ราม กระตุ้นลิ่นปี่
- วัม กระตุ้นสะดือ
- ลัม กระตุ้นก้นกบ
เป็นต้น

แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น การสวดมนต์ให้ประโยชน์ทางใจที่มีคุณค่ากับผู้สวด

รองศาสตราจารย์จุฑา ทิพย์ อุมะวิชนี ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปว่ามี 2 ข้อคือ

1.การสวดมนต์เป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิ โดยต้องสวดเสียงดัง ให้หูได้ยินเสียงตัวเอง และจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับเสียงสวด เมื่อใจไม่ฟุ้งไปที่อื่น ใจอยู่กับเสียงเดียว จึงเกิดสมาธิ

2.ถ้าเข้าใจความหมายของบทสวดนั้นๆ จะทำให้เรามีความเลื่อมใสศรัทธา เพราะบทสวดของทุกศาสนาเป็นเรื่องของความดีงาม จิตใจก็จะสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น เป็นการยกระดับจิตใจของผู้สวด

เมื่อร่างกายที่รับสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์และการกระตุ้นระบบอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติ เท่ากับว่าเราได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ย่อมทำให้ภูมิชีวิตดีขึ้นเป็นลำดับ ความป่วยก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่อาจารย์สมพร สรุปให้ฟังว่า การสวดมนต์ช่วยบำบัดอาการป่วยและโรคร้ายดังต่อไปนี้.....

 


1. หัวใจ 2. ความดันโลหิตสูง 3. เบาหวาน 4. มะเร็ง 5. อัลไซเมอร์ 6. ซึมเศร้า 7. ไมเกรน 8. ออทิสติก 9. ย้ำคิดย้ำทำ 10. โรคอ้วน 11. นอนไม่หลับ 12.พาร์กินสัน

สวดมนต์อย่างไรให้หายจากโรค

สวดมนต์บำบัดมีวิธีการและจุดประสงค์ที่หลากหลาย สรุปออกมาได้ 3 แบบ

1.การสวดมนต์ด้วยตัวเอง
เป็นการเหนี่ยวนำตัวเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า Prayer Therapy ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะหากใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง วิธีการที่อาจารย์สมพรแนะนำคือ

- ควรสวดด้วยตัวเอง และไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน

- หาสถานที่ที่สงบเงียบ

- สวดบทสั้น ๆ 3-4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน แต่หากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและความศรัทธา

- ขณะสวดมนต์ให้หลับตา สวดให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ตัวเองได้ยิน

2.การฟังผู้อื่นสวดมนต์
เป็นการเหนี่ยวนำโดยคลื่นเสียงจากผู้อื่น เช่น การฟังเสียงพระสวดมนต์ เสียงผู้นำสวดในศาสนาต่าง ๆ หากผู้สวดมีสมาธิ เสียงสวดนั้นจะนุ่ม ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยา (healing) ผู้ฟัง แต่หากผู้สวดไม่มีสมาธิ ไม่มีความเมตตา เสียงสวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นคลื่นขึ้น ๆ ลง ๆ นอกจากจะไม่ช่วยเยียวยาอาการป่วย อาจทำให้เสียสุขภาพได้

3.การสวดมนต์ให้ผู้อื่น
ปรากฏการณ์มากมายที่เราเห็นในสังคม เมื่อใครสักคนเจ็บป่วย เรามักสวดมนต์อธิษฐานขอให้ความเจ็บป่วยของเขาหายไป บางครั้งอยู่ห่างกันคนละซีกโลก เสียงสวดมนต์เหล่านี้จะมีผลทำให้สุขภาพเขาดีขึ้นจริงหรือไม่ อาจารย์สมพรอธิบายดังนี้
คลื่นสวดมนต์ เป็นคลื่นบวก เพราะเกิดจากจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย และเมื่อเราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกล ๆ มันจะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งมนุษย์มีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีได้ถึง สิบยกกำลังสิบ คลื่นนี้จึงเดินทางไปได้ไกล ๆ
บางทีพ่อกำลังป่วยหนักอยู่ที่นี่ แต่ลูกอยู่ต่างประเทศ ก็สามารถรับคลื่นนี้ได้และรู้ว่ามีใครกำลังไม่สบาย ที่เราเรียกว่า ลางสังหรณ์หรือสัมผัสที่หก

