Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คอรัปชั่นโดยนักการเมืองระบาดสุดเหวี่ยง

พิมพ์ PDF
การโกงเมืองของไทยยกระดับจากโกง 30% เป็นโกง 2,900%

คอรัปชั่นโดยนักการเมืองระบาดสุดเหวี่ยง

วันที่ ๕ พ.ย. ๕๖ ผมได้รับบอกเล่าจากผู้ใหญ่ของบ้านเมือง    ที่ก่อนเกษียณอายุราชการดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรใหญ่มาก   และเป็นคนตงฉิน เชื่อถือได้

ท่านบอกว่า ในช่วงเวลา ๑ เดือนมานี้ คอรัปชั่นโดยนักการเมืองระบาดรุนแรง   โดยเขาจะเอาโครงการไปให้หน่วยงาน   เป็นโครงการเพื่อยกย่องพระราชวงศ์หรืออะไรทำนองนั้น (ผมเขียนให้ชัดไม่ได้)    ให้หน่วยงานเขียนของบประมาณ    ตัวเลขสมมติคือ ๑๕ ล้านบาท   โดยที่คนที่รู้ราคา จะบอกว่า ราคาจริงๆ เพียง ๕ แสนบาท

เมื่อก่อนเขาลือกันว่าการโกงเป็นการชัก 30%   แต่ดูตัวเลขให้ดีๆ นะครับ   ของ 5 แสน ให้ตั้งงบประมาณ 15 ล้าน แล้วเขาจะจัดหาให้    เป็นการโกง 2,900% นะครับ   ภายใต้รัฐบาลนี้ การโกงเมืองของไทยยกระดับจากโกง 30%  เป็นโกง 2,900%   ไม่ทราบว่าวงเงินทั้งหมดเป็นเท่าไร

ท่านผู้นี้เล่าว่า เรื่องกำลังระบาดใหญ่ช่วงหนึ่งเดือนมานี่เอง   ไม่ทราบว่าเชื่อมโยงกับโอกาสได้รับนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายที่เรากำลังคัดค้านกันอยู่หรือเปล่า

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:42 น.
 

URAP 2013

พิมพ์ PDF
ประเทศไทย อันดับมหาวิทยาลัย “ตกทั้งแผง” เพราะรัฐบาลไทยทำตรงกันข้ามกับมาเลเซีย ทั้งๆ ที่มีนโยบายให้ประเทศหลุด middle-income trap เช่นเดียวกัน

URAP 2013

ผมได้รับ อีเมล์ จาก รศ. ดร. มงคล รายะนาคร ดังนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ใน University Ranking By Academic Performance2013 (URAP 2013) จำนวน 16 แห่ง ตามลำดับ (Country Ranking/World Ranking) โดยรวม เมื่อเทียบกับปี 2012 ดังนี้

Mahidol University (1/368 จากเดิมอันดับ 356)

Chulalongkorn University (2/439 จากเดิมอันดับ 418)

Chiang Mai University (3/648 จากเดิมอันดับ 621)

Khon Kaen University (4 จากเดิมอันดับ 5/802 จากเดิมอันดับ 805)

Prince of Songkla University (5 จากเดิมอันดับ 4/820 จากเดิมอันดับ 775)

Kasetsart University (6/931 จากเดิมอันดับ 903)

King Mongkut's University of Technology Thonburi (7/1285 จากเดิมอันดับ 1230)

Thammasat University (8/1344 จากเดิมอันดับ 1293)

Suranaree University of Technology (9/1485 จากเดิมอันดับ 1458)

Asian Institute of Technology (10/1563 จากเดิมอันดับ 1465)

King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang (11/1566 จากเดิมอันดับ 1536)

Naresuan University (12/1588 จากเดิมอันดับ 1570)

Srinakharinwirot University (13 จากเดิมอันดับ 14/1717 จากเดิมอันดับ 1711)

Silpakorn University (14 จากเดิมอันดับ 13/1767 จากเดิมอันดับ 1654)

Mae Fah Luang University (15 จากเดิมอันดับ 16/1767 จากเดิมอันดับ 1867)

Mahasarakham University (16 จากเดิมอันดับ 15/1880 จากเดิมอันดับ 1761)

