Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เที่ยวเกาหลีในสี่วัน

พิมพ์ PDF

เที่ยวเกาหลีในสี่วัน

ถึงคราวเยือนเกาหลี

ท่องถิ่นที่มีความฝัน

แดนหนาวในคราวนั้น

คิดถึงวันประทับใจ

ลัดเลาะเกาะนามิ

กิน “กิมจิ” เขามีให้

“อูด้ง” เส้นโยงใย

ซดน้ำได้อร่อยดี

“คู่รัก” ปักใจมั่น

คือรูปปั้นอยู่ที่นี่

“สนใหญ่” สองร้อยปี

มองมากมีที่เรียงราย

รู้จัก “โซรัคซาน”

คือวันวารมุ่งมั่นหมาย

หนาวเหน็บจนเจ็บกาย

ยังมิวายจะเดินมอง

“วัดทงอิลแทบุล”

เราเดินวุ่นเที่ยวสอดส่อง

เคเบิ้ลเพลินทดลอง

ขึ้นแล้วมองยามค่ำคืน

ล่องใต้ไปถึงแดน

“เอฟเวอร์แลนด์”คนดาษดื่น

คนใหญ่ไร้ที่ยืน

เด็กหลายหมื่นยืนแถวยาว

แวะหาชิมสาหร่าย

ก่อนเตรียมถ่ายชุดต่างด้าว

“ฮันบก” ยกเรื่องราว

ชุดเมืองหนาวยาวสวยงาม

“เคียงบ๊อก”พระราชวัง

อันโด่งดังหวังไถ่ถาม

“จังกึม” ผู้ลือนาม

เคยติดตามจากละคร

“ทริคอาย” พิพิธภัณฑ์

งานสร้างสรรค์ศิลป์สืบสอน

ภาพวาดอาจยอกย้อน

ทุกภาพซ่อนความคิดคม

“นัมซาน” นั้นป้อมเก่า

อยู่บนเขามานานนม

ปรับปรุงแล้วเปลี่ยนปม

มาชื่นชมทุกหมู่ชน

อาหารนั้นหลายอย่าง

แวะระหว่างทางทุกหน

“ชาบู”ดูน่ายล                      (ซุปเห็ด)

รสชอบกล “ซัมเกทัง”              (ไก่ตุ๋น)

“คาลบิ” “พุลโกกิ”                 (หมู่ย่าง-บาบีคิ้ว)

แถม “กิมจิ” “แฮมุลทัง”           (ผักดอง-ซุปทะเล)

“จิมทัก”น่ารักจัง

รสเหมือนดังพะโล้ไทย

เที่ยวท่องมองทุกสิ่ง

แวะช็อปปิ้งของฝากได้

โสม, ยารักษาไต

สกัดได้ดอกสนแดง

สาหร่ายแพงไปนิด

“อะเมธิส”ม่วงใสแสง

ยศศักดิ์จักเริงแรง

อำนาจแห่งหินลาวา

ช้อนอยู่คู่ตะเกียบ

เงินทองเทียบของมีค่า

ของแพงแต่งหน้าตา

และของทาทั้งเนื้อตัว

ภาพถ่ายใบห้าพัน

รวมหมดนั้นฉันเวียนหัว

แสนกว่าตามืดมัว

แสนน่ากลัวไม่มีกิน

ตัวเบากระเป๋าแห้ง

ไร้เรี่ยวแรงระโรยริน

เมามึนขึ้นเครื่องบิน

กลับถึงถิ่นแผ่นดินเรา

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย โสภณ เปียสนิท

 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๐. เส้นทางประเทศไทย...สู่อาเซียน : การสร้างความรู้และพัฒนาคน

พิมพ์ PDF

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ    จัดการประชุมประจำปี ๒๕๕๖ เรื่อง “เส้นทางประเทศไทย…สู่ประชาคมอาเซียน”    ผมได้รับเชิญไปร่วมอภิปราย ตามหัวข้อของการประชุม   โดยได้รับมอบหมายให้พูดเรื่อง การสร้างความรู้ และการพัฒนาคน

