Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนอย่างมือชั้นครู : ๙. ความซื่อสัตย์ในการเรียน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๙ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Courses มี ๕ บท ตอนที่ ๙ ตีความจากบทที่ 8. Preserving Academic Integrity

สรุปได้ว่า การโกงสอบ และการขโมยคัดลอกผลงาน มีมากดาษดื่นกว่าที่คิด โดยที่อาจารย์สามารถ มีส่วนสำคัญในการป้องกันการโกงและคัดลอก เพื่อวางรากฐานทางจริยธรรมให้แก่ศิษย์


พบการโกงบ่อยแค่ไหน

อ่านผลการวิจัยเรื่องการโกง และการขโมยคัดลอกผลงานแล้ว น่าตกใจว่า ในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน สองในสามของนักเรียน และนักศึกษา ยอมรับว่าตนเคยโกงการสอบ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตัวเลขของสิบปีที่แล้วคือ สามในสี่

ส่วนการขโมยคัดลอกผลงาน (plagiarism) มีประมาณร้อยละ ๑๐

ที่ผมชื่นชมคือ ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยเรื่องนี้มาก คือวงการศึกษาเขาเอาใจใส่


ใครโกง ทำไมจึงโกง

เขาบอกว่า เป็นเพราะกระแสสังคมพัดไปในทางทำให้เยาวชนคิดว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะกล้าโกง คนที่ไม่กล้าโกง จะไม่ประสบความสำเร็จ กระแสสังคมอเมริกา พัดไปในทางที่คนคิดถึง ตัวเองเป็นหลัก (เห็นแก่ตัวจัด) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เป็นต้นมา

เขาอ้างผลงานวิจัยว่า ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาโกงหรือไม่โกงคือ การรับรู้ (perception) หากนักศึกษา คิดว่า การโกงข้อสอบ เป็นเรื่องที่เพื่อนๆ ไม่ยอมรับ การโกงจะเกิดน้อยลง แต่ถ้านักศึกษารู้สึกว่าการโกง เป็นเรื่องที่ ใครๆ ก็ทำกัน การโกงจะเกิดมากขึ้น

การโกงจะเกิดมากขึ้น หากเปิดช่องให้ (เช่นไม่ตรวจสอบจริงจัง) และหากการลงโทษไม่ชัดเจนจริงจัง ดังนั้น การโกงจะเกิดบ่อยขึ้นตามขนาดของชั้นเรียน และในการสอบแบบปรนัย

ข่าวดีคือ อาจารย์มีส่วนช่วยเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ (perception) ต่อการโกงของนักศึกษาได้ โดยคอยเน้นคุณค่าของความซื่อสัตย์โดยทั่วไป และความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ท่าทีของอาจารย์ที่จริงจังต่อ การสอน และต่อการเรียนรู้รอบด้านของนักศึกษา จะมีผลให้นักศึกษาโกงน้อยลง

อาจารย์ที่เอาใจใส่ตรวจสอบไม่ให้นักศึกษาโกง สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก การตรวจสอบการขโมย คัดลอกงาน ก็ทำได้ไม่ยากโดยใช้ ซอฟท์แวร์ตรวจสอบความเหมือนของข้อความ


วิธีป้องกันการโกง

หนังสือเล่มนี้บอกวิธีป้องกันการโกงถึง ๓๕ วิธี ได้แก่ (๑) ส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียน เพื่อสอบ (๒) ทำความเข้าใจเรื่องการโกงทางวิชาการ และการขโมยคัดลอกงาน ยกตัวอย่างเรื่องจริงขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ (๓) ระบุข้อความเรื่องนโยบายของสถาบันเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์ ทางวิชาการในเอกสารรายวิชา และนำมากล่าวย้ำบ่อยๆ รวมทั้งเขียนนโยบายและมาตรการของตัวอาจารย์เอง พร้อมทั้งบอกให้ชัดเจนว่าหากตรวจพบ และมีหลักฐานชัดเจน จะลงโทษอย่างไร (๔) ผู้สอนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย หรืออาจารย์ที่อ่อนอาวุโส พึงเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะนักศึกษามักคิดว่า อาจารย์กลุ่มนี้มักไม่สนใจ หรือไม่จริงจัง

(๕) ออกข้อสอบใหม่ทุกครั้งที่สอบ (๖) เอาข้อสอบเก่า และการบ้านขึ้นเว็บ เพื่อให้นักศึกษาทุกคน เข้าถึงได้ (๗) ให้มีข้อสอบหลายชุด เรียงลำดับข้อต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสอบปรนัย เรื่องนี้ผมมี ความเห็นว่า หากเน้นการใช้ข้อสอบอัตตนัย ที่ไม่เน้นคำตอบถูกผิด แต่เน้นการคิดและการให้เหตุผล จะช่วยลดการลอกคำตอบได้มาก

(๘) ย้ำทุกครั้งที่สอบ ว่าความซื่อสัตย์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานักศึกษา สถาบันและ อาจารย์จึงต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ หากตรวจพบการโกง จะลงโทษอย่างจริงจัง (๙) พึงตระหนักว่านักศึกษา โดยทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาที่มีความประพฤติดี จะไม่ฟ้องครูเมื่อเห็นเพื่อนโกงการสอบ (๑๐) ในระหว่างสอบ จัดโต๊ะนั่งให้ห่าง และนำสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือออกไปไว้หน้าห้อง (๑๑) ในห้องสอบ กำหนดที่นั่งแก่นักศึกษา และให้เซ็นชื่อในตารางที่นั่งสอบ

