Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

KM วันละคำ : ๖๓๔. KM สู่การประยุกต์ใช้

พิมพ์ PDF

KM วันละคำ : ๖๓๔. KM สู่การประยุกต์ใช้

สถาบันพระบรมราชชนกเชิญผมไปพูดเรื่อง KM สู่การประยุกต์ใช้ ในงานประชุมวิชาการสถาบันพระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ จึงนำ narrate ppt มา ลปรร. ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 03 กันยายน 2014 เวลา 22:49 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๓. รับใช้สถาบันอันเป็นที่รัก

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ จับความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่

วิจารณ์ พานิช

...................

การวิจัยเป็นการสร้างความรู้ การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จึงเป้นการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่ แต่งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ของ สกว. มีลักษณะพิเศษตรงที่มีคนในพื้นที่นั้นเองเป็นผู้มีบทบาทในการทำวิจัย ในลักษณะที่ “ผู้ใช้ผลงานวิจัยเป็นผู้ทำวิจัย” การวิจัยแบบนี้จึงไม่มีวันเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะผู้ใช้ผลงานวิจัย ที่เข้าร่วมจะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และจะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทันทีที่เห็นโอกาส โดยไม่รอ ให้งานวิจัยเสร็จสิ้น

หนังสือเล่มนี้เขียนในลักษณะที่ไม่เน้นความเป็นรายงานวิจัยหรือวิชาการ เน้นให้ง่านง่าย เพื่อให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ข้อความในหนังสือรวม ๑๒ บท คือบทของแต่ละจังหวัดรวม ๘ จังหวัด บทนำ บทส่งท้าย และบทพิเศษอีก ๒ บท รวมเป็น ๑๒ บท ให้ภาพการสังเคราะห์ผลงานวิจัย ชี้ให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เห็นผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ อย่างชัดเจน

อ่านแล้วทำให้ผมเข้าใจภาพรวมของแต่ละพื้นที่ ที่ผมไม่เคยเข้าใจมาก่อน เอาไปเล่าให้คนที่เป็น ผู้เคยมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ก็พบว่าเขาไม่เคยทราบมาก่อน เช่นคนกรุงเทพที่บ้านเดิมเป็นคนสุราษฎร์ธานี ไม่เคยทราบว่าที่สุราษฎร์ธานีมีปัญหาจากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ไม่เคยทราบว่ามีคนถึง ๓ แสนคนเป็น ประชากรแฝง เขาทราบว่าที่เกาะสมุยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคนภายนอกเข้าไปทำงานมาก เขาไม่เคยรู้ว่า มีการแย่งชิงพื้นที่ในอ่าวบ้านดอนเพื่อทำฟาร์มหอย ผมเองรู้ว่าการแย่งชิงทรัพยากรจะเป็นปัญหาหลักของสังคม ไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็ได้มาเรียนรู้ของจริง เมื่อได้อ่านเอกสารนี้

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ แบบนี้ มีประโยชน์ต่อพื้นที่ในภาพรวมอย่างแน่นอน ผมจึงฝันเห็นภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกับภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาเป็นเจ้าของ และริเริ่ม โครงการวิจัยแบบนี้ โดยไม่รอทรัพยากรคือทุนวิจัยจาก สกว. เพราะเวลานี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่มีทรัพยากรเพื่อการนี้อยู่แล้ว และเพราะ สกว. มีทรัพยากร โดยเฉพาะเงิน จำกัด

เมื่อท้องถิ่นเข้ามาริเริ่มโครงการวิจัย และลงทุนวิจัยเอง สิ่งที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่” ก็จะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง สังคมไทยจะได้เห็นตัวอย่างงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ที่ดำเนินการโดยพื้นที่ เพื่อพื้นที่ ไม่ใช่ดำเนินการโดย สกว. เพื่อพื้นที่