 

จึงนำ narrated ppt มา ลปรร. ที่นี่

 

ผู้ร่วมอภิปรายอีก ๒ ท่านคือ คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯ    และ ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซีฯ    โดยมีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย   และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/551542

 

เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 2. บทบาทด้านการศึกษา

พิมพ์ PDF
ภาวะผู้นำที่สำคัญยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศ คือภาวะผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น หรือผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นทักษะเพื่อภาวะผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็นอาวุธต่อสู้ป้องกันความชั่วร้ายทำลายชาติ โดยคอรัปชั่น

เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 2. บทบาทด้านการศึกษา

ตอนที่ ๑

ICAC ระบุไว้ใน เว็บไซต์ ว่าตนมีบทบาทด้านการศึกษาเพื่อต่อต้านคอรัปชั่น ดังต่อไปนี้ จะเห็นว่า หน่วย CRD (Community Relations Department) ทำหน้าที่นี้   และทำหน้าที่ในแนว customer-based

ผมอยากจะรู้ว่า แล้วสถาบันการศึกษา   และกระทรวงศึกษาธิการทำอะไรบ้าง    จึงกูเกิ้ลด้วยคำว่า “anti corruption activities ofeducational institutions in Hong Kong”   พบเอกสารของ UNDP ชื่อ Institutional Arrangement to Combat Corruption. A Comparative Study ตีพิมพ์ในปี 2005   ศึกษาเปรียบเทียบใน ๑๔ ประเทศ รวมทั้งฮ่องกงและไทยด้วย  เอกสารชิ้นนี้ จัดทำโดย UNDP Regional Center ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพนี่เอง

ในเอกสารนี้หน้า ๒๑ บอกว่า ICAC ของฮ่องกงมีเจ้าหน้าที่ ๑,๓๐๐ คน เทียบจำนวนพลเมือง ๖.๘ ล้านคน   ส่วน ปปช. ของไทยมีเจ้าหน้าที่ ๕๐๐ คน พลเมือง ๖๕ ล้านคน

เอกสารในส่วนฮ่องกง ระบุหน่วยงาน HKEDC (Hong Kong Ethics Develipment Centre) ซึ่งก็อยู่ใต้ ICAC นั่นเอง

ในเอกสารส่วนฮ่องกง ระบุว่าในปี 2005 ฮ่องกงมีอันดับใน Corruption Perception Index ลำดับที่ ๑๕ ใน ๑๕๙ ประเทศ    โดยระบุว่า เริ่มมี ICAC ปี 1974 พอถึงปี 1977 ก็พบว่าคอรัปชั่นแบบมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบได้ถูกกวาดล้างไปหมดสิ้น   และข้อมูลคอรัปชั่นในปี 2003 บอกว่า แหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ในภาคเอกชน คือร้อยละ ๕๗.๔  อยู่ในหน่วยงานภาครัฐร้อยละ ๒๓.๔   ในวงการตำรวจร้อยละ ๑๒.๓ และหน่วยงานสาธารณะอื่นๆ ร้อยละ ๖.๙

ปัจจัยความสำเร็จของฮ่องกงมี ๙ ประการ ในหน้า ๔๗ ของเอกสาร   อันดับแรกคือ political will    ทำให้เราเห็นว่าการปราบปรามและป้องกันคอรัปชั่นในประเทศไทยเลียนแบบสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะของเราการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด   ตามที่มีผู้ให้ความเห็นในบันทึกเรื่องนี้ตอนแรกที่นี่ แต่เราก็ได้ข้อสรุปจากกรณีฮ่องกงว่า การป้องกันสำคัญที่สุด   ของไทยเราต้องหาวิธีป้องกันแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศเรา

อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของประเทศที่ถูกกัดกร่อนด้วยคอรัปชั่นในสมัย ปธน. ซูฮาร์โต   แม้เวลาจะผ่านไป ๑๖ ปี สถานการร์ด้านคอรัปชั่นก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก   ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคอรัปชั่นหยั่งรากลึก   การเยียวยาแก้ไขยากมาก

