Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเข้าสู่กาลกลียุคแห่งสังคมมนุษยชาติ!!

พิมพ์ PDF

ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา วันคืน เดือนปี เลื่อนไหลไปตามความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่ประจักษ์ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เพียงมีเกิดขึ้น แต่ต้องมีดับไป แม้ตั้งอยู่ ก็แปรปรวน ยักย้ายถ่ายเท ยากแท้ต่อการควบคุมรักษา... ความไม่สบายกาย (ทุกข์) ความไม่สบายใจ (โทมนัส) จึงตอบแทนกลับคืน เมื่อเข้าไปยึดถือในทุกสรรพสิ่งแห่งโลกนี้ ที่สุดคือ ความเป็นตัวเรา ของเรา!

พระพุทธศาสนา โดย พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระดำรัสสั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืน สังขารเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ (อะนัสสาสิกะ)... ภิกษุทั้งหลาย! เพียงเท่านี้ก็พอเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายความกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง...

...ในบางสมัยล่วงไปหลายพันหลายแสนปี ที่ฝนไม่ตกเลยก็มีเกิดขึ้น ป่าใหญ่ พันธุ์พฤกษา หยูกยา และหญ้าทั้งหลาย (รวมถึงต้นข้าว) ย่อมเหี่ยวเฉาแห้งตายไปหมด... ต่อไปโดยกาลล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่สอง ย่อมปรากฏ แม่น้ำหนองบึงทั้งหมดงวดแห้งหายไป... อาทิตย์ดวงที่สาม ย่อมปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ทั้งหมดก็งวดแห้งไป... อาทิตย์ดวงที่สี่ ย่อมปรากฏ มหาสระทั้งหลายอันเป็นที่เกิดแห่งแม่น้ำใหญ่ก็งวดแห้งไป ไม่มีอยู่... อาทิตย์ดวงที่ห้า ย่อมปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึกร้อยโยชน์ก็งวดแห้งลง กระทั่งเหลืออยู่เพียงเจ็ดชั่วต้นกาลก็มี... เหลืออยู่เพียง หก-ห้า-สี่-สาม-สอง กระทั่งหนึ่งชั่วต้นกาลก็มี... งวดลงเหลือเพียงเจ็ดชั่วบุรุษก็มี... งวดลงเหลือเพียงแค่สะเอว... เพียงแค่เข่า... เพียงแค่ข้อเท้า จนกระทั่งเหลืออยู่ลึกเท่าน้ำในรอยเท้าโค ในที่นั้นๆ... เมื่อฝนเม็ดใหญ่เริ่มตกในฤดูสารทลงมาในที่นั้นๆ

ต่อมา เพราะ อาทิตย์ดวงที่ห้า ปรากฏขึ้น น้ำในหนองสมุทรไม่มีอยู่ แม้สักว่าองคุลีเดียว... มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวโดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่หก ย่อมปรากฏ มหาปฐพีและหุบเขาสิเนรุ ก็มีควันขึ้น ยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้น และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่เจ็ด ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งอาทิตย์ดวงที่เจ็ด แผ่นดินและหุบเขาใหญ่น้อยทั้งหลายมีไฟลุกโพลง มีเปลวเป็นอันเดียวกัน แม้หุบเขาสิเนรุที่ยิ่งใหญ่ก็กลายเป็นก้อนไฟลุกโชติช่วง จนพังทลายไปทั้งหมด...

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุว่า เพียงเท่านี้ก็ พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายจากความกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง

จากที่กล่าวมา เพื่อการเข้าใจในความเป็นจริงว่า แม้สังขารหรือโลกนี้ก็ ยังไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ นี่เป็นธรรมคติของสังขารหรือโลกนี้! แต่บนความจริงที่แสดงในรูปเหตุปัจจัย อันจะทำให้สังขารหรือโลกนี้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หวังอะไรไม่ได้ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปอย่างล่วงเวลาตามสมัยกาลเวลา จะยาวหรือจะสั้นก็ขึ้นอยู่กับ พฤติจิต และ พฤติกรรมของสัตว์โลก เป็นสำคัญ...

ในพระพุทธศาสนาจึงได้สะท้อนความจริงแท้ด้านดังกล่าวในรูป กฎเกณฑ์ กรรม ที่กำหนดแน่นอนตายตัวในเรื่องของการกระทำ (กรรมนิยาม) ซึ่งเมื่อไหร่ สัตว์โลก โดยเฉพาะ สัตว์มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองข้าราชการ ประชาชน มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง เบียดเบียนทำลายกัน ดุจดิรัจฉานสัตว์ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะมีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ และเมื่อดวงจันทร์...ดวงอาทิตย์มี ปริวรรต (การเคลื่อนตัว/การดำเนินไป) ไม่สม่ำเสมอแล้วดาวนักษัตรและดาวทั้งหลาย ก็จักมีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ...

เมื่อดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายมีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ คืนและวัน... เดือนและปักษ์... ฤดูและปี ก็จะมีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ กระทบส่งต่อกันไปเป็นลูกโซ่ อันเป็นการแสดงกฎอิทัปปัจจยตา ที่เป็นความกำหนดแน่นอนตายตัวอันมีอยู่จริงในธรรมชาติหรือในโลกนี้

