Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๓. หอพักเพื่อการเรียนรู้บูรณาการ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๓ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Theme Dorms : Mixing Academics and College Life เขียนโดย Sharon Daloz Parks, Senior Fellow, Whidbey Institute  เล่าเรื่องการพัฒนา นศ. ให้เกิด Transformative Learning โดยการดำเนินการหอพักให้เป็นชุมชนเรียนรู้  ส่งเสริมให้ นศ. สร้างทักษะการรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ ขึ้นภายในตน

ในเรื่องเล่านี้ ผู้เขียนเล่าย้อนหลังไปสมัยที่ตนเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  ได้เป็นอาจารย์ที่ Whitworth College ซึ่งมีเป้าหมายให้การศึกษาเพื่อให้เป็นคนเต็มคน  และภายใต้ภาวะผู้นำของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้จัด theme dorms ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารหอพักสองชั้น ๖ อาคาร  แต่ละอาคารให้ นศ. พักเดี่ยวได้ ๒๒ คน  มีห้องกิจกรรม และครัวเล็กๆ  ในหอพักแต่ละหลัง นศ. ลงเรียนร่วมกันเป็นพิเศษ ๑ รายวิชา (รายวิชาที่เป็น theme ของหอพักนั้น)  ผู้เล่าสอนวิชา Religion and Life ร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ใน theme dorm “Religion and Life”  โดยผู้เล่ารับผิดชอบวิชาศาสนา  อาจารย์อีกท่านหนึ่งรับผิดชอบวิชาสังคมวิทยา  เป็นการสอนเป็นทีม  โดยสอนตอนบ่าย ๓ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

เป้าหมายของการสอนวิชานี้ ก็เพื่อให้ นศ. เกิดความเป็นประชาคมในกลุ่ม และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  โดยมีเงื่อนไขให้ นศ. ที่มาลงทะเบียนเรียนต้องปฏิบัติ  ได้แก่ ต้องเข้าเรียนทุก session  ต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่จัดในหอสัปดาห์ละครั้ง  โดยที่ นศ. เป็นผู้ร่วมกันกำหนดเองว่าเป็นกิจกรรมอะไร (เช่น ไปปิกนิก  ดูภาพยนตร์ ฯลฯ)

ในตอนต้นเทอม อาจารย์ให้ นศ. ตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร  มีกติกาอะไรบ้าง  โดยอาจารย์ช่วยแนะนำให้ นศ. ประชุมตกลงกันแบบไม่โหวต แต่คุยกันจนได้ฉันทามติ

นอกจากนั้น รายวิชานี้ ดำเนินแบบเดียวกับรายวิชาอื่นๆ  คือ นศ. อ่านเอกสารที่ได้รับมอบหมาย  อาจารย์นำเสนอหน้าชั้น  อภิปราย  การเขียนรายงานประจำเทอม  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นศ. มีการอภิปรายประเด็นที่น่าสนใจกันอย่างสนุกสนาน ได้สาระ จนเลยเวลาเรียนตามปกติ   เหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะทุกคนอยู่หอ ในบรรยากาศเดียวกัน

รายวิชานี้ดึงดูด นศ. ที่เรียนดีและตั้งใจเรียนที่สุดเข้าสมัคร  แต่ก็มี นศ. อีกประเภทหนึ่ง ที่ตามปกติไม่สนใจเรียนนัก  แต่เป็นคนที่สมองดีมาก  และมักไม่เข้ากลุ่มพวกตั้งใจเรียน มาลงทะเบียนเข้าเรียนด้วย ด้วยความสนใจว่าที่นี่เขาทำอะไรกัน  สมมติว่า นศ. ประเภทหัวดีไม่ตั้งใจเรียนคนหนึ่งชื่อ จอห์น

เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่ง จอห์น ก็เปลี่ยนท่าทีที่ห่างเหินจากพวก “เด็กเรียน” มาเข้ากลุ่ม  และร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม (เกิด transformation)

หลายปีต่อมา เมื่อมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นในการเรียนแบบนั้น  จอห์น บอกว่า “Whitworth ต้องการให้ นศ. เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ”  คือเป็น “คนจริง” (real person)

นศ. ในชั้นนั้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้เป็นอาจารย์ สะท้อนว่า “ใน Religion and Life theme dorm เราสังเกตเห็นกระบวนการที่ จอห์น เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างสิ้นเชิง (transformation)  และเราได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น เกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน”

ที่จริงผลลัพธ์เช่นนี้ ไม่ได้เขียนไว้ในเป้าหมายของรายวิชา  แต่ประสบการณ์นี้ฝังใจและให้ความกระจ่างแจ้งแก่ผู้เล่า  เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่งตลอดเวลา ๔๐ ปีที่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย  เป็นการค้นพบอิทธิพลของการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนต่อการเรียนรู้  ชนิดที่เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning)  ซึ่งเกิดขึ้นยากจากการเรียนแบบตัวคนเดียว

การเรียนคนเดียวอาจจำเป็นสำหรับการเรียนเพื่อความรู้  แต่การเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนอย่างรอบด้าน การเรียนที่มีผลเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม  ต้องการการเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชนเรียนรู้

ชุมชนเรียนรู้ เป็นชุมชนที่ร่วมกันตั้งคำถาม ร่วมกันค้นพบ  หากความสัมพันธ์เป็นกลุ่มหรือชุมชน มีความต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง  จะมีผลต่อการมีทักษะการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning) ไปตลอดชีวิต

ผมเองเห็นประโยชน์ของ “ชุมชนเรียนรู้” (learning community) แจ่มแจ้ง  เมื่อทำงานพัฒนาเรื่องการจัดการความรู้  ได้เข้าใจด้านอ่อนของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้”  คือความรู้ฝังลึก(tacit knowledge) ที่เมื่อมีการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว  จะเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  และเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนบุคลิกคน คือเกิด transformative learning ได้โดยไม่ยากเลย

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541971

 

ชีวิตที่พอเพียง : 1950a. ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐

พิมพ์ PDF

ผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) ในชุดโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย  เพื่อศึกษา/สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ

ผมพอใจกับโครงการนี้มาก และขอชื่นชมและตบมือให้กับคณะผู้จัด ผมได้เข้าร่วม 2 ครั้ง และจะเข้าร่วมอีกทั้ง 2 ครั้งที่กำลังตามมา โครงการนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักวิจัยที่ทำการศึกษาได้มีข้อเสนอแนะ ซึ่งใช้ประโยชนได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) ชุมชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง และนำไปปฎิบัติ โครงการนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์

เมื่อผมได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ที่กล่าวถึง สกว องค์กรที่มีความสำคัญเรื่องงานวิจัย ผมจึงขอถือโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยต่อยอดให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น  ประโยคที่จะได้อ่านต่อไปเป็นข้อคิดเห็นของผมที่เขียนแสดงความคิดเห็น ต่อบทความของอาจารย์วิจารณ์ ที่อยู่ถัดลงไป เชิญอ่านได้เลยครับ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิจารณ์ครับ งานวิจัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก คนไทยชอบทำอะไรตามกระแส ขาดการศึกษา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปฎิบัติเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผมมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว และรู้ว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้ดีและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างที่คิดกัน ธุรกิจท่องเที่ยวเราอ่อนแอ และพูดมาตลอดว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ผมได้บริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นต้นแบบ ได้รับการยอมรับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ดีมีคุณภาพ แต่สายป่านไม่ยาว จึงต้องถอยออกมา ผมพูดและสื่อสารทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนในวงการท่องเที่ยว ทราบถึงปัญหาและวิธีแก้ไข แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) .ในวันที่ 27 มิถุนายน และวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ได้ฟังการบรรยายการศึกษาจากนักวิจัย 8 ท่าน ในหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ AEC" ในวันที่ 27 มิถุนายน และหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน" ผมขอชื่นชมกับนักวิจัยทั้ง 8 ท่าน โดยเฉพาะ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ท่านทำการศึกษาในเรื่อง "กลยุทธ์ขับเคลื่อนคลัสเตอร์การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" อีกท่านที่ผมสนใจคือ ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ อาจารย์สาขาการเงินและนโยบายพลังงาน หน่วยงานวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ท่านได้ศึกษาในเรื่อง "การศึกษาศักยภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่อการสร้างรายได้ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้" และอีกท่านที่ผมสนใจคือ ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ หัวหน้าศูนย์จัดการข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ท่านทำการศึกษาเรื่อง "การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพื้นที่สูงโดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน

ผมรอการศึกษาวิจัยของทั้งสามท่านมานานกว่า 30 ปี เพราะงานวิจัยขอท่านเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดมาตลอด ก็ขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเวทีนี้ และหวังเป็นอย่างมากที่การวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการนำไปต่อยอดและทางรัฐนำไปเป็นนโยบายในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ชีวิตที่พอเพียง  : 1950a. ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๖-๗ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมระดมความคิด  แผนยุทธศาสตร์ของ สกว. ปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐  ซึ่งจะเป็นช่วงที่ ผอ. สกว. ท่านที่ ๔  คือ ศ. นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ทำหน้าที่ในวาระที่ ๑  และยังเป็นการเข้าสู่ทศวรรษที่ ๓ ของ สกว.

ที่จริงช่วงเวลาดังกล่าวผมมีนัดแล้ว  แต่พอจะขยับขยายได้  จึงถือว่าโชคดี ที่ผมสามารถเข้าร่วมได้  ทำให้ได้เรียนรู้มาก  และได้เติมความสุขให้แก่ตนเอง ในการที่ได้เข้าร่วมทำงานให้แก่หน่วยงานที่ผมรัก  และเป็นงานที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อบ้านเมือง

ในที่ประชุมวันที่ ๗ ก.ค. ดร. สีลาภรณ์ขอให้ผมให้ความเห็นในตอนสุดท้าย  และได้ให้ความเห็นไปแล้ว ๔ ข้อ  และบอกว่า ผมจะกลับมาไตร่ตรองต่อ และเขียน บล็อก เสนอความเห็นให้  บันทึกนี้จึงเป็นการส่งการบ้าน ให้แก่ สกว.  และแก่ ดร. สีลาภรณ์

ผมมองว่า การทำงาน (และการดำรงชีวิต) เป็นการเรียนรู้  แนวคิดนี้เป็นจริงทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร  และผมตีความว่า สกว. เป็นองค์กรที่เรียนรู้  มีการปรับตัวตลอดมาในช่วง ๒๐ ปี  และจะต้องปรับตัวต่อไป  และคราวนี้น่าจะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่

สกว. มีจุดแข็งที่ทักษะด้านการจัดการ  มีวิธีการจัดการงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วประเทศ และในโลก  โดยที่เอื้อโดยโครงสร้างการทำงานที่ยืดหยุ่น  ปรับโครงสร้างให้รับใช้ภารกิจได้เสมอ  ในภาษาด้านการจัดการเรียกว่า structure รับใช้ function

และใน ๒๐ ปีที่ผ่านมา สกว. ก้าวหน้าโดยการพัฒนารูปแบบการจัดการงานวิจัยให้เหมาะสม ต่องานวิจัยแต่ละประเภท  ที่เด่นที่สุดคือ แยกงานวิจัยพื้นฐาน ออกจากงานวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) หรืองานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์   จัดให้การจัดการงานวิจัย ๒ ประเภทนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ดังได้เล่าไว้ในหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์

