Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๘ นี้ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?

บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery

นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


การเรียนรู้สู่ระดับรู้จริงคืออะไร

หนังสือบทนี้เริ่มด้วยเรื่องราวความผิดหวังของศาสตราจารย์ ๒ คนในต่างเรื่อง ต่างวิชา  แต่สะท้อนความเขลาหรือไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของ นศ.  ว่า นศ. ต้องการการฝึกฝนหลากหลายขั้นตอน หลากหลายองค์ประกอบ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากรู้เพียงทฤษฎี ไปสู่สภาพการเรียนรู้ในระดับรู้จริง (mastery)

ผมมีความลำบากใจ ต่อการใช้คำภาษาไทย ที่ถ่ายทอดความหมายของคำ mastery  เดิมคิดจะใช้ “เรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ”  “เรียนให้ชำนาญ”  “เรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง”แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้คำว่า “เรียนให้รู้จริง”  ซึ่งตีความด้วยหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ว่า  เป็นการเรียนรู้ในระดับประยุกต์ใช้ความรู้ได้  คือมีผลลัพธ์ที่ทักษะ ไม่ใช่แต่บอกสาระได้


องค์ประกอบของการเรียนรู้ระดับรู้จริง

การเรียนรู้ระดับรู้จริงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ (๑) เรียนรู้ทักษะองค์ประกอบย่อยของเรื่องนั้น  (๒) เรียนรู้วิธีบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อยเข้าด้วยกัน  (๓) เรียนรู้การบูรณาการให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อกาละเทศะ  ดังแสดงในรูป

 

 

คนเป็นครู/อาจารย์ มักทึกทักเอาเองด้วยความเข้าใจผิด ว่าเมื่อ นศ. ได้เรียนสาระและฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องครบแล้ว นศ. จะปฏิบัติหรือดำเนินการเรื่องนั้นๆ ได้  ย้ำว่า นี่คือความเข้าใจผิด  เพราะ นศ. ยังเพิ่งได้เรียนรู้หรือฝึกทักษะในขั้นตอนที่ ๑ ใน ๓ ขั้นตอนของการเรียนให้รู้จริง  ดังรูปข้างบน

ครูยังต้องช่วยจัดมอบหมายงานงาน ให้ นศ. ได้ฝึกฝนการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ต่อไป เพื่อให้ นศ. ได้บรรลุสู่ การรู้จริง (mastery)


ทักษะความเชี่ยวชาญ (Expertise)

ทักษะความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ของครู ไม่จำเป็นจะก่อผลดีต่อการทำหน้าที่ครูเสมอไป  เพราะมันมักจะทำให้เกิด “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” (Expert Blind Spot)  คือทำให้ครูมองข้ามความเป็นผู้ฝึกใหม่ของ นศ. ที่จะต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน  ยังทำงานข้ามขั้นตอนอย่างครู ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ไม่ได้

ขั้นตอนสู่ความเชี่ยวชาญ หรือทักษะรู้จริง แสดงในภาพข้างล่าง  ซึ่งเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ปัจจัย คือ ความรู้ตัว-ไม่รู้ตัว  กับสมรรถนะ ทำไม่ได้ - ทำได้

 

 

อธิบายว่า ขั้นตอนพัฒนาจาก “ผู้ไม่รู้” ไปสู่ “ผู้รู้จริง” มี ๔ ขั้นตอน  เริ่มจาก “ไม่รู้ว่าไม่รู้”  สู่ “รู้/ตระหนัก ว่าไม่รู้”  ไปสู่ “ทำได้ โดยต้องตั้งใจทำ”  และขั้นสูงสุดที่เรียกว่ารู้จริง คือ “ทำได้ อย่างอัตโนมัติ” คือโดยไม่ต้องตั้งใจทำหรือไม่รู้ตัว  เหมือนอย่างคนขับรถยนต์เป็น ขับรถโดยไม่ต้องกำหนดขั้นตอนในใจ

ข้อเรียนรู้สำหรับครูคือ การพัฒนาของ นศ. จากขั้นตอนที่ ๑ ไปสู่ขั้นตอนที่ ๔  ไม่ว่าในเรื่องใด ต้องการการฝึกฝนและต้องการเวลา  เพราะเป็นทักษะเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยทักษะย่อยจำนวนมากมาย  ต้องใช้เวลาฝึก ๓ ขั้นตอนตามภาพแรกข้างบน

แต่ครูซึ่งรู้จริง ในระดับผู้ชำนาญ จะคิดข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว  ไม่ต้องบูรณาการความรู้ในขณะนั้น เพราะมี “ชุดความรู้” เป็นชุดๆ สำเร็จรูปอยู่แล้วในสมอง  ให้เลือกเอามาใช้ให้เหมาะสมตามกาละเทศะ  ซึ่งครูก็ช่ำชองเช่นเดียวกัน

ในสภาพความเป็นผู้ชำนาญ ที่ทำกิจกรรมข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว (อย่างเป็นอัตโนมัติ)  ครูหลายคนจึงลืมไปว่า นศ. อยู่ในต่างขั้นตอนกับตนเอง  นศ. ยังเป็นผู้ฝึกใหม่ ยังต้องคิดและทำตามขั้นตอนในรูปแรกข้างบน  และครูก็ไม่สามารถบอกขั้นตอนการคิดและทำของตนได้ เพราะมันเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคิด

ครูที่ดีจึงต้องเอาชนะ “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” และศึกษาทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ ๓ ขั้นตอนตามในภาพแรกข้างบน  สำหรับนำมาเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้ฝึกฝนทักษะทั้ง ๓ ข้างบน


ทักษะองค์ประกอบย่อย (Component Skills)

นศ. ต้องมีทักษะองค์ประกอบย่อยครบถ้วน จึงจะสามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ซับซ้อนและต้องการทักษะเหล่านั้นได้  ครูจึงต้องมีทักษะในการแตกหรือวิเคราะห์ชิ้นงาน ว่าต้องการทักษะย่อยอะไรบ้าง  และต้องทดสอบทักษะของ นศ. ว่ามีพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ ก่อนจะมอบหมายงาน  หากตรวจพบว่า นศ. ยังขาดทักษะองค์ประกอบบางอย่าง ก็ควรให้เรียนเสริมเสียก่อน  เช่นในตัวอย่างแรกของบทที่ ๔ ของหนังสือ  เมื่อมอบหมายโครงงานให้ นศ. ทำคนเดียว ได้ผลดีมาก  แต่เมื่อให้ทำเป็นทีม กลับได้ผลงานที่ไม่ดี  แสดงว่า นศ. ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม

ผมอ่านรายละเอียดในหนังสือ แล้วบอกตัวเองว่า ศาสตร์ว่าด้วยทักษะองค์ประกอบย่อย (component skills) ของแต่ละทักษะที่ซับซ้อน  เป็นเรื่องที่น่าจับทำวิจัยในบริบทไทยมาก  เป็นโจทย์วิจัยที่จะช่วยให้ นศ. มีผลการเรียนสูงขึ้น  และในขณะเดียวกัน ความรู้ว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ในบริบทไทยก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย

ดังตัวอย่างโจทย์ การฝึกทักษะย่อย ควรฝึกแยกหรือฝึกรวมกับการฝึกทักษะอื่นทั้งชุด  ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว  ขึ้นกับแต่ละวิชา แต่ละทักษะ และขึ้นกับพื้นความเชี่ยวชาญที่ นศ. มีอยู่แล้ว  ผลงานวิจัยบอกว่า ในบางกรณีที่ นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  การฝึกแยกกลับให้ผลลบ คือทักษะกลับลดลง


การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย

การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย ทำโดยฝึกพร้อมกันหรือทำเป็นเรื่องเดียวกัน  ไม่ใช่ฝึกแยกกันแล้วคิดเอาว่าเมื่อใช้พร้อมกันจะทำอย่างไร ซึ่งจะไม่มีวันบูรณาการทักษะได้  การฝึกพร้อมกันนี้ไม่ง่าย เพราะมันกินแรงสมองมาก  ภาษาวิชาการเรียกว่า cognitive load

ในขณะที่ผู้ที่ได้ฝึกฝนจนเรียนรู้จริง (mastery) แล้ว การทำทักษะหลายๆ อย่างทั้งชุดในเวลาเดียวกันหรืออย่างคล้องจองกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ยาก ไม่กินแรงสมอง  เพราะคนที่ฝึกจนรู้จริงแล้ว จะทำทักษะเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ ไม่กินแรงสมอง

ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การฝึกซ้อม หรือการทำแบบฝึกหัด  และครูที่เก่งจะเข้าใจความยากลำบากของมือใหม่อย่างศิษย์  และนี่แหละที่เป็นคุณค่าระดับสูงสุดของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ... เป็นครูฝึกให้แก่ศิษย์  ให้ศิษย์ฟันฝ่า cognitive loadผ่านช่วงมือใหม่ ไปสู่มีชำนาญหรือรู้จริงได้

แต่ผลการวิจัยชี้ว่า ยังมีการทำแบบฝึกหัด ที่ทำโจทย์ได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้เรียน  เพราะนักเรียนมีแรงสมองน้อย เอาไปทำโจทย์ก็หมดแรงแล้ว  ไม่มีแรงสมอง (cognitive resources) เหลือสำหรับการเรียนที่แท้จริง  แก้ได้โดยเครื่องมือที่เรียกว่าworked-examples (ตัวอย่างเฉลยข้อสอบ) จัดแทรกไว้เป็นระยะๆ ในหมู่ข้อสอบแบบฝึกหัด  เขาบอกว่า จะช่วยให้ นศ. ศึกษาวิธีการ และเป็นการ “ชาร์จแบต” แรงสมอง   ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า worked-example effect จะเห็นว่า ครูที่เอาใจใส่ศึกษาและทดลองใช้เครื่องมือช่วยการเรียนของศิษย์ มีเรื่องสนุกให้ทำได้มาก  และยังนำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจของตน และเพิ่มผลงานวิชาการด้านการเรียนรู้ได้อีกด้วย