เมื่อฤดูและปีมีปริวรรตไม่สม่ำเสมอ ลมทุกชนิดก็พัดไม่สม่ำเสมอ ปัญชสา คือ ระบบแห่งทิศทางลม ก็จักแปรปรวน คำกล่าวที่ว่า ลมทะเลพัดกลางวัน ลมบกพัดยามค่ำคืน ก็คงจะต้องผันแปรเปลี่ยนไปตามสังขาร ที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หวังอะไรไม่ได้... เมื่อปัญชสาซัดส่าย เทวดาผู้ทำหน้าที่ก็ระส่ำสับสน ด้วยยากต่อการควบคุมดูแลธรรมชาติที่ตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง... ฝนฟ้าจึงตกผิดฤดูกาล ไม่เหมาะสม ธรรมชาติจึงเสียสมดุล พืชพรรณข้าวกล้าเกิดวิบัติ แปรสภาพ แก่สุกไม่สม่ำเสมอ เมื่อพืชพรรณธัญญาหารมีปัญหาด้านคุณภาพ จึงกระทบกับสุขภาพของสัตว์ผู้บริโภค ให้ได้รับโอชะจากอาหารที่ผิดเพี้ยน จึงมีอายุสั้น ผิวพรรณทราม ทุพพลภาพ และมีโรคภัยไข้เจ็บมาก นี่เป็นผลของการไร้ศีลธรรมของสัตว์โลกในเบื้องต้น เมื่อสุขภาพกายไม่สมบูรณ์ สุขภาพจิตก็ยิ่งต่ำทราม การปฏิเสธศีลธรรม การไม่เคารพธรรม จึงเกิดมีมากขึ้น เพิ่มพูนวันทวี ความแย่งชิง การแสวงหาโดยไร้ศีลธรรม จึงแพร่ระบาด ความยากจนทุกข์เข็ญก็ปรากฏไปทั่ว

โดยเฉพาะเมื่อชนชั้นปกครองอาศัยอำนาจที่มีอยู่ในมือฉ้อโกงประชาชน ไม่ละเว้นแม้ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ผู้ประกอบอาชีพการเกษตร กรรมกรผู้รับจ้างหาเช้ากินค่ำ การหลอกลวงปล้นสะดมโดยใช้อำนาจกฎหมายเป็นเครื่องมือจึงเกิดขึ้น เรื่องราวการโกงค่าข้าวชาวนา การฉ้อโกงทรัพยากรน้ำที่ประชาชนใช้ร่วมกันจึงปรากฏ การปล้นสะดมทุกรูปแบบในเชิงนโยบายจากอำนาจการบริหารจึงเกิดขึ้น... ความเดือดร้อนแผ่กว้างไปทั่วทุกกลุ่มอาชีพ ไม่เว้นแม้ในบรรดาข้าราชการ หากทำตัวสวนกระแสก็จะถูกสอยทิ้งในระบบ และหากมีฐานกำลังในหน้าที่เข้มแข็งก็จักถูกอำนาจเถื่อนคุกคาม ดังปรากฏการใช้ศัสตราวุธ ยิงปืน ยิงระเบิด M.79 เข้าไปคุกคาม ทำลายทุกคนที่วางตัวเป็นปฏิปักษ์...

ความยากจนขัดสนกลายเป็นโรคร้ายของสังคม การลักทรัพย์ การติดสิ่งเสพติด การติดการพนัน การมอมเมาด้วยอบายมุข จะแพร่ระบาดมากขึ้น ด้วยการคิดโครงการประชานิยมมอมเมาให้ประชาชนสลบไสลด้วยอำนาจแห่งกิเลส เพื่อสะดวกต่อการจัดการ ควบคุม ดูแล และบัญชาสั่งการ ให้เป็นไปตามความปรารถนา จึงเกิดการจัดตั้งกองกำลังทาสขึ้น เพื่อสนองรับใช้ความต้องการ จึงเกิดการแพร่ระบาดการใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่างๆ เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรง กล้าที่สุด ดังที่ปรากฏมีการจัดตั้งกองกำลังอย่างเปิดเผย เพื่อต่อต้านทำลายอำนาจตรงข้าม การปลุกเร้าให้สัตว์โลกกระหายเลือด มองผู้ต่างความคิดต่างปฏิบัติ คือศัตรูที่ต้องทำลาย จึงกลายเป็นเรื่องเปิดเผยและถูกต้อง... ไม่ผิดกฎหมาย และไม่บาป ตามความเชื่อในกฎแห่งกรรม การฆ่ามนุษย์ด้วยกันจึงแพร่ระบาดไปทั่วแดนดิน

เมื่อ ปาณาติบาต เป็นไปอย่างแรงกล้าถึงที่สุด มุสาวาท คือการพูดจาหลอกลวง คดโกง ก็จะแพร่ขยายเติบโตไปทั่ว สังคมสื่อออนไลน์จึงมีผลต่อการชี้นำสังคม... ผู้มีอำนาจจึงพยายามควบคุมสื่อสารทุกชนิด เพื่อนำมาใช้เป็น ยุทธปัจจัย โจมตี ทำลาย สร้างภาพ บิดเบือนใน สงครามจิตวิทยา ของสัตว์โลก เพื่อควบคุมจิตใจของสัตว์โลกให้คล้อยตาม อันสามารถโน้มน้อมไปตามกระแสที่สร้างขึ้นได้

เมื่อ มุสาวาท (การพูดจาหลอกลวง) เกิดมากขึ้น สมัยนั้น มนุษย์จะมีอายุขัยถอยลง ต่อมา ปิสุณาวาท คือ การพูดจายุแหย่เพื่อการแตกกันเป็นก๊กเป็นหมู่ ทำลายความสามัคคี จะเป็นอาชีพหลักของมนุษย์บางเผ่าพันธุ์ที่เกิดมาเพื่อใช้ปากหากิน ด้วยการรับจ้างพูดตลก... พูดให้ทะเลาะ พูดเพื่อโน้มนำให้คนหลงเชื่อ พูดเพื่อก่อความฉิบหาย จนถึงขั้นประกอบอาชญากรรม เผาบ้าน ฆ่าหมู่ชน หรือแม้แต่ให้ประหัตประหารตนเองทิ้งก็ได้ ผู้ที่ทำงานด้วยปากจนมีประสิทธิภาพขั้นสูง จะได้ดี เป็นถึงเสนาบดี มีทั้งอำนาจ บริวาร เงินทอง ยศ ตำแหน่ง สัตว์ในสังคมนั้นจึงถือปฏิบัติตามกัน ด้วยคิดว่าพึงจะได้ความมั่งมีศรีสุข เพราะการทำงานด้วยปากที่สามารถใช้ดุจเป็นคมหอก คมดาบ ยิ่งกว่าศัสตราวุธใดๆ ในสมัยดังกล่าว จะมีการรวมมวลชนตั้งเวทีปราศรัยกันทั่วทุกมุมเมือง ประกอบการใช้สื่อสารนำเสนอไปทั่วทุกทิศ... นักพูดริยำ... พาลชนสวมสูท จะปรากฏตัวมากมาย สัตว์สังคมจะได้ยิน... ได้ฟังแต่ อธรรมวาที...

