Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

KM วันละคำ : ๖๓๕. เรียนรู้KM จากบริษัท PTTGC

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ในงาน UKM 26 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผมได้เรียนรู้วิธีเอา KM ไปใช้งานในองค์กรอย่างเป็นระบบ จากคุณจิราภรณ์ จิระชัยประวิตร VP ของ PTT Global Chemical น่าตื่นตาตื่นใจมาก

ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้บันทึกเทปวีดิทัศน์ไว้ด้วย ท่านที่สนใจจริงๆ น่าจะขอ ก็อปปี้ได้ เป็นวิธีนำ KM ไปใช้ในการบริหารองค์กร แบบ KM Inside จริงๆ โดยทางบริษัทออกแบบเอง ไม่ได้เอาพิมพ์เขียวมา จากที่ใด โดยเป้าหมายสุดท้ายคือนวัตกรรมที่พนักงานทั้ง ๓,๖๐๐ คน ช่วยกันพัฒนาขึ้น เพื่อความสามารถใน การแข่งขันขององค์กร

จุดเริ่มต้นของ KM คือ Vision ขององค์กร แปลเป็น Knowledge Vision หรือ KM Objectives แปลเป็นโครงสร้างของกิจกรรม KM ไปจนถึงผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้น

มีการกำหนด KM Framework และ KM Tools ที่ใช้อย่างน่าสนใจมาก โปรดดูจาก Ppt ที่ผมถ่ายรูปมานะครับ

วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

สามารถชมภาพประกอบได้ที่ link :https://www.gotoknow.org/posts/578410

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:45 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2255. เยี่ยมชมหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม

พิมพ์ PDF

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ของหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ ที่โรงเรียนวัดโบสถ์บน  อ. บางกรวย  จ. นนทบุรี ซึ่งไปทางถนนนครอินทร์

กว่าจะไปถึงผมก็หลงทางไปหลายตลบตามธรรมเนียมต้องถามทางหลายครั้งคนตอบมีทั้งตอบถูก และตอบผิดบริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีมาแต่โบราณ มีวัดอยู่ติดๆ กัน วัดโบสถ์บนอยู่ริมแม่น้ำอ้อม หรือคลองบางกอกน้อย ที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่เวลานี้แคบลงไปมากสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนเต็ม

ผมไปเห็นนักศึกษาของศูนย์วัดโบสถ์นนทบุรี ๑๑ คน (จากจำนวนทั้งหมด ๓๐ คน) มาเล่าเรื่องการ ไปเรียนรู้กิจการของผู้ประกอบการเพื่อสังคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาของศูนย์วัดโบสถ์ ของจังหวัด ปทุมธานี จำนวนสิบกว่าคนมีศิลปาจารย์เกือบสิบคน และผู้อำนวยการหลักสูตรของสถาบันอาศรมศิลป์ คือ ดร. ศักดิ์ ประสานดี ไปร่วมเยี่ยมชื่นชมด้วย

ความท้าทายของหลักสูตรการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แบบนี้ คือเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และเรียนจาก การปฏิบัติ จะได้ความรู้ตามมาตรฐานของหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือไม่ ผมไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้นี้ ก็เพื่อไปสัมผัสสภาพจริงของสถานที่ และกิจกรรมเพื่อตอบคำถามนี้

ได้ไปเห็นว่า กิจกรรมของหลักสูตรนี้เข้าใช้ (ยึดครอง?) อาคารหนึ่งของโรงเรียนทั้งอาคารเพราะทาง โรงเรียนไม่ได้ใช้ แต่ก็เห็นมีการสร้างอาคารใหม่อีกหลังหนึ่ง

ที่ชั้นสองของอาคารมีกิจกรรมการสอนเสียดายที่ผมไม่ได้ขอเข้าไปนั่งสังเกตการณ์สักครู่เพราะเขา มาเชิญขึ้นไปชั้นสามทันทีสถานที่กว้างขวาง เป็นชั้นโล่งนักศึกษากำลังนำเสนอผลงานการไปเรียนรู้กิจกรรม การประกอบการทางสังคม ให้เพื่อนนักศึกษาฟังผมฟังไม่ค่อยได้ยินนัก เพราะไปนั่งด้านหลัง

