Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ช่วยกันยกระดับความสามารถของคนไทย

พิมพ์ PDF

 

วิดีทัศน์สั้นๆ ไม่ถึง ๑๒ นาที เรื่อง Malcolm Gladwell Explains Why Human Potential Is Being Squandered? ซึ่งดูได้ ที่นี่ บอกเราว่า  แต่ละสังคมสามารถเพิ่มสมรรถนะของประชาชนของตนได้อีกมาก  และเป็นที่รู้กันว่า ปัจจัยแข่งขันหรืออยู่รอดอยู่ดีของสังคม ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคน หรือสมรรถนะของคน

Malcolm Gladwell เป็นนักเขียนยอดนิยมของผม  และผมเคยบันทึกเรื่องเกี่ยวกับเขา ที่นี่

วิดีทัศน์เรื่องนี้พูดเรื่อง Talent Capitalization หรือการจับเอาคนมีปัญญาหรือความสามารถพิเศษ มาทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ว่ามีอุปสรรคสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ  (๑) ความยากจน (poverty)  (๒) ความโง่เขลา (stupidity) (ของระบบ)  และ (๓) วัฒนธรรม (culture)

ความยากจน ทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนสูง  ความโง่เขลาของระบบ หรือระบบที่ผิดพลาด ในการเสาะหาผู้มีความสามารถพิเศษ มาฝึกเพื่อให้เก่งจริงๆ ในเรื่องนั้น  ทำให้ได้จำนวนคนมาฝึกน้อยไป  เขายกตัวอย่างดารากีฬาฮ้อกกี้  เอาวันเดือนปีเกิดมาดู  และชี้ให้เห็นว่าเกือบทั้งหมดเกิดต้นปี  อธิบายว่าเพราะระบบคัดเด็กเอามาฝึกฮ้อกกี้ทำตอนเด็กอายุ ๘ ขวบ  นับวันที่ ๓๑ ธ.ค. เป็นวันตัดว่าใครจะได้เข้ากลุ่ม  ตอนอายุ ๘ ขวบ เด็กที่เกิดต้นปีกับท้ายปีตัวโตต่างกันมาก  เด็กที่เกิดต้นปีจึงมีโอกาสได้รับคัดเลือกมากกว่า  เขาแนะว่า หากคัดเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง  ตัดที่วันเกิด ๓๐ มิ.ย. ก็จะได้เด็กที่มีพรสวรรค์ในการเล่นฮ้อกกี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว

เรื่องวัฒนธรรม เขายกตัวอย่างเด็กเชื้อจีน ที่พ่อแม่อพยพเข้าไปอยู่อเมริกา  ลูกๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูงกว่าคนขาวในอเมริกาอย่างชัดเจน  คำอธิบายคือ เด็กได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ขยัน และอดทน  วัฒนธรรมขยันและอดทน ทำให้เด็กหมั่นฝึกฝนตนเอง มีผลให้สมรรถนะสูง

คำอธิบายเหล่านี้ นักการศึกษาไทยน่าจะได้พิจารณา เอามาออกแบบระบบการศึกษาไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538397

 

แนวคิดประชาสังคมในยุคก่อนสมัยใหม่

พิมพ์ PDF

แนวคิดประชาสังคมในยุคก่อนสมัยใหม่ (Pre-modern history) ข้อมูลจากหนังสือ "พัฒนาการและการพัฒนาประชาคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

แนวคิดเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชของรัฐกลายมาเป็นประเด็นขบคิดทางการเมืองในหมู่นักปรัชญาในยุครุ่งเรื่องทางปัญญา (Enlightenment) นักปราชญ์ในยุคนี้สนใจประเด็นคำถามทางการเมืองในเรื่อง "อะไรคือความชอบธรรมในการปกครอง ?" "ทำไมต้องมีสถาบันการปกครอง ?" "ทำไมมนุษย์บางคนจึงมีสิทธิขั้นพื้นฐานเหนือกว่าคนอื่นๆ?" ประเด็นคำถามทำนองนี้นำไปสู่การตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ แหล่งที่มาของอำนาจทางการเมืองและศีลธรรม เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตลอดจนสนใจว่าสังคมจะเคลื่อนไปได้ไกลเกินกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร นักปรัชญาการเมืองในยุคนี้มีความเห็นตรงกันข้ามในเรื่องความสัมพันธ์แบบพันธมิตรระหว่างรัฐกับศาสนจักร โดยมองว่ารัฐและศาสนจักรเป็นตัวสกัดกั้นความก้าวหน้าและความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ เพราะว่ารัฐถือว่าเป็นตัวตนหรือองค์กรทางการเมืองที่ใช้อำนาจบีบบังคับเสรีภาพของปัจเจกชน ขณะเดียวกันศาสนจักรก็มีความชอบธรรมในการปกครองของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยการสถาปนาทฤษฎีเทวสิทธิ (Divine Right) ขึ้นมาครอบงำความคิดของราษฎรให้ยอมรับการปกครองของกษัตริย์ นักปราชญ์การเมืองในยุคนี้มองว่าความเชื่อนี้ขัดขวางเจตจำนงของประชาชน

