Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๔. ภูมิทัศน์การเมืองไทย

พิมพ์ PDF

 

บทความเรื่อง ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปิดกระโหลกผม ในเรื่องสังคมและการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ในแง่มุมภาพใหญ่ และภาพเคลื่อนไหว ที่ประทับใจที่สุดคือ ข้อสรุปในวรรณกรรมปริทัศน์ภาคการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ว่า ร้อยละ ๗๓ ของแรงงาน เป็นแรงงานภาคนอกระบบ ที่ “ไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ รองรับ”

 

ข้อมูลและการวิเคราะห์ในตอนนี้ หลายส่วนใหม่และเปิดหูเปิดตาผมมาก ถือเป็นบุญที่ได้อ่านบทความที่ลุ่มลึกเช่นนี้ แต่ผมก็อดเถียงไม่ได้ ว่าแทนที่เราจะมองผู้คนเหล่านี้เป็น “แรงงานนอกระบบ” เรามองเป็น “ธุรกิจขนาดเล็กมาก” (VSE- Very Small Enterprise) จะดีกว่าไหม และภาครัฐและภาคการศึกษา หาทางส่งเสริมการเรียนรู้ และข้อเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนเหล่านี้ทำธุรกิจ ได้ดียิ่งขึ้น และเป็นธุรกิจที่ก่อผลดีทั้งต่อตนเองและต่อสังคมได้มากขึ้น แทนที่จะไปตราเขาไว้ “นอกระบบ” ก็คิดใหม่ จัดระบบรองรับและส่งเสริมเขาเสียเลย เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ เกือบสามในสี่ของประเทศ “ระบบธุรกิจขนาดเล็กมาก”

 

ข้อความรู้ที่ควรจะหาทางให้คนเหล่านี้เรียนรู้เพิ่ม คือ (๑) ความผันผวนไม่แน่นอน ที่จะมีโอกาสกระทบธุรกิจของเขา และวิธีป้องกันความเดือดร้อนหรือผลกระทบ (๒) ลู่ทางเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และชีวิต (๓) ทักษะการเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาความหลอกลวง ที่มาจากสารพัดรูปแบบ

 

ผมไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า คนร้อยละ ๗๓ ของประเทศเหล่านี้ “ไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ รองรับ” เพราะเขาได้รับ การคุ้มครองสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบประกันสังคมรูปแบบหนึ่ง แม้จะแยกกันกับกฎหมายประกันสังคม การประกันสังคม ในชีวิตคน กับการประกันสังคมในกฎหมายประกันสังคม เป็นคนละเรื่อง

 

ในส่วนปริทรรศน์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมสนใจข้อวิเคราะห์ความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน ว่ามี ๓ ส่วนคือ (๑) “ท้องที่” กำนันและผู้ใหญ่บ้าน (๒) “ท้องถิ่น” อปท. (๓) “ชุมชน” สภาองค์กรชุมชน

 

วิจารณ์ พานิช

 

๗ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 09 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:12 น.
 

ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๑. เจตจำนงของบันทึกชุดนี้

พิมพ์ PDF

 

บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

 

บันทึกตอนที่ ๑ นี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผม ว่าที่เลือกหนังสือเล่มนี้มาตีความและแบ่งปัน ต่อสังคมไทย ก็เพราะผมเชื่อในคุณค่าของคุณภาพของการศึกษาต่อคนรุ่นหลัง และต่อความวัฒนาถาวร ในระยะยาวของประเทศ และรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนที่คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ต้องการทุ่มเท ชีวิตในบั้นปลาย รับใช้บ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการเผยแพร่ความรู้สำคัญๆ ด้านการศึกษา

 

จากการอ่านหนังสือด้านการศึกษาสมัยใหม่จำนวนมาก ประกอบกับการพูดคุยกับผู้มีความรู้ ด้านการศึกษา และการสังเกตสภาพการทำงานของครู และสภาพชั้นเรียน รวมทั้งการบริหารระบบการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลาง ผมลงมติกับตัวเอง (ผมอาจจะผิด) ว่าวงการศึกษาไทยใช้การประเมิน ผลผิดทาง และขออภัยที่ต้องใช้คำรุนแรงว่า มีมิจฉาทิฐิด้านการประเมินผลการศึกษา

 

ที่ว่ามิจฉาทิฐิคือ หลงใช้การประเมินได้-ตก เน้นประเมินตามมาตรฐาน (summative evaluation) เป็นตัวนำ หรือใช้เฉพาะตัวนี้ ละเลยหรือไม่ให้คุณค่าของการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) ซึ่งต้องมอบความไว้วางใจแก่ครูเป็นผู้ประเมิน ฝ่ายบริหารต้องเกื้อหนุน (empower) ให้ครูประเมินได้แม่นยำ ผมเดาว่าฝ่ายบริหารส่วนกลางไม่เชื่อถือครู จึงไม่ไว้วางใจให้ประเมิน และละเลยคุณค่าของการประเมิน เพื่อพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย

 

ผมจึงเขียนบันทึกชุดประเมินเพื่อมอบอำนาจ นี้ เพื่อสื่อสารต่อสังคมไทย ว่าวงการศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการประเมิน หันไปใช้การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นพลังขับดัน การยกระดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติ โดยในตอนต่อๆ ไปจะได้ลงรายละเอียดเชิงเทคนิค หรือวิธีปฏิบัติ

 

เมื่อท่านอ่านบันทึกนี้จบทั้ง ๑๐ ตอน ก็จะแจ่มชัดว่า ทำไมผมตั้งชื่อบันทึกชุดนี้ว่า “การประเมินเพื่อมอบอำนาจ” .... เพราะ formative assessment จะเป็นเครื่องมือส่งมอบอำนาจในการประเมิน ที่แท้จริง ให้แก่ผู้เรียน เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

รวมทั้งจะส่งมอบอำนาจในการประเมินให้แก่ครู และยิ่งกว่าส่งมอบอำนาจ จะเป็นการฟื้นศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นครู

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒ ม.ค. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 09 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:21 น.
 

ชมรมนักแสวงหาคนคิดนอกกรอบ

พิมพ์ PDF

 

เช้าวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมกับอาจารย์กลุ่มหนึ่ง นำโดย ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์ชุมชน แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นัดกันคุยเรื่องการขับเคลื่อน Transformative Learning ในหลักสูตรแพทย์ โดยประชุมที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

ผมไปร่วมประชุมแบบงงๆ ว่าอาจารย์โรงเรียนแพทย์จากหลากหลายสถาบันกลุ่มนี้เขาจะทำอะไร เอกสารหลักการของโครงการวิจัยที่ส่งมาให้ก่อน ก็กว้างเวิ้งว้าง หาจุดโฟกัสไม่ได้ ชื่อสมาชิกในกลุ่มบางคน ก็เป็นนักชี้ปัญหา มากกว่านักแก้ปัญหา

 

เมื่อไปถึงที่ประชุม ผมจึงเรียน ศ. สุรศักดิ์ว่าผมจะอยู่ร่วมประชุมถึง ๑๐.๓๐ น. เท่านั้น เพราะมีงาน อย่างอื่นที่ต้องทำ ผมไม่คิดว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใด

 

แต่เมื่อใกล้เวลาเริ่มประชุม ผมก็ตกใจ ที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เดินเข้ามาในห้องประชุม แล้วต่อมา นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ก็เข้ามา คนเต็มห้องประชุมของ มสช. ทีเดียว

 

อ. หมอประเวศ แนะนำให้ทุกคนแนะนำตัวเองว่าทีความฝัน หรือแรงบันดาลใจอะไร อยากทำอะไร จึงมาเข้ากลุ่มนี้ ผมจึงได้ทราบว่า กลุ่มนี้รวมตัวกันมากว่า ๑ ปี เริ่มจากการประชุมที่ มศว. จัดโดย อ. ดร. นพ. สุธีร์ รัตนมงคลกุล ซึ่งผมได้ รับเชิญไปพูดเรื่อง การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ และ รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ บรรยายเรื่อง Transformative Learning แล้วกลุ่มนี้ก็รวมตัวกัน เหนียวแน่น ประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อหาทาง ทำความเข้าใจ และดำเนินการประยุกต์ TE ซึ่งในวันนี้ นพ. สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ แห่งศูนย์การศึกษา แพทยศาสตร์ รพ. มหาราชนครราชสีมา หนึ่งในสิงห์ CPIRD หรือ สบพช. ก็มาร่วมด้วย คนกลุ่มนี้ ได้รับเชิญ เข้าร่วม PMAC 2014 : Transformative Learning for Health Equity ด้วย

 

ผมสรุปกับตัวเองทันทีหลังการแนะนำตัวเสร็จสิ้น ว่านี่คือชมรมคนขัดข้อง เสียงที่ก้องอยู่ในใจของ คนกลุ่มนี้คือ “ที่นี่ขัดข้องหนอ” พลังของความขัดข้อง นำไปสู่การแสวงหา นี่คือชมรมคนคิดนอกกรอบ

 

ความขัดข้องในที่นี้คือ ความไม่พอใจการศึกษาแพทยศาสตร์ที่ตนเคยได้รับ และยังดำรงอยู่ (เป็นส่วนใหญ่) ในปัจจุบัน ที่เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เน้นมิติทางเทคนิก ขาดมิติของความเป็นมนุษย์

 

