Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒/๒ ตอนจบ

พิมพ์ PDF

อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒/๒ ตอนจบ

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

๒. ให้คนรู้จักเจียมตัว ไม่โอ้อวด มุ่งการสอนหรือการเตือน

นุ่งห่มนุ่งเจียม, เจียมอยู่เจียมกิน

ความหมาย แต่งตัวพอให้สมฐานะ เป็นการสอนให้คนพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่ไปอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นเขา ควรทำอะไรให้สมฐานะของตนเอง เป็นสำนวนที่บอกให้ถ่อมตน อีกทั้งสำรวมกิริยามารยาทของตน ซึ่งในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้คนใช้เงินเกินรายได้ กู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถซื้อบาทซึ่งราคาไม่สมดุลกับเงินเดือน เมื่อไม่สามารถจ่ายได้กำหนด ก็กลายเป็นหนีสินมหาศาล บ้าน รถ ก็โดนยึด บางคนใช้เครื่องแต่งกายที่มีราคาแพง ซึ่งไม่เหมาะสมกับฐานะและสถานที่ที่ไป ซึ่งก็สอดคล้องกับสำนวนนุ่งห่มนุ่งเจียมเช่น “เจียมอยู่เจียมกิน” ในสุภาษิตสอนหญิงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“เห็นผู้ดีมีทรัพย์ประดับแต่ง             อย่าทำแข่งวาสนากระยาหงัน

ของตัวน้อยก็ถอยไปทุกวัน                         เหมือนตัดบั่นต้นทุนศูนย์กำไร

จงนุ่มเจียมห่มเจียมเสงี่ยมหงิม                     อย่ากระหยิ่งยศถาอัชฌาสัย

อย่านุ่งลายกรุยทำฉุยไป                          ตัวมิใช่ชาววังไม่บังควร” (กระทรวงศึกษาธิการ๒๕๔๕ : ๑๐๑)

ในโคลงโลกนิติได้สอนเรื่องให้คนเจียมตัวเอาไว้ ในที่นี้หมายถึงการเจียมตัวในเรื่องอารมณ์ เรื่องการเจียมตัวในความรู้ดังนี้

“เจียมใดจักเทียมเท่า           เจียมตัว

รู้เท่าท่านทำกลัว                               ซ่อนไว้

อย่ามึนมืดเมามัว                               โมหะ

สูงนักมักเหมือนไม้                              หักด้วยแรงลม (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๒๕๘)

ตัวเป็นข้าอย่าให้ผ้าเหม็นสาบ

ความหมาย ยากไร้แล้วอย่าประพฤติตัวไม่ดีเป็นสำนวนเก่าที่ยังอยู่ในยุคที่มีทาส ดังนั้นข้าในที่นี้จึงหมายถึงข้าทาส (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๗๑) ที่อยู่ในชั้นต่ำสุดของสังคมศักดินา เป็นการสอนให้ผู้มีฐานะต่ำต้อยสำรวมอยู่ในฐานะของตนเอง อีกทั้งยังสอนให้ไม่ไปทำเรื่องเดือนร้อนเสียหาย ไม่ให้ประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดีเป็นการซ้ำเติมฐานะของตนเอง ซึ่งก็เป็นการสอนให้คนรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา ซึ่งถูกนำมาขายเป็นทาสขุนช้าง นางแก้วกิริยาตัดพ้อขุนแผนว่า

“แม้นใครรู้ก็จะจู่กันกระซิบ          ตาขยิบปากด่าใส่หน้าเอา

ว่าเป็นข้าแล้วให้ผ้าเหม็นสาบสิ้น                    ฉันจะผินหน้าเถียงอย่างไรเล่า” (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๗๑)

ปลูกเรือนแต่พอตัว หวีหัวแต่พอเกล้า, นกน้อยทำรังแต่พอตัว

ความหมาย ทำสิ่งใด ๆ ให้พอสมควรกับฐานะของตนเอง (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๘๕) เป็นสำนวนที่สอนให้คนรู้จักประมาณตน พอใจในสิ่งที่มี รู้จักความพอเพียง ใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมคุ้มค่า ซื้อหาสิ่งใดก็ให้สมกับฐานะการประโยชน์ในการใช้ เช่นการซื้อบ้านหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ได้กับสังคมในปัจจุบัน ในสุภาษิตสอนเด็กกล่าวว่า