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย URAP 2013 ปรากฏว่าอันดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศของไทยเปลี่ยนไปน้อยมาก แต่อันดับมหาวิทยาลัยโลกของไทยแย่ลงแทบทุกสถาบัน (ยกเว้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่อันดับโลกขยับขึ้น และมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งได้รับการจัดเป็นอันดับ 17 ของไทย และ 1878 ของโลกในปี 2555 ไม่ได้รับการจัดอันดับในปี 2556 นี้ ทั้งนี้เกณฑ์ในการพิจารณาจัดอันดับ URAP 2013 ยังเป็นเกณฑ์เดิมที่ใช้ใน URAP 2012 คือประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ตัว คือ 1) Number of Articles 2) Citation 3) Total Document 4) Journal Impact Total 5) Journal Citation Impact Total 6) International Collaboration

ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดของการจัดอันดับ URAP 2013 สามารถดูได้ที่เว็บลิงค์ต่อไปนี้

http://www.urapcenter.org/2013

ผมจึงขอส่งเรื่องนี้มายังอาจารย์ เพื่อพิจารณานำขึ้นบล็อกสภามหาวิทยาลัย เพื่อ ลปรร. กันต่อไปตามที่อาจารย์จะเห็นสมควรด้วย จักขอบคุณยิ่ง

มงคล รายะนาคร

ผมขอเพิ่มเติมว่า   ที่จริงมหาวิทยาลัยไทยพัฒนาขึ้นในภาพรวม   แต่พัฒนาขึ้นช้ากว่าภาพรวมของโลก   อันดับของเราจึงตกลง   ประเทศที่อันดับของมหาวิทยาลัยดีขึ้นอย่างชัดเจน และ “ขึ้นทั้งแผง” คือมาเลเซีย   เพราะรัฐบาลของเขามีนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่มหาวิทยาลัย   เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศให้หลุดกับดักรายได้ปานกลาง

ประเทศไทย อันดับมหาวิทยาลัย “ตกทั้งแผง”    เพราะรัฐบาลไทยทำตรงกันข้ามกับมาเลเซีย   ทั้งๆ ที่มีนโยบายให้ประเทศหลุด middle-income trap เช่นเดียวกัน

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 08:05 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๒๕a. ภาษาปักษ์ใต้นานๆ คำ : (๔) เวน้อง

พิมพ์ PDF

ในวงสนทนากับน้องๆ ในห้องนอนป่วยของแม่ ที่โรงพยาบาลชุมพร    เมื่อวันที่ ๒๙ ก.ย. ๕๖    เราคุยกันเรื่องชีวิตสมัยเด็ก ตอนหนึ่งผมเอ่ยถึงความน่าเบื่อในการไกวเปลน้อง     น้องชายคนที่ ๔ (นับผมเป็นคนที่ ๑) เอ่ยภาษาปักษ์ใต้ขนานแท้ว่า เหว่หน่อง(เวน้อง) ซึ่งหมายถึงไกวเปลน้อง

 

ที่จริงเราคุยกันเรื่องพัฒนาการของเด็ก    เพราะมีเหลนคนที่ ๗ ของแม่ อายุ ๗ เดือน เป็นเหลนสาวตาโต    เห็นหน้าใครก็จ้องหน้า     ผมจึงอธิบายให้น้องและหลานฟังว่า หลานสาวตัวเล็กกำลังเรียนวิธีจำหน้าคน    ตามที่ผมกำลังอ่านเรื่อง Primal Brain in the Modern Classroomค้างอยู่    ผมอธิบายว่า การที่เด็กเล็กได้พบหน้าคน ได้มีคนมาเล่นด้วย    หรือร้องเพลงให้ฟัง เป็นการกระตุ้นสมอง ให้เจริญเติบโต    ช่วยให้เด็กมีสมองดี

 

เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว เด็กทุกคนนอนเปล   และมีคนคอยไกวและร้องเพลงกล่อม   ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง    สมัยนั้นเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ตอนสายๆ จะได้ยินเสียงเพลงกล่อมเด็กมาจากหลายบ้าน    ตอนนั้นประเทศต้องการมีพลเมืองมากๆ  เพื่อจะได้เป็นมหาอำนาจ    ตอนผมเริ่มเป็นหนุ่ม เราพูดล้อเลียนเพื่อนที่สงสัยว่าจะมีความสัมพันธ์กับสาวว่า “สร้างชาติ”