ประเทศที่ระบุใช้การศึกษาเป็นกลไกป้องกันคอรัปชั่นอย่างชัดเจนคือ ลิธัวเนีย หน้า ๕๘  โดยระบุสั้นๆ ว่าการศึกษาเป็นกลไกหลัก ๑ ใน ๓ ของกลไกป้องกันคอรัปชั่น   โดยจัดให้มีการเรียนการสอนต่อต้านคอรัปชั่นในหลักสูตรชั้นมัธยม และอุดมศึกษา

ประเทศที่แย่ที่สุดในรายงานนี้คือ ไนจีเรีย อันดับที่ ๑๕๒ ใน ๑๕๙ ประเทศ ของ Corruption Perception Index 2005  เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นอยู่ในระบบ และทำกันอย่างมีสถาบันดำเนินการ   และผมเดาว่าอยู่ในสันดานคนด้วย   แม้จะมีคนไนจีเรียที่ผมรู้จักหลายคนเป็นคนในระดับ “ประเสริฐ”    ผมกล่าวว่า อยู่ในสันดานคน เพื่อจะบอกว่า การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการต่อต้านป้องกันคอรัปชั่น

ในหน้า ๖๙ ระบุว่า ไนจีเรียต่อต้านคอรัปชั่นด้วย ๓ กลไกหลัก คือ สอบสวน ป้องกัน และให้การศึกษาต่อสาธารณะชน  แต่จะเห็นว่า เอกสารไร้ความหมายหากไม่ทำจริง    ไนจีเรียเป็นตัวอย่างประเทศที่ล้มเหลวในการขจัดคอรัปชั่น   เขาบอกว่าส่วนสำคัญเป็นเพราะประชาชนไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้   ประเทศนี้ล้มเหลวเพราะคอรัปชั่นมาก   และที่ขจัดคอรัปชั่นไม่ได้ เพราะประชาชนไม่สนใจ    น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนไทย

เกาหลีใต้ Corruption Perception Index 2005 อันดับที่ ๔๐ จาก ๑๕๙ ประเทศ   เป็นประเทศที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทสูงมากในการต่อต้านคอรัปชั่น (หน้า ๗๗)

ประเทศไทย (หน้า ๘๗) ดูจะมีหน่วยงาน และกฎหมายต่อต้านป้องกันคอรัปชั่นมากที่สุด   เราอยู่อันดับที่ ๕๙ ใน ๑๕๙ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2005  และอันดับที่ ๘๘ ใน ๑๗๔ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2012)  แค่นี้ก็บอกแล้วว่าการมีหน่วยงานมาก กฎหมายมาก   ไม่นำไปสู่ผลงานที่ดีเสมอไป

เอกสารระบุผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. ฯลฯ เป็นกลไกของการต่อต้านคอรัปชั่น    จะเห็นว่าประเทศไทยมีกลไกเหล่านี้มาเป็นเวลานาน   แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา คอรัปชั่นในประเทศไทยกลับรุนแรงยิ่งขึ้น   ผมตีความเองว่าเพราะพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่มีอำนาจ จงใจทำลายกลไกเหล่านี้เพื่ออำนาจของตนเอง    และเวลานี้ คอรัปชั่นในประเทศไทยเป็นทั้งคอรัปชั่นทางนโยบาย   และคอรัปชั่นแบบโจ่งแจ้งโดยนักการเมืองและพวก    อ่านเรื่องราวได้ที่นี่

ข้อมูลประเทศไทยในเอกสารนี้เก่ากว่า ๑๐ ปี   จึงไม่สะท้อนภาพใน ๑๐ ปีหลัง   แต่ก็บอกเราว่า ประเทศไทย ไม่มีแนวความคิดให้กระบวนการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการต่อต้านคอรัปชั่น