เขาบอกว่าเครื่องมือลดการกินแรงสมอง (จนไม่มีแรงเรียนรู้วิธีเรียนรู้) อีกชนิดหนึ่งคือ scaffoldingซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหนังสือบทที่ ๗

ที่น่าสนใจยิ่งคือ หากไม่ระวัง นศ. จะหมดแรงสมองไปกับการเรียนรู้ส่วนสาระ  ไม่มีเหลือไว้เรียนรู้ส่วนที่สำคัญกว่า คือส่วนการจัดโครงสร้างความรู้/ทักษะ และส่วนเรียนวิธีเรียนรู้

และน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ที่มีผลงานวิจัยบอกว่า การลดการกินแรงสมอง (cognitive load) ไม่ใช่จะมีผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่รู้จริงเสมอไป  ผมสรุปง่ายๆ ว่า จะได้ผลดีต่อการเรียน หาก นศ. ลดการกินแรงสมองโดยลดความเอาใจใส่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายการเรียน (เรื่องไร้สาระ?)  ประหยัดสมองเอาไว้เรียนเรื่องสำคัญ (อย่างที่ผมฝึกมาตลอดชีวิต)


การประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้

ศัพท์เทคนิคทางการศึกษา สำหรับการประยุกต์ใช้ทักษะ (และความรู้ ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ และนิสัย) คือtransfer และยังมีคำว่า near transfer ซึ่งหมายถึงบริบทของการเรียนกับบริบทของการประยุกต์ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน  และ far transfer สำหรับกรณีที่บริบทแตกต่างกันมาก ระหว่างตอนเรียน กับตอนประยุกต์

ทักษะ transfer ที่ต้องการจริงๆ คือ far transfer  คือเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องเรียน สู่สถานที่ทำงานจริง  ผลการวิจัยบอกว่า เราไม่เข้าใจความยากลำบากของการประยุกต์ใช้ทักษะในต่างสถานการณ์เช่นนี้  และมีการปัจจัยเอื้อ และปัจจัยล้มเหลว ของการประยุกต์


ปัจจัยล้มเหลวของ นศ. ได้แก่

๑.  เรียนรู้เชื่อมโยงกับบริบทในห้องเรียนอย่างเหนียวแน่น  คือเรียนตามตำรา  ถ้าถามข้อความในตำราตอบได้  แต่ให้เอามาใช้ในสถานการณ์จริง ทำไม่ได้

๒.  เรียนรู้แบบผิวเผิน  ไม่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงอย่างแท้จริง  คือ นศ. หยุดอยู่ที่ know what  ไม่เรียนรู้ know why  หรือเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น หรือเหตุผลที่สิ่งนั้นเป็นเช่นนั้น   นั่นคือ การเรียนรู้ทฤษฎีหรือความรู้เชิงนามธรรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำ จะช่วยให้ทำได้ดีขึ้น


ปัจจัยช่วยการประยุกต์ ของ นศ. ได้แก่

๑.  นศ. เรียนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่เป็นจริงในทุกบริบท  การประยุกต์ใช้ความรู้ในต่างบริบทก็จะทำได้ไม่ยาก   เขายกตัวอย่างผลงานวิจัยคลาสสิคที่ทำกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว (Judd 1908)  โดยให้ นศ. ปาลูกศรให้ถูกเป้าใต้น้ำ ที่อยู่ลึก ๑ ฟุต  หลังจากทดลองสักครู่ ก็แยก นศ. เป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกไปเข้าฟังทฤษฎีการหักเหของแสง  อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฟัง  แล้วให้ปาเป้าซ้ำ  ผลของกลุ่มแรกดีกว่าอย่างชัดเจน

๒.  การเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ  นี่ก็มาจากผลงานวิจัย  การให้ นศ. ศึกษากรณีศึกษา ๒ กรณี  โดยศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่าง (๑) ศึกษาทีละกรณี  (๒) เปรียบเทียบกันระหว่าง ๒ กรณี โดยครูมีเกณฑ์ให้เปรียบเทียบ  ผลคือการศึกษาวิธีที่ ๒ ได้ผลการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงกว่ามาก

๓.  ให้บอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่ง หรือเรื่องต่างๆ

๔.  คำชี้แนะ หรือคำใบ้ ของครู อาจช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงเรื่องราวต่างเรื่อง/ต่างบริบท แต่ใช้หลักการเดียวกันได้


สรุป

ครูต้อง “สอนการประยุกต์” (แบบไม่สอน!)  โดยต้องช่วยให้ นศ. เรียนรู้โครงสร้างความรู้อย่างลึกซึ้ง  เรียนรู้หลักการที่อยู่เบื้องหลัง  เรียนรู้ในบริบทการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างหลากหลาย  ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ตนมี เข้ากับบริบทใหม่ที่จะใช้ความรู้และทักษะนั้นได้

ข้อสรุปสำหรับผมก็คือ เมื่ออ่านหนังสือบทที่ ๔ นี้  ผมก็กระจ่างแจ้ง ว่าครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่โค้ช ของการเรียนรู้ของศิษย์จริงๆ  เหมือนโค้ชฟุตบอลล์  และหนังสือบทที่ ๔ นี้ คือส่วนหนึ่งของศาสตร์สำหรับ โค้ชการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และทำให้ผมเชื่อมากขึ้นว่า ครู/อาจารย์ ทุกคน มีโอกาสมากมายในการร่วมขยายขอบฟ้าของศาสตร์นี้

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/519648

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๙. เทคนิคช่วยศิษย์ให้รู้จริง

พิมพ์ PDF

 

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๘และ ๙ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?

บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery

นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


ยุทธศาสตร์ทำทักษะองค์ประกอบให้แจ่มแจ้ง

หลักการสำคัญ ๓ ประการ สำหรับครู คือ  (๑) ต้องแจกแจงแยกแยะงานที่ซับซ้อน ออกเป็นทักษะย่อยอย่างเป็นระบบ  สำหรับใช้วินิจฉัยว่า นศ. รู้หรือไม่รู้ส่วนใดบ้าง  และสำหรับใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้ นศ. ได้ฝึกทักษะย่อยเหล่านี้อย่างเป็นระบบ  (๒)จัดให้ นศ. ฝึกบูรณาการทักษะองค์ประกอบจนคล่องแคล่ว  ทำได้เป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความพยายาม  (๓) ให้ นศ. ได้เรียนรู้กาละเทศะในการประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านั้น


ก้าวข้าม จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ ของครู

ครูพึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า นศ. อยู่ในขั้นตอนการฝึก  ไม่ใช่ผู้ชำนาญอย่างครู  ครูต้องตรึกตรองอยู่เสมอว่างานหรือกิจกรรมที่ นศ. ได้รับมอบหมาย ต้องการองค์ประกอบทักษะย่อยๆ อะไรบ้าง  คอยตรวจตราว่าครูละเลยทักษะเล็กๆ บางทักษะไปหรือไม่  และหมั่นตรวจสอบว่าทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานนั้นให้สำเร็จมีอะไรบ้าง


หา นศ. ผู้ช่วยสอน มาช่วยแยกแยะขั้นตอนของงาน

สภาพที่ครูเป็นผู้ชำนาญในเรื่องนั้น  และคิดอยู่ในสภาพ “ทำได้ โดยไม่รู้ตัว” (Unconscious Competence)  ทำให้เป็นการยากสำหรับครู ที่จะแยกแยะชิ้นงาน ออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ  นศ. ระดับบัณฑิตศึกษา ที่ทำหน้าที่ช่วยสอน  ยังเป็นผู้รู้ในระดับ “ทำได้ โดยต้องตั้งสติ” (Conscious Competence)  จึงน่าจะเก่งกว่าครู ในการแยกแยะขั้นตอนย่อยๆ ของกิจกรรมที่ซับซ้อน


ปรึกษาหารือกับเพื่อนครู

วิธี “ก้าวข้ามจุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” อีกวิธีหนึ่งทำโดยปรึกษาเพื่อนครู  ว่าเขาแยกแยะทักษะย่อย ของชิ้นงานอย่างไร  ตัวอย่างชิ้นงานอาจเป็น รายงานผลการวิจัย  การนำเสนอด้วยวาจา  หรือโครงการออกแบบ   แม้ว่าเพื่อนครูก็อาจมี “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” แบบของเขา  แต่ก็ยังสมควรที่จะแลกเปลี่ยนการแยกแยะทักษะย่อยของงานต่อกันและกัน  โดยอาจแลกเปลี่ยน ข้อกำหนดรายละเอียดของวิชา  ชิ้นงานสำหรับ นศ.  และ rubrics สำหรับทดสอบผลการเรียน เป็นต้น

ในข้อนี้ ผมมีความเห็นว่า หากครูรวมตัวกันเป็น “ชุมชนการเรียนรู้” (CoP – Community of Practice) ของครู หรือ PLC (Professional Learning Community)  ก็จะช่วยกันปิดจุดบอดซึ่งกันและกันได้


แสวงหาความช่วยเหลือจากคนนอกสาขาวิชาการของตน

คนนอกสาขาวิชา น่าจะมี “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” คนละจุดหรือคนละแบบ  ดังนั้น หากมีการแลกเปลี่ยน และศึกษาเอกสาร ข้อกำหนดรายละเอียดของวิชา  ชิ้นงานสำหรับ นศ.  และ rubrics สำหรับทดสอบผลการเรียน  ของกันและกัน  ก็อาจช่วยให้เห็นประเด็นที่ตนละเลยไป


หาวัสดุด้านการศึกษา

ทักษะองค์ประกอบหลายประการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนสาขาวิชาอื่นๆ ด้วย  จึงมีเอกสาร หรือวารสาร ที่เสนอวิธีแยกแยะทักษะองค์ประกอบ  ที่ครูนำมาใช้ศึกษาอ้างอิงได้

ผมขอเพิ่มเติมว่า หากค้นด้วย Google ด้วยคำว่า “component skills”  จะพบตัวอย่างของการแยกแยะ ทักษะองค์ประกอบของกิจกรรมที่หลากหลาย