(๑๒) มีกระดาษทดให้ หากนักศึกษาต้องการ อย่าให้นำกระดาษทดมาเอง (๑๓) เก็บเครื่องคิดเลข และเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก่อนแจกกระดาษข้อสอบ (๑๔) ข้อนี้ผมไม่เข้าใจ เขาบอกว่าถ้าใช้ blue book ให้เก็บจากนักศึกษาให้หมด แล้วแจกใหม่แบบสุ่ม คือไม่ให้นักศึกษาใช้ blue book ของตนเอง (๑๕) ทีมคุมสอบ ต้องทำงานอย่างระมัดระวัง และทำงานเป็นทีม ห้ามทำงานอื่นระหว่างคุมสอบ และเมื่อนักศึกษาถามคำถาม ให้ทีมคุมสอบคนเดียวเป็นผู้ตอบ

(๑๖) ตรวจสอบโพยคำตอบในที่ต่างๆ เช่นฝาโถส้วมในห้องน้ำ ที่ผิวหนังใกล้รูผุของกางเกงยีน ที่ตราขวดน้ำ ที่ด้านล่างของแก๊ปหมวก เป็นต้น (๑๗) เก็บกระดาษคำตอบจากนักศึกษาทีละคน เพื่อไม่ให้มีความอลหม่านช่วงส่งกระดาษคำตอบ (เปิดช่องให้โกง) (๑๘) ตอนตรวจข้อสอบ ทำเครื่องหมาย ที่คำตอบที่ถูก และเขียนคะแนนที่หน้าข้อ เพื่อให้รวมคะแนนง่าย (๑๙) ส่งกระดาษคำตอบคืนนักศึกษา เป็นรายคน ต่อตัวนักศึกษา หรือส่งทาง อินเทอร์เน็ต

(๒๐) เก็บกระดาษคำถามคืนจากนักศึกษาทุกคน หากการดาษคำถามแยกป็นคนละชุดกับกระดาษ คำตอบ ให้นักศึกษาลเขียนชื่อลงในกระดาษคำถามชุดของตนด้วย (๒๑) มอบชิ้นงานให้นักศึกษาเขียน คำตอบเป็นเรียงความที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง หรือสะท้อนการตรวจสอบตนเอง (๒๒) ระบุกติกา ในการทำงานร่วมกันของนักศึกษา ในชิ้นงานที่มอบให้ทำนอกห้องเรียน (๒๓) เปลี่ยนเอกสารชิ้นงาน ที่มอบหมายให้นักศึกษาฝึกทำ เพื่อป้องกันการคัดลอกจากผลงานของนักศึกษารุ่นก่อน

(๒๔) ใช้เวลาในห้องเรียน เพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาของชิ้นงานที่มอบหมายให้ทำ และวิธีแก้ไข (๒๕) ระบุรูปแบบของผลงานนำเสนอ และให้คะแนนส่วนนั้นบ้าง (๒๖) ระบุเงื่อนไขให้ใช้ความรู้ จากหลายแหล่งอ้างอิง เช่นจากตำราในหอสมุด จากเว็บ จากวีดิทัศน์ในแหล่งรวมในแคมปัส (๒๗) สอนนักศึกษาว่าเมื่อไรจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของความรู้ และวิธีอ้างอิง

(๒๘) เตือนนักศึกษาว่าอาจารย์จะใช้ ซอฟท์แวร์ตรวจสอบการขโมยหรือลอกเลียนผลงาน (๒๙) บอกให้ชัดเจนล่วงหน้า ว่าอาจารย์อาจสุ่มเลือกนักศึกษามาสอบปากเปล่า ว่านักศึกษาเข้าใจสาระในชิ้นงาน ที่ส่งอาจารย์แค่ไหน (๓๐) สำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ และใช้เวลานาน อาจารย์ต้องจัดประชุม สอบถาม ความก้าวหน้า และให้โอกาสนักศึกษาปรึกษา เพื่ออาจารย์จะได้ประเมินขีดความสามารถของนักศึกษาด้วย (๓๑) คอยให้คำแนะนำและประเมินผลงานของนักศึกษาเป็นระยะๆ โดยอาจให้เขียนรายงานความก้าวหน้า

(๓๒) กำหนดให้นักศึกษาส่งงานร่างแรก เพื่ออาจารย์จะได้ให้คำแนะนำป้อนกลับเสียแต่เนิ่นๆ (๓๓) กำหนดให้นัศึกษาต้องส่งสำเนาเอกสาร หรือเว็บ ที่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิง อย่างน้อยก็หน้าแรกของเอกสาร (๓๔) กำหนดให้นักศึกษาส่งผลงานพร้อมสำเนา ๑ ชุด สำหรับอาจารย์เก็บไว้ตรวจสอบ (๓๕) พยายามให้มีความชัดเจน ยุติธรรม โปร่งใส และจริงจัง ในเรื่องการตรวจและให้คะแนนชิ้นงาน