 

“จงจียมจิตคิดเหมือนนกกระจ้อยร่อย     ตัวนั้นน้อยทำรังพอฝังแฝง

รอดจากภัยพาธากาเหยี่ยวแร้ง                             พอคล่องแคล่งอยู่สบายจนวายปราณ” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๗๕)

โคลงโลกนิติสอนให้คนรู้จักฐานะของตนเองไว้ดังนี้

“หัวล้านไป่รู้มาก                  มองกระจก

ผอมฝิ่นไป่อยากถก                             ถอดเสื้อ

นมยานไป่เปิดอก                                ออกที่   ประชุมนา

คนบาปไป่เอื้อเฟื้อ                              สดับถ้อยธรรมกวี” (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๓๐๒)

ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา

ความหมาย รู้จักเจียมตัว เป็นสำนวนที่มีความหมายประชดประชันหรือดูถูกเหยียดหยาม (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๒๒๔) มักใช้ต่อว่าคนที่มีฐานะต่ำกว่าว่าไม่ควรทำอะไรเกินตัว เป็นการเปรียบเทียบภาชนะที่คนมีฐานะยากจนใช้ตักน้ำคำกะโหลก ซึ่งทำมาจากกะลานั่นเอง เป็นการใช้กะลาตักน้ำแล้วส่องดูเงาของตน ซึ่งคนรวยจะใช้ขันที่ทำจากภาชนะโลหะชั้นดี ซึ่งในสังคมในปัจจุบันก็ยังมีการดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้ หากมมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นการสอนให้คนรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวเช่นกัน ในบทเจรจาละครอิเหนา พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๙ ได้กล่าวเกี่ยวกับสำนวนนี้ดังนี้

“อุ๊ย นี่อะไรก็ช่างไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาเลยแหละ ช่างเพ้อพูดไปได้นี่ ฉันแน่ะจะว่าเป็นกลาง อย่าอึงไปนะหล่อน ถ้าแม้นทองกุเรปันนี้ ได้เป็นเรือนรับหัวเพชรเมืองดาหาละก็นั่นแหละจะงามเลิศประเสริฐตาน่าดูจริงละ” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๐๙) โคลงสำนวนสาษิตไทยได้กล่าวถึงสำนวนนี้ไว้ดังนี้

“ตักน้ำใส่กระโหลดไว้       ดูเงา   ตนเอง

เป็นคติเตือนเรา                           อยู่ได้

เจียมตัวอย่าตามเขา                      ทุกอย่าง

ฐานะตนรู้ไว้                                อย่าให้คนขยัน” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๑๒๒ฆ)

คมในฝัก

หมายถึงลักษณะของผู้ฉลาด แต่นิ่งเงียบ ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาโดยไม่จำเป็น มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ การไม่อวดรู้แต่คมในฝัก เก็บความฉลาดไว้ข้างใน, ล่วงรู้ความคิดของผู้อื่น แต่ไม่แสดงออกมาว่ารู้ ปรากฏในคำประพันธ์เรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท ของ สุนทรภู่

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ      ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก

สงานคมสมนึกใครฮึกฮัก                   จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย (กระทรวงศึกษาธิกร. ๒๕๔๕ : ๕๘)

โคลงโลกนิติกล่าวถึงการไม่พูดโม้โออวดตนไว้ดังนี้

“กะละออมเพ็ญเพียบน้ำ         ฤๅติง

โอ่งอ่างร่องชลชิง                       เฟื่องหม้อ

ผู้ปราชญ์ห่อนสูงสิง                      เยียใหญ่

คนโฉดรู้น้อยก้อ                         พลอดนั้นประมาณ” (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๘๐)