ผมเชื่อว่า ในกรณีเช่นนี้ สกว. จะสามารถร่วมเรียนรู้และรวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ออกมา เป็นหนังสือจับความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยพื้นที่ ต่อยอดจากหนังสือเล่มนี้ อันจะเป็นเส้นทาง สู่การพัฒนาประเทศไทยสู่ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่มีการเรียนรู้ และสร้างความรู้ขึ้นใช้งาน ในทุก กิจกรรมในสังคม อันจะเป็นเส้นทางสู่การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง นำพาประเทศไทย สู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อ สกว. และต่อคุณ ตปากร พุธเกส ที่จัดทำหนังสือที่ทรงพลังเล่มนี้ ที่ช่วยส่องทางให้สังคมไทยเห็นโอกาสและลู่ทางที่ท้าทาย และมีความหมายต่ออนาคตของประเทศ เพื่อเดินทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นการพัฒนาบนฐานความรู้ที่ร่วมกันสร้างเองในการประกอบสัมมาชีพ และในการประกอบกิจการทุกด้าน

วิจารณ์ พานิช

อดีตผู้อำนวยการ สกว. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:03 น.
 

เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๓. การประชุมวันแรก ๒๑ ก.ค. ๕๗

พิมพ์ PDF

การประชุม 2014 International Engagement Australia Conference ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt (CSU) เมือง Wagga Wagga, NSW, Australia วันแรก ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ไม่เข้มข้นมากนัก เขาบอกว่า การประชุมมีเป้าหมายทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการ (sharing) และเพื่อให้คนที่มาประชุมได้รู้จักกัน (connection/networking)

เริ่มต้นเวลา ๑๑.๐๐ น. ด้วย workshop 3 ห้องพร้อมกัน ให้ผู้เข้าประชุมเลือกเข้าตามความสนใจ ตามหัวเรื่องและวิทยากร คือ (1) Collaborative Networks, Professor Robyn Keast, Southern Cross University (2) Community-based Research, Dr. Kerry Strand, Hood University, USA (3) Knowledge Translation model, Dr. Tamika Heiden, Knowledge Translation Australia

ที่จริงหัวข้อน่าสนใจทั้ง ๓ เรื่อง และ ศ. ดร. ปิยะวัติ บอกว่า Dr. Kerry Strand เขียนหนังสือชื่อCommunity-based Research and Higher Education เสนอทฤษฎีน่าสนใจมาก ผมจึงไม่เข้าห้องที่สอง คิดว่าไปหาอ่านหนังสือเอาทีหลังได้

ผมติดใจหน่วยงาน ชื่อ Knowledge Translation Australia (www.ktaustralia.com) และสนใจว่า วงการ Community Engagement เอา KT มาใช้งานอย่างไรบ้าง จึงเลือกเข้าห้องที่ ๓ ซึ่งเข้าใจว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยที่สุด ไม่ถึง ๒๐ คน เขาจัดห้องประชุมเป็นแบบโต๊ะจีน พอเห็นวิธีจัดที่นั่ง เราก็รู้ทันทีว่า ต้องการให้คนที่มาประชุม รู้จักและคุยกัน ซึ่งช่วยให้ผมได้เข้าใจหลักการอย่างหนึ่งของการทำงานพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ว่าฝ่ายคนมหาวิทยาลัยต้องมีความหลงใหล (passion) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง นี่คือคำของ Assoc. Prof. Subramanyam Vemulpad จากมหาวิทยาลัย Macquarie ที่ซิดนีย์ ที่ passion ของเขาคือ bush medicine ความเข้มแข็ง และการทำงานวิชาการต่อเนื่องเรื่องยาสมุนไพร นำไปเชื่อมโยงกับชุมชนคนพื้นเมือง ที่มีทั้งความรู้ ภาคปฏิบัติด้านสมุนไพร และมีความต้องการพัฒนาชุมชนของตน เกิดความร่วมมือที่ชุมชนกำหนด ความต้องการเอง และ Macquarie ยังดำเนินการเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงไปทั่วประเทศออสเตรเลีย และเชื่อมไปยังประเทศอินเดียด้วย เพราะ อ. Subramanyam มีพื้นเพเป็นคนอินเดีย