เมื่อสงสัยปัญหาความไม่ซื่อสัตย์ ให้จัดการทันที โดยตรวจสอบกติกาข้อบังคับให้แน่นอนแม่นยำ โดยอาจเลือก ๒ แนวทาง คืออาจารย์ลงโทษเอง (กรณีนี้จะไม่ลงบันทึกประวัติของนักศึกษา) หรือส่งรายงาน ให้ฝ่ายบริหารสอบสวนลงโทษ กรณีแรกทำได้เมื่อนักศึกษายอมรับโทษ ไม่ว่ากรณีใดควรปรึกษา หัวหน้าภาควิชาและ/หรือคณบดี

หนังสือบอกว่า ความไม่ซื่อสัตย์ในรายวิชา ออนไลน์ มีมากกว่ารายวิชาในห้องเรียน เพราะสถานการณ์ เปิดโอกาสให้มากกว่า การตอบข้อสอบ ออนไลน์ ให้คนอื่นทำแทนได้ง่ายมาก ยกเว้นที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ตอบ มีเว็บแคมบันทึกไว้ให้อาจารย์ดูว่าทำคนเดียวโดยตัวนักศึกษาเอง


กติกาแห่งเกียรติยศ

กติกาแห่งเกียรติยศมี ๓ แบบ คือกติกาของสถาบัน กติกาของสถาบันที่ทำร่วมกับนักศึกษา และมีนักศึกษาเป็นผู้ร่วมกันบังคับใช้และตรวจจับผู้ทำผิด กับกติกาของรายวิชาที่อาจารย์แต่ละคนกำหนด กติกาทุกแบบระบุให้นักศึกษาเซ็นรับรองในเอกสารคำตอบข้อสอบ หรือรายงานชิ้นงานทุกชิ้น ว่าตนได้ปฏิบัติตามกติกา อย่างเคร่งครัดแล้ว หากตรวจพบการละเมิด ยินยอมให้ลงโทษ

ผลการวิจัย (ในสหรัฐอเมริกา) บอกว่าการมีกติกาแห่งเกียรติยศแบบใดแบบหนึ่งช่วยลดการโกงลงไป อย่างน้อยหนึ่งในสี่ แต่มาตรการกำจัดการโกงในการเรียนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับการยอมรับการโกง ในสังคมโดยทั่วไปด้วย


เปลี่ยนค่านิยมของนักศึกษา

ผลงานวิจัยบอกว่า นักศึกษากลุ่มที่อายุน้อยมีแนวโน้มจะไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจเมื่อตนโกงการเรียน และคิดว่าตนเองมีจริยธรรมดี แม้จะโกงการเรียน คนเหล่านี้จะเป็นผู้ใหญ่ และเป็นผู้กำหนดกติกาและค่านิยม ของสังคมในอนาคต

อีกผลงานวิจัยหนึ่งบอกว่า นักศึกษาที่โกงการเรียน มีความเชื่อว่าไม่ผิด และมีความตั้งใจที่จะละเมิด หรือโกงกติกาในสังคมต่อไปอีก โดยที่คิดว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นสิ่งผิด

แต่ก็มีผลงานวิจัยอื่น ที่ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยยังมีหวัง ในการปลูกฝังค่านิยมไม่โกงให้แก่นักศึกษา เพราะเพียงร้อยละ ๒๔ ของนักศึกษาที่บอกว่า มีแผนจะโกงต่อไปในอนาคต อีกร้อยละ ๓๐ บอกว่ายังไม่แน่ใจ กลุ่มหลังนี้เอง ที่ให้ความหวัง

แต่ก็มีคนที่บอกว่าสามารถปลูกฝังค่านิยมไม่โกงให้แก่นักศึกษาได้ถึงร้อยละ ๖๐ โดยชี้ให้เห็นโทษของ การโกงจนเป็นนิสัย ทั้งต่อสังคม และต่อตนเอง ดังต่อไปนี้

  • การโกงทำให้นายจ้างคิดว่าคุณมีความรู้และทักษะ ที่จริงๆ แล้วคุณไม่มี เมื่อไปทำงาน ก็จะก่อความเสียหายมากมาย ต่อสังคม และต่อโลก
  • เมื่อคุณเรียนจบด้วยการโกง คุณก็ไม่มีความรู้ที่แท้จริง เมื่อไปทไงานและใช้ชีวิตผู้คนก็จับได้ ว่าไม่มีความรู้ตามปริญญาที่ระบุ ทำให้คุณค่าของปริญญาด้อยลงไป
  • การโกง ทำให้อาจารย์ขาดโอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้คุณปรับปรุงตนเอง
  • การโกงเป็นการเอาเปรียบเพื่อน
  • การโกงเป็นการละเมิดข้อตกลงทางสังคม ที่คุณให้ไว้แก่สถาบัน
  • การโกงการเรียน เป็นบ่อเกิดของการโกงหรือความไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องอื่นๆ ต่อไปในชีวิต เป็นเส้นทางทำลายอนาคตของตนเองในเรื่องต่างๆ
  • การโกงเป็นการปิดกั้นโอกาสเชี่ยวชาญหรือเป็นเลิศ

ผลการวิจัยบอกว่า นักศึกษากลุ่มที่ไม่โกง มีคุณสมบัติด้าน การให้เกียรติผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความกล้าหาญ และมีความซื่อสัตย์ สูงกว่านักศึกษากลุ่มที่โกง