บัดนี้วงการวิจัยไทยก้าวหน้าไปมาก  สังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน  และ สกว. ก็มีความเข้มแข็ง สั่งสมประสบการณ์และทักษะในการจัดการงานวิจัยไว้มาก  น่าจะถึงเวลาที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลง โครงสร้างครั้งใหญ่  เพื่อให้งานวิจัยก่อผลกระทบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

ผมมองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ สกว. จะบูรณาการภารกิจสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน กับการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เข้าด้วยกัน  นั่นคือในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงให้ไม่แยกฝ่ายวิจัยพื้นฐานออกจากฝ่ายวิจัยเพื่อพัฒนา

จัดแบ่งฝ่ายใน สกว. เสียใหม่ ให้แบ่งโดยเอาประโยชน์จากการวิจัยเป็นหลัก  เช่นถ้าจะใช้นโยบายการพัฒนาประเทศ ที่สภาพัฒน์เสนอ และรัฐบาลรับเป็นนโยบาย  “การเติบโตสามประสาน”  ได้แก่ Competitive Growth, Green Growth, และ Inclusive Growth เป็นหลัก  ก็แบ่งฝ่ายตามนี้ก็ได้  โดยที่งานวิจัยที่สนับสนุนโดยแต่ละฝ่าย จะมีทั้งที่มีการจัดกระบวนการพัฒนาโจทย์ (แบบที่ฝ่าย R&D ใช้อยู่ในปัจจุบัน)  และแบบที่นักวิจัยเสนอโจทย์เข้ามาโดยตรง ตามประกาศแนวทางสนับสนุนการวิจัย ของฝ่ายนั้นๆ  ทุนวิจัยแบบหลังอาจเรียกว่า Researcher-Initiated Research  โดยเป็น Directed Basic Research  ต้องนำไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ที่มี impact factor

ในความเป็นจริงแล้ว Basic Research แท้ๆ ไม่มีในประเทศไทย  และยิ่งนับวัน Basic Research แท้ๆ จะยิ่งต้องทำแบบทีมใหญ่ และร่วมมือหลายสาขา หลายสถาบัน ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  การจัดการ basic research แบบใหม่ อาจทำให้ประเทศไทยมี basic research แบบที่เอาจริงเอาจัง และทีมใหญ่มากขึ้น  รวมทั้งมีทิศทาง (directed) พุ่งเป้ามากขึ้น  น่าจะเป็นแนวทางให้เกิดสภาพ win – win มากขึ้น ระหว่างหน่วยจัดการกับนักวิจัย  รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยแบบมีเป้าใหญ่ได้ด้วย

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมขอเสนอในบันทึกนี้  คือ สกว. ตรวจสอบการทำงานที่แท้จริงของตนเอง  ว่างานที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้แก่บ้านเมืองคืออะไร  ผมมองว่า ไม่ใช่หน้าที่จัดสรรทุนวิจัย  แต่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยของประเทศ ให้ขยายตัวทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ และผลกระทบ

ซึ่งหมายความว่า สกว. ไม่ใช่เพียงตั้งหน้าตั้งตาขอทุนวิจัยจากรัฐบาล เอามาจัดสรรเท่านั้น  ต้องทำหน้าที่สนับสนุนความเข้มแข็งของการวิจัยของประเทศในภาพรวม  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เงินวิจัยจะอยู่ในกิจการต่างๆ ที่ต้องการดำเนินการให้มีความสามารถในการแข่งขันได้

สกว. เข้าไปช่วยให้กิจการ/หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการลงทุนวิจัยเพื่อให้ได้ “กำไร” จากการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น  ยกระดับกิจการของตน  ให้กิจการ/หน่วยงาน เหล่านั้นเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยหรือทีมวิจัย   เกิดความร่วมมือระหว่าง demand-side กับ supply-side ของการวิจัย

เงินงบประมาณแผ่นดินที่ สกว. ได้รับ  จะนำมาเป็นเครื่องมือร่วมกับทักษะการจัดการงานวิจัยของ สกว.  เพื่อให้ สกว. มีเสน่ห์ดึงดูดฝ่าย demand-side กับฝ่าย supply-side มาหากันได้  ประเทศเกิดผลงานวิจัย ที่หนุนความเจริญก้าวหน้าของประเทศในภาพรวม

นัยยะตามประเด็นที่ ๒  หมายความว่า assets ของสกว. คือความสามารถด้านการเชื่อมโยง ระหว่างdemand-side กับ supply-side ของการวิจัย  โดยใช้พลังของการจัดการ และพลังของเงินที่ สกว. มีอยู่  เอาไปเป็น “น้ำมันเครื่อง” ดึงดูด “น้ำมันเบนซิน” ซึ่งหมายถึงเงินทำวิจัยก้อนใหญ่จริงๆ จากฝ่าย demand-side  ที่ต้องลงทุนวิจัยเพื่อความสามารถในการดำรงอยู่ และแข่งขันของตนเอง  “น้ำมันเบนซิน” จะมากับงาน ไม่ใช่มาจากการร้องขอวิ่งเต้นจากรัฐบาล

ประเด็นที่ ๓ การสื่อสารสังคมด้านคุณค่าของงานวิจัยต่อสังคมไทยในภาพรวม เวลานี้อยู่ในสภาพ ต่างหน่วยงานต่างทำ  เน้นโฆษณาผลงานของหน่วยงาน  ทำกันอย่างจริงจังกว่า ๒๐ ปี  ก็ได้ผลน้อย เพราะชาวบ้านได้รับรู้เพียงส่วนเสี้ยว  ไม่เห็นผลกระทบในภาพรวม ซึ่งเป็นธรรมชาติของงานวิจัย  สังคมไทยจึงอยู่ในสภาพที่ไม่เห็นคุณค่าของการวิจัยเพียงพอ ที่ชาวบ้านหรือพลเมืองจะเรียกร้องเชิงนโยบาย  ให้รัฐบาลลงทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างจริงจัง

โชคดี ที่ ผอ. สวทน. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้ริเริ่มเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ที่เรียกว่า ๖ส. ๑ว. ขึ้น  ทำให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น  และมื่อ ศ. นพ. สุทธิพร จิตมิตรภาพ เป็นเลขาธิการ วช. ก็ได้สนับสนุนการทำงานเป็นทีมระหว่าง ๖ส. ๑ ว.  ยิ่งเพิ่มพลังความร่วมมือ  ได้ทราบว่า บัดนี้ ได้เกิดหน่วยงานจัดการเครือข่ายความร่วมมือนี้ และจะขยายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมวง  นับเป็นข่าวดี

ในฐานะที่ผมไม่รู้เรื่องนี้ แม้ชื่อหน่วยงานที่เขาเอ่ยกันในที่ประชุม ผมก็ฟังไม่ทัน เข้าใจว่าชื่อ คอ.บท. (เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งประเทศไทย)  แต่ก็ขอให้ความเห็นไว้ว่า หน่วยงานที่ตั้งใหม่นั้น อาจก่อผลดีก็ได้ หรือก่อผลร้ายก็ได้  ขึ้นกับท่าทีและวิธีทำงาน  หากเน้นใช้อำนาจหรือขั้นตอนราชการ ก็จบ คือ  เป็นผลร้าย

จะเป็นผลดีต่อเมื่อหน่วยงานนี้ทำงานแบบเชื่อมโยง และ empower   และงานหนึ่งที่ควรจับทำคือ งานสื่อสารสังคม เรื่องคุณค่าของงานวิจัย คุณค่าของการลงทุนทำวิจัย เพื่อพัฒนางานของตนเอง  การสื่อสารสังคมนี้ต้องใช้ทั้งสื่อ โซเชี่ยลมีเดีย  และสื่อกระแสหลัก  เพราะเป้าหมายประชากรต่างกัน

สกว. น่าจะได้เข้าไปผลักดันและร่วมมือ  ให้เกิดระบบสื่อสารสังคม ของการวิจัย ที่สามารถสร้าง ความรู้สึกเห็นคุณค่า และเชื่อถือ integrity ของวงการวิจัย  เน้นที่การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เชิงคุณค่า ต่องานวิจัยในประชากรไทยอย่างทั่วถึง  ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์แบบตื้นๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น

ประเด็นที่ ๔ การพัฒนาหน่วยวิจัยที่ทำงานเลี้ยงตนเอง จากการรับทุนสนับสนุนการวิจัย   ผมคิดว่า การวิจัยของประเทศจะแข็งแรงได้ ต้องมีหน่วยงานที่ทำงานวิจัยจริงจังต่อเนื่อง  และการสนับสนุนการวิจัย ก็ต้องมีความต่อเนื่อง  หน่วยงานที่มีประวัติผลงานดี ก็จะได้งานทำต่อเนื่อง  เวลานี้ประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัย ที่เข้มแข็งในระดับนี้ น้อยเกินไป

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลไกสนับสนุนการวิจัย กับหน่วยงานวิจัย ที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้เสียก่อน  ความสัมพันธ์นี้ต้องเป็นความสัมพันธ์แนวราบ  คือเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับกับฝ่ายให้

หน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเอง  เป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ดี เป็นที่เชื่อถือ ในผลงานและความสามารถ จากทั้งฝ่าย demand-side และฝ่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย  หน่วยงานวิจัยแบบนี้ ยังต้องมีการสร้างขึ้น

สกว. น่าจะหาภาคี ในการส่งเสริมให้เกิดหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ เพิ่มขึ้นในหลากหลายบริบท หลากหลายกลุ่ม demand-side  ทำอย่างไรผมไม่ทราบ  แต่ที่ทราบอย่างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยทุกประเภท ควรมีหน่วยงานวิจัยแบบนี้อยู่ภายในมหาวิทยาลัย  มีฐานะเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระ  ดังนั้นภาคีหนึ่งที่ สกว. น่าจะไปชักชวนร่วมกันพัฒนาหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย

ประเด็นที่ ๕ เชื่อมโยงกับโรงเรียน และภาคการศึกษา เชื่อมโยงการเรียนรู้แบบ active learning, team learning, PBL (Project-Based Learning) เข้ากับการวิจัยในพื้นที่หรือในชีวิตจริง  มีการฝึกครู/อาจารย์ ให้มีทักษะในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” การเรียนรู้  ให้นักเรียน/นศ. ทำ AAR/Reflection และเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) ในหลายสาระวิชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  และการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

การเรียนรู้ในสถานศึกษา จะเป็นแบบ RBL (Research-Based Learning), SBL (Service-Based Learning), และ PBL (Project-Based Learning) ในเวลาเดียวกัน  เป็นการสร้างทักษะหลายอย่างให้แก่ผู้เรียน  และเป็นการวางรากฐานการเป็นนักวิจัยให้แก่ประชากรที่เป็นกำลังของชาติในอนาคต

ที่จริง สกว. ได้มีประสบการณ์ส่งเสริมครุวิจัย และยุววิจัย อยู่แล้ว  ข้อเสนอนี้เป็นการยกระดับ ประสบการณ์เดิม ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิม  ไม่ใช่กิจกรรมใหม่  แต่วิธีการ และเป้าหมายจะต้องชัดเจนขึ้น  ว่าเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะการวิจัยเข้ากับ 21st Century Learning  และเข้ากับทักษะแนวใหม่ของครูในศตวรรษใหม่