สุพราหมณ์ ใช้ความหลงใหลวิชาการของตน เป็นเครืองมือทำงานรับใช้สังคม ขยายเครือข่ายออกไป ผมได้แนะนำให้เขารู้จักกับ ดร. นงเยาว์ เพื่อเชื่อมโยงกับอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยที่มีความหลงใหลตรงกัน ชีวิตคนเรา หากได้มีโอกาสหลงใหลสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม/ผู้อื่น และมีเพื่อน/เครือข่าย ทำกิจกรรมนั้น ถือเป็นบุญของชีวิต

ผมได้เรียนรู้ว่า เรื่อง KT มีที่มาจากวงการสุขภาพ ต้นตอมาจากประเทศแคนาดา เป็นการตั้งชื่อและ ทำให้มีทฤษฎี สำหรับการทำงานวิชาการ “ขาลง” หรือประยุกต์ ดังปรากฎในเว็บไซต์ของ KT Australia ที่นี่

ตอนบ่ายเป็นรายการประชุมแบบ World Café ในหัวข้อ How can we unlock universities as catalysts for innovation and sustainability in communities? ทำให้ผมได้ประสบการณ์เทคนิคการประชุมแบบ World Café เป็นครั้งแรก หลังจากได้ยินชื่อมานาน ข้อดีคือทำให้คนรู้จักกัน และได้รับฟังข้อคิดเห็นของกัน และกัน รวมทั้งได้ข้อสรุปดีๆ เก็บเอาไว้ใช้

ตอนค่ำเป็น Welcome reception จัดที่ Winery ของมหาวิทยาลัย CSU เราได้รู้ว่า CSU มีหลักสูตรสอนเรื่อง ไวน์ อย่างครบวงจร คือ Bachelor of Viticulture (วิชาปลูกองุ่น), Master of Viticulture and Oenology (วิชาปลูกต้นองุ่นและทำไวน์), Bachelor of Wine Business, และ Bachelor of Wine Science ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ต้องทำให้การทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น เป็นวิชาการ และจัดอุดมศึกษาเพื่อการมีชีวิตที่ดีในท้องถิ่นนั้นๆ ความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อท้องถิ่นอยู่ที่การทำงานวิชาการที่ engage กับชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง

community engagement ด้านการเรียนการสอนที่สำคัญ คือการเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับการทำมาหากิน ของคนในพื้นที่นั้นๆ

งาน Reception มีเป้าหมายเพื่อให้คนมาคุยกัน สร้างความสัมพันธ์ร่วมมือกัน โดยมีเครื่องมือ ๔ อย่างคือ ไวน์ เนยแข็ง ดนตรี และอาหารเป็นชิ้นๆ ที่มีคนเดินเสิร์พ ผมได้รับอย่างที่ ๕ ด้วย คือดอกไม้ ที่เขานำมาประดับแจกัน สร้างสุนทรียะทางสายตา โดย ดร. นงเยาว์มาแนะนำว่า นี่คือ Banksia นี่คือ Protea นอกจาก

เมื่อรู้ว่างาน reception เลี้ยงแต่ไวน์กับเนยแข็ง ศ. ดร. วิจิตร ก็แนะนำทันทีให้เตรียมไปกินอาหารค่ำ ที่ร้านในเมือง เราจึงได้กินอาหารค่ำที่ร้านอาหารใน Victoria Hotel ที่นอกจากอาหารอร่อยแล้ว สาวๆ บริกรยังสวยมากอีกด้วย หนุ่มๆ ในทีมหาเหตุไปถามโน่นถามนี่ไม่หยุดหย่อน

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ติดตามชมภาพประกอบได้ตาม link :http://www.gotoknow.org/posts/575255

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:17 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู : ๗. เคารพสิทธิทางปัญญา

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๗ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Courses มี ๕ บท ตอนที่ ๗ ตีความจากบทที่ 6. Copyright Guidelines for Instructors