ให้ นศ. เอาใจใส่งานที่มีความสำคัญ

ความเป็นจริงของชีวิตของ นศ. ก็คือ มีงานหรือกิจกรรมมากมายให้ทำ  ครูจึงต้องช่วยแนะนำให้ นศ. รู้จักเลือกทำสิ่งที่สำคัญ  ปล่อยเรื่องไม่สำคัญไปเสียบ้าง   ในวิชาที่ครูสอนก็เช่นเดียวกัน  เมื่อครูมอบงาน  การรู้จักลำดับความสำคัญในการทำงาน และเลือกทำงานที่มีประโยชน์มากกว่า ต่อการเรียนรู้ในอนาคต มีความสำคัญยิ่ง  และครูจะช่วยแนะนำได้  คำแนะนำทางอ้อมคือ rubrics ของการประเมินผลงานชิ้นนั้น


วินิจฉัยทักษะองค์ประกอบที่ยังขาด

ทำโดยจัดการทดสอบในช่วงต้นเทอม   ถ้ามี นศ. จำนวนน้อยขาดทักษะบางอย่าง  ครูควรแนะนำวิธีซ่อม/พัฒนา ทักษะโดยใช้กลไกช่วยอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัย  แต่ถ้า นศ. จำนวนมาก (กว่าครึ่งชั้น) ขาดทักษะนั้นๆ ครูควรจัดการเรียนรู้ให้  โดยอาจใช้เวลาเรียนปกติ หรือใช้เวลานอก

ในระหว่างเทอม ผลการสอบหรือทดสอบ จะช่วยบ่งชี้ว่า นศ. อ่อนทักษะใดที่ถือว่าสำคัญมาก  ครูจะได้ช่วยหาทางพัฒนาให้  รวมทั้งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอนในเทอมต่อๆ ไป ได้ด้วย


ให้ฝึกทักษะที่ยังขาด

เมื่อครูพบว่า นศ. คนใดคนหนึ่งขาดทักษะที่สำคัญ  ครูต้องหาทางให้ศิษย์ได้ฝึกทักษะนั้น  เช่น มอบหมายงาน/การบ้าน ที่ นศ. ได้มีโอกาสฝึกฝนตนเองให้มีทักษะนั้นๆ ในระดับที่ดีหรือยอมรับได้  ตัวอย่างเช่น ครูสังเกตว่า นศ. ขาดทักษะการเขียนเมื่อเขียนถึงตอนสรุป นศ. คนนั้นก็ยกเอาประโยคเดิมในเนื้อหาของบทความ มาลงซ้ำ  ครูควรให้ นศ. (๑) อ่านบทสรุปของบทความที่ดี ๒ - ๓ บทความและอภิปรายว่า ทำไมจึงเป็นบทสรุปที่ดี  (๒) ให้ฝึกเขียนบทสรุป สำหรับบทความตัวอย่าง  (๓) ครูกับ นศ. ร่วมกันวิจารณ์บทสรุปของ นศ.


ยุทธศาสตร์สร้างความช่ำชอง และฝึกบูรณาการ

 


ให้ นศ. ฝึก เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่ว

หากผลการทดสอบทักษะบ่งชี้ว่า นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยที่สำคัญแล้ว แต่ยังไม่คล่อง  ยังไม่ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  ครูพึงให้ นศ. ฝึกหัดจนคล่อง  ซึ่งผมมีความเห็นว่า การออกแบบฝึกเป็นการเล่นเกมจะดีที่สุด


ให้โจทย์ที่ง่ายในช่วงแรก

เป็นที่รู้กันว่า ความสำเร็จเป็นตัวสร้างกำลังใจในการทำสิ่งนั้น  ดังนั้น หากงานชิ้นนั้นยาก  ครูควรใช้หลักการฝึก “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ”  คือตัดตอนมาเพียงบางส่วนให้ฝึกจนทำเป็น แล้วจึงฝึกส่วนอื่นต่อจนครบ  ตัวอย่าง การฝึกตรวจร่างกายแก่นักศึกษาแพทย์  ซึ่งมี ๔ ทักษะ คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง  ครูจะสอนและให้ นศ. ฝึกวิธี “ดู” ก่อน  จน “ดู” เป็น จึงเคลื่อนไปเรียนและฝึก “คลำ” ต่อไป  จนคบ ๔ ทักษะ   แล้วจึงฝึกตรวจร่างกายผู้ป่วยจริง  ซึ่งเป็นการฝึกบูรณาการทักษะทั้ง ๔ ให้ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  เช่นเมื่อมองผู้ป่วยแวบเดียวก็ฟังเสียงเต้นของหัวใจเลย หรือจับชีพจรเลย เป็นต้น


ระบุทักษะบูรณาการทักษะ ในเกณฑ์ประเมินสมรรถนะ

เนื่องจากการบูรณาการทักษะ เป็นทักษะในตัวของมันเองด้วย  ครูจึงต้องระบุใน performance rubrics วัดทักษะการบูรณาการทักษะไว้ด้วยเช่นในการประเมินทักษะการนำเสนอผลงานแบบ team presentation  ต้องระบุการประเมินความต่อเนื่องคล้องจองระหว่างการนำเสนอของสมาชิกแต่ละคน ด้วย


ยุทธศาสตร์เอื้อให้เกิดการประยุกต์

 

อภิปรายเงื่อนไขของการประยุกต์ใช้

ครูต้องไม่สอน หรือให้ นศ. เรียนเฉพาะตัวทฤษฎีเท่านั้น  ต้องให้อภิปรายกันด้วยว่า ทฤษฎีนั้นใช้อย่างไร ในกรณีไหนใช้ทฤษฎีนั้นได้ ในกรณีไหนใช้ทฤษฎีนั้นไม่ได้   หรือถ้าจะใช้ต้องดัดแปลงอย่างไร


ให้โอกาส นศ. ได้ฝึกประยุกต์ในหลากหลายบริบท

การฝึกฝนใช้ทักษะชุดนั้นๆ ในหลากหลายบริบท จะช่วยให้ นศ. สามารถประยุกต์ทักษะชุดนั้นในบริบทใหม่ที่แตกต่างออกไป ได้

 

ให้ นศ. ตีความยกระดับความเข้าใจสู่หลักการ (generalize)

การมีทักษะ คือทำได้ ยังไม่ใช่การรู้จริง  จะรู้จริงต้องทั้งทำได้และอธิบายได้ ว่าทำไมทำเช่นนั้นจึงสำเร็จ หากทำแตกต่างทำไมไม่สำเร็จ  คือต้องมีทั้งทักษะ และทฤษฎี  จะรู้จริงได้ นศ. จึงต้องฝึกทั้งทักษะ และฝึกการตีความทักษะและผลที่เกิดขึ้นด้วยทฤษฎี


ใช้การเปรียบเทียบ เพื่อให้ นศ. เข้าใจลึก

นศ. จะประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะได้ดี นศ. ต้องมีความเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นในมิติที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง  ไม่ใช่สัมผัสหรือเข้าใจเพียงมิติผิวเผิน  วิธีช่วยให้เข้าใจความหมายในมิติที่ลึกทำได้โดยให้ นศ. เปรียบเทียบปัญหา/กรณี/ฉากสถานการณ์/กิจกรรม ตามกรอบแนวทางที่กำหนด  เช่นในรายวิชาฟิสิกส์ ให้ นศ. เปรียบทียบระหว่างทางลาด กับลูกรอก  เพื่อให้ นศ. เรียนรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงและความฝืด (friction) ในมิติที่ลึก ว่าการใช้ทางลาดกับใช้รอกเพื่อยกของขึ้นที่สูง ใช้หลักการเอาชนะแรงโน้มถ่วงหลักการเดียวกัน


กำหนดสถานการณ์  แล้วให้ นศ. บอกว่าจะใช้ความรู้หรือทักษะใด

นี่คือแบบฝึกหัดให้ นศ. เชื่อมโยงระหว่างงานหรือกิจกรรม กับทักษะ  รวมทั้งฝึกบูรณาการทักษะองค์ประกอบหลายตัว เพื่อใช้ในบริบทหรือสถานการณ์นั้นๆ  ในแบบฝึกหัดนี้ คำถามที่ดี ที่กระตุ้นและยั่วยุ ของครู  จะช่วยให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุกและเร้าใจ  และที่สำคัญ ช่วยให้ นศ. เข้าใจแต่ละทักษะ/ความรู้ ในมิติที่ลึกซึ้ง  และเรียนรู้การประยุกต์ใช้ทักษะ/ความรู้ เหล่านั้น ตามความหมายที่ลึกเหล่านั้น

ครูที่เก่ง คือครูที่ตั้งคำถามเก่ง  ไม่ใช่ครูที่สอนเนื้อหาเก่ง


กำหนดความรู้และทักษะ ให้ นศ. บอกว่าจะนำไปใช้ในสถานการณ์ใด

นี่คือการกลับทางเทคนิคที่ผ่านมา  คือแทนที่จะให้ นศ. ตอบโจทย์ กลับให้ นศ. เป็นผู้ตั้งโจทย์  ว่าหากต้องการให้ฝึกประยุกต์ทักษะ/ความรู้ หนึ่งชุด  จะกำหนดเรื่องราว/กิจกรรม/โจทย์ ใด ให้ นศ. ลงมือทำ

ผมมีความเห็นว่า การฝึกทักษะเช่นนี้ สามารถจัดให้ นศ. เป็นทีม ให้แข่งขันกันตั้งโจทย์และตอบโจทย์ จะสนุกมาก  โดยครูทำหน้าที่ชักชวน นศ. ตั้งกติกาของการแข่งขัน