ความเห็นที่ให้นี้ เป็นความเห็นของคนที่อยู่วงนอก  และไม่ได้มีประสบการณ์การ การทำงาน ด้วยตนเองในขณะนี้  จึงไม่ยืนยันว่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/542302
 

โครงการ DFC3 : ๔. เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยวิจัย และมหาวิทยาลัยเอกชน (เพื่อการมีงานทำ)

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๑ มิ.ย. ๕๖ ออกไปเดินครึ่งชั่วโมง หวังจะหา Zoo แต่หาไม่พบ

วันนี้เราไปเยี่ยมชม ๒ มหาวิทยาลัย คือฮุมโบลดท์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเน้นวิชาการหรือวิจัยสุดๆ  กับ FOM ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการมีงานทำเหมือน BSEL ที่ไปเยี่ยมเมื่อวาน  แต่ FOM เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

 

 

มหาวิทยาลัยฮุมโบลดท์ ไม่เก่ามาก ตั้ง ค.ศ. 1810  แต่เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่บูรณาการการวิจัยกับการสอน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน  ถือเป็น elite university ของเยอรมัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ Excellence Initiative ของระบบอุดมศึกษาเยอรมัน  ที่ HU ได้ประโยชน์มาก  (ดูรายละเอียดที่www.exzellenz.hu-berlin.de)  ที่ Tim Flink ทำวิจัยดู impact เอามาเล่าให้เราฟังเมื่อวาน ที่บอกว่ามีผลเปลี่ยนระบบมาก  แต่เปลี่ยนวัฒนธรรมยึดมั่นวิชา ของศาสตราจารย์ทั้งหลายน้อยมาก  จารีตวิชาการฝังแน่นทั่วโลก การปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลาเป็น ๕๐ ปี ไม่ใช่แค่ ๑๐ ปี อย่าง Excellence Initiative ของระบบอุดมศึกษาเยอรมัน

เขาแจกเอกสารหลายเล่ม ผมเลือกหยิบมา ๒ ชิ้น เอามาอ่านแล้วได้สัมผัสความละเอียดอ่อนของการจัดการการเปลี่ยนแปลง  ใน HU Wissen : Humboldt research Magazine, Vol 4, November 2012 ได้อ่านข้อโต้แย้งของอาจารย์ผู้นำสาขามนุษยศาสตร์ ต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบอุดมศึกษา ที่ต้องการเน้นด้านการวิจัยเป็นพิเศษ

ข้อโต้แย้งคือ เกรงอาจารย์จะมุ่งทำวิจัยจนลืมนักศึกษา  ลืมอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย ฮุมโบลท์ ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1802 ที่มุ่งบูรณาการการวิจัยกับการสอน  เข้าใจว่ามีการโต้กันมากทีเดียว  ระหว่างการเน้นความเป็นเลิศที่มาจากความเป็นอิสระของอาจารย์  กับความเป็นเลิศที่ใช้กลไกการจัดการสมัยใหม่ ที่คล้ายวิธีการทางธุรกิจ

อีกเล่มหนึ่งคือ Educating Enquiring Minds และเมื่อมารอคนซื้อของที่ร้านขายของที่ระลึก ผมหาเอกสารภาษาอังกฤษ ได้แผ่นพับ HU200 : The 11th Thesis on Feuerbach and the Art Installation "Mind the Step" อธิบายวาทะอมตะของ คาร์ล มาร์กซ ที่ติดไว้ตรงบันไดทางขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๓  แล้วในการฉลอง ๒๐๐ ปีของมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ ก็มีการประกวดการออกแบบบันไดทางขึ้น  ได้ผู้ชนะที่ออกแบบอย่างปัจจุบัน  ที่ยังเก็บเอาวาทะของ มาร์กซ ไว้  แต่ที่ทุกขั้นบันไดมีคำว่า mind your step  เป็นการเตือนสติผู้คน ว่าแม้แต่วาทะของ มาร์กซ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นคนที่ปราดเปรื่องที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐  หากใครจะดำเนินตามก็จงระมัดระวัง  คือเขาไม่เอาวาทะที่แสลงใจนี้ออกไป  แต่เอาคำเตือนสติง่ายๆ มาติดไว้ที่ทุกขั้นบันได  เป็นการแสดงการอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด

ต่อไปนี้คัดลอกมาจากข้อความที่ผมจดไว้ด้วย iPad ปรับปรุงภายหลังเล็กน้อย  โดยข้อความที่ขึ้นต้นด้วย ** เป็นการจดความคิดของตนเองที่แวบเข้ามาในตอนนั้น

 


Ursula Hans : HU in German HE Landscape and Worldwide Network

Founded 1810  ไม่เก่า  ตั้งหลังแพ้สงคราม  เพื่อผสานวิจัยกับสอน

นศ. 35,000

7,500 Med Student,  6 University Hospitals

ไม่มีวิศว

2 founders : Wilhelm & Alexander von Humboldt

เป้า เพื่อไม่ให้สังคมมีช่องว่างที่กว้างเกินไป

ศตวรรษที่ ๒๐ เน้น Natural Sci จึงมี 29 Nobel Laureates   ปี 1933 หยุดสอน  มีการเผาหนังสือ

1949 อยู่ใต้ GDR จน 1989

**ประวัติการฟันฝ่า

2000 - 2010 Bologna Reform

อธิการบดีมุ่ง radical reform

over 1,000 public lectures / yr

German Excellence Initiatives เริ่ม ๑๐ ปีก่อน  ปท. ต้องการสร้าง  visible R Univ  โดยที่เดิมเน้น equality  หันมาให้แข่งขัน มีการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ตามคุณภาพของข้อเสนอโครงการ

1st Pillar : Graduate studies

2nd R Clusters : 4 Clusters ในรูป

3rd  Future concept or 3rd line funding : Educating Inquiring Minds

TU = Technical Univ, FU = Free Univ

International : สร้าง multi-perspectivity แก่ นศ.  ให้ นศ. สามารถ function in multi-perspective ways

Profile partnership : Princeton U และกำลังหาในเอเซีย  ต่ำลงไป Core Partnership

ให้ นศ. ได้ international training at home  ไม่ขึ้นกับ mobility เสมอไป

Internationalization at faculty level -> institutionalize at the Faculty Level เพื่อความยั่งยืน

Networks

Innovation in Teaching : Bologna Lab เกิดเพราะ นศ. ประท้วง

3Q Approach

·  Q – Tutorials : Research projects ที่ริเริ่มและดำเนินการโดย นศ.

·  Q – Teams : นศ. ที่เรียนเก่ง เข้าร่วมทีมวิจัยที่มีอยู่แล้ว

·  Q – Kolleg : นศ. ทำวิจัยร่วมกับต่างประเทศ ผ่านทาง online เป็นหลัก  อาจมีการเดินทางไปทำงานวิจัยในต่างประเทศบ้าง

Q = Quest

3Q approaches เป็นของ HU เท่านั้น  ได้รับทุนสนับสนุน

Internationalization at home :

HU อยู่ใกล้ Turkish community ที่สร้างตัวได้ดีทางธุรกิจ  โดยไม่ได้เข้ามหาฯ

ทำ project สอน/เรียน ในบริบทของวัฒนธรรมที่ต่าง ที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของตน  นร. เยอรมัน กับ เตอรกิช แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องในสังคม โดยสื่อกันด้วยภาษาละติน  ซึ่งไม่ใช่ภาษาของตน

เอาเด็กต่างภาษา/วัฒนธรรม มาเข้า summer camp ในมหาฯ

เยอรมัน เป็น ปท. ที่มีกลไกให้ทุนมากมาย  แต่ไม่มีทุนสนับสนุน internationalization

teaching slaves 18 hrs/wk

reduction / r  3-5 / wk

งานหนักมาก แต่สนุก พอใจ

Educate Inquiring Minds : combine teaching with research

ขอทุนได้

Cosmos Res Summer Univ มี international partners พา นศ. มาด้วย  มี Humboldt Scholars มาเตรียมงาน  เป็น pressure cooker ของนักวิจัยใหม่

อธิการบดี จะ reform ให้ deans มีอำนาจมากขึ้น ด้าน HRM

K & Technol Transfer

Philipp Tottenborn, Spin-Off Manager, Humboldt Innovation

เป็นบริษัท  มีข้อตกลงชัดเจนกับ HU

ทำ innovation scout ในมหาฯ

หาคนมาทำงานได้ภายใน ๑ วัน

Spin off Zone

เริ่ม 2008

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของประเทศ

ได้สร้าง 45 new companies, 500 new jobs  หน้าที่นี้ Technical Univ เก่งกว่า  รวมทั้ง Univ of Applied Sciences

 

จะเห็นว่าในเยอรมัน มหาวิทยาลัยต่างแบบ ได้รับการยอมรับในความสามารถ ตามความถนัดของตน  มหาวิทยาลัย ฮุมโบลดท์ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นยอดของโลก ยอมรับว่า เมื่อพูดถึงเรื่องเชิงประยุกต์ การสร้างงาน การสร้างนักประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยประยุกต์ใช้ความรู้ ทำหน้าที่นี้เก่งกว่า  ส่วนมหาวิทยาลัย ฮุมโบลดท์ ได้รับการยอมรับนับถือในการสร้าง “สมองนักสงสัย” (Inquiring Mind)

ดู ppt ประกอบการนำเสนอได้ ที่นี่ และ ที่นี่

กินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารอิตาลี Via Nova

FOM

มหาวิทยาลัยของลูกจ้าง  เชี่ยวชาญ adult learning  โรงเรียนระดับสูงด้าน Economic & Development. F = Fachhocschuler, O = Economic, M = Management

ต่อไปนี้เป็นข้อความจากบันทึกใน iPad ปรับปรุงเล็กน้อย

เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ค้ากำไร  เน้นจัดการศึกษาแก่คนทำงานเต็มเวลา  สอนถึงระดับ ป. โท  และมีงานวิจัยด้วย

1,500 students in Berlin

เริ่ม 1993 โดย Employers' Association in Essen  **สมาคมลูกจ้างตั้งมหาฯ**

เมือง Essen อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ ปท.