ผมมีความเชื่อ จากประสบการณ์ตรงของผู้สูงอายุ ว่าความมั่นคงในความซื่อสัตย์และวิถีปฏิบัติ ตามหลักคุณธรรมจริยธรรม เป็นคุณต่อชีวิตที่ดีอย่างประมาณค่ามิได้ เด็กบ้านนอก ลูกชาวบ้านอย่างผม จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีในระดับนี้ได้เลย หากขาดความซื่อสัตย์ การเห็นแก่ส่วนรวม และการมุ่งทำประโยชน์ เพื่อผู้อื่น

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 08:45 น.
 

e-book เทคนิคกระบวนการ

พิมพ์ PDF

รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ นำเอาสาระจากบันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” ของผม ไปแยกเอาส่วนที่เป็นเทคนิคกระบวนการของ Active Learning นำไปทำเป็นหนังสือ ชื่อ “เทคนิคกระบวนการ : จากการประเมินสู่พัฒนาการเรียนรู้” ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.ค. ๕๗

สำหรับท่านที่ไม่สามารถกด link "ที่นี" ด้านบน ได้ โปรดเข้าไปที่ link :http://www.gotoknow.org/posts/576011 เพื่อเข้าไปกด link เข้าอ่าน e-book ได้

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

16 กันยายน 2557

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 08:30 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๔๓. เยี่ยมชื่นชมกิจกรรม Community Engagement ของ มทร. ศรีวิชัย

พิมพ์ PDF

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปบรรยายเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สงขลา จัดโดย มทร. ศรีวิชัย ช่วงเช้าบรรยาย ๓ ชั่วโมง ช่วงบ่ายท่านรองอธิการบดี รศ. มุกดา สุขสวัสดิ์ ชวนไปเยี่ยมชมกิจกรรม Community Engagement ของ มทร. ศรีวิชัย ที่ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โดย รศ. มุกดา ส่งกำหนดการให้ล่วงหน้าดังนี้


๑๒.๐๐น. ออกจากโรงแรม พาวิเลี่ยน บีชฯ

๑๒.๑๐ น. Site visit @ Songkhla knowledge park.


ลักษณะการชม จอดรถชมสถานที่ก่อสร้าง

โครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, เทศบาล

นครสงขลา, ปตท.สผ., กลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลา, และ TK Park ในการออกแบบอาคารอุทยานการ

เรียนรู้ที่มีลักษณะพิเศษคือมีฐานการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องากตัวอาคารสู่ย่านเมืองเก่าสงขลา ทำให้นักเรียนผู้ใช้อาคาร จะเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมของเมือง และเป็นการเรียนรู้จากพื้นที่จริง มิใช่พื้นที่เสมือนจริง

นอกจากนี้อาคาร Songkhla Knowledge Park แห่งนี้ยังถูกออกแบบผ่านการศึกษาวิจัยตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึง คุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม ภูมิปัญญา และความงาม ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนมีกระบวนการคิดด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


๑๒.๑๕ น. Songkhla Heritage Trust (ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม) และผ่านอาคารโรงสีแดง หับโห้หิ้น

กลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เป็นกลุ่มภาคประชาชนที่มีจิตสำนักในการรักบ้านเกิดเมืองนอน ได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์บนฐานวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองเก่าสงขลาในแนวทางอนุรักษ์ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ที่โรงสีแดงหับโห้หิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการ Renovate เป็นสำนักงานกลุ่มภาคีฯ


๑๒.๔๐ น. ออกเดินทางไปตำบลรำแดง

๑๓.๑๐ น. ถึงบ้านทักษิณาธาร ตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา รับประทานอาหารกลางวัน


ลักษณะการชม เดินชม และรับฟังการบรรยาย พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

เจ้าของพื้นที่ นายกอบตรำแดง คุณอุดม ทักขระ และคณะ

หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้วิถีโหนด นา ไผ่คน รำแดง เป็นการพัฒนาชุมชนแบบ Top down คือ นายกอุดม ทักขระ ได้ประสานงานมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อขอความอนุเคราะห์ด้านวิชาการ โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง อบต.รำแดง ชาวบ้าน นักวิจัย และนักวิชาการนอกมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาชุมชนออกเป็นฐานการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่บรรพบุรุษมีสู่รุ่นต่อๆไป ผ่านฐานเรียนรู้สี่ฐาน (ปัจจุบันเพิ่มเป็นเจ็ดฐาน)


๑๔.๐๐ นชมบ้านสบายเพื่อตายาย ที่สร้างจากแ่นผนังใบตาลจากผลงาน ฝีมือของชุมชนรำแดง


๑๔.๓๐ นชมฐานการเรียนรู้ บ้านใบตาล และฐานการเรียนรู้การเคี่ยวตาลบ้านตาเพียร


๑๕.๓๐ น. ออกเดินทางจากตำบลรำแดงไปสนามบินหาดใหญ่

ผมได้ไปเห็นการทำงานรับใช้สังคมของ มทร. ศรีวิชัยใน ๒ แบบ คือการทำงานกับเมืองเก่า คือเมืองสงขลา กับการทำงานกับชุมชนชนบท คือตำบลรำแดง ลักษณะการทำงานมีทั้งเหมือนกันและต่างกัน

ที่เหมือนกันคือ ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ ความรู้ด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ และทักษะใน การทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ส่วนที่ต่างกันคือ สภาพแวดล้อม ที่เรียกว่า บริบท และชีวิตผู้คน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หัวเรี่ยวหัวแรงทางวิชาการคือ ดร. จเร สุวรรณชาติ ที่เป็นสถาปนิก ที่มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน และมีจิตสาธารณะ และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ มีฐานวิชาการที่หนักแน่นแม่นยำ