บทสรุป

นิสัยการโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัวขึ้นลักษณะดังกล่าวเกิดจากการที่ตนมีความรู้น้อยหรือความรู้มากแล้วพูดจาอวดอ้างแสดงคุณสมบัติที่ไม่เป็นความจริง เพื่อเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ให้ตนเองมีเกียรติ์มากว่าหรือทับกับผู้อื่น สำนวนไทยที่แสดงให้เห็นส่วนใหญ่เป็นการอธิบายนิสัยทางตรง เช่น “คางคกขึ้นวอ” , “กิ้งก่าได้ทอง” ซึ่งยกตัวอย่างวรรณกรรมศาสนาเช่นชาดก ส่วนสุภาษิต“เรือใหญ่คับคลอง” ,“เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม” คือการเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านโดยยกสิ่งของเครื่องใช้ประกอบ เพื่อให้คนสามารถเห็นภาพชัดเจน พญาล้านนาปรากฏสำนวนที่ว่า “ข้ามขัวบ่พ้น อย่าฟั่งห่มก้นแยงเงา” อีกทั้งยังสำสุภาษิตที่สอนให้คนไม่ทำหรือทำในด้านบวกเช่น สอนไม่ให้โออวดความรู้ “คมในฝัก” สอนให้รู้จักเจียมตน “ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา” ผญาล้านนาปรากฏภาษิตว่า “หันช้างขี้ อย่าขี้ทวยช้าง” เอกลักษณ์ด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว จึงเป็นเอกลักษณ์ทางด้านนิสัยของคนไทยมาช้านาน ทำให้เกิดสำนวนเปรียบเทียบมากมาย

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ, กรมวิชาการ.โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร.กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓.

......................., ภาษิตคำสอนภาคกลาง เล่ม ๑. สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๕.

กาญจนาคพันธุ์. สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ส.เอเชียเพรส (1991) จำกัด. ๒๕๓๘.

ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา. การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและความหมายของสำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ  : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๙.

จันทิมา น่วมศรี. ย้อนคำ สำนวนไทย. กรุงเทพฯ : คลี่อักษร. ๒๕๕๔.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นามมีบุคส์. ๒๕๔๖.

ดนัย เมธิตานนท์. บ่อเกิดสำนวนไทย. กรุงเทพฯ : มิติใหม่. ๒๕๔๘.

ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. สังคมและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.๒๕๔๓.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (๒๕๔๖, - ตุลาคม-ธันวาคม). "วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ,"   รัฏาฐาภิรักษ์. ๔๕(๔) :   ๓๐ – ๔๑.

ศุภิสรา ปุนยาพร. ภาษิตสำนวนไทย. กรุงเทพฯ : ไทยควิลิตี้บุ๊คส์. ๒๕๕๔.

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. สำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี. โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๔๔.

สมร เจนจิระ. ภาษิตล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเพทฯ : สถาพรบุ๊คส์. ๒๕๔๗.

สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ครอบครัว : ศาสนา : ประเพณี. กรุงเพทฯ : ไทยวัฒนาพานิชย์. ๒๕๓๔.

สุทธิ ภิบาลแทน. โคลงสำนวนสุภาษิต. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า. ๒๕๔๕.

อานนท์ อาภาภิรม. สังคม วัฒนธรรม และประเพณีไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๙.

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วาทิน ศานติ์ สันติ

 

ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง

พิมพ์ PDF
การพัฒนาคนทั้งคน มีเป้าหมายพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านพุทธิปัญญา การพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ด้านสุนทรียะ และด้านกายภาพ แต่การบังคับใช้การทดสอบวัดผลกลางจะวัดได้เฉพาะด้านพุทธิปัญญาเท่านั้น การทดสอบวัดผลกลาง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้การศึกษาไทยไม่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงตอนนี้อาการก็หนักมากอยู่แล้ว น่าเป็นห่วงว่า มาตรการเข้มงวดกับการทดสอบวัดผลกลาง จะยิ่งทำให้โรงเรียนและครู ยิ่งไม่เอาใจใส่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่ใช่ด้านรู้วิชา ที่นำไปตอบข้อสอบได้

ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง

อ่านได้ ที่นี่ กรุงเทพธุรกิจ_561022.pdf

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:48 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๘. ระลึกรู้ของมือถ่ายภาพ