มีสอน 31 แห่งทั่ว ปท.  นศ. > 21,000  ศ. > 200, อ. > 800

ที่ศูนย์นี้มีศ. ๑๓ คน

มหาฯ สำหรับคนทำงานเต็มเวลา  จัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับ นศ. ทำงาน

คุณภาพดี ราคาไม่แพง  แต่ไม่แข่งกับ elite univ.  ในสภาพการแข่งขันสูงในเบอร์ลิน

อยู่ใต้ BCW Group

ระบบ กศ. เยอรมัน ซับซ้อนหลากหลาย และยืดหยุ่นมาก  1/3 เดินตาม main stream เข้ามหาฯ

Dual Ed

เรียนอาชีพ + วิชาการ พร้อมกัน  เพื่อการมีงานทำ

ค่าเล่าเรียน

BS / BA 15,000 € for 3 ½ yrs

MS 12,000 € for 2 yrs

มีบริษัทนายจ้างที่ช่วยเหลือ โดยจัดยืดหยุ่นเวลาทำงานให้ หรือออกเงินให้บางส่วน

แบบที่ 1  Week Program (Mon – Thur) : 18.00 น. บรรยาย / สัมมนา 90 min, break สั้นๆ  ต่ออีก 90 min

แบบที่ 2  มาเรียน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

แบบที่ 3 เรียนวันศุกร์ 18 น.  และวันเสาร์เต็มวัน

เริ่ม integrate eLearning บ้าง แต่ไม่มาก

กว่า 90% นศ. เรียนจบ ป. โท จบมากกว่า 90%

การเรียนเรียนแบบ interactive  มีคะแนนให้ในทุกช.ม.  ไม่มีการสอบอย่างเป็นทางการ

คนที่มาให้ข้อมูล  ตอนนี้เรียน MBA  ผ่านมาแล้ว Gerontology, nurse,

ใช้ case-based learning มาก  ทำให้ได้เรียนจากของจริง  เน้นรับอาจารย์ที่มีประสบการณ์การทำงานจริง

เป็น univ of applied sci & economics

ไม่มี วิศว แพทย์

มีการวิจัยด้วย โดยร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ  เช่น business psychology, statistics, employment, demographic, gerontology,

มีความร่วมมือ PhD Program กับ ม. ในสเปน

av age undergrad 25-28 อายุลดลง

MBA อายุ 25 - 44

**ใน concept ยังเน้น K / Content อยู่  ยังไม่ถึง 21st Century Skills

การสอบ ป. ตรี สอบข้อเขียนเป็นหลัก

ป ตรี drop out rate 15% :  5% เพราะวิชาไม่แข็ง  สอบตก ๓ ครั้ง ต้องออก  หรือเพราะปัญหาครอบครัว / ส่วนตัว  หรือเพราะย้ายบ้านไปเมืองอื่น  หรือเพราะไม่มีเงิน  FOM ช่วยโดยให้ผ่อนส่งระยะยาว

นศ. ที่นี่ motivated กว่าในมหาฯ

ป. ตรี ไม่มีการคิดเครดิตจากประสบการณ์การทำงาน

ป. โท คิด

SRH Univ เป็นคู่แข่ง  เป็น ม. เอกชน  คู่แข่งมาก

ม. เอกชนบางแห่งล้มละลายใน ๑ ปี

จากสายอาชีพ ไปทำงาน ๓ ปี มาเข้ามหาฯ ได้

FOM = Fach hocschuler

Hochschuler for Economic and Management

O = Economic

M = Management

นี่คือ adult learning expert  เขาไม่กลัว online university

 

ดู ppt ประกอบการนำเสนอได้ ที่นี่

 

ค่ำไปกินอาหาร บาวาเรีย ที่ร้าน Hofbrauehaus  ซึ่งติดป้ายโฆษณาว่า Hofbrau Muenchen บริเวณ จตุรัส อเล็กซานเดอร์ (Alexanderplatz)  คนส่วนใหญ่กินขาหมู ชิ้นโตน่าตกใจ  และแทนที่จะเป็นขาหมูอบและทอด กลายเป็นขาหมูต้ม  คนผิดหวัง ไกด์จึงสั่งชนิดทอดมาให้แบ่งกันชิม ๒ จาน  ผมเจียมตัว สั่งเนื้อลูกวัวทอด กินกับเบียร์อร่อยดี และกินไม่หมด  เพราะได้ส่วนแบ่งขาหมูมาชิมด้วย ทั้งชนิดต้มและชนิดทอด

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๕๖

 

 



หน้ามหาวิทยาลัย ฮุมโบลดท์ เบอร์ลิน



ภายในห้องโถงทางขึ้นบันไดประวัติศาสตร์
ประดับคำขวัญของ คาร์ล มาร์กซ



บรรยากาศภายในห้องประชุม



หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล



แคมปัสทัวร์ อวดห้องบรรยายใหญ่ โชวืความล้าสมัย



บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย



ด้านหน้ามหาวิทยาลัย FOM มหาวิทยาลัยของลูกจ้าง



บรรยากาศภายในห้องประชุม
ในการเยือน FOM มหาวิทยาลัยเพื่อการมีงานทำ



ร้าน Hofbrau Muenchen
ที่เราไปกินขาหมูเยอรมัน



บรรยากาศภายในร้าน



ขาหมูต้ม



บรรยากาศที่หน้าร้าน

 

 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/542198

 

 

 

 

 

รายงานประชุมคณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

พิมพ์ PDF

รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

ครั้งที่ 1/2556

วันอังคารที่ 15 มกราคม 2556

เวลา 14.00-16.30 น.

ณ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

388 ชั้น 7 เอสพีอาคารบี ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ

กรรมการผู้เข้าร่วมประชุม

1. ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์                               ประธานกรรมการ

2. ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก                                 รองประธานกรรมการ

3. นายกิตติ คัมภีระ                                            รองประธานกรรมการ

4. น.สพ.สมชัย วิเศษมงคลชัย                         รองประธานกรรมการ

5. นายธวัชชัย แสงห้าว                                     รองประธานกรรมการ

6. ดร.วีรชัย วงศ์บุญสิน                                     กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

7.รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล                                 กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

8.นางโสทรินทร์ โชคคติวัฒน์                         กรรมการ

9. นายสยาม เศรษฐบุตร                                    กรรมการ

10. นายทำนอง ดาศรี                                         กรรมการ

11. นายชนินท์ ธำรงวิทวัสพงค์                       กรรมการ

12. ผศ.ชัยธนัตถ์กร ภวิศพิริยะกฤติ                กรรมการ

13. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์                              กรรมการ

14. ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี                          กรรมการและเหรัญญิก

15. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท                               กรรมการและเลขาธิการ

16. น.ส.จิตรลดา ลียากาศ                                 ผู้ช่วยเลขาธิการ

กรรมการผู้ลาประชุม

1.ดร.ธรรมชัย เชาว์ปรีชา                                  รองประธานกรรมการ

2.นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล                        กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

3.นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล                      กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา

4.นายสามารถ ดวงวิจิตรกุล                              กรรมการ

5.นายพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล                              กรรมการ

6.นายวิสูตร เทศสมบูรณ์                                   กรรมการ

7.นายกรพชร สุขเสริม                                      กรรมการ

ผู้เข้าร่วมประชุม

1.นายกิตติ  ชยางคกุล                                        ที่ปรึกษาด้านวิชาการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

2.นายสุภวัส วรมาลี                                            ที่ปรึกษาด้านวิชาการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

3.นายวรวุฒิ โตมอญ                                          ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

4.นายโยธิน ณ ระนอง                                      สมาชิกสมาคมผู้บริโภค

5.นายขวัญชัย  ไทยภิรมย์                                 นายกสมาคมคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

6.น.ส.พิชญามณญ์ วงษ์สถิต                           กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็นจี พาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด

7.นายเกรียงไกร ภูวณิชย์                                  Executive Government Program IBM Thailand Company Limited

 

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ได้กล่าวเปิดประชุมและขอบคุณคณะกรรมการและแขกผู้มีเกียรติที่ได้สละเวลาเข้าร่วมประชุมเพื่อสนับสนุนการพัฒนามูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของศบม.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืนประธานกรรมการได้ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการสรุปได้ดังนี้

1.วันนี้เป็นการพบกันเพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินงานของมูลนิธิ สรุปกฎระเบียบ และแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศมาเป็นเวลานาน พบว่า ถ้าเราทำด้วยความโปร่งใส มีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการเงิน และมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ก็จะทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิบรรลุเป้าหมายได้ ทั้งนี้ ควรเน้นวิธีการทำงาน โดยเมื่อมีกรรมการ และมีทรัพยากรแล้ว ต้องมีผลงาน และสร้างอิทธิพลต่อสังคม ในฐานะที่ทำงานมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศมานาน จึงอยากให้กำลังใจทุกคน และจะสนับสนุนทุกอย่างที่ ศบม.นี้ต้องการ งานส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพวกเราทุกคน การทำงานควรเป็นบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หารือกัน ตกลงกันแล้วทำ เพราะโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ต้องสร้างผลกระทบต่อสังคมของเราให้ได้

2. ส่วนในการดำเนินงานนั้น ขอให้กำหนดทิศทางให้ชัดเจน ถ้ามาทำงานด้วยความรู้สึกอยากทำประโยชน์ มีแรงบันดาลใจ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีช่องว่างและโอกาสที่เราสามารถฉกฉวยมันได้ อยากให้ทุกคนให้ความเห็นที่ปฏิบัติได้ อยากให้มีกรรมการบริหาร โดยต้องเน้นคนมีความรู้ ใช้ปัญญาบริหารจัดการ การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปี ดังนั้นทุกเรื่องที่เราสรุปต้องมีคนดำเนินการต่อ โดยมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศสามารถให้ยืมทรัพยากรมนุษย์บางคนได้ เช่น จัดการประชุม ทำเอกสาร แต่เราต้องหาทรัพยากรหรือความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ตัวเงิน ถ้าไม่มีก็ต้องนำอาสาสมัครมาทำงาน

3. เนื่องจากปีนี้ เป็นปีที่ศบม.ต้องดำเนินการเต็มตัว ดังนั้นใน 3 เดือนข้างหน้า กรรมการชุดนี้ควรวางแผนว่าจะเปิดตัวอย่างไร ส่วนเงินก็ต้องระมัดระวังเพราะมีความเสี่ยง ถ้าเราเปิดตัว เราก็ต้องมีความสามารถในการดึงเอาสปอนเซอร์เข้ามา  จากประสบการณ์ที่เคยทำงานที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ เราจะเปิดตัว Big Bang ถ้าเราเงียบๆและทำการฝึกอบรมก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ยินดีจะช่วยโครงการนี้ อยากให้ทุกคนคิดถึงการเปิดตัว โดยควรจัดระดับชาติ ซึ่งคุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุลได้ให้คำแนะนำแล้วว่า อีก 20ปีข้างหน้า ควรถามว่าคุณสมบัติของทุนมนุษย์ที่พึงประสงค์ของประเทศเป็นอย่างไร

4.การพยายามที่จะมีสมาชิกและเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก จะให้มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.)ทำงานคู่กับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศไปก่อน เราควรดูว่ามีกิจกรรมอะไรที่จะทำได้ ซึ่งในโลกปัจจุบัน แทนที่จะจัดโครงการฝึกอบรมหรือกิจกรรมต่างๆ ควรทำวิจัยและการให้คำปรึกษา โดย ควรดูตัวอย่างจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เวลารับผิดชอบวิจัยก็ทำเหมือนธนาคารโลก นำตัวเลขกว้างๆมาดูแต่ไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปแก้ปัญหาได้ เราเป็นกึ่งระดับจุลภาค ไม่ใช่นักวิชาการเท่านั้น เราเป็นคนในสาขานี้ กิจกรรมในพันธกิจคือวิจัยและควรมีการให้คำปรึกษาเข้าไปด้วย วันนี้เราต้องเปิดตัว Big Bang ให้มีผลกระทบพอสมควร ใครเป็นผู้ลงทุน อย่ามีปัญหาเรื่องเงิน ควรนำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามาร่วมด้วย สำหรับเรื่องเงินทุนดำเนินการนั้น เนื่องจาก ศบม.ควรเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดังนั้นควรมีมูลนิธิต่างประเทศมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า องค์กรเราต้องอยู่รอดก่อนและมีความสามารถในการหาเงินทุนมาใช้จ่าย

5.สำหรับกลุ่มเป้าหมายของคนที่จะพัฒนานั้น ควรดูแลประชากรวัยทำงานอายุประมาณ 30-40 ปี และแรงงานที่จะเข้าตลาดแรงงานเช่น นักศึกษาปีที่ 3 และ 4 ด้วย