ยุคก่อนสมัยใหม่ (Pre-modern history) เป็นช่วงตอนปลายของยุคกลางไปจนถึงยุคเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ ประมาณศตวรรษที่ 17 ถึง ศตวรรษที่ 18 มีเหตุการณ์ที่สำคัญในยุโรป คือสงครามสามสิบปี (Thirty Years' War) เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดระบบรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ผลทางการเมืองการปกครองที่ตามมาคือ ระบบกษัตริย์สามารถเข้าไปควบคุมระบบศักดินา จนกระทั่งระบบศักดินาค่อยๆเสื่อมลง กษัตริย์ยุติการพึ่งพากองทัพจากขุนศึกหัวเมือง (Lord) และได้มีการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติขึ้นแทน พร้อมๆกับการพัฒนาระบบบริหารราชการแบบอาชีพขึ้น ทำให้กษัตริย์สามารถควบคุมเบ็ดเสร็จและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองราษฎร เป็นการเริ่มต้นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบบนี้มีความรุ่งเรื่องสูงสุดในยุโรปมาจนกระทั่งถึงตอนกลางศตวรรษที่ 18

แนวคิดเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชของรัฐกลายมาเป็นประเด็นขบคิดทางการเมืองในหมู่นักปรัชญาในยุครุ่งเรื่องทางปัญญา (Enlightenment) นักปราชญ์ในยุคนี้สนใจประเด็นคำถามทางการเมืองในเรื่อง "อะไรคือความชอบธรรมในการปกครอง ?"  "ทำไมต้องมีสถาบันการปกครอง ?" "ทำไมมนุษย์บางคนจึงมีสิทธิขั้นพื้นฐานเหนือกว่าคนอื่นๆ?" ประเด็นคำถามทำนองนี้นำไปสู่การตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ แหล่งที่มาของอำนาจทางการเมืองและศีลธรรม เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตลอดจนสนใจว่าสังคมจะเคลื่อนไปได้ไกลเกินกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร นักปรัชญาการเมืองในยุคนี้มีความเห็นตรงกันข้ามในเรื่องความสัมพันธ์แบบพันธมิตรระหว่างรัฐกับศาสนจักร โดยมองว่ารัฐและศาสนจักรเป็นตัวสกัดกั้นความก้าวหน้าและความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ เพราะว่ารัฐถือว่าเป็นตัวตนหรือองค์กรทางการเมืองที่ใช้อำนาจบีบบังคับเสรีภาพของปัจเจกชน ขณะเดียวกันศาสนจักรก็มีความชอบธรรมในการปกครองของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยการสถาปนาทฤษฎีเทวสิทธิ (Divine Right) ขึ้นมาครอบงำความคิดของราษฎรให้ยอมรับการปกครองของกษัตริย์ นักปราชญ์การเมืองในยุคนี้มองว่าความเชื่อนี้ขัดขวางเจตจำนงของประชาชน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 18  ปรัชญาการเมืองตะวันตกมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองเกี่ยวกับอำนาจรัฐ ส่งผลต่อการตื่นตัวทางการเมืองและการเติบโตขององค์กรภาคประชาสังคม จนพัฒนาไปสู่การเป็นรากฐานการปฎิวัตประชาธิปไตยในยุโรป อิทธพลทางความคิดของนักปรัชญาการเมืองในยุคนี้ที่สำคัญได้แก่ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) จอห์น ล็อค (John Locke) และ ฌ็อง ฌ้ากส์ รุสโซ (Jean -Jacques Rousseau) ความคิดของนักปรัชญาทั้งสามคนจัดอยู่ในกลุ่มความคิดที่เรียกว่าทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Theory) เป็นการนำเสนอความคิดที่อธิบายความชอบธรรมใหม่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐ จากเดิมที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ผู้ปกครองซึ่งก็คือกษัตริย์มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองที่ได้รับมาจากพระเจ้าที่เรียกว่า อำนาจเทวสิทธิ์ (Diving Right) อำนาจจากสวรรค์นี้ผู้ปกครองได้รับผ่านมาทางศาสนจักร ตามความเชื่อแบบเดิมนี้อำนาจของอาณาจักรและอำนาจของศาสนจักรจึงเป็นอันเดียวกัน แต่อำนาจรัฐตามแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มสัญญาประชาคมเสนอขึ้นมาใหม่ อ้างที่มาของอำนาจรัฐว่าเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ในสังคมมาตกลงจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันด้วยการมอบอำนาจให้ผู้นำทำหน้าที่แทนตนในนามของส่วนรวม นักปรัชญาทั้งสามคนให้เหตุผลแตกต่างกันในการอธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ยินยอมมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่นปกครอง โดยนักทฤษฎีแต่ละคนมีคำอธิบายอ้างถึงพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่ที่มีทัศนะเหมือนกันคือธรรมชาติของมนุษย์เป็นเหตุแห่งการทำข้อตกลงยินยอมในการจัดตั้งและมอบอำนาจให้ผู้นำ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

