Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ประเด็นหลักเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

พิมพ์ PDF

บทความใน นสพ. บางกอกโพสต์  ๒๕ พ.ค.  PM pitches hub vision to Japanese investors ระบุ 10 growth areas  ที่ตัองการเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ (๑) โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์  (๒) อุตสาหกรรมพื้นฐาน  (๓) เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์  (๔) พลังงานทางเลือกและบริการสิ่งแวดล้อม  (๕) บริการสนับสนุนอุตสาหกรรม  (๖) เทคโนโลยีหลักที่ก้าวหน้า  (๗) อาหารและการเกษตร  (๘) บริการต้อนรับและสุขภาพ  (๙) ยานยนต์และเครื่องมือขนส่ง  (๑๐) เครื่องไฟฟ้า

การเชิญชวนและส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเป็นเรื่องดี  แต่ไม่เพียงพอ หากเราต้องการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap)  สู่ประเทศรายได้สูง  เราต้องยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราเองด้วย  และต้องวางกติกา ให้การลงทุนต่างประเทศเป็นกลไกส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราด้วย

เราต้องคิดให้ลึกกว่า เพียงแค่ชวนเขามาลงทุน  เราต้องมีเสน่ห์มากกว่านั้น  และในขณะเดียวกัน ก็ต้องคิดถึงความเข้มแข็งระยะยาวของชาติ

ต้องส่งเสริมให้หน่วยงานวิจัยของประเทศ เข้าไปร่วมงานกับการลงทุนจากต่างประเทศ  และการลงทุนของเราเอง ทั้งการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน  และการขนส่งระบบราง ๒.๒ ล้านล้าน  เพื่อยกระดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการวิจัยด้านอื่นๆ ขึ้นไปรองรับและหนุนการหลุดจาก middle income trap

หากดำเนินการแนวนี้  ราคาคุยของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นจริง  และไม่ใช่แค่ลงทุน  แต่จะมีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

วงการวิจัย/อุดมศึกษา ของประเทศ ต้องช่วยกันเรียกร้อง กดดัน และช่วยกันทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540355

 

วิพากย์หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

พิมพ์ PDF

ผมได้รับเชิญเป็นกรรมการวิพากย์หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการโรงแรม ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในวันที่ 19 มิถุนายน 2556

ผมได้รับเอกสารข้อมูลของหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโรงแรมหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557 เพื่อให้ศึกษาล่วงหน้า ผมได้พิจารณาเอกสารที่ส่งไปให้และมีข้อสงสัยหลายประการ หลังจากได้ฟังการสรุปถึงที่มาที่ไปและการจัดทำหลักสูตรใหม่นี้จากอาจารย์ และได้รับเอกสารเพิ่มเติม หลังจากนั้นได้เริ่มพิจารณาหลักสูตร โดยมีกรรมการร่วมพิจารณาหลายท่านด้วยกันทั้งกรรมการที่มาจากผู้บริหารโรงแรม และอาจารย์

หลักสูตรแบ่งออกเป็นหมวดวิชาต่างๆดังนี้

1.หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต ประกอบด้วย

 

1.1 กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3 หน่วยกิต

1.2 กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ 3 หน่วยกิต

1.3 กลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์ 4 หน่วยกิต

1.4 กลุ่มภาษาศาสตร์ 18 หน่วยกิต

1.5 กลุ่มวิชาพลศึกษา 2 หน่วยกิต

2.หมวดวิชาเฉพาะ ไม่น้อยกว่า 103 หน่วยกิต

 