 

วัฒนธรรมนอนเปล มีคนไกว และร้องเพลงกล่อม ค่อยๆ หมดไป    คงจะเป็นเพราะวิถีชีวิตของคนเรายุ่งขึ้น    ไม่มีเวลานั่งไกวเปลเป็นครึ่งค่อนชั่วโมงจนทารกหลับ    แล้วจึงย่องไปเล่นได้   หากน้องตื่นและเปลหยุดน้องจะร้อง    เราต้องรีบกลับมาไกวเปลและร้องเพลงกล่อมต่อ    ยกเว้นน้องนอนนานพอแล้ว เรียกว่าน้องตื่นแล้ว    อาจหิวนม ก็พาไปกินนมแม่ หรือชงนมให้กิน

 

นึกภาษาปักษ์ใต้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้อีกคำหนึ่งคือ แหมทาน (แม่ทาน)    หมายถึงหมอตำแย    ผมและน้องๆ ทำคลอดโดยแม่ทานหลายคน   มาน้องคนหลังๆ ที่ทำคลอดโดยผดุงครรภ์    เข้าใจว่าไม่มีใครเลยที่ทำคลอดโดยแพทย์

 

แหมทาน ของผมชื่อ “ยายอุ่น” เป็นคนอายุมาก    ถือเป็นแหมทานที่ชำนาญมากของตำบล   ผมรู้แต่ว่าแหมทานของผม ชื่อยายอุ่น แต่ไม่รู้จักตัวยายอุ่น    เข้าใจว่าคงจะตายเสียก่อนผมจำความได้    แม่เคยเล่าเป็นเลาๆ ว่า ยายอุ่นบอกว่าผมคลอดออกมา โดยมีสายรกคล้องคอ   คล้ายๆ มีสายสังวาลย์คล้องคอ แสดงว่าจะมีบุญ    แม่ไม่พูดเรื่องนี้มากนัก คงเกรงลูกจะทะนงตัวและเหลิง

 

ที่จริงการที่ทารกมีสายสะดือยาว  และพันรอบคอ ถือเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตอย่างหนึ่ง    เพราะอาจรัดคอทำให้ขาดเลือด ไปสมอง ทำให้สมองพิการหรือตายได้  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 08:11 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๖. รู้เท่าทัน

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒๐ก.ย. ๕๖ ฝนตกหนัก    โดยตกหนักมาตั้งแต่ตอนดึก    ผมอดออกไปเดินออกกำลังกาย    เปิดอีเมล์พบคุณบัณฑูร นิยมาภา (ซึ่งผมไม่รู้จัก) เขียนมาบอกเรื่องรณรงค์ให้กัญชาถูกฎหมาย ที่ผมเอาไปลงความเห็นไว้ที่www.gotoknow.org/posts/426448 ทำให้ผมนึกถึงบันทึกเรื่อง อารมณ์ดีไร้กัญชา

 

และทำให้แวบคิดขึ้นว่า การดำรงชีวิตที่ดีในโลกยุคปัจจุบัน จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย    คือหากเรียนรู้ฝึกฝนตนไว้ให้ดี การดำรงชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก     แม้ต่อไปในอนาคตโลกมันจะยิ่งสับสนยุ่งเหยิง เราก็เรียนรู้ได้    รู้เท่าทันได้

 

แต่คนที่อ่อนแอ ไม่ได้ฝึกฝนเรียนรู้จนจิตใจเข้มแข็ง และรู้เท่าทัน ก็ตกเป็นเหยื่อของสิ่งต่างๆ รอบตัว ได้โดยง่าย

 

ยิ่งในอนาคต โลกจะยิ่งซับซ้อนสับสนและหลอกลวง    คนที่อ่อนแอจะยิ่งตกเป็นเหยื่อง่าย

 

กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด    เพราะไปโทษสังคมภายนอก    ที่จริงตัวการที่ทำให้เราอ่อนแอ อาจจะมีสาเหตุหลักมาจากภายในของเราเอง    เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนด้านในของตัวเองให้เข้มแข็ง    ให้รู้จักตัวเอง    ให้ควบคุมกำกับตัวเองได้    เราจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งหลอกลวงรอบตัวได้ง่าย

 

สิ่งลวง ไม่มีอะไรลวงได้ลึกและหลงสนิท เท่าตัวเองลวงตัวเอง

 