ทั้งที่ตัวเขตเทศบาลนครสงขลา และที่รำแดงผมได้ไปเห็นการทำงานพลิกฟื้นความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งจากภาคการเมืองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน (ปตท. สผ.) และภาควิชาการ เข้ามาร่วมกันดำเนินการเพื่อชุมชนของตน เชื่อมโยงเข้าสู่เยาวชน

ที่ตัวเมืองสงขลา ผมได้เข้าไปชมโรงสีแดง หับโห้หิ้น และได้พบคุณรังษี รัตนปราการ (บุตรของคุณสุชาติ รัตนปราการ) ซึ่งเวลานี้ทำหน้าที่ นายกภาคีคนรักสงขลาสมาคม อย่างเข้มแข็ง

เที่ยงวันที่ ๘ สิงหาคม ผมเล่าเรื่องรำแดง และคลองแดน ให้ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ฟัง ในโต๊ะอาหาร คุณหมอชูชัย ศุภวงศ์ นั่งอยู่ด้วย จึงทราบว่าท่านกำลังจะไปเป็นประธานเปิดงานที่คลองแดนในสัปดาห์ถัดไป เราเห็นพ้องกันว่า ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในบ้านเมือง ให้สาธารณชน ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง ให้เห็นคุณค่าของการพัฒนาจากฐานล่าง หรือจากชุมชน

ผมได้เล่าเรื่องการสนทนากับท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดคลองแดน ให้วงอาหารเที่ยงฟัง ว่าผมกราบ เรียนถามท่านว่า ผลงานการฟื้นฟูชุมชนที่คลองแดน ที่ปรากฎนี้ บรรลุความมุ่งหมายของท่านครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไหม ท่านตอบว่า ได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผมถามต่อว่า ส่วนที่ไม่สำเร็จคือเรื่องอะไร ท่านตอบว่าคือเรื่องคน คือเมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น การทำมาหากินดีขึ้น เรื่องทางวัตถุดีขึ้น แต่จิตใจคนไม่ดีขึ้น ผมตีความว่าโลภ มากขึ้น จึงกราบเรียนท่านว่า เพราะเหตุนี้แหละ จึงต้องมีพระ

วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๗

รับชมภาพประกอบได้ที่ link : http://www.gotoknow.org/posts/576051

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 08:59 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2244. เรียนรู้เรื่องสมบัติพัสถานแห่งศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

ค่ำวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมฟังเรื่องราวของ Inspiring Scotland โดยคุณ Andrew Muirhead ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Inspiring Scotlandการพบปะพูดคุยกันนี้จัดโดย มูลนิธิเพื่อคนไทยคุยกันในวงผู้ได้รับเชิญ ไม่ถึง ๒๐ คน ประชุมกันแบบ working dinnerซึ่งตามปกติผมเลี่ยงเพราะตอนค่ำผมแบตหมดเนื่องจากตื่นขึ้นทำงานตั้งแต่เช้ามืดทำอย่างนี้มากว่า ๒๐ ปี จนเป็นนิสัย

นี่คือเทวดาดลใจให้ผมได้เปิดกระโหลกตนเองเพราะฟังแล้ว ความเข้าใจเรื่องเงิน และ “สมบัติ” ของผมเปลี่ยนไป

เงินและสมบัติ (assets) เป็นมากกว่าที่คิดมากกว่าทั้งสิ่งที่เป็น “สมบัติ”วิธีนำเอาสมบัติไปใช้และเป้าหมายของการใช้สมบัติ

ความริเริ่มสร้างสรรค์ในเรื่องนี้มีได้ไม่จำกัดโดยต้องการความกล้าแหวกแนวความสามารถ ในการจัดการความสามารถในการสื่อสารคุณค่าหรือความหมายของการประกอบการแบบใหม่และความสามารถในการทำงานแบบเครือข่าย (networking)

เป็นการนำเอาการเป็นผู้ประกอบการกับการทำเพื่อประโยชน์ของสังคมเข้ามา “แต่งงาน” กันอาจมองว่า เป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นขั้วตรงกันข้ามมาทำงานด้วยกันมีเป้าหมายทั้ง “กำไร” ที่เป็นเงินและกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

เป็นการนำเอาวิธีวิทยา (methodology) ของ venture capital หรือกลไกทางการเงินมาใช้ในการทำ ธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยต้องคิดเอาเอง ว่าประโยชน์ต่อสังคมในเรื่องนั้น เป็นอย่างไรบ้างจะทำความชัดเจน และสื่อสารคุณค่านั้นต่อสังคมอย่างไร และจะวัดผลกระทบต่อสังคมตามเป้าหมายอย่างไร ผมเข้าใจว่าคุณแอนดรูเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิธีวิทยา ในการสร้างสรรค์วิธีการทางการเงิน เพื่อประโยชน์ด้านที่ ไม่ใช่เงินของสังคมเพราะเวลานี้เขามาทำหน้าที่ ผู้บริหารของ AVPN มีสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์