มีโปสเตอร์แสดง Mind Map ของผลงานค้นคว้า ศึกษากิจการธุรกิจที่เป็นการประกอบการทางสังคม (Social Enterprise) ของหลายกิจการผมไม่มีเวลาซักถามรายละเอียด แต่ได้ถ่ายรูปเอามาศึกษาต่อที่บ้านทาง “นักศึกษา” คือคุณชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ (อายุ ๖๐ ปี เป็นมุสลิม) เข้ามาอธิบายเรื่องของขนมจีน พศช. ที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕มีตลาดกว้างขวางมาก โปรดอ่านรายละเอียดจากรูปที่ ๓ นอกจากนั้น ยังมี Mind Map ผู้ประกอบการชุมชนวัดสวนแก้วผู้ประกอบการชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม บ้านบางนายไกรหมู่ ๔ ต. บางขุนกองอ. บางกรวบจ. นนทบุรี เป็นต้น

ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า ศิลปาจารย์ของศูนย์การศึกษามีหลักการ และทักษะในการประเมิน และ feedback ให้นักศึกษาได้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง จากการทำงานชิ้นนี้อย่างไรบ้าง ผู้บริหารหลักสูตรมีแนวทาง ใช้การทำชิ้นงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ ให้นักศึกษาได้ higher order thinking / higher order learning outcome อย่างไร

ไม่ทราบว่า เพราะผมไปเยี่ยมชมหรือเปล่า จึงมีการจัดนิทรรศการซึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจคือ สืบสานตำนานอาหารมุสลิมบ้านตลาดแก้ว ที่มีสินค้าออกสู่ตลาด คือ โรตีสำเร็จรูป (Decem Roti)และ เครื่องแกงกะหรี่สำเร็จรูป (Decem Yellow Curry Powder)ผลิตจำหน่ายโดย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตำนานอาหารมุสลิมบ้านตลาดแก้ว๖๙/๑๐ พิบูลสงคราม ๑สวนใหญ่อ. เมืองนนทบุรี ๑๑๐๐๐โทร ๐๘๑ ๐๖๗ ๑๓๒๔กลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก มทร. พระนครคุณชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ บอกว่า ทาง มทร. มีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อยู่เสมอ ทางมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระนคร ถึงกับมอบเครื่องเคบับ (เข้าใจว่าเป็นเครื่องทำโรตี) ให้แก่กลุ่ม (ดูรูปที่ ๗)

เรากินอาหารเที่ยงเวลาเกือบบ่ายโมงแล้วออกเดินทางไปชมกิจการวิสาหกิจชุมชนของนักศึกษา คนหนึ่ง ชื่อ คุณสุที่ทำกิจการดอกไม้ประดิษฐ์ทั้งดอกไม้จันทน์ ใช้ในงานศพและดอกไม้กลัดอกเสื้อในงานและอื่นๆโดยสอนคนแก่ในชุมชนให้ทำ ให้ค่าแรงดอกละ ๑.๕๐ บาทเป็นอาชีพเสริมสำหรับคนไม่มีอาชีพ ในยามว่างสามารถมีรายได้สัปดาห์ละ ๕๐๐ บาทได้สบายๆ

บ้านคุณสุ เป็นบ้านคนเก่าแก่ในพื้นที่ ที่ยังเป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมอยู่พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสวนผัก /ไม้ประดับอีกส่วนหนึ่งยังเป็นคล้ายๆ สวนป่าเราได้ไปเดินชมด้วยผมได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่ยัง ดำเนินชีวิตในวิถีเดิม ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีใหม่ ความคิดใหม่ที่เป็นวิถีตลาดนิยมบริโภคนิยม

