Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

หลักสูตรในกระดาษกับหลักสูตรในการปฏิบัติ เป็นคนละสิ่ง

พิมพ์ PDF

 

นี่คือข้อสรุปในสภาสถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗ ในวาระอนุมัติหลักสูตรด้านการศึกษา ๒ หลักสูตร

 

เพราะสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาทางเลือก จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นที่การปฏิบัติ เน้น Active Learning หรือเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่เอกสารหลักสูตร ตามรูปแบบที่คุรุสภากำหนดให้เขียนนั้น เป็นรูปแบบโบราณ คือเน้นการสอน

 

ผมจึงถามฝ่ายบริหารว่า ที่เขียนมาอย่างที่เสนอนั้น หมายความว่าเวลาทำ ไม่ได้ทำตามนั้นใช่ไหม ที่ประชุมฮากันตึง และฝ่ายบริหารบอกว่า คณาจารย์ทั้งหลายอยากให้มีคนถามคำถามนี้ใจจะขาด เพราะอึดอัดกับการเขียนอย่างทำอย่าง

 

ที่ทำไม่ตรงกับเขียนนั้น ไม่ใช่เพื่อเอาสบายหรือสะดวก แต่เพื่อคุณภาพที่สูงกว่าวิธีการแบบสอน แยกเป็นรายวิชา ที่ใช้กันโดยทั่วๆ ไป

 

ฝ่ายบริหารเล่าว่า คุรุสภาส่งทีมมาตรวจสอบ ทางสถาบันฯ ก็บอกตามความเป็นจริงว่าจัดการเรียน การสอนอย่างไร ทีมตรวจสอบบอกว่าดี จะขอความร่วมมือปรับปรุงมาตรฐานครูมาในภายหลัง

 

นี่คือสภาพที่ปฏิบัติดีกว่าที่ระบุในกระดาษ ผมขอความรู้จากท่านผู้อ่านว่า ไอ้ที่ปฏิบัติห่วยกว่าในกระดาษมีไหมครับ และอยากทราบว่าเป็นหลักสูตรอะไร ที่ไหน (ไม่อยากบอกก็ไม่ต้องบอก) และทำอย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๑ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๘. เตรียมตัวไปนอร์เวย์และฟินแลนด์

พิมพ์ PDF

 

สถาบันอาศรมศิลป์ จัดการเดินทางไปนอร์เวย์และฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อไปหารือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่นอร์เวย์ และร่วมมือด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย กับประเทศ ฟินแลนด์ โดยที่ฝ่ายไทยเป็นเครือข่ายภาคเอกชน ส่วนฝ่ายฟินแลนด์เป็นรัฐบาล ผมโชคดีได้รับเชิญให้ร่วมคณะไปด้วย

 

เพื่อเตรียมการณ์ความร่วมมือ ท่านเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ Kristi Westphalen ได้ไปรับประทานอาหารเที่ยง และร่วมหารือกันอยู่เกือบ ๔ ชั่วโมง ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๗ ทำให้ผมเข้าใจปรัชญาการศึกษา ของฟินแลนด์ชัดขึ้นมาก และได้ตระหนักยิ่งขึ้นว่า นโยบายและปรัชญาการศึกษามันแนบแน่นอยู่กับนโยบายและปรัชญา ด้านอื่นๆ ของประเทศแบบแยกกันไม่ออก ท่านทูตฯ คงจะศึกษาเมืองไทยมามาก แต่ท่านก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรมลึกๆ ของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมเขียนอย่างทำอีกอย่าง     ผมได้บันทึกความประทับใจจากการพบปะครั้งนั้นไว้ ที่นี่

 

ที่นอร์เวย์เราจะไปพักที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนอร์เวย์ เพราะท่านทูตอ้อม (ธีรกุล นิยม) เป็นน้องชายของท่าน ศิลปินแห่งชาติแบน (ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี ๒๕๕๖) ส่วนที่ฟินแลนด์ผมยัง ไม่ทราบว่าไปพักที่ไหน

 

ที่นอร์เวย์ เราจะไปเจรจาความร่วมมือกับ The Oslo School of Architecture and Design อันมีชื่อเสียง ผมดีใจว่าการไป คราวนี้จะทำให้ผมได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ซึ่งที่จริงคำสดุดี อ. ธีรพล นิยม ในการยกย่อง ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ให้ความกระจ่างเรื่องนี้ไม่น้อย อ่านได้ที่นี่

 

