Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๘๗. เที่ยวทั่วไทย ให้ถึงธรรม

พิมพ์ PDF

กลับจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ พร้อมหนังสือหนึ่งถุงใหญ่   หนังสือธรรมะดีๆ ทั้งนั้น   เล่มหนึ่งน่าสนใจมาก ชื่อ เที่ยวทั่วไทย ให้ถึงธรรม เปิดพื้นที่ธรรมในหัวใจสำหรับผู้ปฏิบัติฯ มือใหม่   แนะนำ ๕๐ สถานปฏิบัติธรรมทั่วไทย

 

อ่านแล้วระลึกถึงช่วงที่ผมคิดไปเที่ยววัดอยู่ช่วงหนึ่ง อ่านได้ที่นี่ ผมเกิดความรู้สึกอ่อนใจ   ว่าวัดมีแต่เรื่องไสยศาสตร์ และพุทธพาณิชย์   หาวัดที่สอนธรรมะแท้ๆ ยากมาก   เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ชื่นใจ   ที่ได้เห็นการรวบรวมวัดและสถานปฏิบัติธรรม แนะนำแก่ผู้สนใจ แถมด้วยสถานที่ท่องเที่ยว   ในลักษณะแนะนำแก่คนรุ่นใหม่

 

จึงนำมาเผยแพร่   ด้วยความชื่นชมว่า หนังสือเล่มนี้เขียนสั้นๆ มีภาพและแผนที่ประกอบ ชวนอ่านมาก

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ม.ค. ๕๔

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๕๙๔. โรงมหรสพทางวิญญาณของผม

พิมพ์ PDF

เรากำลังร่วมกันยกโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ มาไว้ที่กรุงเทพ (www.bia.or.th)    พิธีเปิดตัวหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย. ๕๑ ทำให้ผมลองถามตัวเองว่า ผมมีโรงมหรสพทางวิญญาณส่วนตัวของผมเองไหม


ผมกล้าหาญตอบตัวเองว่ามี   และโรงมหรสพทางวิญญาณของผม มีลักษณะเป็น “โรงมหรสพเสมือน” (Virtual Theatre)    ไม่มีตัวตนให้จับต้องทางวัตถุ    แต่มีตัวตนจับต้องได้ในทางกิจกรรมหรือภารกิจ

เมื่อมารู้จัก KM ตัวตนที่ไม่เป็นวัตถุของโรงมหรสพทางวิญญาณของผม ก็ชัดขึ้น   มันเกิดขึ้นจากการ AAR ชีวิตประจำวัน   เอามาตีความหลากหลายมิติ  มิติหนึ่งคือในทางธรรม ทางการเรียนรู้เชิงจิตตปัญญา หรือจิตวิญญาณ   ซึ่งแน่นอน ตัวละครใน “โรงมหรสพ” มีมากมาย   เป็นมหรสพในชีวิตจริง มีตัวละครเป็นๆ โลดแล่นแสดงบทอย่างจริงจัง    โดยมีผมเป็นตัวแสดงตัวหนึ่ง

ผมพยายามเน้นมหรสพที่ให้ความรื่นเริงเบิกบานในธรรมารมณ์ เน้นโลกุตรธรรม   ไม่ใช่ในระดับโลกธรรม

จุดสำคัญคือความสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบานในชีวิต   ที่เป็น “ความสนุกสนานภายใน”   ที่สนุกแบบสงบ และยกระดับจิตใจ    มองอีกมุมหนึ่ง คล้ายเป็น “โรงพลศึกษา” หรือโรงฝึกซ้อม ทางจิตตปัญญา    โดยไม่ต้องสร้างอาคาร ไม่ต้องมีวัตถุ

ในความเป็นจริงโรงมหรสพนี้ไม่ได้ราบเรียบ   มันมีบทรบศึก บทรัก บทโศก ฯลฯ ตามความเป็นจริงของชีวิต   เป็นความท้าทายว่าผมจะฝึกฝนยกระดับธรรมารมณ์ผ่านสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ของชีวิต ได้อย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.ย. ๕๑

คุดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/211272

 

เทคนิคการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงาน (CoPs) ทางออนไลน์ใน GotoKnow

พิมพ์ PDF

เนื่องจากมีสมาขิกเก่าและใหม่และผู้สนใจที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกหลายท่านให้ความสนใจในโครงการนี้ ดิฉันจึงขอสรุปและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการนี้ดังต่อไปนี้นะคะ

GotoKnow คือ ชุมชนเสมือนและเป็นคลังความรู้ของคนทำงานทั้งในระดับบุคคลหรือองค์กรชุมชนที่เข้ามาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตในประเด็นความสนใจต่างๆ ด้วยการบันทึกข้อความ รูป ไฟล์ หรือ ลิงก์วิดีโอ ลงในสมุดบันทึกหรือบล็อกใน GotoKnow ค่ะ

