Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากสภาคณาจารย์

พิมพ์ PDF

ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลักสูตร UGP รุ่นที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๒๗ ก.พ. ๕๗    เรื่องการทำหน้าที่ กรรมการสภาฯ ในบริบทความท้าทายใหม่    มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องหลักการที่ว่า     กรรมการสภาฯ ต้องคิดและตัดสินใจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และของสังคมส่วนรวม เป็นอันดับ ๑    ไม่ใช่เข้ามารักษาผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตนเป็นผู้แทนเพียงถ่ายเดียว

ประเด็นคือ ประธานสภาคณาจารย์ เป็นตัวแทนอาจารย์เข้าไปนั่งในสภามหาวิทยาลัย     จึงมีบางคน คิดว่า ประธานสภาคณาจารย์ต้องนำเอามติของสภาคณาจารย์ ไปยืนยันให้สภามหาวิทยาลัย เห็นชอบหรือ คล้อยตาม    เมื่อมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ (โดยตรงหรือโดยอ้อม) ของอาจารย์  จะเข้าสู่การพิจารณา ของสภามหาวิทยาลัย    สภาคณาจารย์ก็จะนำมาลงมติกันก่อน แล้วประธานสภาคณาจารย์นำมตินั้นไปแจ้ง ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันให้สภามหาวิทยาลัยมีมติตามนั้น     หากสภามหาวิทยาลัยมีมติไปทางอื่น ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างสภาคณาจารย์กับสภามหาวิทยาลัย

นี่คือสภาพในบางมหาวิทยาลัย ที่เป็นบรรยายกาศที่ไม่สร้างสรรค์    หรือเป็นบรรยากาศที่อบอวล ไปด้วยความขัดแย้ง     แทนที่จะอบอวลไปด้วยความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน     ในสภาพนี้ ผู้คนมุ่งเอาชนะ ให้ได้มติตามความคิดของตน หรือตามผลประโยชน์ของตน     ไม่ได้มุ่งมองที่เป้าหมายหลัก (mission) ขององค์กร ที่ได้ร่วมกันกำหนด (shared mission)     หรือสภามหาวิทยาลัยนั้น อาจไม่เคยจัดกระบวนการพัฒนาหรือกำหนด shared mission ร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ     คือไม่มียุทธศาสตร์สร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยเป้าหมายร่วม ค่านิยมร่วม    ที่เป็นแนวทางการจัดการสมัยใหม่

ที่จริง ประเด็นประธานสภาคณาจารย์นำมติของสภาคณาจารย์ไปต่อสู้ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนั้น    เป็นพฤติกรรมของ reductionist    ที่ลดทอนความซับซ้อน (complexity) ของประเด็นเชิงนโยบาย     ให้กลายเป็น ประเด็นสองขั้ว ใช่ - ไม่ใช่,  ขาว - ดำ,  เอา - ไม่เอา     เรามักตกอยู่ใต้อิทธิพลของแนวคิดแบบ reductionist นี้โดยไม่รู้ตัว    แล้วเมื่อผสมกับทิฏฐิมานะวิญญาณเอาชนะ    ก็จะเกิดการต่อสู้แบบหัวชนฝา อ้างมติของสภา คณาจารย์ อย่างเดียว     ไม่รับฟังข้อมูล เหตุผล หรือความเห็นอื่นๆ ทั้งสิ้น

ผมให้ความเห็นต่อผู้เข้าเรียนว่า     จะให้เป็นการประชุมสภาที่สร้างสรรค์    เมื่อประธานสภาคณาจารย์ นำมติของสภาคณาจารย์ ไปแจ้งในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ต้องแจ้งเหตุผลด้วย    และเมื่อสภามหาวิทยาลัย มีมติไม่ตรงกับมติของสภาคณาจารย์ ประธานสภาคณาจารย์ต้องไม่เพียงเอามติของสภามหาวิทยาลัยกลับไปแจ้ง ต่อสภาคณาจารย์ ต้องแจ้ง ข้อมูล และเหตุผล ที่สภามหาวิทยาลัยใช้ในการพิจารณาด้วย     เพื่อให้สภาคณาจารย์ได้เข้าใจมิติที่หลากหลายซับซ้อนของเรื่องนั้น     คือสังคมมหาวิทยาลัย ต้องอยู่กันด้วยข้อมูล และเหตุผล    และยึดโยงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ shared vision, shared purpose และ shared values