มีตัวชี้นำ/เตือนความจำ ให้ นศ. นึกถึงความรู้ที่เหมาะสม

ตัวชี้นำในภาษาอังกฤษเขาเรียก prompt  เป็นตัวช่วยเชื่อมโยงความคิด จากสิ่งที่ นศ. รู้ดีและคล่องแคล่วแล้ว ไปสู่สิ่งใหม่  ตัวชี้นำที่ดีอยู่ในรูปคำถาม ไม่ใช่คำตอบ  เช่น “เรื่องนี้เชื่อมโยงกับเรื่องหนึ่งที่เราเรียนสัปดาห์ที่แล้ว  นศ. คิดว่าเป็นเรื่องอะไร  เชื่อมโยงอย่างไร”  “เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว  นศ. บอกได้ไหมว่าเป็นข่าวอะไร  เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังเรียนอย่างไร”


สรุป

เพื่อให้เกิดการเรียนแบบรู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นศ. ต้องเรียนรู้ทักษะย่อยๆ ของเรื่องนั้น จนทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  เรียนรู้วิธีประกอบทักษะย่อยเข้าเป็นชุด ที่เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละบริบท  เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาละเทศะหรือสถานการณ์นั้นๆ  ซึ่งเท่ากับ นศ. ต้องเรียนรู้ ๓ อย่าง จึงจะเกิดการเรียนแบบ “รู้จริง” (mastery)  คือเรียนรู้  (๑) ทักษะย่อย  (๒) การบูรณาการทักษะย่อย เป็นชุดทักษะ/ความรู้ ที่เหมาะสม  (๓) บริบท หรือกาละเทศะ ในการใช้ทักษะแต่ละชุดอย่างเหมาะสม

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/520100

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2013 เวลา 15:42 น.
 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๐. การทำหน้าที่ “ครูฝึก”

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๐ และ ๑๑ มาจากบทที่ 5  What Kind of Practice and Feedback Enhance Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นบทที่ว่าด้วยการเป็น “ครูฝึก” ที่ดีของครู  วิธีใช้เวลาที่มีจำกัด ในการฝึก นศ. และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ นศ. ให้ฝึกฝนเรียนรู้ อย่างได้ผลแท้จริง  ไม่หลงใช้วิธีการผิดๆ

นศ. มีเวลา และความสามารถทางสมองจำกัด  แต่ครูก็สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  คือเป้าหมายของหนังสือบทนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  บทนี้ว่าด้วยวิธีที่ครูช่วยให้ นศ. “Learn smarter” นั่นเอง


การฝึกปฏิบัติ และการให้คำแนะนำป้อนกลับ


 

 

 

การจัดโจทย์สำหรับการฝึกปฏิบัติที่ดี และการให้ข้อมูลป้อนกลับที่ดี  คือการช่วยให้ นศ. ฝึกทักษะแบบลงทุนน้อย ได้ผลมาก  นี่คือหน้าที่ของ “ครูฝึก”

จากรูปข้างบน การฝึกปฏิบัติที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุชัดเจน วัดหรือรู้สึกได้  ระหว่างฝึกมีการประเมินสมรรถนะอยู่ตลอดเวลา  มีการนำผลประเมินป้อนกลับมาสร้างความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย  และสร้างปิติสุขเมื่อบรรลุ  สภาพเช่นนี้เป็นวงจรยกระดับเป้าหมายสมรรถนะที่สูงขึ้นๆ จน “รู้จริง”


การฝึกปฏิบัติมีทั้งวิธีที่ดี และวิธีที่เลว

 

ขยันฝึก แต่ไม่ได้อะไร

ขยันฝึก แต่ไม่ได้อะไร เป็นสภาพของกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนนำมาเล่าเป็นคำพร่ำบ่นของศาสตราจารย์ผู้หนึ่ง  ที่ให้ นศ. “เรียนโดยลงมือทำ”  แต่เวลานำเสนอผลงาน นศ. เน้นที่การทำ slide presentation ที่สวยงาม มีลูกเล่นแพรวพราว  แต่สาระที่นำเสนอตื้นเขิน  แนะนำทีไร ผลก็ได้เหมือนเดิมทุกที ไม่มีการยกระดับเป้าหมาย

เพราะขยันฝึกแต่สิ่งที่ตนทำได้ดีอยู่แล้ว และไม่ใช่ทักษะหลักที่ต้องการ  ทักษะหลักที่ต้องการส่วนที่ต้อง “รู้จริง” มันลึกและยาก  นศ. จึงเลี่ยง เอาทักษะผิวเผินและไม่ยาก มาบังหน้า

ผมเห็นสภาพนี้เต็มไปหมด ในสังคมไทย  โดยเฉพาะในวงการศึกษา


การฝึกปฏิบัติที่ถูกต้อง

การฝึกปฏิบัติที่ให้ผลเรียนรู้และพัฒนาทักษะ/สมรรถนะ ได้ดีที่สุด ต้องมีลักษณะครบ ๓ ประการ คือ  (๑) เน้นหรือพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายหรือทักษะจำเพาะ  (๒) มีเป้าหมายพัฒนาทักษะเพิ่มจากที่ นศ. มีอยู่แล้ว ในระดับความท้าทายที่พอเหมาะ  (๓) มีการฝึกนานพอเหมาะ และบ่อยพอเหมาะ เพื่อการบรรลุทักษะ/สมรรถนะ เป้าหมาย


พุ่งเป้าการฝึกไปที่เป้าหมายหรือเกณฑ์ความสำเร็จที่จำเพาะ และชัดเจน

ผลการวิจัยบอกว่า การฝึกฝนมีหลายแบบ  แบบที่จะนำไปสู่ความพากเพียรพยายาม ฝึกฝนต่อเนื่องเรียกว่า การฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด (deliberate practice) ซึ่งหมายความว่า นศ. มีเป้าหมายของตนชัดเจนว่าการฝึกขั้นตอนนี้ต้องการบรรลุอะไร  รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุ  เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การฝึกทักษะขั้นสูงอะไรต่อไป  โดยรู้ว่าเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร

ครูต้องช่วยให้ นศ. ฝึกโดยเข้าใจเป้าหมายของการฝึกเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้   หลายกรณี ครูเข้าใจผิดว่าตนบอก นศ. ชัดเจนแล้ว  แต่ชัดเจนสำหรับครู ไม่ชัดเลยสำหรับศิษย์  การฝึกจึงเปะปะไร้ความหมายสำหรับศิษย์

เป้าหมายเป็นตัวให้พลังในการพุ่งเป้าความพยายาม  ไม่ว่าทำอะไร เราควรฝึกตัวเองให้ทำอย่างมีเป้าหมายเสมอ  จะช่วยให้ทำได้ดีกว่าปกติ  เวลาผมอ่านหนังสือ ผมจะใช้วิธี “ถามหนังสือ”  ไม่ใช่อ่านไปเรื่อยๆ  การ “ถาม” เป็นการกำหนดเป้าหมายนั่นเอง

ทักษะของครู ในการทำให้ศิษย์มีความชัดเจนของเป้าหมายของการฝึกแต่ละขั้นตอน จึงมีความสำคัญยิ่ง  ยิ่งให้ นศ. ได้เข้าใจการฝึกตอนต่อๆ ไปข้างหน้า อีก ๒ - ๓ ขั้นตอน  และเข้าใจว่า ขั้นตอนเหล่านั้นจะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ของ นศ. อย่างไร  นศ. จะยิ่งมีกำลังใจและมีพลังในการฝึก   ซึ่งหมายความว่า ครูต้องรู้เป้าหมายในชีวิตของ นศ. แต่ละคน  และทำให้เป้าหมายของการฝึกเล็กๆ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทักษะ/สมรรถนะ ชุดใหญ่  ที่จะปูทางไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตของ นศ. แต่ละคน

อ่านและตีความหนังสือมาถึงตอนนี้  ผมคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน และในชีวิต  และทำให้ผมคิดถึงครูเรฟ ผู้เขียนหนังสือครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ  ซึ่งดูวิดีทัศน์แสดงวิธีสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิษย์วัย ๑๐ ขวบ ใน YouTube ได้ที่นี่

ถ้อยคำ (ทั้งที่เป็นข้อเขียน และเป็นคำพูด) ที่ครูคิดว่าชัดเจน  อาจไม่ชัดเจนพอสำหรับศิษย์  อาจทำให้ศิษย์เข้าใจผิด  และฝึกฝนตนเองผิดเป้าที่แท้จริง  ดังนั้น ครูต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าการฝึกช่วงนั้นต้องการให้ นศ. ทำอะไรได้บ้าง  วัดความสำเร็จอย่างไร   อาจต้องบอกว่าเป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่อะไรบ้าง เพื่อให้ชัดเจนถึงขนาด


ระดับความท้าทายพอเหมาะ

ในการฝึกฝน นอกจาก นศ. มีเป้าหมายชัดแล้ว  ประเด็นฝึกหัดต้องมีระดับความยากง่าย หรือที่เรียกในสมัยใหม่ว่าความท้าทาย (challenge) เหมาะสมด้วย  รวมทั้งมีตัวช่วยที่เหมาะสมให้ นศ. ใช้ความอดทนมานะพยายามก้าวข้ามความยาก ไปสู่ความสำเร็จได้

นี่คือสิ่งที่ครู พึงจัดให้แก่ศิษย์

มีผู้ให้นิยามการฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด (deliberate practice) ว่าหมายถึงการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สมเหตุสมผล และท้าทาย  คือต้องมีความท้าทายเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย จึงจะถือว่าเป็นการฝึกอย่างมีเป้าหมายแจ่มชัด  หากไม่ท้าทาย นศ. ก็จะขาดความสนใจ  หันไปทำอย่างอื่น

ในทางตรงกันข้าม ผลการวิจัยบอกว่า หากความท้าทายใหญ่/ยาก เกินไป  หรือมีหลายอย่างเกินไป  จะเกินแรงสมองของ นศ. ผลการฝึกจะไม่ดี

ความท้าทายที่เหมาะสมจึงเป็นโจทย์สำหรับครู  ที่จะศึกษาทำความเข้าใจ เชื่อมโยงกับศิษย์แต่ละคน  และเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ “ครูฝึก”  ผมหลับตาเห็นโจทย์วิจัยวิชาการด้านการจัดการเรียนรู้มากมาย จากเรื่องนี้

เรื่องการฝึกภายใต้ความท้าทายพอเหมาะนี้ หนังสือเอ่ยถึงคำ Zone of Proximal Development  ซึ่งน่าสนใจมาก  คนเป็นครู/อาจารย์ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม  และพึงตระหนักว่า ความท้าทายที่เหมาะสมต้องคู่กับความช่วยเหลือที่เหมาะสมด้วย

หนังสือเล่าเรื่องวิธีการสร้าง “ตัวช่วย” มากมาย  หลายวิธีเป็นการให้ นศ. ช่วยกันเอง  ไม่กินแรงครู  เป็นเรื่องที่น่าทดลองนำมาใช้และทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย


สั่งสมการฝึกฝน

ต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของการฝึกฝนคือ ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  คือไม่ต้องคิด  ดังนั้น การฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเป็นสิ่งจำเป็น  แต่เวลาเป็นทรัพยากรที่จำกัด  ครูพึงเข้าใจข้อจำกัดนี้ของ นศ.