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมจะได้ไปนอร์เวย์ เพื่อเตียมตัว ผมใช้ช่วงเวลาตอนหยุดยาวสงกรานต์ เข้าอินเทอร์เน็ต ค้นด้วยคำว่า “เที่ยวนอร์เวย์” ได้วีดิทัศน์ใน YouTube เรื่อง เที่ยวออสโล นอร์เวย์ ความยาว ๑.๕ ชั่วโมง เข้าใจว่าเริ่มต้นจาก สนามบิน แฟรงค์เฟิร์ต เสียอย่างเดียวไม่มีคำบรรยาย แต่ก็บันทึกเสียงเหตุการณ์จริงไว้ดีมาก ทำให้ได้เห็นสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน และ มือใหม่หัดรีวิว เที่ยวนอร์เวย์ ให้ความรู้ดีมากเช่นกัน

 

รวมความว่า ใน ออสโล มีพิพิธภัณฑ์น่าเที่ยวได้แก่ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Folkemuseum, พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (Museum of Cultural History), และสวนประติมากรรมวิกเกอร์แลนด์

 

ไปที่ฟินแลนด์บ้าง ผมใช้คำค้น “พันธ์ทิพย์ เที่ยวฟินแลนด์” ได้เรื่อง บินเดี่ยว เที่ยวฟินแลนด์ของคุณ Apirasak ไปเมื่อปี ๒๕๕๓ เดือนกันยายน ค้นใหม่ ด้วยคำค้น “เที่ยวฟินแลนด์” ได้เรื่อง ข้อมูลท่องเที่ยวฟินแลนด์เป็นประโยชน์มาก จะเห็นว่าชีวิตสมัยนี้สะดวกสบายจริงๆ ความรู้หาง่ายจนงง ว่าจะเลือกอะไรดี

 

ในยุค ICT ก่อนจะไปจริงๆ เราสามารถไปแบบเสมือน (virtual) ได้

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๓ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:17 น.
 

KM วันละคำ : ๖๒๙. จับตัวความรู้ฝังลึก

พิมพ์ PDF

 

ขอบันทึกต่อจากบันทึกที่แล้ว ว่าผมได้เรียนรู้จากการทำหนังสือเรื่อง Tacit Knowledge in Health Policy and Systems Development ที่นำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อย่างไรบ้าง

 

ในที่ประชุมพูดกันเรื่องการจับตัว (capture) ความรู้ฝังลึก ผมชี้ (ไม่รู้ว่าชี้ถูกหรือชี้ผิด) ว่า นั่นคือการหลงเอาจารีตของ Explicit Knowledge มาใช้กับ Tacit Knowledge

 

จารีตของ EK เป็นจารีตวิทยาศาสตร์/วิจัย เน้นการหาความรู้โดยการทดลองในสภาวะที่ควบคุมได้ แต่จารีตของ TK เป็นจารีตของการลงมือทำ (action) หรือการพัฒนา (development) ในสภาพจริง ที่ไม่มีการควบคุมตัวแปรใดๆ

 

การจับตัวความรู้ฝังลึกออกมาเป็นชิ้นความรู้ จึงไม่ใช่จารีตของ TK และไม่ควรหลงทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และวุ่นวายโดยไม่จำเป็น

 

กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด เพราะเราสามารถ “เห็น” หรือ “ได้กลิ่น” ของ TK ได้ ผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งของการจัดการความรู้ และเราจะได้ภาพหรือกลิ่นชัดโดยตั้งสติรับรู้ด้วย deep listening จะ “ได้ยิน” สิ่งที่ไม่มีอยู่ในถ้อยคำของเรื่องเล่า คือความรู้ฝังลึกมันลึกกว่าตัวตนตามจารีตของ EK มันเป็นนามธรรมที่สัมผัสได้ หากเราจิตว่างพอที่จะสัมผัส

 

ในจารีตของ EK จะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของความรู้ (validate) ดังนั้น เมื่อคนที่อยู่ใน จารีตวิทยาศาสตร์/วิจัย ต้องการทำความรู้จัก TK ก็จะถามหากระบวนการ validate ความรู้นั้น ซึ่งนักจัดการ ความรู้ ก็จะตอบว่า เราไม่ validate แต่เรา appreciate จะเห็นว่าพูดกันคนละภาษา คิดกันคนละแบบ หรือคนละจารีต

 

นักจัดการความรู้ ที่ใช้พลังของ TK จะไม่มัว validate ตัวความรู้นั้น แต่จะ appreciate และเป็นลมส่ง ให้ TK นั้นแสดงพลังทำให้งานยากกลายเป็นงานง่าย งานที่ไม่น่าจะทำได้ เกิดผลสำเร็จ

 

TK มีกระแสแห่งพลัง ที่ไม่ต้องมี “ผู้รู้” มาบงการในเชิงวิชาการ หรือในเชิงจัดการ หากจะหนุน ก็ทำได้โดยเอา EK มาตีความผลของการกระทำ เพื่อยกระดับความเข้าใจ TK ในกระบวนการทำงานนั้น

 

การตรวจจับความรู้ฝังลึกออกมาให้ได้ตัว “ความรู้” เอาไว้ดูเล่น หรือเพื่อเอามาเป็นผลงานนั้น ไม่ใช่กิจของการจัดการความรู้ หากต้องการ “สัมผัส” ความรู้ฝังลึก ก็ให้สัมผัสผ่าน ผลงาน การพัฒนาคน และการพัฒนาองค์กร

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒๒ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2014 เวลา 20:02 น.
 