สรุปได้ว่าคนที่เป็นอาจารย์ต้องระมัดระวัง อย่าให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทางปัญญา และที่ร้ายแรง กว่าคือถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้มหาวิทยาลัยควรมีระบบจัดการช่วยเหลืออำนวย ความสะดวกแก่อาจารย์ รวมทั้งมีข้อกำหนดแนวปฏิบัติแก่อาจารย์ ภายใต้การคุ้มครองของมหาวิทยาลัย

หนังสือเล่มนี้อ้างกฎหมายอเมริกัน เข้าใจว่าเคร่งครัดกว่ากฎหมายไทย

สิทธิทางปัญญาเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการค้า การใช้ประโยชน์ข้อความ ส่วนหนึ่งของหนังสือ ส่วนหนึ่งของวารสาร ดีวีดี ภาพ ภาพยนตร์ ฯลฯ ทำสำเนาแจกนักศึกษา หรือนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของ มัลติมีเดียที่ใช้ในการสอน แค่ไหนถือเป็นการใช้งานตามปกติ (fair use) แค่ไหนถือเป็นการใช้เพื่อการศึกษา (educational use) ไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า คนที่เป็นอาจารย์พึงระมัดระวัง และสอบถามผู้รู้

หนังสือบทนี้ให้รายละเอียดมาก แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะนำมากล่าว เพราะเป็นเรื่องตามกฎหมาย ของสหรัฐอเมริกา

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิทางปัญญาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยควรทราบคือ การอ้างอิงหรือให้เครดิต แก่เจ้าของชิ้นงาน ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทางปัญญา แต่เป็นเหตุให้ไม่ถูกข้อหา ขโมยผลงาน (plagiarism)

การที่ไม่มีข้อความระบุลิขสิทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าปลอดจากลิขสิทธิ์ และการนำเอาชิ้นงานที่ มีลิขสิทธิ์มาดัดแปลง และอ้างเป็นผลงานของตน ไม่เป็นเหตุให้รอดพ้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จะมี โทษหนักขึ้น จากการเอาผลงานของผู้อื่นไปดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

หลักการทั่วไปที่ควรรู้คือหลักการ ใช้ได้ฟรี (Free Use) ซึ่งใช้ได้ในกรณี (๑) ใช้งานตามปกติ (Fair Use), (๒) ใช้ข้อเท็จจริง (Fact), และ (๓)ใช้สิ่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Public Domain)

ใช้งานตามปกติ ความหมายที่ครอบคลุมคือ ไม่ได้ใช้เพื่อผลทางธุรกิจ ยิ่งหากเอามาใช้ทางการศึกษา ก็ยิ่งปลอดภัย แต่เอามาใช้ทางการศึกษาก็เถอะ อาจละเมิดลิขสิทธิ์ได้ หากเป็น DVD และเขาระบุว่า For Home Use Only เอามาใช้ฉายให้นักศึกษาดูในห้องเรียนผิดไหม เพราะไม่ได้ใช้ทางธุรกิจ และใช้ทางการศึกษา นี่คือความไม่ชัดเจน ต้องปรึกษานักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไทย และทางมหาวิทยาลัยควรมีข้อกำหนด เป็นคำแนะนำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้อาจารย์เข้าไปอ่านได้

ใช้งานตามปกติ เขาระบุว่า รวมถึงการใช้ใน งานสอน ใช้ทำงานวิชาการ วิจัย วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน และใช้รายงานข่าว แต่ถ้าเอาผลงานสร้างสรรค์ไปใช้ ก็อาจมีปัญหา ความยุ่งยากอยู่ที่ไม่มีเส้นแบ่งชี้ชัดระหว่าง ผลงานที่เป็น ข้อเท็จจริง (factual) กับผลงานสร้างสรรค์ (creative work)

คำแนะนำในทางปฏิบัติคือ หากการนำไปใช้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจกับผลงานเดิม ก็อาจมีปัญหาเรื่อง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ ดังตัวอย่างเอารูปจากอัลบั้มภาพที่มีขายไปใช้ หากคุณภาพของรูปที่ถ่าย สำเนาเอาไปใช้มีความคมชัดด้อยลง ก็พอจะสบายใจได้ว่าจะไม่มีปัญหา