ครูพึงตระหนักว่า การฝึกฝนของ นศ. เป็นช่วงของผู้ฝึกใหม่  นศ. จะค่อยๆ เรียนรู้สั่งสมทักษะ  ครูต้องระมัดระวังไม่เร่งร้อน  และควรหาโอกาสให้ นศ. ได้ฝึกแต่ละทักษะซ้ำ  ไม่ใช่ฝึกครั้งเดียวผ่านไปเลย  เพราะจะมี นศ. ส่วนใหญ่ที่ยังฝึกไม่ได้ทักษะจริง

 

 

แผนภาพข้างบนมาจากผลการวิจัย ที่แสดงว่าช่วงเวลาของการฝึกฝนให้ผลเพิ่มสมรรถนะไม่เท่ากัน  คือเพิ่มน้อยในช่วงต้นและช่วงปลายที่ชำนาญแล้ว  เพิ่มมากในช่วงกลาง ที่ฝึกฝนทักษะเบื้องต้นมาอย่างดีแล้ว  หนังสือบอกว่าสภาพนี้มีทั้งส่วนจริง และส่วนที่เป็นความรู้สึกของ นศ.  ที่เป็นความรู้สึกลวงว่าช่วงเริ่มต้นฝึกไม่ค่อยได้อะไร ก็เพราะเป็นช่วงฝึกทักษะองค์ประกอบย่อย  ตัวผู้ฝึกจะไม่รู้สึกว่าได้สมรรถนะ  จะรู้สึกว่าได้เพิ่มสมรรถนะเมื่อได้ทักษะบูรณาการ  ส่วนตอนท้าย เมื่อฝึกมานาน น.ศ. ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีสมรรถนะเพิ่มขึ้น ก็เพราะส่วนที่เพิ่มจะเป็นรายละเอียดมากๆ  ความรู้สึกลวงของ นศ. นี้บอกว่า  ครูต้องเอาใจใส่ให้การประเมินป้อนกลับความก้าวหน้าของสมรรถนะ แก่ นศ. ในช่วงนี้มากเป็นพิเศษ  เพื่อให้ นศ. ได้เห็นคุณค่าของการฝึกช่วงนั้น


เทคนิคการเป็น ครูฝึก

ประเมินพื้นความรู้ชอง นศ. สำหรับใช้กำหนดระดับความท้าทาย

ครูต้องตระหนักเสมอว่า นศ. ในชั้นมีพื้นความรู้แตกต่างกัน  การทดสอบพื้นความรู้ตอนต้นเทอม โดยการให้กรอกแบบสอบถาม  ให้ทำ Pre-test  หรือให้ทำการบ้านโดยไม่คิดคะแนน  จะช่วยให้ครูรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของ นศ.  สำหรับนำมาใช้กำหนดระดับความยากง่ายของการฝึก


จงระบุเป้าหมายของรายวิชาให้แจ่มชัด

อย่าปล่อยให้ นศ. คิดเอาเองเกี่ยวกับเป้าหมาย และรายละเอียดของรายวิชา  จงระบุเป็นข้อเขียนลงไว้ในรายละเอียดของรายวิชา (Course Description)  รวมทั้งระบุเป้าหมายของแต่ละงานที่มอบหมายให้ นศ. ทำด้วย  โดยเน้นระบุเป็น “วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม”  คือระบุว่าเมื่อจบรายวิชา (หรือเมื่อจบงานนั้นๆ) นศ. จะทำอะไรได้  สำหรับให้ นศ. ใช้เป็นธงนำการเรียนรู้ของตน


ใช้ rubric ของการประเมินเพื่อสื่อสารเกณฑ์ของสมรรถนะที่ต้องการอย่างชัดเจน

ข้อดีของ rubric คือ ช่วยแยกแยะงานนั้นๆ ออกเป็นองค์ประกอบย่อย  และบอกเกณฑ์ชัดเจนว่า สมรรถนะระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง เป็นอย่างไร  นศ. จะใช้เป็นเครื่องมือนำทางและตรวจสอบการเรียนรู้ของตนได้


จัดให้มีโอกาสฝึกฝนหลายช่องทาง

ธรรมชาติของการเรียนรู้ คือมีการสั่งสมอย่างช้าๆ ไปกับการฝึกฝน  ดังนั้นการฝึกฝนทำโจทย์หรืองานเล็กๆ หลายๆ ครั้ง จะช่วยให้ผลการเรียนรู้ดีกว่าการให้ทำงานใหญ่เพียงครั้งเดียว

ครูพึงตระหนักว่า การฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งเพียงครั้งเดียว ไม่เพียงพอต่อการเรียนให้รู้จริง


ใช้เทคนิค scaffolding ในการมอบหมายงาน

เป็นเทคนิคที่ครูช่วยมากหน่อยในตอนต้นที่ นศ. ทำงานที่ได้รับมอบหมาย  แล้วครูค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลง  ให้ นศ. ช่วยตนเอง หรือเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น


กำหนดความคาดหวังต่อการฝึก

นศ. มักคิดว่าการฝึกใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งไม่ตรงความเป็นจริงสำหรับคนฝึกใหม่ ที่ต้องใช้เวลาฝึกอย่างเป็นขั้นตอน  ครูจึงต้องมีเอกสารระบุแนวทางการฝึก  บอกรายละเอียดเกี่ยวกับ จำนวนครั้ง  ระยะเวลาแต่ละครั้ง  ชนิดของการฝึก  และระดับการฝึก  ที่ต้องการสำหรับบรรลุทักษะในระดับที่ต้องการ

ครูมีแนวทางได้ข้อมูลนี้ ๒ วิธี  วิธีแรกคือสอบถามจาก นศ. รุ่นก่อนๆ  วิธีหลังคือ นศ. ที่เป็นคนฝึกใหม่จะใช้เวลา ๓ - ๔ เท่าของครูที่ถือเป็นผู้ชำนาญ


ยกตัวอย่างสมรรถนะที่เป็นเป้าหมาย

การให้ นศ. ดูตัวอย่างผลงานที่ดีของ นศ. รุ่นก่อนๆ  จะช่วยให้ นศ. นึกออกง่ายขึ้น ว่าสมรรถนะที่ดีเป็นอย่างไร  ครูควรอธิบายด้วยว่า ลักษณะส่วนไหนของผลงานตรงตามเกณฑ์สมรรถนะไหน


ให้ นศ. ได้ประจักษ์สิ่งที่ครูไม่ต้องการ

เป็นการให้ตัวอย่างที่ตรงกันข้ามกับหัวข้อก่อน  นศ. จะได้เข้าใจชัดเจนว่า ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คืออะไรบ้าง  นศ. จะได้ไม่หลงฝึกฝนผิดๆ  หรือหลงสร้างผลงานที่คุณภาพต่ำ

วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ นศ. เข้าใจเกณฑ์คุณภาพของผลงานชัดคือ ให้ นศ. ใช้ rubric ประเมินให้คะแนนผลงานตัวอย่างของ นศ. รุ่นก่อนๆ


ปรับปรุงเป้าหมายให้ชัดและเหมาะสมยิ่งขึ้นในระหว่างที่การเรียนก้าวหน้าไประหว่างเทอม

เป้าหมายการเรียนรู้ไม่ควรเป็นเป้านิ่ง  ควรปรับไปตามสภาพของผลการเรียนของชั้น  เช่น เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่ง  และ นศ. บรรลุเป้าหมายการฝึกทักษะแล้ว  ครูอาจเพิ่มเป้าหมายให้ นศ. ประยุกต์ทักษะได้เร็วยิ่งขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/521064

 


 

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๑. คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ที่ ๑๐ และ ๑๑ มาจากบทที่ 5  What Kind of Practice and Feedback Enhance Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นบทที่ว่าด้วยการเป็น “ครูฝึก” ที่ดีของครู  วิธีใช้เวลาที่มีจำกัด ในการฝึก นศ. และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ นศ. ให้ฝึกฝนเรียนรู้ อย่างได้ผลแท้จริง  ไม่หลงใช้วิธีการผิดๆ

นศ. มีเวลา และความสามารถทางสมองจำกัด  แต่ครูก็สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  คือเป้าหมายของหนังสือบทนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  บทนี้ว่าด้วยวิธีที่ครูช่วยให้ นศ. “Learn smarter” นั่นเอง

ตอนที่ ๑๐ เน้นเรื่องวิธีฝึก  และตอนที่ ๑๑ เน้นเรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)


ความรู้เกี่ยวกับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

การฝึกปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย (goal-directed practice)  ต้องควบคู่ไปกับการได้รับการป้อนกลับอย่างมีเป้าหมาย (targeted feedback) การเรียนรู้จึงจะบรรลุผลดี