พิมพ์ PDF

เมี่อไปสัมผัสบรรยากาศใดๆ ผมจะหาทางถ่ายภาพเก็บไว้    เพื่อนำมาสังเกตเพิ่มเติม   ในบางกรณีก็เพื่อได้ซึมซับ หรือสัมผัสสุนทรียภาพ ที่ละเมียดละไม   และเพื่อนำมาไตร่ตรองตรวจตราภายหลัง ว่าวิธีถ่ายภาพให้งาม ทำอย่างไร   ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

มักจะมีคนมาเสนอบริการถ่ายภาพตัวผม กับวิวสถานที่นั้นๆ    ซึ่งผมมักจะปฏิเสธ   ด้วยคำตอบว่า ผมไม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง    ชอบถ่ายรูปคนอื่นมากกว่า

แต่ถ้าเขามาขอถ่ายรูปด้วย ผมจะไม่ปฏิเสธ   ถือว่าเป็นการที่ผมให้เกียรติเขา

ผมไม่เข้าใจคุณประโยชน์ของการยึดถือแนวปฏิบัตินี้   จนมาคุยกับสาวน้อยบนโต๊ะอาหารเย็นวันที่ ๑๕ ก.ย. ๕๖   หลังกลับมาจากไปดูงานที่อังกฤษหมาดๆ

ผมระลึก หรือปิ๊งแว้บขึ้นว่า การที่ผมไม่สนใจถ่ายรูปตนเอง    ทำให้ผมมีปัจจุบันขณะกับสิ่งแวดล้อม รอบตัว    ผมจึงสังเกตเห็นวิวหรือสิ่งสวยงามที่อยู่โดยรอบในขณะนั้น    ผมจึงมีภาพถ่ายจากมุมที่คนอื่นไม่มี   มีภาพถ่ายสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่งดงามที่คนอื่นไม่เห็น

การที่คนเรามัวคิดถึงตนเอง    ทำให้เราพลาดโอกาสเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่ หรือสวยงาม ที่อยู่โดยรอบตัวเรา

เมื่อลดตัวตนลงได้   ความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัวก็ปรากฏ    ทั้งที่สัมผัสได้ด้วยจักษุประสาท    และจักษุประสาทส่วนขยาย (คือกล้องถ่ายรูป)   และที่สัมผัสได้ด้วยประสาทรับรู้แบบอื่น

เมื่อลดตัวตนลงได้ โลกจึงงดงามขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๖

 

ผมพิศวงมากว่ามี lichens ที่โคนต้นไม้

ที่มหาวิทยาลัย Aston เพราะคิดว่ามันขึ้นในที่ความชื้นสูง

 

ถ่ายรูปใกล้ชิด (closeup) มาให้คนในคณะดู   ไม่มีคนเห็นภาพนี้เลย

 

ที่ Skoll CentreOxford University ทุกคนเดินผ่านเลยไม้ดอกกอนี้

 

แต่ผมได้ภาพที่งดงามที่สุดที่ผมถ่ายได้ในวันที่ ๑๐ ก.ย. ๕๖ มาฝาก

 

เราเดินผ่านหรือลอดใต้กระถางไม้ดอกโทรมๆ นี้ทุกวัน ที่ Sunley Conference Centre

ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 56 แต่น้อยคนที่สังเกตเห็นความงามพิเศษ คือสีเกือบดำสนิท

 

ถามผู้ชายในคณะ ไม่มีคนเห็นรูปนี้ในห้องน้ำของภัตตาคาร Olb Bookbinders ที่ Oxford

 

berry ริมรั้วด้านนอกมหาวิทยาลัย Northampton ไปสู่ Bradlaugh Fields

 

ดอกไม้งามหลังฝนหาย หน้ามหาวิทยาลัย Aston

 

สัมผัสแรก มหาวิทยาลัย Northampton ยามเย็นวันที่ ๙ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2013 เวลา 07:34 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๖. ความเป็นเลิศหลากแนว

พิมพ์ PDF

ความเป็นเลิศหลากแนว

ในเวลาที่จำกัด และไปเพียง ๔ มหาวิทยาลัย     เราไปเห็นขบวนการ สู่ความแตกต่าง” (differentiation) ของแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างชัดเจน

แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด จุดเด่น” ที่ตนเองบรรลุได้   แล้วฟันฝ่าเพื่อบรรลุ    และสื่อสารกับสังคม ว่าตนเด่นด้านใด

ผมมองว่า นี่คือหนทางแห่งความอยู่รอด และอยู่ดี ของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ    ที่รัฐบาลกำหนดให้เดิน    และมีวิธีจัดการเชิงระบบ ให้เดินในแนวทางนี้    ไม่ใช่แนวทางโฆษณาจอมปลอม    ไม่ใช่แนวทางเพื่อปริญญา ที่ได้มาโดยง่าย

มหาวิทยาลัย Northamton ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี ระบุในเอกสารแนะนำมหาวิทยาลัย หัวข้อ Awards and Achievements  ว่าเขาเน้นที่การพัฒนาประสบการณ์ของนักศึกษา    ซึ่งส่งผลให้เขา ประสบความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจคือ

· อันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้าน “value added”

· อันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้านการมีงานทำของบัณฑิต

· ได้รับรางวัล UK Midlands Enterprising University of the Year 2012 และ 2013

· ก้าวหน้าเร็วในทุก UK university league table

· ได้รับรางวัล ‘Outstanding HEI Supporting Entrepreneurship’ ของ UnLtd/HEFCE

· เป็นมหาวิทยาลัยแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้รับยกย่องให้เป็น ‘Changemaker Campus’ ของ AshokaU

· Cliff Prior, Chief Executive, UnLtd กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2013 ว่า มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน เป็นมหาวิทยาลัยผู้นำในสหราชอาณาจักรในด้านผู้ประกอบการสังคม  เป็นผู้นำที่ทิ้งห่าง”  

มหาวิทยาลัย แอสตัน ซึ่งเพิ่งยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1966 ยังไม่ครบ ๕๐ ปี    ระบุในเอกสารแนะนำความเป็นเลิศด้านต่างๆ ดังนี้

· เน้นการศึกษาด้าน business และ profession

· คำขวัญ Employable graduates, Exploitable research”

· เขานำถ้อยคำ ใน นสพซันเดย์ ไทม์ส แอสตันผลิตบัณฑิตที่ตลาดเสาะหา    บดบังรัศมีมหาวิทยาลัยแบบอ็อกซฟอร์ด” มาเสนอ    บอกความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑืตของเขา

· นสพ. ซันเดย์ ไทม์ส ยากที่จะหามหาวิทยาลัยใดที่จะเทียบ แอสตัน ในความพยายามรับใช้ธุรกิจและอุตสาหกรรม

· การมี นศมาจากหลากหลายประเทศ (๑๒๐เป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งในการพัฒนานักศึกษา    ช่วยให้ นศเข้าใจคนในต่างภาษาต่างวัฒนธรรม    และที่สำคัญ ได้เพื่อน สำหรับความร่วมมือในอนาคต

· เป็นมหาวิทยาลัย “Top 10” ในการผลิตเศรษฐี (เดลีย์ เทเลกราฟ ๒๐๑๒)

· มีผลงานวิจัยหลายชิ้น ไปสู่ธุรกิจ และสร้างรายได้ โดยเฉพาะด้านยา   สะท้อนความเข้มแข็งในวิชาการ ด้านชีวการแพทย์    ที่ นศ. จะได้รับประโยชน์

· ระบุความเป็นเลิศด้านกระบวนการเรียนรู้ ไว้ในเอกสาร Learning and Teaching Strategy 2012 – 2020 อย่างน่าสนใจมาก

มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ไม่ต้องโฆษณา ใครๆ ก็อยากเข้าเรียนอยู่แล้ว    แต่เขาก็ต้องปรับปรุง พัฒนาตัวเอง    เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว โดย

· พัฒนาการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับยุคสมัย    โดยตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาขับเคลื่อน