ผลงานที่อาจนำมาใช้ มีทั้ง ข้อความจากสิ่งพิมพ์ ทัศนวัสดุ บันทึกรายการแสดง วัสดุจาก อินเทอร์เน็ต แต่ละประเภทมีรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวัง ทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ที่จริงทางที่รอบคอบที่สุดคือ ขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิทางปัญญาเสียก่อน แต่หากขออนุญาตโดยไม่จำเป็นก็ทำให้เสียเวลาและแรงงาน ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรมีเอกสารคำแนะนำวิธีใช้ผลงานของผู้อื่นหรือแหล่งอื่นอย่างปลอดภัยไว้ให้ตรวจสอบ และควรมีผู้ชำนาญการด้านนี้ไว้คอยให้คำปรึกษา ซึ่งผมคิดว่า น่าจะอยู่ที่หอสมุดและคลังความรู้

สำหรับเอกสาร ข้อเขียน และคำบรรยายของผม ยกให้เป็นสมบัติสาธารณะ ข้อเตือนใจคือ ผมไม่ยืนยันความถูกต้องเสมอไป เพราะหลายส่วนเป็นการตีความของผมเอง ซึ่งอาจผิดพลาดได้

วิจารณ์ พานิช

๓ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:55 น.
 

เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๔. การประชุมวันที่สอง ๒๒ ก.ค. ๕๗

พิมพ์ PDF

การประชุม 2014 International Engagement Australia Conference ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt เมือง Wagga Wagga, NSW, Australia วันที่สอง๒๒กรกฎาคม ๒๕๕๗ เต็มไปด้วยสาระเข้มข้น

เริ่มด้วยรายการ Perspectives on Engagement : Universities, public good and the future Australia มีวิทยากร ๔ ท่าน เป็นการเสนอมุมมองจากหลายมุม ทั้งมุมของมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน ที่เรียกว่า Regional Universities, มุมมองของนักจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง มหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม มุมมองของนักวิจัยทางสังคมและอุดมศึกษา และมุมมองของนักวิชาการด้าน community-engaged scholarship จากสหรัฐอเมริกา รายการนี้ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ให้ความรู้มากมาย

ฟังแล้วผมคิดว่า หลุมดำของการทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม คือการมองการทำงานวิชาการชั้นยอด กับงานรับใช้สังคมเป็นขั้วตรงกันข้าม ผมไม่คิดว่าการทำงานวิชาการรับใช้สังคม กับงานวิชาการเพื่อ ความเป็นเลิศระดับโลก เป็นขั้วตรงกันข้ามกัน ผมไม่ชอบวิธีคิดแบบ either … or … ผมชอบวิธีคิดแบบ both … and ... มากกว่า คือผมคิดว่า งานวิชาการรับใช้สังคม สามารถสร้างสรรค์ทฤษฎีเขย่าโลกได้ โดยเป็นทฤษฎี ที่สร้างจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ

ท่านหนึ่งที่พูดดีมาก คือ Emeritus Professor Geoff Scott พูดเรื่อง Turnaround Leadership for Sustainability in Higher Education ผมนำสาระไปไว้ในบันทึกตอนที่ ๙

ผมชอบแนวคิด ของ Kevin Cullen, CEO, NewSouth Solutions, UNSW ที่บอกว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมโดยตรง แต่ช่วยให้ sector อื่นสร้างผลกระทบ

อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นดีมาก คือ Professor Kerry Strand, Andrew G. Truxal Professor of Sociology, Hood College, USA ผู้เขียนหนังสือ Community-based Research and Higher Educationพูดเรื่อง A Reflection : the opportunity for community – engaged scholarship (CES) บอกว่า ประโยชน์ของ CES ได้แก่ (๑) เป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (๒) ดึงดูด นศ. ที่ดีมาเข้ามหาวิทยาลัย และเข้าสู่ชุมชน (๓) สร้างขวัญกำลังใจ ที่ดีแก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา (๔) เป็นโอกาสได้ทำงานวิจัยที่มีความหมาย (๕) โอกาสบูรณาการ การสอน วิจัย และบริการวิชาการ (๖) นศ. ได้เรียนรู้ทักษะภาวะผู้นำ เพื่อพัฒนาไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (๗) นศ. ได้ทำงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (๘) เกิดประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน

ท่านบอกว่า สถาบันอุดมศึกษามีศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ใน ๓ ด้าน

  • ทำให้มหาวิทยาลัยทำงานตรงความต้องการของสังคมมากขึ้น
  • สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา
  • ช่วยสร้างชุมชนที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

สิ่งที่จะต้องทำคือ

  • ทำลายกำแพงที่มองไม่เห็นด้านความคิด และด้านลำดับขั้น (hierarchy)
  • ท้าทาย และเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการวิจัย ให้นำหนักต่อ Engagement Scholarship และ Scholarshio of Teaching and Learning ให้เท่าเทียมกันกับ Scholarship of Discovery
  • ฝึกนักศึกษา ไปเป็นบัณฑิตที่ เป็น Engaged Citizen ตลอดชีวิต
  • มีการจัดการเชิงโครงสร้าง

ในช่วง Q&A วิทยากรได้มีโอกาสบอกที่ประชุมว่า สังคมในปัจจุบันให้น้ำหนักผลงานเชิงธุรกิจ มากเกินไป คนมหาวิทยาลัยจึงต้องเรียนรู้วิธีเข้าไปเปลี่ยนนโยบายให้เน้นผลเชิงสังคมมากขึ้น มหาวิทยาลัย ต้องมุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์ของสังคม (public good) การศึกษาต้องสร้างคนที่มี intrinsic motivation ที่จะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าขึ้นกับ extrinsic motivation แลมีคนพูดถึงคำ Translational Engagement ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใกล้ชิดสังคม เพื่อทำงานวิชาการขาลง หรือขานำความรู้/ วิชาการ ไปใช้ประโยชน์ มีการพูดว่า วัฒนธรรมวิชาการในปัจจุบัน ขัดขวางการทำงานวิชาการรับใช้สังคม

ต่อด้วยรายการ คุยกับ ๔ อธิการบดี” ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ อธิการบดีท่านหนึ่งมาไม่ได้ จึงเหลือ ๓ อธิการบดี กับหนึ่งรองอธิการบดี ที่เป็นประธานของ EA

ผมได้เรียนรู้ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐ ๔๐ แห่งในออสเตรเลีย มีการแยกกลุ่มอย่างชัดเจน ออกเป็น ๒ ขั้ว ขั้วหนึ่งคือ Go8 (Group of Eight) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (ท่านที่ต้องการทราบว่า กลุ่ม ๘ มหาวิทยาลัยวิจัยมีมหาวิทยาลัยใดบ้าง ดูได้ที่นี่) อีกขั้วหนึ่งคือมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น (Regional University) ซึ่งก็รวมตัวกันเป็นเครือข่าย Regional University Network เขาบอกว่ามีสมาชิก ๒๐ แห่ง

อธิการบดีบางท่านบอกว่า การมี Go8 เป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ แต่บางท่านก็บอกว่า การมี Go8 ทำให้มหาวิทยาลัยของตนได้รับงบประมาณลดลง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่คนเราจะมีมมุมมองที่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่ามองที่ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือที่ผลประโยชน์ส่วนย่อย ดังกรณีในประเทศไทย มีผู้เล่าว่า หลังเกิด รสช. ใหม่ๆ มรภ. ในอีสานรวมตัวกันไปฟ้องแม่ทัพภาค ๒ ว่า มรภ. ได้รับงบประมาณน้อย ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้รับงบประมาณมาก

ความเห็นของผมก็คือ Go8 ระบุชัดเจนว่า เขาเน้น International Engagement และความเป็น มหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อบ้านเมือง ส่วน Regional Universities เน้น Community Engagement และ Engaged Scholarship ก็มีคุณค่าต่อบ้านเมืองเช่นเดียวกัน และสามารถทำให้เป็นวิชาการที่มีความเป็นเลิศ ได้เช่นเดียวกัน โดยเน้นที่คุณค่าของโปรแกรมการศึกษาต่อชุมชน และต่อชีวิตการทำงานของนักศึกษา