ผมตีความว่า เวลานี้โลกมีเงินเหลือใช้มากและระบบการเงินโลกในปัจจุบันเงินมันไหลเร็วมีกลไกให้มันไหลไปทำกำไรที่เป็นเงินตรงไหนกำไรสูงสุดมันไปที่นั่นโดยไม่รับรู้ว่ากิจการที่มันไปหล่อเลี้ยง ก่อความเสียหายต่อสังคมอย่างไร เพราะเงินมันไม่มีความรู้สึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และคุณค่าต่อสังคม

กิจการของ Inspiring Scotland, AVPN และอื่นๆ อีกหลายกิจการ เป็นสิ่งที่เรียกว่า Venture Philantropy หรือ Social Ventureหรือ Social Enterprise หรือในความเข้าใจของผม หมายถึงการประกอบการ หรือการทำ ธุรกิจ ที่มีเป้าหมายกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยกิจการเหล่านี้จึงเท่ากับเป็นขบวนการ (movement) เพื่อเยียวยาโลกจากพิษร้ายของลัทธิทุนนิยมสุดโต่ง ที่ครองโลกอยู่ในเวลานี้

ผมไปเรียนรู้วิธีทำงานเพื่อเปลี่ยนสังคม จากทุนนิยมสุดโต่งเป็นทุนนิยมและการประกอบการ เพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างพอดีหรือสมดุล

คุณแอนดรูว์ เล่าว่าตอนที่ตนริเริ่ม Inspiring Scotland (IS) นั้น เป้าหมายทางสังคมในการทำงาน คือเยาวชนอายุ ๑๔ - ๑๙ ปี ใน สก็อตแลนด์ ที่มีสถิติการเสียคนร้อยละ ๑๕และอยู่ในสภาพกำลังเดินไปสู่ การเสียคน ร้อยละ ๒๐เยาวชนส่วนร้อยละ ๒๐ นี่แหละคือเป้าหมาย

ผมเข้าใจว่าคนที่เอาเงินมามอบให้ IS ลงทุนนั้นต้องการผลตอบแทนเป็นเงินในระดับที่ไม่ด้อยกว่าการ ฝากธนาคารแต่ที่เลือกเอาเงินมาลงที่นี่เพราะศรัทธาในเป้าหมายเพื่อสังคมเงินนั้น IS เอาไปสนับสนุนโครงการ ธุรกิจที่เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเสนอเข้ามาขอ “กู้” เงินตรงนี้ผมฟังไม่เข้าใจว่าผู้กู้จะต้องจ่ายเงินคืนอย่างไร เข้าใจ ว่ามีความซับซ้อนมากและเข้าใจว่ากฎหมายยกเว้นภาษีที่รัฐบาลอังกฤษออกมาสนับสนุน จะมีส่วนเกื้อกูลด้วย

แต่เงินเป็นเพียงส่วนย่อยพลังส่วนใหญ่เป็นพลังทางปัญญา ที่ “อาสาสมัคร” เข้ามาให้คำแนะนำ ปรึกษาทางธุรกิจ แก่เยาวชนที่สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกอบการจึงเห็นได้ว่า IS เป็น venture capital ที่ “capital” ส่วนใหญ่เป็น intellectual capital หรือ business know-how capital ไม่ใช่เงินเงินเป็นเพียงส่วนย่อย

สมบัติพัสถานที่แท้จริง มีมากกว่าเงินและวัตถุสิ่งของ

วิจารณ์ พานิช

๙ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 09:02 น.
 

คำนิยม หนังสือ “เลี้ยงให้รุ่ง”

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง - ความมุมานะ ความใฝ่รู้ และพลังแฝงของลักษณะนิสัย

วิจารณ์ พานิช

...............

นี่คือหนังสือชี้แนวทางเลี้ยงลูก และแนวทางจัดการศึกษาแก่เด็กเพื่อให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพภายใต้ผลการวิจัยที่ชี้ว่าทั้งความฉลาด (ไอคิว) หรือคุณสมบัติด้านปัญญา (Cognitive Capacity)และลักษณะนิสัย (Non-Cognitive Capacity) เป็นสิ่งที่ฝึกได้ และความสำเร็จในชีวิตคนเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาดเท่านั้นแต่ยังขึ้นกับลักษณะนิสัยด้วยโดยที่มีหลายผลงานวิจัยชี้ว่า “โลกทัศน์พรแสวง” (Development Paradigm) ช่วยจุดไฟความมุมานะ ความใฝ่รู้ และการฝึกฝนตนเองด้านลักษณะนิสัยและด้านสติปัญญาในขณะที่ “โลกทัศน์พรสวรรค์” (Fixed Paradigm) ก่อผลไปในทางตรงกันข้าม

ในเรื่อง “โลกทัศน์พรแสวง” นั้น ผู้แปลเรียกว่า “กลุ่มความคิดเติบโต”โดยอ้างถึงงานวิจัยของ แครอล ดเว็กซึ่งหมายความว่า สติปัญญา (ความฉลาด)ลักษณะนิสัยและชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เปลี่ยนแปลงได้โดยการฝึกฝนเรียนรู้ของตนเอง ส่วน “โลกทัศน์พรสวรรค์” ผู้แปลเรียกว่า “กลุ่มความคิดยึดติด” เป็นกลุ่มความคิดหรือโลกทัศน์ที่นำไปสู่ความท้อถอยขาดความมุมานะ ผมเขียนบันทึกเรื่อง โลกทัศน์พรสวรรค์ และ โลกทัศน์พรแสวงไว้โดยละเอียดที่ http://www.gotoknow.org/posts/549463