ก่อนจากกัน ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ นักศึกษาเอา “มะพร้าวแก้วนุ่มนวล” ใส่กระเช้ามาให้ ๓ ถุงพร้อมบอกว่า ทำจากมะพร้าวหอม ไม่มีขายทั่วไปต้องสั่งจึงจะได้กินเอามากินที่บ้านพบว่าอร่อยและหอม เนื้อมะพร้าวจริงๆเป็นสินค้าของกลุ่ม ชุมชนวัดโบสถ์จึงขอโฆษณาว่าติดต่อสั่งได้ที่ 086 907 1093, 089 774 5877

ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่าผมทำผิดที่เดินทางไปยังสถานที่คือโรงเรียนวัดโบสถ์ตามเวลาที่ ดร. ศักดิ์บอก (๑๐.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.) แล้วไปหลงอยู่นาน จนไปถึงเวลาประมาณ ๑๑.๒๐ น.ทำให้ไม่ได้อ่านและซักถามโปสเตอร์ นิทรรศการ ต่อไปหากมีการนัดหมายเช่นนี้อีกผมจะไปก่อนเวลา เพื่อให้มีเวลาสนทนา และสังเกตการณ์ นอกรอบ

ผมไตร่ตรองว่า กิจกรรมของหลักสูตรนี้ เหมาะมากต่อชุมชน ที่ผู้คนมีการรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็ง ของชุมชนหลักสูตรจะเข้าไปเติมส่วนของกระบวนการทางวิชาการเสริมกระบวนการรวมกลุ่มทำให้การ เรียนรู้เป็นกลุ่มและเรียนรู้จากการปฏิบัติยกระดับขึ้นโดยการเอาความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปเสริม

วิธีเสริมความรู้ทฤษฎี โดยไม่เข้าไปครอบงำ จึงน่าจะเป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งผมจึงคิดว่า ศิลปาจารย์ น่าจะเป็นกลไกหรือบุคคลสำคัญศิลปาจารย์ต้องมีทักษะในการเอาความรู้ทฤษฎีเข้าไปทำ AAR/ Reflection ต่อกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อยกระดับการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เข้าสู่ higher order learningคือให้ได้ผลลัพธ์ การเรียนรู้ระดับ analysis, synthesis, evaluation, cognitive development, และ mindset change

จึงน่าจะมีการประชุมอบรม (workshop) ฝึกปฏิบัติให้แก่ศิลปาจารย์ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็น “คุณอำนวย” ของกิจกรรม AARให้ชวนนักศึกษาเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้จากการปฏิบัติ เข้าสู่การเรียนรู้ระดับ higher order ได้

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๗

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 ตุลาคม 2014 เวลา 23:40 น.
 

ครูสร้างโครง

พิมพ์ PDF

แนวความคิดในปัจจุบันเรื่องการเรียนรู้ของเด็กเป็นกลไกเดียวกันกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (adult learning) คือ เริ่มที่ ประสบการณ์ตรง (concrete experience)ตามด้วยการทบทวนไตร่ตรอง (reflection)การสร้างเป็นหลักการ (abstract conceptualization)และการนำเอาหลักการนั้นไปทดลองใช้ (active experimentation)ซึ่งก็คือประสบการณ์ตรง ตามขั้นตอนแรกวนเป็นวัฏฏจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น

การเรียนรู้ของเด็ก แตกต่างออกไปที่ เด็กยังไม่มีความสามารถหรือโอกาสได้รับประสบการณ์ตรง เพื่อการเรียนรู้ของตนจึงต้องการความช่วยเหลือจากครู ในการสร้าง “โครง” หรือนั่งร้าน (scaffolding) ซึ่งหมายถึงการออกแบบประสบการณ์ตรงและการจัดกิจกรรม รวมทั้งการโค้ช ให้แก่ศิษย์

ทักษะ “สร้างโครง” นี่แหละเป็นทักษะสำคัญยิ่งของครู

ผู้ใหญ่เรียนจากประสบการณ์ตรง ในการทำงาน และการดำรงชีวิต

เด็กก็เรียนจากประสบการณ์ตรงแต่ต้องการความช่วยเหลือผู้ให้ความช่วยเหลือคือครูช่วยโดยการ “สร้างโครง” (scaffolding)