ผมใช้วิชา Complex Adaptive Systems ตีความปรากฏการณ์นี้ทันที และสรุป (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่า ในพื้นที่ที่ชัดเจน มีหลักการ เป้าหมาย และคุณค่าชัด สิ่งใหม่เกิดยาก แต่สมาชิกของกลุ่มนี้ทุกคนเริ่มจาก ความไม่พึงพอใจประสบการณ์ตรงของตน และแสวงหา และมีประสบการณ์นอกกรอบต่างแบบ เช่น จิตตปัญญาศึกษา แพทยศาสตร์ศึกษา จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ชุมชน เป็นต้น ได้เห็นว่าเส้นทางหลัก ของการศึกษาแพทยศาสตร์มีจุดอ่อน ที่น่าจะได้รับการเติมเต็ม หรืออาจต้องเปลี่ยนในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

 

ที่จริงผมตีความเหตุการณ์ช่วงนี้โดยนำบันทึกเสียงมาฟังอีกครั้งหนึ่งที่บ้าน เพื่อ “จับความรู้ฝังลึก” ในสมาชิกของวง ทำความเข้าใจปรากฏการณ์เล็กๆ นี้ และสรุปว่า ผมได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างคนที่เรียนในระบบการเรียนรู้ที่เน้นวิชาการสุดๆ กับคนที่เบื่อระบบนี้ มีความทุกข์ที่ต้องเรียนในระบบนี้ และใฝ่ฝันหาระบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คน

 

อ. หมอประเวศชี้ให้เห็นว่า TL เป็นระบบเล็ก ในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ Health for All หรือ Equity in Health และแนะยุทธศาสตร์ทำจากชายขอบไปสู่ศูนย์กลาง เน้นที่การเรียนรู้บูรณาการที่ชุมชน เอาชุมชน และชีวิตจริงเป็นฐาน เปลี่ยนจากการเรียนแบบเอาวิชาเป็นฐาน

 

รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ แนะให้ไม่หลงทางสู่เป้าหมายภายนอก และโดนกิเลสแผดเผา ทำให้ละเลย เป้าหมายภายใน ซึ่งเริ่มต้นที่การมีสติ ตรวจสอบตนเองได้

 

ที่จริงสมาชิกที่มาร่วมประชุมหลายคนดำเนินการในแนวทางที่ได้รับคำแนะนำอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ดังกรณี อ. หมอสรรัตน์ ที่ผมเคยเล่าไว้แล้ว ที่นี่

 

น่าเสียดายที่ผมต้องไปประชุมที่อื่นต่อ จึงไม่ได้อยู่ร่วมประชุมจนจบ และไม่รู้ว่าสรุปสุดท้ายกลุ่มนี้ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนผมลุกออกมา อ. หมอสุธีร์ ลุกตามมาคุยด้วย ผมแนะให้สมาชิกแต่ละคน กลับไปทำ ณ ที่ตั้งของตน และขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น แล้วเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เอาเรื่องราวดีๆ เป็นพลังขยายวง และเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่มีวงอื่นดำเนินการอยู่ด้วย

 

นักแสวงหามีอยู่ทั่วไป ที่บ้านผมมีหลายคน บางคนอายุ ๗๒ แล้ว ก็ยังแสวงหาอยู่อย่างไม่ลดละ

 

วิจารณ์ พานิช

 

๕ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:03 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๓. มรดกแห่งชีวิต - ในความรักมีความเกลียดชัง

พิมพ์ PDF

 

หลานสะใภ้ โบว์ - ธิดา สุวรรณสาครกุล (พานิช) เอาหนังสือ มรดกแห่งชีวิตเขียนเป็นภาษาจีนโดย โอ้วจิ้งเกียง แปลโดย ชลทิศ ปาสาทิกา มาให้ ๑ เล่ม เป็นหนังสือที่กลั่นจากประสบการณ์ชีวิตของคนจีนอพยพมาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย ตั้งตัวจนเป็นเจ้าของร้านทอง และกิจการอื่นๆ อีก ๓ กิจการ โบว์เป็นหลานปู่ ที่เรียนจบปริญญาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

ท่านผู้เขียน (ซึ่งเวลานี้อายุ ๙๔ ปี และยังแข็งแรง) ระบุว่า เป็นข้อเขียนแนวสร้างแรงบันดาลใจ เขียนฝากไว้ให้ลูกหลาน โดยเขียนเมื่ออายุประมาณ ๖๐ ปี เป็นบทความสั้นๆ ๕๕ ตอน ทีมบรรณาธิการที่อยู่เบื้องหลังคือโบว์ แบ่งออกเป็น ๕ บท ได้แก่ หลักชัยในชีวิต, บ้านของเรา, ผู้คนและโลกรอบตัว, สมบัติผู้ดี, มานะแห่งตน