วาระที่ 2 เรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่อที่ประชุมว่า ได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดอยู่ในเอกสารชุดที่แจกในที่ประชุม

(1) ในระยะที่ผ่านมา กรรมการได้มีการประชุมกลุ่มย่อยที่จะหาจุดให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุด มีการประชุมมาแล้ว 2-3 ครั้ง มีการหารือเรื่อง SWOT และแผนงานมาแล้ว ซึ่งจะได้พิจารณาร่วมกันในวาระที่ 3 โดยในการประชุมครั้งล่าสุดที่ซีพี คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุลอาสาจะเบิกโรงให้โดยไปติดต่อกับสสว. ซึ่งขณะนี้สสว.ได้ตกลงเรียบร้อยแล้วว่าจะให้มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ดูแลธุรกิจบริการ

(2) ในด้านจำนวนสมาชิกของมูลนิธินั้น ปัจจุบัน มีบุคคลธรรมดาเป็นสมาชิกร้อยกว่าราย โดยได้จากการไปจัดสัมมนาที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต

(3) ในด้านการวางแผนการดำเนินงานนั้น องค์กรเราเน้นคน สร้าง Supplier ก่อน ผู้บริหารต้องนำทรัพยากรมนุษย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คนไทยมีแค่ร้อยละ 5 ที่เป็นผู้มีโอกาสและเอาตัวรอดได้ เราต้องนำร้อยละ 95 ให้ค้นพบและมีความสุขในการทำงาน มีเวทีให้เขา วิเคราะห์คนแล้วนำคนมาสร้างศักยภาพ ทุกคนต้องช่วยกันบูรณาการ เราควรสร้างคนเป็นลูกจ้างและเจ้าของธุรกิจโดยใช้คน 3 รุ่นมาร่วมทำ ต้องรวมถึงผู้ประกอบการด้วย บางอย่างต้องปูพื้นมาแต่เด็ก เราคิดถึงคนในอนาคตข้างหน้า

(4) สำหรับเงินทุนในการดำเนินงานของมูลนิธินั้น ต้องมีการตั้งกรรมการจัดหาทุน และทุกโครงการต้องมีเงินจึงจะดำเนินการได้ ทั้งนี้ศบม.ไม่ได้มีหน้าที่เพียงให้การฝึกอบรมเท่านั้น ควรทำงานวิจัยตามที่ประธานศบม.ได้แนะนำไว้ด้วย สิ่งสำคัญคือหาผู้นำในแต่ละกลุ่มขับเคลื่อนเป็นเครือข่าย แล้วเงินจะมาเอง

วาระที่ 3 เรื่องพิจารณากำหนดแผนการดำเนินงานของศบม.

3.1 การวิเคราะห์ SWOT

เลขาธิการ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ในระยะที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือเรื่องแผนการดำเนินงานเบื้องต้นมาบ้างแล้ว โดยขอความกรุณา 3 ท่านคือ คุณธวัชชัย แสงห้าว รองประธานกรรมการมูลนิธิ ดร.อนุชา เล็กโตสกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิ               คุณกิตติ คัมภีระ รองประธานกรรมการมูลนิธิช่วยดูและ ที่ปรึกษารศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา เรื่องนี้ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน คุณธวัชชัย แสงห้าวได้ทำข้อมูลไว้พอสมควรแล้ว ดร.อนุชา เล็กโตสกุลก็มีข้อเสนอแนะมา จะขอให้คุณธวัชชัย แสงห้าวนำเสนอ

นายธวัชชัย แสงห้าว รองประธานกรรมการมูลนิธิ ได้นำเสนอว่า มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เริ่มจากกลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ต้องเข้าไปช่วยเหลือ บุคลากรในประเทศไทยมีความต้องการพัฒนาตนเอง ในปัจจุบันอาจจะขาดศักยภาพ ในส่วนองค์กร ก็ต้องการความอยู่รอดและการเจริญเติบโต  ก็ต้องการที่ปรึกษา ตรงนี้เป็นความต้องการของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เราจะมีองค์กรและบุคลากรที่มีความพร้อมและความสามารถ ต้องการจะช่วยเหลือสังคม องค์กรที่เข้มแข็งมีการเจริญเติบโต มีความพร้อมและพันธมิตร มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ทำหน้าที่ให้ 2 ส่วนนี้มาประสานงานบูรณาการ องค์กรมีงบประมาณ มีพันธกิจพัฒนาทุนมนุษย์ในภาคต่างๆ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ทำหน้าที่ในการตอบโจทย์กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ ช่วงแรกๆ อาจจะเน้นภาคเอกชนก่อนก็ได้

พันธกิจมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ต้องผลักดันความเป็นเลิศ บูรณาการต่างๆ  จะมีส่วนที่เป็นภาคสังคมอยู่ เช่นศาสนา สังคมสงเคราะห์ องค์กรการกุศล นี่คือวิสัยทัศน์  บูรณาการบริหารจัดการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ความต้องการไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคลากร พนักงาน ผู้ประกอบการ มีความต้องการอย่างไร องค์กรภาคเอกชน องค์กรอิสระ พันธกิจของเขาอาจต้องการความช่วยเหลือหรือเครือข่าย ทางมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) จะทำการประสานโดยมีโครงการต่างๆ เช่น จัดสัมมนา วิจัย กิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรที่เป็นสมาชิก เรามีกรรมการ มีองค์กรพันธมิตร มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) พัฒนามาจากศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 มีการประกาศรับสมาชิกแล้ว มีสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลที่ลงทะเบียนมาแล้ว 8 องค์กร บุคคลธรรมดา 43 ราย รวมทั้งบุคคลนอกสมาชิก 100  กว่าคน

คุณธวัชชัย แสงห้าว รองประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้นำเสนอเพิ่มเติมว่า ในปี 2551 มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ได้เคยจัดเสวนา "ฅน...ทางรอดธุรกิจโรงแรม SMEs" ในปี 2552 ร่วมกับหลายองค์กรจัดโครงการสัมมนา “เจาะลึกกลยุทธ์การทำตลาดแนวใหม่สำหรับโรงแรม SMEs” และจัดโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคการท่องเที่ยวของประเทศลาวร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ในปี 2553 ได้จัดโครงการประชุมนานาชาติด้านการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และมีกิจกรรมต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา

ในการกำหนดกลยุทธ์ ได้มีการวิเคราะห์ SWOT ขององค์กรในแง่เรามีความเข้มแข็ง มีเครือข่ายหลาย Sector ผู้เกี่ยวข้องยินดีให้ความช่วยเหลือ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ยังไม่มีสำนักงาน บุคลากร ทรัพยากร ส่วนภัยคุกคามก็คือ มีองค์กรที่มีลักษณะคล้ายองค์กรนี้อยู่มากทั้งในภาครัฐและเอกชน จากการวิเคราะห์ SWOT แบบเจาะลึกพบว่า Stakeholders ที่เกี่ยวข้องกับ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) มีมากมาย ชุดแรกคือผู้รับบริการหรือความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ผู้ประกอบการต้องการอยู่รอด เข้มแข็ง พนักงานต้องการเก่งงาน เก่งคน นักศึกษาผู้ว่างงาน ก็ต้องเสริมสร้างคุณภาพการทำงาน ประชาชนและสังคมก็ต้องการความรู้ ข้อมูลข่าวสาร องค์กรชุมชนก็ต้องการความเข้มแข็งบรรลุวัตถุประสงค์แต่ละองค์กร เมื่อมาพบกับมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) แล้วก็ต้องมาร่วมทำงาน วิจัย มีงบประมาณค่าใช้จ่ายบ้าง

ในแง่ของผู้ให้ เช่นผู้ประกอบการที่มีความพร้อม จะได้ชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นในสังคม ตอบโจทย์ปรัชญาชีวิตของเขาที่จะช่วยเหลือสังคมหรือได้อาชีพเสริม นักวิชาการหรือวิทยากรที่มาช่วยเหลือสังคมมีรายได้เพิ่มขึ้น องค์กรอิสระที่มาช่วย ก็บรรลุสิ่งที่เขาต้องการ แต่สิ่งที่ต้องเสียคือเวลาและงบประมาณ

วิสัยทัศน์ขององค์กร คำว่า บูรณาการหมายถึง มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ต้องรวบรวมประสานสร้างค่านิยมร่วมให้คนที่มาร่วมกับเราหรือรับความช่วยเหลือ ได้บูรณาการทุกสิ่งโดยใช้การบริหารจัดการ 4M คือ Man, Material, Method และ Money ซึ่งเราจะใช้พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพคือ ความเข้มแข็ง เจริญเติบโตก้าวหน้าในวิชาชีพมีงานทำ

กลยุทธ์มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) คือมุ่งพัฒนาเครือข่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีเพื่อให้มีเครือข่ายมากขึ้น เพื่อรวบรวมบุคลากรที่มีความพร้อม รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการต่างๆไม่ว่าจะเป็นระบบกระบวนการต่างๆเพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องมีการพัฒนาความรู้ทักษะให้กลุ่มที่เราไปช่วยเหลือเขาทั้งทักษะการบริหารจัดการภาวะผู้นำ ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานในแต่ละสายอาชีพให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและโลกอนาคต นี่เปรียบเสมือนสินค้าหรือบริการของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เราต้องมีความเข้มแข็ง มีโครงสร้างองค์กร ทั้งด้านบุคลากร กระบวนการเทคโนโลยีผลักดันให้บรรลุพันธกิจมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.)

3.2 แผนปฏิบัติการปี 2556 มีดังต่อไปนี้

3.2.1.พัฒนาเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง เราก็จะจัดกลุ่มเครือข่ายในระดับผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ ผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญองค์กรที่เข้มแข็ง องค์กรที่มีพันธกิจหรืองบประมาณ ตรงนี้เราต้องพัฒนาขึ้นมาให้ได้ วิธีการอาจมีหนังสือเชิญ ใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และกิจกรรมต่างๆ ต้องมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบและงบประมาณ ต้องมีจำนวนเครือข่ายให้ครบทุกกระบวนการ ต้องเลือกธุรกิจที่เราเน้น เมื่อเรามีความพร้อมของบุคลากรที่จะมาช่วยเหลือ เราก็ต้องหาสมาชิกเพื่อหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ผู้ว่างงาน ประชาชน ชุมชน องค์กรต่างๆ ตัวชี้วัดคือจำนวนสมาชิก ความต้องการของธุรกิจต่างๆที่เราเน้น

3.2.2.พัฒนาโครงการเพื่อที่จะหารายได้เข้ามูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) อาจจัดทำเป็น Executive Focus Group เพื่อหาความต้องการที่แท้จริงหรือกิจกรรมต่างๆเช่น Event, Executive Sharing จัด Site Visit นำสมาชิกไปเยี่ยมสมาชิกที่มีความเข้มแข็ง ต้องมีสำนักงานและเครือข่ายมาช่วยปฏิบัติงาน ต้องมาเริ่มก่อนว่า ธุรกิจที่มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) จะเน้นคืออะไร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอาหารหรือธุรกิจต่างๆ ถ้าไม่ Focus ทำให้เราเริ่มต้นได้ยาก

