Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ประชาธิปไตย

พิมพ์ PDF

 

ประชาธิปไตยในสังคมไทย

ข้อความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" ของ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

คำว่า "ประชาธิปไตย" นั้น แท้จริงแล้วก็คือระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้สำหรับทุกคนได้เป็นตัวแสดง ไม่ให้ใครมาผูกขาดคิดรับเหมาทำแทนโดยไม่ผ่านการยอมรับได้ง่ายๆ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้พูดไว้ในหนังสือการเมืองของพลเมืองฯว่า "ประชาธิปไตยนั้นมีเนื้อหาและวิญญาณที่เป็นเอกอุ คือการปกครองของเราเอง เพื่อเราเอง และที่ตอกย้ำให้ถึงที่สุดก็คือโดยพวกเรากันเอง" พูดง่ายๆก็คือ การปกครองกันเอง การปกครองแบบนี้ คนในสังคมก็ต้องพูดกันรู้เรื่อง มีเหตุมีผล มีวิจารณญาณและมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เฮกันไปตามวาทกรรมของผู้นำ หรือนักการเมืองที่มักผูกขาดการชี้นำแบบเผด็จการ

โดยที่ประชาธิปไตยนั้น เป็นทั้งระบอบการเมืองและวิถีชีวิต บิดาทางรัฐศาสตร์ของตะวันตก ได้แก่ เพลโต (Plato) และอาริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้กล่าวไว้ว่า ระบบการเมือง-การปกครอง กับพฤติกรรมมนุษย์ หรือบุคลิกภาพและวัฒนธรรมการเมืองของสมาชิกในสังคมนั้นจะต้องสอดคล้องกัน จากความเห็นดังกล่าว การสร้างพลเมืองให้สอดคล้องกับระบบการปกครอง ก็จะเป็นการค้ำจุนตัวระบอบ ซึ่งการใช้ชีวิตจนเป็นวิถีชีวิตของพลเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของระบอบก็จะทำให้การเมืองมีความมั่นคง

สำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทยขณะนี้ หากอนาคตของประเทศอยู่ที่ประชาธิปไตย และพลเมืองคือผู้สนับสนุนค้ำจุนตัวระบอบ เรายังไม่มีฉันทานุมัติ (Consensus) ในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐที่ควบคุมกลไกทางการเมือง กับพลเมืองผู้เป็นที่มาของอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้ปัญหาที่ทับซ้อนกันก็คือ เราจะ "สร้างพลเมือง" หรือเปลี่ยนแปลงประชาชนให้เป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตและมีวัฒนธรรมการเมืองที่สอดคล้องกับระบอบการเมืองหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อย่างไร และโดยวิธีใด

สิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นก็คือสังคมไทยอ่อนแอ ไม่อาจแก้ปัญหาเมื่อเผชิญกับวิกฤติใหญ่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐  วิกฤติการเมือง ความแตกแยกแบ่งสี ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ และวิกฤติมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ สิ่งที่น่าพิจารณาคือ หลังการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ จวบจนปัจจุบัน ทั้งกลไกการเมืองระดับบนสุด และกลไกบริหารด้านต่างๆของรัฐมิได้มีความแข็งแกร่งหรือความสามารถในการจัดการเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้วได้ แม้ว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายหลังปี ๒๔๗๕ คือ การขยายมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง โดยการนำเอาระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ระบอบเดิม แต่ก็ปรากฎว่ามิตินี้ยังไม่สามารถผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นแน่นหนาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ ค่านิยม และด้านสถาบันทางการเมือง ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ทำให้บทบาทของรัฐราชการมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เมือถึงประเทศไทย จึงทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีขึ้นได้ก็โดยผ่านการเลือกตั้ง และการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด การมีบทบาททางการเมืองของประชาชนจึงถูกจำกัดอยู่เพียงการเป็น "ผู้เข้าร่วม" ทางการเมือง หาใช่ผู้ "มีส่วนในการกระทำร่วม" ทางการเมืองตลอดระยะเวลานับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ในอีก ๑ ขวบปีข้างหน้าคือปี ๒๕๕๕ ก็จะครบรอบ ๘๐ ปี ของการนำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศ และคนไทยมีรัฐธรรมนูญใช้แล้วถึง ๑๘ ฉบับ แต่ความเข้าใจและความรู้ทางการเมืองของคนไทยยังอยู่ในลักษณะจำกัด ความอ่อนแอของสังคมจึงสะท้อนได้จากการไม่สามารถสร้างมิติการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เป็นพลังสังคมร่วมกับรัฐในการพัฒนาความมั่นคงทางสังคม เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติใหญ่ๆ ของชาติไปให้ได้ เรื่องการเมืองจึงยังไม่สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนไทยโดยทั่วไป หรืออาจกล่าวได้ว่า คนไทยยังขาดวัฒนธรรมการเมือง จึงควรที่เราจะได้ทำความคุ้นเคยกับ "การเมือง" ให้มากขึ้น เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกเรื่อง ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  การไม่สนใจการเมืองและไม่มีความรู้และความเข้าใจการเมือง จึงมีผลทำให้คนไทยถอยห่างจากการเมืองมากขึ้น และปล่อยให้ธุระทางการเมืองเป็นเรื่องของข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ และกลายเป็นธุรกิจการเมืองไปแล้ว  เมื่อข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองในทุกระดับ จึงเกิดการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ กลายเป็นมะเร็งร้ายทางการเมืองที่กัดกร่อนสังคมไทยอยู่ในทุกวันนี้

