Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

King of Kings

พิมพ์ PDF

 

สมการธุรกิจ

พิมพ์ PDF

สมการธุรกิจ

ทุน+การจัดการ=ลูกค้า+รายได้-ค่าใช้จ่าย (การจัดการ)

ทุน = ทรัพย์สิน+ต้นทุนการจัดการ

การจัดการ = บริหารธุรกิจ+บริหารคน (ต้นทุนในการจัดการ)

การจัดการ =บริหารทรัพย์สิน+บริหารคน (รายจ่ายในการจัดการ)

คน = ทรัพย์สินมีชีวิต

 

ทุน+การจัดการ=ลูกค้า+รายได้-ค่าใช้จ่าย (การจัดการ)

การทำธุรกิจต้องมีการลงทุนในเบื้องต้น ได้แก่การซื้อหรือจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาทำธุรกิจ วัตถุดิบเหล่านี้เราเรียกว่าวัตถุดิบที่จับต้องได้หรือทรัพย์สินไม่มีชีวิต การทำธุรกิจเมื่อมีวัตถุดิบแล้วแต่ถ้าขาดการจัดการก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้ (ต้นทุนการจัดการเป็นต้นทุนที่คิดยากและจับต้องไม่ได้ ประกอบด้วยหลายๆปัจจัย) นักลงทุนโดยทั่วไปไม่ได้นำต้นทุนการจัดการมาคิด จึงทำให้ผลการทำธุรกิจผิดเป้าหมายและไม่สามารถทำให้ธุรกิจนั้นเดินต่อไปได้ เพราะไม่ได้หาเงินทุนเตรียมไว้สำหรับการจัดการ โดยทั่วไปคิดว่าการจัดการเป็นรายจ่าย ดังนั้นเมื่อหาเงินมาลงทุนในวัตถุดิบเสร็จเรียบร้อยก็สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ เมื่อเปิดดำเนินธุรกิจได้ก็จะมีรายได้เข้ามาหมุนเวียน และควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินรายได้ ทำให้การจัดการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นเหตุทำให้ไม่สามารถหาลูกค้าและมีรายได้ตรงตามเป้าที่คาดการไว้

ทุนทรัพย์สิน+ต้นทุนการจัดการ ทำให้เกิด

การทำธุรกิจ แต่ก่อนจะทำธุรกิจจะต้องมีวางแผนการตลาด ได้แก่การกำหนด Position ของธุรกิจเราว่าจะอยู่จุดใดของตลาด โดยการวิเคราะห์ คู่แข่งเรามีใครบ้าง (ศึกษารายละเอียดของคู่แข่งและนำมาเปรียบเทียบกับของเรา) กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนส่วนแบ่งตลาด ต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต ความคุ้มทุนของการทำธุรกิจ กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กำหนดราคาขายตาม segmentation ต่างๆ กำหนดช่องทางการเข้าถึงลูกค้าในแต่ละ segmentation กำหนดกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้ได้ตามเป้าที่กำหนด ทั้งหมดนี้คือขบวนการของการทำแผนการตลาด เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ

 

 

การจัดการ = ธุรกิจ+คน (ต้นทุนในการจัดการ)

การจัดการในส่วนแรกนี้เป็นการจัดการในส่วนของเจ้าของ หรือผู้บริหารสูงสุด ต้องเป็นผู้กำหนดแผนธุรกิจ จัดหาเงินทุน บริหารการจัดการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยเริ่มตั้งแต่กำหนดผู้บริหารสูงสุด ได้แก่เจ้าของเป็นผู้บริหารสูงสุดเอง หรือจะจ้างมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุด หรืออาจจ้างบริษัทหรือกลุ่มใดเข้ามาบริหารโดยมีการทำสัญญาบริหาร ขอยกกรณีของเจ้าเลือกเป็นผู้บริหารสูงสุดเอง จัดหาผู้บริหารรองลงมาช่วยแบ่งเบาภาระในแต่ละส่วน ดังนั้นการทำธุรกิจจึงขึ้นอยู่ที่เจ้าของเป็นหลัก ผู้บริหารรองๆเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น ธุรกิจจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนธุรกิจ การกำกับดูแลการบริหารจัดการให้ได้ตามแผน สร้างความชัดเจนในสายงานการบริหาร จัดหาผู้บริหารระดับรองที่เหมาะสมกับภาระรับผิดชอบที่มอบหมาย บริการจัดการทรัพย์สินที่จับต้องได้ และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ( คน ) อย่างมีประสิทธิภาพ  กรณีตัวอย่างที่ยกมาเจ้าของสวมบทบาท 2 บทบาทในเวลาเดียวกัน จึงต้องรู้ตัวเองตลอดเวลาว่าในชั่วไหนเล่นบทบาทอะไร เพราะถ้าเล่นไม่ถูกบทในแต่ละชั่วเวลาและสถานการณ์บ่อยๆก็จะเกิดผลเสียตามมา