· ผมตีความจากการอ่าน Strategic Plan 2013 – 2018 ว่าเขาย้ำจุดยืน “independent scholarship & academic freedom”   เป็นการบอกอย่างแนบเนียนว่า นศ. ที่เข้า อ็อกซฟอร์ด ก็เพื่อคุณค่าต่อชีวิตในระดับนี้    ไม่ทราบว่าผมตีความถูกหรือไม่

UCL ก็เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีชื่อเสียง   แต่อยู่ในลอนดอน ซึ่งมีปัญหาหลายด้านในฐานะมหานคร เก่าแก่    ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีผลงานและชื่อเสียง    และตั้งอยู่ในลอนดอนเป็นโอกาสอย่างยิ่ง ในการสร้างความเป็นเลิศ   โดย UCL เน้นที่

· เป็น Global University   และดำรงความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทุกสถานะทางสังคม ตามปณิธานของการก่อตั้งเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน และมีความเป็นเลิศด้านการวิจัยในขั้น discovery หรือ basic research    ดังเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ที่นี่

· สร้างความเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการทางสังคม ตามในบันทึกตอนที่ ๕

· สร้างจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ   ดังใน เว็บไซต์

ความเป็นเลิศด้านวิชาการโดดๆ  กำลังถูกท้าทายโดย ความเป็นเลิศในการสร้างคุณค่าให้แก่นักศึกษา”  ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำความชัดเจน    ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น   และสื่อสารเป้าหมายและผลสำเร็จ ต่อสังคม

ผมขอเสนอว่า ประเทศไทยต้องมีการจัดการเชิงระบบ    เพื่อขับเคลื่อนความเป็นเลิศหลากแนวของ สถาบันอุดมศึกษาของประเทศ    เพื่อใช้เป็นกลไกสร้างความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวา ในวงการอุดมศึกษา     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาและอาจารย์    ในการทำงานสร้างสรรค์ให้แก่ประเทศ    วิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นวิธีการที่ผิด เพราะเน้นการควบคุม-สั่งการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/551389

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2013 เวลา 07:38 น.
 

เศรษฐกิจเชิงพุทธ : เปรียบเทียบเศรษฐกิจของฆราวาสกับพระสงฆ์

พิมพ์ PDF

เศรษฐกิจเชิงพุทธ : เปรียบเทียบเศรษฐกิจของฆราวาสกับพระสงฆ์

วาทิน ศานติ์ สันติ

ภาพจาก : http://eyesimage.wordpress.com/2010/04/27

ข่าวพระสงฆ์ไทยทุกวันนี้หลายข่าวทำให้เราชาวพุทธไม่ค่อยสบายใจมากนัก โดยเฉพาะข่าวพระสงฆ์ใช้ศรัทธาประชาชนเรียกเงินมหาศาลจนซื้อบ้าน ซื้อรถ ซ้อเครื่องบินส่วนตัวได้ เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งบอกว่า องค์กรสงฆ์เป็นเพียงองค์กรเดียวที่ไม่อาจตรวจสอบฐานะทางการเงิน ผมก็ว่าจริง บางวัดมีเงินบริจาคมหาศาล มากจนนำเงินนั้นมาพัฒนาประเทศได้มากมาย คำถามสำคัญ เงินบริจากถูกนำไปใช้อะไรบ้าง ใครเป็นผู้ดูแล

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เน้นกระปฏิบัติตนเพื่อไปให้ถึงความสุขอันสูงสุดคือ “นิพพาน” ดังนั้นหลักคำสอนของศาสนาพุทธจึงสอดแทรกทุกกิจกรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจซึ่งผูกพันกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ แต่กระนั้นเป้าหมายหลักก็ต่างกัน

 

เศรษฐกิจกับพุทธศาสนาเปรียบเทียบฆราวาสกับพระสงฆ์

๑. เป้าหมาย

ฆราวาส เพื่อ ๑.) การมีทรัพย์ ๒.) การใช้จ่ายทรัพย์ ๓.)การไม่มีหนี้สิน ๔.)ปราศจากทุกข์

พระสงฆ์ เพื่อ ๑.) เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน ๒.) เพื่อขัดเกลากิเลศ