2.1 วิชาแกน  24 หน่วยกิต

2.2 กลุ่มวิชาเฉพาะบังคับ 64 หน่วยกิต

2.3 วิชาเฉพาะเลือก ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต

3.หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิจ

4.การฝึกงาน ไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมง
คณะอาจารย์ได้ขอให้กรรมการแสดงความเห็นในหมวดที่ 2  คือหมวดวิชาเฉพาะ โดยแยกพิจารณ์เป็นรายวิชาดังนี้
วิชาแกน ได้แก่ วิชาเศรฐศาสตร์สำหรับการจัดการธุรกิจ วิชาองค์การและการจัดการ สถิติธุรกิจ กฎหมายธุรกิจ      หลักการตลาด  การจัดการทางการเงิน หลักบัญชี หลักการผลิตและการดำเนินการ
วิชาที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิชาบังคับจากคณะกรรมการอุดมศึกษา ทางคณะไม่สามารถกำหนดเนื้อหาวิชาและวิธีการสอนได้  ต้องใช้เหมือนกันทั้งหมด
ผมและกรรมการท่านอื่นๆที่มาจากภาคโรงแรมต่างเห็นพร้องต้องกันว่า ทางมหาวิทยาลัยควรจะมีบทบาทในการกำหนดเนื้อหาและแนวการสอนเพื่อให้ตรงประเด็นกับความรู้ในสายงานที่จะไปทำโดยตรง ไม่ใช่ไปใช้เนื้อหาจากงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานในสายวิชาชีพนั้นๆ อย่างไรก็ตามอาจารย์ได้ยืนยันว่าทำอะไรไม่ได้ วิชาเหล่านี้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามคณะกรรมการอุดมศึกษา
หลังจากการถกเถียงกันเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงข้ามการพิจารณาวิชาต่างๆที่เป็นวิชาแกน และไปพิจารณาวิชาเฉพาะบังคับ ได้แก่ จิตวิทยาในธุรกิจโรงแรม อุตสาหกรรมบริการเบื้องต้น การพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับการบริการโรงแรม พฤติกรรมลูกค้าในธุรกิจโรงแรม การจัดการโรงแรม  การจัดการส่วนหน้า การจัดการแม่บ้าน การจัดการอาหารและเครื่องดื่ม บุคลากรสัมพันธ์ในธุรกิจโรงแรม การจัดการตลาดในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการจัดประชุม การจัดการสปา การดำเนินงานในธุรกิจโรงแรม การจัดการกลยุทธ์ในธุรกิจโรงแรม การจัดการคุณภาพบริการในธุรกิจโรงแรม การจัดการภาวะวิกฤตในธุรกิจโรงแรม จริยศาสตร์ในธุรกิจโรงแรม การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมเพื่อการจัดการธุรกิจโรงแรมในอาเซียน  ภาษาอังกฤษการโรงแรม  ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจโรงแรม ปัญหาพิเศษ สัมมนา
ผมและกรรมการที่เป็นผู้บริหารโรงแรม ต่างเห็นตรงกันว่า หลักสูตรดังกล่าวไม่ได้มองว่านักศึกษาที่จะมาเรียนเมื่อออกไปแล้วจะมีความรู้เพื่อไปทำงานในตำแหน่งที่เป็นไปได้ หรือแม้นกระทั่งมีความรู้ในการทำธุรกิจจริง คณะกรรมการได้ช่วยกันชีให้เห็นถึงเนื้อหาและวิธีการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่จะนำไปใช้ได้จริง ให้อาจารย์รับทราบ แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดสามารถเสนอแนะและยกตัวอย่างให้ดูได้แค่ 2-3 วิชา เท่านั้น
วิชาที่ทางอาจารย์ยกมาขอความเห็นจากคณะกรรมการ ไม่มีเนื้อหามาให้พิจารณา
ผมขอชมเชยอาจารย์ทุกท่านที่อยู่ร่วมรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการ แต่ก็มีหลายวิชาที่อาจารย์สอนไม่ได้มาร่วมฟัง อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้อาสา ที่จะเข้ามาช่วยอาจารย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ มิใช่ทำแค่ให้ได้ชื่อว่าได้จัดรับฟังการวิพากย์หลักสูตรจากผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆแล้ว  ถ้าต้องการให้การวิพากย์มีประสิทธิภาพ จะต้องส่งเอกสารหลักสูตร ตลอดจนเนื้อหารายวิชา และแนวทางการสอน ให้คณะกรรมการวิพากย์หลักสูตรมีเวลาพิจารณาล่วงหน้า และในวันวิพากย์ก็ต้องมีเวลาที่เหมาะสมเพื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละวิชา
ผมเคยได้รับเชิญให้มาวิพากย์หลักสูตรก่อนหน้านี้มาแล้ว คราวที่แล้วผมก็ไม่สามารถเห็นชอบผ่านหลักสูตรที่นำเสนอได้  และครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับหลักสูตรตามรายวิชาที่กำหนดไว้ได้ เพราะแน่ใจว่านักศึกษาจะไม่ได้ความรู้จากการเรียนรายวิชาเหล่านั้นจนสามารถมีความรู้ที่จะได้รับการยอมรับให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานของโรงแรมที่มีคุณภาพได้ วิชาที่กำหนดไว้โดยเฉพาะวิชาแกน เป็นวิชาท่องจำ ไม่จำเป็นต้องมีการสอน โยนหนังสือให้นักศึกษาไปท่องและมาสอบให้ผ่านเท่านั้นก็พอ เพราะนักศึกษาจะไม่ได้ความรู้ใดๆเลย นอกจากการท่องจำ  อาชีพโรงแรมไม่ใช่การท่องจำ
ผมไม่แน่ใจว่าอุปสรรค์อยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายได้แก่คณะกรรมการอุดมศึกษา ที่ให้นโยบายที่ไม่ถูกต้อง  หรือเป็นที่อาจารย์เข้าใจไปเอง และใช้เป็นข้ออ้าง ที่จะไม่ยอมศึกษา คิดค้นเนื้อหาที่แท้จริงในรายวิชา รวมทั้งวิธีการสอนที่สามารถทำให้นักศึกษามีความรู้และความเข้าใจจนสามารถได้รับการยอมรับที่จะให้ไปทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานขึ้นไปของโรงแรมที่มีคุณภาพ หรือทำให้สามารถประกอบธุรกิจโรงแรมของตัวเองได้ภายหลังจากจบการศึกษา
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
25 มิถุนายน 2556