7 มิถุนายน 2556

ผมจะนำแนวคิดของทั้งสามนักปรัชญา มาเผยแพร่ ในตอนต่อไป โปรดติดตามในเร็วๆนี้

 

ผ่าตัดต้อกระจก

พิมพ์ PDF

คืนวันที่ ๑ เม.ย. ๕๖ ผมเข้านอนตั้งแต่ ๒๐ น.  สาวน้อยถามว่ากินยานอนหลับไหม  ผมบอกว่าไม่ต้อง  เธอบอกว่าเธอต้องกิน  ผมนอนหลับตามปกติ จนตีสามก็ตื่น  ลุกขึ้นมาอาบน้ำสระผมตามที่ระบุไว้ ในเอกสารเตรียมตัวผ่าตัด  แล้วกินอาหารอ่อนคือข้าวต้มตามคำแนะนำในเอกสาร

เช้าวันที่ ๒ เม.ย. ๕๖ ผมไปรายงานตัวที่ห้องผ่าตัดจักษุ ชั้น ๓ ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช ตามนัด เวลา ๗.๐๐ น.  โดยมี “เลขา” ไปทำหน้าที่ญาติผู้ป่วย  วิธีรายงานตัวคือเอาใบนัดไปใส่ตะกร้าหน้าเคาน์เตอร์  แต่ผมทำใบนัดหาย จึงใช้บัตรผู้ป่วยแทน  เมื่อพยาบาลมารวบรวมใบนัด ผมก็ไปแจ้งว่าทำใบนัดหาย  แต่อาจารย์วิมบอกว่าไม่เป็นไร  ผมจึงใช้บัตรผู้ป่วยแทน

รอจนประมาณ ๗.๓๐ น. ก็มีพยาบาลมาเรียกชื่อ “คุณวิจารณ์”  บอกให้เอาของมีค่าฝากญาติไว้ให้หมด  เข้าไปในห้องเตรียมผ่าตัด  โดยชั้นแรกให้ถอดรองเท้า สวมรองเท้าแตะของห้องเตรียมผ่าตัดแทน  พยาบาลเขาเอาปล้าสเตอร์แปะที่รองเท้าและเขียนชื่อ  แล้วให้เข้าไปล้างหน้าด้วยสบู่น้ำ ๒ ครั้ง  มีคนไข้ถูกเรียกไปพร้อมๆ กัน ๒ คน  ในห้องน้ำมีอ่างล้างหน้า ๒ อ่างพอดี  ในห้องนี้มีโถปัสสาวะด้วย  หลังจากล้างหน้าและเช็ดหน้าเสร็จ (มีผ้าขนหนูเช็ดหน้าให้ที่หิ้งเหนืออ่าง) ผมจึงถ่ายปัสสาวะเสีย ๑ ครั้ง  แล้วไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล  เอาเสื้อผ้าของผมใส่ตู้เหล็กหมายเลข ๑ ตามที่พยาบาลบอก

เขาให้ขึ้นไปนอนบนเตียงนอนแบบมีล้อเข็น  พยาบาลมาถามชื่อ นามสกุล  ผ่าตัดตาข้างไหน  แพ้ยาหรืออาหารอะไรบ้างหรือไม่  แล้วเอาป้ายชื่อมาผูกข้อมือ  วัดความดัน ได้ ๑๓๖/๙๐  และเอายาฆ่าเชื้อกับยาขยายม่านตามาหยอดทุกๆ ๕ นาที  รวมแล้วกว่า ๑๐ ครั้ง สลับกับเอาไฟฉายมาส่องตรวจม่านตา  ต่อมามีพยาบาลมาตัดขนตา

ตอนแรกมีคนไข้นอนเรียงกันอยู่ ๒ คน  ต่อมามีมากขึ้นเรื่อยๆ  กว่าครึ่งชั่วโมงจึงมีพยาบาลในชุดห้องผ่าตัดมายกมือไหว้ เรียกอาจารย์ แนะนำตัวว่าเป็นผู้ช่วยของ อ. วณิชชา ยินดีบริการเต็มที่  “จะไอจามบอกหนูได้”  แล้วเข็นเปลเข้าห้องผ่าตัดหมายเลข ๔  บอกว่า อ. วิมประจำห้องนี้  แล้วให้ผมขยับตัวไปนอนบนเตียงผ่าตัด