การจัดการ =ทรัพย์สิน+คน (รายจ่ายในการจัดการ)

การจัดการในส่วนนี้เป็นการจัดการของผู้บริหารระดับรองที่เจ้าของเลือกมาช่วย เจ้าของอาจจะคัดเลือกมาเพียงคนเดียวและให้เขารับผิดชอบในการบริหารจัดการในส่วนที่ท่านมอบหมายให้เขาทำ หรือเจ้าของอาจจะยังยึดการบริหารจัดการส่วนนี้ไว้เอง โดยเจ้าของคัดเลือกผู้ช่วยมาหลายๆคนและให้เขาทำงานตามที่เจ้าของสั่งให้เขาทำ การจัดการในส่วนนี้เป็นส่วนของการปฏิบัติการในการจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้งานและบำรุงรักษาดูแล บริหารคนตั้งแต่การจ้าง อบรม พัฒนา และสร้างแรงจูงใจ ทำให้ได้คนที่มีคุณภาพสามารถทำงานให้ลุล่วงตามมาตรฐานของแผนตลาด (แผนธุรกิจ) ที่วาง Position ไว้ การจัดการด้านการหาลูกค้า และการทำรายได้ให้ได้ตามแผนการตลาด การบริหารในส่วนนี้ต้องเป็นการบริหารต้นทุนการบริหารให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้หรือสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าแต่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำรายได้ก็จะต้องได้รายได้ตามเป้าหรือมากกว่า มาตรฐานของการจัดการจะต้องสมดุลกับจำนวนลูกค้าและรายได้ หากมาตรฐานการให้บริการต่ำก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้ต่ำไปด้วย แต่ถ้าการจัดการอยู่ในมาตรฐาน หรือสูงกว่าก็จะทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าไม่ได้ผลตามที่กล่าวมาแสดงว่ามีการผิดพลาด ต้องไปหาสาเหตุและแก้ที่การบริหารจัดการในส่วนที่ผิดพลาดนั้น  แต่ถ้าไม่พบสาเหตุความผิดพลาดในการบริหารจัดการทั้งส่วนปฏิบัติการและส่วนหารายได้ ก็แสดงว่ามีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นแผนตลาดผิดพลาด ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนใหม่ หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการจะต้องดูตัวแปรจากภายนอก และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ไม่กระทบกับแผนหลักของธุรกิจ ถ้าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารจัดการจะไปกระทบแผนหลักก็จะต้องมีการทบทวน และวิเคราะห์อย่างละเอียด ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนแผนหลักธุรกิจ

 ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

29 สิงหาคม 2554

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 18:06 น.
 

แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาการบริหารคนในองค์กร

พิมพ์ PDF

แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาการบริหารคนในองค์กร

 

 

หัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของเครื่องมือหรือวิธีการที่นำมาใช้ในการพัฒนาเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรได้พัฒนาบุคลากรถูกที่ถูกจุดหรือไม่ ถ้าจะพูดง่ายๆแบบภาษาชาวบ้านก็คือ เกาถูกที่คัน หรือไม่ หลายองค์กรได้นำเอาเครื่องมือการบริหารจัดการที่ทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามาใช้ แต่สุดท้ายปัญหาการบริหารคนก็ยังคงมีอยู่เหมือนกัน เพราะจัดยาไม่ตรงกับโรค หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคคืออะไร

           มีหลายองค์กรสอบถามผมว่าเราจะมีแนวทางหรือวิธีการอย่างไรบ้างที่จะสำรวจ ค้นหาและประเมินปัญหาในการบริหารคนขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับวิธีการที่หลายองค์กรนิยมใช้ในการประเมินปัญหาคือ การพูดคุยสอบถาม การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การใช้กล่องรับความคิดเห็น ฯลฯ แต่สุดท้ายผู้บริหารองค์กรก็ยังรู้สึกว่าปัญหาที่ได้มามันไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง เพราะมันไม่ตรงกับความรู้สึกของตัวผู้บริหารเอง หรือไม่ก็พอนำไปแก้ไขปัญหาแล้ว ปัญหาเรื่องคนก็ยังไม่จางหายไป