 

เที่ยวสวิส

พิมพ์ PDF

คืนวันที่ ๑๐ พ.ค. ๕๖ ผมนอนรวดเดียว ๗ ชั่วโมงเศษ ด้วยความช่วยเหลือของยานอนหลับ Lorazepam 0.5 mg.  ตื่นตีห้าเพราะนาฬิกาปลุก

พอ ๖ โมงเช้า ฟ้าสาง ผมก็ออกไปวิ่ง อากาศไม่เย็นมากอย่างที่คิด  ผมวิ่งไปทางซ้ายของโรงแรมพบตลาดนัดวันเสาร์  แล้ววิ่งกลับมาที่จตุรัสโรงข้าวโพด(Kornhausplatz)  ไปข้ามสะพานโรงข้าวโพด(Kornhausbruecke) ข้ามแม่น้ำอาเรอ  ชื่นชมธรรมชาติยามเช้า  รวมทั้งวิวของบ้านเรือนอันสวยงาม  และเสียงนกไนติงเกลร้องขับกล่อม

ที่โรงแรม เบิร์น ที่ผมพัก ก็มีเสียงนกร้องขับกล่อมให้ความสดชื่นอย่างยิ่ง

หลังกินอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จ เราเดินไปดูตลาดนัด ยังเช้ามากร้านยังไม่เปิด  เขากำลังจัดร้านกันอยู่  แต่ตอนนั่งรถรางไปสถานีรถไฟ เวลา ๘ น. เศษ  เห็นตลาดนัดคับคั่งมาก

เปลี่ยนใจไป Pilatus เพราะพยาการณ์อากาศว่าฝนไม่ตก  โดยไปรถ bls RegioExpress เที่ยว 8.36 น.  รถไฟขบวนนี้ไปลูเซิร์นใช้เวลา 1 1/2 ชม. แทนที่จะใช้เวลาเพียง ๑ ชม. อย่างเมื่อวาน เพราะวิ่งช้าและผ่านบริเวณที่ชุ่มน้ำ ที่เป็น UNESCO Bio-Sphere Reserve