แทนซาเนีย เคยมีชื่อเสียง ในสมัยปกครองในระบอบโซเชียลลิสม์ ว่าเป็นประเทศยากจน ที่ปลอดคอรัปชั่น  แต่เวลานี้อยู่ที่อันดับ ๘๘ ใน ๑๕๙ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2005  เป็นกรณีศึกษาที่สรุปว่า ผู้นำประเทศมีความสำคัญยิ่งในการต่อต้านป้องกันคอรัปชั่น

ค้นคว้าศึกษามาถึงตอนนี้   ผมยังไม่พบว่ามีระบบการศึกษาของประเทศใด ที่ทำตัวเป็นผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น   ทั้งๆ ที่หลักการสำคัญของ 21st Century Education คือการสร้างผู้นำ หรือสร้างภาวะผู้นำขึ้นภายในตัวคนทุกคน   และผมขอเสนอว่า ภาวะผู้นำที่สำคัญยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศ คือภาวะผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น   หรือผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง

ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นทักษะเพื่อภาวะผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑   จะเป็นอาวุธต่อสู้ป้องกันความชั่วร้ายทำลายชาติ โดยคอรัปชั่น

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ต.ค. ๕๖

โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:13 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๗. ความสำเร็จของนักศึกษา

พิมพ์ PDF

ความสำเร็จของนักศึกษา

ผมตั้งข้อสังเกตว่า   เอกสารที่เราได้รับมีสาระระหว่างบรรทัด   บอกว่ามหาวิทยาลัยในอังกฤษ (อย่างน้อยก็ที่เราไปเยี่ยมชม) มองความสำเร็จของนักศึกษา ซับซ้อนกว่าในบ้านเรา ดังตัวอย่างมหาวิทยาลัยแอสตันระบุในเอกสาร Aston University 2020 forward   เกี่ยวกับบัณฑิตของตน  ในส่วนที่ผมตีความว่าสะท้อนภาพความสำเร็จของนักศึกษา ที่เขามุ่งหวัง คือ ใน พรบ. จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1966 ระบุวัตถุประสงค์ว่า ‘to advance and apply learning for the benefit of industry and commerceสะท้อนว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ต้องการจบออกไปทำงานในระบบธุรกิจและอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยนอร์ธแทมตัน แจกเอกสารเล่มหนา Undergraduate Prospectus 2014 อ่านระหว่างบรรทัดได้ว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ช่วยให้ความฝันในชีวิตของนักศึกษา เป็นจริง ดังที่ปกหน้าด้านในเขาลงรูป Jo Burns, BA (Hons) Media and Popular Culture   ซึ่งเวลานี้เป็นเจ้าของบริษัทชื่อ Amplitude Media ซึ่งเป็น boutique communications agency & creative studio   เขาลงคำพูดของ Ms. Jo Burns ว่า “I knew I wanted to work in media, and my degree enabled that to happen. The University of Northampton helped me to focus my career path into exactly what I wanted to be.”   พูดง่ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยเพื่อให้ นศ. ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานอย่างสมหวัง

ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของอังกฤษ ที่เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ elite universities อย่าง อ็อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ลอนดอน ฯลฯ    เขาจะเน้นชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่ความสำเร็จของนักศึกษา    ลมหายใจเข้าออก ของกิจการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ทำเพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนของนักศึกษา    เพื่อความสำเร็จของนักศึกษา ในชีวิตภายหน้า

ความสำเร็จในชีวิตช่วงสั้นๆ หลังสำเร็จการศึกษา คือ การมีงานทำตามที่ตนต้องการ (employability & entrepreneurship)

กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด   เพราะแม้แต่ elite universities ก็ต้องดำรงอยู่ในระยะยาวด้วยความสำเร็จ ของนักศึกษานั่นเอง    แต่เขาเชื่อคนละแนว คือเขาเชื่อว่า บัณฑิตที่เรียนตามแบบของเขา    จะมีวิชาแน่นที่พื้นฐาน ออกไปทำอะไรก็ได้ ที่จะสามารถปรับตัวเรียนรู้เพิ่มเติมและประสบความสำเร็จในชีวิตภายหน้า

ในขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เน้นสร้างคุณค่า/มูลค่า แก่ความสำเร็จในชีวิต ด้วยการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับชีวิตจริงในอนาคตอันใกล้ของเขา    ทำให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียน   ตั้งใจเรียน  และเรียนสนุก

บันทึกนี้จึงก้าวสู่อุดมศึกษา แบบมีสถาบันอุดมศึกษา ๒ กลุ่ม ตามแบบอเมริกา    คือกลุ่ม Liberal Arts College (วิทยาลัยศิลปวิทยาศาสตร์)    กับกลุ่มมหาวิทยาลัยทั่วไป ที่เน้นเรียนแยกเป็นรายวิชาชีพ    แบบไหนดีกว่า ไม่มีคำตัดสิน    เพราะโลกและสังคมซับซ้อนมาก   ไม่ว่าเรียนแบบไหน ตอนไปทำงานประกอบอาชีพ แต่ละคนจะ เรียนรู้ปรับตัวได้อีกมากมาย   ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์

แต่ก็เถียงต่อได้อีก   ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาแนวศิลปวิทยาศาสตร์    เน้นการฝึกฝนปฏิบัติ ด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในตนด้วย    ไม่ใช่ใช้แค่เพียงการเรียนรู้เชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ และเชิงสังคมศาสตร์ เพื่อฝึกฝนเปลี่ยนแปลงตนเอง    ซึ่งคำโต้แย้งแบบนี้ ผมออกจะเชื่อ    โดยดูที่ชีวิตของตนเอง    ซึ่งขาดการเรียนรู้ด้านศิลปะ    ทำให้รู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง    แก้ไขชดเชยในภายหลังได้ยากมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:36 น.
 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๘. การให้อภัย (๑) ความเคารพให้เกียรติ และความเชื่อถือไว้วางใจ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ ๔ How About Letting It Go Already? Releasing Shame, Regret and Contemp   โดยที่ในบทที่ ๔มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๘จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่๙จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักให้อภัย   ทั้งให้อภัยตนเอง และให้อภัยผู้อื่น   ไม่ถือเอาความผิดพลาดมาเป็นอารมณ์ที่กัดกร่อนจิตใจ   แต่ถือเป็นการเรียนรู้

ตอนที่ ๑ เป็นเรื่องฉันทำผิดเสียแล้ว เล่าเรื่องของตัวผู้เขียนเอง ในสมัยเป็นนักเรียน ได้ทำโครงงานร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเวลา ๑ ปี   ผลงานออกมาดี แต่ผลด้านมิตรภาพย่อยยับ    คือตนไม่พูดกับเพื่อนคนนั้นอีกเลย

และจริงๆ แล้วผู้เขียนไม่ใช่ทำผิดเรื่องนี้เรื่องเดียว    แต่ในช่วง ๑ ปีนั้น และอีก ๒ ปีต่อมา    ผู้เขียนได้ระเบิดอารมณ์ในที่ต่างๆ และต่อบุคคลต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน    ที่ได้ตามหลอกหลอนผู้เขียน ที่ได้ทำความยุ่งยากให้แก่ผู้คนจำนวนมากมาย    จนถึงจุดหนึ่ง ผู้เขียนก็เข้าใจ …. ที่จะให้อภัยตนเอง    ลืมเรื่องร้ายเหล่านั้นเสีย   เหลือไว้เฉพาะบทเรียน สำหรับสอนตน และสอนลูก/ศิษย์

ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกคับข้องใจ ที่มีคนสร้างความไม่พอใจแก่ตน   ให้หายใจลึกๆ หลายๆ ครั้ง    แล้วถามตัวเองด้วยสี่คำถาม

  • เกิดอะไรขึ้น   ตอบด้วยข้อเท็จจริงเท่านั้น   ไม่มีการตีความ
  • การตอบสนองของเรา ก่อผลอะไรต่อสถานการณ์นั้น
  • ฉันจะพูด หรือเขียน เพื่อสื่อสารกับบุคคลผู้นั้น ว่าอย่างไร (ที่สะท้อนวุฒิภาวะ และจริยธรรม)
  • หากเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก ฉันจะประพฤติตนแตกต่างจากที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไรบ้าง