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 ตุลาคม 2014 เวลา 23:51 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: 2256. เรียนรู้เรื่องผู้สอบบัญชี

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพ อาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษา แห่งประเทศไทย (ควอท)โดยผมมีฐานะเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการและผมมีเวลาไปร่วมประชุมนานๆ ครั้ง

ไม่ว่าไปประชุมที่ไหน ผมได้เรียนรู้มากเสมอแต่คราวนี้ได้เรียนรู้ในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับ บทบาทของผู้สอบบัญชี โดยผู้อธิบายคือ ดร. มัทนา สานติวัตร กรรมการและอุปนายกและเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ท่านบอกว่า ผู้สอบบัญชีเป็นตัวแทนของสังคมในการดูแลความถูกต้องเรียบร้อยด้านการเงิน ของสมาคม ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเพื่อประโยชน์ของสังคม

ท่านบอกว่า สมาคมต้องระมัดระวังเรื่องการเปลี่ยนผู้สอบบัญชี การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีต้องเข้า ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ก็เพื่อป้องกันคณะกรรมการสมาคมร่วมมือกับผู้สอบบัญชีในการบิดเบี้ยวบัญชี หรือรายงานทางการเงิน

สิ่งที่ต้องไม่ทำ คือเปลี่ยนตัวผู้สอบบัญชีกลางคันเพราะอาจเกิดจากผู้สอบบัญชีไม่ยอมลงนามรับรอง บัญชีที่ไม่ถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 ตุลาคม 2014 เวลา 23:56 น.
 

การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๗ ผมได้เข้าร่วมงานประชุมประจำปี ๒๕๕๗ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อเรื่อง " การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย" ผมตื่นเต้นและดีใจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช) ได้ยกเรื่อง "การพัฒนาคน" มาเป็นหัวข้อการประชุมในปีนี้

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมประจำปี ของ สศช อย่างต่อเนื่องมาตลอดเป็นเวลาหลายปี จำได้ว่า ตั้งแต่แผน ๘ มีการกล่าวว่า "คนเป็นศูนย์กลาง" แต่ในแผนได้กล่าวถึงคนในด้านสังคมเพียงด้านเดียว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนในด้านเศรษฐกิจ ผมได้พยายามผลักดันและแสดงความเห็นว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องมีแผนพัฒนาคนควบคู่กันไป แต่ทุกอย่างก็เงียบ เมื่อการประชุมในปีนี้มีการยกเรื่องของคนมาเป็นหัวข้อในการประชุมประจำปี ทำให้ผมดีใจมาก แต่แปลกปีนี้ผมไม่ได้รับเชิญและไม่ทราบเรื่องการประชุม บังเอิญทราบเรื่องจาก รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล จึงรีบติดต่อไปที่ สศช และแจ้งความประสงค์ว่าสนใจเข้าร่วมการประชุม เจ้าหน้าที่แนะนำให้เข้าไปลงทะเบียนได้ในเวปไซด์ จึงมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

งานประชุมประจำปีของ สศช จัดยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,500 คน ปีก่อนๆ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากจะเป็นพวกนักธุรกิจ จากหอการค้าและสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร แต่พอปีนี้เป็นหัวข้อ "การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย" จึงไม่ค่อยได้พบคนในภาคส่วนธุรกิจ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากจะเป็นข้าราชการ วุฒิอาสาธนาคารสมอง และส่วนอื่นๆที่ผมไม่แน่ใจว่ามาจากภาคไหนบ้าง

กำหนดการประชุมประจำปี ๒๕๕๗ ของ สศช

๙.๐๐ น เปิดการประชุม ด้วยการนำเสนอวีดีทัศน์เรื่อง การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย ขอชื่นชมผู้จัดทำวีดีทัศน์ชุดนี้ ทำได้ดีมาก