ผมมองขึ้นไปบนเพดาน เห็นมีผีเสื้อสีสวยเกาะอยู่  จึงถามว่า มีผีเสื้อสวยๆ ให้คนไข้ดูด้วยหรือ  “ของ อ. วิมค่ะ เอาไว้บอกให้คนไข้มองไปที่จุดนั้น  อ. วิมจึงผ่าประจำที่ห้องนี้ จะได้ไม่ต้องเปลืองผีเสื้อหลายตัว”  เห็นความฉลาดของหมอตาประจำตัวผมไหมครับ

พยาบาลเขาเปิดเพลงสุนทราภรณ์ประเภทเก๋ากึ๊กเบาๆ  และบอกว่า “อาจารย์นอนฟังเพลงไปก่อน”  ผมจึงถามว่า ที่นี่เขาฟังเพลงรุ่นนี้กันหรือ  ได้รับคำตอบว่า เลือกเพลงตามรุ่นของคนไข้

กระบวนการตรวจม่านตา และหยอดตาให้ตาขวาของผมยังดำเนินต่อไป   จน อ. วิมเข้ามา ก็ร้องว่า เอ๊ะ วันนี้เพลงแปลก

พยาบาลมาวัดความดัน ได้ ๑๒๐/๗๖  และผูกแขนไม่ให้ขยับได้

แล้วกระบวนการผ่าตัดก็เริ่มด้วยการทำความสะอาดใบหน้าแบบคนไข้ผ่าตัด  แล้วมีการล้างตาแล้วซับหลายครั้ง  ตามด้วยการจัดไฟ จัดกล้องผ่าตัด  ซ้อมให้ผมมองไฟนิ่งๆ  ถามผมว่า ผมยังเห็นสิ่งที่ลอยอยู่ในลูกตาไหม  ผมตอบว่าไม่มี  หมอจัดระดับเก้าอี้นั่งของหมอผ่าตัด  แล้วเอาเครื่องถ่างตา  ตามด้วยฉีดยาชา ซึ่งแทบไม่รู้สึกเจ็บเลย

การผ่าตัดด้วยกล้อง ทำอย่างไรผมไม่ทราบ และยังไม่มีโอกาสถาม  ผมเล่าได้เฉพาะความรู้สึกของผม ในช่วงเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง  เริ่มด้วย อ. วิมบอกว่าผมจะรู้สึกหนักๆ ถูกกดที่ลูกตา แต่จะไม่เจ็บ   ก็รู้สึกอย่างนั้น  มีเสียงบอกระหว่างหมอกับพยาบาล  โดยหมอบอกพยาบาลให้ส่งเครื่องมือ แล้วพยาบาลก็ทวนคำ  ต่อมามีเสี่ยงฉี่ๆๆๆๆ.... เบาๆ  ต่อมา อ. วิมบอกผมว่าเอาเลนส์ออกได้แล้ว เอาเลนส์เทียมใส่เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ

ต่อมาหมอก็ขอเข็มโค้ง เข็มตรง  แล้วเสร็จ เอาผ้าก๊อสปิดตา ครอบที่ครอบตา  และเผาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า เอาคราบน้ำยาฆ่าเชื้อออก  พยาบาลวัดความดัน ได้ ๑๑๐/๗๐ ชีพจร ๔๙   เป็นอันเสร็จ  อ. วิมบอกว่าตานี้เคยผ่าตัดมาแล้ว เหนียวหน่อย  และบอกว่าพรุ่งนี้เช้าจะไปตรวจที่หอผู้ป่วย ฉก. ๕ อีกครั้ง   พร้อมทั้งอธิบายว่า ในตาของผมยังมีขยะลอยอยู่ในวุ้นตา  แต่ขนาดเล็ก ผมจึงคงจะไม่สังเกต  ทำให้ผมนึกกับตัวเองว่า “แก่หนอ เสื่อมหนอ”