           ผมคิดว่าการที่หลายองค์กรเริ่มหันกลับมามองที่การค้นหาปัญหามากกว่าการหาเครื่องมือมาแก้ไขปัญหาน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีขององค์กรในบ้านเราในปัจจุบันและอนาคต เพราะถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงในการบริหารคนของเราคืออะไร ต่อให้ใช้เงินลงทุนไปมากเท่าไหร่ ต่อให้ใช้เครื่องมือการบริการจัดการคนสมัยใหม่อย่างไรก็คงจะไม่ได้ผล แถมยังเสียเงินเสียเวลาไปแบบไม่คุ้มค่าอีกต่างหาก

           จากการที่ผมได้ให้คำแนะนำองค์กรต่างๆไป รวมถึงได้มีโอกาสเห็นแนวทางการค้นหาปัญหาขององค์กรบางองค์กร จึงอยากจะนำเสนอทางเลือกในการค้นหาปัญหาด้านการบริหารคนดังนี้

•  กำหนดกลุ่มของปัญหาที่ต้องการศึกษาวิเคราะห์

           เนื่องจากปัญหาของคนมีหลายรูปแบบ ดังนั้น ถ้าต้องการให้ได้ปัญหาที่แท้จริง จึงควรจะแบ่งกลุ่มปัญหาของคนในองค์กรออกเป็นกลุ่ม เช่น ปัญหาเกี่ยวกับบรรยากาศในการทำงาน ปัญหาเกี่ยวกับผลตอบแทน ปัญหาเกี่ยวกับความผูกพันต่องานหรือองค์กร ปัญหาด้านการทำงานร่วมกัน ปัญหาชีวิตส่วนตัวครอบครัว ฯลฯ การแบ่งกลุ่มปัญหาจะช่วยให้การศึกษาปัญหาชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าเราศึกษาปัญหาโดยภาพรวมทำให้ไม่สามารถแยกแยะลักษณะและสาเหตุของปัญหาได้อย่างชัดเจน

•  เลือกเครื่องมือในการค้นหาปัญหา

           เมื่อเราแบ่งกลุ่มของปัญหาได้แล้ว ให้ลองหาเครื่องมือในการค้นหาปัญหาว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง แต่ละเครื่องมือมีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เช่น การสำรวจอาจจะเหมาะสำหรับการค้นหาภาพรวมของปัญหา แต่อาจจะไม่สามารถค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกอาจจะดีตรงที่ได้ข้อมูลละเอียด แต่ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถูกสัมภาษณ์ อาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง สุดท้ายวิธีการที่เหมาะสมอาจจะเป็นแบบผสมกันก็ได้ เช่น ช่วงแรกอาจจะใช้วิธีการสำรวจ เมื่อได้ปัญหาในภาพรวมมาแล้ว ก็ค่อยมาใช้วิธีการเจาะลงรายละเอียดของปัญหาแต่ละปัญหาย่อยอีกครั้งหนึ่ง

•  การตรวจสอบความถูกต้องของปัญหาที่ค้นหาหรือสำรวจมา

           เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปัญหาที่เราค้นหามาได้นั้นสะท้อนปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเปลือกนอกของปัญหา จึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือของปัญหา อาจจะใช้บุคคลภายนอกเข้ามาช่วยดำเนินการสำรวจปัญหาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่เราได้มานั้นถูกต้องจริงหรือไม่ หรืออาจจะใช้วิธีการศึกษาเชิงการวิจัยที่มีการตั้งสมมติฐานของปัญหานั้นๆตามที่เราได้ศึกษามาในเบื้องต้น และทดสอบสมมติฐานคร่าวๆโดยการศึกษาเชิงการวิจัย แต่คงไม่ต้องลงลึกที่ต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยอะไรมากมายนักนะครับ

•  การประเมินระดับของปัญหา

           เมื่อแน่ใจว่าปัญหาในการบริหารคนขององค์กรถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการประเมินระดับของปัญหาว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด ปัญหานั้นเกิดขึ้นมานานหรือยัง ปัญหานั้นๆส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อองค์กรอะไรบ้าง อย่างไร ระดับไหน นอกจากนี้อาจจะต้องมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ประเมินได้ด้วยว่าปัญหาควรจะดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนาเร่งด่วนกว่ากัน ปัญหาไหนที่ต้องแก้อีกปัญหาหนึ่งก่อนจึงจะดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนาได้ เช่น การที่จะพัฒนาความสามารถของบุคลากรได้ จะต้องแก้ไขปัญหาชีวิตส่วนตัวของบุคลากรที่ส่งผลกระทบต่องานให้ได้ก่อน