มีผู้เล่าว่า ไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งมีท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นนายกสภา    ในการประชุมสภาฯ กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ เรียกร้องให้มีการลงคะแนนในทุกวาระ    ไม่ยอมให้ใช้วิธีการลงมติแบบแสดงข้อคิดเห็นจนมีมติเป็นฉันทามติ (consensus)    ท่านนายกสภาฯ อธิบายให้ฟังว่า สภามหาวิทยาลัยเราใช้การประชุมแบบฟังความเห็นซึ่งกันและกัน จนตกลงกันได้    ไม่ใช่เน้นการลงโหวดมติเอาชนะกัน    กรรมการสภาจากคณาจารย์ไม่ยอม    ท่านองคมนตรีจึงลาออก จากนายกสภาฯ

สภาพที่ มทร. แห่งนั้น น่าจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจกัน    และกรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ต้องการผลักดันนโยบายหรือแนวทางของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายภาพใหญ่     ไม่ต้องการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย (ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้)

แต่ในฐานะที่เป็นนายกสภาอยู่ ๑ มหาวิทยาลัย    หากผมเผชิญสภาพนั้น ผมจะให้จัดการประชุมแบบ retreat เพื่อทำความเข้าใจหลักการ และวิธีการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์    ให้เห็นว่า เรากำลังทำงานในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน (complexity) สูง    ต้องมีวิธีทำงานที่คำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลาย เหล่านั้นให้ครบถ้วน    ต้องช่วยกันทำความเข้าใจและนำออกมาหารือกันในที่ประชุม ให้เกิดความรอบคอบ

ในส่วนของผลประโยชน์ของอาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยนั้น     สภามหาวิทยาลัยต้องดูแล ให้ได้รับการตอบแทน และมีสภาพการทำงานที่ดี มีความก้าวหน้าในชีวิต     แต่ในขณะเดียวกัน สภามหาวิทยาลัย ก็ต้องกำกับดูแลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยในภาพรวม    ให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์แก่สังคม อย่างแท้จริง ด้วย

ผมมีข้อสังเกตว่า     ในบางสถานการณ์ คณาจารย์มองว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นพวกผู้บริหาร    กรรมการสภาจากคณาจารย์ต้องเข้าไปทำหน้าที่คานอำนาจ    วิธีคิดเช่นนี้ ไม่เป็นคุณ ต่อมหาวิทยาลัย    เพราะเป็นการมองแคบ และใกล้    กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องเข้าไปกำกับดูแลให้ มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ได้ดี มีแนวทางพัฒนาก้าวหน้าในระยะยาว     ไม่ใช่แค่เข้าไปเอาชนะกันในที่ประชุม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.พ. ๕๗

บนเครื่องบิน  นกมินิ ไปจังหวัดเลย

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2014 เวลา 00:21 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๒๗. เดินและขี่จักรยานออกกำลังที่ ชาโต เดอ เขาใหญ่

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒๒ และ ๒๓.๕๗ ผมได้เดินและขี่จักรยานออกกำลัง ที่ชาโต เดอ เขาใหญ่    ซึ่งมีสถานที่กว้างขวางกว่า ๒๐๐​ไร่    และมีอาคารทรงยุโรปเด่นสะดุดตา     ปลูกอยู่บนเนินเขา     ที่ด้านล่างเป็นสระน้ำ     มีการปลูกต้นไม้ช่วยสร้างเงาในน้ำ เป็นฉากหลังอาคารทรงแปลกๆ     เมื่อถ่ายรูปให้มีเงาในน้ำ ได้ภาพถ่ายที่ให้ความสวยงามแปลกตา

รีสอร์ทนี้อยู่บนถนนเชื่อมระหว่างเขาใหญ่กับวังน้ำเขียว (ถนน ๓๐๕๒)    คือบนถนนเดียวกันกับคีรีมายา    แต่อยู่เลยไป    ผมไปแถวนี้ทีไรใจอดคิดถึงการบุกรุกป่าสงวนไม่ได้    ผมคิดว่าประเทศไทยควรมีการวิจัยเปรียบเทียบการถือครองที่ดิน การจัดการที่ดิน    เทียบระหว่างช่วงเวลา เพื่อทำความเข้าใจว่าเราจัดการที่ดินกันอย่างไร    จะช่วยลดคอรัปชั่นได้

เขาบอกว่า ธุรกิจสำคัญของที่นี่คือ บริการการแต่งงาน และการประชุมเพราะสถานที่ถ่ายรูปสวย     และมีภาพยนตร์นิยมมาถ่ายด้วย

ผมพักที่กระท่อม B House 2 ชั้นบน B House นี้เพิ่งสร้างเสร็จ เราเป็นคณะแรกที่เข้าพัก เช้าวันที่ ๒๒ ผมออกเดินไปตามถนนที่ผ่านหน้ากระท่อม เลยเข้าไปข้างใน    เป็นถนนลาดยาง ที่เก่ามาก มีหลุมบ่อมากมาย    เดินผ่านหน้าบ้าน The Retreat 18/18 หมู่18 ตำบลหมูสี เข้าไปข้างใน มีร่องรอยการปรับที่    เดินไปจนถึงพื้นที่เตรียมปลูกมันสำปะหลัง ผมจึงหันกลับ    เพื่อเดินชมบริเวณของรีสอร์ท