เรียนเพื่อรู้วิชา หรือ เรียนเพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพ

พิมพ์ PDF

 

หัวใจไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การได้มีโอกาสฝึกคิด ร่วมกันคิด สร้างชิ้นงาน ฝึกนำเสนอ ฝึกโต้แย้ง และฝึกอื่นๆ การเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ คือการฝึกใช้ความรู้

ช่วงเที่ยงและบ่ายวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยง และพูดคุยหารือ กับท่านเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ Kristi Westphalen เรื่องความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ที่สถาบันอาศรมศิลป์ จัดโดยท่านอธิการบดี รศ. ประภาภัทร นิยม

 

สาระที่เป็นหัวใจที่เสวนากัน ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือเป้าหมายของการศึกษา ในขณะที่เป้าหมาย ของเรา (ประเทศไทย ตามที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงศึกษาธิการ) คือเรียนเพื่อรู้วิชา ตามคติโบราณ “รู้สิ่งใดไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” แต่ฟินแลนด์ยึดคติสมัยใหม่ คือจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้พัฒนา เต็มศักยภาพ

 

นั่นคือ ไทยยึดการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ส่วนฟินแลนด์ยึดแนวทางการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

 

ท่านยกตัวอย่างวิธีที่ครูชั้น ป. ๕ นักเรียนอายุ ๑๐ ปี ของประเทศฟินแลนด์ จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครูยกเอากล่องกระดาษกล่องหนึ่งมาวางบนโต๊ะ มอบหมายให้นักเรียนกลุ่มละ ๔ - ๕ คน ทำโครงงาน ออกแบบสินค้าที่จะบรรจุลงกล่อง พร้อมทำแผนธุรกิจในการจำหน่ายสินค้านั้น รวมทั้งทำแผนการตลาด เสนอต่อเพื่อนในชั้นเรียน โดยตระหนักว่า เพื่อนๆ ที่เหลือทั้งชั้นจะหาช่องจับจุดอ่อนของข้อเสนอนี้ นี่คือโจทย์ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ๑๐ ขวบนะครับ

 

หัวใจไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่การได้มีโอกาสฝึกคิด ร่วมกันคิด สร้างชิ้นงาน ฝึกนำเสนอ ฝึกโต้แย้ง และฝึกอื่นๆ การเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ คือการฝึกใช้ความรู้

 

เด็กจะเติบโตทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการเรียนแบบ active learning อย่างนี้ ไม่ใช่เรียนผ่านการสอนแบบถ่ายทอดวิชาความรู้โดยครู

 

วิจารณ์ พานิช

 

๙ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

ต้องการชมภาพประกอบ สามารถเข้าไปรับชมตาม link ;http://www.gotoknow.org/posts/567656

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2014 เวลา 20:09 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๕. เช้าแห่งปัญญา

พิมพ์ PDF

 

เช้ามืดวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๗ ผมนั่งแท็กซี่จากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อบินไปหาดใหญ่ เมื่อเปิดฉากการ สนทนากับโชเฟอร์ ผมก็สัมผัสความไม่ธรรมดาของเขาตรงความโอภาปราศรัย และความมีไหวพริบ “น้องมารอพักหนึ่งแล้วใช่ไหม ได้ยินเสียงหมาเห่า” “ไม่เป็นไรครับ ผมมาถึงก่อนเวลา ต้องปิดไฟหมาจึงเลิกเห่าครับ”

 