•  จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหรือแผนพัฒนาบุคลากร

           เมื่อรับทราบปัญหาเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องนำเอาปัญหาทั้งหมดมาจัดทำแผนการแก้ไขหรือพัฒนา แผนที่ว่านี้อาจจะจัดทำเอง หรืออาจจะลองให้ที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามานำเสนอแผนก็ได้ ส่วนเราจะเลือกใช้บริการหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ อย่างน้อยเราจะได้มั่นใจได้ว่าแผนที่เราจัดทำขึ้นมานั้นถูกต้อง (ตรงกับแผนที่บุคคลภายนอกนำเสนอ)

•  การดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนาบุคลากร

           เมื่อเราได้ปัญหาที่แท้จริงแล้ว จัดทำแผนการแก้ไขหรือพัฒนาเรียบร้อยแล้ว บางปัญหาเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดสินใจเชิงการบริหารจัดการ เช่น ปัญหาเรื่องผลตอบแทน ปัญหาเรื่องระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงาน สถานที่ทำงาน ฯลฯ แต่บางปัญหาอาจจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เช่น การพัฒนาฝึกอบรมต่างๆ และถ้าจะให้ได้ผลควรจะกำหนดขอบเขตของผู้ที่จะต้องพัฒนาฝึกอบรมให้ชัดเจน กลุ่มนี้จะต้องพัฒนาเรื่องการวางแผนงาน กลุ่มนี้จะต้องเน้นเรื่องการคิดเชิงระบบ อีกกลุ่มอาจจะต้องเน้นเรื่องการประสานงาน/ทำงานเป็นทีม ไม่ควรกำหนดเป็นระดับ เช่น พนักงานระดับนี้(ทุกคน) จะต้องเข้าอบรมหลักสูตรนั้นหลักสูตรนี้ เพราะจะทำให้ปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไขหรือคนที่ไม่เก่งก็ยังคงไม่เก่งต่อไป ส่วนคนที่เก่งอยู่แล้วก็เก่งมากยิ่งขึ้น

สรุป แนวทางในการสำรวจ ค้นหา
วิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาบุคลากรขององค์กรควรจะทำอย่างเป็นระบบและเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนแรกให้มากเพราะถ้ากำหนดปัญหาผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องแล้ว จะทำให้กระบวนการต่อๆมาไม่มีประโยชน์อะไร และการแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามควรจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ผลที่คาดหวัง ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขหรือพัฒนา ถ้ายังกำหนดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งดำเนินการเลยครับ เดี๋ยวจะเสียเงินเสียเวลาเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกนะครับ สุดท้ายนี้หวังว่าทุกองค์กรจะมุ่งเน้นการสำรวจปัญหาการบริหารคนขององค์กรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะครับ

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 22:47 น.
 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พิมพ์ PDF

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ระบบทุนนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทยเป็นเวลานาน ทำให้วัฒนะธรรมและอารยะธรรมที่ดีงามของคนไทยขาดหายไป จากการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายรู้จักความพอเพียง มีความรักและโอบอ้อมอารีต่อกัน รู้จักให้และช่วยเหลือแบ่งบัน กลายมาเป็นการดำรงชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เกิดการแข่งขันและ ชิงดีชิงเด่น เพื่อให้ตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น

นายทุนผู้มีอิทธิพลในการควบคุมนโยบายและบริหารประเทศ ได้นำระบบทุนนิยมมาใช้ในการบริหาร นำหลักการและทฤษฎีในการบริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ จึงทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ เริ่มตั้งแต่การศึกษา ต้องแข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด เด็กที่ทำคะแนนสอบได้สูงกว่าก็จะมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด  เด็กที่ผู้ปกครองร่ำรวย จะได้รับการสอนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อการสอบแข่งขัน ทำให้ได้เปรียบเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถได้รับการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน

เยาวชนรุ่นใหม่ต่างแย่งกันเรียนเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย สถานบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้านการศึกษาเพราะมีความต้องการสูง ต่างแข่งขันกันทำธุรกิจ โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพของนักศึกษามากกว่าผลกำไรของธุรกิจ ประชาชนต้องลงทุนให้กับการเรียนในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ได้รับปริญญาตรี เพื่อแข่งขันในการหางานทำ

นิสิตส่วนมากที่จบปริญญาตรีไม่สามารถเข้าทำงานได้เพราะ เรียนมาไม่ตรงกับคุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการ เลือกงานเพราะคิดว่าตัวเองจบปริญญาตรีแล้วควรจะได้งานที่ดี และมีรายได้มากว่านี้ ทำให้นิสิตที่จบออกมาไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก

บริษัทใหญ่ๆที่มีทุนมากมีความได้เปรียบกว่าบริษัทเล็กๆ สามารถเลือกจ้างนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิได้ก่อน  บริษัทเล็กๆไม่ค่อยมีโอกาสได้รับนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิ ต้องรับผู้ที่มีคุณสมบัติด้อยลงมา นำมาฝึกฝน เมื่อได้คุณภาพที่ดี ก็จะถูกดึงตัวไปอยู่บริษัทที่ใหญ่กว่า

นิสิตที่ตกงานเป็นจำนวนมากต้องหันไปทำธุรกิจส่วนตัว ขอเงินผู้ปกครองมาลงทุน ผู้ปกครองต้องเป็นหนี้เป็นสิน หรือขายสมบัติเก่ามาให้ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอดเพราะขาดประสบการณ์ หรือสายป่านสั้นไป มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อปริญญาโท และ ปริญญาเอก ถ้ามีผู้ปกครองที่ร่ำรวยก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ร่ำรวย แต่เพื่ออนาคตของบุตรหลาน ก็ต้องขายสมบัติเก่า หรือไม่ก็ต้องเป็นหนี้

ผู้ที่มีอิทธิพลในการบริหารประเทศชาติส่วนใหญ่ มาจากประชาชน สองกลุ่ม คือ กลุ่มนายทุน และกลุ่มนักวิชาการที่จบการศึกษา ระดับ ปริญญาเอก และ ปริญญาโท จากต่างประเทศ ท่านเหล่านี้ส่วนมากประสบผลสำเร็จเพราะท่านเป็นลูกหลานของผู้มีเงิน หรือ ผู้มีอำนาจ  ท่านมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่างประเทศ ได้จดจำทฤษฎีต่างๆของต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีระบบทุนนิยม ท่านคิดว่าดี และได้นำมาใช้กับประเทศไทย โดยมิได้นำความรู้ที่ท่านได้เล่าเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมของทุนนิยม มีแต่การแข่งขัน ความไม่รู้จักพอ การทำอะไรที่ได้เปรียบถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สังคมจึงสับสนและแตกแยกกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นอันตราต่อประเทศชาติอย่างมาก

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญา ในการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยมาแต่อดีต รัฐบาลปัจจุบันได้มองเห็นความสำคัญของปรัชญานี้  และได้นำขึ้นใช้เป็นแผนในการบริหารประเทศชาติ พวกเราชาวไทยควรจะยินดีที่ผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจ และตัดสินใจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ แต่ก็น่าเสียดายที่ยังมีคนไทยเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และได้พยายามทำให้เกิดการสับสน

                มนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพัง เราอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และสังคม การดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต เริ่มที่ตัวเราเองก่อน เราต้องทำความเข้าใจ สถานะของตัวเองว่าเราอยู่ในสถานะใด เราต้องรับผิดชอบใครบ้าง อันดับแรกก็ต้องคิดถึงการดูแลตัวเองก่อน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราเป็นภาระของผู้อื่น หรือถ้าเรายังอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ เรายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่ เราก็ต้องรู้จักสถานะของตัวเราว่าเราเป็นผู้ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ทำอย่างไรที่เราจะแบ่งปันภาระของพ่อแม่ ต้องรู้ว่าหน้าที่หลักของเราคือการเรียนหนังสือเราก็ต้องพยายามเรียนหนังสือให้ดีที่สุด ไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ ใช้จ่ายน้อยที่สุดเพราะเรายังหาเงินเองไม่ได้  หรือถ้ามีโอกาสหาเงินได้เพื่อนำมาช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเรา โดยไม่ทำให้หน้าที่หลักของเราเสียหาย ก็ดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้ตัวเราเองมีความสุข ไม่ต้องไปคิดอยากได้ของๆคนอื่น พอใจกับสถานะที่เราเป็นอยู่และพยายามศึกษาเรียนรู้และเลือกทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