อกุศลกรรมจึงแพร่ระบาด สัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์จะมีอายุขัยลดลงไปอีก เมื่อความเลวร้ายของโลกมาถึงขั้นนี้ อะไรๆ ก็จักเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อย่างไม่ต้องคิดหาเหตุผล การประพฤติผิดในศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร จะมีมากขึ้น แรงกล้าถึงที่สุด การใช้คำหยาบ การพูดจาเพ้อเจ้อ สนุกสนาน ไร้สาระ จะแพร่ระบาดไปทั่ว เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมทรามแห่งจิตวิญญาณของสัตว์ประเสริฐที่ไร้ ศีลธรรม... ในสมัยนั้น สัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์ก็จักมีอายุขัยสั้นลงไปอีก ต่อมา การคิดแผนโกงกิน กอบโกย ทุจริตคอร์รัปชัน จะแพร่ระบาดอย่างแรงกล้า ด้วยอำนาจอภิชฌาเติบโตอย่างเต็มที่ ในจิตวิญญาณของสัตว์สังคม...

ความพยาบาท หรือการทำลายล้างกันของสัตว์โลกในทุกรูปแบบ ก็จะขยายตัวไปจากธรรม จะแพร่พันธุ์ไปอย่างรวดเร็วในจิตใจของสัตว์โลก ธรรม ๓ ประการจักผุดปรากฏ เหมือนดอกไม้บานในฤดูกาล ได้แก่ ๑ อธัมราคะ(ความยินดีที่ไม่เป็นธรรม) ๒ วิสมโลภะ (ความโลภไม่สิ้นสุด) ๓ มิจฉาธรรม (ความประพฤติตามอำนาจกิเลส) สมัยดังกล่าวนี้อายุขัยของสัตว์มนุษย์ยิ่งลดลงไปอีก และเพราะ อกุศลธรรม ทั้ง ๓ เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด จึงนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิดธรรม การไม่ปฏิบัติอย่างรู้คุณในพ่อแม่ครูบาอาจารย์ สมณพราหมณ์ พระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีคุณ ฯลฯ จึงปรากฏ จึงไม่ต้องกล่าวถึงความอ่อนน้อมตามฐานะสูงต่ำ ที่เคยถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมอันดีของสังคม (กุลเชษฐาปจายนธรรม) สัตว์มนุษย์จึงมีอายุขัยยิ่งลดลง ผิวพรรณก็เสื่อมทราม อับปัญญา ไร้ความเข้าใจในสิ่งที่ถูก-ผิด... ไม่เข้าใจในความควร ความไม่ควร จนสัตว์โลกเข้าสู่การกระทำการสัมเภท ดุจสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย...

ความคิดร้าย ความคิดพยาบาท ความอาฆาต ของสัตว์เหล่านั้น จนในที่สุด แต่ละคนได้พากันถือศัสตราวุธเพื่อปลงชีวิตซึ่งกันและกัน ราวกะว่า ฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ นั่นคือการเปลี่ยนผ่านสังคมโลกสู่ กาลกลียุค และเข้าสู่ สัตถันตรกัปป์ (การใช้อาวุธติดต่อกันไม่หยุดหย่อนตลอดเวลา ๗ วัน) ในเบื้องหน้า ซึ่งหากสาธุชนรู้จักอ่านคิดพิจารณาก็จักพบว่า

เรากำลังเปลี่ยนยุคสู่ กลียุค ดังที่ พระสงฆ์รูปหนึ่งได้กล่าวเมื่อร่วม ๑๐ ปีที่ผ่านมาว่า...

มีนิมิตเสียงดังก้องท้องฟ้าว่า กาลกลียุคในโลกมนุษย์เกิดขึ้นแล้ว พร้อมภาพ เห็นสัตว์มนุษย์ถือศัสตราวุธในมือออกไล่ล่าฆ่าฟันกัน

และนิมิตต่อมาคือ จะมีผู้ทรงบารมีธรรมเข้าสู่พระพุทธศาสนา เพื่อเร่งช่วยเหลือสัตว์โลกที่ยังมีวาสนาบารมีให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ จะได้ทุเลาความเลวร้ายลง

แม้จะต้องเป็นไปตามกฎความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ดังที่กล่าวมา.

เจริญพร

(Cr.Dr.Nitinant Wisaweisuan)

การเข้าสู่กาลกลียุคแห่งสังคมมนุษยชาติ!!
โดย..พระ อ.อารยวังโส

ปักธงธรรม หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -
- ศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2014 เวลา 20:37 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๑๔๕. ควงสาวขึ้นสวรรค์

พิมพ์ PDF

ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๗๘.ควงสาวขึ้นสวรรค์

ทีมงานจัดการประชุม PMAC (Prince Mahidol Award Conference) นัดไปประชุม retreat กันที่เชียงใหม่  ระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ ก.ย. ๕๕  ทำให้ผมได้โอกาสควงสาว (น้อย) เที่ยวสวรรค์  เพราะเราไปประชุมกันที่โรงแรมปานวิมาน  ที่คุณหมอสุวิทย์และผมติดใจในบรรยากาศธรรมชาติ  แม้ผมจะรู้สึกว่าเป็นการบุกรุกป่า  เพาะพื้นที่มีความลาดชันมาก  อ่านบันทึกที่ผมไปคราวที่แล้วได้ ที่นี่