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในบันทึก " การเมือง"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:02 น.
 

"การเมือง " คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

พิมพ์ PDF

 

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

คำว่า "การเมือง" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "Polis" เป็นคำกรีกโบราณ แปลว่า เมือง ส่วนการเมืองก็คือกิจกรรมที่ทำกันในเมืองเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตส่วนรวม ในความหมายนี้ การเมืองจึงเป็นเรื่องกิจสาธารณะ เรื่องของประโยชน์ส่วนรวม การเมืองจึงเป็นกิจกรรมธรรมชาติเพื่อมนุษย์ชาติ รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมือง และการเมืองมิใช่มีไว้สำหรับนักการเมืองเท่านั้น ดังที่อาริสโตเติ้ล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "โดยธรรมชาติแล้วพวกเราล้วนเป็นผู้สร้างการเมือง"

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

สำหรับการเมืองในประเทศไทยที่เราได้เห็นมี ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ การเมืองแบบตัวแทน โดยประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง อำนาจทางการเมืองถูกจำกัดวงอยู่ในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ การเมืองในแบบแรกถูกผูกขาดโดยนักการเมืองหรือรัฐบาล ดังจะเห็นนโยบาลและโครงการต่างๆที่รัฐบาลประกาศออกมาโดยประชาชนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ เป็นการเมืองที่ผูกขาดการให้บริการ และประชาชนรอรับการบริการ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดีก็ตาม

ส่วนประเด็นที่สอง คือการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคพลเมือง ถือเป็นอำนาจทางการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากพลังในสังคมนอกกลไกรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นอำนาจที่มาจากประชาสังคม (civil society) ซึ่งหมายถึง สถาบันและพลังต่างๆในสังคมที่มิใช่สถาบันของรัฐ ซึ่งได้แก่ ส่วนเอกชน อันหมายรวมถึงองค์กร และพลังอาสาเอกชนที่อยู่นอกสถาบันอำนาจรัฐด้วย

เป็นการเมืองที่พลเมืองเชื่อว่าตนสามารถเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีได้ แก้ปัญหาได้ เป็นการเมืองที่คนสนใจต่อปัญหาสังคมและต้องการแก้ไข โดยการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร สมาคม หรือชุมชน  เพื่อทำกิจสาธารณประโยชน์น้อยใหญ่ เป็นอิสระจากกลไกอำนาจรัฐ ไม่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและรัฐบาลเท่านั้น พลเมืองจึงไม่ใช่เพียงผู้หย่อนบัตรเลือกตั้ง และปฎิบัติตามกฎหมาย