อากาศช่วงนี้เย็นสบายไปข้างหนาว    ผมต้องสวมเสื้อกันลม     เดินไปบนพื้นที่ที่เป็นเนินขึ้นลง    ผมเดินไปด้านหน้าของ รีสอร์ท ซึ่งจัดสวนสวยงาม มีต้นตาลน้ำเงินปลูกเป็นแนว ต้นสมบูรณ์มาก    ออกลูกเป็นช่อยาวสวยงาม    ผมเดินไปถ่ายรูปด้านหน้า รีสอร์ท    แล้วเดินไปด้านข้างของอาคารใหญ่    เพื่อถ่ายรูปสวนหลังอาคาร

เช้าวันที่ ๒๓ ผมเปิดหน้าต่างห้องให้ลมเย็นพัดเข้ามา    ให้ความสดชื่น ทั้งจากอากาศเย็น และจากเสียงนก    ซึ่งมีนกกาเหว่าเป็นหลัก นอกจากนั้นมีนกแต้วแล้ว กางเขน นกเอี้ยง นกปรอด และนกเขา

ข้างบนนั้นผมเขียนก่อนจะรู้ว่า รีสอร์ท นี้เจ้าของคือใคร    พนักงานของรีสอร์ท บอกว่า เจ้าของคือ ดรโภคิน พลกุล    เมื่อรู้เช่นนั้น ผมจึงถึงบางอ้อ ว่ามิน่าเล่า    รีสอร์ทนี้จึงสามารถครอบครองพื้นที่สองฝั่งของถนนสาธารณะ    และใช้ถนน สาธารณะในลักษณะคล้ายเป็นถนนภายในของ รีสอร์ท เอง    แต่เพื่อเป็นธรรมต่อ ดรโภคิน   เราสังเกตว่า ชาวบ้านก็สามารถใช้ถนนนี้ได้นะครับ   ไม่เห็นร่องรอยการห้ามชาวบ้านใช้ถนนแต่อย่างใด

เช้าวันที่ ๒๓ ผมเปลี่ยนมาเป็นขี่จักรยานออกกำลัง ชมวิว ตากอากาศเย็น และถ่ายรูป    เนื่องจากพื้นที่เป็นเนินเขา บางช่วงจึงต้องลงเข็นรถ   โชคดีที่ผมเลือกได้รถจักรยานคันโตที่สุด ที่มีเกียร์ด้วย    ทำให้ถีบขึ้นเนินได้สะดวกขึ้น    แต่คนแก่ก็ไม่วายต้องลงเข็นในบางช่วง

ผมขี่รถเที่ยวเสียรอบบริเวณ รีสอร์ท    โดยไปชม Mountain Villa อันหรูหราด้วย

ตกเย็น การประชุมเสร็จเร็ว    ผมออกไปขี่จักรยานสำรวจเส้นทาง    ไปดูว่าถนนเส้นที่ผ่ากลาง รีสอร์ท ไปจดถนนที่ไหน    พบว่าไปเพียงประมาณครึ่ง ก.ม. ก็ไปชนถนนใหญ่ ซึ่งคือถนน ๓๐๕๒   และถนนที่ผ่ากลางรีสอร์ท ชื่อ ซอยอุทุมพรพัฒนา มีความยาว ๒.๓ ก.ม.    ซอยนี้เพิ่งลาดยางเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ แต่ถนนทรุดโทรมมาก

โรงแรม ชาโต เดอ เขาใหญ่ ดูภายนอกสวยงามหรูหรามาก    เน้นสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบยุโรป  แต่ผมกลับ เห็นว่า การออกแบบตกแต่งภายใน และเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่ดี    ห้องที่ผมพัก ไม่มีโต๊ะเขียนหนังสือ    มีแต่เก้าอี้หลุยส์ให้ ๑ ตัว (ซึ่งก็นั่งสบายดี)   แต่เมื่อร้องขอ ก็ได้โต๊ะแบบลำลอง และเก้าอี้อย่างดี     ห้องน้ำก็ออกแบบไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน

คนที่พักที่ตึกใหญ่ด้านหน้า ที่เขาเรียกตึกวิกตอเรีย    บอกว่ามีหนู และเวลานอนโดนหนูกัด ต้องขอย้ายห้อง     คุณสรพงศ์โชเฟอร์ของผมนอนที่นั่น ก็บอกว่าได้ยินเสียงหนู

