Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

กระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching)

พิมพ์ PDF

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่ ขอนำมาบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาครู  จากเน้น training  มาเป็นเน้น learning  โดยขอจารึกไว้ว่าเป็นความริเริ่มของท่านรองเลขาธิการ สพฐ. ดร. อนันต์ ระงับทุกข์  โดยมีพื้นฐานหรือหลักฐานวิธีการและความสำเร็จมาจากโครงการ LLEN ที่นำโดย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย และ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

กล่าวใหม่ ว่าโครง TC นี้ มีเป้าหมายพัฒนาระบบพัฒนาครู ด้วย PLC  หรือด้วย KM ครูนั่นเอง  โดย PLC ก็คือ COP ครู

กล่าวใหม่อีกที โครงการ TC มีเป้าหมายพัฒนาครู ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานของครู  เท่ากับใช้หลักการ Learning by Doing กับครู นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ เป็นที่ชัดเจนในวงการศึกษากันแล้วว่า  ทั้งเป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้ ที่จัดให้ศิษย์นั้น  ครูก็ต้องปฏิบัติด้วย

สพฐ. ลงทุน ๓๐ ล้านบาท มอบให้ สกว. บริหารโครงการ TC  และลงทุน ๒๐๐ ล้านบาทสนับสนุน PLC ครู โดย สพฐ. จัดการเอง เรียกชื่อว่าโครงการ Browser in Service  ดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน

ผมเรียกชื่อโครงการทั้งสองให้ต่างกัน คือโครงการ TC กับ โครงการ BS ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วเป็นโครงการพัฒนา PLC เช่นเดียวกัน

ผมมีความสุขมาก ที่วงการศึกษาไทยส่วนที่เป็นกระแสหลักเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากเน้นพัฒนาครูด้วยการเรียกมาฝึกอบรม  เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้เรียนรู้ ณ จุดทำงาน

แต่หนทางยังยาวไกลครับ  เพราะระบบเดิมเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนในวงการศึกษามากมาย  กฎแห่งระบบผลประโยชน์เป็นของจริง  ผมเรียกกฎนี้ว่า Law of Establishment  ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำนี้ในทางศาสนา ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ คนไม่เคร่งศาสนาอย่างผม เชื่อว่า “พระเจ้าอยู่ในใจคน”  สมัยก่อน และสมัยนี้ในหลายวงการ การอ้างพระเจ้า ช่วยให้ตกลงกันง่ายดี

รวมทั้งระบบสั่งการจากเบื้องบน  คิดโครงการใหม่โดยผู้บริหารสูงสุดเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ส่วนตน ก็ยังคงอยู่

และอีกหนึ่งความท้าทายอยู่ที่ความเคยชินของครู  ที่คุ้นเคยกับการไม่ต้องคิด  ไม่คุ้นเคยกับการใช้ความคิด  ไม่คุ้นเคยกับกระบวนการ ลปรร.  คุ้นเคยแต่กับการรับคำสอน และคำสั่ง/สั่งสอน  ความท้าทายนี้ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ มีวิธีการฝึกทักษะการคิด/การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล/การคิดอย่างเป็นระบบ แก่ครู ใช้เวลา ๓ - ๔ วัน  โดยท่านได้เล่าให้ที่ประชุม TC ฟังเมื่อคืนวันที่ ๑๗ ก.พ. ๕๖ ที่โรงแรมบั๊ดดี้ฯ ปากเกร็ด  น่าสนใจมาก  และผมเชื่อว่าได้ผลจริง  แต่ผมคิดว่า หากกลับไปที่โรงเรียน  ครูกลับไปอยู่ในบรรยากาศเดิม สอนแบบเดิม รับคำสั่งจากหน่วยเหนือแบบเดิม  ทักษะนี้ก็จะเลือนไป กลับไปเหมือนเดิม

การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของ นร. ไปเป็นแบบ AL (Active Learning)  เน้นใช้ PBL  จึงจะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของครู และพัฒนาทักษะการคิด ของครู ไปพร้อมๆ กัน

จะเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ คือ การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปถึงนักเรียน มีเป้าหมายสุดท้ายที่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของ นร.   และปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้ จากวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผล คือแนวทางเน้นสอน  ไปสู่วิธีการที่ รร. กระแสทางเลือกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ผล  คือแนวทางเรียนรู้งอกงามจากภายในตนของ นร.  จากการลงมือทำ (และคิด) โดย นร. เอง  ครูคอยช่วยแนะนำ และเชียร์ (เป็นโค้ช)

ครูก็เรียนรู้ด้วยหลักการเดียวกันกับศิษย์  โดยในโครงการ TC มีอาจารย์มหาวิทยาลัย และ ศน. ร่วมกันเป็นโค้ช

เราเตือนกันว่า โค้ช ต้องไม่ทำ top-down coaching  ต้องเน้นใช้  empowerment coaching   ทาง มรภ. เพชรบุรี บอกว่า จะไปทำ co-reflective process ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง   อีกคำหนึ่งคือ Inquiry-Based Coaching

กล่าวให้แรง โครงการ TC ต้องไม่หลง Coaching-Oriented  ต้องเน้น Learning-Oriented  คือเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของครู  ไม่ใช่เน้นการโค้ช ของ อจ. มหาฯ และ ศน.

กล่าวอย่างนี้ก็ผิด  เพราะผลลัพธ์ นอกจากผลสุดท้าย นร. มีผลการเรียนรู้ดีขึ้น  เราจะได้แนวทาง/วิธีการ ดำเนินการ PLC  และ แนวทาง/วิธีการดำเนินการ Coaching (แก่ครู และ แก่ นร.)

เรากำลังปฏิรูปการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษากระแสหลัก

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.พ. ๕๖

 

 

 

Training เป็นเครื่องมือแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (และ ๑๙)

พิมพ์ PDF

หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ

 


 

ยิ่งนับวัน ผมก็ยิ่งเห็นความจำเป็น ที่จะต้องตีความ ทำความเข้าใจสังคมยุคใหม่  ว่าแตกต่างจากยุคเก่าอย่างไร  ผมขอย้ำคำว่า “ตีความ” ซึ่งหมายความว่า ตีความได้หลายแบบ  และไม่รู้ว่าตีความถูกหรือผิด  เดาว่า มีทั้งส่วนถูก และส่วนผิด

 

เราอยู่กับยุคอุตสาหกรรมมากว่า ๒๐๐ ปี จนเคยชิน  จนกลายเป็น mindset ติดตรึงใจ  ว่าระบบที่เคยชินนั้นคือความถูกต้องเหมาะสม  แต่บัดนี้ โลกได้เปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคข้อมูลข่าวสาร  หรือยุคบริการ

โลกยุคอุตสาหกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “การผลิตจำนวนมาก” (mass production)  ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหมด  รวมทั้งคน  คือยุคอุตสาหกรรม การศึกษาเน้นสร้างคนที่คิดเหมือนกัน พฤติกรรมเหมือนกัน  คุณค่าอยู่ที่ “ความเหมือน”  ดังนั้น การศึกษาในยุคอุสาหกรรมจึงเน้น Training  คือเน้นจับคนมาฝึกในคิดเหมือนกัน ทำสิ่งเดียวกันได้เหมือนกัน  การฝึกในสายพานการผลิต คนกลายเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร

โลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ยุคบริการ  หัวใจอยู่ที่ mass diversification  คือการผลิตหรือบริการยังต้องทำได้จำนวนมาก แต่ต้องมีความแตกต่างหลากหลาย  นวัตกรรมกลายเป็นข้อได้เปรียบ  แตกต่างจากยุคศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ที่ประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนเป็นข้อได้เปรียบ

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงอยู่ที่ทักษะด้านนวัตกรรม (innovation skills)   ซึ่งสอนไม่ได้ เจ้าตัวต้องเรียนรู้และฝึกเอาเอง  การศึกษาแบบ Training ที่เน้นฝึกคนให้ทำสิ่งเดียวกันได้  ให้คิดแบบเดียวกันเป็น  ไม่ใช่แนวทางสร้างทักษะนวัตกรรม

หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม  เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง  การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ

ต้องเปลี่ยนจาก Training สู่ Learning  เน้น Learning ในสถานการณ์จริง คือในการทำหน้าที่ครู

นั่นคือครูต้องเป็นสมาชิกของ Learning Community  เพื่อรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ที่เรียกว่า  Interactive learning through action  ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า COP ครู  หรือในภาษาวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)

ครูต้องทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้ศิษย์เรียนรู้งอกงามทักษะนวัตกรรมขึ้นในตน  ครูจึงต้องฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะนวัตกรรมของตน  โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ คือโดยการ ลปรร. ใน PLC  ครูที่ไม่มีทักษะนวัตกรรม ยากที่จะเอื้อให้ศิษย์เรียนทักษะนวัตกรรม

ประเทศใดพลเมืองด้อยทักษะนวัตกรรม ยากที่จะก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจ innovation-based

 

 


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.พ. ๕๖


 

ชีวิตที่พอเพียง : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

พิมพ์ PDF

ในสมัย ร. ๖ การปรนนิบัติพัดวีพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของผู้หญิง ที่เรียกกันว่า "นางใน" ตามปรกติของทุกรัชกาล กลับตกแก่มหาดเล็กเด็กชาย ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า "นายใน"

 

ชีวิตที่พอเพียง  : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

นี่คือหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชื่อ นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ที่เขียนจากผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นหนังสือโปรดของผม  ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์  เพื่อรู้เรื่องราวเก่าๆ เอาไว้สอนใจ  และเอาไว้ตีความว่าคนอื่นเขามองเรื่องในประวัติศาสตร์อย่างไร  ผมเป็นคนอ่านประวัติศาสตร์แบบตีความมาตั้งแต่เด็กๆ  คือไม่ได้อ่านเอาไว้เชื่อ แต่อ่านแล้วตีความ  และตอนนี้ผมคิดว่า  หลายเรื่องผมตีความอย่างหนึ่งในสมัยหนุ่มๆ  แต่ตอนนี้ตีความต่างออกไป

แก่แล้ว  อะไรๆ มันเป็นสมมติไปหมด  ไม่มองเป็นสิ่งควรยึดมั่นถือมั่น  คือมองได้หลายมุม

มุมหนึ่งคือศิลปะการเป็นผู้นำ คือพระมหากษัตริย์ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช  ที่หนังสือเล่มนี้เขียนแบบขัดแย้งกันเอง  คือตอนต้นเขียนว่า ร. ขึ้นครองราชย์ในสมัยที่บ้านเมืองมีความมั่นคง  แต่ตอนท้ายกลับเขียนว่าราชบัลลังก์ของ ร. ๖ ไม่มั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาล (น. ๒๖๗)  ซึ่งผมมองว่าในตำแหน่งเช่นนั้น  ความมั่นคงแบบนอนใจ มองสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง คือความไม่มั่นคง

คนเป็นผู้นำต้องเข้าใจ และเห็นใจคนอื่น  และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองเห็น “ภาพใหญ่”

ผมมองว่า ในสมัย ร. ๖ (ซึ่งก็เหมือนยุคนี้) เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน  ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมาก   ผู้นำต้อง oversee และสร้าง harmony ระหว่างปัจจัยเหล่านั้น

เรื่องราวของ “นายใน” ในหนังสือ ช่วยผมก็ได้เข้าใจสภาพสังคมยุควิกตอเรียนในอังกฤษ  และเข้าใจพระสุขภาพพลานามัยของ ร. ๖ ดีขึ้นมาก  น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนที่หน้าท้อง (พระนาภี) ที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดของพระองค์  ทำให้พระชนมายุสั้น

ผู้เขียนหนังสืออ่านหนังสืออ้างอิงมากมาย  แต่เป็นเอกสารชั้นรอง คือมักจะเล่าจากความจำของคนที่เกี่ยวข้อง  ผมแปลกใจที่เราไม่มี archive ของพระมหากษัตริย์ให้ค้นคว้าข้อมูลชั้นต้น  แต่วิธีคิดของผมอาจผิดก็ได้ เพราะผู้วิจัยสนใจ “นายใน” เป็นหลัก  ไม่ใช่ ร. ๖ เป็นหลัก   และคล้ายกับว่าต้องการชี้ให้เห็นว่า  สมัย ร. ๖ เป็นยุคที่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในเรื่องเพศสภาพ  ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศอย่างมาก   และข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจจะไม่มีใน archive ของพระมหากษัตริย์