ที่สถานีรถไฟคนมากกว่าเมื่อวาน  คงเพราะเป็นวันเสาร์ คนนัดกันออกไปเที่ยว

โบกี้รถ bls แปลกกว่าขบวนอื่นตรงที่มีแคร่เหนือศีรษะให้วางสัมภาระ  โบกี้นี้มองจากภายนอกดูใหม่ แต่ดูจากห้องน้ำแล้วเป็นโบกี้ที่เก่า

รถไฟ เบิร์น ไปลูเซิร์นผ่าน UNESCO Bio-Sphere Reserve แล่นผ่านสถานีต่างๆ ดังนี้ Bern - Konolfingen - Langnau - Trubschachen (อ่านว่า ทรุปชาเฮ่น) - Escholzmatt - Schuepfheim - Entlebuch - Wolhusen - Malters – Luzern  ระหว่างทางมีคนลงไปเดิน trekking   เส้นทางนี้วิวสวยกว่า  มีป่า พื้นที่เป็นเนินทุ่งหญ้าและป่าผมลองเดินไปดูลาดชั้น ๑ ที่นั่งแถวละ 1+2  ทั้งโบกี้มีคุณลุงนั่งเหงาอยู่คนเดียว  เราคิดถูกแล้วที่ซื้อตั๋ว สวิสพาสชั้น ๒

รถแล่นผ่านระบบชลประทานสวิส ซึ่งมีลักษณะคล้ายชลประทานราษฎร์ ที่พัฒนามาเป็นพันปี  มากกว่าที่กรมชลประทานจัดทำให้แบบไทย

ระหว่างท่องเที่ยวถ่ายรูป ผมได้ความคิดว่า รถไฟสายชมวิว(scenic) ควรใช้กระจกชนิดไม่สะท้อนแสง  จะช่วยให้นักถ่ายรูปถ่ายผ่านกระจกได้โดยไม่มีเงา   รถไฟสวิสก็จะยิ่งมีชื่อเสียงยิ่งขึ้นไปอีกในความสะดวกสบาย

ที่สถานีลูเซิร์น เรากำลังหาทางไป Alpnachstad คุณลุงเจ้าหน้าที่มาถามจะไปไหน  แล้วบอกว่าชาลา ๑๓ อีก ๑ นาที  พอเรานั่งในรถ รถไฟก็ออก  นั่งรถไฟชมวิวเกือบถึง Alpnachstad ฝนตก ฟ้าปิด เราจึงตัดสินใจไม่ลง  ไม่ไป Mt. Pilatus เพราะคิดว่าคงได้บรรยากาศไม่ต่างจากเมื่อวาน  นั่งรถต่อไปท่ามกลางสายฝนและความหนาวซ้ำกับทางเดิมเมื่อวานนั่นเอง  ระหว่างทางมีทางคนเดิน trekking ริมทะเลสาบขนานไปกับทางรถไฟ  ระยะทางของเส้นทางเดินออกกำลังริมทะเลสาบน่าจะหลาย ก.ม.

รถไฟไปจอดนานที่ Giswil  เราคิดว่าเราเป็นราชาประจำรถอยู่สองคน  นั่งอยู่นานจึงมีคุณป้าขึ้นมา  คุยกันด้วยภาษา Deutsch กับอังกฤษ จึงรู้ว่ารถสุดทาง  และจะกลับไปลูเซิร์น  เราก็ยินดีกลับไปเดินเที่ยวลูเซิร์น เสียหน่อย  ยังไม่ได้เดินเที่ยวเลย

รวมแล้วเรานั่งรถชมทะเลสาบช่วงนี้ถึง ๓ รอบ  เป็นเส้นทางชมวิว(scenic line) ส่วนตัวของเรา  บรรยากาศเกือบเหมือนหมุนเวลากลับ  เพราะแม้แต่เรือลำหนึ่งที่มีคนตกปลา ๒ คน ก็อยู่ที่จุดเดียวกันเหมือนเมื่อวาน

เรากินอาหารเที่ยงบนรถไฟ กินแซนวิชฝีมือสาวน้อย  ที่อร่อยกว่าเมื่อวานเสียอีก  โดยเฉพาะมีแตงกวาที่ซื้อจากร้าน COOP เมื่อวาน