3.3 การอภิปรายของที่ประชุม

3.3.1 ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) ประสบการณ์ของคุณธวัชชัย แสงห้าว รองประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์และทีมงานถือว่าผ่านมามาก วิสัยทัศน์ควรมีการทำงานระหว่างประเทศด้วย จะได้พัฒนาทุนมนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(2) นอกจากแผนหลักตามข้อเสนอของคุณธวัชชัยแสงห้าวและคณะแล้ว เห็นว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนคือการเปิดตัวมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ให้สาธารณะรู้จัก ถ้า Big Bang เป็น Dinner Talk ก็ดี ดูผ่อนคลาย กลางวันดูเป็นทางการเกินไป คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ได้แนะนำไว้คือผู้บริหารระดับสูงสุดจริงๆ โดยจะจัดประมาณเดือนพฤษภาคม

(3) สำหรับงานที่ ศบม.จะร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศนั้น ในปีนี้ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศจะทำโครงการ ICT กับ Service Sector ในกลุ่มประเทศ GMS ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุทเสนอให้ทำให้ภาคเกษตร ขนส่ง บริการสุขภาพและท่องเที่ยว งบส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงการต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงไอซีที ศบม.ก็จะเป็นเจ้าภาพร่วมด้วย เรายังไม่ต้องทำอะไรเพราะมี Platform อยู่แล้ว อนึ่ง อยากให้รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูลแนะนำโครงการที่ศบม.อาจทำร่วมกันได้ เช่น โครงการที่เน้นภาคราชการ E-learning หรือ ICT ไม่ได้เน้นแค่ Technical Skill แต่เน้นผู้บริหาร ถ้าจะบริการประชาชน ต้องเน้น Non-ICT ถ้าได้โครงการนี้มาก็ทำได้เลย โครงการที่ดร.วีรชัย วงศ์บุญสินเสนอมาก็น่าจะทำได้ รถยนต์มีจังหวะดีเพราะรถยนต์มีมาก ต้องมีบริการมาก นอกจากท่องเที่ยวแล้ว ธุรกิจรถยนต์ก็มีศักยภาพมาก เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้ทำงานเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ที่กระทรวงพาณิชย์หลายท่านที่ประชุมในห้องนี้ก็เป็นอนุกรรมการชุดนี้ เรื่อง Service Sector กับเรื่องคนเป็นเรื่องที่ใกล้กันแล้ว แต่ก่อน ถ้าไม่มีหน่วยงานอย่างเราเข้าไปแทรกแซง ก็จะทำได้ช้า เช่น ภาคอุตสาหกรรมเสนอให้กระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัยทำหลักสูตรแบบนี้ บางที 3 ปี ยังไม่ได้ทำ วันนี้ เห็นช่องทางที่จะทำแล้ว สิ่งที่รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูลและดร.วีรชัย วงศ์บุญสินยกตัวอย่าง มักมีธุรกิจขึ้นมาเพราะฉะนั้น ความต้องการอยู่ที่ Demand Side ไม่ใช่ Supply Side เราตั้งมูลนิธินี้ตาม Supply Side ที่เหนื่อยกว่านั้นคือความสำเร็จ จากประสบการณ์การเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิมา 2 ครั้งแล้ว ก็ทราบว่าทุกท่านมีความพยายามสูงมาก ขอให้รักษาความพยายามนี้ ตอนที่ตั้งมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศยังไม่มีความหลากหลายทางความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ คนที่มาเป็นคณะกรรมการมีความหลากหลายทางความคิด ต้องสร้างแบรนด์และดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ เราอาจจะไปช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับและสิ่งทอ รวมทั้งภาคธุรกิจอื่นๆที่ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุทเสนอ สิ่งสำคัญคือต้องมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ล่าสุดได้มีการทำวิจัยพบว่า การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทำให้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อยู่รอด ซึ่งมาจากความคิดสร้างสรรค์ของทุนมนุษย์ นอกจากนี้เจ้านายต้องบริหารคนเก่งได้ ปลูกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเก็บเกี่ยวศักยภาพให้ได้ ขอให้รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูลดูแลศบม. ถ้ามีโครงการที่เราสามารถทำได้สักเรื่องเกี่ยวกับราชการก็ยิ่งดี

3.3.2 นายกิตติ คัมภีระ รองประธานกรรมการ กล่าวว่า สิ่งท้าทายคือเรื่องค่าแรง 300 บาท ทำให้เกิดผลอะไรบ้าง ทุนมนุษย์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะสมดุล ตอนที่อยู่สถาบันคีนันได้ทำมาแล้วมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เคยสัมภาษณ์นักเรียนทุนกพ. นับวันที่จะหลุดพ้นการใช้ทุนและขาดจิตสาธารณะ

3.3.3. ดร.วีรชัย วงศ์บุญสิน กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างกรณีที่พร้อมที่จะทำคือธุรกิจยานยนต์ มี Demand ผู้จบอาชีวะสูงแต่ นักเรียนอาชีวะไม่เข้าเรียน พ่อแม่ไม่ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะ คนเรียนจบอาชีวะว่างงานต่ำกว่าปริญญาตรี มีรายได้พอๆกัน แต่พออายุมากขึ้นก็จะว่างงานมากขึ้น ทุก Dealer รถมีปัญหา ทำอย่างไรให้บุคลากรอาชีวะมีรายได้สูงกว่าปริญญาตรีเมื่อมีอายุ 40 ปี ประชากรเปลี่ยนแปลง ยุคหน้าเป็น Baby Bonus มีลูกมาก มีโบนัสจากรัฐบาล ธุรกิจยานยนต์ Supply ขาด ต้องตีโจทย์ให้แตก Supply ไปให้เขา ธุรกิจยานยนต์มีรายเล็กคืออู่ซ่อมรถหรือช่างทำสี ทำอย่างไรให้เขาเข้ามาสู่ระบบนี้ นักเรียนอาชีวะไม่ยอมเข้าบริษัทใหญ่ๆเพราะมีอิสระ ผมพร้อมจะเป็นคนกลางให้ธุรกิจยานยนต์ ถ้าเรามีความโปร่งใส ก็ทำได้แน่นอน ทำอย่างไรให้เขาใช้มูลนิธิเรา แต่ละค่ายรถไม่เชื่อใจกันว่าข้อมูลจะหายไป เราต้องทำงานบนความไม่ไว้ใจของเขา แต่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ธุรกิจยานยนต์มีศักยภาพพอ

สำหรับประเด็นนี้ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ กล่าวว่า ถ้าเรื่องยานยนต์มีประโยชน์ก็อาจตั้งศูนย์เล็กๆ มาศึกษาได้ ต้องมีเป้าหมายไปเปลี่ยนแปลงทุนมนุษย์ไทยและต่างประเทศในอาเซียนด้วย ถ้าวางตำแหน่งทางการตลาดสูง ก็จะดึงความเป็นเลิศออกมา

3.3.4. ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก รองประธานกรรมการ กล่าวว่า เราแลกเปลี่ยนกันมา ค่อนข้างจะชัดที่สุด สิ่งที่คุณธวัชชัย แสงห้าวนำเสนอเป็นยุทธศาสตร์ 3-4 ข้อ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ใครมาเป็นสมาชิกก็เป็นเครือข่ายแม่และเครือข่ายผู้ร่วมกิจกรรมทั้งด้านผู้ให้และผู้รับ นอกจากนี้ควรมีเครือข่ายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกศบม.เช่นเครือข่าย Resource Person ถ้าจะพัฒนาคนให้ไปเสริมธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย ให้เขาเป็นวิทยากร เราอาจทำเป็น Resource Short list ของเราได้ ส่วนเรื่องเงินทุน ก็สามารถบอกได้ว่าจะเลือกใคร ภารกิจที่เราควรจะทำได้ในอนาคตคือวิจัย มีกิจกรรมการกุศลบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าพร้อมจะทำหรือไม่คือการจัดกอล์ฟการกุศล โบว์ลิ่งการกุศล เป็นการหาเงินและประชาสัมพันธ์ ควรทำแผนระยะ 5 ปี ทำกิจกรรมไตรมาสละครั้งตลอดปีแรกๆน่าจะพอไปได้ สำหรับเรื่อง Product นั้น เรามีมาก แต่ต้องสร้างความแตกต่างจากที่อื่น เรามีเครือข่ายมากแต่อาจเป็นแบบหลวมๆ  มูลนิธิเราเริ่มต้นจากคนในแวดวงการท่องเที่ยวและทำได้ไม่กี่ปี ก็มีคนในแวดวงไอทีเข้ามา เราพยายามจะทำในช่องว่าง 2 อันนั้น ต่อมาเรามีคนหลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นจุดยืนและจุดร่วมกันอยู่คือเรากำลังพูดถึงมนุษย์ที่จะพัฒนามนุษย์ ให้อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพ  ควรทำในสิ่งที่มี Impact เราจะพยายามหาคนเก่งมาทั้งหมด แต่มันเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละคนไม่มีเวลา  พอเราจะไปปิดช่องว่าง ก็ไม่สามารถทำได้ พวกที่อยู่ใน Resource Person Short list ต้องมาระดมสมองกับเรา เราเชิญเขามาเป็นวิทยากรแล้วอาจให้ค่าวิทยากรลดลง ส่วนที่เกินมาก็ยกให้สังคม ควรเริ่มจากการกำหนดโจทย์ตอนแรก 1-20 โจทย์ แล้วตั้งทีมเล็กๆ 2-3 คนไปสืบค้นกันมา หาช่องว่างแล้วจัดกิจกรรมร่วมกัน อาจจะนำคน 2-3 คนมาทำวิจัยเล็กๆเรื่องการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ จะหาวิทยากรจากที่ไหน อาจจัดการตลาดในกำลังงบประมาณที่เรามีอยู่ไตรมาสละเรื่อง ปีนี้อาจทำ 2 เรื่อง ทำให้เขาเห็นว่าเป็นศบม. ที่สามารถเข้าไปแทรกอยู่ในเข็มทิศของเขา แล้วมันจะขยายและพัฒนาขึ้น

3.3.5. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ กรรมการ กล่าวว่า ในการกำหนดแผนการดำเนินงาน ควร Focus เชิงลึกเป็น Sector หรือ Issues บางทีโอกาสรออยู่ แต่เราไปปิดมัน ทุกกระทรวงมีปัญหา  ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ กพ.ไม่ได้พัฒนาคน คนเกษียณออกมามาก หาคนไปทำงานแทนไม่ได้ ถ้าเรามองกระทรวงแรงงาน ไม่มีใครดูบริบทอาเซียนอย่างถ่องแท้ แต่เราฟังจากโทรทัศน์และวิทยุ คนที่ไปพูดในเวทีอาเซียนไม่ได้รู้เรื่องอย่างถ่องแท้ ปี 2558 จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่คนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ สื่อนำข้อมูลจากรัฐไปเผยแพร่น้อยมาก อยากให้มองเชิงลึกแล้วเปิดช่องให้ภาครัฐและเอกชน