คราวนี้ผมได้พักที่โรงแรม ที่ห้อง ๒๑๑๐  ไม่ได้พักที่บ้านเดี่ยว (๑๓๐๒) อย่างคราวที่แล้ว  ทำให้ได้เปรียบเทียบ พบว่าพื้นที่ใช้งานกว้างขวางไม่แตกต่างกัน  และความเป็นส่วนตัวก็ไม่ต่างกัน  แต่ที่บ้านเดี่ยวปลูกที่เนิน เห็นวิวหุบเขาไกลๆ  ส่วนห้อง ๒๑๑๐ อยู่ในหุบ ได้บรรยากาศติดดิน


ข้อดีของห้องในส่วนโรงแรมคือพื้นไม่มีหลายระดับในส่วนที่เป็นบ้านเดี่ยวคนแก่เดินต้องระวังพื้นมีหลายระดับมาก


พยากรณ์อากาศบอกว่าระหว่างวันที่๒๘ - ๓๐ ก.ย. ๕๕ ที่เชียงใหม่ฝนตกทุกวัน  และหลังจากเราเช็คอินเข้าห้องตอนเวลาประมาณบ่ายสามโมง  อีกสักครูฝนก็ปรอยลงมา  ดังนั้น เมื่อฝนหาย แดดออก เมื่อเวลาบ่ายสี่โมงเศษ ผมจึงรีบชวนสาวน้อยชมสวน  คือออกไปเดินเล่น ซึ่งจะเป็นการออกกำลัง เพราะเป็นการเดินขึ้นลงเขา ขึ้นลงบันได ตามจุดชมวิวต่างๆ  สาวน้อยชอบเป็นดาราหน้ากล้อง  ส่วนผมชอบถ่ายรูป  จึงเข้ากันได้ดีในส่วนนี้  ทำให้ผมชักชวนให้เขาเดินขึ้นบันไดได้มาก  ผมบอกเขาภายหลังว่า เป็นอุบายให้เขาออกกำลัง  จะได้อยู่ด้วยกันนานๆ


บ่ายวันนี้อากาศใสกว่าที่ผมมาคราวที่แล้ว   ภาพถ่ายวิวหุบเขาจึงสวยกว่า หรือสวยคนละแบบ


ตอนเช้ามืดวันที่ ๒๙ ก.ย. ๕๕ ผมออกไปนั่งที่ระเบียง (ที่กำลังพิมพ์อยู่นี่แหละ) ดื่มด่ำดนตรีธรรมชาติ  และตากอากาศเย็นสบาย (สาวน้อยบอกว่าหนาว แต่ผมสบาย)  ให้ความสุขสดชื่นอย่างที่สุด


ดนตรีธรรมชาตินี้มี ๓ “ชิ้น”  คือคอนเสิร์ทจิ้งหรีด (จิ้งหรีดต่างชนิดร้องประสานเสียง)  เสียงไก่ขันจากไกลๆและเสียงน้ำฝนหยด


นั่งพิมพ์บันทึกและดูหนังบีบีซีเรื่องA Year in the Wild Snowdoniaที่ระเบียงห้องจนฟ้าสาง  หนังก็เป็นเรื่องภูเขา ในภาคเหนือของแคว้น เวล ของสหราชอาณาจักร  เป็นภูเขาที่เคยถูกระเบิดทำเหมืองหินชนวน เอาไปทำกระเบื้องมุงหลังคา  เขาบอกว่าสมัยนั้นสามในสี่ของหินชนวนมุงหลังคาในโลกมาจากเหมืองนี้  แต่เหมืองร้างไปนานแล้ว  ทิ้งร่องรอยไว้จนปัจจุบัน


ภูเขาที่ผมกำลังนั่งอยู่นี้ก็โดนคนเข้าจับจองใช้ประโยชน์อีกแบบหนึ่ง  และป่าก็เป็นป่าเขตร้อน  ในขณะที่ Snowdoniaเป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้น้อยมาก  จึงใช้เป็นทุ่งเลี้ยงแกะ  ส่วนภูเขาที่แม่ริมนี้ก็โดนจับจองทำ รีสอร์ท  และทำแปลงเกษตร ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ราคาสูง


โชคดีมากที่สองวันครึ่งที่เราอยู่เชียงใหม่ ฝนตกไม่หนัก หรือแทบไม่ตกเลย


เช้าวันที่ ๓๐ ก.ย. สาวน้อยเป็นผู้ชวนเดินชมสวน ชมวิว และถ่ายรูป  เราจึงได้รูปสวยๆ อีกชุดใหญ่  โดยเฉพะดอกทองกวาว ที่ออกดอกดกเต็มต้น ภาพที่มีหมอกยามเช้าเป็นฉากหลังงดงามยิ่ง


วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย.​ ๕๕

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๑๔๕. ควงสาวขึ้นสวรรค์ (๒)

คราวนี้ขึ้นยากขึ้นเย็นเผชิญอุปสรรคทั้งจากฟ้า และจากเครื่องยนต์กลไก

นี่คือการไปประชุมที่ ปานวิมาน รีสอร์ท ครั้งที่ ๓ ของผมคราวนี้ไปประชุม รีทรีต ของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งจัดระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗  แต่เขาเชิญให้ไปพักล่วงหน้าในคืนวันที่ ๒๑ มีนาคมโดยผมมีกำหนดไปบรรยาย เรื่องการจัดการความรู้ ที่ มช. เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ก่อนแล้วจึงเดินทางไปปานวิมาน รีสอร์ท

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมต้องออกจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของสถาบันคลังสมองฯ ก่อนเวลาไปขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบิน TG 110 กำหนดออก ๑๒.๕๕ น.