สมาชิกของ GotoKnow สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ความสนใจและผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้ด้วยเครื่องมือที่สำคัญ 4 อย่างดังนี้ค่ะ

1. ระบบคำสำคัญของบันทึก

เพียงแค่ประชาสัมพันธ์ให้ใส่คำสำคัญเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงชุมชนได้แล้วค่ะ

2. ระบบการติดตาม

สมาชิกชุมชนจะไม่พลาดการติดตามบันทึกของสมาชิกท่านอื่นด้วยการกดติดตามค่ะ

3. ระบบแพลนเน็ตหรือรวมบล็อก *กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุง

4. ระบบชุมชน *กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุง

 

ความหมายของกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ

กลุ่มชนชนนักปฏิบัติ (Communities of Practice - CoPs) หรือที่ดิฉันขอเรียกเพื่อสร้างความเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น กลุ่มชุมชนคนทำงาน นั้นหมายถึง การรวมตัวของผู้ที่มีความสนใจเดียวกันมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกันอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ที่ช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการร่วมมือระหว่างกันค่ะ

ในด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า กลุ่มชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้เกิดการถ่ายทอดแนวปฏิบัติดีๆ (Best practices) ได้ไม่ยากค่ะ เพราะด้วยสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นข้ามสายงานและองค์กรที่เกิดขึ้นจากกลุ่มชุมชนนั่นเองค่ะ

ทาง GotoKnow จึงเข้ามาสนับสนุนการสร้างกลุ่มชุมชนอย่างเป็นทางการขึ้นค่ะ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยได้มีพื้นที่ของกลุ่มชุมชนและคลังความรู้ที่เกิดจากผู้คนที่รวมตัวกันข้ามสายงาน ข้ามหน่วยงาน หรือข้ามองค์กร มาร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งขึ้นใน GotoKnow ค่ะ

 

เทคนิคการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงาน

ที่ผ่านมา GotoKnow ได้สนับสนุนกลุ่มชุมชนคนทำงานไปแล้วจำนวน 9 ชุมชนค่ะ ได้แก่

 

  • ชุมชนวิทยากรกระบวนการ (Facilitators)
  • ชุมชนครูเพื่อศิษย์
  • ชุมชนพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R)
  • ชุมชนผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
  • ชุมชนสุขภาวะชุมชนหนองบัว
  • ชุมชนเยาวชนจิตอาสา
  • ชุมชนกิจกรรมบำบัด
  • ชุมชมองค์กรสุขภาวะและการสร้างพื้นที่แห่งความสุข
  • ชุมชนอาหารเพื่อสุขภาพ

 

ดิฉันได้ลองถอดบทเรียนของชุมชนเหล่านี้ออกมาเป็นเทคนิคต่างๆ ในการสร้างกลุ่มชุมชนทางออนไลน์ดังนี้นะคะ และหวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจในการเข้าร่วมโครงการสร้างกลุ่มชุมชนคนทำงานใน GotoKnow ในครั้งนี้ค่ะ

1. สร้างความเป็นตัวตนจริงๆ

ในหน้าโปรไฟล์ (Profile) ควรระบุความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของสมาชิก เช่น ชื่อ นามสกุล องค์กร รูปถ่ายจริง เป็นต้น เพราะผู้คนจะให้ความร่วมมือและความสนใจในเนื้อหาและชุมชนมากขึ้นหากสัมพันธภาพมีมากขึ้นซึ่งแสดงง่ายๆด้วยการให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะเปิดเผยตัวตนของบุคคลนั้นๆ ค่ะ

2. ดำเนินกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

สัมพันธภาพและความรู้จะงอกเงยขึ้นได้ด้วยกิจกรรมที่นำมาสู่การร่วมมือกันค่ะ เช่น ในทางพื้นที่จริงนั้นมีการจัดกิจกรรมเพื่อพบปะสังสรรค์หรือร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา หรือในทางออนไลน์มีการจัดกิจกรรมร่วมกันถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ผ่านรูปถ่าย หรือ บันทึกใน  GotoKnow ค่ะ

3. มีทีมกระตุ้นการร่วมมือสร้างกลุ่ม

กลุ่มชุมชนที่รวมตัวขึ้นมาจะต้องมีทีมหลักที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นในเกิดการร่วมมือในกิจกรรม มีการประชาสัมพันธ์ชุมชน และมีหน้าที่ในการอบรมให้สมาชิกในชุมชนได้รู้จักใช้เครื่องมือออนไลน์ของ  GotoKnow หรืออบรมทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ของชุมชนค่ะ ที่สำคัญคือทีมจะต้องมีใจรักการเขียนการอ่านนะคะ