"การเมือง" จึงมิใช่จะสัมพันธ์กับสิ่งที่นักการเมืองทำไปทุกเรื่อง แต่เมื่อการเมืองเป็นเรื่องกิจสาธารณะ การเมืองของพลเมืองจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้เดือดร้อนมองเห็นปัญหาและอยากแก้ไขให้ชุมชนปลอดภัยน่าอยู่และมีสันติสุข การเกิดขึ้นของพลังสังคมในรูปของประชาสังคม หรือกลุ่มพลเมืองที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ การศึกษา ฯลฯ เหล่านี้จึงทำให้พลเมืองมีความหมายในทางการเมืองของสังคมประชาธิปไตย และเป็นความหมายที่กว้างทำให้การเมืองครอบคลุมการกระทำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะ แม้ว่าทุกเรื่องทุกอย่างจะไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง แต่ก็มีมิติทางการเมืองอยู่ในแทบทุกเรื่องที่นำพาผู้คนแม้ไม่รู้จักกันให้มาร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมสาธารณะ (Civic Engagement) ตั้งแต่ระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องโรคเอดส์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เป็นต้น พลเมืองจึงเป็นผู้มีส่วนกระทำ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการเมืองที่พลเมืองต้องการมีพันธะทางการเมือง                       (Political Engagement)

สถานะของพลเมืองจึงเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างการเมือง ดังที่ อาริสโตเติ้ล ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ความเป็นพลเมืองจึงมิใช่ผู้ชมหรือผู้เคราะห์ร้ายทางการเมือง แต่บทบาทนี้ได้เปลี่ยนเขาจากการเป็นประชาชนที่รอชมและเรียกร้องโอกาสจากรัฐบาล จากเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่รอการช่วยเหลือมาเป็น "ผู้กระทำ" ที่สามารถทำการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ และกลายเป็นอำนาจทางการเมืองใหม่ ที่พลเมืองสร้างขึ้นด้วยตัวเอง" นี่คือความแตกต่างระหว่างประชาชนกับพลเมืองสำหรับประเทสของเราจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตใจประชาธิปไตยเช่นนี้ได้

สำหรับสังคมไทย นอกจากคำว่า "พลเมือง" ที่ใช้ในความหมายของความเป็นพลเมืองแล้ว คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็มักจะใช้คำว่าประชาชนด้วย  ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ประชาชน" (people) นั้น มีมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง (non-ruler) ในสมัยโบราณนั้นประชาชนเป็นไพร่หรือทาสเกือบทั้งหมด การเมืองสมัยใหม่ได้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นไพร่หรือทาส ให้กลายเป็นเสรีชนที่มีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน กลายเป็นราษฎร์  เป็นประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และต้องยึดถือปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเช่นกันหมด การจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องเปลี่ยนราษฎรหรือประชาชนให้เป็นพลเมืองด้วย สำหรับประเทสตะวันตกโดยความหมายของพลเมืองนั้น คือ ผู้ที่นอกจากเสียภาษีและปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังต้องมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมีสิทธิเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่วนรวมร่วมกับรัฐด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ การสร้างความตระหนักของบทบาทพลเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยยังไม่มีพลังและขาดความต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองจึงเป็นการเข้าร่วมทางการเมืองโดยผ่านตัวแทนคือการเลือกตั้งเท่านั้นและยังต้องตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของการแก่งแย่งผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองในระดับชนชั้นนำ ที่มีรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีเผด็จการรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงถูกกีดกันออกจากการเมืองมากยิ่งขึ้น ทำให้พลังประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่มีความต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นรัฐราชการโดยมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้แนวคิดเรื่องการสร้างพลเมือง หรือกระบวนการกล่อมเกลา (socialization) ทางสังคมเพื่อให้มีพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองจึงยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