ลงท้ายพระเจ้าช่วย ให้เราได้ไปเที่ยว ๔ สถานที่ของลูเซิร์น  คือ (๑) ไปเดินที่สะพาน คาเพลล์ (Kapellbrucke)  (๒) เที่ยวตลาดชาวนา ตรงเชิงสะพาน  (๓) เดินไปเยี่ยมสิงโตหิน  โดยจุดไฮไล้ท์ คือ (๔) พิพิธภัณฑ์ธารน้ำแข็ง(Glacier Garden Lucernewww.gletschergarten.ch) ที่อยู่ติดกัน  เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีของลูเซิร์น ที่เก่าแก่ที่สุด คือ ๒๐ ล้านปี  มีจุดอธิบายเรื่องราวถึง ๔๕ จุด ที่ให้ความรู้ดีมาก  เป็นหลักฐานทางธรรมชาติว่าบริเวณนี้ เมื่อ ๒๐ ล้านปีก่อนอยู่ใต้ทะเล  ยกขึ้นมาพร้อมกับการเกิดเทือกเขา แอลป์ เมื่อ ๕ - ๑๐ ล้านปีก่อน  และเริ่มยุคธารน้ำแข็งเมื่อ ๒ ล้านปีก่อน  สลับกับยุคน้ำแข็งละลาย  โดยยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อ ๒ หมื่นปีก่อน พร้อมทั้งเกิดรูในหิน ที่เรียก pothole จากอิทธิพลของธารน้ำแข็ง  โดยยุคนั้นมนุษย์เกิดแล้ว และมีชีวิตอยู่ร่วมกับช้าง แมมมอธ  ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายจบไปเมื่อ ๑ หมื่นปีก่อน  ความสำคัญของพื้นที่นี้ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๗๒  คือเกือบ ๑๕๐ ปีมาแล้ว

แม้จะมีเวลาชมไม่นาน และได้ชมไม่ทั่ว  แต่พิพิธภัณฑ์ธารน้ำแข็ง ที่เกิดจากการค้นพบบริเวณที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี  แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้แก่ผู้คน  ก็เป็นเครื่องอธิบายว่า ทำไมบ้านเมืองสวิส จึงน่าอยู่อย่างที่เห็น

วันนี้ สาวน้อยทำหน้าที่ ทัวร์ไกด์ของผม  ถามทางไปชมสิงโตหิน จนได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นไฮไล้ท์ ของวันนี้

เราไปเห็นสภาพความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสวิสของ ลูเซิร์น ในวันนี้  เดิมเราคิดจะพักที่ลูเซิร์น แล้วเปลี่ยนใจไป เบิร์น  ไม่ทราบว่าคิดถูกหรือคิดผิด

เรากลับเบิร์นด้วยรถ IR เที่ยว 15.00 น. จอดสถานี Suree และ Zofingen  ตามปกติ ใช้เวลา ๑ ช.ม.  แต่วันนี้เสียชื่อรถไฟสวิส ที่เสียเวลา ๒๐ นาที  รถนี้ต่อไปถึงสนามบินเจนีวา

ที่สถานีรถไฟ เบิร์น เราแวะร้าน COOP ซื้อCaesar Salad กลับมากินที่โรงแรม

สาวน้อยยังมีปัญหาปวดเข่าอย่างเดิม แต่ดีที่ไม่รุนแรงมาก  คนแก่เที่ยวได้ขนาดนี้ก็นับว่าเก่งแล้ว  ระหว่างเดินทางเราได้ใช้แผนที่ Swiss Travel System ที่คุณหยกแห่ง PMAC จัดหามาให้  ร่วมกับหนังสือ ใครๆ ก็ไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ โดย อดิศักดิ์ จันทร์ดวง เป็นประโยชน์มาก


วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540100

 

ขบวนการ Holistic Education

พิมพ์ PDF

ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ พ.ค. ๕๖ มีการประชุม Roundtable Meeting on “Asia-Pacific Network for Holistic Education” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  โดยมีเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกันระหว่าง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  กับสถาบันอาศรมศิลป์   คนเข้าร่วมประชุมประมาณ ๔๐ คน  มาจากแคนาดา เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และไทย