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.พ. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2014 เวลา 00:35 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๒๘. วิกฤติยิ่งยวด คือโอกาสยิ่งใหญ่ ๑. มุ่งเป้าระยะยาว ลงมือทำและมุ่งมั่น

พิมพ์ PDF

วิกฤติการเมืองไทยกำลังก้าวสู่สภาพการทำลายล้าง แบบที่ไม่มีความรุนแรงแบบเลือดตกยางออกมากนัก    ไม่มีการรบราฆ่าฟันรุนแรง (ในขณะที่เขียน)    โดยการทำลายล้างเกือบทั้งหมดจะเป็นสภาพการง่อยเปลี้ยเพลียแรงทั่วทั้งสังคม    ที่เรียกว่า failedstate

วันที่ ๒๕ ก.๕๗ ผมฟังนักเศรษฐศาสตร์บรรยายผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว    และในฉากสถานการณ์ว่ามีรัฐบาล ที่ทำงานได้ในไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๕๗    ก็สรุปกับตนเองว่า ผู้รับผลลบรุนแรงคือคนเล็กคนน้อยส่วนใหญ่ของประเทศ    โดยที่ภาคเศรษฐกิจที่กระทบมากที่สุดคือ ภาคบริการ (services sector)    และส่วนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือธุรกิจขนาดเล็ก (SME)

จริงๆ แล้ว ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นเศรษฐกิจเทียม ที่แขวนอยู่กับนโยบายประชานิยม    เป็นตัวระบายเงินงบประมาณ แผ่นดิน ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ    โดยที่ผลร้ายอย่างหนึ่งคือหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว    เวลานี้หนี้ครัวเรือนของไทย สูงที่สุดในอาเซียน คือสูงร้อยละ ๘๐ ของ จีดีพี    เขาอธิบายว่า คนไทยที่มีเงินเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท จะต้องใช้หนี้ ๖,๒๐๐ บาท    จะเห็นว่า ที่ผ่านมาเราดูกันเฉพาะตัวเลขผิวเผินเฉพาะหน้า คืออัตราเพิ่มของ จีดีพี    ไม่ได้ดูตัวเลขหรือดัชนีที่สะท้อน ความมั่นคง ของเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ ๕ ก.พ. ๕๗ ผมพบคุณอาคม ภูติภัทร์ นักพัฒนาประชาสังคมแห่งจังหวัดตราด    ได้รับคำบอกเล่าว่า ลูกกลุ่มออมทรัพย์ของพระอาจารย์ สุบิน ปณีโต ที่มีเงินออมของกลุ่มหลายพันล้านบาท   แต่ลูกกลุ่มออมทรัพย์เหล่านั้น กลับมีหนี้สินส่วนตัวกันคนละมากมาย    สะท้อนปัญหาการดำรงชีวิตที่ไม่พอเพียง ไม่พอดี    เป็นหนี้จากการกระตุ้นให้จ่าย โดยไม่จำเป็น    เป็นวิกฤติการดำรงชีวิตที่ไม่รู้เท่าทันระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

แต่ที่ไม่รู้เท่าทันกันทั้งเมือง (รวมทั้งผมด้วย) คือระบบการเมืองที่เราใช้กันอยู่ในเวลาเกือบ ๒๐ ปี    ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐    ที่หวังกันว่าจะทำให้การเมืองไทยมีความมั่นคง    โดยมีพรรคการเมืองที่มั่นคง ไม่โดน สส. ขายตัวย้ายพรรค หรือขายเสียง

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งได้จริง    แต่ก็ผ่านการทำลายระบบตรวจสอบคานอำนาจ    ผ่านการซื้อตัว สส.    ด้วยการใช้อำนาจเงิน    การเมืองไทยกลายเป็น money politics, crony politics    สู่ corrupted politics  ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย    แต่เป็นอัตตาธิปไตยโดยคนคนเดียว    กลายเป็นความมั่นคงของอำนาจที่รวบไว้ที่คนคนเดียว    เข้าสู่สภาพ Absolute power corrupts absolutely    ที่เราเห็นกันแล้วว่า ทำลายสังคมเพียงไร

กลับมาที่วิกฤติยิ่งยวด คือโอกาสยิ่งใหญ่     ตอนนี้บ้านเมืองของเราอยู่ในสภาพวิกฤติยิ่งยวดจริงๆ    ความขัดแย้ง ลุกลามไปทั่ว และความรุนแรงมีโอกาสเกิดเมื่อไรก็ได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2014 เวลา 00:40 น.
 

๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา ๕. เทคโนโลยีทางการศึกษา

พิมพ์ PDF

๖ นวัตกรรมสู่การเป็นประเทศแห่งการศึกษา ๕. เทคโนโลยีทางการศึกษา

บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน   ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen

บันทึกตอนที่ ๕ นี้ ตีความจาก Edge 3. The Technology Edge : Putting Modern Tools in Young Hands

เทคโนโลยีด้าน ไอซีที ก้าวหน้าไปไกล มีศักยภาพสูงยิ่ง ในการทำให้การเรียนรู้สนุกสนาน และเรียนรู้ ได้ลึกและเชื่อมโยง โดยผู้เรียนไม่รู้สึกว่ายาก    แต่ประเทศไทยยังเอาเทคโนโลยีเอามาใช้ด้านการศึกษาน้อยไป    หรือกล่าวได้ว่า ยังไม่มีนโยบายที่ก้าวหน้าเพียงพอ ในการใช้ ไอซีทีเพื่อการศึกษา    ผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่

ย้ำอีกที ว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ถูกต้อง    จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ของประเทศ    โดยหนังสือเล่มนี้แนะนำว่า เพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ของนักเรียน   และของครู    ช่วยให้การเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ทำได้ 7/24    คือทั้ง ๗ วัน  ตลอด ๒๔ ชั่วโมง    และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู ก็ 7/24 เช่นเดียวกัน

เนื่องจากผู้เขียน คือ Milton Chen ทำงานที่ The George Lucas Educational Foundation มาก่อน   โดยมูลนิธินี้ทำงานด้านริเริ่มผลักดันการพัฒนาการศึกษา    รวมทั้งเป็นผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา  ผ่าน www.edutopia.org ตั้งแต่สมัยเริ่มมีภาพยนตร์    ผู้เขียนจึงมีรายละเอียดเรื่องนี้มาก    ผมจะตีความมาเล่า เพียงย่อๆ

เรื่องที่ประทับใจผมที่สุด คือการพัฒนาระบบ ไอซีที เพื่อการศึกษาของ สก็อตแลนด์    เป็น intranet ด้านการศึกษาของประเทศ    ที่มีนักเรียน ๗ แสนคน (พลเมือง ๕.๑ ล้าน)    เริ่มใน ค.ศ. 2007   เดิมชื่อ Scottish Digital Learning Network   แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Glow

เขาบอกว่า ถึงปลายปี 2009 มีนักเรียนใช้ Glow ๒.๕ แสนคน   ร้อยละ ๑๐ ใช้ในการเรียนประจำวัน    โดยที่เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง ๓๒ เขตของประเทศลงทะเบียนเข้าใช้ Glow   การประเมินพบว่าได้ผลคุ้มค่า การลงทุน   ประเทศ สก็อตแลนด์ จึงเตรียมลงทุน Glow2 ต่อ    เขาบอกว่า เคล็ดลับของความสำเร็จ อยู่ที่การเน้นพัฒนาครู และครูใหญ่ ให้ใช้เครื่องมือนี้เป็น    (เด็กใช้ ไอซีที เก่งอยู่แล้ว)

ผมขอเสนอว่า ประเทศไทยน่าจะได้พิจารณา ใช้ระบบ ไอซีที สมัยใหม่ เป็นเครื่องมือเปลี่ยน (ปฏิรูป) รูปแบบการเรียนรู้    ให้เป็นActive Learning เปลี่ยนครูไปเป็น “คุณอำนวย” (Learning Facilitator)    มีการกลับทางห้องเรียน โดยต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษา ให้ใช้ระบบนี้เป็น/คล่อง  เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต่อความสำเร็จ

ตัวอย่างของการลงทุนสร้างระบบ ไอซีที เพื่อการศึกษา ได้ผลสำเร็จอีกแห่งหนึ่งคือที่รัฐ Maine สหรัฐอเมริกา    หากประเทศไทยจะลงทุนจริงจัง ควรศึกษาจาก สก็อตแลนด์ และรัฐเมน    ระบบ ไอซีที ที่เหมาะสม จะช่วยให้ครูรวมตัวกันเรียนรู้ในระบบ PLC (Professional Learning Community) ได้   และผู้ปกครองก็จะเข้ามาร่วมดูแลส่งเสริมการเรียนของบุตรธิดาของตนได้โดยง่าย   ทำให้เกิดสภาพ All for education ได้ง่าย    เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านความร่วมมือ (collaboration) และการสื่อสาร (communication)

เป้าหมายของระบบเครือข่าย ไอซีที เพื่อการศึกษา คือ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างก้าวกระโดด เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการศึกษา และเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ออกจากศตวรรษที่ ๒๐  เข้าสู่การเรียนรู้ แห่งศตวรรษที่ ๒๑   และเพื่อดึงเอาความสร้างสรรค์ของเยาวชน และ ความสามารถด้าน ไอซีที ของเยาวชน มาเป็นพลังในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ

 