โดยที่หัวใจปรัชญาของประชาธิปไตย คือการปกครองกันเอง พึงตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการพลเมืองที่มีวัฒนธรรมของพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ( Responsibility) ต่อบ้านเมืองหรือส่วนรวม มีความเสียสละต่อส่วนรวม และรวมกลุ่มเพื่อทำงานส่วนรวม (Civic Engagement) มีความเป็นอิสระ (Freedom) รักในเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์  เคารพในความเสมอภาค (Human Rights) ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ถือว่าตนเป็นพลเมืองของประเทศซึ่งมีหน้าที่พื้นฐานต่อบ้านเมืองร่วมกัน  ความพยายามใดๆ ของชุมชนท้องถิ่นที่พยายามพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาจากการร่วมจิตร่วมใจของคนในชุมชนด้วยกันจนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเสียเวลารอนโยบายจากรัฐ-ราชการ  ไม่ว่าท้องถิ่น หรือระดับชาติ เป็นการลดการพึ่งพาจากภายนอก แต่สามารถผนึกผสานพลังจากภายในชุมชนด้วยกันเอง จึงนับว่าเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ในระดับชุมชนอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงเป็นประชาธิปไตยที่อุดมด้วยคุณธรรม เพราะชุมชนมีจิตใจที่เสียสละ ทำความดีร่วมกัน เป็นสำนึกประชาธิปไตย สำนึกสาธารณะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นฐานที่แข็งแกร่งในการสร้างพลเมืองในระดับฐานรากของสังคม

โปรดติตามอ่านตอนต่อไปในบันทึกหัวข้อ "คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:05 น.
 

วิถีไทยกับการสร้างความเป็นพลเมือง

พิมพ์ PDF

 

พลเมืองมีส่วนเป็นผู้กระทำ มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบ และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ

บันทึกนี้คัดลอกจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

"ความเป็นพลเมือง" เป็นคำที่เริ่มใช้กันมากขึ้นในช่วง ๒ ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง   ที่พลังจากประชาชนในสังคมรวมตัวเข้าร่วมขับเคลื่อนกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเป็นอำนาจทางการเมืองที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ จนเกิดการเมืองของพลเมืองที่มีการขยายตัวและทำงานในรูปแบบต่างๆโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากรัฐ เช่น องค์กร สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ          การศึกษา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดจากพลังทางการเมืองของประชาคมหรือภาคพลเมืองที่เห็นเด่นชัดก็คือ การต่อต้านอำนาจทหารในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕  และหลังจากนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสังคม ทั้งด้านการเมือง การศึกษา สาธารณะสุข สื่อสาธารณะ และการกระจายอำนาจ กระทั่งสามารถผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็นฉบับที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคพลเมือง และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างมากที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง เช่นให้อำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล โดยมีกลไกการตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระหลายองค์กร ให้มีการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองเพื่อพัฒนาการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นต้น

 

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ คำว่า "พลเมือง" เป็นคำสำคัญที่ได้รับการบันทึกไว้ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย "ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันเป็นช่วงเวลาของปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงในเรื่องของปัญหาประชาธิปไตยที่ได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

นอกจากนี้ องค์กรภาครัฐก็ได้มีการทำงานด้านการสร้าง"พลเมือง" อย่างแข็งขันหลายองค์กร อาทิเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สถาบันพระปกเกล้า และสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น  รวมทั้งภาคประชาชนหรือภาคพลเมืองก็ได้มีการเคลื่อนไหวด้านการ"สร้างพลเมือง" โดยกลุ่มองค์กร สมาคม และนักวิชาการอิสระทำการศึกษาเพื่อหารูปแบบ "การสร้างพลเมือง" ที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาก่อนนี้หลายปีแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิทางการเมืองของประเทศเยอรมัน เช่น สถาบันนโยบายศึกษาที่ทำงานด้านการส่งเสริมกระบวนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ จึงเป็นที่เด่นชัดว่าสังคมไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในความต้องการที่จะสร้างคนในทิศทางที่จะให้เป็น "พลเมือง"ในแบบของประชาธิปไตย ดังที่งานของสถาบันพระปกเกล้า กำหนดหัวข้อไว้ว่า "ความเป็นพลเมือง กับอนาคตประชาธิปไตยไทย" ซึ่งหมายความว่า ประชาธิปไตยไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ก็ด้วยการกำหนดของพลเมืองไทยนั่นเอง

แต่"ความเป็นพลเมือง" สำหรับคนไทยและสังคมไทยก็ยังไม่มีการทำความเข้าใจให้ตรงกันชัดเจน การใช้คำว่าประชาชนและพลเมืองจึงถูกใช้ควบคู่กันไปอยู่เสมอโดยมิอาจแยกแยะความหมายและความสำคัญของคำดังกล่าว