พยาบาลให้ผมเคลื่อนตัวไปนอนบนเตียงเข็น  เข็นไปนอนที่ห้องพักฟื้น  ซึ่งมีคนนอนพักเรียง อยู่กับผมหลายคน  พยาบาลมาวัดความดันอีก  สักครู่มีคนไข้ถูกเข็นมาจากห้องผ่าตัดและโวยวาย  มาอยู่ติดกับเตียงผม  พยาบาลหัวหน้าห้องพักฟื้นต้องเข้ามาอธิบาย  ทำให้ผมได้ความรู้ไปด้วย  ว่าคนไข้ท่านนั้นจะต้องนอนที่ รพ. หนึ่งคืนแบบผม  แต่ห้องยังไม่ว่าง (เหมือนผม) ต้องนอนรอไปก่อน  อธิบายว่า คนไข้กว่าจะออกจากห้องได้อย่างเร็วก็ราวๆ ๑๐ น.  แล้วพนักงานเข้าทำความสะอาดห้อง ใช้เวลาราวๆ ครึ่งชั่วโมง  เวลาที่ได้ห้องอย่างเร็วจึงเป็น ๑๐.๓๐ น.  (ตอนที่กำลังอธิบายอยู่นั้น เวลาน่าจะราวๆ ๙.๔๕ น.)  เพราะต้องรอให้พยาบาลคิดค่าใช้จ่าย แล้วไปจ่ายเงิน  แต่คนไข้บางคนเห็นว่าหากรอ ๑๑ น.  อาหารเที่ยงก็จะมา รอกินข้าวเสียก่อนค่อยออก  อย่างนี้บางทีกว่าห้องจะว่างก็บ่ายโมง  คนไข้ท่านนี้จึงสงบลง บอกว่า “ผมเข้าใจแล้วครับ”

ราวๆ ๑๐ น. “เลขา” ให้พยาบาลมาแจ้งว่า จะขอไปกินข้าว  ตอนนี้ผมเป็น “อาจารย์” แล้ว  พยาบาลบอกว่าขอให้นอนรอห้องก่อน  ผมบอกว่าหนาว และอยากเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวออกไปรอกับลูกสาวหน้าห้อง  เขาบอกว่าเดี๋ยวแต่งชุดนี้ไปที่หอผู้ป่วยเลย   รอจนราวๆ ๑๑ น. ก็ได้ห้อง  นั่งรถเข็นไปตึกเฉลิมพระเกียรติชั้น ๕ โดยมีผู้ช่วยพยาบาลไปส่ง  ถึงตอนนี้ผมจึงตระหนักว่าพยาบาลเขามีระบบดูแลเสื้อผ้าและรองเท้าของผู้ป่วยอย่างดี  ก่อนออกจากห้องพักฟื้นเขาเอามาให้

ที่ห้องพัก ผมได้เปลี่ยนชุดใหม่เป็นชุดของหอผู้ป่วย  ซึ่งเรียบร้อยสวยงามกว่าของห้องผ่าตัดมาก

๑๑.๓๐ น. อาหารเที่ยงมา ผมกินด้วยความหิว  กินเสร็จ “เลขา” ก็มาถึงพร้อมผลไม้

ผมได้ห้องพักห้องเดียวกันกับคราวที่แล้ว คือห้อง ๕๐๖  ซึ่งเมื่อลูกชายมาเยี่ยมและเห็นวิวดี ก็อุทานล้อเลียนว่า “สมฐานะอำมาตย์”  ที่จริงผมได้อาศัยบารมี อ. วิมจองให้

การผ่าตัดและเข้า รพ. ๑ คืนคราวนี้  เต็มไปด้วยความหนาว  ทั้งที่ห้องผ่าตัด  ห้องพักฟื้น  และห้องพัก  ที่ห้องพัก เราปิดแอร์ ก็ยังเย็นสบาย  โชคดีที่ผมเอา แจ็กเก็ต และเสื้อกล้าม ไปด้วย  ได้อาศัยบรรเทาความหนาว  พยาบาลบอกว่า แอร์ ของห้องนี้มีปํญหาเกิดขึ้นบ่อยๆ  ที่ปรับอุณหภูมิไม่ได้

ที่หอผู้ป่วยมีกระบวนการ ตามแบบแผน  คือถามเรื่องแพ้ยาแพ้อาหาร  ถามเรื่องอาหารว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ผมตอบว่างดเค็ม  วัดอุณหภูมิ วัดความดัน จับชีพจร

อาหารเย็นมาเร็วมาก ๑๖.๓๐ น. ก็มาส่งแล้ว  ผมรอจน ๑๘ น. จึงกิน  ผมกินอาหาร รพ. ๓ มื้อ เป็นข้าวต้มทั้งสิ้น  คือหมอสั่งอาหารอ่อน

ผมได้รับยาปฏิชีวนะ  หยอดตาด้วยยา ๒ อย่าง คือสตีรอยด์ (Pred Forte)  กับยาปฏิชีวนะ  ยาปฏิชีวนะหยอดตาคือ Cravit (0.5% Levofloxacin)  และป้ายยาปฏิชีวนะ (Dexamethasone + Neomycin) ก่อนนอน  โดยเข้านอนเวลา ๒๐ น.  วันนี้สาวน้อยซึ่งมาเปลี่ยนเวรเฝ้าตอน ๑๔.๓๐ น. พร้อมขนมปรนเปรอสามี  สั่งการให้ผมไม่ต้องอาบน้ำ  โดยเธอจัดการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดหน้าให้…. ชื่นใจ