คำแนะนำป้อนกลับ เปรียบเสมือนแผนที่ เข็มทิศ และ GPS  สำหรับใช้บอกตำแหน่งที่อยู่ของ นศ. ระหว่างการเดินทาง ของการพัฒนาทักษะ/สมรรถนะ ที่ต้องการ  โดยบอก what, where, และ how คือ บอกสิ่งที่ นศ. รู้แล้ว และสิ่งที่ นศ. ยังไม่รู้แต่จำเป็นต้องรู้ (what);  บอกว่าขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะของ นศ. อยู่ตรงไหน  กำลังก้าวหน้าดี หรือไม่ค่อยก้าวหน้า (where);  และบอกว่า นศ. จะต้องใช้ความพยายามต่อไปอย่างไร (how)

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น เดินตรงทาง และสิ้นเปลืองเวลาและแรงสมองน้อยลง  รวมทั้งช่วยให้บรรลุผลการเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง”  ไม่หลงเรียนรู้เพียงผิวเผิน  หรือยิ่งกว่านั้น คือไม่หลงเรียนรู้ผิดๆ  คำแนะนำป้อนกลับที่ดี จึงไม่ใช่แค่มีผลต่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน แต่มีผลต่อการเรียนรู้ในอนาคตด้วย  คำแนะนำป้อนกลับที่ดีของครูจึงมีค่ายิ่ง

ผลการวิจัยบอกว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับมีความสำคัญที่ ๒ ปัจจัย คือ สาระ (content) กับ กาละ (time)

ในเรื่องสาระ การสื่อสารคำแนะนำป้อนกลับต่อ นศ. เป็นการสื่อสารเพื่อบอกว่า นศ. อยู่ตรงไหนแล้วตามเป้าหมายที่ระบุไว้  และ นศ. ควรปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างดี

ในเรื่องกาละ การให้คำแนะนำป้อนกลับ ควรให้ ณ เวลาที่ นศ. ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด  ตามเป้าหมายการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้

การให้คำแนะนำป้อนกลับเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  คือมีหลักการ แต่ไม่ตายตัว  ต้องปรับใช้ให้เหมาะตามสถานการณ์หรือบริบท


การสื่อสารความคืบหน้า และแนะนำให้พยายามต่อไป

นี่คือเรื่อง สาระของการให้คำแนะนำป้อนกลับ

คำแนะนำป้อนกลับที่มีค่าต่อ นศ. ที่สุดคือคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุง (formative feedback) ซึ่งหมายถึงคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุงการเรียนระหว่างทาง  ตรงกันข้ามกับ summative feedback ซึ่งหมายถึงการบอกผลสุดท้ายของการเรียน

การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุงจะได้ผลดีที่สุด หากสื่อสารแก่ นศ. ในประเด็นที่จำเพาะมากๆ ในเรื่องสมรรถนะของ นศ. เมื่อเทียบกับเป้าหมายการฝึก/เรียน  และเป็นการให้สารสนเทศที่จะช่วยให้ นศ. ก้าวหน้าไปบรรลุเกณฑ์ของเป้าหมายนั้น

ย้ำว่า คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ต้องไม่เพียงบอกว่า นศ. ยังอยู่ไกลจากเป้าหมายเพียงไร  แต่ต้องแนะทางไปสู่เป้าหมายด้วย

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยบอกจุดที่ต้องแก้ไขอย่างจำเพาะเจาะจง  ในขณะที่คำแนะนำป้อนกลับที่ไม่ดี บอกเพียงกว้างๆ ว่า ผลการเรียนเป็นอย่างไร  หรือเพียงให้คำชม

ผลการวิจัยบอกว่า คำแนะนำป้อนกลับจะให้ผลดีต่อเมื่อมันช่วยให้ นศ. เห็นลู่ทางปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของตนเอง  และ นศ. มีขีดความสามารถที่จะนำคำแนะนำป้อนกลับนั้น ไปใช้ปรับปรุงการฝึกของตน  ต้องมีทั้ง ๒ ปัจจัยนี้ การให้คำแนะนำป้อนกลับจึงจะมีคุณค่า


กำหนดเวลาให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างเหมาะสม

นี่คือเรื่อง กาละ ในการให้คำแนะนำป้อนกลับ

หนังสือให้คำ ๓ คำเกี่ยวกับเรื่องเวลาที่เหมาะสม คือ how early, how often, และ timeliness สะท้อนว่า ไม่มีกำหนดเวลาตายตัว  ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเหตุปัจจัย  โดยให้กลับไปอ่านตอน สาระข้างบน

คำตอบหลักต่อ how early คือ ยิ่งให้ตั้งแต่ตอนต้นๆ ยิ่งดี  คำตอบหลักต่อ how often คือ ยิ่งบ่อยยิ่งดี   แต่ไม่มีคำตอบหลักต่อ timeliness โดยให้กลับไปยึดหลัก ประโยชน์ที่จะเกิดต่อการปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของ นศ. เป็นสำคัญ

จริงๆ แล้วมีคำตอบสำคัญต่อ timeliness จากผลการวิจัย ว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับทันทีที่พบข้อบกพร่อง มีผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนสู้การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ช้ากว่านั้นไม่ได้  เขาเรียกการให้การให้คำแนะนำป้อนกลับ ๒ แบบนี้ว่า immediate feedback กับ delayed feedback   เขาให้คำอธิบายว่า  การรอให้ นศ. ตรวจสอบประเมินผลเอง และปรับปรุงเอง  ได้มีโอกาสพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองหลายๆ ครั้ง  จนเหลือส่วนข้อบกพร่องที่ นศ. ไม่รู้ตัว หรือแก้ไขไม่ได้ด้วยตนเอง จึงค่อยให้คำแนะนำป้อนกลับ  ช่วยให้การเรียนรู้ของ นศ. สูงกว่า

ทำให้ผมคิดคำ auto-feedback หรือ self-feedback ขึ้นมา  ว่า คนที่รู้จักให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ตนเอง  จะเป็นบุคคลที่เรียนรู้ได้ดี  จึงขอแนะนำว่า ครูต้องพยายามใช้ delayed feedback  และหาทางส่งเสริมให้ นศ. พัฒนา auto-feedback/self-feedback ของตนเองให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ  คือช่วยให้ นศ. สามารถฝึกฝนตนเองอย่างอิสระได้ดีขึ้นตามที่ระบุไว้ในหนังสือ

การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีที่สุดคือ วิธีการที่ในที่สุดแล้ว นศ. ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำป้อนกลับอีกต่อไป

จะเห็นว่า เรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ ก็เป็นเรื่องที่อาจารย์ไทยทำวิจัยได้มากมาย  เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก

 

เทคนิคการให้คำแนะนำป้อนกลับ

มองหาแบบแผน (pattern) ที่ นศ. ทำผิดซ้ำๆ

ครูพึงสังเกตหาแบบแผนของความเข้าใจผิด หรือทำผิดซ้ำหลายคน ของ นศ.  จากการตอบคำถามในชั้นเรียน  จากการบ้าน  การตอบแบบทดสอบ  การทำโครงงาน  และการสอบ  รวมทั้งหากมี นศ. ช่วยสอน ครูควรถามหาข้อมูลนี้จาก นศ. ช่วยสอนด้วย  สำหรับนำมาพิจารณาให้คำแนะนำป้อนกลับตามยุทธศาสตร์ต่อไปนี้

จัดลำดับความสำคัญของคำแนะนำป้อนกลับ

หลักการคือ อย่าให้คำแนะนำป้อนกลับแบบเปรอะ ไร้เป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะให้คำแนะนำฯเรื่องอะไร  เพราะครูเองก็มีภาระมาก  และถ้าให้คำแนะนำฯ มากเรื่องเกินไป นศ. จะสับสนและไม่สามารถปรับปรุงการฝึกของตนเองอย่างได้ผลได้

ครูพึงจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่จะให้คำแนะนำป้อนกลับ ในเรื่องที่ นศ. กำลังฝึก  และเลือกให้คำแนะนำฯ เพียงประเด็นเดียวที่คิดแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการปรับปรุงทักษะของ นศ. มากที่สุด


สร้างดุลยภาพระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อนในคำแนะนำป้อนกลับ

นี่คือดุลยภาพระหว่างการให้การป้อนกลับเชิงบวก (positive feedback) และการป้อนกลับเชิงลบ (negative feedback) ครูพึงตระหนักว่า มือใหม่อย่าง นศ. อาจไม่รู้ตัวว่าตนฝึกฝนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  การมีผู้มาให้ข้อมูลนี้เป็นการป้อนกลับเชิงบวก จะช่วยให้ความมั่นใจและกำลังใจว่าตนเดินมาถูกทาง  และได้รับการยืนยันว่าความรู้/ทักษะ ใดที่ฝึกได้แล้วที่ควรคงไว้อย่างเดิม และยกระดับขึ้นไป  เสริมด้วยการป้อนกลับเชิงลบ บอกว่าตรงไหนที่ยังทำได้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องแก้ไข  ส่วนใดที่ทำได้บ้างแล้ว แต่ต้องฝึกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนผสมของการป้อนกลับเชิงบวก กับการป้อนกลังเชิงลบ โดยมีความจริงใจ ความเมตตากรุณาเป็นน้ำกระสาย จะช่วยให้พลังความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนพัฒนาต่อเนื่อง แก่ศิษย์


ออกแบบให้มีโอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับบ่อยๆ

นั่นคือ ควรแบ่งชิ้นงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ นศ. บรรลุทักษะย่อยๆ เป็นขั้นตอน  โอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับก็บ่อยขึ้นด้วย  ช่วยให้ภาระงานของครู และของ นศ. ไม่หนักเกินไป

ในเรื่องลดภาระของครูนั้น  การให้คำแนะนำป้อนกลับจำนวนหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้แก่ นศ. รายคน  ให้แก่ นศ. เป็นกลุ่ม หรือทั้งชั้นได้


ให้คำแนะนำป้อนกลับในระดับกลุ่ม

ครูอาจลดภาระงานของตนโดยหาทางให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ นศ. ทั้งชั้น  โดยนำเอาข้อผิดพลาดที่มีบ่อยที่สุดในการทำการบ้าน ๓ อย่าง มาอภิปรายกับ นศ. ทั้งชั้น