การพูดถึง "ความเป็นพลเมือง" ในทุกวันนี้ เราพึงเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า เรากำลังพูดถึง "พลเมือง" ในความหมายของคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะคำว่า "พลเมือง" มีปรากฎอยู่ในทุกระบอบการปกครองของแต่ละประเทศ แต่พลเมืองจะมีบทบาท หน้าที่  และบุคลิกภาพอย่างไรก็อยู่ที่ระบอบทางการเมืองของรัฐนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของรัฐที่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและค้ำจุนโดยคนในสังคมหรือประชาชนนั่นเอง ซึ่งรวมถึงวิถีชีวิต การกินเป็น-อยู่เป็น และคิดเป็นอย่างไร ล้วนอยู่ที่การเมืองการปกครองนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ กึ่งเผด็จการประชาธิปไตย หรือกึ่งประชาธิปไตย และประชาธิปไตย ผู้อยู่ภายใต้ระบอบนั้นๆก็จะถูกออกแบบมาให้อยู่ตามครรลองของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆจนกลายเป็นวัฒนธรรม หรือเป็นวิธีปฎิบัติ เช่น ระบอบเผด็จการ พลเมืองก็จะเป็นผู้รับสนองนโยบายของรัฐ  เคารพกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นผู้ตามที่ดี  ไม่ต้องมีความคิดเห็นเป็นผลดีที่ไม่กล้าโต้แย้ง เพราะถูกจำกัดเสรีภาพและรัฐทำให้ทุกอย่างอยู่แล้ว ดังที่เราเคยได้ยินคำว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ซึ่งลักษะเช่นนี้อยู่ในขั้วตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ให้อิสระการคิด การแสดงออก กระทั่งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมและการเมืองได้

ความเป็นพลเมืองในสังคมเผด็จการและประชาธิปไตย จึงมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดร.วิชัย ตันศิริ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เป็นหัวหอกให้เกิดการปฎิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของความเป็นพลเมืองไว้ ๒ ลักษณะในหนังสือวัฒนธรรมพลเมือง ความเป็นพลเมืองในความหมายเก่า หมายถึงการเป็นผู้รับ คอยแบบมือรับทั้งผลบวกและผลลบจากนโยบายรัฐบาล การเป็นพลเมืองจึงเป็นเพียงผู้ตาม ผู้ปฎิบัติตามคำสั่งและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นพลเมืองที่ยอมรับอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ คือ เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองนั่นเอง

ความเป็นพลเมืองในความหมายใหม่ คือ พลเมืองมีส่วนเป็นผู้กระทำ มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบ และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ อันเป็นความหมายของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ที่มองเห็นการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่พลเมืองต้องเข้าร่วมรับผิดชอบ ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมือง ผู้นำ หรือรัฐบาลเท่านั้น

โปรดติดตามตอนต่อไปในสมุดบันทึก "ประชาธิปไตย"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2013 เวลา 23:56 น.
 

สมาชิกศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

พิมพ์ PDF

สวัสดีครับ ท่านสมาชิกที่เข้าลงทะเบียนในเวปไซด์ ทุกท่าน

ขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกในเวปไซด์ ทุกท่านจะได้รับสิทธฺิเป็นสมาชิกของ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ มูลนิธินี้เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคนไทยทุกคน ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อช่วยกันพัฒนาคนไทยให้มีความเข้มแข็ง มีความฉลาด มีปัญญาและความรู้ และเป็นคนดี สร้างโอกาสให้กับคนทุกชนชั้น เป็นเวทีให้กับผู้ที่ขาดโอกาส สมาชิกทุกคนจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ โปรดอดใจรอสักนิด ขณะนี้กรรมการผู้จัดตั้งมูลนิธิกำลังร่างแผนการดำเนินงานของมูลนิธิ ในช่วง 3 ปี นับจากปี 2556-2558 เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ทางผมจะติดต่อท่านสมาชิกทุกท่าน สำหรับท่านที่ยังไม่ได้สมัครสมาชิก ขอได้โปรดสมัครได้เลยครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สุดท้ายนี้ ขออาราธานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ช่วยดลบันดาลให้คนไทยทุกคนมีความสุข หมดทุกข์ หมดโศก เตรียมพร้อมเข้าสู่ความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

ด้วยความจริงใจ

นับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

กรรมการและเลขาธิการ

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2012 เวลา 15:01 น.
 