                เมื่อเราสำเร็จการศึกษาจนสามารถเข้าทำงานมีรายได้ เราก็ต้องรู้สถานะของตัวเองว่าขณะนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาตัวเอง และเตรียมการที่จะให้การดูแลผู้อื่นบ้าง เช่น พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูเรามาจนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ เราก็ต้องคิดที่จะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา  เราต้องมาคิดถึงรายได้และรายจ่ายของเรา ถ้ารายได้เรามีมากพอที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ เราก็อาจให้พ่อแม่เลิกทำงาน ให้ท่านได้พักผ่อน และเราเป็นผู้เลี้ยงดูท่านเอง หรือถ้าเรายังมีรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องพยายามให้พ่อแม่ได้ทำงานน้อยลง และเราก็ให้ค่าเลี้ยงดูท่านพอที่เราจะอยู่ได้ บริหารรายรับรายจ่ายให้เหมาะสม กับสถานะความเป็นจริงของตัวเราเองและผู้ที่อยู่ในความดูแลของเรา ถ้ารายได้ยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องหาวิธีที่จะลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มรายได้  แต่ถ้ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ต้องวางแผนในการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า อาจต้องมีภาระต้องให้การเลี้ยงดูผู้อื่น เช่น การแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น ทุกอย่างต้องมีแผน และคำนวณ ราย รับรายจ่ายให้เหมาะสม

                คำว่าพอดี และเหมาะสม เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ปฏิบัติยาก เช่นบางครั้งเราจำเป็นต้องเป็นหนี้ เพื่อหวังผลในวันข้างหน้า เช่นการลงทุนเรื่องการศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะทำให้เราสามารถหางานใหม่ที่มีรายได้มากกว่าปัจจุบันและคุ้มกับการลงทุน ก็ไม่ได้ถือว่าหลักการนี้ไม่ถูกต้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง  อย่างไรก็ตามแต่ละคนจะมีความพอเพียง และเหตุผลของความเหมาะสมที่แตกต่างกัน  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติ  อย่าไปคิดอะไรมากเพียง แค่ทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและนำความรู้ที่เป็นธรรมชาตินำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตของตัวเราเองเพื่อให้เกิดความสุขกับตัวเองและผู้อยู่รอบข้างโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

                ผมอยากวิงวอนให้ประชาชนคนไทยทุกคนหันมาให้ความสนใจและศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวันของทุกคน โดยขอให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในทุกหมู่บ้าน และทุกชุมชน โดยขอให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของแต่ละชุมชน มีการเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกัน  สร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยการ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน จัดตั้งชมรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละชุมชน ผมว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกันทำให้วัฒนะธรรม และอารยะธรรมที่ดีๆของสังคมไทยกลับมาอยู่ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 18:13 น.
 

บูรพาภิวัตน์ เอเชียคืออนาคต

พิมพ์ PDF

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ :

“บูรพาภิวัตน์ เอเชียคืออนาคต”

เสาร์ที่ผ่านมาผมบรรยายให้ครูแนะแนวจากทั่วประเทศกว่าร้อยคน จัดที่โรงแรมดุสิตพัทยา โดยมหาวิทยาลัยรังสิต

ครูอาจารย์ทั้งหลายก้มหน้าทุ่มเททำงานในหน้าที่จนไม่มีเวลาติดตามความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงของโลก ของภูมิภาคและของประเทศไปบ้าง จึงถือโอกาสนี้เล่าอะไรให้บูรพคณาจารย์เหล่านั้นฟัง

สถานการณ์โลก

1. จีนมี OBOR (One Belt One Road) เพื่อเชื่อมโลก รถไฟความเร็วสูงจากปักกิ่งสู่ลอนดอน จีนและสหรัฐมีบทบาทในประเทศไทยและอาเซียนสูงกว่าญี่ปุ่นและยุโรป

มหานโยบายต่างประเทศของจีน “One Belt One Road หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หมายถึง เส้นทางสายไหมทางบก และทางทะเล เชื่อมยุโรปกับเอเชียเข้าด้วยกัน เป็นแนวคิดที่ทะเยอทะยานในทางบวก ถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลก

ทางบก ใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากปักกิ่ง ผ่านเอเชียกลาง ยุโรปตะวันออก ตะวันตก ไปถึงอังกฤษ และสเปน ส่วนทางทะเล ก็จะเชื่อมลงทางทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งต้องผ่านทางใต้ของประเทศไทย

2. สหรัฐเริ่มปรับสมดุลด้านการต่างประเทศ (Rebalancing) นโยบายกลับมาซบเอเชีย

จากเดิมให้ความสำคัญและไปวุ่นวายกับสงครามตะวันออกกลาง ทุบกำแพงเบอร์ลิน เหตุการณ์ 911 สงครามอิรัก อัฟกานิสถาน แล้วยังมี ISIS และสงครามในซีเรียอีก