เราได้ทราบเรื่องของ “นายใน” ท่านหนึ่ง ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง คือ มล. ปิ่น มาลากุล ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่สำคัญตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี เท่านั้น   เขานำภาพของท่านมาขึ้นปกที่เดียว

เวลาอ่านหนังสือ คำคิยมหรือคำนำ มีความหมายอย่างยิ่งในด้านช่วยให้เราอ่านแตกยิ่งขึ้น  ในหนังสือเล่มนี้ คำนำเสนอทั้งสองช่วยผมมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนำเสนอของ ดร. ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ชี้ประเด็นที่ผมไม่มีความรู้ได้อย่างลึกซึ้ง  ทำให้ผมได้เห็นว่าในโลกนี้มีความรู้ที่ผมเข้าไม่ถึงอีกมากมายนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งต่อหลักการเลี้ยงดู ลูกหลานของ “ชนชั้นนำ” คือการฝึก emotional intelligence ตั้งแต่เด็ก  ยิ่งเป็นลูกของคนมีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งต้องฝึกอย่างจริงจัง  มิฉนั้นเด็กจะถูกตามใจจนเหลิง  เป็นข้อด้อยติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ ตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖

 

 

คู่กรรม : สดใสน้ำ ตาคลอ

พิมพ์ PDF

แนะนำภาพยนต์ โดย วาทิน ศาสนต์ สันติ

"คู่กรรม"

 

"สงครามทำให้เขาได้พบกัน และสงครามก็ได้พรากเขาไปจากกัน"

เรื่องย่อคงไม่จำเป็นต้องเล่า เพราะเชื่อว่าแฟน ทมยันตี หรือคนที่ดูคู่กรรมมาแล้วหลายต่อหลายฉบับต้องรู้ตอนจบของเรื่อง ที่เศร้าไม่สมหวังตามแบบฉบับนามปากกา ทมยันตี ดังนั้น คู่กรรม ฉบับ พ.ศ. 2556 จึงต้องทะลายกำแพงภาพจำของเดิม ๆ เช่น วรุฒ, เบิร์ด ออกไปให้ได้ ซึ่งฉบับ 2556 นี้ถือว่าตีโจทย์และทำลายกำแพงภาพจำจนแตก นับตั้งแต่การดำเนินเรื่องแบบกระชับเพราะอาศัยภาพจำเดิม ๆ ที่คนไทยรู้เรื่องแล้ว จึงตัดฉากเล่าลัดอย่างรวดเร็ว แล้วไปเน้นตรงที่ผู้กำกับอยากจะสื่อ

เปิดเรื่องมาผมชอบมาก เป็นการเล่าถึงสาเหตุการมาของนายทหารช่างญี่ปุ่นโกโบริ แล้วเปิดเรื่องเป็นภาพการ์ตูน โกโบริถูกเปลี่ยนบุคลิกให้ดูสดใสอ่อนโยน แต่พอทำหน้าที่ทหารก็เข้มแข็ง ส่วนอังศุมาริน ค่อนข้างเหมือนแบบฉบับหนังสือมาก โดยเฉพาะการเก็บงำความรักของเธอที่มีต่อโกโบริ ที่เธอแกล้งทำเป็นไม่รัก ทั้งที่ใจรักมาก และที่ชอบคือ เธอแทบไม่เคยพูดดีกับโกโบริเลย นับว่าเป็นการเคารพวรรณกรรมของผู้กำกับ ตอนจบผูกเรื่องใหม่นิดหน่อย แต่ถือว่าไม่ขัดตาไม่ขัดใจ และตอบโจทย์ของเรื่องได้อย่างดี

 

ที่ต้องชมอีกก็คือเพลงประกอบเพราะ เปิดได้ถูกจังหวะถูกเวลา เรียกอารมณ์ของผู้ชมได้ดีแบบสุด ๆ ไปเลย