๓ เม.. ๕๖

ผมตื่นตีสามลุกขึ้นมาใช้แว่นส่อง เช็ค อี-เมล์ และดู YouTube เตรียมไปเที่ยวสวิส  แล้วอาบน้ำอุ่นทำให้สบายตัวขึ้นมาก  เพราะทนหนาวมาทั้งคืน  โดยที่ไม่ปวดตาเลย  และนอนหลับดี แต่ผมคงจะปรับระดับเตียงไม่ค่อยดี จึงเมื่อยหลัง

เวลา ๗.๓๐ น. แพทย์ประจำบ้านมาตามออกไปตรวจการเห็น และตรวจตาด้วยกล้องส่อง  และบอกว่าข้างในยังบวมอยู่  ตาขวาจึงยังมองเห็นไม่ค่อยชัด  เป็นการเปิดตาครั้งแรกหลังจากปิดตาหลังผ่าตัดเสร็จ

เวลา ๘ น. อ. วิม ก็มาตรวจพร้อมกับแพทย์ประจำบ้านคนเดิม และเพิ่มมาอีกคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงทั้งคู่   การดูแลหลังผ่าตัดรวมทั้งยาเหมือนคราวที่แล้วเกือบไม่ผิดเพี้ยน  ยกเว้นให้เคลื่อนไหวได้  เดินออกกำลังช้าๆ ได้ แต่ห้ามวิ่ง  ห้ามโดนฝุ่น  และไม่แนะนำให้เดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เพราะเวลานี้เลนส์ตา ๒ ข้างต่างกัน  ตาซ้ายเลนส์ตาปกติเห็นสีออกเหลือง แต่ตาาขวาเลนส์เทียมสีออกฟ้า  จะทำให้มองระดับได้ไม่ดี อาจพลาดตกบันไดได้

นัดติดตามผลโดย อ. วิมเช้าวันที่ ๕ และ ๑๗ เม.ย. ๕๖

ค่าใช้จ่ายของผมเก็บเงินตรงจากต้นสังกัดในฐานะข้าราชการบำนาญ  มีค่าใช้จ่ายที่เบิกไม่ได้เกือบสามพันบาท  ที่เมื่อไปจ่ายจริงได้ส่วนลดในฐานะสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าศิริราช เหลือไม่ถึง ๑,๗๐๐ บาท  ยามแก่ผมได้รับการดูแลอย่างดีจากสังคมไทย  และจากหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของศิริราช  ขอได้รับความขอบคุณอย่างสูง

บันทึกการผ่าตัดตาครั้งแรก ที่นี่

 

เช้าวันที่ ๕ เม.. ๕๖ ผมไปตรวจติดตามผลตามนัด  อ. วิมแนะนำให้พักใช้สายตามากหน่อย เพื่อไม่ให้ตาแห้ง  และแนะนำให้สวมแว่นกันแดด เพื่อกันแสงยูวี  เพราะเลนส์เทียมกรองแสงยูวีได้น้อย ทำให้จอตาเสื่อมง่าย  ท่านถามผมเรื่องการเดิน ว่ากะระดับยากไหม ผมตอบว่าปกติ  ท่านบอกว่าต่อไปนี้ขึ้นลงบันไดได้ตามปกติ  แต่ห้ามโดนน้ำ และฝุ่น  ท่านถามผมว่าใช้ตามากไหม ผมบอกว่า ๕๐%  แต่ท่านฉลาดมาก แอบไปถามสาวน้อย ผมโดนสาวน้อยใส่ไฟ ว่าใช้ตลอดเวลา  นอกจากนั้นยังบอกว่าตอนขนตายาวขึ้นมันจะทำให้เคืองตาอยู่ระยะหนึ่ง  พอมันยาวดีแล้วอาการเคืองตาก็จะหายไปเอง

ผมมาตกใจตอนค่ำวันที่ ๕ ที่รู้สึกคล้ายมีอะไรเข้าตา เป็นอยู่ระยะหนึ่ง  บอกสาวน้อยให้ช่วยดู ก็ว่าไม่มีอะไร  เขาเช็ดตาให้ ก็หาย  จึงรู้ว่าอาการมาจากขนตาทิ่มเปลือกตา

เรื่องขนตาสั้นและทำให้ระคายตานี้ ผมคอยเอาสำลีชุบน้ำเกลือเช็ดตา  วันหนึ่งไปที่ สคส. คุณแอนน์ถามเรื่องตา  ผมจึงบอกว่ากำลังเคืองตาด้านขวาที่ผ่าตัดอยู่พอดี  เธอจึงช่วยดูให้  และบอกว่ามีเศษสำลีติดอยู่ที่ปลายขนตา เสียดสีกับตาจึงทำให้รู้สึกเคืองตา  เธอใช้มือหยิบออกให้  โดยบอกว่ามีความชำนาญเพราะทำให้คุณพ่อบ่อย  ผมจึงได้วิธีหยิบเศษสำลีออกจากขนตาเอง