"การรับรู้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับผู้ส่งด้วย ถ้าคนไหนรับสัญญาณคลื่นแห่งบทสวดมนต์ได้จึงได้ผล เหมือนเราเปิดวิทยุ ถ้าคนฟังปิดหูก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดรับคลื่นบวกที่เราส่งไปผู้ป่วยก็จะได้รับ และทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องของความมหัศจรรย์ แต่เป็นหลักธรรมชาติทั่วไป"


เลือกสวดมนต์อย่างไรดี

แล้วบทสวดที่เลือกควรใช้บทไหนดี อาจารย์สมพรแนะนำว่า

"น่าแปลกที่บทสวดในศาสนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีจังหวะขึ้นๆ ลงๆ เหมือนจังหวะเพลง จะมีโทนเสียงแค่ไม้เอกไม้โทเท่านั้น สักสามสี่พยางค์ มาสวดซ้ำไปมาได้ทั้งนั้น
พระพุทธศาสนา มีบทสวดมากมายหลายบท ให้เลือกใช้ตามความชอบ ยกตัวอย่างเช่น อิติปิโส หรือนะโมตัสสะ นะโมพุทธายะ หรือสัพเพสัตตา ฯลฯ เลือกท่อนใดท่อนหนึ่งแล้วสวดวนไปวนมา หรือโพชฌงค์ 7 ที่หลายคนนิยมสวดให้ตัวเองหรือคนไข้หายป่วย"

ข้อที่น่าสังเกตคือ บทสวดโพชฌงค์ 7 จะมีความแตกต่างจากบทสวดอื่นๆคือ คลื่นเสียงของบทสวดจะมีแค่เสียงสระ มีแค่สองจังหวะ คลื่นเสียงจากบทสวดจึงทำให้เกิดคลื่นที่เยียวยาได้ดีที่สุด

 

 

 

_/\_

Best regards,
นส.จิราภรณ์ เนื่องเจริญ *หน่อย*
Miss. Jiraporn Nuangcharoen *NOI*
Mobile:085-506-4499, 086-565-7599
,087-134-6655
*สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ*
ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๑. คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ที่ ๑๐ และ ๑๑ มาจากบทที่ 5  What Kind of Practice and Feedback Enhance Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นบทที่ว่าด้วยการเป็น “ครูฝึก” ที่ดีของครู  วิธีใช้เวลาที่มีจำกัด ในการฝึก นศ. และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ นศ. ให้ฝึกฝนเรียนรู้ อย่างได้ผลแท้จริง  ไม่หลงใช้วิธีการผิดๆ

นศ. มีเวลา และความสามารถทางสมองจำกัด  แต่ครูก็สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  คือเป้าหมายของหนังสือบทนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  บทนี้ว่าด้วยวิธีที่ครูช่วยให้ นศ. “Learn smarter” นั่นเอง

ตอนที่ ๑๐ เน้นเรื่องวิธีฝึก  และตอนที่ ๑๑ เน้นเรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)


ความรู้เกี่ยวกับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

การฝึกปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย (goal-directed practice)  ต้องควบคู่ไปกับการได้รับการป้อนกลับอย่างมีเป้าหมาย (targeted feedback) การเรียนรู้จึงจะบรรลุผลดี

คำแนะนำป้อนกลับ เปรียบเสมือนแผนที่ เข็มทิศ และ GPS  สำหรับใช้บอกตำแหน่งที่อยู่ของ นศ. ระหว่างการเดินทาง ของการพัฒนาทักษะ/สมรรถนะ ที่ต้องการ  โดยบอก what, where, และ how คือ บอกสิ่งที่ นศ. รู้แล้ว และสิ่งที่ นศ. ยังไม่รู้แต่จำเป็นต้องรู้ (what);  บอกว่าขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะของ นศ. อยู่ตรงไหน  กำลังก้าวหน้าดี หรือไม่ค่อยก้าวหน้า (where);  และบอกว่า นศ. จะต้องใช้ความพยายามต่อไปอย่างไร (how)

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น เดินตรงทาง และสิ้นเปลืองเวลาและแรงสมองน้อยลง  รวมทั้งช่วยให้บรรลุผลการเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง”  ไม่หลงเรียนรู้เพียงผิวเผิน  หรือยิ่งกว่านั้น คือไม่หลงเรียนรู้ผิดๆ  คำแนะนำป้อนกลับที่ดี จึงไม่ใช่แค่มีผลต่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน แต่มีผลต่อการเรียนรู้ในอนาคตด้วย  คำแนะนำป้อนกลับที่ดีของครูจึงมีค่ายิ่ง