เมื่อได้เวลาขึ้นเครื่องตามที่ระบุในบัตรขึ้นเครื่อง (๑๒.๒๕ น.) สาวน้อยกับผมก็เดินไปที่ประตู B5 และนั่งรอเวลา ๑๒.๔๐ น. ผมก็บอกสาวน้อยว่าเครื่องมีปัญหาโดยสังเกตจากช่างซ่อมบำรุงยังง่วนอยู่แถวล้อหน้าของเครื่องบินและรถคันโต ของช่าง เพิ่งเคลื่อนมาจอดใกล้เครื่องบิน

อีกสักครู่ เจ้าหน้าภาคพื้นดินก็ประกาศว่าเครื่องยังขึ้นไม่ได้เพราะได้รับข่าวจากสนามบินเชียงใหม่ว่าหมอกควันหนามาก เครื่องลงไม่ได้ และอีกครู่เดียว ก็มีอาจารย์ผู้ชายจาก มช. มาทักบอกว่าเที่ยวบินของท่านบินไปถึงสนามบินเชียงใหม่แล้ว แต่ลงไม่ได้ เพราะหมอกควันหนาต้องบินกลับ และกำหนดเครื่องออก ๑๔.๔๕ น.แต่ไม่ทราบว่าจะได้ไปตามกำหนดหรือไม่และท่านช่วยติดต่อทาง มช.ที่เป็นผู้จัดการบรรยายเรื่อง KM สำหรับผู้บริหาร ที่ผมมีกำหนดบรรยายเวลา ๑๔.๓๐ - ๑๖.๓๐ว่าจะต้องเลื่อนออกไป

ในที่สุดเราก็ได้ขึ้นเครื่องและเครื่องแท็กซี่ทำท่าจะขึ้นบินอยู่แล้วเมื่อเวลา ๑๕.๐๕ น.กัปตันก็เบรกกระทันหันและนำเครื่องไปจอด พร้อมกับประกาศว่า เครื่องมีปัญหาทางเทคนิค เครื่องลงจอดอัตโนมัติ ที่ต้องใช้ในสภาพหมอกหนาไม่ทำงาน ขอตัดสินใจกลับไปให้ช่างตรวจซ่อมให้แน่ใจ

กลับไปจอดรออยู่ใกล้ๆ งวงขึ้นเครื่องราวๆ ครึ่งชั่วโมง กัปตันก็ประกาศว่าพร้อมออกเดินทางโดยช่างบอกว่าสัญญาณ ที่จอบอกว่าเครื่องลงจอดอัตโนมัติไม่ทำงานนั้น เป็น false signalและได้แก้ไข false signal นั้นแล้วเครื่องบินขึ้นเวลา ๑๕.๕๗ น.สามชั่วโมงหลังเวลาขึ้นตามเวลาปกติพอดีใช้เวลาบิน ๑ ชั่วโมง และร่อนลงสนามบินเชียงใหม่อย่างราบรื่นเมื่อเวลา ๑๖.๕๕ น.โดยที่หมอกควันไม่หนามากนัก

คุณทองอินทร์ โชเฟอร์ ของ มช. ที่คุ้นเคยกันดีมารับพาขึ้นเหนือตรงไปอำเภอแม่ริม แล้วแยกไปทางทิศตะวันตกเข้าถนน ๑๐๙๖ผ่านน้ำตกแม่สาเอราวัณวัลเล่ย์ปางช้างแม่สาสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์แม่สาวัลเล่ย์ตรงสู่บ้านโป่งแยงใน ที่เป็นหุบเขาซึ่งปานวิมาน รีสอร์ท ตั้งอยู่อันเป็นที่มาของชื่อบันทึก “ควงสาวขึ้นสวรรค์”

เราไปถึงเวลาเกือบ ๑๘.๓๐ น. ยังไม่ค่ำได้ที่พักบ้าน ๑๑๐๓ ซึ่งมีสระว่ายน้ำในตัว และห้องนอนเหมือนกับบ้าน ๑๓๐๒ ที่ผมมาพักที่นี่ครั้งแรกแต่บ้าน ๑๓๐๒ ไม่มีสระว่ายน้ำ

มาคราวนี้สาวน้อยเข่าไม่ดีจึงไม่ได้ออกไปเดินเล่นด้วยกันอย่างคราวที่แล้ว

เช้าวันที่ ๒๒ มีนาคม ผมออกไปเดินคนเดียว ในท่ามกลาง หมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าตอนเช้าไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรแต่ตอนเย็นพอออกไปนอกห้องรู้สึกแสบตาแสบจมูก บรรยากาศในปานวิมานรีสอร์ทคราวนี้เป็นบรรยากาศหน้าแล้งต่างจากที่มา ๒ คราวที่แล้วที่เป็นหน้าฝนเรามาขึ้นวิมานตอนหน้าแล้ง ได้อีกบรรยากาศหนึ่ง

วันนี้เครื่องบินที่บินจากกรุงเทพมาเชียงใหม่มีปัญหาลงไม่ได้ ต้องบินกลับไปรอฟ้าเปิดที่กรุงเทพอีก เหมือนเมื่อวานศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง มาเที่ยว ๘.๓๐ น.มาถึงจริงๆ ๑๖ น.