3.3..  น.สพ.สมชัย วิเศษมงคลชัย  รองประธานกรรมการ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ศบม.รู้จักตนเอง มูลนิธิในประเทศไทยมีมาก จากประสบการณ์การทำงานมูลนิธิ พบว่า มูลนิธิในประเทศไทยเกิดจากคนที่มีทุนแล้วมารวมตัวกัน หรือเกิดจากคนที่หวังใช้มูลนิธิมาทำโครงการเพื่อเอื้อต่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นองค์กรที่จะมาแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง การได้มาของทุนแต่ละมูลนิธิมีความต่างกัน มูลนิธิต่างประเทศที่มาประเทศไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า องค์การที่เกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมดทำเกี่ยวกับ Educational Trip และมาในรูปแบบของ Volunteering Trip เช่น Worldwide Animal Rescue Charity Fund มีรายได้หลักจาก Volunteering Trip ได้เงิน 5 หมื่นบาทต่อคน มีเงินซื้อที่ดินไม่น้อย มูลนิธิมีหลากหลายมาในรูป Documentary จนกระทั่งเข้าสู่ Networking ในเรื่องการศึกษา ต้องอธิบายให้เห็นว่าทำไมต้องใช้มูลนิธิเรา ในแง่วิชาชีพ มันมีความเป็นวิชาชีพ ประกาศนียบัตรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเองได้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากมูลนิธินี้ก็จะต้องได้รับการรับรองหน่วยกิตและได้ประกาศนียบัตรเป็นที่ยอมรับ ผ่านการอบรมแล้วได้เงินเดือนขึ้น เราค้นหาตนเองได้จาก Project, Product และ Service มีค่าที่เป็นจริง ทำให้เขารู้สึกว่าใช้มูลนิธิแล้ว ได้คำตอบที่ตรงตามความต้องการ และคือการสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่การท่องเที่ยว สิ่งที่ททท.ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้คือคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยวและคนที่เป็นผู้ประกอบการทุกระดับ ต้องทำให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน อีกปัญหาคือ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในช่วงวันมาฆบูชาสั้นลง นักท่องเที่ยวที่มาคุณภาพต่ำลง มีการแข่งขันการด้านราคา ถ้ามูลนิธิสามารถให้คำตอบด้านการท่องเที่ยวแก่ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็มาหาเรา ถ้าเราคิดตรงนี้ออก นี่คือ Product และ Project แล้วมันจะเป็นเงิน เราต้องเอาจุดแข็งคือชื่อมูลนิธิ (Integrated) บูรณาการทำให้เป็น One-stop Service Thai Research Education Center

3.3.7. นายวรวุฒิ โตมอญ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับหลายๆท่าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ การออกแบบของที่ระลึก ยังต้องการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกมาก ในอีก 2 ปีข้างหน้า อาจจะทำ Big Bang นำความรู้หลายๆ ด้านมา Integrate for favorite sector เช่น การพัฒนาบุคคลากรภาคบริการสุขภาพ การตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรองรับการรวมตัวของอาเซียน น่าจะทำได้เบื้องต้น มีห้องฝึกอบรมที่มีการจำลองสถานการณ์จริงมาฝึกปฏิบัติและพัฒนาด้านแนวคิดก่อน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถ้ามีทุนก็อาจลงลึกไปในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การขาดแคลนช่างอ๊อกมีฝีมือจำนวนมาก โดยเฉพาะช่างอ๊อกใต้น้ำที่ยังไม่มีใครสอน เป็นต้น

3.3.8. นายสยาม เศรษฐบุตร กรรมการ กล่าวว่า มูลนิธิที่เราตั้งขึ้นมา ต้องหางานเข้ามา ต้องการให้ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ช่วยมูลนิธิมากหน่อยโดยเฉพาะเป็นผู้นำในการหาทุน

3.3.9. นางโสทรินทร์ โชคคติวัฒน์ กรรมการ กล่าวว่าได้ทำงานกับม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุทมาระยะหนึ่ง โดยได้ประชุมตอนเป็นศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ก่อนที่จะเป็นมูลนิธิ และทราบว่า ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานและมีชื่อเสียง ท่านประธานก็เป็นคนที่เครดิตดี อย่างน้อยก็มีกำลังใจที่จะทำงานร่วมกันต่อไปได้ การพัฒนาด้านภาษาสำหรับมัคคุเทศก์สำคัญมาก ต้องมีการสร้างมาตรฐานผู้ประกอบการ เราก็ตั้งมาตรฐานมัคคุเทศก์ทำให้ได้ 100-200 คนต่อปี ศบม.น่าจะร่วมมือกับกรมท่องเที่ยวพัฒนาคุณภาพมัคคุเทศก์

3.3.10. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท กรรมการและเลขาธิการกล่าวว่า สิ่งที่เดินมาถึงวันนี้เป็นไปตามแผนที่ผมกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งคณะบุคคลศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ตั้งแต่ปี 2511 ช่วงปี 2513-2514 ดูเหมือนการขับเคลื่อน ศบม หยุดชะงักไป แต่ความจริงผมและคณะกรรมการหลายๆท่านยังขับเคลื่อนอยู่ แต่เป็นการขับเคลื่อนภายในกลุ่มย่อยๆ เน้นที่การสร้างเครือข่ายและดำเนินการจดทะเบียน ศบม ให้เป็นนิติบุคคล บัดนี้ ศบม เป็นมูลนิธิเรียบร้อยแล้ว การขับเคลื่อนต่อไปจะทำได้ง่ายขึ้น ผมไปสร้างเครือข่ายไว้ทั่วประเทศเหลือแต่การนำมาต่อเข้าด้วยกัน ทุกคนต้องเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เช่น ดร.วีรชัย วงศ์บุญสิน เป็นตัวอย่างที่ดี ที่เสนอเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ต้องเป็นประธานคณะทำงานในโครงการที่เสนอ (ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์) เพราะท่านเป็นผู้ที่อยู่วงในรู้ดีและเข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ท่านเป็นผู้ที่สามารถตอบคำถามว่าทำไม่จะต้องมาให้มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์เป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อท่านเป็นประธานท่านก็เป็นผู้กำกับให้คณะทำงานทำให้ได้ตามความต้องการ   ท่านสามารถแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิ ศบม สมาชิก ศบม หรือ เครื่องข่ายภายนอก หรือใครก็ตามเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน  ก็จะได้โครงการเป็น Sector สำหรับอาชีพอุตสาหกรรมยานยนต์

ตอนนี้งานที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะทำงานให้ได้

(1) คณะทำงานเปิดตัวมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ Big Bang

(2) คณะทำงานหาสมาชิกและเครื่องข่าย

(3) คณะทำงานหาทุน และสร้างกิจกรรม

เราต้องขับเคลื่อนที่กรรมการและสมาชิก สมาชิกไม่ต้องเสียเงินค่าสมัครและค่าบำรุง ตอนนี้งานที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องการหาสมาชิกและเครือข่าย ต้องมีหน่วยงานด้านไอทีเข้ามาให้การสนับสนุน เริ่มจากการมีฐานข้อมูลของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์เอง และสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของเครื่องข่าย และแหล่งความรู้ต่างๆ  ข้อมูลประวัติของสมาชิกและความต้องการในการเป็นสมาชิก เป็นผู้ให้ หรือผู้ต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ในช่วงการหาสมาชิกด้าน Suppliers (สมาชิกบุคคล) และสมาชิก Demand (สมาชิกองค์กร) ขอให้กรรมการทุกท่านแจ้งความจำนงว่าท่านสนใจเข้าร่วมอยู่ในคณะทำงานใดใน 3 คณะที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น ท่านสามารถเลือกอยู่ทั้งสามคณะ หรือคณะใดคณะหนึ่ง หรือไม่ต้องการอยู่ในคณะทำงานใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่มีเวลาหรือด้วยเหตุผลใด ก็ขอความกรุณาแจ้ง เมื่อได้ทราบความจำนงของแต่ละท่าน กรรมการที่อาสาเป็นคณะทำงานจะได้มีการประชุมเพื่อกำหนดแผนงานในแต่ละคณะพร้อมสรรหาทีมทำงานจากภายนอกเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน

สำหรับการหาทุนไม่ใช่หน้าที่ของประธานหาทุนคนเดียว ต้องมีทีมงานคิดว่าจะไปหาทุนจากแหล่งที่มีความต้องการสอดคล้องกับเรา อาจมีการใช้สื่อและให้เขาเข้ามาบริจาคเอง อีกทีมทำเรื่อง Product ตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงเป็นสมาชิกที่เป็น Demand ของภาคธุรกิจ เมื่อแผนออกมา เงินก็มา และเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องแบรนด์

สำหรับเรื่องที่มีผู้ถามว่าจะเกิดการสับสนหรือไม่ ระหว่างมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ในเบื้องต้นผมเข้าใจว่าไม่น่าจะสับสน โดยมูลนิธฺทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศเน้นด้านโครงการระหว่างประเทศ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ทำกิจกรรมที่เจาะจงและแตกต่างไปจากภารกิจเดิมๆที่มูลนิธิทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศทำอยู่ก่อนแล้ว  เช่นโครงการสำหรับภาคเอกชนและ SMEs อย่างไรก็ตามผมจะปรึกษาท่านประธาน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เพื่อกำหนดความชัดเจนและแจ้งให้ทุกท่านทราบ

วาระที่ 4 การสร้างเครือข่าย

รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล กรรมการและกรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันดูแลเรื่อง SRII ประเทศไทย คือ Service Research Innovation Institute เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2555 ได้ไปประชุมกับศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ที่ประเทศอินเดีย จากการไปครั้งนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม SRII Asia Summit มีหัวข้อคือ Service Innovation ซึ่งที่ประชุมกล่าวถึงการพัฒนาทุนมนุษย์หรือ Service Innovation ขณะนี้ประเทศไทยมีหน่วยงานตั้งขึ้นมาเป็น Service Research Innovation Institute Thailand Chapter ทุกปี การประชุม SRII จัดที่ซานฟรานซิสโก ตอนนี้แพร่ขยายมาที่อินเดียเป็นการประชุม SRII India ปลายเดือนมกราคม 2556 ก็จะมีการประชุม Leadership SRII ปลายเดือนมิถุนายน 2556 จะมีการประชุม SRII Europe Summit เดือนกันยายน 2556 จะเป็นการประชุม SRII Asia Summit ที่ประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2556 จะมีการประชุม SRII ที่ซานฟรานซิสโก เป้าหมาย Service Innovation คือการนำไอทีมาส่งเสริมการทำงานภาคบริการเพื่อช่วยให้ชาวโลกมีชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับประเทศไทยคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะมี Smart Government, Smart Community และ Smart Service คณะกรรมการอำนวยการนวัตกรรมบริการของประเทศไทยได้มีมติให้จัดประชุม SRII Asia Summit โดยมีหัวข้อ Smart Service Innovation คือหานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมบริการสำหรับภาคบริการด้านสุขภาพ การศึกษานอกโรงเรียน การท่องเที่ยวและเกษตร Service Innovation ต้องมีคุณสมบัติคือ Measurable (จับต้องได้) Affordable (ราคาไม่แพงจนเกินไป) Realistic และ Timely  การประชุม SRII Global Summit หารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆใน 4 Domains หรือมากกว่านั้น ตอนนี้คิดถึงมนุษย์พันธุ์ T คือจะเริ่มข้ามศาสตร์มากขึ้น ในการประชุม SRII Asia Summit ครั้งนี้จะมีประเด็นดังต่อไปนี้

-Tutorial เรื่อง Service Design, Service Engineering แม้เราพัฒนาคน เราก็ต้องมีข้อมูล จะมี Tutorial ของ Open Data, Open Platform และ Open Innovation มี Workshop และ Panel Discussion ทำให้คนตระหนักในความรู้ ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม ต้องมี Success Story เราต้องมากำหนดว่าเป็นเรื่องอะไรในภาคบริการด้านสุขภาพ เราก็กำหนดว่า ก่อนเกิดการประชุม SRII Asia Summit ประเทศไทยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม Special Interest Group เพื่อทำ Service Innovation ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ต้นน้ำอยู่ที่ Mindset ของคน