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาคือการอ่าน มีรายงานว่าเด็กไทยจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก หรือไม่แตก    ทั้งในระดับประถมและมัธยม    มีเรื่องที่เล่าในหนังสือ เรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายช่วยฝึก การอ่าน ให้แก่เด็ก    โดยใช้หลักการคือ ให้เด็กได้ฟังเสียงอ่านของตนเอง    แล้วเด็กจะฝึกฝนเพื่อปรับปรุงตนเอง     ในหนังสือเขาใช้ iPod บันทึกเสียง    แต่เราไม่ต้องใช้ของแพงอย่างนั้นก็ได้

ผมตีความว่า หลักการของการเรียนรู้ที่แท้จริงคือ การปฏิบัติของตนเอง (ปฏิบัติ)  แล้วตรวจสอบผล (ปฏิเวธ)    สำหรับนำมาแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติ และทำความเข้าใจทฤษฎี (ปริยัติ)     เป็นการเปลี่ยนอันดับ ขั้นตอนการเรียนรู้ จาก ปริยัติ - ปฏิบัติ - ปฏิเวธ    เป็นปฏิบัติ - ปฏิเวธ - ปริยัติ

ครูเปิดเสียงอ่านของนักเรียน ฟังร่วมกัน แล้วชวนนักเรียนคิดว่า จะปรับปรุงการอ่านอย่างไร    ครูให้ feedback ว่าส่วนไหนนักเรียนอ่านได้ดีแล้ว    เพราะนักเรียนเข้าใจหลักการอะไรบ้าง    ส่วนไหนที่นักเรียนจะ ต้องปรับปรุง    โดยจะต้องเข้าใจหลักการหรือทฤษฎีอะไร    หากนักเรียนปรับปรุงตนเองในเรื่องดังกล่าวได้ จะเป็นคุณต่อชีวิตภายหน้าอย่างไร    ตัวนักเรียนทบทวนว่าตนจะปรับปรุงอะไร เพื่ออะไร   ขอย้ำว่า ข้อความในหน้านี้ ผมว่าเอง    ไม่ได้มีกล่าวไว้ในหนังสือ

การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้    เมื่อนักเรียนอ่านหนังสือแตก และรักการอ่าน    การเรียนรู้ส่วนอื่นๆ ก็จะพัฒนาขึ้นด้วย

 

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ ไอซีที จะช่วยเปลี่ยนโฉมการศึกษาอย่างสิ้นเชิง คือ การเรียน ออนไลน์ (online learning)    ที่ผลการวิจัยที่อ้างถึงในหนังสือ บอกว่าให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนดีกว่าการเรียนในห้องเรียน    และหากใช้การเรียนแบบ ออนไลน์ เสริมห้องเรียน (เรียกว่า blended course)    ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้จะยิ่งสูง

นี่คือประเด็นที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ    เป็นระบบระดับชาติ เชื่อมโยงกับการลงทุน จัดระบบ ไอซีที เพื่อการศึกษา    เชื่อมโยงกับการใช้พลังเยาวชน ใช้ ไอซีที เพื่อการเรียนรู้

วิธีการที่ง่าย คือ กลับทางห้องเรียน    และครูกับนักเรียนอาจนัดกัน เข้า teleconference เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๑๕ น. เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถามสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ    สำหรับเตรียมตัวเรียนในวันรุ่งขึ้น    แค่นี้ก็จะมี คุณค่าต่อการเรียนรู้อย่างมหาศาล    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผูกใจนักเรียนไว้กับการเรียน    ไม่เฉไฉไปกับเรื่อง ไม่เป็นเรื่อง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2014 เวลา 00:44 น.
 

บทความของคุณรสนา โตสิตระกูล

พิมพ์ PDF

 

 

การเดินทางไปดูงานที่ปิโตรนาสในมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากการพูดคุยกับอดีตประธานปิโตรนาส ทำให้เข้าใจชัดเจนเรื่องการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกิจการต้นน้ำว่ามีความสำคัญอย่างไร ดิฉันถามอดีตประธานปิโตรนาสว่า เหตุใดมาเลเซียจึงเปลี่ยนจาก "ระบบสัมปทาน" เป็น " ระบบแบ่งปันผลผลิต" ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม อดีตประธานปิโตรนาสตอบว่า " เพราะระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ"

ดิฉันถามต่ออีกว่า " มีนักวิชาการด้านพลังงานบอกว่า ประเทศไทยไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ เพราะว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทย เป็นกะเปาะเล็กๆ ขุดเจาะยาก และต้นทุนสูง" ท่านตันศรี อดีตประธานปิโตรนาส และปัจจุบันยังเป็นกรรมการบริหารของปิโตรนาสตอบดิฉันว่า " ไม่น่าเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมไม่ได้ เพราะทั้งไทยและมาเลเซียอยู่ในสภาพทางธรณีวิทยาเดียวกัน ( Geology ) บางแหล่งปิโตรเลียมเราก็ขุดร่วมกันด้วยซ้ำไป สมัยแรกมาเลเซียก็เริ่มทำจากเล็กๆไป"

ปัจจุบันปิโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ท่านตันศรีกล่าวว่า " ปิโตรนาสไม่ได้มุ่งหากำไรมาเพื่อแบ่งปันกันแบบบริษัทเอกชน แต่ปิโตรนาสเป็นองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ ( National Service ) ท่านกล่าวอีกว่า " ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของหุ้นส่วนปิโตรนาสในฐานะเจ้าของประเทศ"

บางคนอาจคิดว่ากิจการที่เป็นของรัฐ100% ง่ายต่อการทุจริตคอรัปชั่น และเข้าใจผิดว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลน้อยมากเพราะไม่มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารเหมือนประเทศไทย (ประเทศไทยมีพ.ร.บ ข้อมูลข่าวสารมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นมรรคเป็นผลเลย)
สิ่งที่คณะของพวกเราที่ไปดูงานกลับได้เห็นการรณรงค์ในบริษัทปิโตรนาส "เรื่องการไม่ให้ของขวัญ และไม่รับของขวัญ ( No Gift Policy ) " เพื่อป้องกันการรับสินบนและให้สินบนของเจ้าหน้าที่ของปิโตรนาส

นอกจากนี้ปิโตรนาสยังดำเนินการให้มีการรณรงค์จับตาการทุจริตในองค์กร (Whistle Blower)โดยให้พนักงานช่วยกันเป็นหูเป็นตา และส่งข้อมูลให้กับบริษัท ผู้บริหารปิโตรนาสกล่าวว่า สิ่งที่ปิโตรนาสริเริ่มทำไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำ แต่เป็นการริเริ่มโดยสมัครใจ เพราะปิโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันระดับโลก การมีความโปร่งใสเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับบริษัทในระดับนี้

ปิโตรนาสเป็นบริษัทที่ดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศแทนประชาชน และบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้"ระบบแบ่งปันผลผลิต" ในปี 2554 ปิโตรนาสมีรายได้จากกิจการทั้งในและนอกประเทศ 2.4 ล้านล้านบาท มีกำไร 9.5 แสนล้านบาท โดยมีกำไรจากกิจการต้นน้ำ (คือการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม) 80% ปิโตรนาสส่งเงินปันผลให้รัฐบาลเป็นเงิน 500,000ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากค่าภาคหลวงและภาษี 200,000ล้าน เงินปันผลอีก 300,000ล้านบาท เงิน500,000ล้านบาทที่ส่งให้รัฐบาลเป็นเงินรายได้รัฐบาลในงบปรมาณแผ่นดินถึง 40%

รัฐบาลมาเลเซียนำเงินจากรายได้ของกิจการต้นน้ำมาชดเชยราคาน้ำมันเบนซิน95 และดีเซลที่ปลายน้ำเพื่อลดภาระของประชาชน ประมาณลิตรละ 6-7 บาท ส่วนก๊าซหุงต้ม รัฐบาลให้นโยบายปิโตรนาสให้ขายในราคาถูก แต่ไม่ให้ขาดทุน ถ้าจะหากำไรให้หาจากการส่งออก ราคาก๊าซหุงต้มของมาเลเซียราคากิโลกรัมละ 19บาทรวมค่าขนส่งถึงบ้าน

รัฐบาลมาเลเซียใช้เงินที่ได้จากกิจการต้นน้ำมาช่วยลดราคาน้ำมันเบนซิน95 และดีเซลในแต่ละปี เป็นสัดส่วนจากเงินที่ปิโตนาสส่งให้ตั้งแต่ 8-28% ต่อปี การที่รัฐบาลได้รับรายได้จากกิจการต้นน้ำถึง 40%ทำให้ไม่ต้องรีดภาษีจากประชาชนที่กิจการปลายน้ำคือราคาน้ำมัน และยังนำเงินบางส่วนมาชดเชยเพื่อลดภาระให้กับประชาชนอีกด้วย

แต่รัฐบาลมาเลเซียไม่ชดเชยราคาให้น้ำมันเบนซิน 97 ซึ่งเป็นน้ำมันที่เอาไว้ขายคนต่างชาติ เช่นคนไทย

ส่วนประเทศไทยในปี2554จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดจากประเทศไทยมีมูลค่า 421,627 ล้านบาท รัฐได้ส่วนแบ่งจากค่าภาคหลวง และภาษี 135,673 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 144,878 ล้านบาทและได้รับคืนทุนที่ลงทุนคืนไป พร้อมกับรับส่วนแบ่งกำไรไปอีก 141,076 ล้านบาท