ตอนนี้ สหรัฐอเมริกาพยายามกลับมาสู่เอเชีย Balancing to Asia โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก และอาเซียน สหรัฐทิ้งเราไปตั้งแต่สงครามเวียดนาม ตอนนี้ต้องกลับมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน จีนเติบโตขึ้นทุกวันในแบบก้าวกระโดด กล่าวคือ โตแบบจี้ก้นอเมริกา ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐเท่านั้นเอง

3. ข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ - ไทยเป็นตัวกลาง

จีนมีข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเล หมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้หลายจุด อาทิ ขัดแย้งกับไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน ฉะนั้น จีนจึงพยายามให้อาเซียน (กัมพูชา และลาว) วางตัวเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการเจรจาทวิภาคีกับประเทศคู่ขัดแย้ง ด้านสหรัฐอเมริกาก็พยายามใช้เวียดนามและฟิลิปปินส์มาคานอำนาจจีน

ส่วนไทยอยู่ตรงกลาง...

ข้อสังเกตคือ ตอนสหรัฐรบกับโซเวียต เรียกว่า ตัดสัมพันธ์ เป็นสงครามเย็นเต็มรูปแบบ แต่กับจีน ยังค้าขายกันอยู่ มีสัมพันธ์กันอยู่ แต่ก็แข่งขันกันรุนแรง ต่อสู้ผ่านการแผ่อิทธิพลเหนือประเทศในเอเชีย

4. บูรพาภิวัตน์ - เอเชียคืออนาคต

"บูรพาภิวัตน์" คือจีนกับอินเดียผงาด เอเชียกำลังจะรวยขึ้น ทั้งจีนและอินเดีย อินเดียใกล้ไทยทางทะเล จีนใกล้ไทยทางเหนือ เพราะฉะนั้น "บ้านเราคือทำเลทอง"

นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย 3 ล้าน แต่นักท่องเที่ยวจีน 10 ล้าน ไปไหนเจอแต่พี่จีน นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักจ่ายเงินมือฉมัง คนจีนสนใจเครื่องสำอาง 2 ชาติ คือเกาหลีและไทย ประชากรหญิงจีนมี 700 ล้านคน ถ้าคนจีนอยากสวย หมายถึง โอกาสทางธุรกิจขนาดยักษ์

มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอื่นๆ อีก แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้มีข้อจำกัดคือ จีนเคยออกนโยบายคุมกำเนิด เพราะฉะนั้น ในอนาคตจะกลายเป็นสังคมสูงอายุ ไม่มีวัยหนุ่มสาวใช้แรงงาน เศรษฐกิจจะชะงัก ในขณะที่ อินเดียไม่มีการคุมกำเนิด ยังเติบโตได้อีกยาว
.................................

แล้วประเทศไทย... เรามีอะไร?

หนึ่ง เราเป็นประเทศรวยทรัพยากร ไม่ได้มีแค่ข้าวหรือยางพารา เนชันแนลจีโอกราฟิกบอกว่า ป่าประเทศไทยเป็นป่าชั้นดีไม่แพ้แอมะซอน มีพื้นที่สงวนชีวมณฑลถึง 4 แห่ง หรืออย่างห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร หรือป่าทางระนองเป็นที่ที่มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับหนึ่งของโลก สัตว์เดินข้ามประเทศมาจากพม่า อินเดีย ส่วนเขาใหญ่หรือก็มีสัตว์ข้ามมาจากกัมพูชา

ป่าเหล่านี้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวระดับ high-end ราคาแพง นักท่องเที่ยวสีเขียวมีกำลังจ่ายมาก ถ้าทำได้จะเป็นตลาดขนาดใหญ่ แล้วรายได้เหล่านี้ จะถูกนำกลับมาพัฒนาและอนุรักษ์ป่าให้เป็นป่าชั้นหนึ่งของโลกได้

สอง เรามีสองมหาสมุทร ซ้ายมหาสมุทรอินเดีย ขวามหาสมุทรแปซิฟิก (อเมริกาก็มี 2 มหาสมุทร แอตแลนติกและแปซิฟิก)

สาม เรามีจังหวัดติดทะเล 23 จังหวัด

สี่ เรามีจังหวัดติดชายแดน 31 จังหวัด

เพราะฉะนั้น ด้านการศึกษา เด็กของเราควรรู้เรื่องเอเชียมากขึ้น เช่น เด็กทางเหนือควรรู้ภาษาจีนและพม่าจนถึงอ่านเขียนได้แตกฉาน เด็กอีสานควรพูดอ่านเขียนลาวและเวียดนามได้ ทางอีสานใต้ควรพูดเขมรได้ ส่วนทางใต้ควรพูดมลายูให้ได้ เป็นต้น เราต้องเตรียมเด็กของเราให้ข้ามไปทำงานในลาว พม่า เขมร เวียดนาม จีน