4. ให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการให้รางวัลตอบแทน

ทีมหลักของชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในระดับต่างๆ กัน เช่น สมาชิกที่ร่วมกิจกรรมออนไลน์บ่อยที่สุด สมาชิกที่มีบันทึกมากที่สุด สมาชิกที่ต่อยอดความเห็นมากที่สุด เป็นต้นค่ะ และควรสนับสนุนกระตุ้นการร่วมมือนี้ด้วยรางวัลตอบแทนค่ะ ซึ่งอาจจะเป็นรางวัลที่สัมผัสได้และมีคุณค่าแก่ผู้ได้รับค่ะ ส่วนรางวัลการเป็นที่ยอมรับในชุมชนย่อยและชุมชนใหญ่ของ GotoKnow นั้นจะเห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วค่ะ

5. สร้างแบรนด์ของกลุ่มชุมชน

ชื่อเรียกชุมชน เป้าหมายการรวมตัว หรือวัตถุประสงค์ของชุมชน ที่ตอกย้ำอย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่ GotoKnow มีให้ เช่น การบันทึกความรู้หรือภาพกิจกรรม การอีเมลส่งตรงถึงสมาชิกแต่ละคน ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความเหนียวแน่นให้กลุุ่มชุมชนค่ะ

6. ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง

ทีมผู้นำชุมชนจะเป็นคนที่กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือของสมาชิกได้ดีที่สุดค่ะ ดังนั้นทีมผู้นำจะต้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแบบอย่างให้สมาชิกค่ะ เขียนบ้าง ไม่เขียนบ้าง ปล่อยปละละเลย จะทำให้สมาชิกหมดไฟในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์นะคะ

7. สกัดความรู้ให้เข้าใจง่าย

ในสังคมปัจจุบันนี้ ให้อะไรก็ไม่ดีเท่ากับการให้ความรู้สู่สังคมค่ะ คุณค่าของการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ของสมาชิกในชุมชนคือ การที่ความรู้ของเขาได้เกิดการผสมผสานความรู้กับผู้อื่นและเกิดเป็นชุดความรู้ที่เข้าใจง่ายเพื่อให้สังคมไทยได้มีความรู้ที่นำไปใช้ปฏิบัติได้จริงค่ะ การสกัดความรู้ที่ชุมชนถ่ายทอดออกมาจึงเป็นหน้าที่หนึ่งของทีมผู้นำชุมชนค่ะ

8. ต้อนรับสมาชิกใหม่

น้องใหม่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนต้องได้รับการต้อนรับและให้คำแนะนำอย่างดีค่ะ และมีกิจกรรมอบรมและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้เครื่องมือ GotoKnow  หรือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกันเป็นระยะๆ ค่ะ

9. สร้างชุมชนอย่างมีแบบแผน

ทีมผู้นำชุมชนอาจจะคิดไว้ก่อนหน้าแล้วว่า อยากให้เกิดเนื้อหาความรู้ในประเด็นใดบ้าง หรืออยากให้เกิดสมาชิกในสายงานอาชีพหรือความสนใจใด จะช่วยให้สร้างชุมชนได้อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเกิดชุดความรู้ที่มีแกนหลักของเนื้อหาครบถ้วนค่ะ

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541908
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๖. หนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๖ คุณใหญ่(นงนาท สนธิสุวรรณ) มอบหนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรผมเอากลับมาอ่านที่บ้าน อ่านแล้ววางไม่ลง และอ่านจบในเย็นวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นหนังสือแบบที่ผมชอบอ่านมาก  ให้ความรู้หลากหลายด้าน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก  ขอแสดงความขอบคุณคุณใหญ่ไว้ ณ ที่นี้

เนื่องจากเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวเก่าๆ เอ่ยชื่อคนที่เป็นบุคคลสำคัญสมัยก่อน ที่คนรุ่นเราไม่รู้จัก  คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ ได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายความไว้อย่างดีมาก  ช่วยให้การอ่านออกรส และเข้าใจบริบทของเรื่องราวมากขึ้น

ผมติดใจเรื่องราวตอนที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ  ในสมัย ร. ๗ ซึ่งราษฎรบ้านนอกไม่นิยมส่งลูกไปโรงเรียน  ต้องการให้ลูกอยู่ช่วยงานบ้าน  ทางการต้องหาวิธีชักจูง  ทำให้ผมรำลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตของตัวเอง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ผมอายุ ๑๕ ปี  เรียนชั้น ม. ๕  เริ่มช่วยงานธุรกิจโรงสีที่บ้านได้อย่างเข้มแข็ง  และพ่อแม่ตั้งใจให้เรียนจบแค่ ม.​๖  แล้วอยู่ช่วยงานบ้าน  แต่ครูพิเชษฐ์ บัวลอย ครูประจำชั้น ม. ๔ และ ม. ๕ แนะนำให้ส่งผมมาเรียนต่อ ม. ๖ ที่กรุงเทพ เพื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วจะได้สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้