 

ผมพลิกๆ ดูแล้วชอบตอนที่ ๔๙ ทางสู่ความสำเร็จ มากที่สุด ท่านเขียนว่า มีหลักการแปดข้อ (ผมนึกถึงมรรค ๘) คือข้อ ๑ ความยืดหยุ่น, ข้อ ๒ อดทน นอบน้อมถ่อมตน, ข้อ ๓ อ่านอารมณ์ผู้อื่นเป็น, ข้อ ๔ ยืนกรานในความถูกต้อง (ผมนึกถึงคำ integrity), ข้อ ๕ อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง, ข้อ ๖ มีแผนการ แผนสำรอง, ข้อ ๗ ตั้งคำถาม, ข้อ ๘ ลงมือทำจริงๆ ต้องอ่านข้อเขียนตัวจริง ในหนังสือเองนะครับ จึงจะได้อรรถรส หนังสือเล่มนี้เขียนโดยใช้คำง่ายๆ สั้นๆ อ่านง่าย อ่านแล้วสบายใจ

 

วิจารณ์ พานิช

 

๗ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:07 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๑๕๐. วาทกรรมลวง

พิมพ์ PDF

 

เฝ้าติดตามวง อีเมล์ วงหนึ่ง เสวนาถกเถียงกันเรื่องการเมืองการแบ่งขั้วในสุงคมไทยยุคปัจจุบันได้ความรู้มากทีเดียวว่าความเชื่อและความยึดมั่นถือมั่นแตกต่างกันมากในกลุ่มคนที่เชื่อต่างกัน หรือในคนต่างขั้วโดยที่คนต่างขั้ว ต่างก็ยึดถือมายากันคนละแบบ

 

ผมยึดถือมายา (บางทีเรียกว่าอุดมคติ) ไม่เอาคนโกง มาปกครองบ้านเมือง และหาทางรู้เท่าทันคนโกง

 

มีคนตั้งกระทู้ว่า “คุณเคยโกงโอทีไหม” “เคยเอาเวลาราชการไปทำกิจส่วนตัวไหม” “เคยรับค่านายหน้าจากบริษัทยาไหม”ในทำนองเพื่อจะบอกว่า การโกงนั้นเป็นปกติวิสัยในเมื่อตัวคุณเองก็เคยโกง เมื่อรัฐบาลโกงบ้าง จะร้องแรกแหกกะเฌอไปไย

 

ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ผมเรียกกระทู้เหล่านี้ว่า วาทกรรมลวง ล่อหลอกให้คนคิดว่าการโกงหรือคอรัปชั่น เป็นเรื่อง ธรรมดา

 

ประเด็นหนึ่งที่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยพูดกัน คือจริยธรรมของผู้ทำงานสาธารณะ (public service) อันได้แก่นักการเมือง และข้าราชการและในยุคปัจจุบัน แม้งานธุรกิจ ก็มีแนวโน้มกลายเป็นงานสาธารณะมากขึ้นจึงมีการพูดกันถึงเรื่อง Corporate Social Responsibility มากขึ้น

 

คนที่ทำงานสาธารณะ หากทำชั่ว จะก่อผลร้ายต่อสังคม ต่อบ้านเมืองรุนแรงมากกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป เพราะมีโอกาสมากกว่ามีโอกาส “กินคำโต” กว่าและมีโอกาส “กินแบบปิดบังมิดชิด” ได้มากกว่าโชคดีของประเทศไทย ที่รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดกินมูมมามมากกินอย่างโจ่งแจ้ง และกินทั้งตระกูล จึงปิดบังความชั่วยาก

 

คนทำงานสาธารณะในตำแหน่งสูงจึงต้อง “ถือศีล” ข้อ “จริยธรรมในการไม่แสวงหาลาภโดยมิชอบจากตำแหน่งหน้าที่” ที่มีความเคร่งครัดกว่าเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และเคร่งครัดกว่าคนทั่วไป นี่คือศีลที่ผมยึดถือมาตลอดชีวิตและให้คุณประโยชน์ทางอ้อมแก่ชีวิตที่ดีอย่างคาดไม่ถึง

 

วาทกรรมลวงของคนที่สนับสนุนหรือรักชอบรัฐบาลทักษิณ ที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดเป็นวาทกรรมที่ทำร้ายประเทศไทยฉุดดึงระดับศีลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้คนให้ตกต่ำ

 

สังคมที่ศีลธรรม จริยธรรมตกต่ำ เป็นสังคมที่ไม่เข้มแข็ง ไม่ยั่งยืน เกิดวิกฤติต่างๆ ได้ง่าย

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑ เม.ย. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 07 พฤษภาคม 2014 เวลา 22:09 น.
 


หน้า 356 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8656769

facebook

Twitter


บทความเก่า