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญ แต่... ภาษาเพื่อนบ้านก็สำคัญไม่แพ้กัน ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้บูมอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐอีกต่อไป แต่บูมอยู่แถวบ้านเรา คือ ทั้งเอเชียและอาเซียน

สถานการณ์โลกสมัยใหม่ เป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน... ตอนสงครามเวียดนาม และยุคล่าอาณานิคม เราเป็นด่านหน้ารับสงคราม แต่ยุคนี้ เราเป็นด่านหน้าเช่นกัน แต่เป็นด่านหน้ารับเงิน

ห้า เรามีหลายเมืองที่เรียกว่าเป็นมหานครสำคัญของโลก (อันดับ 1 กรุงเทพฯ, อันดับ 9 ภูเก็ต, อันดับ 13 เชียงใหม่, อันดับ 26 พัทยา) กรุงเทพฯ ที่เรารังเกียจ คิดว่าสกปรก จำได้แต่ว่าน้ำท่วม อากาศแย่ พอสำรวจออกมา ชนะปารีส โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะฉะนั้น เราไม่ธรรมดา!

ด้านการศึกษา เราต้องทำให้สอดคล้องเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการ ยอมรับก่อนเลยว่า คนไทยไม่ได้เก่งเรื่องศาสตร์แข็ง แต่เก่งศาสตร์อ่อน เช่น ศิลปะ บริการ ร้องเพลง

เราต้องสร้าง “ลัลล้า... อีโคโนมี” ชิวๆ สนุกๆ ไม่ทุกข์ไม่โศก เราต้องใช้เรื่อง “ลัลล้า” ให้เป็นเงิน

เราต้องจัดการศึกษาด้านลัลล้าให้มากขึ้น เด็กไทยขนาดสอนแต่วิชาการ ความลัลล้ายังโดดเด่นออกมาจากเด็กไทย

“ปลาต้องอยู่ในน้ำ... มันถึงจะเป็นอัจฉริยะ อย่าเอามันมาปีนต้นไม้” - การศึกษาไทยก็เช่นกัน เรายัดเยียดในสิ่งที่ไม่ใช่เราให้เด็กเราหรือเปล่า?

โลกเข้าไปสู่ Experience Economy แล้ว ไม่ได้ซื้อแค่สินค้า แต่ซื้อประสบการณ์ อาชีพเต้นกินรำกิน เอาแต่เล่น ลัลล้า พวกนี้แหละ จะกลายเป็นเงิน

เราต้องมองให้เห็นโอกาส ต่อยอดจากโอกาส ไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา ถ้าเห็นโอกาส ไปไกลกว่า จะเห็นโอกาสได้ต้องมองโลก มองประเทศในทางบวก ครูอาจารย์ต้องเห็นก่อน ลูกศิษย์จะได้มองเห็นด้วย

ถ้าเห็นแต่ปัญหา ก็จะถูกพันธนาการด้วยปัญหา เป็นการมองโลกในแง่ร้าย

มันขึ้นอยู่กับวิธีคิด อย่างเรื่องนักท่องเที่ยวจีนก็คิดได้หลายแบบ คิดว่า “เขาเสียงดัง แย่งกันกิน” หรือ “เขามาช่วยเรา เอาเงินมาให้ประเทศเรา”

อย่ามองจีนและสหรัฐ ว่าเขายิ่งใหญ่ น่ากลัว แล้วเอาแต่หนี แต่ให้มองว่าเขาเป็นยักษ์ใหญ่ เราจะขี่หลังยักษ์และหากินหาเงินจากเขายังไง

เราต้องใจใหญ่ ต้องกล้า เราต้องฝึกให้คนรุ่นใหม่กล้า เพราะคนรุ่นเก่าใจฝ่อ ถูกสอนมาให้กลัว

พึงระลึกไว้ว่า กระแสบูรพาภิวัตน์ “เป็นคุณ” ต่อประเทศไทย

ป.ล. เรียบเรียงโดย ผศ. สมเกียรติ รุ่งเรืองวิทยะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอบคุณ ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก ที่นำมาเผยแพร่ผ่านทางไลน์กลุ่ม iHDC

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 12 กรกฏาคม 2016 เวลา 18:29 น.
 


หน้า 11 จาก 558
Home

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8632854

facebook

Twitter


บทความเก่า