แม้จะดำเนินเรื่องไม่สนุก (เพราะอ่านนวนิยายมา 3 รอบแล้ว และดูมาหลายฉบับแล้ว) แต่คู่กรรมฉบับของ "เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล" ที่นำแสดงโดย "ณเดชน์ คูกิมิยะ" เป็น โกโบริ กับ "อรเณศ ดีคาบาเลส" เป็น อังศุมาลิน ก็ดำเนินเรื่องที่มีบรรยากาศดูสดใส อีกทั่งหลายจังหวะทำให้ผมน้ำตาซึมด้วยความอิ่มเอม

ผู้กำกับทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบรรยากาศของบ้านเมือง การแต่งกายสมัยสงครามแบบ รัฐนิยมจอมพล ป. โดยเฉพาะฉากบ้านเมืองย่านสะพานพุธฯ และการทิ้งระเบิดบนสะพาน

ในด้านนักแสดง อรเณศ เล่นได้ดี ที่ชอบคือการเก็บซ้อมอารมณ์ไว้ในสีหน้า แม้ออกจะดูกระด้างไปบ้างก็เถอะ ส่วน ณเดชน์ เล่นได้ดีเกินคาด

แม้จะรู้เรื่องราวมาหมดแล้วก็ตาม คู่กรรมฉบับนี้ก็ยังสามารถเรียกน้ำตาในตอนจบใด้อย่างดี นับว่าเป็นหนังที่ทำให้ผมเสียน้ำตาและเซ็ดน้ำตาอย่างไม่อาย ซึ่งห่างหายจากผมไปหลายปี

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532406

 

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

พิมพ์ PDF

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง ๔ เมษายน ๒๕๕๖

ภาพประกอบ พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีสงกรานต์

ที่มา : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (๒๕๔๖ : ๑๑๑)

 

 



พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนามที่ว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย 

ประเพณีสงกรานต์ คาดว่ามีมานานนับแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี แต่หลักฐานปรากฏเด่นชัดที่สุดคือ หนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

พระราชพิธีสิบสองเดือน นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาในสมัยต่อมา อีกทั้งยังได้รับการอ้างอิงจากงานเขียนมากมาย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พุทธศักราช ๒๔๓๑ เนื่องจากกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระราชาธิบาย เรื่องพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำประจำพระนคร พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของความเรียงอธิบาย ให้ข้อมูลเรื่องการพระราชพิธีสิบสองเดือนโดยละเอียด อีกทั้งทรงวินิจฉัยที่มาของการพระราชพิธีและการแก้ไขเปลี่ยนของการพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชสมัยของพระองค์

ในพระราชนิพนธ์ได้กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ หรือ พระราชพิธีสงกรานต์โดยย่อดังนี้

พระราชพิธีสงกรานต์เริ่มขึ้นเมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย พระราชพิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามวัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกตามลำดับ ระหว่างสามวันนี้จะมีการพระราชกุศลก่อพระทรายและการถวายข้าวบิณฑ์ และยังมีพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษกในวันสงกรานต์อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศกเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรทำบุญให้ทานในช่วงเวลาสงกรานต์เหมือนที่เคยทำกันมา แต่ทรงเพิ่มเติมพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราช และการเลี้ยงอาหารข้าราชการ พ่อค้า ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนมิชชันนารีขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงต้นรัชกาลได้ทรงยกเลิกการเลี้ยงอาหารข้าราชการและพ่อค้าที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงขอให้เลิกแล้วโปรดให้มีการเลี้ยงปีใหม่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นมาแทนวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นงานพระราชพิธีแล้วยังเป็นประเพณีของชาวไทยที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งสุโขทัยเป็นประจำทุกปี

หนังสือประกอบการเขียน

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. แก้ไขปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๘.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.
เทพพิทู, ออกญา. (ฌืม กรอเสม). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ. ๒๕๕๐.
บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๖.

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532408

 

 


หน้า 498 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629653

facebook

Twitter


บทความเก่า