เช้าวันที่ ๒๓ มีนาคม ผมออกไป “ขึ้นสวรรค์” ที่ระเบียงเหนือสระว่ายน้ำเพื่อเสพบรรยากาศป่าเขาทันใดนั้นนกกระปูดก็ร้องประสานเสียงกันไปมาเช่นเดียวกันกับเสียงไก่ขันจากหลายทิศทางและเสียงจิ้งหรีด และจั๊กจั่นเป็นดนตรีธรรมชาติที่ไพเราะยิ่งนักสำหรับผม

ผมออกไปเดินขึ้นเขา บนถนนคอนกรีตอย่างดีที่ตัดขึ้นเขาในทางที่เขาติดป้ายว่า Panviman Residencesยิ่งเดินขึ้นเขาลึกเข้าไป ผมยิ่งรู้สึกว่า เจ้าของรีสอร์ทแห่งนี้ต้องมีอิทธิพลมากฟ้องคนที่ไปพบเห็นว่า บ้านเมืองของเรา ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอทั่วหน้ากันใครมีอิทธิพลก็สามารถครอบครองเป็นเจ้าของป่าเขาได้ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย เห็นอยู่โทนโท่

เกิดความสลดใจคู่ไปกับความเบิกบานใจจากธรรมชาติ ที่ได้เห็นต้นไม้ใหญ่และได้ยินเสียงนกร้องส่วนที่สลดใจคือการที่คนมีอิทธิพลครอบครองพื้นที่ป่าเขา และตัดป่าทำรีสอร์ท

เราควรต่อต้าน โดยร่วมใจกันไม่ไปพักที่รีสอร์ททำลายป่าเหล่านี้หรือไม่ แต่เพื่อความเป็นธรรมขอบันทึกว่า บริเวณนี้ยังมีการครอบครองภูเขาที่สูงชันแบบเดียวกัน เห็นอยู่ทั่วไป

๒๕ มี.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2014 เวลา 21:21 น.
 

ฟังครูเปิดใจ

พิมพ์ PDF

บ่ายวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมโชคดีจริงๆ ที่ได้ฟังครูเปิดใจว่าตนเองเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ หรือเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอย่างไรบ้างซึ่งในภาษาทั่วๆ ไปก็คือ เปลี่ยนวิธีสอนอย่างไรบ้างและนักเรียนบอกครูว่าอย่างไรเมื่อครูเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

เหตุการณ์เกิดที่ห้องประชุมของโรงเรียนแหลมสิงห์วิทยาคม “อาทรสังขะวัฒนะ ๔ อุปถัมภ์” ต. พลิ้วอ. แหลมสิงห์จ. จันทบุรีในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (AAR) ของโครงการพัฒนาศิษย์ด้วยระบบ หนุนนำต่อเนื่อง (Coachingเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ของนักเรียนในจังหวัดจันทบุรีโดยเน้นจัดการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning

มีผู้เข้าร่วมประชุม ๓ กลุ่ม คือ ครู, coacher, และนักวิจัย มาจากทั้งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอื่น ในโครงการพัฒนาศิษย์ด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง ที่สนับสนุนโดย สกว. และ สพฐ. โดยที่วงนี้คุยกันเรื่องครู ชั้นมัธยม สอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ครูยุพดี ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมท่าแคลงAAR พฤติกรรมการสอนของครู ที่เปลี่ยนไปหลังได้รับ coaching ว่า(๑) ก่อนรับการโค้ช ครูจะสอนตามเอกสารหลักสูตรที่กำหนดโดย กระทรวงศึกษาธิการเป็นการ “สอนให้จบ”แต่หลังรับการโค้ช ครูจะคิดวางแผนจัดการเรียนรู้วางแผนตั้งคำถาม(๒) ใช้ IT ช่วยการสอนได้ดีขึ้นครูวางแผนใช้ตัวช่วยการเรียนรู้จาก ICT เช่นจาก YouTube เอามาแปลช่วยความเข้าใจของนักเรียนที่ฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง(๓) เข้าใจศักยภาพของเด็กที่แตกต่างกันเพราะเด็กที่ท่าแคลงเป็นครอบครัวประมงชายฝั่ง ขาดเรียนบ่อย เพื่อไปช่วยพ่อแม่ออกทะเล หารายได้จะมีรายได้วันละ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท(๔) เข้าใจทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ผมบันทึกเสียงการเสวนานี้ เอากลับไปฟังซ้ำที่บ้านด้วยความชื่นใจและบอกตัวเองว่าหากครูคิดถึงศิษย์ อยู่ทุกลมหายใจอย่างที่ครูยุพดี และครูคนอื่นๆ อธิบาย และเอาใจใส่ศึกษาและพัฒนาวิธีทำหน้าที่ครู อย่างไม่หยุดยั้งดังที่ โครงการ TeacherCoaching เข้าไปหนุนการศึกษาไทยมีโอกาสฟื้นคุณภาพได้ อย่างแน่นอน

ฟื้นได้เพราะเรามี “ครูเพื่อศิษย์” อยู่แล้วเมื่อเข้าไปหนุนวิธีการที่ถูกต้องที่เป็น active learning ถูกจริตของเด็กยุคใหม่ ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อผมทำหน้าที่ “คุณอำนวย” กระตุ้นให้ครูสะท้อนความคิดอย่างอิสระ อย่างเปิดใจ ว่าตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมา วิธีจัดการเรียนรู้แบบใหม่ นักเรียนได้อะไร ครูโรงเรียนเบญจม ที่เพชรบุรี บอกว่าโรงเรียนเบญจม เป็นโรงเรียนของเด็กเก่ง พบว่าเด็กช่วยกัน คนเก่งช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อนและพบว่าเด็กเรียนอ่อนก็เก่งในบางเรื่อง และพบว่าเด็กได้ความรู้ ที่คงทน (รู้จริง -mastery) ท่านผู้อ่านเห็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเชิงจริยธรรม ของนักเรียนที่เรียนเก่งไหมครับ

ครูผู้ชายจากโรงเรียนมัธยมท่าแคลง สอนคณิตศาสตร์ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อเด็กอ่อนมีปฏิกิริยา ในต่อต้าน จากการที่ครูให้ทำงานครูไม่ท้อ เข้าประชิดและตั้งคำถามนำ จนเด็กทำงานสำเร็จนักเรียนบอกว่า “ทำไมครูไม่สอนอย่างนี้ ตั้งแต่แรก”

การเรียนรู้แบบ active learning ช่วยให้เด็กเรียนอ่อน เด็กเบื่อเรียน มีที่ยืนในชั้นเรียนเพราะการเรียนรู้ แบบลงมือทำและคิด เป็นการเรียนรู้แบบที่ตรงตามธรรมชาติของมนุษย์

นี่คือหลักฐานเรื่องจริงจากโรงเรียนไทย ที่แสดงว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เกิดขึ้นเองในตัวเด็กเมื่อจัดการเรียนรู้แบบ active learning ให้เด็กลงมือทำ ตามด้วยการคิดไตร่ตรอง(reflection)

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2014 เวลา 21:23 น.
 