ผลการวิจัยบอกว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับมีความสำคัญที่ ๒ ปัจจัย คือ สาระ (content) กับ กาละ (time)

ในเรื่องสาระ การสื่อสารคำแนะนำป้อนกลับต่อ นศ. เป็นการสื่อสารเพื่อบอกว่า นศ. อยู่ตรงไหนแล้วตามเป้าหมายที่ระบุไว้  และ นศ. ควรปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างดี

ในเรื่องกาละ การให้คำแนะนำป้อนกลับ ควรให้ ณ เวลาที่ นศ. ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด  ตามเป้าหมายการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้

การให้คำแนะนำป้อนกลับเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  คือมีหลักการ แต่ไม่ตายตัว  ต้องปรับใช้ให้เหมาะตามสถานการณ์หรือบริบท


การสื่อสารความคืบหน้า และแนะนำให้พยายามต่อไป

นี่คือเรื่อง สาระของการให้คำแนะนำป้อนกลับ

คำแนะนำป้อนกลับที่มีค่าต่อ นศ. ที่สุดคือคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุง (formative feedback) ซึ่งหมายถึงคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุงการเรียนระหว่างทาง  ตรงกันข้ามกับ summative feedback ซึ่งหมายถึงการบอกผลสุดท้ายของการเรียน

การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุงจะได้ผลดีที่สุด หากสื่อสารแก่ นศ. ในประเด็นที่จำเพาะมากๆ ในเรื่องสมรรถนะของ นศ. เมื่อเทียบกับเป้าหมายการฝึก/เรียน  และเป็นการให้สารสนเทศที่จะช่วยให้ นศ. ก้าวหน้าไปบรรลุเกณฑ์ของเป้าหมายนั้น

ย้ำว่า คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ต้องไม่เพียงบอกว่า นศ. ยังอยู่ไกลจากเป้าหมายเพียงไร  แต่ต้องแนะทางไปสู่เป้าหมายด้วย

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยบอกจุดที่ต้องแก้ไขอย่างจำเพาะเจาะจง  ในขณะที่คำแนะนำป้อนกลับที่ไม่ดี บอกเพียงกว้างๆ ว่า ผลการเรียนเป็นอย่างไร  หรือเพียงให้คำชม

ผลการวิจัยบอกว่า คำแนะนำป้อนกลับจะให้ผลดีต่อเมื่อมันช่วยให้ นศ. เห็นลู่ทางปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของตนเอง  และ นศ. มีขีดความสามารถที่จะนำคำแนะนำป้อนกลับนั้น ไปใช้ปรับปรุงการฝึกของตน  ต้องมีทั้ง ๒ ปัจจัยนี้ การให้คำแนะนำป้อนกลับจึงจะมีคุณค่า


กำหนดเวลาให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างเหมาะสม

นี่คือเรื่อง กาละ ในการให้คำแนะนำป้อนกลับ

หนังสือให้คำ ๓ คำเกี่ยวกับเรื่องเวลาที่เหมาะสม คือ how early, how often, และ timeliness สะท้อนว่า ไม่มีกำหนดเวลาตายตัว  ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเหตุปัจจัย  โดยให้กลับไปอ่านตอน สาระข้างบน

คำตอบหลักต่อ how early คือ ยิ่งให้ตั้งแต่ตอนต้นๆ ยิ่งดี  คำตอบหลักต่อ how often คือ ยิ่งบ่อยยิ่งดี   แต่ไม่มีคำตอบหลักต่อ timeliness โดยให้กลับไปยึดหลัก ประโยชน์ที่จะเกิดต่อการปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของ นศ. เป็นสำคัญ

จริงๆ แล้วมีคำตอบสำคัญต่อ timeliness จากผลการวิจัย ว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับทันทีที่พบข้อบกพร่อง มีผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนสู้การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ช้ากว่านั้นไม่ได้  เขาเรียกการให้การให้คำแนะนำป้อนกลับ ๒ แบบนี้ว่า immediate feedback กับ delayed feedback   เขาให้คำอธิบายว่า  การรอให้ นศ. ตรวจสอบประเมินผลเอง และปรับปรุงเอง  ได้มีโอกาสพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองหลายๆ ครั้ง  จนเหลือส่วนข้อบกพร่องที่ นศ. ไม่รู้ตัว หรือแก้ไขไม่ได้ด้วยตนเอง จึงค่อยให้คำแนะนำป้อนกลับ  ช่วยให้การเรียนรู้ของ นศ. สูงกว่า