 

ข้อความในย่อหน้าบน ทำให้ผมนึกถึงกระบวนการ AAR หรือ self-reflection และได้ตระหนักว่า AAR ช่วยเปลี่ยนเรื่องร้าย (ความรู้สึกผิด ที่เกาะกินใจ)  ให้กลายเป็นดี (การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง) ได้

 

คำถามของหนุ่ม ๑๑ เพื่อนที่ดีที่สุดในโลกของผม เอาใจออกห่างไปมีเพื่อนใหม่   และไม่ยอมไปเที่ยวกับผมอีก   ไม่ยอมนั่งใกล้ผมตอนกินอาหารเที่ยง   และทำท่าไม่อยากพูดกับผม   เขาแสดงท่าทีว่าเขาทิ้งผมแล้ว   ผมกลับบ้านด้วยความช้ำใจทุกวัน”

คำตอบของผู้เขียน “เขาไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่สุดในโลก   เขาอาจจะเป็นในอดีต แต่ไม่ใช่ในเวลานี้   เพื่อนที่ดีไม่ปฏิบัติต่อเพื่อนอย่างที่เธอเล่า   เธอเคยบอกความรู้สึกของเธอกับเขาหรือยัง   ถ้ายังก็น่าหาโอกาสบอก    แต่ก็อย่าหวังมาก ว่าเขาจะกลับมาเป็นอย่างเดิม   สิ่งที่เธอต้องทำในเวลานี้คือ บอกตัวเอง ว่า ‘ฉันเป็นคนมีเกียรติ   และควรได้รับการให้เกียรติจากคนอื่น   แต่เพื่อนคนนี้ไม่ให้เกียรติแก่ฉันอย่างที่เพื่อนควรให้เกียรติแก่กัน   ฉันจะไม่ยอมให้เขา หรือใครก็ตามมาทำให้ฉันรู้สึกต่ำต้อย   ฉันจะไม่รู้สึกเสียใจอีกต่อไป   ฉันจะปล่อยเขาไป   เขามีสิทธิที่จะมีเพื่อนใหม่   และฉันก็มีสิทธิเหมือนกัน’”

 

ตอนที่ ๒ เป็นเรื่อง ความเชื่อถือไว้วางใจ (trust)   ที่คนเราทุกคนต้องการจากคนอื่น   และลูก/ศิษย์ ก็ต้องการจากเรา และจากเพื่อนของเขา    คนที่ไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือเคยได้รับ แล้วเกิดเหตุการณ์ที่ผู้อื่นหมดความเชื่อถือไว้วางใจ จะรู้สึกเป็นทุกข์    เด็กวัยรุ่นจะมีปัญหานี้มากเป็นพิเศษ   เด็กมักจะคร่ำครวญว่า ตนไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากพ่อแม่ หรือจากเพื่อน เสียแล้ว

เด็กควรได้รับคำแนะนำให้ตระหนักว่า ความเชื่อถือไว้วางใจเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง แต่มีความเปราะบาง   แตกหักหรือฉีกขาดได้ง่าย    และเมื่อเสียหายไปแล้ว ทำให้กลับมาคืนดีได้ยาก   ทุกคนควรระมัดระวัง ไม่ทำลายความน่าเชื่อถือไว้วางใจของตน   คนเราต้องรู้จักวิธีปกปักรักษาสิ่งนี้

เด็กต้องการเพื่อน เอาไว้ปรับทุกข์ ระบายความรู้สึกบางอย่าง   และในกระบวนการนั้น บางครั้งก็บอกความลับแก่เพื่อน   ด้วยความหวังว่าเพื่อนจะรักษาความลับได้    แต่เพื่อนบางคนปากโป้ง อดเอาไปขยายต่อไม่ได้    ก็จะเกิดกรณีขัดใจกัน และหมดความเชื่อถือไว้วางใจ