แนวทางสร้างตัวเป็นนักวิชาการชั้นยอด

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมการประชุม ริมเจ้าพระยา ฟอรั่ม โดยมี ศ. นพ. ดร. นรัตถพล เจริญพันธุ์ เป็นผู้มาเล่าเรื่องวิธีคิด และวิธีปฏิบัติในการทำงานวิชาการจนประสบผลสำเร็จ ได้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ ๓๕ ปีนับเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย เท่าที่เคยมี

ศ. นรัตถพล เรียนหลักสูตร PhD MD ที่ศิริราช จบรุ่นที่ ๑๑๐เป็นอาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

ผมสรุปกับตัวเองว่า ศ. นรัตถพล ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิตวิชาการ เพราะท่านจับหลักการ เชิงมโนทัศน์ (concept) ที่สำคัญๆ ได้หลักการเหล่านี้ได้แก่

  • หลักการใช้พลังเสริมระหว่างหน้าที่ที่คนทั่วไปคิดว่าขัดกันแต่ ศ. นรัตถพลเชื่อว่ามัน เสริมกันที่สำคัญที่สุดคือ ระหว่างหน้าที่สอน กับหน้าที่วิจัยท่านเสนอว่าผู้บริหารต้องอย่า มีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์ใหม่ที่รักงานวิจัยขอลดงานสอน ต้องแนะ/ฝึกให้อาจารย์ใหม่ รู้จักวิธีทำให้เกิดการสนธิพลังกันระหว่างหน้าที่ทั้งสอง

อีกคู่หนึ่งที่นักวิชาการทั่วไปบ่นมากคือ งานวิชาการ - งานธุรการ เช่นเสียเวลาเขียน มคอ. ของ TQFงานเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ฯลฯศ. นรัตถพล กลับเสนอว่า นักวิชาการ ต้องเข้าใจระเบียบพัสดุ และอื่นๆสำหรับนำมาใช้ในการทำงานให้ราบรื่นและมีระบบที่ ทรงประสิทธิภาพแล้ว “ก้าวข้าม” ภารกิจเหล่านั้นคือฝึกคนขึ้นมาทำงานในลักษณะงานประจำเหล่านั้นลดภาระของตนลงไป

  • หลักการ “ความรู้เป็นมายา ท่านชี้ให้เห็นว่า ความรู้ และวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล (dynamic) ไม่ใช่สิ่งที่ “นิ่งสถิตย์” (static) ข้อความ หรือความรู้ในตำรา เป็นเพียงโครงสร้าง ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ “ความจริง” (fact)นานไปอาจพบว่าผิดก็ได้และความรู้ใน วารสาร ไม่ใช่การ “พิสูจน์” สิ่งใดเป็นเพียงการยืนยัน หรือแย้ง “ข้อสังเกต” (observation)

ความเห็นของ ศ. นรัตถพลนี้ ตรงกับสาระในบทที่ ๑ ของหนังสือ Teaching at Its Best

  • ให้ความสำคัญต่อการ “สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้โดยบอกว่า posdoc fellow เป็นผู้ช่วยสร้างบรรยากาศ ที่อาจารย์สร้างไม่ได้ผมตีความว่า หมายถึงบรรยากาศ “ส้นเท้า” (S.O.L.E. – Self-Organized Learning Environment) หรือบรรยากาศอิสระ
  • ปรับสมดุล ระหว่างการสอน Knowledge กับ Process อยู่ตลอดเวลาในประเด็นนี้ ผมขอนำภาพ ppt ที่ ศ. นรัตถพล ใช้นำเสนอ และผมถ่ายภาพไว้เอามาให้ดู รวม ๓ ภาพ
  • Active – Reflective / Problem-Based Learningเป็นการเรียนรู้ที่ตรงตามหลักการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๑และผมตีความว่า ทำให้ นศ. ในความดูแลของ ศ. นรัตถพล กลายเป็น ผู้ร่วมสร้างสรรค์วิชาการแทนที่จะเป็นภาระในการสอนของอาจารย์ อย่างที่อาจารย์ โดยทั่วไปเผชิญผมจึงเอาภาพ ppt ที่ ศ. นรัตถพล ใช้อธิบายตอนนี้มาให้ดูด้วย

ผมสรุปกับตนเองว่า ศ. นรัตถพล เป็นนักวิชาการที่ก้าวสู่สภาพ “รู้จริง” (Mastery) ตั้งแต่อายุน้อยมากและเข้าใจว่า ท่านได้จากการสังเกตเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองอาจจะผสมกับมี mentor ที่ดีคอยช่วยชี้ทางและผมคิดว่า ใครก็ตามที่สามารถเข้าสู่มโนทัศน์แบบนี้ได้การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการก็ไม่เป็นเรื่องยากและน่าจะเป็นเรื่องสนุกบันเทิงใจดังที่แสดงออกมาในหน้าตาท่าทางของ ศ. นรัตถพล ตอนบ่ายวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ที่อาคาร SiPH ชั้น ๘มองออกไปภายนอกเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอันสวยงาม

เป็นหน้าตาท่าทางของคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่งในชีวิตวิชาการ จากการคิดแหวกแนว จากมโนทัศน์เดิมๆแต่ไม่เปล่งประกาย อหังการ์ใดๆ เลย