๒. การได้มา

ฆราวาส ได้มาจากสัมมาอาชีวะโดยการประกอบอาชีพหรือเลี้ยงชีพชอบ เป็นการได้มาอันสุจริต เพื่อ ๑.) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ๒.) ท่ามกลางจิตใจที่มีคุณธรรมเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ หรือชาติหน้า ๓.) หรือเพื่อหวังความสูงสุดคือนิพพาน ทรัพย์ที่ได้มาต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และไม่ผิดกรรมบถ

พระสงฆ์ ได้มากจากการ บิณฑบาต เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อใช้สอย การร้องขอนั้นสงฆ์สามารถขอได้เฉพาะญาติหรือผู้ที่ปวารณาตนไว้แล้วเท่านั้น เหตุที่บัญญัติเรื่องการได้มาของทรัพย์นั้นสามารถจำแนกได้ดังนี้

๑. เพื่อขัดเกลาจิตให้มีคุณธรรมและพระนิพพาน คือการดำรงชีวิตที่ไม่ยุ่งยาก

๒. เพื่ออยู่เป็นสุขของสงฆ์ เพื่อให้สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่ดี

๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก หรือผู้ที่ไม่มีความอาย

๔. เพื่อความสำรวมแห่งสงฆ์อันมีศีลเป็นที่รัก

๕. เพื่อป้องกันอาสวะอันเกิดในปัจจุบัน และในอนาคต

๖. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และคนที่เลื่อมใสแล้ว

๗. เพื่อความตั่งมั่นแห่งพระสัจธรรม

๘. เพื่อเอื้อเฟื้อพระธรรมวินัย ให้พระธรรมวินัยคงอยู่ได้ เพราะหากบัญญัติขอหนึ่งและรักษาได้ บัญญัติอื่นจะสามารถคงอยู่ได้เช่นกัน

๙. สามารถขัดเกลาตนเอง เป็นหนึ่งในการปฏิบัติธรรมและเกี่ยวข้องกับผู้อื่นในแง่การเลื่อมใสด้วย

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการแสวงหาทรัพย์ที่ไม่สมควร (อเนสนา) เอาไว้ กล่าวคือ หากทรัพย์ที่ได้มานั้นจะถือว่าเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ ถือเป็นอาบัติ

๑. ห้ามทรัพย์ที่ได้มาจากการอวดอุตริมนุษยธรรม

๒. ห้ามชักสื่อนำทรัพย์มาให้

๓. ห้ามร้องขอต่อบุคคลที่ไม่ใช่ญาติหรือผู้ที่ไม่ได้ปวารณาตน

๔. ห้ามขอในเวลาที่ไม่สมควรเช่น การร้องขออาหารในเวลาอันวิกาล

๕. แกล้งอาพาธเพื่อแสดงความเห็นใจให้ได้มาซึ่งทรัพย์

๖. พูดชักจูงให้ผู้คนตายใจจนนำทรัพย์มาให้

๗. บีบบังคบด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งที่ผู้นั้นไม่เต็มใจ

๘. ต่อลาภด้วยลาภ

๓. การใช้

ฆราวาส ควรใช้ให้พอดี พอเพียง ไม่ใช้จนเกินกำลังก่อให้เกิดหนี้สิน ไม่ใช้ไปตามลิเลส

พระสงฆ์ ควรใช้แต่ความพอดีในการดำรงชีวิตและปฏิบัติธรรม เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลศ จำแนกได้ดังนี้

๑. ใช้แค่บริขาร ๘ อันประกอบด้วย สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคด กระบอก กรองน้ำ ซึ่งสงฆ์ต้องพิจารณา ๒ ขณะคือ ขณะรับและเมื่อรับแล้ว  หากรับโดยปราศจากการพิจารณาจะถือว่าของที่ได้มานั้นอาบัติ