พ่อให้ผมเลือกเอง บอกว่าถ้าอยู่ช่วยงานบ้านจะตั้งเงินเดือนให้ ๓,๐๐๐ บาท (เข้าใจว่าตอนนั้นจบปริญญาตรีเงินเดือน ๗๕๐ บาท)  โชคดีที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง ในเรื่องเงิน (และยังฟังไม่รู้เรื่องแม้ในปัจจุบัน)  และตัดสินใจเรียนต่อ  จนเริ่มรับราชการในปี ๒๕๑๑ ได้เงินเดือน ๒,๑๕๐ บาท

ผมได้เข้าใจสภาพที่การศึกษาภาคบังคับ เป็นตัวดึงเด็กออกจากการทำงานบ้าน  และคิดย้อนกลับเข้าตัวเองอีก  ว่าผมโชคดีจริงๆ ที่สภาพความจน และการสร้างตัวสร้างฐานะของพ่อแม่ บังคับให้ผมโดนใช้งานสารพัดด้าน อย่างที่ผู้คนในหมู่บ้านสงสารผม  และเป็นที่โจษจรรกันทั่วหมู่บ้าน ว่าแม่ของผม เป็นคนที่เข้มงวดกับลูกๆ มาก มาบัดนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่า สภาพเช่นนั้นเองได้หล่อหลอม ให้ผมมีนิสัยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  และน้องๆ ของผม ต่างก็มีชีวิตที่ดีกันทุกคน

คือผมและน้องๆ ตกอยู่ในสภาพที่ ทั้งเรียนจากโรงเรียน และเรียนจากที่บ้าน  จากการทำงาน สารพัดอย่างที่บ้าน เพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน  แต่เด็กสมัยนี้โชคไม่ดีอย่างผมและน้องๆ  เขาถูกจารีตทางการศึกษา หรือถูกกระแสสังคม ที่แยกการเรียนออกจากชีวิตจริง ทำให้เขาไม่ได้เรียนจากการช่วยงานบ้าน  หรือที่บ้านของเขาไม่มีงานให้ช่วยทำ เขาจึงขาดโอกาส “เรียนจากการลงมือทำ”

หนังสือ Who Owns the Learning?บอกว่า เด็กต้องเรียนจากการลงมือทำ  ทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิตและต่อตัวเด็ก  โดยการทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น  เพื่อฝึกนิสัยให้เป็นคนที่มีใจเผื่อแผ่ และมุ่งทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และ ต่อโลก

แต่สมัยผมเป็นเด็กผมก็ไม่เห็นคุณค่าของงานที่แม่มอบหมาย (และบังคับ) ให้ทำ  ผมทำด้วยความเบื่อ เพราะอยากไปเล่นอย่างเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน  เพิ่งมาเห็นคุณค่าเอาตอนแก่นี่แหละ  ว่าแม่ของผมเป็นคนล้ำสมัย โดยไม่รู้ตัว  จัดการฝึกลูกให้เรียนรู้โดยลงมือทำ โดยที่แม่ไม่มีความรู้ทางการศึกษาเลย เพราะแม่เรียนจบแค่ ป. ๔

ที่จริงแม่มีเจตนาฝึกลูกให้ทำมาหากินเป็น เอาตัวรอดในชีวิต  ไม่ได้เข้าใจเรื่องฝึก “ทักษะชีวิต” ใน 21st Century Skills อย่างที่พูดกันในปัจจุบัน  แต่ความมีเจตนาเรื่องการเรียนโดยฝึกทักษะเพื่อการทำมาหากินนั่นเอง  เป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตั้งแต่ยุคนั้น และยิ่งถูกต้องในยุคปัจจุบัน  คือเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  และพ่อแม่มีส่วนสำคัญ  แต่คนรุ่นหลังจากผมเกือบทั้งหมดไม่มีโชคที่จะได้รับการเรียนรู้แบบนี้จากบ้าน  รุ่นลูกของผมก็ไม่ได้รับ

ผมติดใจมาก ที่เสด็จในกรมฯ ท่านสนใจเรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ชอบเสด็จออกไปสัมผัสชีวิตของชาวบ้านโดยตรง  ไม่ใช่เอาแต่รอรับรายงานจากหน่วยงาน  ผมว่านี่คือตัวอย่างของการบริหารงานแบบเอาใจใส่ “ผู้รับบริการ”  พยายามทำความเข้าใจจากมุมมอง ของชาวบ้าน ที่เป็นผู้รับผลโดยตรง  ไม่ใช่คิดเอาเอง และสั่งการแบบ top down  จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วตีความมุมของการเรียนรู้ ผมคิดว่า เสด็จในกรมฯ ทรงมี empathy skills สูงมาก   ผมเดาว่า การเลี้ยงดูกล่อมเกลาโดยย่าของท่าน (ท้าววรจันทร์) น่าจะมีส่วนสร้างลักษณะนิสัยนี้