ในตอนท้าย ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดล ถามผมว่า ผมจะแนะนำให้ ศ. นรัตถพล ทำอะไรในชีวิตที่เหลืออีก ๒๕ ปี จึงจะถึงอายุ ๖๐เพราะแค่อายุ ๓๕ ก็บรรลุ ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตนักวิชาการเสียแล้ว

ผมตอบว่า การเป็นศาสตราจารย์ไม่ใช่เป้าหมายหรือไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคนแต่เป็นเครื่องมือ หรือเป็นเส้นทาง สู่การทำคุณประโยชน์ มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ให้แก่สังคมซึ่งในที่นี้ ผมตีความว่า เป็นการ “สร้างคน” ที่เป็นนักวิชาการแท้นักวิชาการที่มีคุณภาพสูงให้แก่สังคมไทย

ศ. นรัตถพล มีเวลาทำงานสร้างสรรค์วิชาการอีก ๔๕ ปี ไม่ใช่ ๒๕ ปีเพราะนักวิชาการนั้นไม่ควรหยุด ทำงานวิชาการเมื่ออายุ ๖๐เพราะสมัยนี้คนอายุ ๖๐ ที่สุขภาพดีถือว่ายังหนุ่มนักวิชาการอาวุโสควรรับใช้ บ้านเมืองโดยการสร้างนักวิชาการชั้นยอดให้แก่ประเทศศ. นรัตถพล สามารถทำหน้าที่สร้างนักวิจัย/นักวิชาการ ชั้นยอด จนได้ชื่อว่าเป็น professor of the professors

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มี.ค. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2014 เวลา 21:53 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๑๔๓. ไปโคราช

พิมพ์ PDF

เย็นวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗ อาจารย์สมเกียรติ ชิณโคตร รองผู้อำนวยการวิทยาลัยมารีบริหารธุรกิจ นครราชสีมาและคณะสาวๆ อีก ๓ คน ไปรับผมที่สนามบินสุวรรณภูมิ และพาขึ้นรถตู้ไปนครราชสีมา ระหว่างทางฝนตก และผมได้รับ อีเมล์ จาก ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ ว่า บ่ายวันที่ ๑๖ มีพายุลูกเห็บที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลยตกหนักจนที่พื้นขาวโพลนไปหมด

เราไปแวะกินอาหารเย็นที่ ร้านครัวบ้านสวน ๒จ. สระบุรีที่อาหารอร่อยมากทุกอย่างแล้วเดินทางถึงโคราช เวลากว่าสี่ทุ่ม เลยเวลานอนของผมเขาจัดให้ผมไปนอนค้างที่โรงแรมวีวัน ถนนช้างคลาน ไม่ห่างจากถนนมิตรภาพมากนักที่โรงแรมนี้มีตำรวจมาพักมากมายเพราะวันรุ่งขึ้นจะมีการติวสอบนายตำรวจ สอบอะไรผมไม่ได้ถามวันรุ่งขึ้นเห็นเอกสาร ที่คนมาติวถือ ตราโล่ และระบุว่าเป็นเอกสารลับ แต่ที่ป้ายหน้าโรงแรมเขียนว่า“ยินดีต้อนรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ข้าราชการตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ๔ สายงานในสถานีตำรวจ”

โรงแรมวีวัน ตกแต่งทันสมัย เตียงนอนสบาย และราคาก็สูงกว่าโรงแรมอื่น คือคืนละ ๒,๓๐๐ บาทผมนอนหลับเป็นตาย เพราะเหนื่อยจากการเดินทางเช้าขึ้นมาก็ออกไปเดินออกกำลังในบริเวณโรงแรม ซึ่งไม่กว้าง และไม่มีการตกแต่งสวยงามใดๆผมจึงออกไปวิ่งริมถนนช้างคลาน ออกไปทางถนนมิตรภาพวิ่งไปบนถนนมิตรภาพ หน่อยเดียวก็รู้สึกไม่น่าวิ่งเพราะรถแล่นเสียงดังและเหม็นกลิ่นควันไอเสียรถและอาคารริมถนนก็ไม่มีอาคารที่สวยงามใดๆ

วิ่งกลับมาริมถนนช้างคลานและเลยหน้าโรงแรมวีวันไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจจึงกลับมากินข้าวและขึ้นห้องทำงาน

เป็นเวลานานมากแล้ว ที่ผมไม่ได้ไปที่จังหวัดนครราชสีมาที่เคยไปเที่ยวจริงๆ ก็กว่า ๔๐ ปีมาแล้วไปงานแต่งงานของหมอต้อยกับพี่เทพจนในที่สุดพี่เทพเป็นพลอากาศเอก และเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ในรัฐบาลอานันท์คราวนั้นขับรถไปเที่ยวหลายแห่ง รวมทั้งที่ปราสาทหินพิมาย และไทรงาม ที่อำเภอพิมายเช่นเดียวกัน

ระหว่างนั่งรถไปโคราช อ. สมเกียรติเล่าให้ฟังเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่ เออีซี ของเวียดนามที่ท่านได้รับฟังมาจาก ดร. วินัย พัวประดิษฐ์ ผวจ. นครราชสีมาอีกต่อหนึ่งว่าเวียดนามส่งคน ๒ แสนคนมาทำงานในประเทศไทยในสารพัดงานเพื่อมาเรียนรู้ ประเทศไทยในแง่มุมต่างๆโดยมีแผนว่า เมื่อเข้าสู่ เออีซี เขาก็จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยก็จะมีคนเวียดนามที่รู้จัก ประเทศไทยดีทำงานนี่คือสุดยอดของการใช้การเรียนรู้ที่เป็นการเรียนรู้เชิงบริบท หรือเรียนรู้ Tacit Knowledge ที่เยี่ยมยอดจริงๆ

ผมมีข้อสังเกตว่า ในตัวเมืองโคราช มีต้นไม้น้อย

๑๗ มี.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2014 เวลา 22:57 น.
 


หน้า 359 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8656628

facebook

Twitter


บทความเก่า