๒. เพื่อขัดเกลากิเลศ ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการเจริญสัมปชัญญะกรรมฐาน เพื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นเช่น กินเพื่ออะไร ที่อยู่อาศัยเพื่ออะไร ยาเพื่ออะไร เครื่องนุ่งห่มเพื่ออะไร เมื่อพิจารณาแล้วทำให้ไม่ยึดติดกับสิ่งของเหล่านั้น อีกทั้งเพื่อรู้ว่าสิ่งที่ได้มาคืออะไร หากไม่พิจารณาจะถือว่าเป็น การกินใช้อย่างขโมย การกินใช้อย่างเป็นหนี้ กินใช้อย่างทายาท กินใช้อย่างเจ้าของ ซึ่งไม่เหมะกับพระสงฆ์

๔. การสะสม

ฆราวาส สะสมเพื่อใช่สอยยามจำเป็น หรือเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละอาชีพของตนเอง เช่น สะสมเพื่อค้าขายเป็นต้น

พระสงฆ์ ต้องไม่สะสมทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่จำเป็นและต้องเป็นไปตามพระวินัยกล่าวคือ

๑. ต้องไม่สะสมของที่ได้มาและต้องรู้ว่าสิ่งของหรืออาหารต่าง ๆ นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าใด  อาหารทั่วไปเก็บได้ตามเวลา เช่นเช้า – เที่ยงวันเท่านั้น หากเป็นสิ่งของที่ใช้ปรุงยาสามารถเก็บไว้ได้ตลอด

๒. เพื่อไม่ให้ยึดติดไม่ให้หวงแหน

๓. เพื่อความเป็นระเบียบในการอยู่ร่วมกันของสงฆ์

๔. เพื่อการอาศัยร่วมกับฆราวาสอย่างเป็นสุข เพื่อไม่ให้เกิดการติเตียน

 

ตัวอย่างการใช้ทรัพย์ตามหลักศาสนา

ฆราวาส การใช้ทรัพย์ หรือการมีวิถีทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับหลักทางพระพุทธศาสนา เป็นการเอาเปรียบและเบียดเบียนผู้อื่น เช่น นักการเมืองแสวงหาทรัพย์อันเกิดจากการทุจริต การช้อราษฎร์บบังหลวง ทำให้บ้านเมืองไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่ควรจะเป็น ใช้อำนาจที่ตนมีเป็นเครื่องมือแสวงหาทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรมให้กับตนเองและเพื่อนพ้อง ทำให้เกิดการแตกแยกทางสังคม รวมถึงนักธุรกิจที่ไม่มีศีลธรรมก็จะแสวงหาทรัพย์โดยไม่สนหลักมนุษยธรรม เกิดการขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนและลูกจ้าง หากประชาชนปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจของศาสนาพุทธและรวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สังคมไทยก็จะอยู่เป็นสุข แม้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็สามารถเลี้ยงตนเองได้

พระสงฆ์ หากปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจตามพระธรรมวินัย สังคมสงฆ์ก็จะอยู่อย่างสงบสุข เป็นที่ศรัทธาของประชาชน ศาสนาพุทธจะมีผู้เลื่อมใสมากมาย เป็นการสืบทอดพระศาสนาให้ยาวนานขึ้น เช่นการใช้ผ้าจีวรของพระอานนท์ ที่ใช้อย่างคุ้มค่าคือเริ่มจากการเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเก่าแล้วก็ใช้เป็นผ้าปูนอน เก่าแล้วใช้ปัดเช็ดถู เก่ามาใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า และเมื่อเก่าจนใช้ไม่ได้ก็ตำรวมกับมูลดินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึงถือเป็นตัวอย่างของการใช้สอยทรัพย์อย่างคุ้มค่า

บทสรุป

เหตุที่ต้องหลักธรรมกับเศรษฐกิจเพราะ ผู้ที่เข้าบวช รวมถึงฆราวาสนั้นมีภูมิหลังที่ไม่เท่ากัน ฐานะทางสังคมและการเงินไม่เท่ากัน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันแล้ว จะต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน เสมือนดอกไม้ต่างพรรณต่างสีที่กระจัดกระจายถูกนำมาร้อยเป็นพวงเดียวอย่างสวยงาม

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๐ ต.ค. ๒๕๕๖

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วาทิน ศานติ์ สันติ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2013 เวลา 07:52 น.
 


หน้า 439 จาก 565
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5678
Content : 3088
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8919656

facebook

Twitter


บทความเก่า