ในตอนท้ายของหนังสือ (หน้า ๒๗๙) ทรงเล่าเรื่องเสด็จไปประชุมที่เมือง แอนน์ อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.​๒๕๑๐  ทำให้ผมระลึกได้ว่า ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่ที่นั่น  และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าร่วมกับนักเรียนไทยที่นั่นจำนวนประมาณ ๕๐ คน  จำได้ว่า ท่านมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ใจดี  นักวิชาการที่เชิญท่านไปประชุมชื่อ ศาสตราจารย์ วิลเลียม เก็ดนีย์ จำได้ว่าท่านเสด็จไปที่บ้านศาสตราจารย์เก็ดนีย์ และพวกเราไปเฝ้าท่านที่นั่น   ท่านศาสตราจารย์เก็ดนีย์มีภรรยาเป็นคนไทย

อ่านจบก็เห็นสัจธรรมในชีวิตคน ว่ามีขึ้นมีลง  ทรงได้ทรงกรม และเป็นเสนาบดี ตั้งแต่อายุน้อย เพราะความสามารถ  แล้วก็ “ตกงาน” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  แต่ความที่ท่านเป็นข้าราชการฝ่ายบุ๋น ไม่มีอำนาจเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด  จึงไม่ถึงกับต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ  และความเป็นนักวิชาการของท่าน ก็ได้ช่วยให้ท่านได้ใช้ช่วงเวลา “ตกงาน” อยู่สิบกว่าปี สร้างสรรค์ผลงานเป็นอันมาก  ผมได้เรียนรู้ตัวอย่างบุคคลที่มี resilience ในการดำรงชีวิต

ผมรู้สึกว่า ทรงนิพนธ์หนังสือนี้แบบ “ยั้งมือ” คือไม่เขียนเรื่องที่จะกระทบคนอื่น  ซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระองค์ท่าน   แต่น่าเสียดายที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมไม่เขียนเรื่องราวที่ซับซ้อนไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  เนื่องจากเกรงกระทบคนอื่น

ผมเสียดาย ที่ทรงเล่าเรื่องการศึกษาน้อยเกินไป  มิฉนั้น ผมจะได้เอามาตีความทำความเข้าใจวิวัฒนาการ ของการศึกษาไทยได้มากกว่านี้  โดยที่เท่าที่ทรงเล่าว่า เริ่มเห็นข้อจำกัดของการศึกษาเพื่อสร้างคนไปรับราชการ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนระบอบการปกครอง  ทรงมีนโยบายส่งเสริมอาชีวศึกษา  แต่ผมเดาว่านโยบายนี้ไม่ต่อเนื่อง

แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดในเรื่องระบบการศึกษา และพระองค์ท่านก็ไม่ทรงเอ่ยถึง  คือการที่ระบบการศึกษาของเรา แยกตัวออกจากชีวิตจริงของเด็ก  มองการศึกษากับการช่วยงานพ่อแม่ เป็นเรื่องแยกกัน  หรือไม่มีบทเรียนที่ใช้ฐานการทำงานช่วยงานพ่อแม่ เป็นกิจกรรมเรียนรู้  แต่ตอนนี้ เราจะต้องเรียกเอาแนวคิดนี้กลับคืนมา  ครูจะต้องฝึกทักษะเป็นโค้ช ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำงาน หรือการลงมือทำในบริบทต่างๆ รวมทั้งการช่วยพ่อแม่ทำงาน เพื่อการทำมาหากิน  เรียนรู้ทฤษฎีให้รู้จริง จากการลงมือปฏิบัติหลากหลายบริบท  รวมทั้งบริบทช่วยงานพ่อแม่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541756

 

 

 

โครงการ DFC3 : ๒. วันแรก : เดินทาง เที่ยว และกิน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๖ ผมเข้าร่วมกิจกรรม DFC3 Orientation จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ

DFC ย่อมาจาก Dean for Change รุ่นนี้เป็นรุ่น ๓  จัดเพื่อเตรียมคนเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับคณบดี  ที่มีหัวใจ จิตใจ และทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง

จากการเข้าร่วมประชุมวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการหลักสูตรนี้เข้มข้น และมีคุณภาพสูงมาก  โดย keyword ของหลักสูตรคือ change, internationalization, และ collaboration  และในวันนี้มีการฝึกเทคนิค ๒ อย่าง เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมกันตลอดหลักสูตร  คือ storytelling และ gallery walk ผมได้คุยกับทีมของคลังสมองและทราบว่า ตอนไปดูงานที่เยอรมัน ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ มิ.ย. ๕๖จะใช้เครื่องมือ AAR ด้วย  โดยทำกันบนรถระหว่างเดินทาง   ทีมของสถาบันคลังสมองได้เตรียมข้อมูลไว้อย่างดี  ว่าการเดินทางช่วงต่างๆ ในเยอรมันมีเวลาเท่าไร  จะใช้ประโยชน์ของเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันโดยทำ AAR

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมี ๑๘ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยที่ส่งคนเข้าร่วมมากที่สุดคือ มข. ๓ คน  มาจากคณะวิทยาการจัดการคณะเดียว  มีวิทยากรเดินทางไปเยอรมันด้วย ๔ คน ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น

ในวันปฐมนิเทศนี้ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองได้เกรินนำขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ๘ ขั้นตอนของ Kotler  เป็นการเรียนทฤษฎีแบบเกริ่นนำ  ให้ไปค้นคว้าเองต่อ   แล้วไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ๗  แห่งในเยอรมัน  แล้วจึงกลับมาทำ “แบบฝึกหัด” ของตนเอง เรียกว่า PAP (Program Action Plan)  ตามด้วยการนัดหมายมารวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะมีรายการ Learn and Share ใช้เวลา ๕ วัน  เพื่อเรียนรู้ change module ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย รวม ๖ หน่วย  โดยจะมีรายการไปดูงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย  เป็นการเสริมความรู้เชิงทฤษฎี และตัวอย่าง  สำหรับให้ผู้เข้าหลักสูตรได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงใน PAP  รายการ PAP นี้ จะมีการทำงานต่อเนื่อง จนมี  Final Conference วันที่ ๙ - ๑๐ ม.ค. ๕๗

ผมมีความรู้สึกหลังฟังรายละเอียดของการเดินทางไป study visit ที่เยอรมันว่า  เป็นการเดินทางที่มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้นมาก  ในขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีทัศนศึกษา และมีเวลาให้ช็อปปิ้งด้วย  และที่พักที่กินก็ดีมาก คือได้เรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย

ต่อไปนี้เป็นบันทึกระหว่างเดินทางจริงๆ ที่ผมใช้ iPad Mini บันทึกเป็นระยะๆ


วันที่ ๘ - ๙ มิ.. ๕๖

เราเดินทางโดย TG 920 เครื่องบิน A380-800 ซึ่งมี ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งกับชั้นธุรกิจอยู่ชั้นบน  เวลาขึ้นเครื่องเดินเข้างวงก็แยกทางกัน  ทางไปชั้นบนก็ค่อยๆ ลาดขึ้น  ไม่ใช่เป็นสองชั้นแบบเครื่องบินจัมโบ้ โบอิ้ง 747  ผมเข้าใจว่า เครื่องบิน A380 ไม่มีบันไดติดต่อระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง  เดาว่าแยกขาดจากกัน

ชั้นธุรกิจจัดที่นั่งเป็นแถว 2-2-2 โดยมีที่นั่งริมหน้าต่างด้านละ ๒ ที่ เพราะจัดที่นั่งด้านริมหน้าต่างให้เหลื่อมกัน  แต่ละที่นั่งออกสู่ทางเดินได้เหมือนกัน  ดังนั้นวิธีเลือกที่นั่งจึงควรเลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า  เพราะออกไปเข้าห้องน้ำง่ายเหมือนนั่งที่นั่งตรงกลาง อย่าง 15F ที่ผมได้รับ  แต่ได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า คือไม่มีคนนั่งข้าง  รวมทั้งมีที่เก็บของข้างๆ ที่นั่งด้านในด้วย

ที่นั่งมีการออกแบบตำแหน่งระหว่างที่นั่งตัวหน้ากับตัวหลังให้สลับหรือเหลื่อมกัน  เพื่อให้ได้พื้นที่เหยียดขา  เมื่อปรับนอนก็จะราบ ดีกว่า A340 ที่ผมนั่งไปซูริกเมื่อเดือนที่แล้ว ที่เอนได้เพียงเกือบราบ  แต่อย่างไรก็ตาม ที่นอนมันแคบหน่อย คนตัวโตๆ ยังรู้สึกคับแคบ  คนที่นั่งข้างผมตัวโต ผมก็ตัวโต ต้องระมัดระวังไม่ไห้พลิกตัวไปโดนกัน

อาหารที่เลี้ยง (ตอนตีหนึ่ง) ก็คล้ายๆ กันกับของการบินไทยเที่ยวอื่นๆ  วันนี้ผมกินปลาปรุงแบบฝรั่งซึ่งผมไม่ได้จดชื่อไว้ อร่อยอย่างที่ไม่เคยกินมาก่อน  ไวน์แดงก็อร่อยอย่างเดิม  แต่ของหวานซึ่งเป็นชีสเค้ก ไม่อร่อย หวานเกินไป