ผู้เขียน คือ พอล ทัฟ เขียนหนังสือเล่มนี้แบบ “ไตรสิกขา” คือค้นคว้าเรียนรู้จาก ๓ แหล่งได้แก่(๑) ไตร่ตรองทบทวนจากประสบการณ์ตรงของตนเอง(๒) ผลงานวิจัย และประวัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องและ (๓) เข้าไปสังเกตการณ์ตามโรงเรียน แล้วนำมาเขียนแบบเรื่องเล่า หรือนวนิยายเรื่องจริงที่มีตัวละครเอกเป็นตอนๆเป็นหนังสือที่มีชีวิตชีวาเดินเรื่องด้วย “เรื่องราว”ไม่ใช่ด้วยหลักทฤษฎีเป็นวิธีการเขียนแบบเปิดโอกาส ให้ผู้อ่านตีความจับหลักการเอง

พอล ทัฟ นำเรื่องราวความผิดพลาดของตนเองมาทำกระบวนการทบทวนไตร่ตรอง (reflection)เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเด็กหนุ่มอายุ ๑๘ ปีที่พื้นฐานสติปัญญาดีแต่หย่อนด้านลักษณะนิสัย ๕ ด้าน ที่ระบุในหนังสือ ได้แก่ สำนึกผิดชอบชั่วดีความมุมานะความหยุ่นตัวความไม่ย่อท้อและการมองโลกในแง่ดีเป็นตัวอย่างของ การเรียนรู้จากความผิดพลาดในชีวิตของตนเองและนำมาแบ่งปันแก่ผู้อ่านให้เห็นความผิดพลาดที่เกิดจากนิสัยไม่ดี ได้แก่ความเหลาะแหละความย่อท้อการวางแผนไม่ดี

ผมขอเพิ่มลักษณะนิสัยด้านที่ ๖ คือทักษะด้านการควบคุมตนเองให้สามารถรอคอย “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ได้ซึ่งที่จริงเรื่องราวของเควอนา เลอร์มาเด็กสาวผู้มีบาดแผล (ทางใจ) ฉกรรจ์ ในวัยเด็กแต่กลับพลิกเปลี่ยนชะตาจากหน้ามือเป็นหลังมือที่เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ชัดเจนมากในการพัฒนา ความสามารถบังคับใจตนเองให้อดทนรอคอยสิ่งที่ดีกว่าในชีวิตได้ ทฤษฎีเกี่ยวกับการรอคอยมาจากผลงาน วิจัยก้องโลก ที่เรียกกันว่า “การทดลองมาร์ชแมลโลว์” ของ วอลเตอร์ มิชเชล ซึ่งเป็นเรื่องของ “กระบวนการรู้คิด” หรือความยับยั้งชั่งใจหรือทักษะควบคุมบังคับใจตนเอง (Executive Function) ที่ผมเคยเขียนบันทึกออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่http://www.gotoknow.org/posts/463212 และที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=ef

ที่จริงหนังสือเล่มนี้เอ่ยถึงชุดลักษณะนิสัยที่ดีหลายชุด ที่ใช้ในสถานการณ์ต่างกันได้แก่ชุด “หลักความเป็นผู้นำ” ๕ ข้อได้แก่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความหยุ่นตัว ความทะเยอทะยาน ความเป็นมืออาชีพ และความซื่อสัตย์ชุด “ทักษะวิชาการทางพฤติกรรม”ได้แก่ ทักษะในการเรียนนิสัยการทำงานการบริหารเวลาพฤติกรรมขอความช่วยเหลือ และทักษะการแก้ปัญหาทางสังคมและวิชาการชุด “นิสัยที่ดีสำหรับวัยรุ่น”ได้แก่ ขยันกระตือรือร้นควบคุมตนเองได้มีแรงจูงใจไปสู่ความสำเร็จมีแรงผลักดันสู่เป้าหมาย ชุด “คุณสมบัติเด่นเจ็ดข้อที่จะนำไปสู่ความพึงพอใจและความสำเร็จ ในชีวิต”ได้แก่ความมุมานะการควบคุมตนเองความกระตือรือร้นการเข้าสังคมความกตัญญูการมองโลกในแง่ดีความสงสัยใคร่รู้ชุด“ความแข็งแกร่งของลักษณะนิสัย”ได้แก่สำนึกผิดชอบชั่วดีความรับผิดชอบความมีระเบียบการไม่เพ้อฝันความมุ่งมั่นและ ความขยันหมั่นเพียร ชุด “บุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ”ได้แก่ความสุภาพอ่อนโยนการเข้ากับคนง่ายความมั่นคงทางอารมณ์การเปิดรับประสบการณ์และ สำนึกผิดชอบชั่วดีชุด “เครื่องมือสู่ความสำเร็จ”ได้แก่ แรงจูงใจ และ ความมุ่งมั่นชุด “ความแข็งแกร่งของลักษณะนิสัย” ๒๔ ข้อ ของ เซลิกแมน และ ปีเตอร์สันเช่น ความกล้าหาญความเป็นพลเมืองดีความยุติธรรมความเฉลียวฉลาดความซื่อสัตย์ความรักอารมณ์ขันความกระตือรือร้นสุนทรียภาพความสามารถในการเข้าสังคมความเมตตาความกตัญญู เป็นต้น