ดาราใหญ่ที่ชูโรง และเป็นดาราระดับโลกคือ ศาสตราจารย์ John P. Miller ผู้เขียนหนังสือ Whole Child Education (2010),The Holistic Curriculum (2nd Ed., 2008) และ Education and the Soul (1999)

เป้าหมายเพื่อทำความชัดเจน และขยายผลของ “การศึกษาองค์รวม”  และสร้างกลไกความร่วมมือกันใน เอเซีย - แปซิฟิก

นอกวงประชุม รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ ผอ. ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ถามผมว่า ควรขับเคลื่อนอย่างไร  ผมเสนอว่า ผมอยากเห็นกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศไทย  อย่างที่โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มาเสนอในวันที่ ๒๓ พ.ค. ๕๖

คือผมมองว่า ระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น  จะพาคนไทยไปสู่ทางตัน หรือกล่าวแรงๆ ก็พาลงเหว เป็นมิจฉาทิฐิ  คือเรียนเพื่อความโลภ เพื่อเห็นแก่ตัว มากเกินไป

นอกจากนั้น การศึกษาปัจจุบัน ยังเน้นเรียนด้านเดียว คือวิชา   เป็นการเรียนเพื่อสอบ  ทำให้เรียนรู้ไม่ครบด้าน ไม่ holistic หรือ องค์รวม  ผมมองว่า ต้องรวมเอาการฝึกฝนด้าน อารมณ์ สังคม จิตใจ (จิตวิญญาณ) และด้านสุขภาวะทางกาย เข้าไปเป็นเป้าหมายของการศึกษา และมีการวัดผลด้วย

ผมเสนอต่อ ผอ. ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ให้ศูนย์ทำงานใหญ่  คือเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษากระแสหลัก  ถึงขนาดเปลี่ยน “ศึกษาศาสตร์” ของไทย

ต่อ รศ. ประภาภัทร นิยม ผมเสนอให้หาทางทำวิจัย เพื่อสร้างวิธีประเมิน “จิตตปัญญา” ในเด็กอายุต่างๆ  สำหรับ “ติดอาวุธ” ให้ครูทุกคน (ย้ำคำว่าทุกคน)

ที่จริงการติดอาวุธการประเมิน (formative assessment) ให้แก่ครูนี้ มีความสำคัญมาก  และควรติดอาวุธการประเมินทุกด้าน ทั้งด้านพัฒนาการทางปัญญา  อารมณ์  สังคม  จิตวิญญาณ  และร่างกาย  การศึกษาไทยจะบรรลุเป้าหมายสูงสุด คุณภาพสูงสุดได้ เมื่อเราเลิกการประเมินนักเรียนรายคน ในระดับชาติลงไปได้  และ empower ครูและโรงเรียนให้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือ

นี่คือ ขบวนการ Holistic Education ที่ผมคิด

เขามีการประชุมในวันที่ ๒๔ พ.ค. ด้วย  แต่ผมไม่ได้ไปร่วม เพราะติดการบ้านหลายอย่าง  จึงมีโอกาสเข้าเว็บ เข้าไปอ่านตัวอย่างหนังสือที่ ศ. จอห์น มิลเล่อร์ เขียน  อ่านแล้วติดใจ โดยเฉพาะThe Holistic Curriculum (2nd Ed., 2008) ทำให้ผมเสียเงินซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านใน Kindle Paperwhite ตัวใหม่ที่เพิ่งฝากหมอสมศักดิ์ซื้อมา  ผมได้หนังสือสำหรับนำมาเขียน บล็อก ด้านการศึกษาอีกชุดหนึ่งแล้ว  เข้าคู่กับชุด การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม ที่กำลังลง บล็อก ทุกๆ วันพุธ ในขณะนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540104

 

โครงการ DFC3

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๖ ผมเข้าร่วมกิจกรรม DFC3 Orientation จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ

DFC ย่อมาจาก Dean for Changeรุ่นนี้เป็นรุ่น ๓  จัดเพื่อเตรียมคนเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับคณบดี  ที่มีหัวใจ จิตใจ และทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง

จากการเข้าร่วมประชุมวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการหลักสูตรนี้เข้มข้น และมีคุณภาพสูงมาก  โดย keyword ของหลักสูตรคือ change, internationalization, และ collaborationและในวันนี้มีการฝึกเทคนิค ๒ อย่าง เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมกันตลอดหลักสูตร  คือ storytellingและ gallery walkผมได้คุยกับทีมของคลังสมองและทราบว่า ตอนไปดูงานที่เยอรมัน ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ มิ.ย. ๕๖จะใช้เครื่องมือ AAR ด้วย  โดยทำกันบนรถระหว่างเดินทาง   ทีมของสถาบันคลังสมองได้เตรียมข้อมูลไว้อย่างดี  ว่าการเดินทางช่วงต่างๆ ในเยอรมันมีเวลาเท่าไร  จะใช้ประโยชน์ของเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันโดยทำ AAR

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมี ๑๘ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยที่ส่งคนเข้าร่วมมากที่สุดคือ มข. ๓ คน  มาจากคณะวิทยาการจัดการคณะเดียว  มีวิทยากรเดินทางไปเยอรมันด้วย ๔ คน ผมไปในฐานะวิทยากรรับเชิญ โดยผมออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะอยากไปเรียนรู้  อยากมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่อุดมศึกษาไทย

ในวันปฐมนิเทศนี้ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองได้เกรินนำขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ๘ ขั้นตอนของ Kotterเป็นการเรียนทฤษฎีแบบเกริ่นนำ  ให้ไปค้นคว้าเองต่อ   แล้วไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ๗  แห่งในเยอรมัน  แล้วจึงกลับมาทำ “แบบฝึกหัด” ของตนเอง เรียกว่า PAP (Program Action Plan) ตามด้วยการนัดหมายมารวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะมีรายการ Learn and Share ใช้เวลา ๕ วัน  เพื่อเรียนรู้ change module ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย รวม ๖ หน่วย  โดยจะมีรายการไปดูงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย  เป็นการเสริมความรู้เชิงทฤษฎี และตัวอย่าง  สำหรับให้ผู้เข้าหลักสูตรได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงใน PAP  รายการ PAP นี้ จะมีการทำงานต่อเนื่อง จนมี  Final Conference วันที่ ๙ - ๑๐ ม.ค. ๕๗

ผมมีความรู้สึกหลังฟังรายละเอียดของการเดินทางไป study visit ที่เยอรมันว่า  เป็นการเดินทางที่มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้นมาก  ในขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีทัศนศึกษา และมีเวลาให้ช็อปปิ้งด้วย  และที่พักที่กินก็ดีมาก คือได้เรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย

วันเสาร์ที่ ๘ มิ.ย. ๕๖ สาวน้อยทักว่าคราวนี้ผมไม่ออกไปประชุม จนเย็นก็กลับเข้าบ้าน และเตรียมตัวไปขึ้นเครื่องบิน อย่างตอนที่ไปสวิตเซอร์แลนด์กับเธอคืนวันที่ ๘ พ.ค. ๕๖ ที่ผ่านมา

ผมใช้วันเสาร์นี้เตรียมเที่ยวในวันอาทิตย์รุ่งขึ้นที่ เบอร์ลิน  สาวน้อยเขาอ่านหนังสือนำเที่ยว ใครๆ ก็ไปเที่ยวเยอรมันนีแล้วบอกว่าเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดมี ๓ เมือง  คือ เบอร์ลิน  แฟรงค์เฟิร์ต  และมิวนิก  แต่ผมไปคราวนี้ไปทำงาน/เรียนรู้ ไม่ใช่ไปเที่ยว  การเที่ยวถือเป็นของแถม

เราจะได้ไปชม Charlottenberg Palace, Boat trip city tour, และไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร Roof Garden Restaurant ที่อาคารรัฐสภาBundestagผมก็เข้าไปชมเสียก่อนทาง อินเทอร์เน็ต

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540065

 


หน้า 474 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8657697

facebook

Twitter


บทความเก่า