ในช่วง Q&A มีคนเอ่ยถึง alumni engagement, engagement with schools, engagement with industry ตอนตอบเรื่อง engagement with schools อธิการบดีท่านหนึ่งให้ความเห็นน่าฟังมาก ว่าการเข้าไปร่วมมือ ยกระดับคุณภาพของโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระมัดระวัง เคารพบทบาทของโรงเรียน ว่าไม่ใช่แค่ผลิต นักเรียนป้อนมหาวิทยาลัยเท่านั้น ผมเดาว่าเขาหมายถึงว่านักเรียนบางคนมีเป้าหมายไปเรียนอาชีวะ หรือบางคน จะออกไปทำงานเลย

ในเรื่องการ engage กลุ่มคนพื้นเมือง อธิการบดีท่านหนึ่งบอกว่า มีแผนรับคนพื้นเมืองเข้าเรียนระดับ บัณฑิตศึกษา เพื่อให้มีอาจารย์เป็นชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นกลไกส่งเสริม indigenous people engagement

มีการพูดกันเรื่องมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง โฆษณาว่านักศึกษาของเขาจะได้รับแจก iPad และวิทยากรย้ำว่า คุณภาพสำคัญกว่าราคาหรือของแถม

ตอนบ่ายเป็นรายการนำเสนอผลการวิจัย ๔ ห้องพร้อมกัน ห้องละ ๒ เรื่อง ในเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ผมเลือกไปเข้าห้องแรกเพื่อฟังการนำเสนอของ ดร. จเร สุวรรณชาติ และ รศ. มุกดา สุขสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เรื่อง The Engagement of Rajamangala University of Technology Srivijaya & Stakeholders in Community ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านคลองแดน จ. สงขลา ที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต สมัยผู้คนใช้การคมนาคม สัญจรทางน้ำ และค่อยๆ ร่วงโรยไปเมื่อมีถนนเป็นเส้นทางคมนาคม โดยการชักชวนของเจ้าอาวาสวัด ดร. จเร ซึ่งเป็นสถาปนิก ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาเกือบสิบปี เท่ากับเข้าไปใช้วิชาการด้านการ ฟื้นฟูเมืองเก่า ร่วมกับภาคีทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนวิจัยจากการเคหะแห่งชาติ

อ่านเรื่องราวของบ้านคลองแดนในปัจจุบันได้ ที่นี่

เนื่องจากผู้เสนอผลงานเรื่องที่ ๒ ไม่มา จึงมีเวลาซักถาม ดร. จเร ทั้งในเวลา และนอกรอบ ยิ่งซัก ดร. จเร ก็ยิ่งเอาข้อมูลใน ไฟล์ เอามาให้ดู ผู้ดำเนินการประชุมในห้องย่อยถึงกับอุทานว่า เก็บข้อมูลครบถ้วนดีจริง เป็นตัวอย่างของผลงาน Community Engagement ที่น่าชื่นชมมาก

ช่วงเย็น มีการเสนอผลงาน ๓ ห้องย่อย ห้องละ ๓ เรื่อง ใช้เวลารวม ๗๕ นาที ช่วงแรก ผมไปเข้าห้องที่ ๒ ซึ่งนำเสนอเรื่อง

๑.Innovative policy for growing sustainable community engagement : A report on the Timebanking trial from the NSW ซึ่งเป็นเรื่อง “ธนาคารเวลา” Timebanking เพื่อสร้างการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน เป็นวิธีการคล้ายๆ การลงแขก หรือตอบแทนแรงงานกัน ในภาคสมัยใหม่มีการจัดการแบบธนาคาร