ในทางตรงกันข้าม ครูอาจยกตัวอย่างคำตอบที่ดีที่สุด ๒ - ๓ ราย  นำมาอภิปรายในชั้นว่าทำไมคำตอบนั้นจึงควรได้เกรด เอ

 

ให้คำแนะนำป้อนกลับทันที (Real-Time) แก่กลุ่ม

นี่คือวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ชั้นเรียนขนาดใหญ่  ทำโดยครูตั้งคำถาม ให้ นศ. ตอบลงกระดาษแล้วเก็บคำตอบมาตรวจสอบหาคำตอบที่เข้าใจผิด  ในกรณีที่สถาบันมี clicker ก็จะสามารถได้คำตอบทันทีว่า นศ. ตอบคำตอบใดเป็นสัดส่วนเท่าใด  แล้วครูนำแต่ละคำตอบมาอภิปรายในชั้น  หรือถ้าครูเห็นว่ามีผู้ตอบคำถามผิดเป็นส่วนใหญ่  อาจให้ นศ. จับกลุ่ม (๔ คน?) ให้ปรึกษาหารือกัน  แล้วให้ตอบใหม่  พร้อมทั้งอภิปรายทั้งชั้นในภายหลัง


จัดให้มีคำแนะนำป้อนกลับจากเพื่อน

นี่คือ peer feedback  ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของครู  รวมทั้งช่วยสร้างทักษะการให้คำแนะนำป้อนกลับ แก่ นศ.  สำหรับนำไปใช้ในโอกาสอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้กับตนเอง

นอกจากนั้น ยังช่วยให้ นศ. ได้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าเกณฑ์ของการปฏิบัติงานที่ดีเป็นอย่างไร

ก่อนใช้ “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน”  ครูต้องอธิบายให้ นศ. เข้าใจหลักการและวิธีการของการให้คำแนะนำป้อนกลับ  ให้ นศ. เข้าใจถ่องแท้  และให้เข้าใจชัดเจนว่ากิจกรรม “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน” จะเกิดประโยชน์แก่ นศ. อย่างไร


ให้ นศ. ระบุว่าตนใช้ข้อแนะนำจากคำแนะนำป้อนกลับพัฒนางานของตนอย่างไรบ้าง

นี่คือกิจกรรม “ทบทวนสะท้อนกลับ” (reflection) หรือ AAR (After Action Review)  ที่ นศ. ร่วมกันสะท้อนความคิดหลังได้รับคำแนะนำป้อนกลับ และมีรอบการฝึกงานหลังจากนั้นแล้ว  นศ. มาจับกลุ่ม AAR กัน ว่าได้นำข้อแนะนำป้อนกลับส่วนใดไปใช้ ใช้ทำอะไร ส่วนไหน อย่างไร  และเกิดผลอย่างไร

ผมมีข้อแถมของผมเอง ว่าควรแถม BAR (Before Action Review) เข้าไปด้วย  คือให้สะท้อนความคิดในกลุ่มต่อเนื่องจาก AAR ว่า ในรอบการฝึกงานครั้งต่อไป จะเอาคำแนะนำป้อนกลับส่วนไหนไปใช้อีกบ้าง


สรุป

ในบันทึกที่ ๑๐ และ๑๑ ได้ชี้ให้เห็นคุณค่า และวิธีการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมีลักษณะ (๑) พุ่งเป้าที่เป้าหมายการบรรลุสมรรถนะที่จำเพาะ  (๒) มีระดับความท้าทายเหมาะสม  (๓) ให้ในจำนวนและความถี่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ปรับปรุงตนเองของ นศ.

การให้คำแนะนำป้อนกลับจะมีพลังเมื่อ (๑)​ สื่อสารต่อ นศ. ในขณะที่ นศ. กำลังต่อสู้ดิ้นรนไปสู่เป้าหมาย และต้องการคำแนะนำให้ปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น  (๒) ให้คำแนะนำ ณ เวลาที่ นศ. สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด

การเรียนรู้ ที่นำไปสู่การ “รู้จริง”  ได้จากการฝึกปฏิบัติ  และการได้รับคำแนะนำป้อนกลับที่ดี

 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/521734

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๑. คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ที่ ๑๐ และ ๑๑ มาจากบทที่ 5  What Kind of Practice and Feedback Enhance Learning?  ซึ่งผมตีความว่าเป็นบทที่ว่าด้วยการเป็น “ครูฝึก” ที่ดีของครู  วิธีใช้เวลาที่มีจำกัด ในการฝึก นศ. และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ นศ. ให้ฝึกฝนเรียนรู้ อย่างได้ผลแท้จริง  ไม่หลงใช้วิธีการผิดๆ

นศ. มีเวลา และความสามารถทางสมองจำกัด  แต่ครูก็สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  คือเป้าหมายของหนังสือบทนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  บทนี้ว่าด้วยวิธีที่ครูช่วยให้ นศ. “Learn smarter” นั่นเอง

ตอนที่ ๑๐ เน้นเรื่องวิธีฝึก  และตอนที่ ๑๑ เน้นเรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)


ความรู้เกี่ยวกับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback)

การฝึกปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย (goal-directed practice)  ต้องควบคู่ไปกับการได้รับการป้อนกลับอย่างมีเป้าหมาย (targeted feedback) การเรียนรู้จึงจะบรรลุผลดี

คำแนะนำป้อนกลับ เปรียบเสมือนแผนที่ เข็มทิศ และ GPS  สำหรับใช้บอกตำแหน่งที่อยู่ของ นศ. ระหว่างการเดินทาง ของการพัฒนาทักษะ/สมรรถนะ ที่ต้องการ  โดยบอก what, where, และ how คือ บอกสิ่งที่ นศ. รู้แล้ว และสิ่งที่ นศ. ยังไม่รู้แต่จำเป็นต้องรู้ (what);  บอกว่าขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะของ นศ. อยู่ตรงไหน  กำลังก้าวหน้าดี หรือไม่ค่อยก้าวหน้า (where);  และบอกว่า นศ. จะต้องใช้ความพยายามต่อไปอย่างไร (how)

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น เดินตรงทาง และสิ้นเปลืองเวลาและแรงสมองน้อยลง  รวมทั้งช่วยให้บรรลุผลการเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง”  ไม่หลงเรียนรู้เพียงผิวเผิน  หรือยิ่งกว่านั้น คือไม่หลงเรียนรู้ผิดๆ  คำแนะนำป้อนกลับที่ดี จึงไม่ใช่แค่มีผลต่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน แต่มีผลต่อการเรียนรู้ในอนาคตด้วย  คำแนะนำป้อนกลับที่ดีของครูจึงมีค่ายิ่ง

ผลการวิจัยบอกว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับมีความสำคัญที่ ๒ ปัจจัย คือ สาระ (content) กับ กาละ (time)

ในเรื่องสาระ การสื่อสารคำแนะนำป้อนกลับต่อ นศ. เป็นการสื่อสารเพื่อบอกว่า นศ. อยู่ตรงไหนแล้วตามเป้าหมายที่ระบุไว้  และ นศ. ควรปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างดี

ในเรื่องกาละ การให้คำแนะนำป้อนกลับ ควรให้ ณ เวลาที่ นศ. ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด  ตามเป้าหมายการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้

การให้คำแนะนำป้อนกลับเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  คือมีหลักการ แต่ไม่ตายตัว  ต้องปรับใช้ให้เหมาะตามสถานการณ์หรือบริบท


การสื่อสารความคืบหน้า และแนะนำให้พยายามต่อไป

นี่คือเรื่อง สาระของการให้คำแนะนำป้อนกลับ

คำแนะนำป้อนกลับที่มีค่าต่อ นศ. ที่สุดคือคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุง (formative feedback) ซึ่งหมายถึงคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุงการเรียนระหว่างทาง  ตรงกันข้ามกับ summative feedback ซึ่งหมายถึงการบอกผลสุดท้ายของการเรียน

การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุงจะได้ผลดีที่สุด หากสื่อสารแก่ นศ. ในประเด็นที่จำเพาะมากๆ ในเรื่องสมรรถนะของ นศ. เมื่อเทียบกับเป้าหมายการฝึก/เรียน  และเป็นการให้สารสนเทศที่จะช่วยให้ นศ. ก้าวหน้าไปบรรลุเกณฑ์ของเป้าหมายนั้น

ย้ำว่า คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ต้องไม่เพียงบอกว่า นศ. ยังอยู่ไกลจากเป้าหมายเพียงไร  แต่ต้องแนะทางไปสู่เป้าหมายด้วย

คำแนะนำป้อนกลับที่ดี ช่วยบอกจุดที่ต้องแก้ไขอย่างจำเพาะเจาะจง  ในขณะที่คำแนะนำป้อนกลับที่ไม่ดี บอกเพียงกว้างๆ ว่า ผลการเรียนเป็นอย่างไร  หรือเพียงให้คำชม

ผลการวิจัยบอกว่า คำแนะนำป้อนกลับจะให้ผลดีต่อเมื่อมันช่วยให้ นศ. เห็นลู่ทางปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของตนเอง  และ นศ. มีขีดความสามารถที่จะนำคำแนะนำป้อนกลับนั้น ไปใช้ปรับปรุงการฝึกของตน  ต้องมีทั้ง ๒ ปัจจัยนี้ การให้คำแนะนำป้อนกลับจึงจะมีคุณค่า


กำหนดเวลาให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างเหมาะสม

นี่คือเรื่อง กาละ ในการให้คำแนะนำป้อนกลับ

หนังสือให้คำ ๓ คำเกี่ยวกับเรื่องเวลาที่เหมาะสม คือ how early, how often, และ timeliness สะท้อนว่า ไม่มีกำหนดเวลาตายตัว  ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเหตุปัจจัย  โดยให้กลับไปอ่านตอน สาระข้างบน