ทำให้ผมคิดคำ auto-feedback หรือ self-feedback ขึ้นมา  ว่า คนที่รู้จักให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ตนเอง  จะเป็นบุคคลที่เรียนรู้ได้ดี  จึงขอแนะนำว่า ครูต้องพยายามใช้ delayed feedback  และหาทางส่งเสริมให้ นศ. พัฒนา auto-feedback/self-feedback ของตนเองให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ  คือช่วยให้ นศ. สามารถฝึกฝนตนเองอย่างอิสระได้ดีขึ้นตามที่ระบุไว้ในหนังสือ

การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีที่สุดคือ วิธีการที่ในที่สุดแล้ว นศ. ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำป้อนกลับอีกต่อไป

จะเห็นว่า เรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ ก็เป็นเรื่องที่อาจารย์ไทยทำวิจัยได้มากมาย  เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก

 

เทคนิคการให้คำแนะนำป้อนกลับ

มองหาแบบแผน (pattern) ที่ นศ. ทำผิดซ้ำๆ

ครูพึงสังเกตหาแบบแผนของความเข้าใจผิด หรือทำผิดซ้ำหลายคน ของ นศ.  จากการตอบคำถามในชั้นเรียน  จากการบ้าน  การตอบแบบทดสอบ  การทำโครงงาน  และการสอบ  รวมทั้งหากมี นศ. ช่วยสอน ครูควรถามหาข้อมูลนี้จาก นศ. ช่วยสอนด้วย  สำหรับนำมาพิจารณาให้คำแนะนำป้อนกลับตามยุทธศาสตร์ต่อไปนี้

จัดลำดับความสำคัญของคำแนะนำป้อนกลับ

หลักการคือ อย่าให้คำแนะนำป้อนกลับแบบเปรอะ ไร้เป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะให้คำแนะนำฯเรื่องอะไร  เพราะครูเองก็มีภาระมาก  และถ้าให้คำแนะนำฯ มากเรื่องเกินไป นศ. จะสับสนและไม่สามารถปรับปรุงการฝึกของตนเองอย่างได้ผลได้

ครูพึงจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่จะให้คำแนะนำป้อนกลับ ในเรื่องที่ นศ. กำลังฝึก  และเลือกให้คำแนะนำฯ เพียงประเด็นเดียวที่คิดแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการปรับปรุงทักษะของ นศ. มากที่สุด


สร้างดุลยภาพระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อนในคำแนะนำป้อนกลับ

นี่คือดุลยภาพระหว่างการให้การป้อนกลับเชิงบวก (positive feedback) และการป้อนกลับเชิงลบ (negative feedback) ครูพึงตระหนักว่า มือใหม่อย่าง นศ. อาจไม่รู้ตัวว่าตนฝึกฝนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  การมีผู้มาให้ข้อมูลนี้เป็นการป้อนกลับเชิงบวก จะช่วยให้ความมั่นใจและกำลังใจว่าตนเดินมาถูกทาง  และได้รับการยืนยันว่าความรู้/ทักษะ ใดที่ฝึกได้แล้วที่ควรคงไว้อย่างเดิม และยกระดับขึ้นไป  เสริมด้วยการป้อนกลับเชิงลบ บอกว่าตรงไหนที่ยังทำได้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องแก้ไข  ส่วนใดที่ทำได้บ้างแล้ว แต่ต้องฝึกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนผสมของการป้อนกลับเชิงบวก กับการป้อนกลังเชิงลบ โดยมีความจริงใจ ความเมตตากรุณาเป็นน้ำกระสาย จะช่วยให้พลังความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนพัฒนาต่อเนื่อง แก่ศิษย์


ออกแบบให้มีโอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับบ่อยๆ

นั่นคือ ควรแบ่งชิ้นงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ นศ. บรรลุทักษะย่อยๆ เป็นขั้นตอน  โอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับก็บ่อยขึ้นด้วย  ช่วยให้ภาระงานของครู และของ นศ. ไม่หนักเกินไป

ในเรื่องลดภาระของครูนั้น  การให้คำแนะนำป้อนกลับจำนวนหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้แก่ นศ. รายคน  ให้แก่ นศ. เป็นกลุ่ม หรือทั้งชั้นได้