ผมนอนแล้วตื่นขึ้นมาดื่มน้ำ เพราะคอแห้ง และไปถ่ายปัสสาวะ 3-4 ครั้ง รวมนอนได้ ๖ ชั่วโมง  แปลกมากที่เดินทางคราวนี้ผมคอแห้งมาก  สิ่งที่ต้องระวังคือ เบาหวานกำเริบ

เครื่องบินใหม่ เทคโนโลยีหลายอย่างก็ใหม่  เราได้เห็นความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชัดเจน  ในส่วนที่สัมผัสกับผู้โดยสาร และในส่วนที่เราไม่ได้สัมผัส  จอสื่อสารตรงหน้าที่นั่งใหญ่ หูฟังคุณภาพสูง เพลงเพราะ  และมีที่ชาร์จไฟด้วย UBS  และเสียบ iPhone หรือ thumb drive ของเรา ดูหนัง  ฟังเพลงได้  แต่ผมทดลองเสียบ thumb drive เพื่อดูหนังแล้ว ไม่เก่งอย่างที่คิด หรืออาจเพราะผมใช้ไม่เป็นก็ได้

เมื่อลงเครื่องบินที่แฟรงค์เฟิร์ต ต้องไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง  แล้วผ่านการตรวจความปลอดภัย  เครื่องตรวจของเยอรมันเขาละเอียดมาก  ขนาดผมเอาของออกจากตัวหมดแล้ว มันก็ยังร้อง  ต้องไปตรวจตัวอย่างละเอียด  และถอดรองเท้าตรวจอย่างละเอียดมาก  ในที่สุดก็พบจำเลย 2 อย่าง คือซิปกางเกง กับแปรงซอกฟันอันเล็กๆ ที่มีแกนเป็นเหล็ก

ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องมีของที่เป็นโลหะหลายอย่าง  เขารอเปิดตรวจ  เจ้าหน้าที่บอกให้ผมเปิด ผมตอบว่ายูเปิดก็ได้  เขายืนยันว่าผมต้องเป็นผู้เปิด  ซึ่งตรวจแล้วก็ผ่านด้วยดี

แต่ผมไปนึกขึ้นได้ตอนอยู่บนเครื่องบิน บินจากแฟรงค์เฟิร์ต ไปเบอร์ลิน ว่าผมลืมหยิบ MacBook Air มาด้วย  ทิ้งไว้บนสายพานตรวจนั่นเอง

สนามบิน แฟรงค์เฟิร์ต ผมคุ้น เพราะ transit บ่อยในปีก่อนๆ เพื่อไปเจนีวา  ดังบันทึกนี้ ในที่สุดผมไปถึง Gate A21 เพื่อขึ้นเครื่องบินไปเบอร์ลิน ก่อนคนอื่นๆ

บินชั่วโมงเดียว สายการบินลุฟท์ฮันซ่า เครื่อง Airbus A321 ผู้โดยสารเต็มลำ  ถึงเบอร์ลิน  คุณทานาส มิเชล ไกด์ของบริษัททัวร์ มารับ พาไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ ไปชม Charlottenburg Palace โดยมีไกด์เยอรมันอธิบาย  พาไปชมสวนก่อน  แล้วไปชมบางห้องของวัง  ซึ่งเริ่มต้นด้วยวังเล็กๆ เพื่ออยู่ส่วนตัว  แต่ในที่สุดก็ถูกใช้เป็นพระราชวังเพื่อแสดงอำนาจ  มีห้องที่สร้างให้โอ่อ่าอวดมั่งมีของ กษัตริย์ปรุสเซีย

ในสวนมีต้นไม้เมืองร้อนจำนวนหนึ่งปลูกในกระถางใหญ่ เช่นส้มจีน  ในฤดูหนาวต้องย้ายไปอยู่ในห้องกระจกปรับอุณหภูมิ  ไกด์บอกว่าต้นไม้เหล่านี้อายุ ๔๐​ปี เป็นคล้ายๆ บอนไซ ออกลูกด้วย

เรามีเวลาชั่วโมงเศษ สำหรับชมวังและสวน  ตอนเราไปถึงบริเวณลานหน้าวังก่อน ๑๐ น. ไม่มีคนเลย จนแปลกใจว่าเหมือนวังร้าง  แต่ตอนเข้าไปชมในวังก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นกลุ่มๆ มากมายขวักไขว่  และเมื่อออกมาที่ลานหน้าวังตอนขากลับ เวลา ๑๒ น. ก็ตกใจที่มีคนเต็มไปหมด