เช้าวันที่ ๑๗ เม.. ๕๖ผมไปตรวจตาอีกตามนัด  อ. วิม บอกว่าเรียบร้อย  แต่ต้องตัดแว่นใหม่  เพราะตาเอียงลดลงไปมาก  ให้หยอดยาจนหมดหรือครบเดือนก็เลิกได้  ผมอาบน้ำได้ สระผมเองได้ โดยต้องไม่ให้น้ำเข้าตา  ห้ามล้างหน้า เป็นเวลา ๑ เดือนหลังผ่าตัด

ชีวิตเข้าสู่ปกติวันที่ ๑ พ.ค. ๕๖

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ เม.ย. ๕๖  เพิ่มเติม ๕ เม.ย. ๕๖  และ ๒๐ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538176

 

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

หนังสือเล่มนี้มีเพียง ๖ บท  และผมได้ตีความเขียนเองจบบทที่ ๖ แล้ว  แต่หลังจากนั้นยังมีบทตาม ชื่อ Afterword  เขียนโดยผู้เขียนทั้งสอง คือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc

การศึกษามีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนคนรุ่นหลังให้มีพัฒนาการเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ทั้งด้านปัญญา (intellectual), อารมณ์ (emotional), สังคม (social),  และจิตวิญญาณ (spiritual)  ซึ่งหมายความว่า ต้องเป็นการเรียนรู้ในมิติเชิงศีลธรรม และคุณค่า (เช่น มีเมตตากรุณา ความยุติธรรมในสังคม การแสวงหาความจริง) ด้วย  ผลลัพธ์เชิงบูรณาการเช่นนี้ ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการเรียนรู้แบบแยกส่วน  ต้องเรียนรู้แบบบูรณาการ แบบที่งอกงามมาจากข้างในของแต่ละบุคคล

การเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ต้องทั้งเรียนเดี่ยว และเรียนเป็นทีม  ทั้งเรียนโดยลงมือทำ และโดยการทบทวนไตร่ตรองสะท้อนความคิด

เป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ให้คุณค่าต่อความเป็นมนุษย์  และส่งเสริมให้ความเป็นมนุษย์งอกงามออกมาจากภายในตน

อุดมศึกษาต้องเป็นอุดมศึกษาที่มีวิญญาณของความเป็นมนุษย์  ไม่ใช่อุดมศึกษาของความรู้ที่เป็นกลไก แห้งแล้งไร้น้ำใจ ไร้มิติเชิงอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ

ผมตีความว่า  การเรียนให้รู้วิชา ไม่เพียงพอ  ต้องเรียนให้ความเป็นเทพในร่างมนุษย์งอกงาม  โดยในกระบวนการเรียนรู้ ต้องบูรณาการจิตตปัญญาศึกษา เข้าไปด้วย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538181

 

แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ

พิมพ์ PDF

แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ ข้อมูลจากหนังสือ พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม หน้า 17-20 โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

ปรัชญาเมธีในยุคนี้ยังเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัวจึงสามารถพัฒนาและปรับสภาพธรรมชาติของสังคมที่พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นว่ามนุษย์มีขีดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันโดยสมัครใจเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันและดำรงสันติภาพของสังคมเอาไว้ เมื่อพิจารณาทัศนะดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่านักคิดทางการเมืองในยุคคลาสสิคได้เป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวคิดว่าด้วยประชาคมสังคม เป็นแนวคิดเริ่มต้นที่เข้าใจว่า "ประชาสังคม" คือสังคมของพลเมืองที่มีความหมายในลักษณะเป็นสมาคมทางการเมืองของพลเมือง ตามแนวคิดในยุคโบราณนี้ ประชาคมสังคมกับรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้

แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ หมายถึง ปรัชญาการเมืองในยุคกรีกและโรมัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายุคคลาสสิค (Classical Tradition) .ในยุคนี้เข้าใจว่า "ประชาสังคม" หมายถึง สมาคมทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมโดยการออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้พลเมืองต้องทำร้ายซึ่งกันและกัน (Michael Edward.Civil Society.Cambridge : Polity Press,2004 page.6)

ในยุคนี้ แนวคิดประชาสังคมใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า สังคมที่ดี (good society) และมองว่าประชาสังคมไม่สามารถแยกให้เห็นความแตกต่างไปจากคำว่ารัฐ (state) ตัวอย่างเช่น โสเครติส (Socrates มีชีวิตอยู่ในช่วง 469 ถึง 399 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชาวเอเธนส์ ได้เผยแพร่คำสอนว่า ความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมควรจะได้รับการแก้ไขโดยผ่านกระบวนการถกเถียงสาธารณะโดยอาศัยหลักเหตุผลหรือที่เรียกกันว่า วิภาษวิธี (dialectic) เพื่อค้นหาความจริง ตามความเห็นของโสเครตีส การถกแถลงสาธารณะหรือการสานเสวนาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้ใส่ใจต่อบ้านเมือง (civility) และเพื่อสร้างวิถีชีวิตที่ดีในประชาคมทางการเมือง (polis)