๙.๑๐ น กล่าวรายงาน โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๙.๑๕ น กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี (กำหนดการให้เวลาท่านแค่ ๔๕ นาที แต่ท่านใช้เวลาไปร่วม ๙๐ นาที) การปาฐกถาของท่านเป็นเรื่องที่ท่านระบายความในใจแบบที่ท่านพูดทั่วๆไป อย่างไรก็ตามมีการเน้นเรื่องตามหัวข้อเรื่องการพัฒนาคนมากหน่อย

๑๐.๐๐ น พักรับประทานชา-กาแฟ และอาหารว่าง

๑๐.๑๕ น การอภิปรายเรื่อง การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย  ดำเนินการอภิปราย โดย นายพารณ อิศรเสนา ณ.อยุธยา ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอ   ผู้อภิปราย ประกอบด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์

(เวลาการอภิปรายล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจาก ท่านนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาในการปาฐกถาเกินเวลาประมาณ ๔๕ นาที หลังจากท่านจบการปาฐกถา ผู้จัดได้เชิญท่านนายกรัฐมนตรีชมนิทรรศการ บริเวณหน้าห้องประชุม ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับการรับประทาน ชา-กาแฟ และเครื่องดื่ม ทำให้ผู้จัดขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมนั่งรอในห้องประชุมและชม วีดีโอ ไปก่อน จนคณะของท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ จึงให้ผู้เข้าร่วมประชุมออกไปรับประทาน ชา-กา แฟ และของว่าง เนื่องจากคนเป็นจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลาในการต่อคิวเข้ารับ ชา-กาแฟ และของว่าง ใช้เวลานาน ทำให้การอภิปรายล่าช้าไปร่วม ๖๐ นาที)

การอภิปราย ของทั้งสามท่านผมเห็นว่าท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทำการบ้านมาอย่างดี ท่านเตรียม slide นำเสนอได้ชัดเจนและตรงประเด็น ที่สุด ส่วนท่านอื่นๆ ผมเฉยๆ เข้าใจว่าท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จะนำเรื่องที่ท่านไปอภิปรายลงในบทความของท่านในเร็วๆนี้

ก่อนปิดการอภิปราย ท่านผู้ดำเนินรายการให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น มีผู้แสดงความคิดเห็นและสอบถามจากผู้อภิปรายเพิ่มเติม แต่ผมเห็นว่ายังไม่มีคำถามเด็ดๆที่น่าสนใจมากนัก ปิดการอภิปรายและรับประทานอาหารกลางวันเวลา ๑๓.๑๕ น และช่วงบ่ายให้เข้าประชุมกลุ่มย่อยในเวลา ๑๔.๐๐ น

ผู้จัดแบ่งการประชุมกลุ่มย่อยออกเป็น ๖ กลุ่มได้แก่

๑.การพัฒนาคนทุกช่วงวัยสู่สังคมไทยที่มีคุณภาพ

๒.กำลังคน ...หัวใจของความสามารถในการแข่งขันของไทย

๓.การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

๔.การพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

๕.ความเหลื่อมล้ำของประเทศ ที่มาและทางออก

๖.การวัดความสุขของคนไทย

ผมเลือกเข้ากลุ่ม ๑. "การพัฒนาคนทุกช่วงวัยสู่สังคมไทยที่มีคุณภาพ "  เพราะเห็นว่าหัวข้อนี้ตรงกับการพัฒนาคนในภาพใหญ่มากที่สุด และมีความคาดหวังเป็นอย่างมาก ตามเอกสาร ได้แสดงไว้ดังนี้

"การพัฒนาคนทุกช่วงวัยสู่สังคมไทยที่มีคุณภาพ"

โดยวิเคราะห์สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งสงผลกระทบต่อคนและสังคมไทย วิเคราะห์สถานการณืด้านคนและสังคมในมิติสุขภาพ การศึกษา และการเรียนรู้ ทักษะการทำงาน การประกอบอาชีพ สวัสดิการ และการคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งข้อจำกัดในการพัฒนาคน ตลอดจนวิเคราะห์ประเด็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงวัยเพื่อนำไปสู่การกำหนดคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ เป้าหมายการพัฒนาคน ข้อเสนอประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาคนทุกช่วงวัย และปัจจัยที่จะเสริมหนุนการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ มีศักยภาพเป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง และมีความสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงกรณีตัวอย่างพัฒนาคนที่เป็นรูปธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดขยายผลการดำเนินงานต่อไป

ประธานการประชุมกลุ่มที่ ๑ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้นำเสนอ นางชุตินาฎ  วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อภิปรายประกอบด้วย พญ.อัมพร เบญจพิทักษ์ พูดเรื่องเกี่ยวกับเด็นก่อนคลอด  นายเสมา พูลเวช  ผู้ช่วยผู้จัดการพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด พูดเรื่องประสบการณ์ในการเรียนรู้จากงานที่ทำ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี พูดเรื่องคนชราที่ไม่มีผู้ดูแลและได้รับการักษาดูแลจากโรงพยาบาลลำสนธิ นายขยัน วีพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน พูดเรื่องการพัฒนาตำบลอุโมงค์

เนื่องจากการประชุมเริ่มเวลา ๑๔.๐๐ น เริ่มช้ากว่ากำหนด ๑ ชั่วโมง ทำให้เวลาในการประชุมหายไป ๑ ชั่วโมง จากกำหนดเดิม ๓ ชั่วโมงเหลือเพียง ๒ ชั่วโมง ท่านประธาน ผู้นำเสนอ และวิทยากรอภิปราย 3 ท่านรวมเป็น ๕ ท่านใช้เวลาในการอภิปราย เกือบ ๒ ชั่วโมง ทำให้หมดเวลาการประชุม ท่านประธานได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็นและซักถาม โดยให้แสดงความคิดเห็นได้คนละไม่เกิน ๒ นาที มีผู้แสดงความจำนงมาก แต่ผู้จัดไม่สามารถให้ทุกท่านที่แจ้งความจำนงได้พูดทุกคน อย่างไรก็ตามผมโชคดีที่ท่านประธานให้ผมได้พูด

ผมกล่าวว่า " ผมรู้สึกผิดหวังกับเวทีประชุมนี้มาก เนื่องจากการอภิปรายไม่ตรงประเด็น ตามที่กำหนดไว้ สิ่งที่วิทยากรส่วนมากพูดเป็นเรื่องของกรณีตัวอย่างของแต่ละท่าน ไม่ได้เข้าประเด็นสำคัญของโจทย์ นอกเหนือจากนั้น ไม่ให้เวลากับผู้เข้าร่วมประชุมที่มีเป็นจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็น หรือซักถาม ทุกปีก็เป็นเช่นนี้และก็มีผู้กล่าวถึงทุกครั้ง แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เข้าใจว่าการประชุมในหัวข้อและเป้าหมายที่ระบุไว้ ไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ในเวลา ๒ ชั่วโมง เฉพาะวิทยากรพูดก็พูดกันไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงขอเสนอให้นำไปพิจารณารูปแบบและเวลาในการประชุมให้เกิดประสิทธิภาพคุ้มกับเวลาของผู้เข้าร่วมประชุม และค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นงบประมาณของแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องทำรูปแบบเก่าๆที่จัดการประชุมวันเดียว เชิญคนเป็นพันๆคนจากทั่วประเทศมานั่งฟังวิทยากรพูด และพอช่วงบ่ายก็มีการแยกกลุ่ม ลงลึกในแต่ละหัวข้อซึ่งสำคัญทั้งนั้นแต่เวลาไม่เคยพอ ท่านประธานได้แจ้งว่าถ้าเช่นนั้นต้องใช้เวลาในการประชุมมากขึ้น เช่นเพิ่มเป็น 2-3 วัน ต้องดูว่ามีงบประมารพอไหม อย่างไรก็ตามจะรับไว้พิจารณา

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๗ กันยายน ๒๕๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2014 เวลา 13:13 น.
 


หน้า 320 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8654807

facebook

Twitter


บทความเก่า