วิธีคิดตามแนวที่เขียนข้างบนนั้น เดิมผมคิดไม่เป็น    แต่โชคดีมีโอกาสได้เรียนจาก “ครู” หลายท่าน    ใช้วิธีเรียนแบบลักจำ หรือแอบเรียนจากครู โดยครูไม่รู้ตัว

 

อย่างเมื่อบ่ายวันที่ ๑๙ ก.ย. ๕๖ ในการประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์    ผมตั้งใจเรียนจาก “ครู” ระพี สาคริก ท่านนายกสภาเต็มที่    โดยที่คนที่อยู่ในห้องประชุมอาจรู้สึกว่า ท่านดูจะหลง    แต่ผมกลับมองว่า ท่านอยู่ในสภาพสมองที่ “สร้างสรรค์” เต็มที่    ผมใช้iPad mini บันทึกสิ่งที่ผมลักจำจากท่านไว้ ดังนี้

 

“ต้องกล้าแตกต่าง

 

ปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

  • ดูถูกของเล็ก
  • มองข้ามสิ่งใกล้ตัว
  • มีของดี แต่รักษาไว้ไม่ได้
  • หลงเรียนสิ่งสมมติ ไม่เรียนของจริง”

 

ยอดปรารถนาในชีวิตของมนุษย์คือความสุข    แล้วมนุษย์ส่วนใหญ่ก็แสวงหาสิ่งต่างๆ มาปรนเปรอความสุข    โดยลืมไปว่า หรือไม่รู้ว่า ความสุขอยู่ภายในใจเรา

 

ความสุขจากความพอเพียง    และรู้เท่าทัน

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

คำนิยม หนังสือ “พัฒนาการการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์”

พิมพ์ PDF
การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หรือชุมชน ของนักวิชาการ ดำเนินการเพื่อนำผลงานวิชาการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และช่วยกันให้คำแนะนำให้ยกระดับผลงานวิชาการ ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญยิ่งของการพัฒนาวิชาการ

คำนิยม หนังสือ “พัฒนาการการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์

 

 

คำนิยม

หนังสือ พัฒนาการการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์

 

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

ประธานมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (ม.สคส.)

……………

 

ผมขอขอบคุณ ดร. เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ บรรณาธิการ ที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้   ทั้งๆ ที่ผมไม่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมไฟฟ้าเลย   ผมเดาว่าคงเป็นเพราะชื่อรองของหนังสือ คือ “ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์”

ดร. เกียรติศักดิ์ และผมมีจริตร่วมกันในเรื่องนี้

หลังจากได้อ่านต้นฉบับของหนังสือ ผมก็เกิดปิติ ที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพัฒนาการ  ที่ไม่ใช่แค่ของการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ดำเนินการมาครบ ๓๕ ปีเท่านั้น   แต่ได้เรียนรู้พัฒนาการของศาสตร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยทั้งหมดทีเดียว   และเป็นช่วงเวลาที่ยาวกว่า ๓๕ ปี   การได้เห็นภาพรวมของเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญญา   หนังสือเล่มนี้จะเป็นขุมปัญญาของคนไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในวงการวิศวกรรมไฟฟ้า   ไปอีกนานเท่านาน

ผมติดใจคำพูด (ที่จริงเขียน) ของ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ในบทที่ ๖ ที่กล่าวว่า “โดยหลักการแล้ววิศวกรรมไฟฟ้าก็คือฟิสิกส์ประยุกต์ วิศวกรไฟฟ้าก็คือนักฟิสิกส์ประยุกต์”

ในบทที่ ๗ เป็นเรื่องของนักฟิสิกส์ คือ ศ. ดร. สุทัศน์ ยกส้าน ที่ช่วยตอกย้ำคำกล่าวของ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ว่า ศาสตร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จะก้าวหน้าได้ ต้องมีพื้นฐานวิชาการที่มั่นคง    และผมขอเพิ่มเติมว่า ต้องมีการเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ อย่างกว้างขวางและเหมาะสมด้วย

การเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นเกิดขึ้นได้ง่าย หรือเป็นอัตโนมัติ ณ จุดประยุกต์ใช้ความรู้    คือ ณ จุดของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือพัฒนากระบวนการนั้น ต้องนำเอาความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาใช้อย่างบูรณาการ   ผมเคยอ่านพบว่า ในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน ไอที มีการจ้าง นักมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropologist) มาทำหน้าที่ในหน่วยศึกษาความสัมพันธ์กับลูกค้า   มีหน้าที่เดินทางไปในประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้เครื่องมือไอทีของผู้คน   สำหรับนำมาบอกฝ่ายพัฒนา hardware และ software ให้พัฒนาให้เหมาะสมต่อพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า

ผมจึงมีข้อเสนอต่อคณะผู้จัดการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย   ว่าควรพิจารณายกระดับการประชุมนี้ใน ๒ ประเด็นใหญ่    (๑) คือการส่งเสริมให้ฝ่าย “ผู้ใช้” หรือฝ่ายอุตสาหกรรม/ธุรกิจ นำเอาประสบการณ์ประยุกต์ใช้ความรู้ของตน (เท่าที่จะเปิดเผยได้) มานำเสนอในที่ประชุม    ซึ่งจะนำไปสู่โจทย์วิจัยให้แก่นักวิจัยในมหาวิทยาลัย   ให้ทำวิจัยตามโจทย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายผู้ใช้    และนำไปสู่ความร่วมมือกัน   และ (๒) การเชิญชวนให้นักวิจัยสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าที่มีเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าอยู่ภายใน   ให้มานำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทยด้วย

หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของการประชุมวิชาการเท่านั้น   แต่ยังนำเสนอเรื่องราวที่นำไปสู่พัฒนาการของศาสตร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย อย่างน่าสนใจยิ่ง    ดังตัวอย่างบทที่ ๘ ศ. ดร. โมไนย ไกรฤกษ์ นักวิชาการสายพันธุ์ไทยแท้  และบทที่ ๑๐ บทบาทวิศวกรสตรี รศ. ดร. ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ    ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี   วิธีคิดในการพัฒนาตนเอง สร้างโอกาสแก่ตนเอง แบบไม่เดินตามแนวที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ของ ดร. ทิพรัตน์ น่าสนใจมาก

ที่จริง ทุกบทของหนังสือเล่มนี้ ให้ความรู้ และให้ข้อคิดที่มีคุณค่าสูงส่ง ทั้งสิ้น   โปรดอ่านคำนำของบรรณาธิการ เพื่อให้ได้คุณค่าในภาพรวม

หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หรือชุมชน ของนักวิชาการ   ดำเนินการเพื่อนำผลงานวิชาการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   และช่วยกันให้คำแนะนำให้ยกระดับผลงานวิชาการ ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น   เป็นกลไกสำคัญยิ่งของการพัฒนาวิชาการ

วิชาการที่เป็นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ วิศวกรรมไฟฟ้า    ซึ่งในช่วงเวลา ๓๕ ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวพัฒนาการเชื่อมโยงออกไปอย่างกว้างขวาง   ทำคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเหลือคณา

วิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าใน ๓๕ ปีข้างหน้า จะก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งกว่า ๓๕ ปีที่ผ่านมา   และผมขอทำนายว่า พัฒนาการจากมุมของฝ่ายธุรกิจ หรือฝ่ายประยุกต์ จะมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าพัฒนาการของฝ่ายวิชาการโดยตรง   ดังนั้นคณะผู้จัดการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย จึงควรพิจารณาเชื้อเชิญ “นักวิชาการ” หรือจริงๆ แล้วคือนักพัฒนา จากภาคธุรกิจเอกชน เข้าร่วมเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย    ผมคิดว่า นักวิชาการหรือนักพัฒนาในภาคธุรกิจเอกชนนี่แหละ คือผู้ดำเนินการข้าม “หุบเหวมรณะ” ที่ระบุในบทความของ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์

และต้องไม่ลืมเชิญชวน นักวิจัย/พัฒนา ในสาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เข้าร่วมด้วย

ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือ พัฒนาการการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์เล่มนี้ แทนสังคมไทย   ผมเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการและนักพัฒนาวิศวกรรมไฟฟ้าของไทยรุ่นใหม่ ไปอีกนานเท่านาน

วิจารณ์ พานิช

๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 09:59 น.
 


หน้า 426 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8610661

facebook

Twitter


บทความเก่า