๒.The Floating CORE : Indigenous Community as Pedagogical Practice คำว่า C.O.R.E. ย่อมาจาก Culturally Open Respectful Exchange เป็นหลักการ ที่ใช้ในทุกกิจกรรมของการเรียนรู้ ในชุมชนพื้นเมือง ที่มีพลังทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิด การเปลี่ยนแปลงระดับ transformation และทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้น ผมฟังแล้วคิดในใจว่า เรื่องแบบนี้นำเสนอ แบบ presentation ไม่มีวันเข้าใจ ต้องนำเสนอแบบเล่าเรื่อง (storytelling) จึงจะพอรู้เรื่องบ้าง จะเข้าใจจริงต้องไปดูหรือร่วมกิจกรรม

หลังจากนั้น ผมย้ายไปห้องที่ ๓ เพื่อฟังเรื่อง Engagement & Innovation = Sustainability? Lessons from a case study at the University of Newcastle เอาเข้าจริงเขาลองให้แต่ละโต๊ะลองแลกเปลี่ยนกันว่า ได้ใช้ Appreciative Inquiry เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ อย่างไรบ้าง

ทั้งสามเรื่องที่ผมฟัง มาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล

หลังการประชุมจบ ในช่วงเวลา ๑๗.๑๕ - ๑๘.๔๕ น. ทีมไทย ๑๒ คนไปทำ AAR กันในห้องที่ เขาจัดให้ ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มเติมมากมาย ส่วนที่น่าจะนำมาเล่าต่อคือ วิธีการ engage นศ. ครู กับโรงเรียนใกล้บ้าน ของมหาวิทยาลัย Central Queensland เล่าโดยท่านอธิการบดี นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ว่าเขาให้ นศ. ไปสอนที่โรงเรียนใกล้บ้านสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยอาจารย์ไปโค้ชด้วย ภายใต้การดูแลของครู ในโรงเรียนนั้น และใน ๑ ปี จะมีช่วงเวลาที่ นศ. ไปสอนที่โรงเรียนนั้นติดต่อกัน ๖ สัปดาห์ ครูที่โรงเรียน มีความพอใจเพราะ (๑)ได้สอนนักศึกษา (๒) ลดภาระการสอนนักเรียน (๓)ได้โอกาสเข้ารับการอบรมใน มหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้ ช่วยให้นักศึกษาครู ได้ engage กับโรงเรียนตั้งแต่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัย และเป็นการสร้าง engagement ระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาเล่า คือการเจรจาความร่วมมือระหว่าง Engagement Thailand กับ Engagement Australia เมื่อวานนี้ ที่ ศ. ดร. วิจิตร, ศ. ดร. ปิยะวัติ, ดร. นงเยาว์, และ รศ. นพ. อำนาจ อยู่สุข เข้าร่วมเจรจา ตกลงกันว่าจะมีความร่วมมือ ๓ ด้าน

๑.ด้านการผลิตบัณฑิต ระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก (ของ ET มี ๓๕ แห่ง) กับมหาวิทยาลัยสมาชิก EA แบบ joint degree เรียนที่ประเทศไทย ๒ ปี ที่ออสเตรเลีย ๒ ปี ได้รับปริญญาของทั้ง ๒ มหาวิทยาลัย

๒.Central Queensland University จะให้ทุนนักศึกษาไทยมาเรียน สถาบันคลังสมองจะเป็นหน่วยจัดการความร่วมมือนี้ของฝ่ายไทย

๓.New Colombo Plan จะร่วมกันหาทาง ล้อบบี้ ให้รวมประเทศไทยด้วย

Conference Dinner เริ่มเวลา ๑๙.๐๐ น. เขาเชิญนักการเมืองมาร่วมด้วย ศ. ดร. วิจิตร ได้รับเชิญ ไปร่วมโต๊ะทางการ โต๊ะที่ผมนั่งเป็นทีมไทยล้วน เป็น sit down dinner ที่หรู อาหารอร่อย ไวน์ก็อร่อย แถมยังมีเบียร์ให้ไปขอเพิ่มไม่อั้น

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ติดตามชมภาพประกอบได้ที่ link : http://www.gotoknow.org/posts/575303

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 12:00 น.
 


หน้า 327 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8632488

facebook

Twitter


บทความเก่า