ประเทศไทยได้รับผลตอบแทนจากกิจการต้นน้ำเป็นเงิน 135,673 ล้านบาท และได้รับเงินปันผลจากปตท. 16,788ล้านบาท รวมเป็นเงิน 152,461ล้านบาท เป็นเงินรายได้ของรัฐบาลในงบประมาณแผ่นดินปี 2554เท่ากับ 10%

ดังนั้นรายได้จากกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำของประเทศไทยจึงไม่สามารถมาช่วยลดภาระการใช้พลังงานของประชาชนที่ปลายน้ำ รัฐบาลต้องเก็บภาษีจากกิจการปลายน้ำจำนวนมาก ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่ปลายน้ำมีราคาสูง เพราะรัฐบาลต้องมารีดภาษี และกองทุนน้ำมันที่ปลายน้ำ ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูง ทำให้ต้นทุนสินค้าของไทยสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และเป็นการลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของไทยเมื่อเราเปิดประชาคมอาเซียน

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง " ระบบสัมปทาน" กับ " ระบบแบ่งปันผลผลิต" คือเรื่องของ "กรรมสิทธิ" ในระบบสัมปทาน กรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศจะตกเป็นของเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน ดังนั้นการส่งออกน้ำมันดิบจึงเป็น " สิทธิของเอกชนผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน" ถ้าเอกชนเจ้าของสัมปทานจะขายน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศ ก็จะขายให้คนไทยในราคานำเข้าเหมือนนำเข้าจากต่างประเทศ

ข้ออ้างที่ว่าต้องส่งออกน้ำมันดิบเพราะคุณภาพไม่เหมาะสมบ้าง คุณภาพดีเกินไปบ้างนั้น ล้วนเป็นการหลีกเลี่ยงไม่พูดความจริงที่ว่า ปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดเป็นของเอกชน เขามีอิสระจะส่งออกไปขายที่ไหนก็ได้ เพราะถึงอย่างไร เราก็ต้องซื้อน้ำมันที่ขุดได้ในประเทศในราคานำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว

คัดลอกจาก facebook

ส่วน "ระบบแบ่งปันผลผลิต" กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของเจ้าของประเทศ เอกชนผู้มาทำสัญญาจะได้รับค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามที่ตกลงกันคืน โดยอุปกรณ์เป็นของประเทศ เมื่อหักต้นทุนโดยจ่ายเป็นน้ำมันหรือก๊าซที่เรียกว่า น้ำมันหรือก๊าซส่วนต้นทุน หลังจากนั้น น้ำมันและก๊าซส่วนกำไร จะนำมาแบ่งกันระหว่างประเทศเจ้าของทรัพยากร และ เอกชนผู้ทำสัญญา

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ "ข้อมูลปริมาณสำรองปิโตรเลียม" เป็นของเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ของเอกชน ท่านตันศรีบอกกับคณะของเราว่า " ปิโตรนาสมีห้องควบคุมที่รู้ปริมาณการขุดเจาะในระดับที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) " จึงสามารถตรวจสอบปริมาณน้ำมันและก๊าซที่เอกชนสูบขึ้นมาตลอดเวลา

" ระบบแบ่งปันผลผลิต " ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมมีความยืดหยุ่นมากกว่า "ระบบสัมปทาน" มาเลเซียได้ปรับปรุงระบบการแบ่งปันผลผลิตจนมีความก้าวหน้าและให้ความเป็นธรรมต่อเอกชน มาเลเซียใช้การคำนวณส่วนแบ่งกำไรโดยใช้ รายได้สะสมหารด้วยต้นทุนสะสม ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1 รัฐเอาส่วนแบ่ง 20% เอกชนได้ไป 80% ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1.4 รัฐได้ส่วนแบ่ง30% เอกชนได้ 70% เมื่อตัวเลขรายได้สะสม หารด้วย ต้นทุนสะสม มีตัวเลขตั้งแต่ 3 ขึ้นไป รัฐเอาส่วนแบ่ง 70% ส่วนเอกชนได้ไป 30% ซึ่งวิธีคำนวณเช่นนี้มีความเป็นธรรมต่อเอกชน

การปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นกิจการต้นน้ำจาก "ระบบสัมปทาน" มาเป็น " ระบบแบ่งปันผลผลิต" เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากปิโตรเลียมที่เป็นสมบัติของประชาชนไทยทุกคนให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ให้เกิดรายได้เพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้ทรัพยากรปิโตรเลียมของประชาชนสร้างความร่ำรวยให้กับเอกชนเจ้าของสัมปทานเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2014 เวลา 16:39 น.
 


หน้า 368 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5608
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8614478

facebook

Twitter


บทความเก่า