ผมขอให้คุณทานาสไกด์ ช่วยติดต่อสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ติดตามของหาย คือ MacBook Air  จากคำพูดของเขาทำให้ผมนึกได้ว่า หากไม่มีไกด์ช่วยเหลือ ขากลับผมสามารถไปสอบถามที่ สนง. Loss & Found ของสนามบินได้

กลับมาที่โรงแรม Streigenberger Berlin แล้วเดินไปดูลาดเลาถนนใหญ่ ที่สามารถเดินไปตลาดเพื่อ ช็อปปิ้งได้ สินค้าราคาไม่แพง  แล้วเดินกลับมากินอาหารที่ภัตตาคารใกล้ๆ โรงแรมชื่อ La Sepia  เป็นอาหารเยอรมัน ที่ใช้ได้ แต่อร่อยไม่เท่า Bei Otto ที่ผมเพิ่งไปกินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เมื่อผมเอ่ยว่าผมชอบรสอาหารของภัตตาคารเยอรมันที่สุขุมวิทซอย ๒๐ มากกว่า ศ. ดร. ศันสนีย์ไชยโรจน์ ก็เอ่ยชื่อ bei Otto และบอกว่าไปกินบ่อย เพราะอยู่ใกล้บ้าน

ที่จริงร้านอาหาร La Sepia เขาขึ้นป้ายว่าเขาเก่งด้านปลาย่าง  แต่ผมไม่ได้สังเกต  (มาสังเกตตอนเดินออกกำลังผ่านในเช้าวันรุ่งขึ้น)  ผมจึงไม่ได้สั่งปลา แต่สั่งเนื้อแกะ กินกับไวน์แดง  ซึ่งผมคิดว่าเป็นไวน์ธรรมดาๆ ไม่อร่อย  หลังจากนั้นผมจึงถือหลัก “มาเมืองเบียร์ต้องดื่มเบียร์”

ระหว่างกินอาหารผมถาม ผศ. ดร. ชลทิศ เอี่ยววรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศว ม. ศรีปทุม เรื่องบัณฑิตของมหาวิทยาลัยกับการหางาน  ท่านบอกว่าไม่มีปัญหา  เพราะมหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจใกล้ชิดมาก  เชิญเขามาออกแบบหลักสูตร และส่ง นศ. ไปฝึกงาน  เมื่อจบก็ได้งาน  โดยหลักสูตรของ ม. เอกชนเน้นปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี

ตอนเย็นก่อนออกไปนั่งเรือเที่ยว คุณทานาส ก็มาบอกข่าวดีว่าทางสนามบินเก็บ MacBook Air ไว้ให้แล้ว  เราตกลงกันว่า ไปรับวันกลับเลย

16.15 น. ล้อหมุน จากโรงแรมรถบัสคันเล็กนั่งได้ 22 คนพอดี พาเราไปที่ท่าเรือ  รอขึ้นเรือที่เหมาลำเฉพาะกลุ่มพวกเรา  พาล่องแม่น้ำ Spree ฟังเทปบรรยายอาคารสถานที่สองฝั่งแม่น้ำ  สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจคือมีที่พักผ่อนหย่อนใจสองฝั่งคลองมากมาย  และการสร้างอาคารที่ทำการของนายกรัฐมนตรีอาคารใหม่ออกแบบได้งดงามทันสมัย เป็นศิลปะยุคใหม่  และได้เห็นว่า ในยุคแบ่งเบอร์ลินเป็นฝั่งตะวันออกกับตะวันตกนั้น แม่น้ำกั้นเพียงแคบนิดเดียว

เมืองเบอร์ลินจึงมีทั้งส่วนที่เป็นเมืองเก่า และส่วนที่เป็นเมืองใหม่  ยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย  เห็นเครนก่อสร้างเต็มไปหมด

นั่งเรือกลับไปกลับมา ๑ ชั่วโมง กลับมาขึ้นท่าเดิม แล้วเดินไปที่อาคารรัฐสภาท่ามกลางสายฝนพรำ ผ่านบริเวณที่นั่งเรือผ่าน ได้เห็นวิวงามจากบนฝั่ง  ไปกินอาหารเย็นที่ภัตตาคาร Kaefer บนระเบียงของอาคารโดมของรัฐสภา  อาหารหลักเป็นปลา อร่อยทีเดียว แต่ก็ยังสู้ bei Otto ไม่ได้

กินอาหารเย็นเสร็จ เดินลงมาโดนฝนหนักกว่าขามา แต่ก็เดี๋ยวเดียว  กลับถึงโรงแรมนอนหลับเป็นตาย


วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541768
มีรูปสวยๆหลายรูปถ้าต้องการชมรูปโปรดเข้าไปที่ link ข้างบน

 


หน้า 467 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8630056

facebook

Twitter


บทความเก่า