ผู้นำในการคัดค้าน สมมติฐานทางปัญญา (Cognitive Hypothesis) ต่อความสำเร็จในชีวิตระยะยาว ของบุคคลและชักจูงให้หันมาเน้นการปูพื้นฐานพัฒนาลักษณะนิสัย (Character) ให้แก่เด็ก ได้แก่ เจมส์ เฮ็คแมน (James Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้หันมาทำงานวิจัยทางการศึกษาและพิสูจน์ให้เห็นว่า ความสำเร็จในการเรียนวิชาความรู้ตอนเรียนหนังสือ ไม่เพียงพอต่อความสำเร็จในชีวิตระยะยาว

หนังสือเล่มนี้ สื่อความสำคัญของปัจจัยพื้นฐาน ๒ ประการด้านลักษณะนิสัย ต่อความสุข ความสำเร็จในชีวิตระยะยาว ของบุคคล ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วคือการปูพื้นฐานทักษะด้านลักษณะนิสัยและ ปัจจัยประการที่สอง คือการสร้างความเข้มแข็งของระบบสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่าแกน HPA (Hypothalamus – Pituitary – Adrenal) ไม่ให้หลั่งสารความเครียดออกมามากเกิน และทำลายพัฒนาการของลักษณะนิสัยการสร้างความเข้มแข็งของแกน HPA นี้ทำโดยแม่ (และคนในครอบครัว) ให้ความรักความอบอุ่น ในยามที่เด็ก ในวัยทารกและวัยเด็กเล็กเผชิญความเครียดตามแนว “การเลียและจัดแต่งขนของแม่หนู” ซึ่งมนุษย์ทำโดย การกอดรัดและปลอบโยนซึ่งจะช่วยพัฒนา “ความรู้สึกมั่นคงในสัมพันธภาพ” ทำให้เด็กเล็กมี “ความผูกพัน” (Attachment) ที่แข็งแรงและแกน HPA เข้มแข็ง

ความรู้เรื่องแกน HPA และความผูกพัน ได้จากการวิจัยในหนูและในคนการวิจัยในหนูทำให้ทราบว่าในลูกหนูที่แม่เลียน้อย (ความผูกพันต่ำ)กับลูกหนูที่แม่เลียบ่อย (ความผูกพันสูง)มีการปิดเปิดสวิตช์ของยีนใน Hypothalamus แตกต่างกันและสภาพเช่นนี้จะจารึกไปตลอดชีวิต เท่ากับว่าหนูที่ความผูกพันต่ำแกน HPA จะอ่อนแอไป ตลอดชีวิตนักวิทยาศาสตร์ทางสมองมีหลักฐานว่าสมองหนูกับสมองคนมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องแกน HPA และความผูกพัน รวมทั้งผลการวิจัยผ่าตัดสมองคนที่ฆ่าตัวตายโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีเหตุสะเทือนใจในวัยเด็ก กับกลุ่มที่ไม่มีนำเนื้อสมองมาตรวจหาการเปิดปิด สวิตช์ยีนใน ไฮโปธาลามัสและพบว่ากลุ่มที่เผชิญเหตุสะเทือนใจในวัยเด็ก สวิตช์ของยีนควบคุม HPA ถูกปิดทำให้แกน HPA อ่อนแอ

ความแข็งแรงของแกน HPA ทำให้คนเราอดทนต่อความเครียดโดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดความ ประพฤติชั่วแล่น (Impulsive Behavior)ซึ่งจะรุนแรงในชีวิต ๒ ช่วง คือวัยเด็กเล็กกับวัยรุ่นช่วงที่จะก่อ บาดแผลรุนแรงแก่ชีวิตคือช่วงวัยรุ่น

ผลงานวิจัยบอกว่าเวลานี้ในประเทศไทย เด็กที่ไม่ได้เลี้ยงโดยพ่อแม่มีถึงกว่าหนึ่งในสามและมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเป็นสภาพที่เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูแบบขาด “ความผูกพัน” แสดงออกที่ปัญหาความประพฤติ ของวัยรุ่นที่ติดยา ติดเกม ตั้งครรภ์ และอื่นๆความรู้ที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเดินเรื่องด้วยตัวละคร สถานที่ และเรื่องราวในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ไทยได้อย่างแน่นอน

เลี้ยงให้รุ่ง ต้องเลี้ยงให้ได้รับความรักความผูกพัน เพื่อวางรากฐานความเข้มแข็งของสมองส่วนกำกับ ลักษณะนิสัยซึ่งส่วนหนึ่งคือแกน HPA และการเลี้ยงดูและการศึกษาต้องปลูกฝังฝึกฝนลักษณะนิสัยควบคู่ไปกับการเรียนวิชาโดยยึดถือแนวทางหรือความเชื่อว่าทั้งสติปัญญา ลักษณะนิสัย และชะตาชีวิต เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองอดทนต่อความยากลำบากในปัจจุบันเพื่อชีวิตที่ดีในภายหน้า

ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์ openworlds ที่จัดแปลและพิมพ์หนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง - ความมุมานะ ความใฝ่รู้ และพลังแฝงของลักษณะนิสัย อันทรงคุณค่าเล่มนี้ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย

วิจารณ์ พานิช

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 09:09 น.
 


หน้า 322 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8632183

facebook

Twitter


บทความเก่า