คำตอบหลักต่อ how early คือ ยิ่งให้ตั้งแต่ตอนต้นๆ ยิ่งดี  คำตอบหลักต่อ how often คือ ยิ่งบ่อยยิ่งดี   แต่ไม่มีคำตอบหลักต่อ timeliness โดยให้กลับไปยึดหลัก ประโยชน์ที่จะเกิดต่อการปรับปรุงการฝึกปฏิบัติของ นศ. เป็นสำคัญ

จริงๆ แล้วมีคำตอบสำคัญต่อ timeliness จากผลการวิจัย ว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับทันทีที่พบข้อบกพร่อง มีผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนสู้การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ช้ากว่านั้นไม่ได้  เขาเรียกการให้การให้คำแนะนำป้อนกลับ ๒ แบบนี้ว่า immediate feedback กับ delayed feedback   เขาให้คำอธิบายว่า  การรอให้ นศ. ตรวจสอบประเมินผลเอง และปรับปรุงเอง  ได้มีโอกาสพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองหลายๆ ครั้ง  จนเหลือส่วนข้อบกพร่องที่ นศ. ไม่รู้ตัว หรือแก้ไขไม่ได้ด้วยตนเอง จึงค่อยให้คำแนะนำป้อนกลับ  ช่วยให้การเรียนรู้ของ นศ. สูงกว่า

ทำให้ผมคิดคำ auto-feedback หรือ self-feedback ขึ้นมา  ว่า คนที่รู้จักให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ตนเอง  จะเป็นบุคคลที่เรียนรู้ได้ดี  จึงขอแนะนำว่า ครูต้องพยายามใช้ delayed feedback  และหาทางส่งเสริมให้ นศ. พัฒนา auto-feedback/self-feedback ของตนเองให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ  คือช่วยให้ นศ. สามารถฝึกฝนตนเองอย่างอิสระได้ดีขึ้นตามที่ระบุไว้ในหนังสือ

การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีที่สุดคือ วิธีการที่ในที่สุดแล้ว นศ. ไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำป้อนกลับอีกต่อไป

จะเห็นว่า เรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ ก็เป็นเรื่องที่อาจารย์ไทยทำวิจัยได้มากมาย  เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก

 

เทคนิคการให้คำแนะนำป้อนกลับ

มองหาแบบแผน (pattern) ที่ นศ. ทำผิดซ้ำๆ

ครูพึงสังเกตหาแบบแผนของความเข้าใจผิด หรือทำผิดซ้ำหลายคน ของ นศ.  จากการตอบคำถามในชั้นเรียน  จากการบ้าน  การตอบแบบทดสอบ  การทำโครงงาน  และการสอบ  รวมทั้งหากมี นศ. ช่วยสอน ครูควรถามหาข้อมูลนี้จาก นศ. ช่วยสอนด้วย  สำหรับนำมาพิจารณาให้คำแนะนำป้อนกลับตามยุทธศาสตร์ต่อไปนี้

จัดลำดับความสำคัญของคำแนะนำป้อนกลับ

หลักการคือ อย่าให้คำแนะนำป้อนกลับแบบเปรอะ ไร้เป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะให้คำแนะนำฯเรื่องอะไร  เพราะครูเองก็มีภาระมาก  และถ้าให้คำแนะนำฯ มากเรื่องเกินไป นศ. จะสับสนและไม่สามารถปรับปรุงการฝึกของตนเองอย่างได้ผลได้

ครูพึงจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่จะให้คำแนะนำป้อนกลับ ในเรื่องที่ นศ. กำลังฝึก  และเลือกให้คำแนะนำฯ เพียงประเด็นเดียวที่คิดแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการปรับปรุงทักษะของ นศ. มากที่สุด


สร้างดุลยภาพระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อนในคำแนะนำป้อนกลับ

นี่คือดุลยภาพระหว่างการให้การป้อนกลับเชิงบวก (positive feedback) และการป้อนกลับเชิงลบ (negative feedback) ครูพึงตระหนักว่า มือใหม่อย่าง นศ. อาจไม่รู้ตัวว่าตนฝึกฝนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  การมีผู้มาให้ข้อมูลนี้เป็นการป้อนกลับเชิงบวก จะช่วยให้ความมั่นใจและกำลังใจว่าตนเดินมาถูกทาง  และได้รับการยืนยันว่าความรู้/ทักษะ ใดที่ฝึกได้แล้วที่ควรคงไว้อย่างเดิม และยกระดับขึ้นไป  เสริมด้วยการป้อนกลับเชิงลบ บอกว่าตรงไหนที่ยังทำได้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องแก้ไข  ส่วนใดที่ทำได้บ้างแล้ว แต่ต้องฝึกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนผสมของการป้อนกลับเชิงบวก กับการป้อนกลังเชิงลบ โดยมีความจริงใจ ความเมตตากรุณาเป็นน้ำกระสาย จะช่วยให้พลังความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนพัฒนาต่อเนื่อง แก่ศิษย์


ออกแบบให้มีโอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับบ่อยๆ

นั่นคือ ควรแบ่งชิ้นงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ นศ. บรรลุทักษะย่อยๆ เป็นขั้นตอน  โอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับก็บ่อยขึ้นด้วย  ช่วยให้ภาระงานของครู และของ นศ. ไม่หนักเกินไป

ในเรื่องลดภาระของครูนั้น  การให้คำแนะนำป้อนกลับจำนวนหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้แก่ นศ. รายคน  ให้แก่ นศ. เป็นกลุ่ม หรือทั้งชั้นได้


ให้คำแนะนำป้อนกลับในระดับกลุ่ม

ครูอาจลดภาระงานของตนโดยหาทางให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ นศ. ทั้งชั้น  โดยนำเอาข้อผิดพลาดที่มีบ่อยที่สุดในการทำการบ้าน ๓ อย่าง มาอภิปรายกับ นศ. ทั้งชั้น

ในทางตรงกันข้าม ครูอาจยกตัวอย่างคำตอบที่ดีที่สุด ๒ - ๓ ราย  นำมาอภิปรายในชั้นว่าทำไมคำตอบนั้นจึงควรได้เกรด เอ

 

ให้คำแนะนำป้อนกลับทันที (Real-Time) แก่กลุ่ม

นี่คือวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ชั้นเรียนขนาดใหญ่  ทำโดยครูตั้งคำถาม ให้ นศ. ตอบลงกระดาษแล้วเก็บคำตอบมาตรวจสอบหาคำตอบที่เข้าใจผิด  ในกรณีที่สถาบันมี clicker ก็จะสามารถได้คำตอบทันทีว่า นศ. ตอบคำตอบใดเป็นสัดส่วนเท่าใด  แล้วครูนำแต่ละคำตอบมาอภิปรายในชั้น  หรือถ้าครูเห็นว่ามีผู้ตอบคำถามผิดเป็นส่วนใหญ่  อาจให้ นศ. จับกลุ่ม (๔ คน?) ให้ปรึกษาหารือกัน  แล้วให้ตอบใหม่  พร้อมทั้งอภิปรายทั้งชั้นในภายหลัง


จัดให้มีคำแนะนำป้อนกลับจากเพื่อน

นี่คือ peer feedback  ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของครู  รวมทั้งช่วยสร้างทักษะการให้คำแนะนำป้อนกลับ แก่ นศ.  สำหรับนำไปใช้ในโอกาสอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้กับตนเอง

นอกจากนั้น ยังช่วยให้ นศ. ได้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าเกณฑ์ของการปฏิบัติงานที่ดีเป็นอย่างไร

ก่อนใช้ “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน”  ครูต้องอธิบายให้ นศ. เข้าใจหลักการและวิธีการของการให้คำแนะนำป้อนกลับ  ให้ นศ. เข้าใจถ่องแท้  และให้เข้าใจชัดเจนว่ากิจกรรม “เพื่อนแนะนำป้อนกลับเพื่อน” จะเกิดประโยชน์แก่ นศ. อย่างไร


ให้ นศ. ระบุว่าตนใช้ข้อแนะนำจากคำแนะนำป้อนกลับพัฒนางานของตนอย่างไรบ้าง

นี่คือกิจกรรม “ทบทวนสะท้อนกลับ” (reflection) หรือ AAR (After Action Review)  ที่ นศ. ร่วมกันสะท้อนความคิดหลังได้รับคำแนะนำป้อนกลับ และมีรอบการฝึกงานหลังจากนั้นแล้ว  นศ. มาจับกลุ่ม AAR กัน ว่าได้นำข้อแนะนำป้อนกลับส่วนใดไปใช้ ใช้ทำอะไร ส่วนไหน อย่างไร  และเกิดผลอย่างไร

ผมมีข้อแถมของผมเอง ว่าควรแถม BAR (Before Action Review) เข้าไปด้วย  คือให้สะท้อนความคิดในกลุ่มต่อเนื่องจาก AAR ว่า ในรอบการฝึกงานครั้งต่อไป จะเอาคำแนะนำป้อนกลับส่วนไหนไปใช้อีกบ้าง


สรุป

ในบันทึกที่ ๑๐ และ๑๑ ได้ชี้ให้เห็นคุณค่า และวิธีการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมีลักษณะ (๑) พุ่งเป้าที่เป้าหมายการบรรลุสมรรถนะที่จำเพาะ  (๒) มีระดับความท้าทายเหมาะสม  (๓) ให้ในจำนวนและความถี่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ปรับปรุงตนเองของ นศ.

การให้คำแนะนำป้อนกลับจะมีพลังเมื่อ (๑)​ สื่อสารต่อ นศ. ในขณะที่ นศ. กำลังต่อสู้ดิ้นรนไปสู่เป้าหมาย และต้องการคำแนะนำให้ปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น  (๒) ให้คำแนะนำ ณ เวลาที่ นศ. สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด

การเรียนรู้ ที่นำไปสู่การ “รู้จริง”  ได้จากการฝึกปฏิบัติ  และการได้รับคำแนะนำป้อนกลับที่ดี

 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/521734

 


หน้า 496 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629290

facebook

Twitter


บทความเก่า