พ่อแม่/ครู ต้องฝึกความน่าเชื่อถือไว้วางใจให้แก่ลูก/ศิษย์ ทั้งโดยการสนทนาทำความเข้าใจจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงของเด็ก   และโดยการประพฤติตนเป็นตัวอย่าง    เช่นการตรงเวลานัด   การปฏิบัติตามสัญญา เป็นต้น

 

คำถามของครูของลูก “ภรรยาของผมค้นห้องของลูก   (ลูกชายอายุ ๑๗  ลูกสาวอายุ ๑๕)   พบยานอนหลับที่ซื้อได้ตามร้าน ในห้องลูกสาว    ลูกชายฝึกมวยปล้ำ และพบ ไนอาซิน แคปซูล และยาระบายท้อง    ลูกชายเคยมีปัญหาสูบกัญชาที่บ้านหลายครั้ง    จะทำอย่างไรดี   ตนคิดว่าต้องเผชิญหน้ากับลูกทั้งสอง   ซึ่งก็หมายความว่าต้องบอกเขาว่า เราค้นห้องเขา    และทำให้เขาหาที่ซ่อนใหม่”

คำตอบของผู้เขียน “นี่คือเรื่องการทำหน้าที่พ่อแม่อย่างมีความรับผิดชอบ    ซึ่งมีจุดสำคัญ ๒ ประเด็นคือ (๑) ความปลอดภัยของลูก   (๒) เพื่อสอนลูกเป็นคนดี    เรื่องการเสพหรือใช้ยาเป็นสิ่งอันตรายยิ่งของวัยรุ่น   พ่อแม่ไม่ต้องขอโทษลูกเลย ในการทำหน้าที่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของลูก   ในสหรัฐอเมริกา การใช้ยาที่ซื้อได้จากร้าน โดยใช้อย่างผิดๆ เป็นเรื่องดาษดื่นมาก และมีอันตรายมากกว่าที่คิด   ยาไนอาซิน (วิตามิน บี ๓) เป็นยาที่วัยรุ่นเชื่อกันว่า เมื่อกินแล้วจะทำให้ตรวจจับยาเสพติดไม่พบ (ซึ่งไม่จริง)   และยานี้กินมากๆ เป็นอันตราย   การเสพยาเสพติดเป็นเรื่องทำลายอนาคตของเด็ก   พ่อแม่ต้องร่วมมือกันป้องกัน   และเด็กมักเสพเป็นแก๊ง โดยช่วยเหลือกันแนะนำชักชวนหรือหายามาให้แก่กัน   คุณควรสอบหาว่ามีเพื่อนคนไหนบ้างของลูกที่เกี่ยวข้อง    และโทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องนี้แก่เขา    โดยถือหลักว่า พ่อแม่ต้องช่วยเหลือกัน ในการปกป้องคุ้มครองลูก จากความชั่วร้ายต่างๆ   รวมทั้งจากความประพฤติไม่ดีของตัวลูกเอง

บอกลูกตรงๆ ว่า การใช้ยาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้   เพราะเป็นอันตรายต่ออนาคตของตัวลูกเอง   ควรร่วมกับลูก ค้นอินเทอร์เน็ต ศึกษาว่ายาแต่ละชนิดที่ลูกใช้ มีอันตรายอย่างไร   บอกลูกว่า เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อแม่หมดความเชื่อถือลูกอย่างไร   และลูกต้องทำอย่างไร เพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือของตน   โดยให้เวลาระยะเวลาหนึ่ง สำหรับให้ลูกพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของตน”

 

ข้อคิดเพิ่มเติมของผมคือ พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเข้าใจว่า   ทั้งหมดที่พ่อแม่ทำนั้น ไม่ใช่ทำเพราะอารมณ์วู่วาม   ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง   แต่ทำเพื่ออนาคตของตัวลูกเอง    และเป็นการทำหน้าที่พ่อแม่ที่รักลูก และห่วงใยอนาคตของลูก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:39 น.
 


หน้า 432 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8661440

facebook

Twitter


บทความเก่า