-Business Process ถ้าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะไม่ใช่ธรรมดา Business Process Service อยู่ในเรื่องคนต้องดูที่ Education Process จะเป็นความหมายของ Service Innovation ตัว Business Process จะทำให้เกิดภาคบริการเช่น การศึกษา การท่องเที่ยว และภาคเกษตรเพราะบริบทคนที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน ตอนนี้ Smart Farmer เป็นนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะทำ Smart Crop ได้

-Stakeholder Network เป็นการแก้ปัญหา  เราพัฒนาให้แล้วแต่ไม่มีเจ้าภาพรับต่อ เรื่องไอทีมีสิ่งสำคัญคือโจทย์และคน แล้วเงินจะตามมาเอง คนที่ทำเป็น Networking เรื่องภาคบริการด้านสุขภาพ จะเริ่มภายใน 6 เดือน หมื่นดวงใจโครงการในหลวงจะช่วยเราพัฒนาเครื่องมือตรวจรักษาหัวใจที่ไม่แพงให้สามารถตรวจและให้ความรู้แก่คน แล้เราจะไปบูรณาการอีกหลายเรื่อง ทำให้คนเรารู้ว่าเวลาเป็นโรคอะไร จะไปรักษาที่ไหนอย่างไร ต้องเลือกโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สามารถปรึกษาได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ก็จะมีคุณพงษ์พันธุ์เข้ามาประชุมเป็นบทเรียนที่ดีที่จะจับตาดูนักท่องเที่ยว ปรากฏว่าทำยากเพราะมีเรื่องร้องเรียน กำลังเปลี่ยนหัวข้อว่า 6 เดือนจะทำเรื่องอะไรให้เกิด Global Network และพัฒนาร่วมกัน นักท่องเที่ยวมาแล้วอุ่นใจ ทำให้คนท่องเที่ยวแล้วรู้สึกปลอดภัย ต้องมีข้อมูล หลายหน่วยงานต้องนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน เช่น ข้อมูลท่องเที่ยว โรงแรม สปา กระทรวงไอซีทีเป็นเข้าภาพได้ ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและฐานข้อมูล ในเรื่องการศึกษา ได้มีโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง Smart Farmer นี่คือนวัตกรรมให้กับเกษตรกร ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำอย่างไรให้เกษตรกรฉลาด วัดผลอย่างไร จะตรงกับยุทธศาสตร์ของประเทศเรื่องการยกระดับรายได้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีเงินเดือนอย่างน้อย 15,000 บาท เป็นความท้าทายเพราะนิสิตปริญญาตรีก็ได้เงินเดือน 15,000 บาท ตอนนี้เกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 58 ปี ลูกหลานเกษตรกรก็ไม่ต้องการเป็นเกษตรกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงพัฒนา Smart Farmer เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว กาเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเกษตรกร

เรื่อง Service Innovation ก็มีกระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพ เป็นการทำให้เป็น Connecting Government ทำให้ Internal Management ดีขึ้น จากการไปพบกับท่านรับมนตรีพร้อมศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ทำให้ทราบว่า ควรพัฒนาข้าราชการให้มี Mindset ที่ดี และมีความโปร่งใสเพราะเป็นผู้ให้บริการประชาชน น่าจะเป็น Product ของศบม.ได้

เรื่องบริการด้านสุขภาพและทั้งหมดจะมี Open Platform ในเรื่องการศึกษา เราไม่ได้มอง E-learning อย่างเดียว เรามอง content และ co-creation ของเครือข่ายคลังสมอง อยู่บ้านก็นำมาใช้ได้ ทำ platform อย่างไรให้ผู้มีประสบการณ์นำ content มาลงแล้วเกิดมูลค่าเพิ่ม

ควรจะนำสิ่งเหล่านี้มาร้อยเรียงให้เกิดแบรนด์ของศบม.เพราะมีเรื่อง Service Innovation คือการพัฒนาคน ทำให้เห็นผลภายใน 6-7 เดือน

วาระที่ 5 เรื่องทิศทางการดำเนินงานต่อไปของศบม.

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมการได้สรุปว่า การประชุมครั้งนี้ดีเพราะทุกคนมีสิทธิ์ออกความเห็น อย่างไรก็ตามในการบริหารจัดการให้ศบม.เข้มแข็งนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปต้องลงมือปฏิบัติด้วยไม่ใช่เน้นแค่ยุทธศาสตร์ ความสำเร็จคือคนที่จะขับเคลื่อนองค์กรนี้ วันนี้เรามีแต่คณะกรรมการ ตอนนี้ยังอันตรายที่จะตั้งคณะกรรมการหาทุนเพราะหาทุนได้ไม่ง่าย ทุกคนต้องร่วมมือกัน กิจกรรมกับการหาทุนต้องไปด้วยกัน ควรแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เมื่อมีอุปสรรค ก็ควรหารือกันในคณะอนุกรรมการ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ได้เปรียบตรงที่มีความมุ่งมั่นสูง การเป็นองค์กรใหม่ Supply ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้า ถ้าสนใจลูกค้าก็จะเดินไปได้ ถ้ามีความสำเร็จ โครงการนี้จะต่อยอด

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านและหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์

 

วาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ

ไม่มี

 

 

 

 

ผู้บันทึกการประชุม                                                                       ผู้ตรวจรายงานการประชุม

 

(น.ส.จิตรลดา ลียากาศ)                                                                              (นายทำนอง ดาศรี)

ผู้ช่วยเลขาธิการ                                                                                                กรรมการ

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์                                                       มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษ

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๙.คณะสี่สหายกินอาหารเยอรมัน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๓ มิ.ย. ๕๖ คณะสี่สหายนัดกันไปกินอาหารร้าน Bei Otto(www.beiotto.com)ซึ่งอยู่ในซอย ๒๐ ถนนสุขุมวิท  ตรงข้ามโรงแรม วินเซอร์  ที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ทำหน้าที่เสาะหา แถมไปชิมมาก่อน  โดยเลือกตามเกณฑ์ ๒ อย่าง คือ  (๑)เป็นอาหารต่างชาติที่อร่อยและไม่คุ้นเคยเกินไปนัก  ศ. ฉัตรทิพย์บอกว่า ท่านไม่เลือกอาหารฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น เพราะเราคุ้นกันดี(๒) สถานที่ดี ไม่จอแจ นั่งคุยได้

ปรึกษากันว่าคราวหน้าว่าจะเป็นอาหารสแกนดิเนเวีย  ต่อไปเป็นอาหารมองโกเลีย  อิสเรล  เม็กซิกัน  บาหลี  ที่เปิดขายตอนกลางวัน

คุยกันแล้ว ผมสัมผัสนิสัยรอบคอบ ประณีต ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  ท่านบอกว่า ท่านต้องใช้ความพยายามค้นหาทาง อินเทอร์เน็ต  เลือกแล้วไปดูร้าน ลองชิม  โดยต้องชวนคุณจรรยา ภรรยาของท่านไปช่วยชิมและให้ความเห็นด้วย  ผมได้ความคิดว่า คนที่ได้พัฒนานิสัยที่ดีแบบที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ปฏิบัติให้ผมดูเป็นตัวอย่าง โดยที่ท่านไม่รู้ตัว นี้ จะเป็นคนที่มีชีวิตที่ดี มีความสำเร็จในชีวิต

นี่คือส่วนหนึ่งของ “การศึกษา” ที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ

แค่สั่งอาหารก็สนุกแล้วโดยมีคุณเรียม พนักงานผู้ยิ้มแย้มแจ่มใสช่วยแนะนำอาหาร  เพราะพวกเราไม่รู้จัก  ผมรู้จักอย่างเดียวคือ ขาหมูเยอรมัน  และเมื่อผมเอ่ยชื่อขาหมูเยอรมัน ก็มีผลทำให้เราสั่งอาหารจานใหญ่ ที่มีขาหมูเยอรมันและไส้กรอกเยอรมันสารพัดชนิดสั่งมาจานเดียว กินกัน ๔ คน  และสั่ง Goulash soup ชนิด Goulash beef เข้มข้น  แกล้มเบียร์เยอรมัน ที่ ศ. วิชัย บุญแสง เลือกเบียร์ดำ ซึ่งกลิ่นหอมมาก

ตอนท้าย เราสั่งขนมหวานเยอรมัน ๒ อย่างตามคำแนะนำของคุณเรียม มาแบ่งกันกิน  อร่อยทั้งสองอย่าง แต่ผมลืมจดชื่อ

เราแสดงความยินดีกับ ศ. ฉัตรทิพย์ ที่ได้รับรางวัล Special Award of Excellence จาก Thai Ahom Development Council  ของรัฐบาลอัสสัม  ประเทศอินเดีย  โดยคนไทยอีกท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัล คือ รศ. เรณู วิชาศิลป์ซึ่งไปทำวิจัยที่อัสสัมมา 4-5 ครั้งศ. ฉัตรทิพย์ บอกว่าคนไทอาหมมี 2.5 ล้านคนจากประชากรอัสสัม  20 ล้าน  ลักษณะคนคล้ายคนในรัฐฉานเหนือ เวลานี้คนไทอาหมไม่ได้ใช้ภาษาไทในชีวิตประจำวัน ใช้ภาษาอินเดีย  ภาษาไทใช้เฉพาะในพิธีกรรม

ศ. ฉัตรทิพย์เล่าว่า ได้มีการค้นพบจารึกภาษาไทที่เก่ามาก  อาจถึง ๒ - ๓ พันปี เป็นภาษาจ้วง เขียนด้วยตัวอักษรจีน เขียนคำไทยจ้วง เป็นการค้นพบจารึกภาษาไทที่เก่าที่สุด

เนื่องจากคุยกันในร้านอาหารเยอรมัน  ผมจึงอวดขึ้นว่า ในวันเสาร์ที่ ๘ มิ.ย. ผมจะไปประเทศเยอรมัน  ศ. ดร. ฉัตรทิพย์จึงเอ่ยขึ้นบ้างว่า ท่านก็มีแผนจะไปเยอรมัน  อยากไปเยือนเมือง Koenigsbergซึ่งเป็นเมืองของImmanuel Kant แต่เวลานี้ชื่อ Kaliningrad และอยู่ในรัสเซีย  Kant เป็นนักปรัชญา อ่านประวัติของท่านในวิกิพีเดียแล้วผมคิดว่าท่านเชื่อใน ปัญญาปฏิบัติ  มากกว่าปัญญาโดยการคิดเหตุผล

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ กำลังเตรียมจัดทำหนังสือ เพื่อฉลองอายุครบ ๖ รอบ  ได้ต้นฉบับจากมิตรสหายและศิษย์  มาจัดทำหนังสือถึง ๙ เล่ม  และผมได้ร่วมเขียนเรื่อง มนุษยมิติและความเป็นชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่ง ได้รับการจัดให้เป็นเรื่องสุดท้ายในเล่มที่ ๙

ผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาเกียรติยศ เรื่อง"เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้เพื่อชาติ เพื่อ ชุมชน"  ในวันงานฉลอง ๗๒ ปี ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ วันที่ ๓๑ สิงหาคม๒๕๕๖


วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๕๖


 


หน้า 464 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8630477

facebook

Twitter


บทความเก่า