ต่อมาเพลโต (Plato มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 427 ถึง 347 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เสนอแนวคิดรัฐในอุดมคติว่าเป็นสังคมที่อยู่กันอย่างมีทำนองคลองธรรมเป็นสังคมที่ประชาชนได้อุทิศตนให้กับความดีร่วมของคนทั้งมวล (common good)  ประพฤติปฏิบัติตนด้วยความประเสริฐทางศีลธรรม ผู้คนแสดงออกถึงปัญญา ความกล้าหาญ ความพอเพียง และความยุติธรรม ประชาชนประกอบอาชีพตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ผู้เป็นราชาจะต้องเป็นผู้ปราชญ์เปรื่อง เรียกว่า ราชานักปราชญ์ (philosophy king) มีหน้าที่ปกป้องดูแลการดำเนินกิจกรรมของประชาชน ที่แสดงความใส่ใจต่อบ้านเมือง

นักปรัชญาคนต่อมาที่กล่าวถึงประชาสังคมคือ ศิษย์ของเพลโต ชื่อว่า อริสโตเติล (Aristotle มีชีวิตอยู่ในช่วง 384 ถึง 322 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กล่าวว่า ประชาคมทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันจนเป็นเมืองหรือนครซึ่งอริสโตเติลใช้คำว่า polis ซึ่งเดิมโสเครติสให้ความหมายว่าคือประชาคมทางการเมือง แต่ polis ในความหมายของอริสโตเติล หมายถึงสมาคมแห่งสมาคมทั้งหลาย (association of associations) ที่พลเมืองมาแลกเปลียนความเห็นเกี่ยวกับการงานด้านการเมืองและการปกครองอย่างมีคุณธรรม การมาร่วมกิจกรรมเป็นสมาคมแบบนี้  อริสโตเติลใช้คำว่า koinonia politike มีความหมายเป็นชุมชนทางการเมือง (political community)

.ในสมัยโรมันปรัชญาเมธี ชื่อ ซิเซโร (Cicero มีชีวิตอยู่ในช่วง 106 ถึง 43 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับสังคมของพลเมือง (societas civilis) เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ซิเซโรให้ความสำคัญกับสังคมของพลเมืองว่าเป็นสังคมที่ดี (good society) อันเป็นหลักประกันถึงความมีสันติและมีระเบียบทางสังคมของประชาชน สังคมพลเมืองเป็นพื้นที่ปริมณฑลที่พลเมืองมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิต ประชาสังคมตามนัยของซิเซโรก็คือ สังคมที่ดีของพลเมือง

ปรัชญาเมธีในยุคคลาสสิคที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้แยกสภาพความเป็นรัฐกับความเป็นสังคมออกจากกัน แต่มีความเห็นว่ารัฐเป็นรูปแบบสังคมของชาวประชา การที่พลเมืองแสดงออกถึงความใส่ใจต่อบ้านเมืองเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะแสดงออกถึงความดีของความเป็นพลเมือง

ปรัชญาเมธีในยุคนี้ยังเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัวจึงสามารถพัฒนาและปรับสภาพธรรมชาติของสังคมที่พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นว่ามนุษย์มีขีดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันโดยสมัครใจเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันและดำรงสันติภาพของสังคมเอาไว้ เมื่อพิจารณาทัศนะดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่านักคิดทางการเมืองในยุคคลาสสิคได้เป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวคิดว่าด้วยประชาคมสังคม เป็นแนวคิดเริ่มต้นที่เข้าใจว่า "ประชาสังคม" คือสังคมของพลเมืองที่มีความหมายในลักษณะเป็นสมาคมทางการเมืองของพลเมือง ตามแนวคิดในยุคโบราณนี้ ประชาคมสังคมกับรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้

เมื่อเวลาผ่านเข้าสู่ยุคกลาง (Middle Ages) ประเด็นความสนใจของนักปรัชญาการเมื่องได้เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากสภาพสังคมของยุโรปมีการจัดการปกครองในระบบศักดินา ( Feudalism) แนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมในยุคคลาสสิคได้หายไปจากกระแสความสนใจ ประเด็นที่นักปราชญ์ในยุคนี้สนใจคือปัญหาของสงคราม เป็นประเด็นกระแสหลักที่ถกกันจนกระทั่งสิ้นสุดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

6 มิถุนายน 2556

 

 

 


หน้า 477 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8657751

facebook

Twitter


บทความเก่า