เมื่อสนทนากันอย่างออกรส เรื่องการขับแท็กซี่ ผมก็เอ่ยขึ้นว่า เดี๋ยวนี้พบแต่คนขับแท็กซี่ที่เป็นเจ้าของรถเอง อาชีพแท็กซี่เปลี่ยนจากกรรมกร มาเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เขาก็เห็นด้วย และบอกว่า เขาเองมีรถแท็กซี่ ๗ คัน เริ่มป็นเจ้าของรถ และขับแท็กซี่มาตั้งแต่ยังทำงานเป็นพนักงานบริษัทโฆษณาในตำแหน่ง creative ในบริษัทโฆษณาข้ามชาติใหญ่แห่งหนึ่ง การนั่งรถแท็กซี่ และคุยกันบ่อยๆ ทำให้เขาเห็นโอกาส จึงซื้อแท็กซี่มาขับด้วย ทำงานครีเอทีฟว์ด้วย ขับรถแท็กซี่ไปทำงาน ยามงง แต่เวลาไปหาลูกค้า นั่งรถไฟฟ้าไป เพราะขับแท็กซี่ไปเองจะทำให้ลูกค้าตกใจ

 

ในที่สุดผมก็ทราบว่านักธุรกิจท่านนี้จบปริญญาตรีสาขานิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยเรียนวิศวไม่จบ “เพราะเกเรไม่เรียน” แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกตัวและกลับใจ

 

ผมเอ่ยขึ้นว่า การดาวน์ผ่อนส่งรถแท็กซี่คิดดอกเบี้ยสูงเกินไป เอาเปรียบคนจนเกินไป เขาเห็นด้วยและบอกว่า ยิ่งบอกว่า ดาวน์ 0% ดอกเบี้ยยิ่งแพง ยิ่งรถมอเตอร์ไซคล์ดอกเบี้ยยิ่งแพง ผมเอ่ยถึงบริษัทให้บริการมือถือ ที่ให้บริการในลักษณะโกงลูกค้า ยกตัวอย่างบริษัท ทรู เขาหัวเราว่า “นี่แหละจอมโกง” เขาเล่าว่าภรรยาของเขาซื้อบริการทีวีควบโทรศัพท์ของทรู ว่าให้ใช้ โทรศัพท์ฟรีเท่านั้นเท่านี้นาที ภรรยาแทบไม่ได้ใช้ โดนแจ้งค่าบริการเพิ่ม ไปโต้แย้ง เจ้าหน้าที่เอาหลักฐานให้ดู หมดทางแย้ง ต้องยอมจ่าย ในที่สุดแก้ปัญหาโดยใช้วิธีเติมเงิน ซึ่งเดี๋ยวนี้เติมง่ายที่ตู้ เอทีเอ็ม

 

เมื่อเข้าไปในห้องรับรองของการบินไทย ผมก็พบเพื่อนร่วมงานเก่าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ. นพ. สมชาย สุนทรโลหะนะกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ทักทายกันได้ความว่ากลับมาจากไปส่งลูกสาวไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก สาขา นาโนเอ็นจิเนียริ่ง ที่เกียวโต ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬา

 

อาจารย์หมอสมชายมีลูก ๓ คน อีก ๒ คนเรียนแพทย์ จบแล้ว ๑ คน กำลังเรียนอีก ๑ คน ผมแสดงความชื่นชมใน ความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก จึงได้ฟังเรื่องราวความยากลำบากในท่ามกลางความสำเร็จในการศึกษาของลูก โดยลูกทั้งสามคน ของท่านเรียนดี สอบเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ทั้ง ๓ คน ๒ คนหลังเป็นแฝด ในคู่แฝดนี้ คนหนึ่งขอลาออกจาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เมื่อเข้าไปเรียนได้เพียงเดือนเดียว “ทนกรอบที่เคร่งครัดไม่ไหว” ขอกลับมาอยู่บ้านถามหาตัวเอง ๖ เดือน ให้ไปเรียนที่โรงเรียนหลายแห่งก็ไม่ยอมไป

 

ในที่สุด ได้ไปเรียนที่สิงคโปร์ และเรียนได้ดี จนจบ ม. ๖ ก่อนคู่แฝด และเรียนจบวิศวได้คะแนนสูงมาก ได้ไปสัมภาษณ์ทุนอานันทมหิดลด้วย และในที่สุดก็ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

 

ลูกท้องเดียวกัน เลี้ยงดูเหมือนกัน แต่ต่างจิตต่างใจ โดยเฉพาะการเป็นคนในกรอบกับคนนอกกรอบ นี่ชัดเจนมาก เด็กที่โชคดี คือเด็กที่พ่อแม่เข้าใจจิตวิญญาณของลูก โดยเฉพาะพวกที่มีวิญญาณอิสระรุนแรง ซึ่งที่บ้านผมมี ๒ คน

 

ผมบอกกับ อ. หมอสมชายว่า “ลูกเป็นครู”

 

คนขับแท็กซี่เป็นครู ลูกของเพื่อนก็เป็นครู

 

วิจารณ์ พานิช

 

๘ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 09 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:18 น.
 


หน้า 355 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8656505

facebook

Twitter


บทความเก่า