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

พิมพ์ PDF

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์จัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยการรวมตัวของคนไทยจำนวน 23 ท่าน โดยมีวัตถุประสงค์ให้มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เป็นมูลนิธิของคนไทย เพื่อคนไทย คนไทยทุกคนสามารถเป็นเจ้าของมูลนิธิและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ สร้างมูลค่าให้กับตัวเอง ครอบครับ สังคม และประเทศชาติ ไม่เป็นภาระให้ใคร

มูลนิธิศูนย์บรูณาการพัฒนามนุษย์ เป็นองค์กรที่บูรณาการสิ่งต่างๆเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทย

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ทำงานร่วมกับ

๑.คนที่ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ต้องการหางานที่เหมาะสมกับความสามารถและทำงานอย่างมีความสุข มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่มั่นคงและยั่งยืน

๒.องค์กรที่ต้องการอยู่รอดมีความมั่นคง  ต้องการเจริญเติบโต มีความสามารถในการแข่งขัน ต้องการที่ปรึกษา ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถ มีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ

๓.คนที่มีความพร้อมและมีความสามารถ มั่นคง ต้องการช่วยเหลือสังคม

๔.องค์กรที่มีความพร้อม มั่นคง ต้องการช่วยเหลือสังคม

หน้าที่ของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

๑.ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดัน ให้มีการสร้างความเป็นเลิศโดยการพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

๒.เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และการสร้างความร่วมมือ เพื่อการพัฒนามนุษย์ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

๓.ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรในสาขาวิชาชีพต่างๆ

๔.จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรทั่วไป

๕.ให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์แก่องค์กรต่างๆ และบุคคลทั่วไป

๖.ศึกษา วิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับการพัฒนามนุษย์

๗.ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศาสนา

๘.ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านสังคมสงเคราะห์

๙.ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศลและองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์

๑๐.ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

 

รายชื่อและตำแหน่งกรรมการก่อตั้งมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

1.  ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์    ประธานกรรมการมูลนิธิ

2.  ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก  รองประธานกรรมการมูลนิธิ

3.  นายกิตติ คัมภีระ    รองประธานกรรมการมูลนิธิ

4.  น.สพ.สมชัย วิเศษมงคลชัย  รองประธานกรรมการมูลนิธิ

5.  นายธวัชชัย แสงห้าว  รองประธานกรรมการมูลนิธิ

6.  ดร.ธรรมชัย เชาว์ปรีชา  รองประธานกรรมการมูลนิธิ

7.  ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท  กรรมการและเลขาธิการ

8.  ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี    กรรมการและเหรัญญิก

9.  นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล  กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

10.  นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

11.  ดร.วีรชัย วงศ์บุญสิน  กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

12.  รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล  กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

13.  นางโสทรินทร์ โชคคติวัฒน์  กรรมการ

14.  นายสยาม เศรษฐบุตร  กรรมการ

15.  นายสามารถ ดวงวิจิตรกุล    กรรมการ

16.  นายพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล  กรรมการ

17.  นายวิสูตร เทศสมบูรณ์  กรรมการ

18.  นายกรพชร สุขเสริม  กรรมการ

19.  นายทำนอง ดาศรี    กรรมการ

20.  นายชนินท์ ธำรงวิทวัสพงค์  กรรมการ

21.  ผศ.ชัยธนัตถ์กร ภวิศพิริยะกฤติ    กรรมการ

22.  นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์    กรรมการ

 

ผู้ใดสนใจมีส่วนร่วมกับมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ สามารถแจ้งความจำนง ไปที่ e-mail address : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หรือเข้าไปลงทะเบียนได้ในเวปไซด์ www.thaiihdc.org

โปรดติดตามการแถลงข่าวเปิดตัวของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ในเร็วๆนี้

 

· เลขที่บันทึก: 510736 
· สร้าง: 2 ธ.ค. 2012 20:44:02 · น้อยกว่าหนึ่งนาทีที่แล้ว · แก้ไข: 2 ธ.ค. 2012 20:44:02

 


หน้า 516 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8626127

facebook

Twitter


บทความเก่า