ให้คำแนะนำป้อนกลับในระดับกลุ่ม

ครูอาจลดภาระงานของตนโดยหาทางให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ นศ. ทั้งชั้น  โดยนำเอาข้อผิดพลาดที่มีบ่อยที่สุดในการทำการบ้าน ๓ อย่าง มาอภิปรายกับ นศ. ทั้งชั้น

ในทางตรงกันข้าม ครูอาจยกตัวอย่างคำตอบที่ดีที่สุด ๒ - ๓ ราย  นำมาอภิปรายในชั้นว่าทำไมคำตอบนั้นจึงควรได้เกรด เอ

 

ให้คำแนะนำป้อนกลับทันที (Real-Time) แก่กลุ่ม

นี่คือวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ชั้นเรียนขนาดใหญ่  ทำโดยครูตั้งคำถาม ให้ นศ. ตอบลงกระดาษแล้วเก็บคำตอบมาตรวจสอบหาคำตอบที่เข้าใจผิด  ในกรณีที่สถาบันมี clicker ก็จะสามารถได้คำตอบทันทีว่า นศ. ตอบคำตอบใดเป็นสัดส่วนเท่าใด  แล้วครูนำแต่ละคำตอบมาอภิปรายในชั้น  หรือถ้าครูเห็นว่ามีผู้ตอบคำถามผิดเป็นส่วนใหญ่  อาจให้ นศ. จับกลุ่ม (๔ คน?) ให้ปรึกษาหารือกัน  แล้วให้ตอบใหม่  พร้อมทั้งอภิปรายทั้งชั้นในภายหลัง


จัดให้มีคำแนะนำป้อนกลับจากเพื่อน

นี่คือ peer feedback  ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของครู  รวมทั้งช่วยสร้างทักษะการให้คำแนะนำป้อนกลับ แก่ นศ.  สำหรับนำไปใช้ในโอกาสอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้กับตนเอง

นอกจากนั้น ยังช่วยให้ นศ. ได้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าเกณฑ์ของการปฏิบัติงานที่ดีเป็นอย่างไร

ก่อนใช้ “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน”  ครูต้องอธิบายให้ นศ. เข้าใจหลักการและวิธีการของการให้คำแนะนำป้อนกลับ  ให้ นศ. เข้าใจถ่องแท้  และให้เข้าใจชัดเจนว่ากิจกรรม “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน” จะเกิดประโยชน์แก่ นศ. อย่างไร


ให้ นศ. ระบุว่าตนใช้ข้อแนะนำจากคำแนะนำป้อนกลับพัฒนางานของตนอย่างไรบ้าง

นี่คือกิจกรรม “ทบทวนสะท้อนกลับ” (reflection) หรือ AAR (After Action Review)  ที่ นศ. ร่วมกันสะท้อนความคิดหลังได้รับคำแนะนำป้อนกลับ และมีรอบการฝึกงานหลังจากนั้นแล้ว  นศ. มาจับกลุ่ม AAR กัน ว่าได้นำข้อแนะนำป้อนกลับส่วนใดไปใช้ ใช้ทำอะไร ส่วนไหน อย่างไร  และเกิดผลอย่างไร

ผมมีข้อแถมของผมเอง ว่าควรแถม BAR (Before Action Review) เข้าไปด้วย  คือให้สะท้อนความคิดในกลุ่มต่อเนื่องจาก AAR ว่า ในรอบการฝึกงานครั้งต่อไป จะเอาคำแนะนำป้อนกลับส่วนไหนไปใช้อีกบ้าง


สรุป

ในบันทึกที่ ๑๐ และ๑๑ ได้ชี้ให้เห็นคุณค่า และวิธีการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมีลักษณะ (๑) พุ่งเป้าที่เป้าหมายการบรรลุสมรรถนะที่จำเพาะ  (๒) มีระดับความท้าทายเหมาะสม  (๓) ให้ในจำนวนและความถี่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ปรับปรุงตนเองของ นศ.

การให้คำแนะนำป้อนกลับจะมีพลังเมื่อ (๑)​ สื่อสารต่อ นศ. ในขณะที่ นศ. กำลังต่อสู้ดิ้นรนไปสู่เป้าหมาย และต้องการคำแนะนำให้ปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น  (๒) ให้คำแนะนำ ณ เวลาที่ นศ. สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด

การเรียนรู้ ที่นำไปสู่การ “รู้จริง”  ได้จากการฝึกปฏิบัติ  และการได้รับคำแนะนำป้อนกลับที่ดี

 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๖

 

 


หน้า 505 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8610628

facebook

Twitter


บทความเก่า